บู๊ขิวเขียม
บู๊ขิวเขียม หรือ บูขิวเคียม[2] (เสียชีวิต 16 มีนาคม ค.ศ. 255)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า กว้านชิว เจี่ยน (จีน: 毌丘儉; พินอิน: Guànqiū Jiǎn) ชื่อรอง จ้งกง (จีน: 仲恭; พินอิน: Zhònggōng) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน
บู๊ขิวเขียม (กว้านชิว เจี่ยน) | |
---|---|
毌丘儉 | |
ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 252 – 16 มีนาคม ค.ศ. 255 | |
กษัตริย์ | โจฮอง / โจมอ |
ก่อนหน้า | จูกัดเอี๋ยน |
ขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 252 | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
ข้าหลวงมณฑลอิจิ๋ว (豫州刺史 ยฺวี่โจวชื่อฉื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. 252 | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
ขุนพลทัพซ้าย (左將軍 จั่วเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจฮอง |
ขุพนพลข้ามแดนเลียว (度遼將軍 ตู้เหลียวเจียงจฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 235 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย / โจฮอง |
นายพันพิทักษ์ออหวน (護烏丸校尉 ฮู่อูหฺวานเซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 235 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ข้าหลวงมณฑลอิวจิ๋ว (幽州刺史 โยวโจวชื่อฉื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 235 – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ก่อนหน้า | หวาง สฺยง (王雄) |
ข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋ว (荊州刺史 จิงโจวชื่อฉื่อ) | |
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? – ค.ศ. ? | |
กษัตริย์ | โจยอย |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | ไม่ทราบ อำเภอเหวินสี่ มณฑลชานซี |
เสียชีวิต | 16 มีนาคม พ.ศ. 255[a] อำเภอเฝย์ตง มณฑลอานฮุย |
บุตร |
|
บุพการี |
|
ญาติ | กว้านชิว ซิ่ว (น้องชาย) |
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
ชื่อรอง | จ้งกง (仲恭) |
บรรดาศักดิ์ | อานอี้โหว (安邑侯) |
ประวัติ
แก้บู๊ขิวเขียมเป็นชาวอำเภอเหวินสี่ (聞喜縣 เหวินสี่เซี่ยน) เมืองฮอตั๋ง (河東 เหอตง)[3] ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอเหวินสี่ มณฑลชานซี บิดาของบู๊ขิวเขียมคือกว้านชิว ซิง (毌丘興) รับราชการเป็นเจ้าเมืองของเมืองอู่เวย์ (武威郡 อู่เวย์จฺวิ้น) ในรัฐวุยก๊ก และมีบรรดาศักดิ์เป็น "เกาหยางเซียงโหว" (高陽鄉侯)[4] ภายหลังจากบิดาเสียชีวิต บู๊ขิวเขียมได้สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดา และรับราชการเป็นเสมียนของผิง-ยฺเหวียนโหว (平原侯)[5]
ในปี ค.ศ. 226 หลังโจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของวุยก๊กขึ้นครองราชย์ พระองค์แต่งตั้งบู๊ขิวเขียมให้เป็นเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง) และหัวหน้าหน่วยทหารราชองครักษ์[6] เนื่องจากบู๊ขิวเขียมเดิมเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยของโจยอยเมื่อครั้งที่พระองค์ยังคงมีฐานะเป็นรัชทายาท โจยอยจึงทรงปฏิบัติต่อบู๊ขิวเขียมเป็นอย่างดีเป็นพิเศษ[7] ต่อมาบู๊ขิวเขียมขึ้นมามีตำแหน่งขุนนางนิคมการเกษตรแห่งลกเอี๋ยง (洛陽典農 ลั่วหยางเตี่ยนหนง)[8] ในช่วงเวลานั้น บู๊ขิวเขียมเขียนฎีกาถึงโจยอย ทูลแนะนำให้พระองค์ลดขนาดโครงการการก่อสร้างพระราชวังที่ใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย[9] ต่อมาบู๊ขิวเขียมได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลเกงจิ๋ว[10]
ในปี ค.ศ. 237 บู๊ขิวเขียมนำทัพไปเลียวตั๋งเพื่อโจมตีขุนศึกกองซุนเอี๋ยนซึ่งเคยเป็นผู้ปกครองรัฐประเทศราชของวุยก๊กแต่ตัดสินใจก่อกบฏต่อต้านการปกครองของวุยก๊ก อย่างไรก็ตาม การทัพถูกยกเลิกไปเนื่องจากน้ำท่วมหนัก[11] ในปีถัดมา บู๊ขิวเขียมและสุมาอี้นำการทัพรบกับกองซุนเอี๋ยนอีกครั้งและเอาชนะได้ ฟื้นฟูความสงบในเลียวตั๋ง[12] จากความดีความชอบในการทัพ โจยอยจึงเลื่อนบรรดาศักดิ์ของบู๊ขิวเขียมจากโหวระดับตำบลเป็นโหวระดับอำเภอในชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "อานอี้โหว" (安邑候) หรือโหวแห่งอำเภออันอิบ (安邑 อานอี้)[13]
ในปี ค.ศ. 244 บู๊ขิวเขียมยกทัพบุกอาณาจักรโคกูรยอ นำไปสู่สงครามโคกูรยอ-วุยก๊ก บู๊ขิวเขียมเอาชนะทัพโคกูรยอที่นำโดยพระเจ้าทงช็อนใกล้กับแม่น้ำหุน (浑江 หุนเจียง) จากนั้นก็ยึดได้ฮวันโดนครหลวงของโคกูรยอ ในการทัพครั้งถัดมาในปีถัดไป บู๊ขิวเขียมยึดได้ฮวันโดอีกครั้งและบีบให้พระเจ้าทงช็อนต้องเสด็จหนีไปทางตะวันออกเฉียงใต้ กองกำลังย่อยในทัพของบู๊ขิวเขียมยกไปถึงชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร อีกกองกำลังย่อยยกไปถึงตอนเหนือของแมนจูเรีย แต่ต่อมาไม่นานก็ถอนทัพกลับ มีการสลักศิลาจารึกเพื่อระลึกถึงชัยชนะของบู๊ขิวเขียมในการทัพ ในปี ค.ศ. 1905 มีการค้นพบชิ้นส่วนของศิลาจารึก ซึ่งถูกเรียกว่าศิลาจารึกบันทึกผลงานของบู๊ขิวเขียม (毌丘儉紀功碑 กวานชิว เจี่ยนจี้กงเปย์)
ในปี ค.ศ. 255 บู๊ขิวเขียมและบุนขิมเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ต่อต้านสุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กผู้ขึ้นมามีอำนาจในปี ค.ศ. 251 และผูกขาดอำนาจรัฐ ทำให้จักรพรรดิวุยก๊กกลายเป็นผู้ปกครองหุ่นเชิด นักประวัติศาสตร์บางคนมีความเห็นว่าบู๊ขิวเขียมก่อกบฏเพราะยังคงภักดีต่อจักรพรรดิแห่งวุยก๊กคือโจมอ และไม่พอใจที่ตระกูลสุมาควบคุมราชสำนักอยู่เบื้องหลัง อีกแหล่งข้อมูลระบุว่าบู๊ขิวเขียมสนิทกับแฮเฮาเหียนซึ่งถูกสุมาสูกำจัดในปี ค.ศ. 254 ในช่วงเวลาที่สุมาสูปลดโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊กจากตำแหน่งจักรพรรดิและตั้งโจมอขึ้นแทน บู๊ขิวเขียมกลัวว่าตนจะลงเอยเหมือนแฮเฮาเหียนจึงตัดสินใจก่อกบฏต่อสุมาสู กบฏถูกปราบปรามราบคาบภายในไม่กี่เดือน บู๊ขิวเขียมถูกสังหารโดยจาง ฉู่ (張屬) ภายหลังจากที่บู๊ขิวเขียมหลบหนีจากฉิวฉุนมาที่อำเภอซิมก๋วน (慎縣 เชิ่นเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฝย์ตง มณฑลอานฮุย) สมาชิกในครอบครัวของบู๊ขิวเขียมส่วนใหญ่ถูกสังหาร ในขณะที่ผู้รอดชีวิตหนีไปเข้าด้วยง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก
ชื่อ
แก้ชื่อของบู๊ขิวเขียมหรือกว้านชิว เจี่ยนมักอ่านเป็น อู๋ชิว เจี่ยน (毋丘儉) เช่นตามที่ปรากฏในจือจื้อทงเจี้ยนของซือหม่า กวางเล่มที่ 73 อย่างไรก็ตาม อู๋ จินหฺวา (吳金華) แย้งว่าคำอ่านดั้งเดิมเป็น หมู่ชิว (母丘; หรือเขียนเป็น อู๋ชิว 毋丘 และ ม่านชิว 曼丘) และว่ากว้านชิว (毌丘) เป็นความผิดพลาดของการคัดลอกในภายหลังย้อนกลับไปถึงช่วงยุคราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง อู๋ จินหฺวายกหลักฐานสนับสนุนข้อโต้แย้งของตนด้วยการปรากฏของชื่อสกุลหมู่ชิวบนศิลาจารึกของสุสานจากยุคสามก๊กและในรื่อจือลู่ (日知錄) โดยกู้ เหยียนอู่ (顧炎武) นักวิชาการต้นยุคราชวงศ์ชิง รวมถึงการปรากฏของชื่อสกุลอู๋ชิวบนตราประทับโบราณและแถบไม้ไผ่จากสุสานอิ่นวาน (尹灣) สุสานยุคราชวงศ์ฮั่นที่ขุดพบในปี ค.ศ. 1993 อู๋ จินหฺวายังชี้ให้เห็นว่าขุนพลชื่อม่านชิว เฉิน (曼丘臣) ถูกกล่าวถึงในบรรพ 2 ของพระราชประวัติพระเจ้าฮั่นโกโจ (漢高祖 ฮั่นเกาจู่) ในฮั่นชู (漢書) และอรรถาธิบายโดยเหยียน ชือกู่ (顏師古) นักประวัติศาสตร์ในยุคราชวงศ์ถังก็กล่าวว่า "เดิมทีม่านชิวและหมู่ชิวเป็นชื่อสกุลเดียวกัน"[14]
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ([正元二年閏月]甲辰,安風津都尉斬[毌丘]儉,傳首京都。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
- ↑ ("ครั้นอยู่มามีหนังสือบูขิวเคียมเจ้าเมืองอิ๋วจิ๋ว บอกมาให้ทูลพระเจ้าโจยอยว่า กองซุนเอี๋ยนบุตรก๋งซุนของเจ้าเมืองเสียวตั๋งคิดขบถ ยกตัวเปนเจ้าเอียนอ๋อง ตั้งแต่งขุนนางขึ้นเปนอันมาก ให้สร้างเวียงวังค่ายคูประตูหอรบไว้เปนมั่นคง แล้วซ่องสุมทแกล้วทหารได้ร้อยหมื่นจะยกมาตีเมืองลกเอี๋ยง") "สามก๊ก ตอนที่ ๗๙". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ July 18, 2024.
- ↑ (毌丘儉字仲恭,河東聞喜人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (父興,黃初中為武威太守,伐叛柔服,開通河右,名次金城太守蘇則。討賊張進及討叛胡有功,封高陽鄉侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (儉襲父爵,為平原侯文學。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (明帝即位,為尚書郎,遷羽林監。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (以東宮之舊,甚見親待。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (出為洛陽典農。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (時取農民以治宮室,儉上疏曰:「臣愚以為天下所急除者二賊,所急務者衣食。誠使二賊不滅,士民飢凍,雖崇美宮室,猶無益也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (遷荊州刺史。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (青龍中,帝圖討遼東,以儉有幹策,徙為幽州刺史,加度遼將軍,使持節,護烏丸校尉。率幽州諸軍至襄平,屯遼隧。右北平烏丸單于寇婁敦、遼西烏丸都督率眾王護留等,昔隨袁尚奔遼東者,率眾五千餘人降。寇婁敦遣弟阿羅槃等詣闕朝貢,封其渠率二十餘人為侯、王,賜輿馬繒採各有差。公孫淵逆與儉戰,不利,引還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (明年,帝遣太尉司馬宣王統中軍及儉等眾數万討淵,定遼東。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (儉以功進封安邑侯,食邑三千九百戶。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ Wu Jinhua, "Sanguo Zhi jiaoyi xuli", 59-60
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- อู๋ จินหฺวา (2001). "ซานกั๋วจื้อเจี้ยวอี้ซฺวี่ลี่" (三國志斠議續例). เหวินฉื่อ (文史).