กวยทายเฮา
กวยทายเฮา[b] (จีน: 郭太后; พินอิน: Guō Tàihòu กัวไท่โฮ่ว; สิ้นพระชนม์ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264[a]) หรือ โกยฮุยหยิน[c] (จีน: 郭夫人; พินอิน: Guō Fūrén กัวฟูเหริน) หรือ จักรพรรดินีกัว (จีน: 郭皇后; พินอิน: Guō Huánghòu กัวหฺวางโฮ่ว) ไม่ทราบชื่อตัว รู้จักในอีกชื่อว่า จักรพรรดินีหมิง-ยฺเหวียน (明元皇后 หมิง-ยฺเหวียนหฺวางโฮฺ่ว) เป็นจักรพรรดินีของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน อภิเษกสมรสกับโจยอย จักรพรรดิลำดับที่ 2 ของวุยก๊ก ถือเป็นภรรยาลำดับที่ 3 และจักรพรรดินีลำดับที่ 2 ของจักรพรรดิโจยอย ข้อมูลที่จำกัดเกี่ยวกับกวยทายเฮาแสดงให้เห็นว่ากวยทายเฮาเป็นสตรีที่เฉลียวฉลาดที่ต่อสู้อย่างหนักเพื่อไม่ให้วุยก๊กตกอยู่ในมือของตะกูลสุมา (สุมาอี้และบุตรชายคือสุมาสูและสุมาเจียว) ในรัชสมัยของโจฮองโอรสบุญธรรมของพระองค์ และรัชสมัยของโจมอที่เป็นพระญาติของโจฮอง แต่ไม่สามารถต้านทานได้
กวยทายเฮา (กัวไท่โฮฺ่ว) 郭太后 | |||||
---|---|---|---|---|---|
จักรพรรดินีพันปีหลวงแห่งวุยก๊ก | |||||
ดำรงตำแหน่ง | 22 มกราคม ค.ศ. 239 – 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 | ||||
ก่อนหน้า | กุยฮุย | ||||
จักรพรรดินีแห่งวุยก๊ก | |||||
ดำรงตำแหน่ง | 16 มกราคม 239 – 22 มกราคม 239 | ||||
ก่อนหน้า | มอซือ | ||||
ถัดไป | จักรพรรดินีเจิน | ||||
ประสูติ | ไม่ทราบ | ||||
สวรรคต | 8 กุมภาพันธ์ 264[a] | ||||
คู่อภิเษก | โจยอย | ||||
พระราชบุตร | องค์หญิงอี้แห่งเพงงวน | ||||
| |||||
พระราชบิดา | กัว หม่าน | ||||
พระราชมารดา | ตู้ชื่อ |
ภูมิหลังครอบครัวและสมรสกับโจยอย
แก้กวยทายเฮาหรือโกยฮุยหยินเป็นชาวเมืองเสเป๋ง (西平郡 ซีผิงจฺวิ้น; ปัจจุบันบริเวณนครซีหนิง มณฑลชิงไห่) ครอบครัวของโกยฮุยหยินเป็นตระกูลทรงอิทธิพลในพื้นที่ แต่ในรัชสมัยของโจผีผู้เป็นพระบิดาของโจยอย ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 223[d] ตระกูลของโกยฮุยหยินมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มกบฏ โกยฮุยหยินและคนอื่น ๆ ในครอบครัวจึงถูกคุมตัวไปโดยราชสำนักวุยก๊กในภายหลัง[6] โกยฮุยหยินกลายเป็นสนมของโจยอยหลังโจยอยขึ้นครองราชย์ โจยอยโปรดปรานโกยฮุยหยินอย่างมาก[7]
ในปี ค.ศ. 237 โกยฮุยหยินมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่นำไปสู่การสิ้นพระชนม์ของมอซือ จักรพรรดินีพระองค์แรกในรัชสมัยของโจยอย (และถือเป็นภรรยาคนที่ 2 ของโจยอย) ครั้งหนึ่งเมื่อโจยอยเข้าร่วมงานเลี้ยงที่จัดโดยโกยฮุยหยิน โกยฮุยหยินทูลเสนอให้เชิญมอซือมาร่วมงานเลี้ยง แต่โจยอยปฏิเสธและมีรับสั่งห้ามไม่ให้แจ้งข่าวเรื่องงานเลี้ยงกับมอซือ แต่ข่าวรั่วไหลและมอซือก็ได้มาทูลโจยอยเกี่ยวกับงานเลี้ยง โจยอยทรงพระพิโรธจึงสั่งประหารชีวิตข้าราชบริพารของพระองค์ไปหลายคนซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวรั่วไหลรู้ไปถึงมอซือ และมีรับสั่งให้มอซือกระทำอัตวินิบัติกรรม
หลังการสิ้นพระชนม์ของมอซือ โกยฮุยหยินก็ขึ้นเป็นจักรรดินีโดยพฤตินัย สมาชิกในครอบครัวของโกยฮุยหยินก็ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติ (แม้ว่าจะมีอำนาจน้อย) อย่างไรก็ตามโกยฮุยหยินก็ไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นจักรพรรดินี จนกระทั่งโจยอยทรงพระประชวรในช่วงปีใหม่ของปี ค.ศ. 239 พระองค์สวรรคตในอีกหนึ่งเดือนต่อมา โกยฮุยหยิน (กวยทายเฮา) จึงขึ้นเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวงหรือทายเฮา (太后 ไท่โฮ่ว) ของโจฮองที่เป็นพระโอรสบุญธรรมของพระองค์ แต่ไม่ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในฐานะจักรพรรดินีพันปีหลวง
แก้สุมาอี้และโจซองผู้เป็นพระญาติของโจยอยได้ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามพระประสงค์ของโจยอย แต่ต่อมาไม่นานโจซองก็ขึ้นเป็นบุคคลสำคัญที่สุดของราชสำนัก แม้ว่าโจซองจะแสดงท่าทีเคารพสุมาอี้ แต่ก็ได้กีดกันสุมาอี้จากการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ปรากฏแน่ชัดว่ากวยทายเฮาทรงมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ เนื่องจากบทบาททางการเมืองของกวยทายเฮาในช่วงที่โจซองเป็นผู้สำเร็จราชการนั้นมีน้อยมาก แม้ว่าโจซอง (รวมถึงตระกูลสุมาในภายหลัง) จะยื่นเสนอประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญกับพระองค์ แต่ก็ตัดสินใจในประเด็นเหล่านั้นด้วยตนเองโดยไม่มีพระวินิจฉัยที่แท้จริงจากพระองค์
โจซองมักถูกมองว่าเป็นผู้สำเร็จราชการที่ไร้ความสามารถ ซึ่งไว้วางใจคนสนิทหลายคนที่ขาดความสามารถพอ ๆ กัน ตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ. 244 โจซองที่ขาดความสามารถทางการทหาร แต่ก็ทำตามคำแนะนำของหลีซินและเตงเหยียงให้เข้าโจมตีจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก โดยไม่มีการวางแผนการขนส่งเสบียงอย่างรอบคอบ แม้ในท้ายที่สุดยุทธการไม่มีผลสรุป แต่โจซองก็จำต้องล่าถอยเพราะปศุสัตว์ตายจำนวนมาก และระหว่างการล่าถอยก็มีทหารหลายคนเสียชีวิตในยุทธการหรือสาเหตุอื่น ๆ โจซองยังสะสมทรัพย์สินจำนวนมากให้ตนและคนสนิท และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการท่องเที่ยว ห่างไกลจากราชการสำคัญของรัฐตั้งแต่ปี ค.ศ. 247[e]
ในปี ค.ศ. 249 สุมาอี้พร้อมด้วยการสนับสนุนจากเหล่าขุนนางที่เบื่อหน่ายกับความไร้ความสามารถของโจซอง ได้ร่วมกันออกพระราชเสาวนีย์ในนามของกวยทายเฮา ก่อการรัฐประหารและปลดโจซองจากตำแหน่ง ภายหลังยังให้นำตัวโจซองและคนสนิทรวมถึงครอบครัวทั้งหมดไปประหารชีวิต สุมาอี้จึงกุมอำนาจในราชสำนักอย่างเบ็ดเสร็จ หลังสุมาอี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 สุมาสูบุตรชายสืบทอดอำนาจจากบิดาและรักษาอำนาจของตนในราชสำนักได้เท่ากับทีบิดาเคยทำได้ ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูดำเนินการกวาดล้างกลุ่มขุนนางที่ต่อต้านตน สุมาสูสงสัยว่าขุนนางเหล่านี้ลอบสมคบคิดกับจักรพรรดิโจฮองและอาจจะกับกวยทายเฮาเพื่อจะพยายามโต้กลับตระกูลสุมา แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด ตั้งแต่นั้นมา ขุนนางคนใดก็ตามที่กล้าเข้าใกล้จักรพรรดิโจฮองและกวยทายเฮาจะตกเป็นเป้า
ในปี ค.ศ. 254 ขุนนางบางคนทูลแนะนำจักรพรรดิโจฮองให้ใช้โอกาสที่สุมาเจียวน้องชายของสุมาสูมาเข้าเฝ้าที่พระราชวัง จัดการสังหารสุมาเจียวและยึดกองกำลังของสุมาเจียวจากนั้นจึงเข้าโจมตีสุมาสู โจฮองตัดสินพระทัยลงมือกระทำตามคำทูลไม่ได้ แต่แล้วข่าวก็รั่วไหล สุมาอี้จึงปลดโจฮองจากการเป็นจักรพรรดิ ในช่วงเหตุการณ์นี้เองที่กวยทายเฮาแสดงพระปัญญาของพระองค์ในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะรักษาความเป็นไปได้ที่จะป้องกันตระกูลสุมาจากการเข้ายึดอำนาจในวุยก๊กอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อสุมาสูทูลกวยทายเฮาว่าตนตั้งใจจะตั้งโจกี๋ (曹據 เฉา จฺวี้) ผู้เป็นอ๋องแห่งแพเสีย (彭城王 เผิงเฉิงหวาง) และเป็นพระอนุชาของโจผีให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ กวนทายเฮาพยายามโน้มน้าวว่าทำเช่นนั้นไม่เหมาะสม เพราะโจกี๋เป็นพระปิตุลา (อา) ของโจยอยที่เป็นพระสวามีของพระองค์ หากสถาปนาโจกี๋จะทำให้โจยอยไม่มีทายาท สุมาอี้จำต้องเห็นด้วยกับกวยทายเฮา และทำตามที่กวยทายเฮาทรงเสนอคือสถาปนาโจมอ (เกากุ้ยเซียงกง) โอรสของเฉา หลิน (曹霖) พระอนุชาของโจยอย ให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน โจมอในเวลานั้นมีพระชนมายุเพียง 13 พรรษาแต่ก็มีชื่อเสียงในด้านสติปัญญา กวยทายเฮาอาจจะทรงเชื่อว่าโจมออาจจะมีโอกาสโต้กลับตระกูลสุมา เมื่อสุมาสูถามหาพระราชลัญจกรจากกวยทายเฮา กวยทายเฮาก็ปฏิเสธอย่างสุภาพโดยให้เหตุผลว่าพระองค์เคยพบกับโจมอมาก่อนและต้องการจะพระราชทานพระราชลัญจกรแก่โจมอด้วยพระองค์เอง
ในปี ค.ศ. 255 บู๊ขิวเขียมและบุนขิมประกาศอ้างว่าพวกตนได้รับพระราชเสาวนีย์ลับจากกวยทายเฮา และพยายามก่อกบฏโดยเริ่มที่ฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) หวังจะโค่นล่มสุมาสูแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ากวยทายเฮามีการติดต่อกับบู๊ขิวเขียมและบุนขิมจริง ๆ
หลังจากโจมอขึ้นเป็นจักรพรรดิ พระองค์ค่อย ๆ สร้างกลุ่มอำนาจของพระองค์เองจากขุนนางจำนวนหนึ่งซึ่งก็ไม่ได้สงสัยในการสนับสนุนตระกูลสุมาแต่เห็นว่าอาจมีบางสิ่งที่ได้รับจากการภักดีต่อจักรพรรดิ ขุนนางเหล่านี้เช่น สุมาปองผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของสุมาสู, อองซิม (王沈 หวาง เฉิ่น), โปยสิว และจงโฮย โจมอหวังว่าพระองค์จะสามารถลดความแคลงใจของขุนนางเหล่านี้ต่อพระองค์และขณะเดียวก็ค่อย ๆ ชนะใจพวกเขาได้ ในปี ค.ศ. 255 โจมอพยายามชิงอำนาจกลับคืนมาแต่ไม่สำเร็จ เมื่อสุมาสูเสียชีวิตขณะอยู่ที่ฮูโต๋ สุมาเจียวในเวลานั้นก็อยู่ที่ฮูโต๋เช่นกัน โจมอจึงออกพระราชโองการว่าสุมาสูเพิ่งปราบกบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิมได้ และชายแดนดานตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่สงบราบคาบ จึงมีรับสั่งให้สุมาเจียวยังคงอยู่ที่ฮูโต๋และให้เปาต้าน (傅嘏 ฟู่ กู่) กลับมายังนครหลวงลกเอี๋ยงพร้อมกับทัพหลัก แต่สุมาเจียวทำตามคำแนะนำของเปาต้านและจงโฮย กลับมายังลกเอี๋ยงทั้งที่เป็นการขัดกับพระราชโองการ และสามารถรักษาอำนาจในราชสำนักไว้ได้ ตั้งแต่นั้นมาสุมาเจียวก็ไม่ปล่อยให้โจมอและกวยทายเฮานอกอยู่การควบคุม เมื่อจูกัดเอี๋ยนก่อกบฏในปี ค.ศ. 257 เพราะเชื่อว่าสุมาเจียวจะชิงบัลลังก์ในอีกไม่นาน สุมาเจียวก็บังคับให้โจมอและกวยทายเฮาติดตามตนในการทัพปราบจูกัดเอี๋ยนด้วย
ในปี ค.ศ. 260 โจมอที่ไม่สามารถก้าวหน้าได้มากจากความพยายามในการลดอำนาจของสุมาเจียว จึงพยายามเริ่มก่อการรัฐประหารด้วยด้วยพระองค์เองโดยใช้ทหารราชองครักษ์ที่ภักดีต่อพระองค์ หลังโจมอประสบความสำเร็จในช่วงต้นที่ใกล้พระราชวัง แต่ในที่สุดพระองค์ก็ถูกปลงพระชนม์ระหว่างการรบ กวยทายเฮาถูกบังคับให้ต้องออกพระราชเสาวนีย์ปลดโจมอจากตำแหน่ง จากนั้นสุมาเจียวก็เพิกเฉยต่อพระประสงค์ของกวยทายเฮาในการกำหนดตัวผู้สืบราชบัลลังก์ถัดจากโจมอ แล้วตั้งโจฮวนผู้เป็นฉางเต้าเซียงกง (常道鄉公) พระนัดดาของโจโฉให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ แม้ว่ายังมีพระอนุชาของโจยอยที่มีทายาท กวยทายเฮาสิ้นพระชนม์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 โดยไม่สามารถส่งผลกระทบใด ๆ ต่ออำนาจของตระกูลสุมาได้ และในที่สุดสุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวก็ชิงบัลลังก์ได้เมื่อต้นปี ค.ศ. 266 และก่อตั้งราชวงศ์จิ้น พระศพของกวยทายเฮาได้รับการฝังในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 264[8]
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ 1.0 1.1 พระราชประวัติโจฮวนในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าว่ากวยทายเฮาสิ้นพระชนม์ในวันอี๋เหม่า เดือน 12 ของศักราชจิ่งยฺเหวียนปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮวน เทียบได้กับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 ในปฏิทินกริโกเรียน[4])
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 79, 81 และ 82 ขณะมีฐานะเป็นจักรพรรดินีพันปีหลวงในรัชสมัยของโจฮองและโจมอ[1][2][3]
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 79 ขณะมีฐานะเป็นสนมของโจยอย[5]
- ↑ ในพระประวัติของกวยทายเฮาในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่ากวยทายเฮาถูกคุมตัวโดยราชสำนักวุยก๊กหลังการกบฏในช่วงกลางของศักราชอ้วยโช่ (ค.ศ. 220-226) ในรัชสมัยของโจผี
- ↑ ในบางแหล่งข้อมูล โจซองที่ต้องการรักษาอำนาจของตน จึงทำตามคำแนะนำของหลีซิน เตงเหยียง และเตงปิด (丁谧 ติง มี่) ที่ให้ย้ายที่ประทับของกวยทายเฮาไปยังวังหย่งหนิงให้แยกห่างจากจักรพรรดิโจฮอง ทำให้กวยทายเฮาถูกกักบริเวณ กวยทายเฮาและจักรพรรดิโจฮองผู้เยาว์ต่างทรงพระกรรเสงเมื่อต้องอยู่แยกกัน แต่นักวิชาการอย่างหู ซานสิ่งและหวาง เม่าหงสงสัยว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่น่าเคยเกิดขึ้นเพราะกวยทายเฮาก็ประทับอยู่ที่วังหย่งหนิงตั้งแต่โจฮองขึ้นครองราชย์แล้ว เรื่องราวนี้อาจเพิ่มเติมเข้าไปโดยขุนนางราชวงศ์จิ้นเพื่อให้ร้ายโจซอง
อ้างอิง
แก้- ↑ ("ฝ่ายสุมาอี้พาขุนนางเก่าทั้งปวงเข้าไปเฝ้านางกวยทายเฮามารดาพระเจ้าโจฮองจึงทูลว่า บัดนี้โจซองไม่คิดถึงคำพระเจ้าโจยอยซึ่งฝากฝังพระเจ้าโจฮองไว้เลย จะทำการสิ่งใดก็ทำตามอำเภอใจ ความผิดชอบประการใดก็ไม่ทูล ที่โจซองทำการทั้งนี้เห็นคิดขบถต่อแผ่นดิน โทษอันนี้ใหญ่นักจะนิ่งเสียนั้นไม่ควร นางกวยทายเฮาได้ยินดังนั้นก็ตกใจจึงว่า บัดนี้พระองค์เสด็จไปประพาสป่า เราจะรู้แห่งคิดประการใด สุมาอี้จึงทูลว่า ข้าพเจ้าจะขอทำเรื่องราวถวายพระเจ้าโจฮองว่า ให้กำจัดบันดาคนซึ่งเปนพรรคพวกศัตรูนั้นเสีย การครั้งนี้พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย เปนธุระข้าพเจ้า") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
- ↑ ("สุมาสูจึงพาขุนนางทั้งปวงเข้าไปเฝ้านางกวยทายเฮา ทูลเล่าเนื้อความทั้งปวงให้ฟังแต่ต้นจนปลาย นางกวยทายเฮาจึงถามว่า ท่านจะยกท่านผู้ใดขึ้นเปนเจ้า สุมาสูจึงทูลว่า ข้าพเจ้าพิเคราะห์เห็นโจกี๋เปนเชื้อพระวงศ เปนเจ้าเมืองแพเสีย คนนี้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลมนัก เห็นควรจะเปนเจ้ารักษาแผ่นดินได้") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
- ↑ ("ขณะเมื่อสุมาเจียวกับจูกัดเอี๋ยนรบติดพันกันอยู่นั้น ทหารสอดแนมรู้จึงเอาเนื้อความเข้าไปแจ้งแก่เกียงอุยว่า บัดนี้จูกัดเอี๋ยนยกกองทัพไปรบสุมาเจียว ซุนหลิมยกกองทัพหนุนไปเปนอันมาก เห็นสุมาเจียวบอบชํ้านักอยู่แล้ว จนนางกวยทายเฮากับพระเจ้าโจมอก็ยกทหารออกมาช่วยรบ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
- ↑ (景元四年十二月)乙卯...皇太后崩。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 04
- ↑ ("บัดนี้พระเจ้าโจยอยมีพระสนมคนหนึ่ง ชื่อนางโกยฮุยหยิน พระเจ้าโจยอยรักยิ่งกว่านางมอซือ ด้วยการใช้สอยมีอัชฌาสัย ขณะนั้นพระเจ้าโจยอยอยู่กับนางโกยฮุยหยิน มิได้ออกว่าราชการประมาณเดือนเศษ") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 14, 2023.
- ↑ (黄初中,本郡反叛,遂没入宫) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5
- ↑ (明帝即位,甚见爱幸,拜为夫人。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 5
- ↑ ([咸熈元年二月]庚申,葬明元郭后。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ จู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
ก่อนหน้า | กวยทายเฮา | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
มอซือ | จักรพรรดินีแห่งวุยก๊ก (ค.ศ. 238–239) |
เจินหฺวางโฮ่ว |