ซุนจู หรือ ซุนจู้ (เสียชีวิต 29 กันยายน ค.ศ. 251) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน จือ (จีน: 孫資; พินอิน: Sūn Zī) ชื่อรอง เยี่ยนหลง (จีน: 彥龍; พินอิน: Yànlóng) เป็นขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน

ซุนจู (ซุน จือ)
孫資
ขุนพลม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 250 (250) – 29 กันยายน ค.ศ. 251 (251)
กษัตริย์โจฮอง
ขุนนางที่ปรึกษาผู้ใหญ่ฝ่ายขวา
(右光祿大夫 โย่วกวางลู่ต้าฟู)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 240 (240) – ค.ศ. 250 (250)
กษัตริย์โจฮอง
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง
(中書令 จงชูลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 240 (240)
กษัตริย์โจผี
โจยอย
โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครไท่หยวน มณฑลชานซี
เสียชีวิต29 กันยายน ค.ศ. 251
บุตรซุน หง
อาชีพขุนนาง
ชื่อรองเยี่ยนหลง (彥龍)
สมัญญานามเจินโหว (貞侯)
บรรดาศักดิ์จงตูเซี่ยนโหว
(中都縣侯)

ประวัติช่วงต้น

แก้

ซุนจูเป็นชาวอำเภอจงตู (中都縣 จงตูเซี่ยน) เมืองไท่หยวน (太原郡 ไท่ยฺเหวียนจฺวิน) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนครไท่หยวน มณฑลชานซี บิดามารดาของซุนจูเสียชีวิตตั้งแต่ซุนจูอายุ 3 ปี ซุนจูจึงได้รับการเลี้ยงดูจากพี่ชายและพี่สะใภ้ ซุนจูเป็นคนฉลาดและอ่านหนังสือเก่งตั้งแต่อยู่ในวัยเด็ก ได้รับการชื่นชมจากอ้องอุ้นที่เป็นชาวเมืองเดียวกัน เมื่อโจโฉขึ้นมามีตำแหน่งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) ได้เชิญซุนจูมารับราชการ แต่เกิดเหตุที่พี่ชายของซุนจูถูกสังหารโดยคนเมืองเดียวกัน ซุนจูจึงสังหารฆาตกรเพื่อแก้แค้นแล้วหนีความผิดไปยังเมืองฮอตั๋ง (河東 เหอตง) จึงไม่ได้ตอบรับคำเชิญของโจโฉ ภายหลังซุนจูตอบรับคำเชิญของกากุ๋ยที่เป็นสหายให้เข้ารับราชการ ช่วงแรกซุนจูมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่บัญชี (計吏 จี้ลี่) ต่อมาโจโฉแต่งตั้งให้ซุนจูเป็นขุนนางสำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง) แต่ภายหลังซุนจูกลับไปยังฮอตั๋งเนื่องจากปัญหาครอบครัว

ภายหลังจากการก่อตั้งรัฐวุยก๊ก ซุนจูมีตำแหน่งหลักเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書令 จงชูลิ่ง) และได้รับมอบหมายความรับผิดชอบร่วมกับเล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง) ในการจัดการราชการ ซุนจูเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิโจผีและโจยอย ศักดิ์ของซุนจูอยู่ระดับรองลงมาจากเล่าฮอง[1]

เสนอแผนการป้องกันเพื่อโจมตี

แก้

ในปี ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีแห่งรัฐจ๊กก๊กซึ่งเป็นรัฐอริของวุยก๊กเดินทางไปยังเมืองฮันต๋งเพื่อเตรียมการสำหรับการบุกขึ้นเหนือ จักรพรรดิโจยอยทำตามคำแนะนำของเหล่าขุนนาง เตรียมการจะยกทัพไปยังลำเต๋ง (南鄭 หนานเจิ้ง) เพื่อโจมตีจ๊กก๊ก โจยอยจึงตรัสขอความเห็นจากซุนจู ซุนจูเห็นว่าเส้นทางที่จะไปโจมตีจ๊กก๊กนั้นยากลำบาก ด้านทางใต้เองรัฐง่อก๊กก็อาจฉวยโอกาสยกทัพมา ซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากรในการทำศึกเป็นอย่างมาก จึงควรสั่งให้ขุนพลไปรักษาจุดยุทธศาสตร์สำคัญ รัฐวุยก๊กก็จะมีกำลังมากขึ้นภายในไม่กี่ปี ในขณะที่จ๊กก๊กและง่อก๊กได้แต่นั่งรอการล่มจม โจยอยจึงทำตามคำแนะนำของซุนจู

กลยุทธ์ต้านง่อก๊ก

แก้

ราวปี ค.ศ.226[2] เผิง ฉี่ (彭绮) ชาวง่อก๊กก่อกบฏขึ้นทางใต้ของแม่น้ำแยงซี ขุนนางวุยก๊กบางคนเห็นว่าควรใช้โอกาสนี้เข้าปราบง่อก๊ํกจะได้ชัยชนะเป็นแน่ แต่ซุนจูเห็นว่าในอดีตจักรพรรดิโจผียกไปตีง่อก๊ก แต่ก็ไม่สามารถยึดอำเภอกังเหลง (江陵 เจียงหลิง) ที่มีกำลังป้องกันเพียงพันคนได้ เผิง ฉี่จึงไม่น่าภัยคุกคามต่อง่อก๊ก จึงไม่แนะนำให้โจยอยเข้าโจมตีง่อก๊ก หลังจากนั้นไม่นาน เผิง ฉี่ก็ถูกง่อก๊กตีแตกพ่ายจริง ๆ

ช่วงปลายศักราชไท่เหอ (ค.ศ. 227-233) ง่อก๊กเกลี้ยกล่อมกองซุนเอี๋ยนแห่งเลียวตั๋ง (遼東 เหลียวตง) ให้สวามิภักดิ์ โจยอยต้องการจะยกทัพไปปราบ ขุนนางหลายคนคัดค้าน มีเพียงซุนจูที่เห็นด้วย ผลก็คือทัพของง่อก๊กพ่ายแพ้ ซุนจูจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นจั่วเซียงโหว (左鄉侯)

ช่วยเหลือเตียวอี้

แก้

เตียวอี้ผู้เป็นนายกองพิทักษ์ชนเผ่าออหวนเข้าโจมตีห่อปี หลังเตียวอี้ได้รับชัยชนะแล้วก็ถอยทัพกลับไปประจำที่อำเภอหม่าอี้ (馬邑) ห่อปีนำทหารม้า 30,000 นายมาล้อมเตียวอี้ไว้ จักรพรรดิโจยอยตรัสถามแผนจากซุนจู ซุนจูทูลว่า "เหยียน จื้อ (閻志) เจ้าเมืองช่างกู่ (上谷) เป็นน้องชายของเหยียน โหรว (閻柔) ได้รับความเชื่อถือจากห่อปีมาโดยตลอด ขอทรงมีพระราชการให้เหยียน จื้อไปเกลี้ยกล่อมห่อปี ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องระดมกำลัง" โจยอยทำตามคำแนะนำของซุนจู ห่อปีจึงล่าถอยและยกเลิกการปิดล้อมเตียวอี้่

เป็นเสนาบดีคนสนิทของโจยอย

แก้

ซุนจูมักจะทูลเสนอแก่จักรพรรดิโจยอยว่า "เพื่อระดมมวลชนในการทำการใหญ่ ควรที่จะร่วมมือกับปวงชน เพื่อแสดงความแจ่มแจ้ง และยังเป็นการขยายอาณาเขตด้วย"

หมันทองผู้เป็นขุนพลบุกภาคตะวันออก (征東將軍 เจิงตงเจียงจฺวิน) และสฺวี เหมี่ยว (徐邈) ผู้เป็นข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว (涼州刺史 เหลียงโจวชื่อฉื่อ) นำทัพทภศึกภายนอกโดยมีอำนาจสูง ทั้งคู่จึงมักถูกใส่ร้าย ซุนจูจึงพยายามช่วยแก้ต่างอธิบายการกระทำของทั้งคู่เพื่อไม่ให้ถูกสงสัย หมันทองและสฺวี เหมี่ยวจึงสามารถรักษาชื่อเสียงของตนไว้ได้โดยความช่วยเหลือของซุนจู

เถียน ยฺวี่[a] (田豫) ผู้เป็นขุนนางสำนักเสนาบดีโยธาธิการ (司空掾 ซือคงเยฺวี่ยน) และเป็นชาวตำบลเดียวกันซุนจู เคยร่วมคนอื่น ๆ ในการใส่ร้ายซุนจู แต่ซุนจูไม่ได้สนใจเรื่องนี้ หลังจากนั้นเถียน ยฺวี่และคนอื่น ๆ รู้สึกละอายใจและขอคืนดี ซุนจูยอมรับและให้ซุน หง (孫宏) บุตรชายคนโตของตนแต่งงานกับบุตรสาวของเถียน ยฺวี่ คอยดูแลเถียน ยฺวี่ที่แก่ชราอยู่ที่บ้าน

ในปี ค.ศ. 238 ซุนจูได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นจงตูเซี่ยนโหว (中都縣侯) จากการมีส่วนร่วมในการบุกเลียวตั๋ง[3] ในปีเดียวกันนี้ จักรพรรดิโจยอยประชวรหนักและต้องการแต่งตั้งโจฮูผู้เป็นเอี๋ยนอ๋อง (燕王 เยียนหวาง) ให้ขึ้นเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) โดยมีเซี่ยโหว เซี่ยน (夏侯獻), โจซอง, เฉา เจ้า (曹肇) และจีนล่ง (秦朗 ฉิน หล่าง) บุตรบุญธรรมของโจโฉคอยช่วยเหลือราชการ โจฮูเป็นคนถ่อมตนและมีจิตใจดีจึงปฏิเสธอย่างหนักแน่น โจยอยเรียกเล่าฮองและซุนจูมาตรัสถามว่า "เหตุใดเอี๋ยนอ๋องจึงทำเช่นนี้" เล่าฮองและซุนจูทูลตอบว่า "เอี๋ยนอ๋องรู้ว่าตนไม่คู่ควรกับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงเช่นนี้" โจยอยตรัสถามอีกครั้งว่า "สามารถแต่งตั้งโจซองแทนได้หรือไม่” เล่าฮองและซุนจูเห็นด้วย และเสนอให้เรียกสุมาอี้กลับมาสนับสนุนราชวงศ์ โจยอยเห็นด้วยในตอนแรก แต่หลังจากนั้นไม่นานก็เฉา เจ้าก็ทูลทัดทาน โจยอยจึงเรียกเล่าฮองและซุนจูมาอีกครั้งแล้วตรัสว่า "ข้าอยากจะเรียกสุมาอี้กลับมา แต่เฉา เจ้าและคนอื่น ๆ ทัดทาน ซึ่งเกือบทำลายการใหญ่ของข้า" โจยอยจึงกีดกันโจฮู, เซี่ยโหว เซี่ยน, เฉา เจ้า, จีนล่ง และพระญาติคนอื่น ๆ จากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ หลังจากสุมาอี้มารับตำแหน่งตามรับสั่ง โจยอยก็สวรรคต ในเว่ย์จิ้นชื่อยฺหวี่ระบุว่าเซี่ยโหว เซี่ยนและเฉา เจ้าไม่ลงรอยกับเล่าฮองและซุนจูอยู่แล้ว ดังนั้นความเคลื่อนไหวของเล่าฮองและซุนจูจึงน่าจะเป็นไปเพื่อกำจัดศัตรูทางการเมืองของพวกตน เผย์ ซงจือให้ความเห็นว่าเล่าฮองและซุนจูยกย่องโจซองและแนะนำให้เรียกสุมาอี้เข้ามา แท้จริงแล้วเป็นจุดเริ่มต้นของความเสื่อมถอยของวุยก๊ก

โจฮองผู้เป็นเจอ๋อง (齊王 ฉีหวาง) ขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นจักรพรรดิถัดจากโจยอย ซุนจูได้ศักดินาเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ครัวเรือน

ในปี ค.ศ. 240 ซุนจูได้เลือนตำแหน่งเป็นขุนนางที่ปรึกษาผู้ใหญ่ฝ่ายขวา (右光祿大夫 โย่วกวางลู่ต้าฟู) ได้รับตราประจำตำแหน่งทองคำผูกแถบสีม่วง มีศักดิ์เทียบเท่าเสนาบดีระดับซันกง (三公)

ในปี ค.ศ. 250 ซุนจูได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน)[4]

ซุนจูเสียชีวิตในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 251 (วันเกิงจื่อ เดือน 8 ศักราชเจิ้งฉื่อปีที่ 3)[5] และได้รับสมัญญานามว่าเจินโหว (貞侯)[6]

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. เถียน ยฺวี่คนนี้เป็นชาวอำเภอจงตู เมืองไท่หยวนเช่นเดียวกับซุนจู เป็นคนละคนกับเตียวอี้ (田豫 เถียน ยฺวี่) ชาวอำเภอยงหนู (雍奴縣 ยงหนูเซี่ยน) เมืองยีหยง (漁陽郡 ยฺหวีหยางจฺวิ้น) นายกองพิทักษ์ชนเผ่าออหวนซึ่งเคยได้รับการช่วยเหลือจากซุนจู

อ้างอิง

แก้
  1. 《三國志·劉放傳》:黄初初,改秘书为中书,以放为监,资为令,各加给事中;放赐爵关内侯,资为关中侯,遂掌机密。(黃初)三年,放进爵魏寿亭侯,资关内侯。明帝即位,尤见宠任,同加散骑常侍;进放爵西乡侯,资乐阳亭侯。”
  2. 見《三國志·吳主傳》黃武五年
  3. 《三國志·劉放傳》:景初二年,辽东平定,以参谋之功,各进爵,封本县,放方城侯,资中都侯
  4. 《三國志·三少帝紀》:(嘉平二年)冬十月,以特进孙资为骠骑将军。
  5. 兩千年中西曆換算 เก็บถาวร 2018-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน,月份據《晉書·宣帝紀》補。
  6. 《三國志·劉放傳》:(孫)资复逊位归第,就拜骠骑将军,转侍中,特进如故。三年薨,谥曰贞侯。

บรรณานุกรม

แก้