แฮเฮาเหียน
แฮเฮาเหียน[2] (209 – 27 มีนาคม ค.ศ. 254)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เซี่ยโหว เสฺวียน (จีน: 夏侯玄; พินอิน: Xiàhóu Xuán) ชื่อรอง ไท่ชู (จีน: 泰初/太初; พินอิน: Tàichū) เป็นนักเขียนเรียงความ นักประวัติศาสตร์ ขุนพล นักปรัชญา และขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน
แฮเฮาเหียน (เซี่ยโหว เสฺวียน) | |
---|---|
夏侯玄 | |
เสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 254 | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
เสนาบดีปฏิคม (大鴻臚 ต้าหงหลู) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 249 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
ขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 249 | |
กษัตริย์ | โจยอย / โจฮอง |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ค.ศ. 209[a] |
เสียชีวิต | 27 มีนาคม ค.ศ. 254 (45 ปี)[a] นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน |
บุพการี |
|
ความสัมพันธ์ |
|
อาชีพ | นักเขียนเรียงความ, นักประวัติศาสตร์, ขุนพล, นักปรัชญา, ขุนนาง |
ชื่อรอง | ไท่ชู (泰初/太初) |
บรรดาศักดิ์ | ชางหลิงเซียงโหว (昌陵鄉侯) |
ภูมิหลังครอบครัว
แก้แฮเฮาเหียนเป็นบุตรชายของแฮหัวซง[b] มารดาของแฮหัวซงคือเจ้าหญิงเต๋อหยาง (德陽鄉主 เต๋อหยางเซียงจู่; น้องสาวของโจจิ๋น) จึงทำให้แฮเฮาเหียนมีความใกล้ชิดกับฝ่ายโจซอง แฮเฮาเหียนมีน้องสาวชื่อเซี่ยโหว ฮุย (夏侯徽) ซึ่งเป็นภรรยาของสุมาสู บุตรสาวคนหนึ่งของแฮเฮาเหียนกลายมาเป็นภรรยาของเหอ เจี้ยว (和嶠) หลานชายของเหอ เชี่ย (和洽) และบุตรชายของเหอ จฺหย่ง (和迥)
ประวัติ
แก้เมื่อแฮเฮาเหียนอายุ 20 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานทหารม้ามหาดเล็ก (散騎侍郎 ซ่านฉีชื่อหลาง) และเจ้าพนักงานสำนักประตูเหลือง (黃門侍郎 หฺวางเหมินชื่อหลาง) ในราชสำนักวุยก๊ก[3] วันหนึ่งขณะที่เข้าเฝ้าจักรพรรดิโจยอย แฮเฮาเหียนแสดงออกซึ่งความรังเกียจที่จะนั่งร่วมกับเหมา เจิง (毛曾) พี่ชายของมอซือ (毛氏 เหมาชื่อ) ซึ่งเป็นจักรพรรดินีของโจยอย เหตุการณ์ทำให้โจยอยทรงกริ้ว จึงทรงลดขั้นแฮเฮาเหียนให้ไปเป็นหัวหน้าของหน่วยราชองครักษ์ยฺหวี่หลิน (羽林監 ยฺหวี่หลินเจียน)[4]
แฮเฮาเหียน, หลีซิน, เตงเหยียง และจูกัดเอี๋ยนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ถูกเรียกร่วมกันว่า "สี่อัจฉริยะ" (四聰 ชื่อชง) โจยอยไม่โปรดทั้งสี่คนนี้เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าพฤติกรรมของทั้งสี่คนนี้ไร้แก่นสารและเย่อหยิ่ง จึงทรงปลดทั้งสี่คนออกจากราชการ
ในเดือนมกราคม ค.ศ. 239 หลังจากโจยอยสวรรคต โจฮองพระโอรสบุญธรรมขึ้นเสวยราชย์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊ก โจซองผู้ได้รับการแต่งตั้งจากโจยอยก่อนสวรรคตให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้กลายเป็นผู้มีอำนาจมากที่สุดในวุยก๊กร่วมกับสุมาอี้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการร่วม โจซองแต่งตั้งให้แฮเฮาเหียนเป็นนายทหารม้ามหาดเล็ก (散騎常侍 ซ่านฉีฉางชื่อ) และผู้พิทักษ์ทัพกลาง (中護軍 จงฮู่จฺวิน) แฮเฮาเหียนมีชื่อเสียงในฐานะบัณฑิตและมีความสามารถเทียบได้กับโฮอั๋นซึ่งเป็นสมาชิกอีกคนในฝ่ายโจซอง ทั้งแฮเฮาเหียนและโฮอั๋นเป็นสหายของสุมาสูบุตรชายของสุมาอี้ สุมาสูและแฮเฮาเหียนต่างก็ได้รับการยกย่องอย่างสูงจากโฮอั๋น หลังจากที่แฮเฮาเหียนขึ้นเป็นผู้พิทักษ์ทัพกลางแทนที่เจียวเจ้ ในเวลานั้นการติดสินบนกลายเป็นเรื่องปกติในราชสำนักวุยก๊ก แม้ว่าแฮเฮาเหียนจะไม่สามารถหยุดการทุจริตได้ แต่แฮเฮาเหียนก็มีดุลยพินิจในการคัดเลือกเฉพาะผู้มีความสามารถเข้ารับราชการ
วันหนึ่งแฮเฮาเหียนขอคำแนะนำจากสุมาอี้ว่า "ระบบบรรดาศักดิ์เก้าขั้นนั้นไม่ดี เราควรจำกัดอำนาจของผู้ควบคุม ดังนั้นเราควรเปลี่ยนแปลงกฎหมายของภูมิภาคมณฑลตั้งแต่รากฐาน" สุมาอี้ตอบว่าหากไม่มีคนผลักดันการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิดขึ้น และด้วยเหตุนี้คำขอของแฮเฮาเหียนจึงไม่สามารถปฏิบัติได้ แฮเฮาเหียนกล่าวว่าความคิดเห็นว่าสุมาอี้นิ่งเฉยเกินไป
ในปี ค.ศ. 244 แฮเฮาเหียนได้เลื่อนขั้นเป็นขุนพลโจมตีภาคตะวันตก (征西將軍 เจิงซีเจียงจฺวิน) และรับมอบหมายให้ดูแลราชการทหารในมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋ว แฮเฮาเหียนเลือกหลีซินที่เป็นสหายให้มาเป็นหัวหน้าเลขานุการ (長史 จ๋างฉื่อ) ของตน ในปีเดียวกันนั้น แฮเฮาเหียนและโจซองยกทัพเข้ารบกับจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กตามคำแนะนำของหลีซิน แต่ท้ายที่สุดก็ถูกทัพจ๊กก๊กโจมตีแตกพ่ายยับเยินในยุทธการที่ซิงชื่อเพราะเส้นทางลำเลียงเสบียงถูกตัดขาด การตัดสินใจยกทัพไปรบครั้งนี้ตั้งแต่ต้นยังส่งผลเสียหายต่อชื่อเสียงของตัวแฮเฮาเหียนและโจซองอย่างมาก
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 249 สุมาอี้ถือโอกาสในช่วงเวลาที่โจซองไม่อยู่ในนครหลวงลกเอี๋ยง ดำเนินการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากโจซอง ภายหลังสุมาอี้มีคำสั่งให้จับกุมโจซองและประหารชีวิตพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวและผู้สนับสนุน หลังจากนั้นสุมาอี้จึงเรียกตัวแฮเฮาเหียนมายังลกเอี๋ยงและแต่งตั้งให้แฮเฮาเหียนเป็นเสนาบดีปฏิคม (大鴻臚 ต้าหงหลู) อีกไม่กี่ปีต่อมา แฮเฮาเหียนได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) วันหนึ่งแฮหัวป๋าที่เป็นญาติคนหนึ่งของแฮเฮาเหียนเสนอกับแฮเฮาเหียนให้แปรพักตร์ไปเข้าด้วยจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กเนื่องจากตระกูลสุมาค่อย ๆ แย่งชิงอำนาจจากราชวงศ์ของวุยก๊ก แฮเฮาเหียนปฏิเสธข้อเสนอ ในขณะที่แฮหัวป๋าเดินทางไปแปรพักตร์เข้าด้วยจ๊กก๊ก
เนื่องจากก่อนหน้านี้แฮเฮาเหียนเป็นพวกของโจซองคนหนึ่ง แฮเฮาเหียนจึงมีชีวิตที่หดหู่และถูกกีดกันในราชสำนักวุยก๊กภายใต้การควบคุมของสุมาอี้ แฮเฮาเหียนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบุคลากร และเพียงได้ดำรงตำแหน่งที่มีเกียรติแต่ไม่มีอำนาจที่แท้จริง หลังจากสุมาอี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 เค้าอิ๋น (許允 สฺวี ยฺหวิ่น) สหายคนหนึ่งของแฮเฮาเหียนแสดงความยินดีกับแฮเฮาเหียนเพราะเค้าอิ๋นเห็นว่าแฮเฮาเหียนไม่ต้องอยู่ใต้อำนาจของสุมาอี้อีกต่อไป แต่แฮเหาเหียนกล่าวว่าสุมาสูและสุมาเจียวบุตรชายของสุมาอี้จะไม่ยอมปล่อยให้ตนอยู่ได้นาน ๆ และกล่าวว่าคำพูดของเค้าอิ๋นไม่ได้แสดงสิ่งใดนอกจากเพียงความคิดปรารถนา สุมาสูได้สืบทอดอำนาจจากบิดาในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และยังคงผูกขาดอำนาจต่อไป
แผนการของลิฮองและการเสียชีวิตของแฮเฮาเหียน
แก้ราวปี ค.ศ. 254 ลิฮองผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) ในราชสำนักวุยก๊ก ลอบวางแผนจะโค่นล้มและลอบสังหารสุมาสู ลิฮองยังต้องการให้แฮเฮาเหียนขึ้นมาแทนที่สุมาสูในตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) และทูลเกล้าฯ ถวายคืนพระราชอำนาจแก่โจฮองจักรพรรดิวุยก๊กซึ่งเวลานั้นเป็นเพียงผู้ปกครองหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของสุมาสู เพื่อให้บรรลุความมุ่งหมาย ลิฮองยังลอบติดต่อกับเตียวอิบ (張緝 จาง จี) ซึ่งเป็นพระสัสสุระ (พ่อตา) ของจักรพรรดิ แล้วบอกเตียวอิบถึงเรื่องแผนการของตน
อย่างไรก็ตาม สุมาสูล่วงรู้แผนการนี้จึงชิงลงมือจัดการกับลิฮอง เตียวอิบ และผู้ร่วมสมคบคิด สุมาสูยังสั่งให้จับตัวแฮเฮาเหียนและส่งตัวไปให้จง ยฺวี่ (鍾毓) ผู้เป็นเสนาบดีตุลาการ (廷尉 ถิงเว่ย์) ให้สอบปากคำ แฮเฮาเหียนทำราวไม่มีอะไรเกิดขึ่นระหว่างที่ถูกจง ยฺวี่สอบถาม ในที่สุดลิฮอง เตียวอิบ แฮเฮาเหียน และคนอื่น ๆ ก็ถูกตั้งข้อหากบฏและถูกประหารชีวิต
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 ชีวประวัติของแฮเฮาเหียนในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าแฮเฮาเหียนมีอายุ 46 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ขณะถูกประหารชีวิตในเดือน 2 ศักราชเจียผิง (嘉平; ค.ศ. 249-254) ปีที่ 6 ในรัชสมัยของโจฮอง[1] พระราชประวัติโจฮองระบุวันที่ของเหตุการณ์นี้ว่าเป็นเกิงซฺวี (庚戌) ของเดือนนั้น ซึ่งเทียบได้กับวันที่ 27 มีนาคม ค.ศ. 254 ในปฏิทินจูเลียน เมื่อคำนวณแล้วปีเกิดของแฮเฮาเหียนจึงควรเป็นปี ค.ศ. 209
- ↑ ชื่อสกุล "แฮหัว" ของแฮหัวซง (夏侯尚 เซี่ยโหว ช่าง) และชื่อสกุล "แฮเฮา" ของแฮเฮาเหียนเป็นชื่อสกุลเดียวกันคือชื่อสกุล "เซี่ยโหว" (夏侯) ในภาษาจีนกลาง
อ้างอิง
แก้- ↑ (嘉平六年二月, ...玄格量弘濟,臨斬東巿,顏色不變,舉動自若,時年四十六。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ June 10, 2023.
- ↑ (玄字太初。少知名,弱冠爲散騎黃門侍郎。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9
- ↑ (嘗進見,與皇后弟毛曾並坐,玄恥之,不恱形之於色。明帝恨之,左遷爲羽林監。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (คริสต์ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).