การทัพจูงอก๊ก
การทัพจูงอก๊ก (จีน: 子午之役; พินอิน: Zǐwǔ Zhī Yì) เป็นการรุกเพื่อตอบโต้ทางการทหารในปี ค.ศ. 230 โดยรัฐวุยก๊กต่อรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน การทัพริเริ่มโดยโจจิ๋นเสนาบดีกลาโหมแห่งวุยก๊ก ภายหลังการบุกขึ้นเหนือของจ๊กก๊กหลายครั้ง รวมถึงครั้งล่าสุดในยุทธการที่เจี้ยนเวย์
การทัพจูงอก๊ก | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
วุยก๊ก | จ๊กก๊ก | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
โจจิ๋น แฮหัวป๋า กุยห้วย |
จูกัดเหลียง ลิเงียม อุยเอี๋ยน | ||||||
กำลัง | |||||||
กองกำลังตะวันตกไม่ทราบจำนวน |
กองกำลังในฮันต๋งไม่ทราบจำนวน กองกำลังหนุนใต้บังคับบัญชาของลิเงียม 20,000 นาย | ||||||
ความสูญเสีย | |||||||
ไม่ทราบ | ไม่ทราบ |
ภูมิหลัง
แก้ภายหลังจากการยกทัพกลับของจูกัดเหลียงหลังยุทธการที่เจี้ยนเวย์ เล่าเสี้ยนจักรพรรดิแห่งจ๊กก๊กทรงมีพระราชโองการแสดงมุทิตาจิตต่อความสำเร็จในการศึกครั้งล่าสุด และทรงแต่งตั้งให้จูกัดเหลียงกลับมามีตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี (丞相 เฉิงเซี่ยง)[1][2]
ทางด้านวุยก๊ก จักรพรรดิโจยอยทรงเรียกโจจิ๋นเข้านครหลวงลกเอี๋ยง และทรงเลื่อนขั้นให้โจจิ๋นขึ้นเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) จากผลงานในการป้องกันชายแดนวุยก๊กจากการบุกของจ๊กก๊ก[3] ระหว่างการเข้าเฝ้า โจจิ๋นทูลเสนอให้โต้กลับการบุกหลายครั้งของจ๊กก๊กโดยการเป็นฝ่ายบุกกลับไปบ้าง โจจิ๋นยังทูลว่าหากขุนพลนายต่าง ๆ เข้าบุกในหลายเส้นทางไปในเวลาเดียวก็จะมีโอกาสสำเร็จอย่างมาก ตันกุ๋นคัดค้านแผนการนี้โดยกล่าวว่าเมื่อครั้งโจโฉเอาชนะเตียวฬ่อได้นั้น ทหารก็ประสบปัญหาการขนส่งเสบียงอยู่แล้ว ตันกุ๋นกล่าวต่อไปว่าภูมิประเทศของเมืองฮันต๋งทำให้รุกคืบก็ยาก ถอยก็ยาก ทั้งยังเสี่ยงอย่างมากต่อการผลาญทรัพยากรของกองกำลัง โจยอยทรงหารือกับโจจิ๋นในประเด็นนี้ โจจิ๋นจึงเปลี่ยนเส้นทางการเดิินทัพไปยังจูงอก๊ก แต่ตันกุ๋นก็คัดค้านแผนนี้อีกครั้ง โจยอยทรงนำข้อโต้แย้งของตันกุ๋นมาแจ้งโจจิ๋น แต่โจจิ๋นก็ยืนกรานการตัดสินใจครั้งนี้และการทัพก็เริ่มต้นขึ้น[1][4]
การทัพ
แก้ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 230 โจจิ๋นนำทัพจากเตียงฮันเข้าโจมตีจ๊กก๊กผ่านหุบเขาจูงอก๊ก (子午谷 จื๋ออู๋กู่) ในเวลาเดียวกัน กองกำลังวุยก๊กอีกกองหนึ่งนำโดยสุมาอี้ได้ทำตามคำสั่งของโจจิ๋นที่ให้รุกคืบเข้าแดนจ๊กก๊กทางจากมณฑลเกงจิ๋วโดยล่องเรือไปตามแม่น้ำฮั่นซุย (漢水 ฮั่นฉุ่ย) จุดบรรจบของกองกำลังของโจจิ๋นและสุมาอี้อยู่ที่อำเภอลำเต๋ง (南鄭縣 หนานเจิ้งเซี่ยน; อยู่ในนครฮั่นจง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) กองกำลังวุยก๊กอื่น ๆ ก็เตรียมเข้าโจมตีจ๊กก๊กจากทางหุบเขาเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) หรือจากทางเมืองอู่เวย์ (武威)[5]
เมื่อจูกัดเหลียงทราบข่าวความเคลื่อนไหวของวุยก๊ก จึงมีคำสั่งถึงลิเงียมให้นำกำลังทหาร 20,000 นายไปยังเมืองฮันต๋งเพื่อป้องกันการบุกของวุยก๊ก แต่ลิเงียมไม่ต้องการออกจากฐานที่มั่นของตนไปอยู่ใต้การบังคับบัญชาของจูกัดเหลียงจึงปฏิเสธคำสั่งไปในครั้งแรก จูกัดเหลียงจึงเอาใจลิเงียมโดยยอมให้ลิอ๋องบุตรชายของลิเงียมทำหน้าที่แทนลิเงียม ในที่สุดลิเงียมจึงยอมไปที่เมืองฮันต๋งตามคำโน้มน้าวของจูกัดเหลียง[1][6]
ขุนพลรอง (偏将军 เพียนเจียงจฺวิน) แฮหัวป๋าเสนอตัวขอเป็นนายกองหน้าของทัพวุยก๊กในการบุกครั้งนี้ จากนั้นแฮหัวป๋าจึงนำกองกำลังไปยังเมืองฮันต๋ง โดยใช้เส้นทางจูงอก๊ก (子午道 จื๋ออู่เต้า) มีระยะทาง 330 กิโลเมตรและตั้งค่ายอยู่ในหุบเขาคดเคี้ยว ใกล้เคียงกับค่ายที่ซิงชื่อ (興勢) ซึ่งอุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กมาตั้งค่ายอยู่ก่อนแล้ว แฮหัวป๋าถูกชาวบ้านท้องถิ่นเห็นตัวที่นั่น ชาวบ้านจึงรายงานเรื่องการปรากฎตัวของแฮหัวป๋าแก่ทัพจ๊กก๊กที่นำโดยลิเงียม แฮหัวป๋าจึงถูกโจมตีอย่างหนัก เนื่องจากเวลานั้นทัพหลักของโจจิ๋นตามไม่ทันกองหน้า แฮหัวป๋าจึงตกอยู่ในสถานการณ์วิกฤติ แฮหัวป๋าจึงใช้ความกล้าหาญของตนรักษาแนวป้องกันจนกระทั่งกำลังเสริมมาถึง จากนั้นแฮหัวป๋าและทหารจึงสามารถล่าถอยไปได้[7]
อุยเอี๋ยนนำกำลังทหารบางส่วนออกจากฐานทั่มั่นไปยังหยางซี (陽谿; อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภออู่ชาน มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ชนเผ่าเกี๋ยงให้เข้าร่วมกับจ๊กก๊กในการรบกับวุยก๊ก วุยก๊กจึงส่งกุยห้วยและปีเอียวไปตอบโต้การก่อการกำเริบของชนเผ่าเกี๋ยง เมื่อทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันในสนามรบ อุยเอี๋ยนสามารถสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ทัพวุยก๊ก ทำให้อุยเอี๋ยนได้กำลังทหารมากขึ้นและป้องกันไม่ให้เตียวคับเข้าร่วมในการบุก[8]
หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ ทั้งสองฝ่ายก็มาอยู่ในภาวะคุมเชิงกันเป็นเวลานานและมีการต่อสู้เพียงเล็กน้อย หลังจากเวลาผ่านไปมากกว่าหนึ่งเดือนที่การทัพคืบหน้าอย่างช้า ๆ และด้วยความกลัวว่าจะสูญเสียทหารและสิ้นเปลืองทรัพยากร ขุนนางหลายคนจึงถวายฎีกาให้ยกเลิกการทัพ ขุนนางเหล่านี้เช่น ฮัวหิม[1] เอียวหู[1] และอองซก[1] บุตรชายของอองลอง สถานการณ์การทัพไม่ได้ดีขึ้นเนื่องจากภูมิประเทศที่ทุรกันดารและสภาพอากาศมีฝนตกหนักต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 วัน หลังจากนั้นโจยอยจึงตัดสินพระทัยให้ยกเลิกการทัพและมีรับสั่งเรียกตัวนายทหารทุกคนกลับมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. 230[1][9]
ผลสืบเนื่อง
แก้แม้ว่าการทัพล้มเหลว แต่การล่าถอยอย่างทันท่วงทีของโจจิ๋นก็ทำให้วุยก๊กสามารถจำกัดการสูญเสียได้ ตัวโจจิ๋นผู้เป็นแม่ทัพใหญ่ของทัพวุยก๊กเองรู้สึกไม่สบายระหว่างทางกลับไปยังลกเอี๋ยงและล้มป่วยลงในเดือนถัด ๆ มา ในที่สุดก็เสียชีวิตด้วยอาการป่วยในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ค.ศ. 231 โจยอยพระราชทานสมัญญานามแก่โจจิ๋นว่า "ยฺเหวียนโหว" (元侯).[10]
จากความดีความชอบของอุยเอี๋ยนในการรบกับกุยห้วยและปีเอียว ราชสำนักจ๊กก๊กเลื่อนขั้นให้อุยเอี๋ยนเป็นที่ปรึกษาทัพหน้า (前軍師 เฉียนจฺวินชือ) และมหาขุนพลปราบภาคตะวันตก (征西大將軍 เจียงซีต้าเจียงจฺวิน) และเลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับหมู่บ้านเป็นโหวระดับอำเภอคือ "หนานเจิ้งโหว" (南鄭侯) หรือโหวแห่งลำเต๋ง[11] ลิเงียมไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปทางตะวันออก แต่ให้มาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจูกัดเหลียงในการช่วยเหลือระหว่างการบุกวุยก๊กในอนาคต[12]
บุตรชายของโจจิ๋นชื่อโจซองจะกลายเป็นแม่ทัพใหญ่ในการบุกที่คล้ายกันนี้ในปี ค.ศ. 244 นำไปสู่ยุทธการที่ซิงชื่อ[13]
หมายเหตุ
แก้- ↑ การทัพเริ่มต้นในเดือน 7 ของศักราชไท่เหอปีที่ 3 ในรัชสมัยของโจยอย เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคมถึง 26 สิงหาคม ค.ศ. 230 ในปฏิทินกริโกเรียน[1]
- ↑ ทัพวุยก๊กล่าถอยในเดือน 9 ของศักราชไท่เหอปีที่ 3 ในรัชสมัยของโจยอย เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 25 กันยายนถึง 24 ตุลาคม ค.ศ. 230 ในปฏิทินกริโกเรียน[1]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 Sima (1084), vol. 71.
- ↑ (詔策亮曰:「街亭之役,咎由馬謖,而君引愆,深自貶抑,重違君意,聽順所守。前年耀師,馘斬王雙;今歲爰征,郭淮遁走;降集氐、羌,興復二郡,威鎮凶暴,功勳顯然。方今天下騷擾,元惡未梟,君受大任,幹國之重,而乆自挹損,非所以光揚洪烈矣。今復君丞相,君其勿辭。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 35.
- ↑ ([太和]四年,朝洛陽,遷大司馬,賜劒履上殿,入朝不趨。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (真當發西討,帝親臨送。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (真以八月發長安,從子午道南入。司馬宣王泝漢水,當會南鄭。諸軍或從斜谷道,或從武威入。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (八年,迁骠骑将军。以曹真欲三道向汉川,亮命严将二万人赴汉中。亮表严子丰为江州都督督军,典为后事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (黃初中為偏將軍。子午之役,霸召為前鋒,進至興勢圍,安營在曲谷中。蜀人望知其是霸也,指下兵攻之。霸手戰鹿角間,賴救至,然後解。) อรรถาธิบายจากเว่ย์เลฺว่ในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
- ↑ (八年,使延西入羌中,魏後將軍費瑤、雍州刺史郭淮與延戰于陽谿,延大破淮等,遷為前軍師征西大將軍,假節,進封南鄭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (會大霖雨三十餘日,或棧道斷絕,詔真還軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (真病還洛陽,帝自幸其第省疾。真薨,謚曰元侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
- ↑ (遷為前軍師征西大將軍,假節,進封南鄭侯.) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (亮以明年當出軍,命嚴以中都護署府事。嚴改名為平。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 40.
- ↑ (七年春,魏大將軍曹爽率步騎十餘萬向漢川,前鋒已在駱谷。時漢中守兵不滿三萬,諸將大驚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซันกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.