ลิฮอง[1] (คริสต์ทศวรรษ 200 - 27 มีนาคม ค.ศ. 254[b]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หลี่ เฟิง (จีน: 李豐; พินอิน: Lǐ Fēng) ชื่อรอง อานกั๋ว (จีน: 安國; พินอิน: Ānguó) บางแหล่งข้อมูลระบุว่าชื่อรองคือ เซฺวียนกั๋ว (จีน: 宣國; พินอิน: Xuānguó)[2] เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นขุนนางที่เป็นที่ไว้วางพระทัยของโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊กและไม่ปฏิบัติตามความต้องการของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสู

ลิฮอง (หลี่ เฟิง)
李豐
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง
(中書令 จงชูลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 251 (251) – ค.ศ. 254 (254)
กษัตริย์โจฮอง
รองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเย่)
ดำรงตำแหน่ง
ป. คริสต์ทศวรรษ 240 – ค.ศ. 251 (251)
กษัตริย์โจฮอง
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)
ดำรงตำแหน่ง
ป. คริสต์ทศวรรษ 240 – ค.ศ. 251 (251)
กษัตริย์โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดคริสต์ทศวรรษ 200[a]
อำเภอต้าลี่ มณฑลฉ่านซี
เสียชีวิต27 มีนาคม ค.ศ. 254
นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
บุตร
บุพการี
  • หลี่ อี้ (李義) (บิดา)
ญาติ
  • หลี่ อี้ (李翼) (น้องชาย)
  • หลี เหว่ย์ (李偉) (น้องชาย)
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองอานกั๋ว (安國)

ในปี ค.ศ. 254 ลิฮองร่วมกับแฮเฮาเหียนและเตียวอิบ (張緝 จาง จี) วางแผนจะสังหารสุมาสู แต่สุมาสูล่วงรู้แผนการจึงสั่งให้ลิฮองมาพบตนที่พระราชวัง สุมาสูสอบปากคำลิฮองแล้วจึงสังหารลิฮอง จากนั้นสุมาสูจึงกล่าวว่าลิฮองเป็นกบฏและสั่งให้นำครอบครัวของลิฮองไปประหารชีวิตเช่นกัน[3]

ประวัติช่วงต้น

แก้

ลิฮองเป็นชาวอำเภอตง (東縣 ตงเซี่ยน) เมืองผิงอี้ (馮翊) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอต้าลี่ มณฑลฉ่านซี บิดาของลิฮองคือหลี่ อี้ (李義) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในตำแหน่งเสนาบดีองค์รักษ์ (衞尉 เว่ย์เว่ย์)[4]

ในช่วงศักราชอ้วยโช่ (黄初 หวางชู; ค.ศ. 220-226) ในรัชสมัยของโจผีจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐวุยก๊ก ด้วยเหตุที่หลี่ อี้บิดาของลิฮองได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีองครักษ์ ลิฮองจึงได้รับการเรียกตัวเข้าร่วมกองทัพ[5] ก่อนหน้านี้ขณะลิฮองเป็นสามัญชนอายุ 17 ปี มีชื่อเสียงในเงียบกุ๋น (鄴 เย่) ว่าเป็นผู้ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและมีความสามารถในการประเมินลักษณะบุคคล จึงได้รับการยกย่องจากทั่วแดนดิน ต่างให้ความสนใจลิฮอง หลังจากเข้าร่วมกองทัพที่นครฮูโต๋ ชื่อเสียงของลิฮองก็เพิ่มมากขึ้นทุกวัน แม้ว่าหลี่ อี้ผู้บิดาจะยอมรับความมีชื่อเสียงของลิฮอง แต่ก็ต้องการให้ลิฮองปิดประตูบ้านเพื่อศึกษาตำรา ไม่ให้ออกมาพบแขก[6]

ในช่วงที่โจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของรัฐวุยก๊กยังคงมีฐานะเป็นรัชทายาท (太子 ไท่จื่อ) เวลานั้นลิฮองก็ยังคงศึกษาตำราอยู่[7] หลังจากที่โจยอยขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 226 ครั้งหนึ่งพระองค์ตรัสถามคนผู้หนึ่งจากรัฐง่อก๊กที่มาสวามิภักดิ์ต่อวุยก๊กว่า "ท่านอยู่ในกังตั๋ง เคยได้ยินว่าผู้ใดเป็นบัณฑิตที่มีชื่อเสียงในที่ราบกลาง (中原 จง-ยฺเหวียน)" ผู้สวามิภักดิ์ทูลตอบว่า "รู้จักเพียงหลี่ อานกั๋ว (李安國) เท่านั้น" เวลานั้นลิฮองมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่สำนักประตูเหลือง (黃門郎 หฺวางเหมินหลาง) โจยอยตรัสถามเหล่าข้าบริพารว่า "หลี่ อานกั๋ว" คือใคร ข้าราชบริพารที่เข้าเฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นต่างตอบว่า "ลิฮอง (หลี่ เฟิง) มีชื่อรองว่าอานกั๋ว" โจยอยตรัสว่า "ชื่อเสียงของลิฮองแพร่ไปถึงแดนง่อ (吳 อู๋) และอวด (越 เยฺว่) เชียวหรือ"[8] ภายหลังลิฮองได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) และขุนนางกรมวัง (給事中 จี่ชื่อจง)[9]

หลังจากโจยอยสวรรคตและโจฮองพระโอรสบุญธรรมขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊กในปี ค.ศ. 239 ลิฮองได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกรมราชรถ (太僕 ไท่ผู) ประจำวังหย่งหนิง (永寧) เนื่องจากชื่อเสียงของลิฮองนั้นเกินกว่าความสามารถจริง ๆ ลิฮองจึงไม่ได้รับมอบหมายในตำแหน่งสำคัญ[10]

ประวัติช่วงปลาย

แก้

ในช่วงศักราชเจิ้งฉื่อ (正始; ค.ศ. 240-249) ในรัชสมัยของโจฮอง ลิฮองได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และรองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเย่) ในช่วงเวลานั้นลิฮองมักจะอ้างว่าป่วยและไม่ไปปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายแล้วหากลาป่วยเป็นเวลาถึง 100 วันจะไม่ได้รับเบี้ยหวัด ดังนั้นลิฮองจึงหลีกเลี่ยงจำกัดเวลานี้ ลิฮองลาป่วยไปไม่กี่วันก็ลุกกลับมา หลังจากนั้นก็ลาป่วยอีกครั้ง ลาป่วยซ้่ำ ๆ เช่นนี้มานานหลายปี[11]

ในช่วงเวลานั้นหลี่ เทา (李韜) บุตรชายของลิฮองได้รับเลือกให้สมรสกับเจ้าหญิง ลิฮองภายนอกปฏิเสธ แต่ในใจจริง ๆ แล้วยอมรับ[12]

น้องชาย 2 คนของลิฮองคือหลี่ อี้ (李翼) และหลี เหว่ย์ (李偉) รับราชการในวุยก๊กในเวลาหลายปีและทำหน้าที่ดูแลราชการเมือง ลิฮองเคยแนะนำน้องชายทั้งสองต่อหน้าคนอื่น ๆ ว่า "ควรใช้ตำแหน่งอันมีเกียรติเพื่อ...[ข้อความในต้นฉบับขาดหาย]"[13] ต่อมาสุมาอี้ล้มป่วยเป็นเวลานาน เวลานั้นหลี เหว่ย์เป็นข้าราชการยศ 2,000 ต้าน (石) เมาสุราและก่อความวุ่นวายในเมืองซินผิง (新平) และฝูเฟิง (扶風) แต่ลิฮองผู้เป็นพี่ชายไม่ใส่ใจเรื่องนี้ ผู้คนต่างเห็นว่าลิฮองเห็นแก่ความเป็นญาติ[14]

เมื่อโจซองขึ้นมามีอำนาจในราขสำนัก ลิฮองเลือกจะแสดงท่าทีดีต่อทั้งโจซองและสุมาอี้ ไม่ได้แสดงจุดยืนเข้าข้างฝ่ายใดอย่างชัดเจน ในเวลานั้นมีึผู้เขียนบัตรสนเท่ห์ให้ร้ายลิฮองว่า "อำนาจของโจซองร้อนแรงดั่งน้ำแกง อำนาจของราชครู (สุมาอี้) เย็นเยียบดั่งแป้งเปียก ลิฮองพี่น้องก็เป็นดั่งโหยวกวาง (游光; ปิศาจในตำนานของจีน สามารถก่อไฟให้ไหม้บ้านคนได้)" ควาามหมายก็คือลิฮองดูภายนอกเป็นผู้มีคุณธรรม แต่ในใจชั่วร้ายเหมือนกับโหยวกวาง[15]

ในปี ค.ศ. 249 เมื่อสุมาอี้ถวายฎีกาแก่จักรพรรดิโจฮองทูลขอให้ประหารชีวิตโจซอง สุมาอี้ได้จอดรถม้าไว้ที่ท้องพระโรง ภายหลังก็บอกเรื่องนี้ให้ลิฮองทราบ ลิฮองได้ฟังก็ตกใจมากจนคุกเข่าลงกับพื้นและลุกไม่ขึ้น[16]

ในปี ค.ศ. 252 หลังจากสุมาอี้เสียชีวิต ตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) ได้ว่างลง สุมาสูบุตรชายของสุมาอี้ที่ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สืบจากสุมาอี้และมีตำแหน่งเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) ได้ขอความเห็นจากเหล่าขุนนาง มีผู้เสนอชื่อลิฮองให้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง ลิฮองเห็นว่าตำแหน่งนี้ไม่มีความสำคัญเป็นพิเศษ แต่ลิฮองก็ตระหนักว่าตนมีความสัมพันธ์เป็นพระญาติกับจักรพรรดิโจฮองจากการสมรสระหว่างบุตรชายของลิฮองกับองค์หญิงของราชวงศ์แห่งวุยก๊ก ลิฮองจึงยอมรับตำแหน่ง สุมาสูจึงถวายฎีกาเสนอให้จักรพรรดิโจฮองแต่งตั้งลิฮอง[17]

เวลานั้นแฮเฮาเหียนเป็นผู้มีฐานะสูงส่ง แต่เนื่องจากแฮเฮาเหียนเป็นคนสนิทของโจซอง จึงไม่ได้ดำรงตำแหน่งที่มีอำนาจและรู้สึกไม่พอใจ เตียวอิบถูกกีดกันไม่ให้ดูแลราชการเมืองเพราะเป็นบิดาของเตียวฮองเฮาจักรพรรดินีของโจฮองจึงรู้สึกไม่พอใจเช่นกัน แม้ว่าสุมาสูจะเลื่อนตำแหน่งให้ลิฮอง แต่ลิฮองก็ลอบโน้มเอียงไปเข้าด้วยแฮเฮาเหียน ดังนั้นจึงได้ผูกมิตรกับเตียวอิบด้วย ทั้งสามตั้งใจจะโค่นล้มสุมาสูและจะตั้งแฮเฮาเหียนขึ้นเป็นมหาขุนพลแทน[18] ลิฮองนั้นกุมอำนาจอยู่ภายใน ทั้งยังเป็นชาวเมืองผิงอี้เช่นเดียวกันกับเตียวอิบ หลี่ เทาบุตรชายของลิฮองก็สมรสกับเจ้าหญิงใหญ่แห่งเจ๋ (齊長公主 ฉีฉางกงจู่) เตียวอิบจึงเชื่อใจลิฮองอย่างมาก[19] ลิฮองยังแอบสั่งให้หลี่ อี้ผู้เป็นน้องชายให้ยื่นคำร้องต่อราชสำนัก หวังจะให้หลี่ อี้ได้นำกองกำลังเพื่อจะใช้มาร่วมในการก่อการ อย่างไรก็ตาม คำร้องของหลี่ อี้ที่ยื่นต่อราชสำนักไม่ได้รับการอนุมัติ[20]

เสียชีวิต

แก้

ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 254 ในช่วงเวลาที่กำลังจะมีการแต่งตั้งสนมตำแหน่งกุ้ยเหริน (貴人) ลิฮองและคนอื่น ๆ วางแผนจะนำกำลังทหารเข้าสังหารสุมาสู แล้วจะตั้งให้แฮเฮาเหียนดำรงตำแหน่งแทนสุมาสู ตั้งให้เตียวอิบเป็นขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)[21] ฝ่ายลิฮองลอบวางแผนกับขันทีซู ชั่ว (蘇鑠), เยฺว่ ตุน (樂敦) หลิว เสียน (劉賢) และคนอื่น ๆ โดยกล่าวว่า "พวกท่านละเมิดกฎหมายหลายครั้ง มหาขุนพลสุมาสูคนนี้เป็นคนเข้มงวด เน้นย้ำเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้ง เรื่องที่เคยเกิดกับเตียวต๋องจะเป็นอุทาหรณ์เตือนพวกท่าน" ซู ชั่วและคนอื่น ๆ ยอมเชื่อฟังคำสั่งของลิฮอง[22]

อย่างไรก็ตาม สุมาสูล่วงรู้เรื่องที่ลิฮองวางแผน สุมาสูจึงส่งหวาง ย่าง (王羕) ให้นำรถไปเชิญลิฮองมาพบ ลิฮองเห็นว่าคนของสุมาสูมาเพื่อข่มขู่ตนจึงยอมติดตามหวาง ย่างไป[23] เมื่อลิฮองมาถึง สุมาสูก็ไต่ถามลิฮองถึงเรื่องที่ลิฮองวางแผนไว้ ลิฮองไม่กล้าบอกความจริง สุมาสูก็ถามลิฮองอีกครั้ง ลิฮองรู้ว่าแผนการรั่วไหลจึงด่าสุมาสูอย่างรุนแรง สุมาสูโกรธมากจึงใช้วงแหวนเหล็กที่ปลายด้ามดาบทุบลิฮองจนเสียชีวิต[24][25][26]

ในคืนเดียวกันนั้น ศพของลิฮองได้ถูกส่งไปให้เสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) จง ยฺวี่[c] (鍾毓) ผู้เป็นเสนาบดีตุลาการไม่ยอมรับโดยพูดว่า "นี่ไม่ใช่หน้าที่จัดการของสำนักกฎหมาย" แต่หลังจากจง ยฺวี่รับทราบสถานการณ์และได้รับคำสั่งมาจึงยอมรับ[27]

หลังจากแผนการรั่วไหลเพราะลิฮอง เตียวอิบก็ถูกสุมาสูบังคับให้ฆ่าตัวตาย จง ยฺวี่ถวายฎีกาทูลว่าลิฮองและคนอื่น ๆ วางแผนจะคุมองค์จักรพรรดิและสังหารอัครมหาเสนาบดี (สุมาสู) เป็นการก่อกบฏครั้งใหญ่โดยไม่ชอบธรรม จึงขอให้ลงโทษตามกฎหมาย ดังนั้นเหล่าขุนนางผู้ใหญ่จึงร่วมปรึกษากันกับเสนาบดีตุลาการ ต่างมีความเห็นว่าลิฮองและคนอื่น ๆ ต่างได้รับความโปรดปรานจากจักรพรรดิ ร่วมจัดการการลับ เตียวอิบก็ได้รับเกียรติจากการเป็นพระญาติผ่านการสมรส (ของเตียวฮองเฮาที่เป็นบุตรสาว) แฮเหาเหียนและคนอื่น ๆ ก็เป็นเสนาบดีมาหลายรุ่น มีตำแหน่งระดับสูง แต่เก็บงำความชั่วร้ายในใจ วางแผนก่อกบฏอันน่าหวาดหวั่น สมคบคิดกับขันที สั่งสอนให้ทำแผนชั่วช้า คิดการจะคุมองค์จักรพรรดิ วางแผนโค่นล้มสุมาสู แล้วตั้งตนขึ้นกุมอำนาจ พลิกคว่ำนครหลวง เป็นภัยต่อแผ่นดิน เหล่าขุนนางเชื่อว่าคำพูดของจง ยฺวี่สอดคล้องกับกฎหมาย จึงมอบหมายให้จง ยฺวี่ดำเนินการลงอาญา ให้ประหารชีวิตหลี่ เทา (บุตรชายของลิฮอง), แฮเฮาเหียน, ซู ชั่ว, เยฺว่ ตุน, หลิว เสียน และคนอื่น ๆ รวมถึงครอบครัวสามชั่วโคตร สมาชิกในครอบครัวที่เหลือให้เนรเทศไปอยู่เมืองเล่อล่าง (樂浪)[28] ยังมีพระราชโองการออกมาว่าเจ้าหญิงใหญ่แห่งเจ๋เป็นพระธิดาของจักรพรรดิองค์ก่อน (โจยอย) ดังนั้นบุตรชาย 3 คนของพระองค์ที่เกิดกับหลี่ เทาจึงได้รับการละเว้นโทษ หลี หว่าน (李婉) บุตรสาวของลิฮองแต่เดิมสมรสกับกาอุ้น หลี หว่านจึงถูกเนรเทศและแยกทางกันกับกาอุ้นผู้สามี หลี หว่านได้รับนิรโทษกรรมและเดินทางกลับมาหลังการก่อตั้งราชวงศ์จิ้น แต่เวลานั้นกาอุ้นก็สมรสใหม่กับกัว หฺวาย (郭槐) แล้ว แม้ว่าสุมาเอี๋ยนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นจะทรงอนุญาตเป็นพิเศษให้กาอุ้นตั้งภรรยาซ้ายและภรรยาขวาที่มีฐานะเท่าเทียมกัน แต่กาอุ้นยังคงกลัวกัว หฺวายจึงทูลปฏิเสธสุมาเอี๋ยนไป

จักรพรรดิโจฮองกริ้วมากต่อเรื่องการเสียชีวิตของลิฮองและตรัสถามถึงสาเหตุการเสียชีวิต ด้านกวยทายเฮาก็ตกพระทัยจึงตรัสขอให้โจฮองเสด็จเข้าด้านในก่อนแล้วจึงทรงขอให้โจฮองทรงปล่อยวางเรื่องนี้ไป โจฮองทรงกลัวเกินกว่าที่จะดำเนินการก่อรัฐประหารยึดอำนาจคืนจากสุมาสู ในที่สุดพระองค์ก็ถูกปลดจากการเป็นจักรพรรดิในเดือนตุลาคม ค.ศ. 254

ครอบครัว

แก้

บิดาของลิฮองชื่อหลี่ อี้ (李義) เดิมรับราชการเป็นเสนาบดีกรมรักษาราชวัง (衛尉 เว่ย์เว่ย์) ในรัฐวุยก๊ก

บุตรชายคนโตของลิฮองชื่อหลี่ เทา (李韜) สมรสกับเจ้าหญิงใหญ่[29] แห่งเจ๋ (齊長公主 ฉีฉางกงจู่) พระธิดาของโจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของวุยก๊ก บุตรสาวของลิฮองชื่อหลี หว่าน (李婉)[d] สมรสกับกาอุ้นแต่ถูกตัดสินโทษเนรเทศหลังการเสียชีวิตของบิดา บุตรสาวของหลี หว่านชื่อเจี่ย เปา (賈褒) ภายหลังสมรสกับสุมาฮิวบุตรชายของสุมาเจียวและหวาง ยฺเหวียนจี (王元姬)

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในชีวประวัติแฮเฮาเหียนในจดหมายเหตสามก๊กระบุว่าลิฮองมีอายุ 17-18 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในช่วงศักราชอ้วยโช่ (ค.ศ. 220-226) ในรัชสมัยของโจผี ปีเกิดของลิฮองจึงควรอยู่ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 200
  2. วันเกิงซฺวี (庚戌) ในเดือน 2 ศักราชเจียผิง (嘉平; ค.ศ. 249-254) ปีที่ 6 ในรัชสมัยของโจฮองตามที่ระบุในพระราชประวัติโจฮองในจดหมายเหตุสามก๊ก แฮเฮาเหียนและเตียวอิบที่เป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของโจฮองก็เสียชีวิตในวันเดียวกัน
  3. จง ยฺวี่เป็นบุตรชายของจงฮิวและเป็นพี่ชายของจงโฮย
  4. ชื่อตัวของหลี หว่านไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์ทางการ แต่อรรถาธิบายจากฟู่เหรินจี๋ (妇人集) ในชื่อชัวซิน-ยฺหวี่ (世說新語) เล่มที่ 19 ระบุชื่อตัวว่า "หว่าน")

อ้างอิง

แก้
  1. "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 14, 2023.
  2. 《三國志注·裴潛傳》記載為「宣國」,於「(李)義子豐,字宣國,見夏侯玄傳。」見載。
  3. อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  4. (豐字安國,故衞尉李義子也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  5. (黃初中,以父任召隨軍。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  6. (始爲白衣時,年十七八,在鄴下名爲清白,識別人物,海內翕然,莫不注意。後隨軍在許昌,聲稱日隆。其父不願其然,遂令閉門,勑使斷客。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  7. (初,明帝在東宮,豐在文學中。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  8. (及即尊位,得吳降人,問「江東聞中國名士爲誰」?降人云:「聞有李安國者是。」時豐爲黃門郎,明帝問左右安國所在,左右以豐對。帝曰:「豐名乃被於吳越邪?」) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  9. (後轉騎都尉、給事中。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  10. (帝崩後,爲永寧太僕,以名過其實,能用少也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  11. (正始中,遷侍中尚書僕射。豐在臺省,常多託疾,時臺制,疾滿百日當解祿,豐疾未滿數十日,輒暫起,已復臥,如是數歲。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  12. (初,豐子韜以選尚公主,豐雖外辭之,內不甚憚也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  13. (豐弟翼及偉,仕數歲閒,並歷郡守。豐嘗於人中顯誡二弟,言當用榮位爲□。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  14. (及司馬宣王久病,偉爲二千石,荒於酒,亂新平、扶風二郡,而豐不召,衆人以爲恃寵。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  15. (曹爽專政,豐依違二公間,無有適莫,故於時有謗書曰:「曹爽之勢熱如湯,太傅父子冷如漿,李豐兄弟如游光。」其意以爲豐雖外示清淨,而內圖事,有似於游光也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  16. (及宣王奏誅爽,住車闕下,與豐相聞,豐怖,遽氣索,足委地不能起。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  17. (至嘉平四年宣王終後,中書令缺,大將軍諮問朝臣:「誰可補者?」或指向豐。豐雖知此非顯選,而自以連婚國家,思附至尊,因伏不辭,遂奏用之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  18. (玄以爽抑絀,內不得意。中書令李豐雖宿爲大將軍司馬景王所親待,然私心在玄,遂結皇後父光祿大夫張緝,謀欲以玄輔政。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  19. (豐旣內握權柄,子尚公主,又與緝俱馮翊人,故緝信之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  20. (豐陰令弟兖州刺史翼求入朝,欲使將兵入,并力起。會翼求朝,不聽。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  21. (嘉平六年二月,當拜貴人,豐等欲因御臨軒,諸門有陛兵,誅大將軍,以玄代之,以緝爲驃騎將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  22. (豐密語黃門監蘇鑠、永寧署令樂敦、宂從僕射劉賢等曰:「卿諸人居內多有不法,大將軍嚴毅,累以爲言,張當可以爲誡。」鑠等皆許以從命。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  23. (大將軍聞豐謀,舍人王羕請以命請豐:「豐若無備,情屈勢迫,必來,若不來,羕一人足以制之;若知謀泄,以衆挾輪,長戟自衞,徑入雲龍門,挾天子登陵雲臺,臺上有三千人仗,鳴鼓會衆,如此,羕所不及也」。大將軍乃遣羕以車迎之。豐見劫迫,隨羕而至。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  24. (大將軍微聞其謀,請豐相見,豐不知而往,即殺之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  25. (將軍責豐,豐知禍及,遂正色曰:「卿父子懷姦,將傾社稷,惜吾力劣,不能相禽滅耳!」大將軍怒,使勇士以刀環築豐腰,殺之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  26. (豐爲中書二歲,帝比每獨召與語,不知所說。景王知其議己,請豐,豐不以實告,乃殺之。其事祕。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  27. (夜送豐尸付廷尉,廷尉鍾毓不受,曰:「非法官所治也。」以其狀告,且勑之,乃受。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  28. (廷尉鍾毓奏:「豐等謀迫脅至尊,擅誅冢宰,大逆無道,請論如法。」於是會公卿朝臣廷尉議,咸以爲「豐等各受殊寵,典綜機密,緝承外戚椒房之尊,玄備世臣,並居列位,而苞藏禍心,構圖凶逆,交關閹豎,授以姦計,畏憚天威,不敢顯謀,乃欲要君脅上,肆其詐虐,謀誅良輔,擅相建立,將以傾覆京室,顛危社稷。毓所正皆如科律,報毓施行」。詔書:「齊長公主,先帝遺愛,匄其三子死命。」於是豐、玄、緝、敦、賢等皆夷三族,〉其餘親屬徙樂浪郡。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  29. Lee, Lily; Wiles, Sue, บ.ก. (2015). Biographical Dictionary of Chinese Women. Vol. II. Routledge. p. 609. ISBN 978-1-317-51562-3. An emperor's [...] sister or a favorite daughter was called a grand princess (zhang gongzhu); and his aunt or grand-aunt was called a princess supreme (dazhang gongzhu).

บรรณานุกรม

แก้