แฮหัวป๋า (เสียชีวิต ป. ค.ศ. 255–259) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เซี่ยโหว ป้า (จีน: 夏侯霸; พินอิน: Xiàhóu Bà) ชื่อรอง จ้งเฉฺวียน (จีน: 仲權; พินอิน: Zhòngquán) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายคนที่สองของแฮหัวเอี๋ยน ขุนพลที่มีชื่อเสียงผู้รับใช้โจโฉขุนศึกผู้วางรากฐานของรัฐวุยก๊ก ราวปี ค.ศ. 249 แฮหัวป๋าแปรพักตร์ไปเข้าด้วยจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก ภายหลังจากที่ผู้สำเร็จราชการสุมาอี้เข้ายึดอำนาจในวุยก๊กจากการก่อรัฐประหาร แฮหัวป๋าเสียชีวิตในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 255 และ ค.ศ. 259

แฮหัวป๋า (เซี่ยโหว ป้า)
夏侯霸
ภาพวาดสมัยราชวงศ์ชิงแสดงการเสียชีวิตของแฮหัวป๋า
ขุนพลทหารม้าและรถศึก
(車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 249 (249) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ขุนพลทัพขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ป. คริสต์ทศวรรษ 240 – ค.ศ. 249 (249)
กษัตริย์โจฮอง
ผู้พิทักษ์ทัพปราบปรามจ๊ก
(討蜀護軍 เถาฉู่ฮู่จฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ป. คริสต์ทศวรรษ 240 – ค.ศ. 249 (249)
กษัตริย์โจฮอง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ[a]
เสียชีวิตป. ค.ศ. 255–259
บุตรภรรยาของเอียวเก๋า
ลูกชายอย่างน้อย 2 คน
บุพการี
ความสัมพันธ์
อาชีพขุนพล
ชื่อรองจ้งเฉฺวียน (仲權)
สมัญญานามสูญหายไปตามกาลเวลา
ตำแหน่งปั๋วฉางถิงโหว (博昌亭侯)

รับราชการในวุยก๊ก แก้

การรับราชการช่วงต้น แก้

บิดามารดาของแฮหัวป๋าเป็นบุคคลสำคัญในรัฐวุยก๊ก บิดาของแฮหัวป๋าคือแฮหัวเอี๋ยนซึ่งต่อสู้เคียงข้างโจโฉผู้เป็นญาติและเป็นผู้วางรากฐานของรัฐวุยก๊กตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของสงครามกลางเมือง และเป็นขุนพลคนหนึ่งที่โจโฉไว้วางใจมากที่สุด ส่วนมารดาของแฮหัวป๋าเป็นน้องสาวของติงชื่อ (丁氏) ที่เป็นภรรยาคนแรกของโจโฉ ภายหลังจากแฮหัวเอี๋ยนถูกสังหารในยุทธการที่เขาเตงกุนสันในปี ค.ศ. 219 ด้วยฝีมือของฮองตงขุนพลของขุนศึกเล่าปี่ กองกำลังส่วนใหญ่ของแฮหัวเอี๋ยนได้ย้ายไปอยู่ใต้การบังคับบัญชาของเตียวคับตามคำแนะนำของกุยห้วย ในขณะที่กองกำลังทหารรักษาการณ์ส่วนตัวของแฮหัวเอี๋ยนได้สืบต่อให้บุตรชายห้าคนของแฮหัวเอี๋ยนเป็นผู้บังคับบัญชา แฮหัวป๋าเกลียดชังฝ่ายเล่าปี่เป็นอย่างมาก และสาบานว่าจะแก้แค้นให้บิดาของตน[1] ในปี ค.ศ. 220 เซี่ยโหว เหิง (夏侯衡) บุตรชายคนโตของแฮหัวเอี๋ยนมอบบรรดาศักดิ์และเขตศักดินาของตนให้แฮหัวป๋าสืบทอด แฮหัวป๋าได้จึงได้สิบทอดบรรดาศักดิ์ที่สืบต่อมาจากแฮหัวเอี๋ยนผู้บิดาอีกทอด มีรายได้จากการเก็บภาษีจาก 800 ครัวเรือนในเขตศักดินา[2]

การรับราชการช่วงกลาง แก้

ในปี ค.ศ. 230 เมื่อโจจิ๋นขุนพลวุยก๊กเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบการทำศึกกับจ๊กก๊กจากการเป็นฝ่ายตั้งรับเป็นฝ่ายรุก แฮหัวป๋าซึ่งมียศเป็นขุนพลรอง (偏将军 เพียนเจียงจฺวิน) ได้รับการตั้งเป็นนายทัพหน้า[3] จากนั้นแฮหัวป๋าจึงนำทัพมุ่งไปยังเมืองฮันต๋งโดยใช้เส้นทางผ่านจูงอก๊ก (子午道 จื๋ออู่เต้า) ระยะ 330 กิโลเมตร และตั้งค่ายอยู่ในหุบเขาคดเคี้ยว ใกล้กับค่ายของฝ่ายจ๊กก๊กที่ซิงชื่อ (興勢) ซึ่งอุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กตั้งขึ้นก่อนหน้า ที่นั่นแฮหัวป๋าถูกชาวบ้านท้องถิ่นเห็นตัว ชาวบ้านไปรายงานกองกำลังของจ๊กก๊กเรื่องการปรากฏตัวของแฮหัวป๋า แฮหัวป๋าจึงถูกโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากเวลานั้นทัพหลักของโจจิ๋นยังตามมาไม่ทัพทัพหน้า แฮหัวป๋าจึงตกอยู่ในภาวะคับขัน แฮหัวป๋าจำต้องใช้ทักษะการรบของตนเข้ารบกับข้าศึกระหว่างสิ่งกีดขวางจนกระทั่งโจจิ๋นยกทัพมาถึง[4]

ทัพวุยก๊กและจ๊กก๊กเข้าสู่ภาวะคุมเชิงกันเป็นเวลา 2-3 เดือน แต่แล้วการณ์ก็เป็นผลดีแก่ฝ่ายจ๊กก๊กเมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่าหนึ่งเดือน ทำให้ไม่สามารถเดินทางผ่านหุบเขาแคบได้ ทำให้ทัพวุยก๊กประสบปัญหาเรื่องการขนส่งเสบียง นอกจากสภาพอากาศเลวร้ายที่ทำให้ทัพวุยก๊กเสียเปรียบแล้ว อุยเอี๋ยนยังแทรกซึ่มไปแนวหลังของทัพวุยก๊กและสามารถยุยงให้ชนเผ่าที่ไม่ใช่ชาวฮั่นบางส่วนต่อต้านกองกำลังของวุยก๊กได้สำเร็จ โจจิ๋นและแฮหัวป๋าจึงตัดสินใจล่าถอย ต่อมาแฮหัวป๋าได้รับกา่รแต่งตั้งเป็นขุนพลทัพขวา (右將軍 โย่วเจียงจฺวิน) และประจำการอยู่ที่เมืองหลงเสเพื่อฝึกกำลังพล แฮหัวป๋าดูแลทหารของตนด้วยตนเองและยังสานสัมพันธ์ฉันมิตรกับชนต่างเผ่า (ชาวซีหรง) ในภูมิภาคนั้น แฮหัวป๋าจึงได้รับความนิยมชมชอบจากทั้งเหล่าทหารและชนต่างเผ่า[5]

ในฐานะผู้ช่วยคนสนิทของโจซอง แก้

ในช่วงทศวรรษ 240 แฮหัวป๋าได้รับบรรดาศักดิ์เป็นปั๋วฉางถิงโหว (博昌亭侯) และกลายเป็นคนสนิทของโจซองบุตรชายของโจจิ๋นและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของโจฮองจักรพรรดิวุยก๊ก[6] เมื่อโจซองตัดสินใจทำศึกกับจ๊กก๊กเพื่อเพิ่มอิทธิพลและชื่อเสียงให้ตนเอง แฮหัวป๋าได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้พิทักษ์ทัพ และอยู่ใต้การบังคับบัญชาของแฮเฮาเหียนซึ่งเป็นญาติร่วมตระกูล[7] กุยห้วยขุนพลวุยก๊กที่แฮหัวป๋าไม่ชอบได้คุมกองหน้า ครั้งนี้ทัพวุยก๊กเลือกเส้นทางถ่างลั่ว (儻駱道 ถ่างลั่วเต้า) ซึ่งสั้นกว่าในการยกเข้าอาณาเขตของจ๊กก๊ก แต่ก็ประสบปัญหาการลำเลียงเสบียงอีกครั้งเนื่องจากเป็นเส้นทางยาวที่ไม่มีแหล่งน้ำ ทำให้ทัพวุยก๊กจำต้องล่าถอย ทหารจำนวนมากเสียชีวิตด้วยความกระหายน้ำตลอดทางกลับ หลังเสร็จศึก ด้วยเหตุที่กุยห้วยถอนทหารได้ทันท่วงทีจึงได้รับอำนาจทางทหารที่สูงกว่าแฮหัวป๋า[8]

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 224 ถึง ค.ศ. 249 แฮหัวป๋าตกอยู่ใต้อำนาจของกุยห้วยที่กุมอำนาจบังคับบัญชาชั่วคราวเมื่อเกิดวิกฤตทางการทหาร ในปี ค.ศ. 247 เมื่อผู้นำชนเผ่าส่วนหนึ่งก่อกบฏต่อวุยก๊ก แฮหัวป๋าก็ถูกโจมตีโดยเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กผู้มาช่วยสนับสนุนเหล่าชนเผ่า แฮหัวป๋าร่วมกับกุยห้วยขับไล่การโจมตีของเกียงอุยและโต้กลับกลุ่มกบฏชนเผ่า ทำให้กบฏจำนวนมากยอมจำนน[9] อย่างไรก็ตาม เอ้อ เจอไซ (蛾遮塞) แห่งชนเผ่าเกี๋ยง และจื้อ อู๋ไต้ (治无戴) แห่งชนเผ่าหูยังคงตั้งตนต่อต้าน สงครามจึงแบ่งออกเป็นยุทธการย่อย ๆ ที่ลากยาวไปถึงปี ค.ศ. 248 ซึ่งเกียงอุยนำทัพจ๊กก๊กมาช่วยเหลือกบฏอีกครั้ง

ณ จุดนี้เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากุยห้วยเป็นแม่ทัพที่แท้จริงในการออกคำสั่งในสนามรบแทนที่จะเป็นแฮเฮาเหียน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกุยห้วยตัดสินใจโจมตีเลียวฮัวที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเกียงอุย แฮหัวป๋าจึงได้รับมอบหมายจากกุยห้วยโดยตรงให้ไล่ตามทัพหลักของเกียงอุยไปทางตะวันตก[10] เมื่อเกียงอุยรู้ว่าเลียวฮัวถูกโจมตีจึงรีบกลับไปช่วยเลียวฮัวตามที่กุยห้วยคาดการณ์ กลายเป็นการแยกกลุ่มกบฏและกองกำลังเสริมของจ๊กก๊กออกจากกัน[11] ในขณะที่แฮหัวป๋าเหน็ดเหนื่อยกับการเคลื่อนกำลังเช่นเดียวกับแม่ทัพฝ่ายจ๊กก๊ก แต่ความดีความชอบในการปราบกบฏกลับตกเป็นของกุยห้วยซึ่งได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นโหวระดับตำบล ในทางตรงกันข้าม แฮหัวป๋าแทบจะไม่ได้รับอะไรเลยจากความพยายามในการทัพ[12]

รับราชการในจ๊กก๊ก แก้

แปรพักตร์จากวุยก๊กไปเข้าด้วยจ๊กก๊ก แก้

ในปี ค.ศ. 249 ภายหลังจากการก่อรัฐประหารโดยสุมาอี้เพื่อยึดอำนาจของโจซอง ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโจซองจำนวนมากก็ถูกจับตัวไปประหารชีวิต แฮหัวป๋าที่เป็นคนสนิทของโจซองจึงตื่นตัวต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนี้และระแวงว่ากลุ่มสุมาอี้จะมาเล่นงานตน ไม่นานหลังจากนั้น แฮเฮาเหียนซึ่งมีอาญาสิทธิ์ในการบัญชาการกำลังทหารของมณฑลเลียงจิ๋วและยงจิ๋วก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปยังนครหลวงโดยอ้างว่าเป็นการเลื่อนตำแหน่ง แฮหัวป๋าระแวงเรื่องนี้จึงเข้าไปหารือกับแฮเฮาเหียน โน้มน้าวให้แฮเฮาเหียนหนีด้วยกันกับตนไปยังจ๊กก๊ก แต่แฮเฮาเหียนปฏิเสธและพูดว่า "ข้าจะไม่อยู่เป็นแขกของดินแดนอนารยชน!" อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้แฮหัวป๋าไม่สบายใจคือเรื่องที่บุคคลที่สืบทอดตำแหน่งเดิมของแฮเฮาเหียนไม่ใช่ใครอื่นนอกจากกุยห้วย ซึ่งแฮหัวป๋ามีความบาดหมางด้วยเป็นการส่วนตัว แฮหัวป๋าจึงเดินทางเพียงลำพังไปยังจ๊กก๊ก[13]

ระหว่างเดินทางไปจ๊กก๊ก แฮหัวป๋าหลงเข้าไปเจอทางตันในหุบเขา เวลานั้นแฮหัวป๋าไม่มีอาหารเหลือจึงหันไปฆ่าม้าของตนมาทำเป็นอาหารมื้อสุดท้าย แฮหัวป๋าเดินเท้าต่อไปจนกระทั่งขาพิการ จึงคลานไปหลบอยู่ใต้เงาของก้อนหินขนาดใหญ่ และถามผู้เดินทางผ่านมาเพื่อถามทาง แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะออกจากทางตันในหุบเขาได้อย่างไร เมื่อคนท้องถิ่นรายงานเรื่องมีคนขาพิการซึ่งดูเหมือนขุนพลแฮหัวป๋าซึ่งโจมตีฝ่ายจ๊กก๊กเมื่อหลายปีก่อน เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กจึงรีบส่งคณะกู้ภัยไปคุ้มกันแฮหัวป๋าซึ่งถือเป็นลุงเขยของพระองค์มายังเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก[14]

หลายปีก่อน เซี่ยโหวชื่อ (夏侯氏) ลูกพี่ลูกน้องหญิงของแฮหัวป๋า ถูกเตียวหุยขุนพลจ๊กก๊กลักพาตัวแล้วกลายเป็นภรรยาของเตียวหุย ด้วยเหตุนี้ตระกูลเล่าและตระกูลแฮหัว (เซี่ยโหว) จึงเกี่ยวพันกันผ่านการสมรสระหว่างเล่าเสี้ยนและบุตรสาวของเตียวหุย[b] จึงเป็นเหตุให้เล่าเสี้ยนเรียกพระโอรสองค์หนึ่งว่าเป็นหลายชายของตระกูลแฮหัว เล่าเสี้ยนแต่งตั้งให้แฮหัวป๋าผู้พิการมียศเป็นขุนพลทหารม้าและรถศึก (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) ของจ๊กก๊ก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการเมืองหรือเหตุผลส่วนพระองค์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเครือญาติ[15]

ชีวิตบั้นปลายในจ๊กก๊ก แก้

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเกียงอุยก็กลายเป็นมิตรสนิทกับกับแฮหัวป๋า ทั้งคู่ได้ไปร่วมในการทัพกับรัฐวุยก๊กหลายครั้ง ราชสำนักวุยก๊กให้อภัยโทษแก่บุตรชายของแฮหัวป๋าเนื่องจากความสำคัญของแฮหัวเอี๋ยนที่มีบทบาทในการก่อตั้งวุยก๊ก แต่ยังคงให้เนรเทศไปยังเมืองเล่อล่าง (樂浪郡 เล่อล่างจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ[16]

ในเวลานั้นแฮหัวป๋าอายุเกินหกสิบแล้วแต่ยังไม่ถึงเจ็ดสิบ แต่ยังคงเข้าร่วมในวงสังคม เรื่องราวที่บันทึกในอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้าน (益部耆舊傳) กล่าวถึงเรื่องที่ครั้งหนึ่งแฮหัวป๋าต้องการผูกมิตรกับเตียวหงีผู้มีชื่อเสียงจากการปราบปรามอนารยชนทางใต้และเป็นขุนพลจ๊กก๊กที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในเวลานั้น เมื่อแฮหัวป๋าพบเตียวหงีครั้งแรกได้บอกกับเตียวหงีว่า "แม้ว่าท่านกับข้าจะยังไม่รู้จักกันดี แต่ข้าบอกความรู้สึกของข้าต่อท่านได้ราวกับเราเป็นเพื่อนเก่ากัน ท่านน่าจะเข้าใจเจตนานี้" เตียวหงีตอบว่า "ข้ายังไม่รู้จักท่านดีและท่านก็ยังไม่รู้จักข้าดี เมื่อวิถีทางใหญ่นำไปสู่ทางอื่น จะพูดถึงความรู้สึกเชื่อใจได้อย่างไร มาสนทนาอีกครั้งในอีกสามปีให้หลังเถิด" เหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในจ๊กก๊ก บัณฑิตและผู้มีความรู้ถือว่าเกร็ดประวัตินี้เป็นการยกย่องบุคลิกลักษณะของแฮหัวป๋าและเตียวหงี[17]

แฮหัวป๋าในฐานะผู้แปรพักตร์จากวุยก๊กต้องเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติและความไม่วางใจจากขุนนางร่วมราชการ แต่ด้วยภูมิหลังที่ซับซ้อนทำให้แฮหัวป๋าได้รับความไว้วางพระทัยจากจักรพรรดิเล่าเสี้ยน และได้รับการยกย่องอย่างสูงจากเกียงอุยซึ่งเป็นผู้แปรพักตร์มาจากวุยก๊กด้วยกัน ครั้งหนึ่งเกียงอุยถามแฮหัวป๋าว่าสุมาอี้ผู้กุมอำนาจราขสำนักวุยก๊กจะโจมตีจ๊กก๊กหรือไม่ แฮหัวป๋าตอบว่า "พวกเขาเพิ่งก่อร่างฐานอำนาจ จึงคงยังไม่ใส่ใจในเรื่องภายนอก แต่มีจงโฮยผู้เยาว์ซึ่งจะกลายเป็นภัยคุกคามต่อทั้งง่อและจ๊ก"[18][19] เกียงอุยเชื่อทัศนะของแฮหัวป๋าที่ว่าสุมาอี้จะไม่จัดการกับปัญหาชายแดนไปสักระยะหนึ่ง จึงรือฟื้นกลยุทธ์ของจูกัดเหลียงในการทำสงครามกับวุยก๊กอย่างต่อเนื่อง และพาแฮหัวป๋าไปด้วยกันในการบุกขึ้นเหนือ แฮหัวป๋าสร้างผลงานโดดเด่นของตนจากชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของเกียงอุยในยุทธการที่เต๊กโตเสีย ภายหลังยุทธการนี้ แฮหัวป๋าก็ไม่ถูกกล่าวถึงอีกในบันทึกประวัติศาสตร์

วันที่เกิดและเสียชีวิต แก้

จดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าแฮหัวป๋าสืบทอดตำแหน่งขุนพลทหารม้าและรถศึกถัดจากเตงจี๋หลังเตงจี๋เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 จือจื้อทงเจี้ยนบันทึกว่าแฮหัวป๋ายังมีชีวิตอยู่ในปี ค.ศ. 255 และจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าแฮหัวป๋าไม่ได้มีชีวิตอยู่แล้วปี ค.ศ. 259 เมื่อมีบันทึกว่าเลียวฮัวและเตียวเอ๊กได้สืบทอดตำแหน่งขุนพลของแฮหัวป๋า แฮหัวป๋าจึงต้องเสียชีวิตในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 255 และ ค.ศ. 259 วันที่แฮหัวป๋าเกิดก็ไม่มีบันทึกแน่ชัดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เว่ย์เลฺว่ระบุว่าลูกพี่ลูกน้องหญิงที่อายุอ่อนกว่าของแฮหัวป๋าถูกเตียวหุยลักพาตัวไประหว่างเก็บฟืนขณะอายุ 12-13 ปีในปี ค.ศ. 200 ซึ่งหมายความว่าแฮหัวป๋าจะต้องเกิดก่อนปี ค.ศ. 187-188

ในนิยายสามก๊ก แก้

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊กในศตวรรษที่ 14 การเสียชีวิตของแฮหัวป๋าได้มีการเสริมแต่งเพิ่มเติม โดยเมื่อจ๊กก๊กบุกวุยก๊กในปี ค.ศ. 262 ระหว่างยุทธการที่อำเภอเตียวเจี๋ยง แฮหัวป๋าถูกสังหารโดยกองทหารวุยก๊กที่ซุ่มบนกำแพงทิ้งก้อนหินและยิงเกาทัณฑ์ใส่[20]

ในวัฒนธรรมประชานิยม แก้

แฮหัวป๋าเปิดตัวในฐานะตัวละครที่เล่นได้ครั้งแรกในภาคที่ 7 ของซีรีส์วิดีโอเกม ไดนาสตีวอริเออร์ ของโคเอ

ดูเพิ่ม แก้

หมายเหตุ แก้

  1. แม้ว่าปีเกิดของแฮหัวป๋าจะไม่ได้มีการบันทึกว่า แต่อนุมานได้ว่าควรเป็นช่วงก่อนปี ค.ศ. 188 เพราะมีบันทึกว่าแฮหัวป๋าอายุมากว่าเซี่ยโหวชื่อภรรยาของเตียวหุย ซึ่งเกิดเมื่อ ป. ค.ศ.188
  2. ไม่มีบันทึกว่าบุตรสาวคนใด (คนโตหรือคนรอง) ของเตียวหุยที่เป็นพระมารดาของพระโอรสที่เล่าเสี้ยนทรงตรัสว่าเกี่ยวข้องกับแฮหัวป๋า

อ้างอิง แก้

  1. (魏略曰:霸字仲權。淵為蜀所害,故霸常切齒,欲有報蜀意。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  2. (黃初中,賜中子霸,太和中,賜霸四弟,爵皆關內侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  3. (黃初中為偏將軍。子午之役,霸召為前鋒,進至興勢圍,安營在曲谷中。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  4. (蜀人望知其是霸也,指下兵攻之。霸手戰鹿角間,賴救至,然後解。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  5. (後為右將軍,屯隴西,其養士和戎,並得其歡心。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  6. (霸,正始中為討蜀護軍右將軍,進封博昌亭侯,素為曹爽所厚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  7. (後至正始中,代夏侯儒為征蜀護軍,統屬征西。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  8. (淮度势不利,辄拔军出,故不大败。还假淮节。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  9. (討蜀護軍夏侯霸督諸軍屯為翅。淮軍始到狄道,議者僉謂宜先討定枹罕,內平惡羌,外折賊謀。淮策維必來攻霸,遂入渢中,轉南迎霸。維果攻為翅,會淮軍適至,維遁退。進討叛羌,斬餓何、燒戈,降服者萬餘落。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  10. (淮曰:「今往取化,出賊不意,維必狼顧。比維自致,足以定化,且使維疲於奔命。兵不遠西,而胡交自離,此一舉而兩全之策也。」) จดหมายเหคุสามก๊ํก เล่มที่ 26.
  11. (乃別遣夏侯霸等追維於沓中,淮自率諸軍就攻化等。維果馳還救化,皆如淮計。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  12. (進封都鄉侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  13. (時征西將軍夏侯玄,於霸為從子,而玄於曹爽為外弟。及司馬宣王誅曹爽,遂召玄,玄來東。霸聞曹爽被誅而玄又徵,以為禍必轉相及,心既內恐;又霸先與雍州刺史郭淮不和,而淮代玄為征西,霸尤不安,故遂奔蜀。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  14. (南趨陰平而失道,入窮谷中,糧盡,殺馬步行,足破,臥巖石下,使人求道,未知何之。蜀聞之,乃使人迎霸。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  15. (初,建安五年,時霸從妹年十三四,在本郡,出行樵採,為張飛所得。飛知其良家女,遂以為妻,產息女,為劉禪皇后。故淵之初亡,飛妻請而葬之。及霸入蜀,禪與相見,釋之曰:「卿父自遇害於行閒耳,非我先人之手刃也。」指其兒子以示之曰:「此夏侯氏之甥也。」厚加爵寵。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊ก 9.
  16. (聞爽誅,自疑,亡入蜀。以淵舊勳赦霸子,徙樂浪郡。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  17. (益部耆舊傳曰:時車騎將軍夏侯霸謂嶷曰:「雖與足下疏闊,然託心如舊,宜明此意。」嶷答曰:「僕未知子,子未知我,大道在彼,何云託心乎!願三年之後徐陳斯言。」有識之士以為美談。) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจฺว้านในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  18. (“维问于霸曰:“司马懿既得彼政,当复有征伐之志不?”霸曰:“彼方营立家门,未遑外事。有钟士季者,其人虽少,若管朝政,吴、蜀之忧也。”) จือจื้อทงเจี้ยน.
  19. (世語曰:夏侯霸奔蜀,蜀朝問「司馬公如何德」?霸曰:「自當作家門。」「京師俊士」?曰:「有鍾士季,其人管朝政,吳、蜀之憂也。」) อรรถาธิบายจากชื่อยฺหวี่ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
  20. File:XiahouBa.jpg

บรรณานุกรม แก้