โจฮอง (ค.ศ. 232–274[a]) มีชื่อภาษาจีนกลางว่า เฉา ฟาง (จีน: 曹芳; พินอิน: Cáo Fāng; การออกเสียง) ชื่อรอง หลานชิง (จีน: 蘭卿; พินอิน: Lánqīng) (蘭卿) เป็นจักรพรรดิพระองค์ที่ 3 แห่งวุยก๊กในยุคสามก๊กของประวัติศาสตร์จีน เป็นพระโอรสบุญธรรมของโจยอย จักรพรรดิพระองค์ที่ 2 ของวุยก๊ก โจฮองครองราชย์ตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 239 ถึงตุลาคม ค.ศ. 254 ก่อนจะถูกผู้สำเร็จราชการสุมาสูปลดจากการเป็นจักรพรรดิ และลดลงมามีฐานันดรศักดิ์เป็น "เจอ๋อง" ภายหลังการล่มสลายของวุยก๊กในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 โจฮองได้รับฐานันดรศักดิ์เป็น "เช่าหลิงกง" โดยจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน (จิ้นอู่ตี้) แห่งราชวงศ์จิ้น เมื่อโจฮองสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 274 พระองค์ได้รับสมัญญานามว่า "ลี่" จึงมีสมัญญานามเต็มว่า "เช่าหลิงลี่กง"[2]

โจฮอง (เฉา ฟาง)
曹芳
ภาพวาดโจฮอง (ขวาสุด) จากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
จักรพรรดิแห่งวุยก๊ก
ครองราชย์22 มกราคม ค.ศ. 239 – 17 ตุลาคม ค.ศ. 254
ก่อนหน้าโจยอย
ถัดไปโจมอ
ผู้สำเร็จราชการโจซอง
สุมาอี้
สุมาสู
รัชทายาทแห่งวุยก๊ก
ดำรงตำแหน่ง29 มิถุนายน ค.ศ. 226 – 22 มกราคม ค.ศ. 239
ก่อนหน้าโจยอย
เจอ๋อง (齊王 ฉีหวาง)
(ครั้งที่ 1)
ดำรงตำแหน่ง23 กันยายน ค.ศ. 235 – 22 มกราคม ค.ศ. 239
เจอ๋อง (齊王 ฉีหวาง)
(ครั้งที่ 2)
ดำรงตำแหน่ง17 ตุลาคม ค.ศ. 254 – กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266
ถัดไปสุมาฮิว
เช่าหลิงกง (邵陵公)
ดำรงตำแหน่ง4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 – ค.ศ. 274
ประสูติค.ศ. 232
สวรรคตค.ศ. 274 (42 พรรษา)
มเหสีจักรพรรดินีเจิน
เตียวฮองเฮา
จักรพรรดินีหวาง
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: โจ (曹 เฉา)
ชื่อตัว: ฮอง (芳 ฟาง)
ชื่อรอง: หลานชิง (蘭卿)
รัชศก
พระสมัญญานาม
เช่าหลิงลี่กง (邵陵厲公)
ราชวงศ์ราชวงศ์โจ
พระราชบิดาเฉา ข่าย

ภูมิหลัง

แก้

ภูมิหลังเกี่ยวกับพระกำเนิดของโจฮองนั้นไม่แน่ชัด เอกสารเว่ย์ชื่อชุนชิว (魏氏春秋) ระบุว่าโจฮองเป็นพระโอรสของเฉา ข่าย (曹楷) ผู้เป็นอ๋องแห่งบู๊เสง (任城王 เริ่นเฉิงหวาง) และเป็นบุตรชายของโจเจียง จักรพรรดิโจยอยจักรพรระดิพระองค์ที่ 2 ของวุยก๊กทรงรับโจฮองมาเป็นพระโอรสบุญธรรมตั้งแต่โจฮองยังทรงพระเยาว์ โจฮองได้รับฐานันดรศักดิ์เป็นเจอ๋อง (齐王 ฉีหวาง) ใน ค.ศ. 235

ราว ค.ศ. 239 จักรพรรดิโจยอยประชวรและตกลงพระทัยจะมอบราชสมบัติให้โจฮองสืบต่อ ในตอนแรกทรงต้องการมอบหมายให้โจฮูผู้เป็นพระปิตุลา (อา) ของพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการคอยช่วยเหลือโจฮอง ร่วมกับคณะผู้สำเร็จราชการได้แก่ เซี่ยโหว เซี่ยน (夏侯獻), โจซอง, เฉา เจ้า (曹肇) และจีนล่ง (秦朗 ฉิน หล่าง) แต่เล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) และซุนจู (孫資 ซุน จือ) ขุนนางคนสนิทของจักรพรรดิโจยอยไม่ถูกกันกับเซี่ยโหว เซี่ยนและเฉา เจ้า เล่าฮองและซุนจูเกรงว่าเซี่ยโหว เซี่ยนและเฉา เจ้าจะขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการจึงทูลเสนอจักรพรรดิโจยอยให้ตั้งโจซองและสุมาอี้เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมแทน ส่วนโจฮู, เซี่ยโหว เซี่ยน, เฉา เจ้า และจีนล่งถูกปลดจากการเป็นผู้สำเร็จราชการ

ราวครึ่งเดือนต่อมา ก่อนที่จักรพรรดิโจยอยจะสวรรคต สุมาอี้ได้มาถึงลกเอี๋ยง โจยอยทรงจับมือสุมาอี้และมีรับสั่งให้โจฮองและเฉา สฺวิน (曹詢; พระโอรสบุญธรรมอีกพระองค์ของโจยอย) มาข้างพระแท่นบรรทม พระองค์ทรงชี้ที่โจฮองและตรัสให้โจฮองกอดสุมาอี้เสมือนกอดพระบิดา[3] จากนั้นโจยอยทรงตั้งให้โจฮองเป็นรัชทายาท โจยอยสวรรคตในวันเดียวกันนั้น

รัชสมัย

แก้

เนื่องจากโจฮองขึ้นครองราชย์ขณะทรงพระเยาว์ รัชกาลของโจฮองจึงดำเนินไปผ่านคณะผู้สำเร็จราชการที่ประกอบด้วยโจซองกับสุมาอี้ กระทั่งสุมาอี้ยึดอำนาจทางการเมืองจากโจซอง ได้ใน ค.ศ. 249 สุมาอี้จึงได้สำเร็จราชการแต่ผู้เดียว ครั้นสุมาอี้เสียชีวิตใน ค.ศ. 251 สุมาสูบุตรของสุมาอี้ก็เข้าสืบตำแหน่งผู้สำเร็จราชการต่อ จักรพรรดิโจฮองทรงพยายามจะนำอำนาจปกครองกลับคืนมาจากผู้สำเร็จราชการ แต่ไม่สำเร็จ และสุมาสูถอดจักรพรรดิโจฮองออกจากราชสมบัติ

ในสมัยที่โจซองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แก้

ช่วงแรกโจซองกับสุมาอี้บริหารอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการร่วมกัน แต่ภายหลังโจซองพยายามถอดสุมาอี้ออกจากอำนาจ โดยให้สุมาอี้ไปดำรงตำแหน่งชั้นสูงที่มีอำนาจแต่ในนามแทน โจซองจึงได้ใช้อำนาจผู้สำเร็จราชการแต่ผู้เดียว และตั้งคนสนิทของตน เช่น เตงเหยียง (鄧颺 เติ้ง หยาง), หลีซิน (李勝 หลี่ เชิ่ง), โฮอั๋น (何晏 เหอ เยี่ยน), และเตงปิด (丁謐 ติง มี่) ขึ้นเป็นขุนนางผู้ใหญ่

ในปี ค.ศ. 243 จักรพรรดิโจฮองเสกสมรสกับจักรพรรดินีเจิน หลานสาวของเจิน เหยี่ยน (甄儼) พระอนุชาของเอียนซีพระอัยยิกาของโจฮอง

ในปี ค.ศ. 244 โจซองนำทัพไปตีฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) เมืองชายแดนของรัฐจ๊กก๊ก แม้ผลการรบจะไม่แพ้ไม่ชนะ แต่กองทัพของโจซองประสบความสูญเสียอย่างหนัก ประกอบกับขาดเสบียง จึงต้องถอยกลับไป แม้จะไม่สามารถมีชัยในสมรภูมิได้ดังหวัง แต่โจซองก็ยังมีอำนาจมั่นคงในฐานะผู้สำเร็จราชการต่อไป

ในปี ค.ศ. 247 สุมาอี้ลาออกจากราชการอ้างเหตุป่วย

ใน ค.ศ. 249 ขณะที่จักรพรรดิโจฮองกับผู้สำเร็จราชการโจซองออกนอกพระนครลกเอี๋ยง (洛阳 ลั่วหยาง) ไปยังสุสานโกเบงเหลง (高平陵 เกาผิงหลิ่ง) เพื่อเซ่นไหว้พระศพของจักรพรรดิโจยอยนั้น สุมาอี้ระดมกำลังกลุ่มผู้ต่อต้านโจซอง เข้ายึดพระนคร แล้วอ้างพระเสาวนีย์ของกวยทายเฮา พระมเหสีของจักรพรรดิโจยอยออกประกาศประณามโจซองว่าฉ้อราษฎร์บังหลวง และเรียกร้องให้ถอดโจซองกับญาติพี่น้องออกจากอำนาจ โจซองยอมคืนอำนาจเมื่อสุมาอี้สัญญาว่าจะให้โจซองคงอยู่ในบรรดาศักดิ์ตามเดิม แต่ไม่ช้าหลังได้อำนาจจากโจซองแล้ว สุมาอี้ก็ให้ประหารโจซอง ทั้งโคตรด้วยข้อหากบฏ ทำให้สุมาอี้ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแต่ผู้เดียว เหตุการณ์นี้เรียกว่าอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลง

ในสมัยที่สุมาอี้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แก้

เมื่อได้อำนาจแล้ว สุมาอี้ก็ใช้อำนาจนั้นขจัดคู่แข่งทางการเมืองจนสิ้น กลุ่มผู้สนับสนุนสุมาอี้บีบให้จักรพรรดิโจฮองประทานเครื่องยศเก้าอย่าง (九錫 จิ่วชื่อ) ให้แก่สุมาอี้ แต่สุมาอี้ทำทีปฏิเสธ นอกจากนี้ สุมาอี้ยังใช้อำนาจปราบปรามการทุจริตในวงราชการ และเกื้อหนุนขุนนางสุจริตหลายคน ทำให้ระบบราชการสะอาดขึ้นกว่ายุคโจซอง

ใน ค.ศ. 249 นั้นเอง หวัง หลิง (王淩) ผู้ปกครองเมืองฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน) พยายามยึดอำนาจจากสุมาอี้ แต่ไม่สำเร็จ เพราะลูกน้องคือหฺวาง หฺวา (黃華) กับหยาง หง (楊弘) นำแผนการมาแจ้งแก่สุมาอี้ ทำให้สุมาอี้ ยกทัพไปยึดเมืองฉิวฉุนได้ก่อนที่หวัง หลิงจะดำเนินการสำเร็จ สุมาอี้สัญญาจะอภัยโทษให้หวัง หลิง ทำให้หวัง หลิงยอมจำนน แต่ภายหลังก็บีบให้หวัง หลิงฆ่าตัวตาย ทั้งประหารครอบครัวกับบริวารของหวัง หลิงทั้งสิ้น

ปีเดียวกันนั้น สุมาอี้ถึงแก่กรรม บุตรชายคือสุมาสูจึงสืบอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิโจฮอง

การพ้นจากราชสมบัติ

แก้

ใน ค.ศ. 252 จักรพรรดิซุนกวนแห่งง่อก๊กสวรรคต สุมาสูอาศัยโอกาสนี้นำทัพไปตีง่อก๊กแต่แพ้

ปีถัดมา สุมาสูนำทัพไปง่อก๊กอีกครั้ง ครั้งนี้สุมาสูมีชัยเหนือจูกัดเก๊กผู้สำเร็จราชการของง่อก๊ก สุมาสูจึงมีชื่อเสียงขึ้นในด้านการทหาร

ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูพยายามรวบอำนาจในราชสำนัก และสงสัยว่าจักรพรรดิโจฮอง กับขุนนางลิฮอง (李豐 หลี่ เฟิง) กำลังร่วมกันกำจัดตน สุมาสูจึงเรียกลิฮองไต่สวน แต่ลิฮองไม่ยอมเปิดเผยว่าทูลสิ่งใดต่อจักรพรรดิโจฮองบ้าง สุมาสูจึงเอาด้ามดาบตีลิฮองถึงแก่ความตาย แล้วสั่งประหารคนสนิทของลิฮอว คือแฮเฮาเหียนกับเตียวอิบพร้อมครอบครัวในข้อหากบฏ นอกจากนี้ สุมาสูยังบีบให้จักรพรรดิโจฮอง ถอดเตียวฮองเฮาพระมเหสีซึ่งเป็นธิดาของเตียวอิบออกจากตำแหน่ง แล้วตั้งจักรพรรดินีหวางขึ้นเป็นพระมเหสีพระองค์ใหม่ ทำให้จักรพรรดิโจฮองคับแค้นพระทัย

ในปีนั้นเอง ผู้สนับสนุนจักรพรรดิโจฮอง ทูลเสนอให้ทรงประหารสุมาเจียวน้องชายของสุมาสู ขณะที่สุมาเจียวมาเข้าเฝ้าในพระราชวัง จะได้ยึดกองกำลังของสุมาเจียวเอามาต่อสู้กับสุมาสู ชิงอำนาจกลับคืนมาเป็นของจักรพรรดิ แต่จักรพรรดิโจฮอง ทรงประหวั่นและไม่กล้าลงมือ ทำให้แผนการรั่วไหลไปถึงสุมาสู สุมาสูจึงถอดจักรพรรดิโจฮองออกจากราชสมบัติลงเป็นเจอ๋องดังเดิม แล้วยกโจมอพระญาติขึ้นเป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่

ปลายพระชนม์

แก้

เมื่อถูกถอดลงเป็นเจอ๋องแล้ว โจฮองต้องทรงย้ายไปประทับที่เมืองโห้ลาย (河內郡 เหอเน่ย์จฺวิ้น)

ต่อมาใน ค.ศ. 265 สุมาเอี๋ยนบุตรของสุมาเจียวยึดราชสมบัติจากจักรพรรดิโจฮวนและถอดเจ้านายสกุลโจซึ่งรวมถึงโจฮองลงเป็นขุนนางบรรดาศักดิ์กง (公)

ครั้น ค.ศ. 274 อดีตจักรพรรดิโจฮองสิ้นพระชนม์ ได้รับพิธีศพตามฐานะขุนนางชั้นกง แทนที่จะเป็นพระราชพิธีศพอย่างจักรพรรดิ และได้รับสมัญญานามว่า "เช่าหลิงลี่กง" (邵陵厲公)

ไม่ปรากฏว่า โจฮองมีพระโอรสธิดาหรือไม่

ชื่อศักราช

แก้

พงศาวลี

แก้
  • พระบิดา: เฉา ข่าย (曹楷) มีฐานันดรศักดิ์อ๋องแห่งบู๊เสง (任城王 เริ่นเฉิงหวาง) บุตรของโจเจียง บุตรคนที่ 3 ของโจโฉ
  • พระชายา
    • เจินชื่อ (甄氏; แปลว่า "นางเจิน"; เสียชีวิต ค.ศ. 251) ได้เป็นพระมเหสีเรียก หฺวายหฺวังโฮ่ว (懷皇后)
    • จางชื่อ (張氏; แปลว่า "นางจาง") ได้เป็นพระมเหสีเรียกเตียวฮองเฮา (張皇后 จางหฺวังโฮ่ว)
    • หวังชื่อ (王氏; แปลว่า "นางหวัง") ได้เป็นพระชายาเรียก หวังหวังเฟย์ (王王妃)

บรรพบุรุษ

แก้
โจโฉ (155–220)
โจเจียง (189–223)
จักรพรรดินีอู่เซฺวียน (161–230)
เฉา ข่าย
ซุน เปิน (เสียชีวิต ค.ศ. 210)
พระนางซุน (ประสูติ ค.ศ. 198)
โจฮอง (232–274)

หมายเหตุ

แก้
  1. เว่ย์ชื่อผู่ระบุว่าโจฮองมีพระชนมายุ 43 พรรษา (ตามการนับเวลาแบบเอเชียตะวันออก) เมื่อสิ้นพระชนม์ในศักราชไท่ฉื่อปีที่ 10 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) แห่งราชวงศ์จิ้น เมื่อคำนวณแล้ว ปีที่พระองค์ประสูติจึงควรเป็นปี ค.ศ. 232[1]

อ้างอิง

แก้
  1. (年四十三,泰始十年薨) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อผู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  2. (晋受禅,封齐王为邵陵县公...泰始十年薨,謚曰厲公) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อผู่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  3. (乃召齐、秦二王以示宣王,别指齐王谓宣王曰:“此是也,君谛视之,勿误也!”又教齐王令前抱宣王颈。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 03

บรรณานุกรม

แก้
ก่อนหน้า โจฮอง ถัดไป
โจยอย   จักรพรรดิจีน
วุยก๊ก

(ค.ศ. 239–254)
  โจมอ