ซุนฮิว (ซุน ซิว)
ซุนฮิว (ค.ศ. 235 – 3 กันยายน ค.ศ. 264)[b] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า ซุน ซิว (จีนตัวย่อ: 孙休; จีนตัวเต็ม: 孫休; พินอิน: Sūn Xiū) ชื่อรอง จื่อเลี่ย (จีน: 子烈; พินอิน: Zǐliè) เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของรัฐง่อก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ซุนฮิว (ซุน ซิว) 孫休 | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ภาพวาดซุนฮิวจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957) | |||||||||||||
จักรพรรดิแห่งง่อก๊ก | |||||||||||||
ครองราชย์ | 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 258[a] – 3 กันยายน ค.ศ. 264 | ||||||||||||
ก่อนหน้า | ซุนเหลียง | ||||||||||||
ถัดไป | ซุนโฮ | ||||||||||||
อ๋องแห่งลองเอี๋ย (琅邪王 หลังหยาหวาง) | |||||||||||||
ดำรงตำแหน่ง | มกราคมหรือกุมภาพันธ์ ค.ศ. 252 – 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 258 | ||||||||||||
ประสูติ | ค.ศ. 235[b] | ||||||||||||
สวรรคต | 3 กันยายน ค.ศ. 264 (29 พรรษา)[b] | ||||||||||||
มเหสี | จักรพรรดินีจู | ||||||||||||
พระราชบุตร |
| ||||||||||||
| |||||||||||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์ซุน | ||||||||||||
พระราชบิดา | ซุนกวน | ||||||||||||
พระราชมารดา | จักรพรรดินีจิ้งหฺวาย |
พระประวัติช่วงต้น
แก้ซุนฮิวประสูติในปี ค.ศ. 235 เป็นพระโอรสของซุนกวนจักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐง่อก๊กและสนมหวางฟูเหริน (王夫人) พระองค์ทรงเป็นพระโอรสองค์ที่หกของซุนกวน[3][c] ขณะทรงพระเยาว์ พระองค์ได้รับการชื่นชมในเรื่องการพากเพียรศึกษาตำรา ราวปี ค.ศ. 250 ซุนกวนทรงจัดงานอภิเษกสมรสระหว่างซุนฮิวกับจูชื่อ (朱氏) บุตรของจู จฺวี้ (朱據) กับซุน หลู่-ยฺวี่ (孫魯育) ผู้เป็นพระธิดาของซุนกวน
ใน ค.ศ. 252 ก่อนที่ซุนกวนจะสวรรคต พระองค์ทรงตั้งให้ซุนฮิวมีฐานันดรศักดิ์เป็นอ๋องแห่งลองเอี๋ย (琅邪王 หลังหยาหวาง) พร้อมด้วยราชรัฐที่ที่ฮ่อหลิม (虎林 หู่หลิน; อยู่ในนครฉือโจว มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ในปีต่อมา ภายหลังจากซุนเหลียงพระอนุชาของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จูกัดเก๊กไม่ต้องการให้เหล่าอ๋องประทับอยู่ใกล้กับฐานทัพสำคัญตลอดแนวแม่น้ำแยงซี จึงย้ายซุนฮิวไปประทับที่เมืองตันเอี๋ยง (丹陽郡 ตานหยางจฺวิ้น; อยู่ในนครเซฺวียนเฉิง มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ซุนฮิวไม่ขัดขืนต่อคำสั่งย้ายของจูกัดเก๊ก ต่างจากซุน เฟิ่น (孫奮) พระเชษฐาของพระองค์ เมื่อซุนฮิวมาประทับที่เมืองตันเอี๋ยง หลี่ เหิง (李衡) เจ้าเมืองตันเอี๋ยงหาเรื่องมากลั่นแกล้งพระองค์หลายครั้ง ซุนฮิวทรงไม่อาจทนการกลั่นแกล้งของหลี่ เหิงได้ จึงทรงขอย้ายไปประทับที่อื่น ซุนเหลียงจึงมีรับสั่งให้ย้ายให้ย้ายไปประทับที่เมืองห้อยเข (會稽郡 ไค่วจีจฺวิ้น; อยู่บริเวณนครเช่าซิง มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน)
ใน ค.ศ. 255 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซุนจุ๋นสั่งประหารชีวิตซุน หลู่-ยฺวี่พระเชษฐภคินีต่างมารดาและพระสัสสุ (แม่ภรรยา) ของซุนฮิว ตามการยุยงของกิมก๋งจู๋ (ซุน หลู่ปาน) พระเชษฐภคินีอีกองค์ของซุนฮิว ซุนฮิวทรงเริ่มกังวลถึงความปลอดภัยของพระองค์ จึงทรงส่งพระชายาจูชื่อกลับไปนครหลวงเกี๋ยนเงียบและทรงร้องขอการหย่ากับพระชายา แต่ซุนจุ๋นปฏิเสธคำร้องของพระองค์ และส่งพระชายาจูชื่อกลับไปหาซุนฮิว
ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 258 หลังจักรพรรดิซุนเหลียงทรงพยายามก่อรัฐประหารโค่นอำนาจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซุนหลิม (ลูกพี่ลูกน้องและผู้สืบทอดอำนาจของซุนจุ๋น) แต่ไม่สำเร็จ ซุนหลิมปลดซุนเหลียงจากตำแหน่งจักรพรรดิและตั้งให้ซุนฮิวเป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กองค์ใหม่แทนที่
รัฐประหารโค่นล้มอำนาจซุนหลิม
แก้หลังการขึ้นครองราชย์ ซุนฮิวมีรับสั่งให้เพิ่ม 5 อำเภอใหม่เข้าในเขตศักดินาของซุนหลิมเพื่อเอาใจซุนหลิม นอกจากนั้นยังพระราชทานบรรดาศักดิ์ระดับโหว (侯) ให้เหล่าน้องชายของซุนหลิมด้วย แต่ต่อมาไม่นานได้เกิดเหตุการณ์ค่อนข้างเล็กน้อยที่ทำให้ซุนหลิมบาดหมางกับซุนฮิว คือในวันหนึ่งซุนหลิมนำอาหารและสุราไปพระราชวังและทูลขอให้จักรพรรดิซุนฮิวเสวยพระกระยาหารร่วมตน แต่ซุนฮิวทรงปฏิเสธ จากนั้นซุนหลิมจึงไปรับประทานอาหารกับขุนพลเตียวปอแทน แล้วซุนหลิมก็พูดตามอารมณ์ว่าตนสามารถเป็นจักรพรรดิแทนซุนฮิวได้อย่างง่ายดายหากตนอยากทำ ภายหลังเตียวปอลอบทูลรายงานเรื่องความพอใจของซุนหลิมให้ซุนฮิวทรงทราบ แม้ว่าซุนฮิวจะยังคงทรงแสร้งทำเป็นมีไมตรีซุนหลิม แต่พระองค์ก็เริ่มเตรียมการอย่างรอบคอบเพื่อป้องกันพระองค์จากซุนหลิม ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ซุนหลิมก็กังวลในเรื่องความสัมพันธ์ของตนกับซุนฮิว จึงทูลขอไปยังบู๊เฉียง (武昌 อู่ชาง; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) เพื่อดูแลการป้องกันชายแดน
แม้ว่าซุนฮิวทรงอนุมัติคำทูลขอของซุนหลิม แต่พระองค์ก็ทรงระแวงว่าซุนหลิมต้องการยึดบู๊เฉียงแล้วจะก่อกบฏต่อพระองค์ งุยเปียว (魏邈 เว่ย์ เหมี่ยว) ที่เป็นขุนนางคนหนึ่งก็ทูลเตือนซุนฮิวว่าที่ซุนหลิมทูลขอไปบู๊เฉียงนั้นอาจกำลังวางแผนก่อกบฏ ในช่วงนั้นเวลานั้นมีข่าวลือแพร่สะพัดว่าซุนหลิมไม่ภักดีต่อซุนฮิว[4] ซุนฮิวจึงทรงคบคิดกับเตียวปอและขุนพลเตงฮองจะสังหารซุนหลิมในงานเลี้ยงช่วงเทศกาลล่าปา (วันที่ 8 ของเดือน 12 ตามจันทรคติ) ซุนหลิมระแคะระคายเรื่องแผนการแต่ก็ยังคงเดินทางมาร่วมงานเลี้ยงและถูกจับกุมโดยทหารเตียวปอและเตงฮอง ซุนหลิมทูลร้องขอชีวิตและขอให้เนรเทศเทษตนไปมณฑลเกาจิ๋วหรือลดสถานะลงเป็นทาส ซุนฮิวทรงปฏิเสธที่จะไว้ชีวิตซุนหลิม และตรัสกับซุนหลิมเรื่องที่ตัวซุนหลิมก็ไม่ไว้ชีวิตเตงอิ๋นและลิกี๋ขณะที่ซุนหลิมขึ้นมามีอำนาจในปี ค.ศ. 256 จากนั้นซุนฮิวจึงมีรับสั่งให้นำตัวซุนหลิมไปประหารชีวิตพร้อมกับสมาชิกในครอบครัว
รัชสมัย
แก้ซุนฮิวในฐานะจักรพรรดิทรงเป็นที่รู้จักว่าเป็นผู้ทรงยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง รวมถึงเรื่องที่พระองค์ทรงเป็นผู้คงแก่เรียน แต่พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นจักรพรรดิที่มีความสามารถเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นด้านการทหารหรือด้านราชการแผ่นดิน พระองค์ทรงมอบหมายราชการสำคัญส่วนใหญ่ให้กับเตียวปอและเอียงเหียง ซึ่งทั้งคู่ก็ไม่ได้มีความสามารถเป็นพิเศษ ทั้งสองคนยังกระทำเรื่องทุจริตในระดับปานกลาง ราชสำนักจึงไม่มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตัวอย่างเช่นในปี ค.ศ. 260 ด้วยการสนับสนุนของเอียงเหียง จึงมีการริเริ่มโครงการใช้ทุนทรัพย์สูงเพื่อสร้างทะเลสาบเทียมชื่อทะเลสาบผูหลี่ (浦里塘 ผูหลี่ถาง) ซึ่งอยู่ใกล้นครเซฺวียนเฉิง มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการชลประทาน แม้ว่าข้าราชการจำนวนมากเห็นว่าโครงการนี้ใช้ทุนทรัพย์มากเกินไปและไม่มีอะไรรับประกันความสำเร็จ ในที่สุดโครงการก็ถูกยกเลิกไปเมื่อเป็นที่ชัดแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้นได้
ในปีแรกของรัชสมัย ต้นแบบแรกของมหาวิทยาลัยหนานจิงได้รับการก่อตั้งขึ้น โดยเหวย์ เจา (韋昭) เป็นประธานคนแรก
ในปี ค.ศ. 260 ซุนฮิวผู้ทรงคำนึงอยู่ตลอดถึงแผนการใด ๆ ที่จะกระทำต่ออดีตจักรพรรดิซุนเหลียงพระอนุชาของพระองค์ ได้ทรงเริ่มดำเนินการหลังได้รับรายงานเท็จว่าซุนเหลียงทรงทำคุณไสย ซุนฮิวจึงลดฐานันดรศักดิ์ของซุนเหลียงจากอ๋องแห่งห้อยเขลงเป็นโฮ่วกวานโหว (候官侯) และส่งซุนเหลียงไปยังเขตศักดินาที่โฮ่วกวาน (候官; ปัจจุบันคือนครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน) ซุนเหลียงสิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทาง นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าพระองค์ทรงกระทำอัตวินิบาตกรรม แต่นักประวัติศาสตร์บางส่วนก็เชื่อว่าซุนฮิวทรงใช้ยาพิษปลงพระชนม์ซุนเหลียง
ชีฮู (薛珝 เซฺว สฺวี่) ขุนนางง่อก๊กซึ่งเดินทางไปจ๊กก๊กซึ่งเป็นรัฐพันธมิตรของง่อก๊กในปี ค.ศ. 261 ได้ทูลอธิบายถึงสถานการณ์ของจ๊กก๊กแก่ซุนฮิวหลังเดินทางกลับมาดังนี้:
จักรพรรดิไร้ความสามารถและไม่รู้ความผิดพลาดของตนเอง เหล่าข้าราชบริพารต่างเพียงแค่พยายามหาประโยชน์โดยไม่สร้างปัญหาให้กับตนเอง เมื่อกระหม่อมไปเยี่ยมพวกเขา กนะหม่อมไม่ได้ยินคำพูดที่จริงใจ และเมื่อกระหม่อมไปเยือนชนบท ผู้คนดูหิวโหย กระหม่อมเคยได้ยินนิทานเรื่องนกนางแอ่นและนกกระจอกทำรังบนยอดคฤหาสน์และรู้สึกพอใจเพราะเชื่อว่าเป็นที่ปลอดภัยที่สุด โดยไม่รู้ว่ากองฟางและคานค้ำกำลังลุกติดไฟและหายนะกำลังมาเยือน นี่อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขากำลังเป็นอยู่
นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าชีฮูไม่เพียงหมายถึงจ๊กก๊กเท่านั้น แต่ยังใช้สถานการณ์ของจ๊กก๊กเป็นอุปมานิทัศน์เพื่อทูลเตือนซุนฮิวว่าง่อก๊กก็อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซุนฮิวดูเหมือนจะไม่ทรงเข้าพระทัยถึงความหมายที่ชีฮูต้องการจะสื่อ
ใน ค.ศ. 262 ซุนฮิวทรงแต่งตั้งพระชายาจูขึ้นเป็นจักรพรรดินี พระองค์ยังทรงแต่งตั้งให้ซุนเปียน (孫𩅦 ซุน วาน) พระโอรสองค์โตเป็นรัชทายาท
ใน ค.ศ. 263 เนื่องจากการฉ้อราษฏร์บังหลวงของซุน ซฺวี (孫諝) เจ้าเมืองเกาจี (交趾 เจียวจื่อ; ปัจจุบันคือกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม) ในมณฑลเกาจิ๋ว ราษฎรชาวเมืองเกาจีจึงก่อกบฏขึ้น โดยมีราษฎรจากเมืองข้างเคียงคือจิ่วเจิน (九真; ปัจจุบันคือจังหวัดทัญฮว้า ประเทศเวียดนาม) และรื่อหนาน (日南; ปัจจุบันคือจังหวัดกว๋างจิ ประเทศเวียดนาม) มาเข้าร่วมด้วย กลุ่มกบฏยังขอการสนับสนุนด้านการทหารจากวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของง่อก๊ก (วุยก๊กและราชวงศ์จิ้นที่สืบทอดอำนาจในลำดับถัดมาช่วยสนับสนุนกลุ่มกบฏ กบฏยังไม่ถูกปราบปรามจนกระทั่งปี ค.ศ. 271 เมื่อเข้าสู่รัชสมัยของซุนโฮจักรพรรดิผู้ครองราชย์ถัดจากซุนฮิว)
ใน ค.ศ. 263 เมื่อจ๊กก๊กที่เป็นรัฐพันธมิตรกับง่อก๊กถูกโจมตีโดยวุยก๊กที่เป็นรัฐอริ จ๊กก๊กจึงขอความช่วยเหลือจากง่อก๊ก ซุนฮิวจึงทรงได้ส่งกองทัพแยกออกเป็นสองทาง ทัพหนึ่งเข้าโจมตีฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบนคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) และอีกทัพหนึ่งเข้าโจมตีเมืองฮันต๋ง เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของทัพวุยก๊กและบีบให้ล่าถอยออกจากจ๊กก๊ก แต่ทั้งสองทัพที่ส่งไปทำภารกิจไม่สำเร็จ เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กยอมจำนนต่อวุยก๊กในภายหลังในปีเดียวกันนั้น ทำให้การดำรงอยู่ของจ๊กก๊กได้สิ้นสุดลง เมื่อซุนฮิวทรงทราบว่า บรรดาเมืองบางเมืองของอดีตจ๊กก๊กต่างไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปหลังการยอมจำนนของเล่าเสี้ยน ซุนฮิวจึงส่งกำลังพลพยายามจะยึดเมืองเหล่านี้ให้เป็นของง่อก๊ก แต่หลัว เซี่ยน (羅憲) อดีตขุนพลของจ๊กก๊กที่ประจำการอยู่ที่เมืองปาตง (巴東郡 ปาตงจฺวิ้น; อยู่บริเวณเขื่อนซานเสียต้าป้าในปัจจุบัน) สามารถรักษาที่มั่นต้านทานการบุกของง่อก๊กได้ และในที่สุดก็สวามิภักดิ์ต่อวุยก๊ก
ในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 264 ซุนฮิวทรงพระประชวรและไม่สามารถตรัสได้ แต่ยังสามารถทรงพระอักษรได้ พระองค์จึงมีพระราชโองการเรียกตัวเอียงเหียงเข้ามาที่พระราชวัง พระองค์ทรงฝากฝังรัชทายาทซุนเปียนไว้กับเอียงเหียง ซุนฮิวสวรรคตในเวลาต่อมาไม่นานหลังจากนั้น แต่เอียงเหียงไม่ทำตามพระประสงค์ก่อนสวรรคตของซุนฮิวที่จะตั้งให้ซุนเปียนเป็นจักรพรรดิ ภายหลังจากที่ปรึกษากับเตียวปอ เอียงเหียงจึงตัดสินใจจะตั้งผู้ที่มีพระชนมายุมากกว่าและมีวุฒิภาวะมากกว่าให้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ (ไม่ทราบว่าซุนเปียนมีพระชนมายุเท่าใดในช่วงเวลาที่ซุนฮิวสวรรคต แต่เพราะซุนฮิวสวรรคตขณะพระชนมายุ 29 พรรษา จึงเป็นไปได้ว่าเวลานั้นซุนเปียนยังทรงพระเยาว์อย่างมาก) เอียงเหียงและเตียวปอทำตามคำแนะนำของบั้นเฮ็ก โดยตั้งให้ซุนโฮ (ซุน เฮ่า) พระโอรสของซุนโฮ[d] (ซุน เหอ; รัชทายาทในรัชสมัยของซุนกวน) ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิ
สุสานที่ตั้งอยู่ในอำเภอตางถู มณฑลอานฮุย ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นสุสานของซุนฮิวและจักรพรรดินีจู[5]
พระราชวงศ์
แก้ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ วันจี๋เหม่า (己卯) ของเดือน 10 ในศักราชกำลอ (甘露 กานลู่) ปีที่ 3[1]
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ชีวประวัติของซุนฮิวในสามก๊กจี่บันทึกว่าซุนฮิวสวรรคตในวันกุ่ยเว่ย์ (癸未) ในเดือนที่ 7 ของศักราชหย่งอาน (永安) ปีที่ 7 ขณะพระชนมายุ 30 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[2] วันสวรรคตเทียบได้กับวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 264 ในปฏิทินกริกอเรียน เนื่องจากพระองค์สวรรคตขณะพระชนมายุ 29 พรรษา เมื่อคำนวณแล้วพระองค์จึงประวัติเมื่อปี ค.ศ. 235
- ↑ ขณะเมื่อซุนฮิวประสูติ เวลานั้นซุน ลฺวี่พระเชษฐาองค์หนึ่งของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 232
- ↑ สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เรียกชื่อซุน เฮ่าที่เป็นจักรพรรดิแห่งง่อก๊กและเป็นบุตรชายของซุนโฮ (ซุน เหอ) ด้วยชื่อว่า "ซุนโฮ" เช่นเดียวกับบิดา
อ้างอิง
แก้- ↑ จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77
- ↑ ([永安七年七月]癸未,休薨,時年三十, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
- ↑ (孙休字子烈,权第六子。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 48.
- ↑ สามก๊กจี่ เล่มที่ 64.
- ↑ "High-rank tomb of East Wu Dynasty was found in Anhui". The Institute of Archaeology, Chinese Academy of Social Sciences (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 25 May 2017.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายสามก๊กจี่ (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
ก่อนหน้า | ซุนฮิว (ซุน ซิว) | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
ซุนเหลียง | จักรพรรดิจีน ง่อก๊ก (ค.ศ. 258 – 264) |
ซุนโฮ |