การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง

การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง (จีน: 諸葛亮北伐) เป็นชุดการทัพห้าครั้งซึ่งเปิดฉากโดยรัฐจ๊กก๊กเพื่อต่อต้านวุยก๊กรัฐอริตั้งแต่ ค.ศ. 228 ถึง ค.ศ. 234 ในยุคสามก๊กของจีน การบุกขึ้นเหนือทั้งห้าครั้งนำโดยจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊ก แม้ว่าการทัพไม่ประสบผลสำเร็จและจบลงด้วยภาวะคุมเชิงกัน แต่การบุกขึ้นเหนือได้กลายเป็นหนึ่งในการศึกที่เป็นรู้จักมากที่สุดในยุคสามก๊กและเป็นหนึ่งในการศึกไม่กี่ครั้งที่แต่ละฝ่าย (จ๊กก๊กและวุยก๊ก) รบด้วยกำลังพลนับนับแสนนาย ต่างจากยุทธการอื่น ๆ ที่ฝ่ายหนึ่งมีความได้เปรียบเชิงกำลังรบอย่างมาก

การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก

ภาพวาดการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ฉบับตีพิมพ์ในยุคราชวงศ์ชิง
วันที่ป. กุมภาพันธ์ ค.ศ. 228 – ตุลาคม ค.ศ. 234
สถานที่
ผล วุยก๊กได้ชัยชนะในเชิงยุทธศาสตร์
จ๊กก๊กได้ชัยชนะในเชิงยุทธวิธี ในภาพรวมการบุกล้มเหลว
คู่สงคราม
วุยก๊ก จ๊กก๊ก
ชาวเกี๋ยง
ชาวเซียนเปย์
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
โจยอย
โจจิ๋น
สุมาอี้
เตียวคับ 
เฮ็กเจียว
อองสง 
กุยห้วย
ปีเอียว
ไต้เหลง
งิวขิ้ม
เจี่ย ซื่อ
งุยเป๋ง
ซินผี
แฮหัวหลิม
จีนล่ง
เล่าเสี้ยน
จูกัดเหลียง
อุยเอี๋ยน โทษประหารชีวิต(พยายามก่อการกำเริบ)
เตียวจูล่ง
เตงจี๋
ม้าเจ๊ก  โทษประหารชีวิต
ตันเซ็ก
อองเป๋ง
งออี้
งอปั้น
โกเสียง
เอียวหงี
เกียงอุย
ห่อปี

การบุกขึ้นเหนือได้รับการเล่าและเสริมแต่งในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 ซึ่งมักเรียกว่า "การทัพผ่านเขากิสานหกครั้ง" (六出祁山 ลิ่วชูฉีชาน) คำเรียกนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากจูกัดเหลียงนำทัพบุกเหนือผ่านเขากิสานเพียงสองครั้ง (ครั้งแรกและครั้งที่ 4)

ภูมิหลัง

แก้
 
แผนหลงจง

ในปี ค.ศ. 220 หลังการสิ้นสุดของราชวงศ์ฮั่น แผ่นดินจีนถูกแบ่งออกเป็นสามรัฐ ได้แก่ วุยก๊ก จ๊กก๊ก และง่อก๊ก แต่ละรัฐต่างพยายามจะรวบรวมแผ่นดินเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งภายใต้การปกครองของตน

ในจ๊กก๊ก แนวคิดเชิงยุทธศาสตร์เบื้องหลังการการบุกขึ้นเหนือมาจากแผนหลงจงของจูกัดเหลียงที่เคยเสนอต่อขุนศึกเล่าปี่ในปี ค.ศ. 207 ใจความสำคัญของแผนหลงจงคือการคาดการณ์การแบ่งแผ่นดินจีนเป็นไตรภาคีระหว่างอาณาเขตของขุนศึกเล่าปี่ โจโฉ และซุนกวน ตามแผนหลงจงเล่าปี่จะเข้ายึดครองมณฑลเกงจิ๋วและเอ๊กจิ๋วจากเจ้ามณฑลของแต่ละมณฑลคือเล่าเปียวและเล่าเจี้ยงตามลำดับ และสร้างรากฐานที่มั่นคงทางตอนใต้และตะวันตกของจีน จากนั้นเล่าปี่จะผูกพันธมิตรกับซุนกวนที่ปกครองอาณาเขตทางตะวันออกของจีน และทำศึกกับโจโฉผู้ปกครองอาณาเขตทางเหนือของจีนและกุมศูนย์กลางทางการเมืองของราชวงศ์ฮั่นในภาคกลางของจีน จากนั้นเล่าปี่จะนำทัพจากมณฑลเอ๊กจิ๋วเข้าโจมตีเตียงฮันผ่านเทือกเขาฉินหลิ่งและหุบเขาแม่น้ำอุยโห ให้ขุนพลระดับสูงคนหนึ่งของเล่าปี่นำอีกทัพจากมณฑลเกงจิ๋วเข้าโจมตีลกเอี๋ยง[1]

แผนระยะต้นสำเร็จในปี ค.ศ. 214 เมื่อเล่าปี่เข้ายึดครองมณฑลเกงจิ๋วทางใต้และมณฑลเอ๊กจิ๋ว ระหว่างปี ค.ศ. 217 ถึง ค.ศ. 219 เล่าปี่ยกทัพทำศึกเพื่อยึดครองเมืองฮันต๋งอันเป็น "ประตูทางเหนือ" ที่เปิดเข้าสู่มณฑลเอ๊กจิ๋ว และสามารถยึดฮันต๋งมาจากทัพโจโฉในสำเร็จ ในปี ค.ศ. 219 กวนอูขุนพลของเล่าปี่ที่เล่าปี่ให้อยู่รักษามณฑลเกงจิ๋ว เริ่มทำศึกกับทัพโจโฉในยุทธการที่อ้วนเสีย แต่พันธมิตรซุนกวน-เล่าปี่ที่จูกัดเหลียงมีบทบาทในการสร้างขึ้นก็ถูกทำลายลงเมื่อซุนกวนส่งทัพเข้าโจมตีและยึดครองอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋วระหว่างที่กวนอูยกกำลังออกไปทำศึกในยุทธการที่อ้วนเสีย ต่อมากวนอูถูกจับและประหารชีวิตโดยทัพซุนกวน ระหว่างปี ค.ศ. 221 ถึง ค.ศ. 222 เล่าปี่เริ่มยกทัพเข้ารบกับซุนกวนในยุทธการที่อิเหลง/จูเต๋งเพื่อพยายามยึดมณฑลเกงจิ๋วคืนแต่ล้มเหลงและพ่ายแพ้ยับเยิน หลังเล่าปี่สวรรคตในปี ค.ศ. 223 พระโอรสเล่าเสี้ยนขึ้นสืบราชบัลลังก์ในฐานะจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊ก โดยมีจูกัดเหลียงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในปีเดียวกันจูกัดเหลียงเจรจาสงบศึกกับง่อก๊กของซุนกวน และก่อตั้งพันธมิตรง่อก๊ก-จ๊กก๊กขึ้นใหม่เพื่อต่อต้านวุยก๊กซึ่งเป็นรัฐที่ก่อตั้งโดยโจผีบุตรชายและผู้สืบทอดของโจโฉ

ในปี ค.ศ. 227 จูกัดเหลียงสั่งระดมพลจากทั่วจ๊กก๊กและมารวมพลในเมืองฮันต๋งเพื่อเตรียมการสำหรับการทัพต่อวุยก๊กครั้งใหญ่ ก่อนที่จะยกทัพไป จูกัดเหลียงได้เขียนฎีกาที่เรียกว่าฎีกาออกศึก (出師表 ชูชือเปี่ยว) ถวายจักรพรรดิเล่าเสี้ยน ในฎีการะบุถึงเหตุผลของจูกัดเหลียงในการยกทัพรบกับวุยก๊ก และยังถวายคำแนะนำแก่เล่าเสี้ยนในประเด็นด้านการปกครอง[2] หลังจากที่เล่าเสี้ยนทรงอนุมัติ จูกัดเหลียงจึงสั่งให้ทัพจ๊กก๊กไปรักษาการณ์อยู่ที่อำเภอไกเอี๋ยง (沔陽 เหมี่ยนหยาง; ปัจจุบันคืออำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี)[3]

ภูมิศาสตร์

แก้

แผนของจูกัดเหลียงเป็นการยกทัพขึ้นเหนือจากเมืองฮันต๋ง (ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางใต้ของมณฑลฉ่านซี)[4] ซึ่งอยู่ทางเหนือของมณฑลเอ๊กจิ๋ว ในศตววรรษที่ 3 เมืองฮันต๋งเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง ล้อมรอบด้วยป่าดงดิบ ความสำคัญของเมืองฮันต๋งอยู่ที่การเป็นตำแหน่งทางยุทธศาสตร์บนที่ราบยาวและอุดมสมบูรณ์ตลอดแม่น้ำฮั่นซุย (漢水 ฮั่นฉุ่ย) อยู่ระหว่างเทือกเขาใหญ่สองเทือก คือเทือกเขาฉินหลิ่ง (秦嶺) ทางเหนือและเทือกเขาบิซองสัน (米倉山 หมี่ชางชาน) ทางใต้ ฮันต๋งเป็นศูนย์กลางการปกครองที่สำคัญของเขตชายแดนแถบภูเขาระหว่างแอ่งเสฉวนอันอุดมสมบูรณ์ทางใต้และหุบเขาแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) ทางเหนือ พื้นที่นี้ยังสามารถเข้าถึงพื้นที่แห้งแล้งทางตะวันตกเฉียงเหนือและดินแดนด้ามกระทะกานซู่

ในทางภูมิศาสตร์ แนวป้องกันอันแข็งแกร่งของเทือกเขาฉินหลิ่งเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการยกไปยังเตียงฮัน เทือกเขาประกอบด้วยแนวสันเขาเรียงกันหลายแนว โดยทั้งหมดทอดตัวไปทางตะวันออกโดยเฉียงลงใต้เล็กน้อย คั่นด้วยหุบเขาสลับซับซ้อนที่แตกออกเป็นแขนง ซึ่งผนังหุบเขามักจะสูงชันขึ้นไปเหนือลำธารในหุบเขา ผลจากการเคลื่อนตัวจากแผ่นดินไหว ทำให้ลักษณะภูมิประเทศมีความซับซ้อนอย่างมาก การเข้าถึงจากทางใต้จำกัดอยู่เพียงเส้นทางบนภูเขาไม่กี่เส้นทางที่เรียกว่าเป็น "สะพานเลียบเขา" สะพานเลียบเขาเหล่านี้ผ่านช่องทางหลัก ๆ และมีความโดดเด่นในด้านทักษะทางวิศวกรรมในการสร้าง สะพานเลียบเขาที่เก่าแก่ที่สุดคือทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองฮันต๋งและผ่านด่านซันกวน (散關 ส่านกวาน) เส้นทางเหลียนยฺหวิน (連雲 "เมฆประสาน") ถูกสร้างขึ้นที่นั่นเพื่อรองรับการสัญจรในสมัยราชวงศ์จิ๋นเมื่อศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสกาล ตามหุบเขาเจียหลิง (嘉陵) ปรากฏเส้นทางทางตอนเหนือซึ่งเป็นส่วนที่แม่น้ำอุยโหขยายอย่างมากบริเวณใกล้กับตันฉอง (陳倉 เฉินชาง; ปัจจุบันคือนครเป่าจี มณฑลฉ่านซี) อีกเส้นทางหนึ่งที่สำคัญคือเส้นทางเปาเสีย (褒斜) ซึ่งตัดผ่านด่านหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) และไปสิ้นสุดที่ทางใต้ของอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน) มีเส้นทางรอง ๆ และเดินทางได้อย่างยากลำบากอีกจำนวนหนึ่งไปทางทิศตะวันออก โดยเฉพาะเส้นทางผ่านหุบเขาจูงอก๊ก (子午谷 จื๋ออู๋กู่) ซึ่งนำไปสู่ทางใต้ของเตียงฮันโดยตรง

กบฏซินเสีย

แก้

เบ้งตัดอดีตขุนพลของจ๊กก๊กแปรพักตร์ไปเข้าด้วยวุยก๊กในปี ค.ศ. 220 รับราชการเป็นเจ้าเมืองซินเสีย (新城郡 ซินเฉิงจฺวิ้น; ปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์) ใกล้ของชายแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือของจ๊กก๊ก จูกัดเหลียงเกลียดเบ้งตัดจากพฤติกรรมที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และกังวลว่าเบ้งตัดจะเป็นภัยคุกคามต่อจ๊กก๊ก[5] ราวปี ค.ศ. 227 เมื่อจูกัดเหลียงได้ข่าวว่าเบ้งตัดขัดแย้งกับซินหงี (申儀 เชิน อี๋) ที่เป็นเพื่อนขุนนางในวุยก๊ก จึงส่งสายลับไปก่อกวนเพิ่มความคลางแคลงใจระหว่างทั้งสองและแพร่ข่าวลือว่าเบ้งตัดวางแผนจะก่อกบฏต่อวุยก๊ก เบ้งตัดเริ่มหวาดกลัวจึงตัดสินใจที่จะก่อกบฏ[6] แต่เบ้งตัดก็ติดอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกหลังได้รับจดหมายจากสุมาอี้ขุนพลวุยก๊กซึ่งประจำการอยู่ที่อ้วนเซีย ในขณะเดียวกัน สุมาอี้รวบรวมกองกำลังอย่างรวดเร็วและมุ่งตรงไปยังซินเสียและไปถึงภายใน 8 วัน[7]

จ๊กก๊กและง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กส่งทัพมาสนับสนุนเบ้งตัดแต่ถูกทัพวุยก๊กที่นำโดยผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้ตีแตกพ่ายและถอยร่นไป[8] สุมาอี้สั่งให้กองกำลังเข้าล้อมเซียงหยง (上庸 ช่างยง) อันเป็นฐานที่มั่นของเบ้งตัดและโจมตีจากแปดทิศทาง ในขณะเดียวกันก็สามารถเกลี้ยกล่อมเตงเหียน (鄧賢 เติ้ง เสียน) หลานชายของเบ้งตัดกับลิจู (李輔 หลี ฝู่) ให้ทรยศเบ้งตัด หลังจากการล้อม 16 วัน เตงเหียนและลิจูเปิดประตูเมืองเซียงหยงและยอมสวามิภักดิ์ต่อสุมาอี้ เบ้งตัดถูกจับตัวและถูกประหารชีวิต[9][10][11] สุมาอี้และกองกำลังยกกลับไปยังอ้วนเซียหลังปราบปรามกบฏเสร็จสิ้น[12] จากนั้นจึงเดินทางไปยังลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊กและทูลรายงานจักรพรรดิโจยอย แล้วกลับไปยังอ้วนเซียหลังจากนั้น[13]

การบุกครั้งแรก

แก้
ลำดับเหตุการณ์การบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียง[14]
ช่วงเวลาโดยประมาณ สถานที่ เหตุการณ์
4 เม.ย. – 2 พ.ค. 227 ฮั่นจง มณฑลฉ่านซี จูกัดเหลียงเดินทางไปยังฮันต๋งเตรียมการบุกเหนือครั้งแรก จูกัดเหลียงร่างฎีกาออกศึกถวายเล่าเสี้ยน
ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ซุนจูทัดทานโจยอยไม่ให้เข้าโจมตีฮันต๋ง
2–30 ก.ค. 227 หนานหยาง มณฑลเหอหนาน สุมาอี้ได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการทหารในมณฑลเกงจิ๋วและอิจิ๋ว และไปประจำการที่อ้วนเซีย
26 ธ.ค. 227 – 23 มี.ค. 228 ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์ กบฏซินเสีย: สุมาอี้ปราบปรามกบฏและประหารชีิวิตเบ้งตัดจากนั้นจึงเดินทางไปยังนครลกเอี๋ยงเข้าเฝ้าโจยอยและกลับไปยังอ้วนเซีัยหลังจากนั้น
23 ก.พ. – 21 พ.ค. 228 ทางตะวันตกของมณฑลฉ่านซีและทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งแรก:
29 พ.ค. 228 ซีอาน มณฑลฉ่านซี โจยอยเสด็จนิวัติจากเตียงฮันกลับไปลกเอี๋ยง
17 ก.ย. – 15 ต.ค. 228 อำเภอชูเฉิง มณฑลอานฮุย ยุทธการที่เซ็กเต๋ง: ทัพง่อก๊กเอาชนะทัพวุยก๊ก
14 ธ.ค. 228 – 12 ม.ค. 229 ฮั่นจง มณฑลฉ่านซี กล่าวกันว่าจูกัดเหลียงร่างฎีกาออกศึกฉบับที่สองถวายเล่าเสี้ยน
13 ม.ค. – 10 ก.พ. 229 เขตเฉินชาง นครเป่าจี มณฑลฉ่านซี การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สอง:
11 ก.พ. – 10 พ.ค. 229 นครหล่งหนาน มณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สาม:
230 อำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ ยุทธการที่หยางซี: อุยเอี๋ยนเอาชนะกุยห้วยและปีเอียวในยุทธการ[15]
28 ก.ค. – 26 ส.ค. 230 ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน โจจิ๋นทูลโน้มน้าวโจยอยให้เปิดฉากการบุกจ๊กก๊กขนานใหญ่ โจยอยมีรับสั่งให้สุมาอี้นำทัพจากมณฑลเกงจิ๋วมาสมทบกับทัพของโจจิ๋นที่ฮันต๋ง
27 ส.ค. – 24 ก.ย. 230 ฮั่นจง มณฑลฉ่านซี จูกัดเหลียงมอบหมายให้ลิเงียมนำกองกำลัง 20,000 นายไปหนุนช่วยฮันต๋ง ทัพวุยก๊กที่บุกมาไม่สามารถผ่านหุบเขาเสียดก๊กเนื่องจากสะพานเลียบเขาที่นำไปสู่จ๊กก๊กเสียหายเพราะฝนตกอย่างหนักเป็นเวลามากกว่า 30 วัน
25 ก.ย. – 24 ต.ค. 230 สฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน โจยอยมีรับสั่งให้ทัพวุยก๊กที่กำลังบุกให้ยกเลิกภารกิจและกลับฐานที่ตั้ง
21 มี.ค. – 15 ส.ค. 231 ทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ การบุกขึ้นเหนือครั้งที่สี่:
18 มี.ค. – 10 ต.ค. 234 มณฑลฉ่านซี การบุกขึ้นเหนือครั้งที่ห้า:
 
แผนที่แสดงการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกและครั้งที่สอง

ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 228 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกและนำทัพจ๊กก๊กไปยังเขากิสาน (祁山 ฉีชาน; พื้นที่ภูเขาบริเวณอำเภอหลี่ มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ในขณะเดียวกันก็มอบหมายให้เตียวจูล่งและเตงจี๋นำกองกำลังรบล่อไปยังหุบเขากิก๊ก (箕谷 จีกู่) แสร้งจะเตรียมเข้าตีอำเภอไปเซียเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของทัพวุยก๊กจากเขากิสาน ข่าวการบุกของจ๊กก๊กสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วภูมิภาคกวนต๋ง สามเมืองที่ขึ้นกับวุยก๊กอันได้แก่ ลำอั๋น (南安 หนานอาน), เทียนซุย (天水 เทียนฉุ่ย) และฮันเต๋ง (安定 อันติ้ง) แปรพักตร์ไปเข้าด้วยฝ่ายจ๊กก๊ก[16]

เพื่อตอบโต้การบุกของจ๊กก๊ก โจยอยจึงเสด็จจากลกเอี๋ยงไปยังเตียงฮันเพื่อดูแลการป้องกันและจัดหากำลังสำรอง พระองค์มีรับสั่งให้เตียวคับเข้าโจมตีจูกัดเหลียงที่เขากิสาน และให้โจจิ๋นไปโจมตีเตียวจูล่งและเตงจี๋ที่หุบเขากิก๊ก[17] เตียวจูล่งและเตงจี๋พ่ายแพ้ในยุทธการที่กิก๊กเนื่องจากกำลังรบล่อนั้นประกอบด้วยทหารที่อ่อนแอกว่าในทัพหลักของจ๊กก๊ก จึงไม่อาจต้านทานโจจิ๋นและกองกำลังที่ฝึกมาเป็นอย่างดีได้ (จูกัดเหลียงสงวนกองกำลังที่แข็งแกร่งกว่าสำหรับโจมตีเขากิสาน) ในขณะเดียวกัน จูกัดเหลียงส่งม้าเจ๊กให้นำทัพหน้าไปรบกับเตียวคับที่เกเต๋ง (街亭 เจียถิง; ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอำเภอฉินอาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ม้าเจ๊กไม่เพียงแต่ฝ่าฝืนคำสั่งของจูกัดเหลียง แต่ยังดำเนินยุทธวิธีผิดพลาด ทำให้ทัพหน้าของจ๊กก๊กถูกตีแตกพ่ายยับเยิน หลังเตียวคับได้รับชัยชนะในยุทธการที่เกเต๋ง ก็ฉวยโอกาสนี้เข้าโจมตีและยึดลำอั๋น เทียนซุย และฮันเต๋งสามเมืองคืนมา[18][19]

เมื่อจูกัดเหลียงทราบเรื่องความพ่ายแพ้ที่หุบเขากิก๊กและเกเต๋ง จึงสั่งถอยทัพทั้งหมดกลับไปยังเมืองฮันต๋ง แม้ว่าการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกจะล้มเหลวในภาพรวม แต่จูกัดเหลียงก็ยังได้ผลประโยชน์เล็กน้อยให้กับจ๊กก๊ก ผลประโยชน์ประการแรกคือการกวาดต้อนครอบครัวราษฎรบางส่วนของวุยก๊กซึ่งภายหลังกลายเป็นราษฎรของจ๊กก๊กและตั้งถิ่นฐานใหม่ในเมืองฮันต๋ง ผลประโยชน์ประการที่สองคือการแปรพักตร์ของเกียงอุย นายทหารระดับล่างของวุยก๊กซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขุนพลคนสำคัญของจ๊กก๊ก หลังจูกัดเหลียงกลับมาถึงฮันต๋ง ได้สั่งประหารชีวิตม้าเจ๊กเพื่อบรรเทาความโกรธของมวลชน[20] แล้วเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยน แสดงความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อความล้มเหลวในการบุกขึ้นเหนือครั้งแรกและเสนอให้ตนถูกลงโทษโดยการลดตำแหน่ง[21] เล่าเสี้ยนอนุมัติตามฎีกาและให้ลดตำแหน่งของจูกัดเหลียงจากอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง) ไปเป็นขุนพลทัพขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน) แต่ยังให้จูกัดเหลียงยังคงอำนาจรักษาการอัครมหาเสนาบดีต่อไป[22]

การบุกครั้งที่สอง

แก้

ในฤดูหนาว ค.ศ. 228–229 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งที่ 2 และนำทัพจ๊กก๊กเข้าโจมตีป้อมปราการของวุยก๊กที่ตันฉองผ่านทางด่านซันกวน เมื่อจูกัดเหลียงยกไปถึงตันฉองก็ต้องประหลาดใจที่เห็นว่าป้อมปราการมีการเสริมการป้องกันเป็นอย่างดีเกินกว่าที่คาดกว่า เนื่องจากเพราะหลังจากการบุกขึ้นเหนือครั้งแรก ขุนพลวุยก๊กโจจิ๋นคาดการณ์ว่าทัพจ๊กก๊กจะต้องโจมตีตันฉองในการบุกครั้งถัดไป จึงให้เฮ็กเจียวทำหน้าที่ป้องกันตันฉองและเสริมการป้องกัน[23][24]

จูกัดเหลียงออกคำสั่งให้กองกำลังเข้าล้อมตันฉองก่อน จากนั้นจึงส่งกิมเซียง (靳詳 จิ้น เสียง) สหายเก่าของเฮ็กเจียวไปเกลี้ยกล่อมเฮ็กเจียวให้ยอมจำนน เฮ็กเจียวปฏิเสธถึงสองครั้ง[25] แม้ว่าเฮ็กเจียวมีทหารเพียงแค่ 1,000 นายในการรักษาตันฉอง แต่ก็สามารถตั้งมั่นต้านทัพจ๊กก๊กได้ ในช่วงเวลา 20 วันที่ทัพจ๊กก๊กล้อมตันฉอง จูกัดเหลียงใช้ยุทธวิธีหลายอย่างในการโจมตีป้อมปราการ ทั้งบันไดพาด รถกระทุ้งประตู หอรบ และอุโมงค์ แต่เฮ็กเจียวก็สามารถหาทางโต้กลับแต่ละยุทธวิธีได้สำเร็จ[26] เมื่อจูกัดเหลียงทราบว่ากำลังเสริมของวุยก๊กกำลังมาถึงตันฉอง จึงถอนกำลังทั้งหมดกลับไปฮันต๋งทันที[27] อองสงนายทหารของวุยก๊กนำกำลังทหารไล่ตามตีทัพจ๊กก๊กที่ล่าถอย แต่ถูกกองกำลังของจ๊กก๊กซุ่มโจมตีและสังหาร[28]

การบุกครั้งที่สาม

แก้
 
แผนที่แสดงยุทธการที่เจี้ยนเวย์

ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 229 จูกัดเหลียงเปิดฉากการบุกขึ้นเหนือครั้งที่สามและมอบหมายให้ตันเซ็กนำกองกำลังจ๊กก๊กเข้าโจมตีเมืองปูเต๋า (武都 อู่ตู) และอิมเป๋ง (陰平 อินผิง) ที่อยู่ในอาณาเขตของวุยก๊ก กุยห้วยขุนพลวุยก๊กจึงนำกองกำลังไปต้านตันเซ็ก กุยห้วยล่าถอยหลังจากจูกัดเหลียงนำทัพจ๊กก๊กไปถึงเจี้ยนเวย์ (建威; ปัจจุบันคือนครหล่งหนาน มณฑลกานซู่) ทัพจ๊กก๊กจึงยึดได้เมืองปูเต๋าและอิมเป๋ง[29][30]

เมื่อจูกัดเหลียงกลับจากการทัพ เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กมีพระราชโองการแสดงความยินดีในความสำเร็จของจูกัดเหลียงจากการพิชิตอองสงระหว่างการบุกขึ้นเหนือครั้งสอง, ทำให้กุยห้วยล่าถอย, ได้รับความไว้วางใจจากชนเผ่าท้องถิ่นกลับคืนมา และยึดได้เมืองปูเต๋ากับอิมเป๋งระหว่างการบุกขึ้นเหนือครั้งที่สาม พระองค์ยังตั้งให้จูกัดเหลียงกลับคืนมาอยู่ในตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง)[30][31]

การทัพจูงอก๊ก

แก้

ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 230[30] โจจิ๋นนำทัพจากเตียงฮันเข้าโจมตีจ๊กก๊กผ่านหุบเขาจูงอก๊ก (子午谷 จื๋ออู๋กู่) ในเวลาเดียวกัน กองกำลังวุยก๊กอีกกองหนึ่งนำโดยสุมาอี้ได้ทำตามคำสั่งของโจจิ๋นที่ให้รุกคืบเข้าแดนจ๊กก๊กทางจากมณฑลเกงจิ๋วโดยล่องเรือไปตามแม่น้ำฮั่นซุย (漢水 ฮั่นฉุ่ย) จุดบรรจบของกองกำลังของโจจิ๋นและสุมาอี้อยู่ที่อำเภอลำเต๋ง (南鄭縣 หนานเจิ้งเซี่ยน; อยู่ในนครฮั่นจง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) กองกำลังวุยก๊กอื่น ๆ ก็เตรียมเข้าโจมตีจ๊กก๊กจากทางหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) หรือจากทางเมืองอู่เวย์ (武威)[32]

เมื่อจูกัดเหลียงทราบข่าวความเคลื่อนไหวของวุยก๊ก จึงมีคำสั่งถึงลิเงียมให้นำกำลังทหาร 20,000 นายไปยังเมืองฮันต๋งเพื่อป้องกันการบุกของวุยก๊ก ลิเงียมยอมรับคำสั่งอย่างไม่เต็มใจหลังการโน้มน้าวอย่างหนักของจูกัดเหลียง[33] ขณะที่แฮหัวป๋านำกองหน้าในการบุกครั้งนี้ผ่านเส้นทางจูงอก๊ก (子午道 จื๋ออู่เต้า) ที่มีระยะทาง 330 กิโลเมตร แฮหัวป๋าถูกชาวบ้านท้องถิ่นเห็นตัว ชาวบ้านจึงรายงานเรื่องการปรากฎตัวของแฮหัวป๋าแก่ทัพจ๊กก๊ก แฮหัวป๋าสามารถล่าถอยไปได้อย่างเฉียดฉิวหลังกำลังเสริมจากทัพหลักมาถึง[34]

จูกัดเหลียงยังให้อุยเอี๋ยนนำกำลังทหารลอบไปหลังแนวข้าศึกไปยังหยางซี (陽谿; อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ชนเผ่าเกี๋ยงให้เข้าร่วมกับจ๊กก๊กในการรบกับวุยก๊ก อุยเอี๋ยนได้ชัยชนะอย่างใหญ่หลวงต่อทัพวุยก๊กที่นำโดยกุยห้วยและปีเอียว[35] หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ ทั้งสองฝ่ายก็มาอยู่ในภาวะคุมเชิงกันเป็นเวลานานและมีการต่อสู้เพียงเล็กน้อย หลังจากเวลาผ่านไปมากกว่าหนึ่งเดือนที่การทัพคืบหน้าอย่างช้า ๆ และด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียทหารและสิ้นเปลืองทรัพยากร ขุนนางหลายคนจึงถวายฎีกาให้ยกเลิกการทัพ สถานการณ์การทัพไม่ได้ดีขึ้นเนื่องจากภูมิประเทศที่ทุรกันดารและสภาพอากาศมีฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 วัน โจยอยจึงตัดสินพระทัยให้ยกเลิกการทัพและมีรับสั่งเรียกตัวนายทหารทุกคนกลับมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 230[30][36]

การบุกครั้งที่สี่

แก้
 
แผนที่แสดงยุทธการที่กิสานและยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง

ในปี ค.ศ. 231[37] จูกัดเหลียงเริ่มการบุกขึ้นเหนือครั้งที่สี่และโจมตีเขากิสานอีกครั้ง จูกัดเหลียงใช้โคยนตร์อุปกรณ์กลไกที่เขาประดิษฐ์ขึ้นในการขนส่งเสบียงไปยังแนวหน้า[38] ทัพจ๊กก๊กโจมตีเมืองเทียนซุย (天水郡 เทียนฉุ่ยจฺวิ้น) และเข้าล้อมเขากิสานที่รักษาโดยนายทหารของวุยก๊กคือเจี่ย ซื่อ (賈嗣) และงุยเป๋ง (魏平 เว่ย์ ผิง)[39] ที่เขากิสาน จูกัดเหลียงเกลี้ยกล่อมห่อปี (軻比能 เคอปี่เหนิง) ประมุขของชนเผ่าเซียนเปย์ให้ช่วยสนับสนุนจ๊กก๊กในการรบกับวุยก๊ก ห่อปีเดินทางไปที่เมืองเป่ย์ตี้ (北地郡 เป่ย์ตี้จฺวิ้น; อยู่บริเวณใจกลางมณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) เพื่อระดมกำลังคนท้องถิ่นในการสนับสนุนทัพจ๊กก๊ก[40]

เวลานั้นโจจิ๋นมหาขุนพลของวุยก๊กกำลังล้มป่วย โจยอยจักรพรรดิวุยก๊กจึงมีรับสั่งให้ขุนพลสุมาอี้เดินทางไปนครเตียงฮันเพื่อป้องกันอาณาเขตของวุยก๊กในภูมิคารกวนต๋งจากการบุกของจ๊กก๊ก หลังสุมาอี้ได้เตรียมพร้อมสำหรับการรบ สุมาอี้พร้อมด้วยผู้ใต้บังคับบัญชาคือเตียวคับ ปีเอียว ไต้เหลง และกุยห้วยจึงนำทัพวุยก๊กไปยังงอำเภอยฺหวีหมี (隃麋縣 ยฺหวีหมีเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกของอำเภอเชียนหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และตั้งมั่นอยู่ที่นั่น[41] จากนั้นสุมาอี้จึงมอบหมายให้ปีเอียวและไต้เหลงคุมทหาร 4,000 นายรักษาอำเภอเซียงเท้ง (上邽縣 ช่างกุยเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ในนครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่) ตัวสุมาอี้นำคนอื่น ๆ ไปยังเขากิสารเพื่อช่วยเจี่ย ซื่อและงุยเป๋ง[42]

เมื่อจูกัดเหลียงทราบข่าวว่าทัพวุยก๊กยกมาถึง จึงแบ่งทัพของตนออกเป็นสองกองกำลัง กองกำลังหนึ่งยังอยู่ที่เขากิสาน ส่วนตัวจูกัดเหลียงนำอีกกองกำลังหนึ่งเข้าโจมตีอำเภอเซียงเท้ง จูกัดเหลียงเอาชนะกุยห้วย ปีเอียว และไต้เหลงได้ในยุทธการแล้วสั่งให้ทหารเก็บเกี่ยวข้าวสาลีในอำเภอเซียงเท้ง สุมาอี้จึงยกทัพจากเขากิสารมุ่งกลับไปยังอำเภอเซียงเท้งและไปถึงภายในสองวัน ถึงเวลานั้นจูกัดเหลียงและทหารก็เก็บเกี่ยวข้าวสาลีเสร็จสิ้นแล้วและเตรียมจะจากไป[43] จูกัดเหลียงเผชิญหน้ากับสุมาอี้ที่ฮันหยง (漢陽 ฮั่นหยาง) ทางตะวันออกของอำเภอเซียงเท้ง แต่ไม่ได้เข้ารบกัน จูกัดเหลียงสั่งทหารให้ใช้ประโยชน์จากภูมิประเทศแล้วประจำตำแหน่งป้องกัน สุมาอี้สั่งทหารให้จัดกระบวนทัพและส่งงิวขิ้มให้นำหน่วยทหารม้าอาวุธเบาไปยังเขากิสาน การเผชิญหน้าสิ้นสุดลงเมื่อจูกัดเหลียงและทัพจ๊กก๊กล่าถอยไปยังโลเสีย (鹵城 หลู่เฉิง) เข้าคุมเนินเขาทางเหนือและใต้ และใช้แม่น้ำเป็นแนวป้องกันธรรมชาติ[44][45]

แม้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาของสุมาอี้เสนอให้สุมาอี้โจมตีทัพจ๊กก๊กหลายครั้ง แต่สุมาอี้รีรอที่จะโจมตีเมื่อเห็นลักษณะการตั้งค่ายของจ๊กก๊กบนเนินเขา ในที่สุดสุมาอี้ก็ยอมเคลื่อนไหวเมื่อเจี่ย ซื่อและงุยเป๋งกล่าวว่าหากสุมาอี้ไม่โจมตีจะเป็นที่เยาะเย้ยของทั้งแผ่นดิน [46] สุมาอี้จึงส่งเตียวคับไปโจมตีค่ายจ๊กก๊กทางใต้ที่รักษาโดยอองเป๋ง ตัวสุมาอี้เองนำคนอื่น ๆ เข้าโจมตีโลเสีย[47] จูกัดเหลียงโต้กลับโดยการสั่งให้อุยเอี๋ยน งอปั้น และโกเสียงให้ต้านทานข้าศึกอยู่นอกโลเสีย ทัพวุยก๊กประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่อย่างคาดไม่ถึง ทหารวุยก๊กถูกสังหาร 3,000 นาย ชุดเกราะ 5,000 ชุดและหน้าไม้ 3,100 อันถูกทัพจ๊กก๊กยึดไปได้[48] แม้ว่าความเสียหายจะหนักหน่วง แต่สุมาอี้ยังคงมีกำลังทหารจำนวนมากซึ่งนำกลับไปยังค่ายของตน

แม้ว่าจูกัดเหลียงจะได้ชัยชนะ แต่ก็ไม่สามารถใช้ความได้เปรียบนี้ในการบุกต่อไปเพราะเสบียงที่เหลือน้อย สภาพอากาศที่เลวร้ายทำให้การขนส่งเสบียงของจ๊กก๊กไม่สามารถทำได้ตามกำหนด ลิเงียมขุนพลจ๊กก๊กผู้รับผิดชอบดูแลการขนส่งเสบียงไปยังแนวหน้า จึงแจ้งความเท็จไปถึงจูกัดเหลียงว่าจักรพรรดิเล่าเสี้ยนมีรับสั่งถอยทัพ จดหมายเหตุจิ้นชูอ้างว่าสุมาอี้เปิดฉากการโจมตีกำลังทหารรักษาของจ๊กก๊กในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้และยึด "ค่ายกำบัง" ของจ๊กก๊กสำเร็จ จูกัดเหลียงทิ้งโลเสียและล่าถอยไปในเวลากลางคืน แต่สุมาอี้ไล่ตามตีทำให้ทัพจ๊กก๊กเสียทหารไปประมาณ 10,000 นาย[49] เรื่องราวนี้ในจิ้นชูถูกโต้แย้งโดยนักประวัติศาสตร์[50][51] และไม่ถูกรวมอยู่ในจือจื้อทงเจี้ยนซึ่งเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ตามลำดับเวลาที่โดดเด่นในศตวรรษที่ 11[52]

ทั้งจดหมายเหตุสามก๊กและจือจื้อทงเจี้ยนระบุว่าจูกัดเหลียงถอยทัพกลับจ๊กก๊กเพราะเสบียงขาดแคลน ไม่ใช่เพราะความพ่ายแพ้[53][54] แล้วทัพวุยก๊กก็ไล่ตามตี แต่การไล่ตามตีไม่ได้ราบรื่นสำหรับวุยก๊ก สุมาอี้สั่งให้เตียวคับไล่ตามตีข้าศึกเพื่อพยายามฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปนี้ บันทึกเว่ย์เลฺว่ระบุว่าเตียวคับปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งของสุมาอี้และแย้งว่าตามหลักการทางการทหารควรหลีกเลี่ยงการไล่ตามตีข้าศึกที่ล่าถอยกลับไปอาณาเขตของตน แต่สุมาอี้ไม่ฟังคำและบังคับให้เตียวคับปฏิบัติตามคำสั่ง เตียวคับจึงถูกทัพจ๊กก๊กซุ่มโจมตีที่เส้นทางบอกบุ๋น (木門道 มู่เหมินเต้า; ใกล้กับหมู่บ้านมู่เหมิน เมืองหมู่ตาน เขตฉินโจว นครเทียนฉุ่ย มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ที่ซึ่งจูกัดเหลียงสั่งให้ทหารมือเกาทัณฑ์ซ่อนตัวบนที่สูงและยิงไปที่กองกำลังของข้าศึกที่เข้ามาใกล้และเข้ามาในทางแคบ เตียวคับเสียชีวิตหลังถูกลูกเกาทัณฑ์ยิงเข้าที่ต้นขา กองกำลังของวุยก๊กได้รับความเสียหายอย่างมากจากการโจมตีของทหารจ๊กก๊กซึ่งกำลังล่าถอย แตกต่างจากบันทึกที่ระบุไว้ในจิ้นชู[55]

การบุกครั้งที่ห้า

แก้

ผลการศึก

แก้

ในนิยายสามก๊ก

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. (亮荅曰:「自董卓已來,豪傑並起,跨州連郡者不可勝數。 ... 誠如是,則霸業可成,漢室可興矣。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  2. [建興]五年,率諸軍北駐漢中,臨發,上疏曰:先帝創業未半, ... 不知所言。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  3. (遂行,屯于沔陽。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  4. Killigrew, John (1999-06-01). "Zhuge Liang and the Northern Campaign of 228–234". Early Medieval China. 1999 (1): 55–91. doi:10.1179/152991099788199472. ISSN 1529-9104.
  5. (蜀相諸葛亮惡其反覆,又慮其為患。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  6. (諸葛亮聞之,陰欲誘達,數書招之,達與相報答。魏興太守申儀與達有隙,密表達與蜀潛通,帝未之信也。司馬宣王遣參軍梁幾察之,又勸其入朝。達驚懼,遂反。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 3.
  7. (帝恐達速發, ... 達得書大喜,猶與不決。帝乃潛軍進討。諸將言達與二賊交構,宜觀望而後動。帝曰:「達無信義,此其相疑之時也,當及其未定促決之。」乃倍道兼行,八日到其城下。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  8. (吳蜀各遣其將向西城安橋、木闌塞以救達,帝分諸將以距之。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  9. (上庸城三面阻水,達於城外為木柵以自固。帝渡水,破其柵,直造城下。八道攻之,旬有六日,達甥鄧賢、將李輔等開門出降。斬達,傳首京師。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  10. (二年春正月,宣王攻破新城,斬達,傳其首。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  11. (魏略曰:宣王誘達將李輔及達甥鄧賢,賢等開門納軍。達被圍旬有六日而敗,焚其首於洛陽四達之衢。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  12. (俘獲萬餘人,振旅還于宛。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  13. (... 歸于京師。 ... 屬帝朝于京師,天子訪之於帝。 ... 天子並然之,復命帝屯于宛。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  14. Sima (1084), vols. 70–72.
  15. (八年,使延西入羌中,魏後將軍費瑤、雍州刺史郭淮與延戰于陽谿,延大破淮等, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  16. ([建興]六年春,揚聲由斜谷道取郿,使趙雲、鄧芝為疑軍,據箕谷,魏大將軍曹真舉衆拒之。亮身率諸軍攻祁山,戎陣整齊,賞罰肅而號令明,南安、天水、安定三郡叛魏應亮,關中響震。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  17. ([建興]五年,隨諸葛亮駐漢中。明年,亮出軍,揚聲由斜谷道,曹真遣大衆當之。亮令雲與鄧芝往拒,而身攻祁山。雲、芝兵弱敵彊,失利於箕谷,然歛衆固守,不至大敗。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 36.
  18. (諸葛亮出祁山。加郃位特進,遣督諸軍,拒亮將馬謖於街亭。謖依阻南山,不下據城。郃絕其汲道,擊,大破之。南安、天水、安定郡反應亮,郃皆破平之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 17.
  19. (亮使馬謖督諸軍在前,與郃戰于街亭。謖違亮節度,舉動失宜,大為郃所破。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  20. (亮拔西縣千餘家,還于漢中,戮謖以謝衆。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  21. (上疏曰:「臣以弱才,叨竊非據,親秉旄鉞以厲三軍,不能訓章明法,臨事而懼,至有街亭違命之闕,箕谷不戒之失,咎皆在臣授任無方。臣明不知人,恤事多闇,春秋責帥,臣職是當。請自貶三等,以督厥咎。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  22. (於是以亮為右將軍,行丞相事,所總統如前。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  23. (真以亮懲於祁山,後出必從陳倉,乃使將軍郝昭、王生守陳倉,治其城。明年春,亮果圍陳倉,已有備而不能克。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  24. (大和中,魏遣將軍郝昭築城陳倉城。適訖,㑹諸葛亮來攻。亮本聞陳倉城惡,及至,怪其整頓,聞知昭在其中,大驚愕。) ไท่ผิงหฺวานยฺหวี่จี้ เล่มที่ 30.
  25. (亮圍陳倉,使昭鄉人靳詳於城外遙說之, ... 詳以昭語告亮,亮又使詳重說昭,言人兵不敵,無為空自破滅。 ... 詳乃去。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  26. (亮自以有眾數萬,而昭兵才千餘人,又度東救未能便到,乃進兵攻昭,起雲梯衝車以臨城。昭於是以火箭逆射其雲梯,梯然,梯上人皆燒死。昭又以繩連石磨壓其衝車,衝車折。亮乃更為井闌百尺以付城中,以土丸填壍,欲直攀城,昭又於內築重牆。亮足為城突,欲踊出於城裏,昭又於城內穿地橫截之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  27. (晝夜相攻拒二十餘日,亮無計,救至,引退。) รรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 3.
  28. (冬,亮復出散關,圍陳倉,曹真拒之,亮糧盡而還。魏將王雙率騎追亮,亮與戰,破之,斬雙。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  29. ([建興]七年,亮遣陳戒攻武都、陰平。魏雍州刺史郭淮率衆欲擊戒,亮自出至建威,淮退還,遂平二郡。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  30. 30.0 30.1 30.2 30.3 Sima (1084), vol. 71.
  31. (詔策亮曰:「街亭之役,咎由馬謖,而君引愆,深自貶抑,重違君意,聽順所守。前年耀師,馘斬王雙;今歲爰征,郭淮遁走;降集氐、羌,興復二郡,威鎮凶暴,功勳顯然。方今天下騷擾,元惡未梟,君受大任,幹國之重,而乆自挹損,非所以光揚洪烈矣。今復君丞相,君其勿辭。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  32. (真以八月發長安,從子午道南入。司馬宣王泝漢水,當會南鄭。諸軍或從斜谷道,或從武威入。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  33. (八年,迁骠骑将军。以曹真欲三道向汉川,亮命严将二万人赴汉中。亮表严子丰为江州都督督军,典为后事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
  34. (黃初中為偏將軍。子午之役,霸召為前鋒,進至興勢圍,安營在曲谷中。蜀人望知其是霸也,指下兵攻之。霸手戰鹿角間,賴救至,然後解。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
  35. (八年,使延西入羌中,魏後將軍費瑤、雍州刺史郭淮與延戰于陽谿,延大破淮等,遷為前軍師征西大將軍,假節,進封南鄭侯。) จดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 40.
  36. (會大霖雨三十餘日,或棧道斷絕,詔真還軍。) จดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
  37. Sima (1084), vol. 72.
  38. ([建興]九年,亮復出祁山,以木牛運, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  39. (明年,諸葛亮寇天水,圍將軍賈嗣、魏平於祁山。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  40. (漢晉春秋曰:亮圍祁山,招鮮卑軻比能,比能等至故北地石城以應亮。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  41. (乃使帝西屯長安,都督雍、梁二州諸軍事,統車騎將軍張郃、後將軍費曜、征蜀護軍戴淩、雍州刺史郭淮等討亮。 ... 遂進軍隃麋。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  42. (於是魏大司馬曹真有疾,司馬宣王自荊州入朝, ... 乃使西屯長安,督張郃、費曜、戴陵、郭淮等。宣王使曜、陵留精兵四千守上邽,餘衆悉出,西救祁山。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  43. (亮聞大軍且至,乃自帥衆將芟上邽之麥。 ... 於是卷甲晨夜赴之,亮望塵而遁。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  44. (亮分兵留攻,自逆宣王于上邽。郭淮、費曜等徼亮,亮破之,因大芟刈其麥,與宣王遇于上邽之東,斂兵依險,軍不得交,亮引而還。宣王尋亮至于鹵城。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  45. (進次漢陽,與亮相遇,帝列陣以待之。使將牛金輕騎餌之,兵才接而亮退,追至祁山。亮屯鹵城,據南北二山,斷水為重圍。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  46. (張郃曰:「彼遠來逆我,請戰不得,謂我利在不戰,欲以長計制之也。且祁山知大軍以在近,人情自固,可止屯於此,分為奇兵,示出其後,不宜進前而不敢偪,坐失民望也。今亮縣軍食少,亦行去矣。」宣王不從,故尋亮。旣至,又登山掘營,不肯戰。賈栩、魏平數請戰,因曰:「公畏蜀如虎,柰天下笑何!」宣王病之。諸將咸請戰。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  47. ([建興九年]五月辛巳,乃使張郃攻无當監何平於南圍,自案中道向亮。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  48. (漢晉春秋曰:亮使魏延、高翔、吳班赴拒,大破之,獲甲首三千級,玄鎧五千領,角弩三千一百張,宣王還保營。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  49. (帝攻拔其圍,亮宵遁,追擊破之,俘斬萬計。天子使使者勞軍,增封邑。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  50. (縱其後出,不復攻城,當求野戰,必在隴東,不在西也。) จิ้นชู เล่มที่ 1.
  51. (時宣王等糧亦盡) หฺวาหยางกั๋วจื้อ เล่มที่ 7.
  52. จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
  53. (糧盡退軍) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
  54. (六月,亮以糧盡退軍) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 72.
  55. (魏略曰:亮軍退,司馬宣王使郃追之,郃曰:「軍法,圍城必開出路,歸軍勿追。」宣王不聽。郃不得已,遂進。蜀軍乘高布伏,弓弩亂發,矢中郃髀。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 17.

บรรณานุกรม

แก้