ยุทธการที่ซิงชื่อ

ยุทธการที่ซิงชื่อ (จีน: 興勢之戰) เป็นการรบระหว่างรัฐวุยก๊กและจ๊กก๊กในปี ค.ศ. 244 ในยุคสามก๊กของจีน สถานที่รบคือที่เขาซิงชื่อ (興勢山 ซิงชื่อชาน) ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของอำเภอหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน และปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเขตอนุรักษ์แห่งชาติฉางชิง ยุทธการนี้เป็นความพยายามของโจซองผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊กที่จะพิชิตจ๊กก๊กอันเป็นรัฐอริของวุยก๊ก ยุทธการจบลงด้วยความล้มเหลวอย่างราบคาบ

ยุทธการที่ซิงชื่อ
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก
วันที่เมษายน[a] – กรกฎาคม ค.ศ. 244[b]
สถานที่
เขาซิงชื่อ (ตั้งอยู่ทางเหนือของอำเภอหยาง มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) ประเทศจีน
ผล จ๊กก๊กชนะ
คู่สงคราม
วุยก๊ก จ๊กก๊ก
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
โจซอง
แฮเฮาเหียน
บิฮุย
อองเป๋ง
กำลัง
โดยรวมมากกว่า 100,000 นาย[1][2]
ทัพหลักจากเตียงฮันมี 60,000-70,000 นาย[3]
น้อยกว่า 30,000 นายภายใต้บังคับบัญชาของอองเป๋งและเล่าปิ้น[1][4]
ไม่ทราบจำนวนทหารใต้บังคับบัญชาของบิฮุย
ความสูญเสีย
ไม่ทราบ ไม่ทราบ
ยุทธการที่ซิงชื่อ
อักษรจีนตัวเต็ม興勢之戰
อักษรจีนตัวย่อ兴势之战

ภูมิหลัง แก้

แม้โจซองจะเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักในราชสำนักวุยก๊ก แต่โจซองก็ยังเชื่อว่าสามารถนำทัพเข้ารบกับจ๊กก๊กได้ โดยเฉพาะเมื่อเจียวอ้วนแม่ทัพของจ๊กก๊กนำทัพหลักล่าถอยจากฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) ไปยังอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 243 โจซองและพรรคพวกคนสนิทสรุปความเห็นว่าด้วยความที่วุยก๊กที่กำลังทหารมากกว่าจะสามารถพิชิตฮันต๋งได้อย่างง่ายดายก่อนที่กำลังเสริมของจ๊กก๊กจะมาถึง แม้ว่าอาจจะปราบจ๊กก๊กไม่สำเร็จ แต่การยึดฮันต๋งก็เพียงพอแล้วที่จะเพิ่มชื่อเสียงและอิทธิพลของโจซองในราชสำนัก[5]

ก่อหน้านี้หลังยุทธการที่ฮันต๋งเมื่อปี ค.ศ. 219 อุยเอี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองฮันต๋ง (漢中太守 ฮั่นจงไท่โฉ่ว) ในช่วงที่อุยเอี๋ยนดำรงตำแหน่งได้สร้างด่านที่มีป้อมปราการหลายแห่งตามจุดยุทธศาสตร์บนเส้นทางที่มุ่งไปสู่ฮันต๋ง และวางกำลังทหารรักษาการณ์ด้วยทหารชั้นแนวหน้า แม้ว่าเมื่อข้าศึกเข้าโจมตี ทหารในด่านก็จะโจมตีกลับ ด่านเหล่านี้ยังคงใช้งานอยู่ในช่วงเวลาของยุทธการที่ซิงชื่อ อองเป๋งจะใช้การเตรียมการไว้แล้วก่อนหน้านี้เพื่อเอาชนะต่อทัพของโจซอง[6]

ภูมิศาสตร์ แก้

เส้นทางดั้งเดิมสามเส้นทางจากฮันต๋งไปยังกวนต๋ง (關中 กวานจง) ล้วนเป็นเส้นทางผ่านหุบเขาในเทือกเขาฉินหลิ่ง เส้นทางตามแนวเหนือ-ใต้ทางตะวันออกเป็นเส้นทางที่ยาวที่สุด รวมระยะทางกว่า 330 กิโลเมตร โดยปลายทางด้านเหนือสุดอยู่ทางใต้ของเตียงฮัน (長安 ฉางอาน) ครึ่งทางด้านใต้ของหุบเขาเรียกว่าจูก๊ก (子谷 จื๋อกู่) และครึ่งทางด้านเหนือเรียกว่างอก๊ก (午谷 อู๋กู่) ลักษณะภูมิประเทศท้องถิ่นที่สลับซับซ้อน ทำให้เกิดตำแหน่งจำนวนมากที่เหมาะแก่การซุ่มโจมตี และผู้ที่จัดกำลังดักซุ่มจะสามารถทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามที่เดินทัพผ่านหุบเขาได้อย่างง่ายดายและโดยสิ้นเชิง จึงทำให้เส้นทางที่ยาวที่สุดนี้ยังเป็นเส้นทางที่อันตรายที่สุดด้วย อย่างไรก็ตาม หากจ๊กก๊กเป็นฝ่ายบุก จะสามารถเข้าคุกคามเตียงฮันได้อย่างง่ายดายโดยใช้เส้นทางนี้ และนี่เป็นคำแนะนำที่อุยเอี๋ยนเสนอกับจูกัดเหลียงก่อนการบุกขึ้นเหนือครั้งแรก เส้นทางเปาเสีย (褒斜道 เปาเสียเต้า) ความยาว 235 กิโลเมตรและตั้งอยู่ทางตะวันตก มีสภาพของเส้นทางที่ดีที่สุดในสามเส้นทางดั้งเดิม โดยครึ่งเส้นทางด้านเหนือเรียกว่าเสียดก๊ก (斜谷 เสียกู่) และครึ่งเส้นทางด้านใต้เรียกว่าเปากู่ (褒谷) ปลายทางด้านใต้ของเส้นทางเปาเสียตั้งอยู่บริเวณทางเหนือของฮันต๋งขึ้นไปประมาณ 25 กิโลเมตร ในขณะที่ปลายทางด้านเหนือตั้งอยู่บริเวณทางใต้ของอำเภอไปเซีย (郿縣 เหมย์เซี่ยน) หรือปัจจุบันคืออำเภอเหมย์ (眉縣 เหมย์เซี่ยน) มณฑลฉ่านซี ลงมา 15 กิโลเมตร ตรงกลางของเส้นทางเปาเสียมีหุบเขาอีกแห่งชื่อกิก๊ก (箕谷 จีกู่) แตกแขนงออกไปทางทิศตะวันตกแล้วเลี้ยวขึ้นไปทางเหนือไปสิ้นสุดใกล้กับตันฉอง (陳倉 เฉินชาง) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นทางยุทธศาสตร์แห่งหนึ่งที่อาจถูกคุกคามเมื่อจ๊กก๊กเป็นฝ่ายบุก หากวุยก๊กเป็นฝ่ายบุก การที่เส้นทางมีสภาพดีก็หมายความว่าจ๊กก๊กสามารถจัดกำลังป้องกันได้เร็วขึ้นและหยุดการโจมตีของทัพวุยก๊กก่อนที่จะออกจากหุบเขาได้

เส้นทางถ่างลั่ว (儻駱道 ถ่างลั่วเต้า) ความยาว 210 กิโลเมตรที่อยู่ตรงกลางเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในสามเส้นทางดั้งเดิม และได้ชื่อเส้นทางมาจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ปลายสุดทั้งสองด้าน ปลายทางด้านใต้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำถางฉุ่ย (儻水河 ถางฉุ่ยเหอ) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภอหยาง (洋縣 หยางเซี่ยน) มณฑลฉ่านซี และปลายทางด้านเหนือตั้งอยู่ในหุบเขาลั่ว (駱峪 ลั่ว-ยฺวี่) ทางตะวันออกของอำเภอจัวจื้อ (周至縣 จัวจื้อเซี่ยน) มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน ดังนั้นครึ่งเส้นทางด้านใต้จึงเรียกว่าถางกู่ (儻谷) และครึ่งเส้นทางด้านเหนือเรียกว่าลั่วกู่ (駱谷) โจซองเลือกเส้นทางกลางนี้ในการโจมตีจ๊กก๊ก ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความผิดพลาดทางยุทธวิธีอย่างร้ายแรง แม้ว่าเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุด แต่สภาพเส้นทางก็แย่ที่สุดในทั้งสามเส้นทาง ที่สำคัญยังมีส่วนที่ไม่มีแหล่งน้ำที่ยาวที่สุดในทั้งสามเส้นทาง ส่งผลต่อปัญหาการขนส่งที่ทำให้ทัพฝ่ายบุกกลายเป็มอัมพาต สัตว์ที่ใช้ขนส่งจำนวนมากในทัพวุยก๊กต้องตายด้วยความกระหายน้ำก่อนจะออกจากหุบเขา โจซองจำต้องระดมทหารเกณฑ์หลายหมื่นคนเพื่อใช้ให้ขนส่งเสบียง แต่หลายคนก็ประสบชะตากรรมเดียวกันกับสัตว์ขนส่ง ผลที่ตามมาก็คือขวัญกำลังใจของทหารตกต่ำและความไม่พอใจต่อโจซองที่ไม่เพียงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในหมู่ทหารใต้บังคับบัญชา แต่ยังเพิ่มขึ้นในเหล่าราษฎรในวุยก๊กด้วย

ยุทธการ แก้

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 244 โจซองเลื่อนขั้นให้แฮเฮาเหียนเป็นขุนพลปราบตะวันตก ส่วนกุยห้วยข้าหลวงมณฑลยงจิ๋วได้รับการแต่งตั้งเป็นแม่ทัพกองหน้า ทั้งหมดร่วมเคลื่อนพลไปยังฮันต๋งผ่านเส้นทางถ่างลั่ว เตงเหยียงและหลีซินที่เป็นคนสนิทของโจซองเข้าร่วมในการบุกในฐานะนายทหารของโจซอง เป้าหมายหลักในการบุกของวุยก๊กคือด่านเองเปงก๋วน (陽平關 หยางผิงกวาน; ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองอู่โหว (武侯鎮 อู่โหวเจิ้น) อำเภอเหมี่ยน (勉縣 เหมี่ยนเซี่ยน) มณฑลฉ่านซี ในปัจจุบัน)[7]

อองเป๋งมหาขุนพลพิทักษ์ภาคเหนือของจ๊กก๊กรับผิดชอบป้องกันฮันต๋ง แต่กำลังทหารของอองเป๋งมีไม่ถึง 30,000 นาย[8] เมื่อเผชิญหน้ากับกำลังทหารของข้าศึกที่มีจำนวนเหนือกว่าอย่างสิ้นเชิง แม่ทัพของจ๊กก๊กหลายคนเสนอให้มุ่งเน้นไปที่การป้องกันฮันเสีย (漢城 ฮั่นเฉิง; ทางตะวันออกของอำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน) และก๊กเสีย (樂城 เยฺว่เฉิง; อยู่ทางตะวันออกของอำเภอเฉิงกู้ (城固縣 เฉิงกู้เซี่ยน) มณฑลฉ่านซีในปัจจุบัน)[9] อองเป๋งปฏิเสธความคิดนี้เนื่องจากกำลังเสริมอยู่ไกลเกินไป และอาจกลายเป็นหายนะต่อจ๊กก๊กได้หากปล่อยให้ข้าศึกผ่านด่านเองเปงก๋วนเข้ามาได้โดยไม่มีการต้าน ดังนั้นจึงทำได้แต่เพียงต้องหยุดข้าศึกโดยอาศัยประโยชน์จากลักษณะภูมิประเทศในท้องถิ่นที่สลับซับซ้อน[10] อองเป๋งสั่งเล่าปิ้นขุนพลพิทักษ์ทัพให้เข้าประจำตำแหน่งในภูเขาซิงชื่อ (興勢山 ซิงชื่อชาน) และปักธงเรียงรายเป็นระยะหลายร้อยลี้เพื่อหลอกให้เข้าใจว่ากำลังป้องกันของทัพจ๊กก๊กมีขนาดใหญ่กว่าความเป็นจริง[11] จากนั้นอองเป๋งนำกองกำลังของตนตามหลังเล่าปิ้นเพื่อป้องกันการโจมตีแยกจากทัพวุยก๊กทางหุบเขาหฺวางจิน (黃金谷 หฺวางจินกู่; ตั้งอยู่ทางตะวันออกของเขาซิงชื่อ)[12] การณ์เป็นไปตามที่อองเป๋งคาดการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 244 พบว่าข้าศึกยกมาตั้งที่เขาซิงชื่อ[13] และเสบียงทัพก็พร่องลงเพราะเส้นทางลำเลียงเสบียงยาวมากเกินไปและสัตว์ขนส่งเกือบทั้งหมดตายไประหว่างทาง[14] บิฮุยมหาขุนพลของจ๊กก๊กนำกำลังเสริมจากเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) ยกมาฮันต๋ง การบุกโต้ตอบของจ๊กก๊กกำลังจะเริ่มต้นขึ้นเพื่อต่อสู้กับทัพวุยก๊กที่ฝืนยกบุกมา[15]

หยาง เหว่ย์ (楊偉) นายทหารคนหนึ่งของโจซองตระหนักถึงอันตราย และเสนอโจซองให้ทิ้งการศึกและถอยทัพทันที แต่เตงเหยียงคัดค้านและโต้เถียงกับหยาง เหว่ย์แม้ว่าตัวเตงเหยียงจะขาดความรู้ด้านการทหารก็ตาม หยาง เหว่ย์ไม่สามารถโน้มน้าวได้จึงอ้างด้วยความโกรธว่าเตงเหยียงและหลีซินไม่ใส่ใจชีวิตทหารหลายแสนนายและไม่ใส่ใจชะตากรรมของรัฐของตน และทั้งคู่ควรถูกประหารชีวิต ทั้งสองคนจึงวิวาทกันต่อหน้าโจซองผู้รู้สึกไม่พอใจกับสถานการณ์เช่นนี้[16] ราชครูสุมาอี้ผู้คัดค้านการทัพครั้งนี้มาตั้งแต่ต้น ไม่อาจเมินเฉยต่อสถานการณ์อันตรายนี้ได้อีกต่อไป จึงเขียนหนังสือไปถึงแฮเฮาเหียนเพื่อแจ้งให้ทราบถึงหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น และเตือนให้ระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อหลายปีก่อน เมื่อโจโฉเกือบต้องประสบความพินาศโดยสิ้นเชิงจากการรบกับเล่าปี่เพื่อช่วงชิงฮันต๋ง ทัพจ๊กก๊กเข้าคุมพื้นทีของเขาซิงชื่อได้อย่างมั่นคงซึ่งจะป้องกันทัพวุยก๊กไม่ให้รุดหน้า และหากกองกำลังของจ๊กก๊กอีกกองตัดเส้นทางถอยของทัพวุยก๊ก โจซองและแฮเฮาเหียนก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่เพื่อเสียใจต่อการตัดสินใจของตนได้ ในที่สุดแฮเฮาเหียนจึงตระหนักถึงสถานการณ์ที่เป็นอันตรายหลังอ่านหนังสือของสุมาอี้ และในที่สุดจึงสามารถโน้มน้าวโจซองให้ออกคำสั่งถอยทัพ แม้ว่าโจซองจะกระทำอย่างไม่เต็มใจก็ตาม[17] เวลานั้นกุยห้วยเป็นแม่ทัพกองหน้าและตระหนักถึงความอันตรายของสถานการณ์เช่นกัน จึงถอนกำลังล่าถอยเพือป้องกันการแตกพ่ายที่อาจจะเกิดขึ้น[18] ดังนั้นกองกำลังของกุยห้วยจึงไม่ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงได้รับอาญาสิทธิ์จากราชสำนักวุยก๊กหลังนำกำลังทหารกลับมาแล้ว[19]

อย่างไรก็ตาม บิฮุยไม่ยอมปล่อยให้โจซองล่าถอยได้ง่าย ๆ จึงนำกองกำลังไปตีกระหนาบทัพของวุยก๊กและสกัดทางถอย กองกำลังของจ๊กก๊กจัดตั้งตำแหน่งป้องกัน ณ สถานที่ที่ทำให้พวกตนได้เปรียบในทางภูมิประเทศเหนือทัพวุยก๊กอย่างสิ้นเชิง อันได้แก่ สันเขาเฉิ่น (沈嶺 เฉินหลิ่ง) สันเขาหยา (衙嶺 หยาหลิ่ง) และสันเขาเฟินฉุ่ย (分水嶺 เฟินฉุยหลิ่ง)[20] ทัพของโจซองต่อสู้อย่างสิ้นหวัง ท้ายที่สุดโจซองและเหล่านายทหารก็หนีกลับไปยังกวนต๋งอย่างแทบเอาชีวิตไม่รอด[21] วัวและม้าเกือบทั้งหมดที่โจซองระดมมาใช้ในการขนส่งต่างตายหรือไม่ก็สูญหาย ชนเผ่าทางเหนือไม่พอใจโจซองอย่างมากจากเรื่องนี้ และภูมิภาคกวนต๋งก็กลายเป็นแดนรกร้าง[22] จากความล้มเหลวนี้ ผู้คนก็เยาะเย้ยโจซองและแฮเฮาเหียน[23]

ผลสืบเนื่อง แก้

จากชัยชนะนี้ทำให้บิฮุยได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "เฉิงเซียงโหว" (成鄉侯) และยังคงอยู่ในฮันต๋งจนกระทั่งเดินทางกลับนครหลวงเซงโต๋ในเดือนกันยายน ค.ศ. 244 ในทางตรงกันข้าม ชื่อเสียงเกียรติยศและความนิยมในตัวโจซองลดลงอย่างรวดเร็ว นำไปสู่การสิ้นอำนาจลงในการแย่งชิงอำนาจกับสุมาอี้ในท้ายที่สุด หลังจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ วุยก๊กต้องรอคอยไปอีกยี่สิบปีก่อนที่จะบุกเพื่อพิชิตวุยก๊กอีกครั้ง

วิเคราะห์ แก้

ยุทธการที่ซิงชื่อเป็นยุทธการหนึ่งที่มีความสำคัญที่สุด แต่ก็ถูกกล่าวถึงน้อยที่สุดในยุคสามก๊ก การที่ขาดการมีส่วนร่วมของบุคคลที่สำคัญในยุคนั้นอย่างจูกัดเหลียงและเกียงอุยทำให้นักเขียนหลายคนให้ความสำคัญต่อยุทธการครั้งนี้น้อยมากหรือถึงขั้นไม่สนใจยุทธการครั้งนี้ในผลงานของตนเมื่อเทียบกับยุทธการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนั้น แม้ว่ายุทธการครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่าสถานะของรัฐจ๊กก๊กยังคงได้เปรียบจากการมีแม่ทัพที่เหนือกว่า

แม้ว่ายุทธการนี้ไม่ได้รับความสนใจในงานวรรณกรรม แต่นักการทหารในชั้นหลังก็ให้ความชื่นชมยุทธการนี้อย่างสูง ตัวอย่างเช่นหลิว ปั๋วเวิน นักยุทธศาสตร์การทหารของราชวงศ์หมิง ที่เขียนผลงานชื่อ กลยุทธ์พิศดารร้อยศึก (百戰奇略 ไป่จ้านฉีเลฺว่) ได้จัดให้ยุทธการนี้เป็นตัวอย่างดั้งเดิมของ "สงครามถอย" (退戰 ทุ่ยจ้าน) หมายความหมายว่าหากข้าศึกมีความได้เปรียบทางภูมิประเทศอย่างสมบูรณ์ และฝ่ายตนมีปัญหาในการรบต่อไป การล่าถอยอย่างรวดเร็วจะเป็นทางเลือกเดียวที่สามารถกระทำได้

บุคคลในยุทธการ แก้

หมายเหตุ แก้

  1. การทัพเริ่มต้นในเดือน 3 ของศักราชเจิ้งฉื่อปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮอง เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 26 มีนาคมถึง 24 เมษายน ค.ศ. 244 ในปฏิทินกริโกเรียน[1]
  2. กองกำลังวุยก๊กล่าถอยในเดือน 5 ของศักราชเจิ้งฉื่อปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮอง เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 23 มิถุนายนถึง 21 กรกฎาคม ค.ศ. 244 ในปฏิทินกริโกเรียน[1]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Sima (1084), vol. 74.
  2. (七年春,魏大將軍曹爽率步騎十餘萬向漢川,前鋒已在駱谷。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  3. (正始五年,爽乃西至長安,大發卒六七萬人,從駱谷入。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  4. (時漢中守兵不滿三萬,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  5. (及爽秉政,乃復進敘,任為腹心。颺等欲令爽立威名於天下,勸使伐蜀,爽從其言,宣王止之不能禁。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  6. (初,先主留魏延鎮漢中,皆實兵諸圍以御外敵。敵若來攻,使不得入。及興勢之役,王平捍拒曹爽,皆承此制。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  7. (正始五年,爽乃西至長安,大發卒六七萬人,從駱谷入。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  8. (七年春,魏大將軍曹爽率步騎十餘萬向漢川,前鋒已在駱谷。時漢中守兵不滿三萬,諸將大驚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  9. (或曰:「今力不足以拒敵,聽當固守漢、樂二城,遇賊令入,比爾間,涪軍足得救關。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  10. (平曰:「不然。漢中去涪垂千里。賊若得關,便為禍也。今宜先遣劉護軍、杜參軍據興勢,平為後拒;...」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  11. (遂帥所領與平據興勢,多張旗幟,彌亙百餘里。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  12. (平曰:「...;若賊分向黃金,平率千人下自臨之,比爾間,涪軍行至,此計之上也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 43.
  13. (入谷行數百里,賊因山為固,兵不得進。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  14. (是時,關中及氐、羌轉輸不能供,牛馬騾驢多死,民夷號泣道路。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  15. (延熙七年,魏軍次于興勢,假禕節,率眾往禦之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  16. (爽參軍楊偉為爽陳形勢,宜急還,不然將敗。颺與偉爭於爽前,偉曰:「颺、勝將敗國家事,可斬也。」爽不悅,乃引軍還。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  17. (漢晉春秋曰:司馬宣王謂夏侯玄曰:「春秋責大德重,昔武皇帝再入漢中,幾至大敗,君所知也。今興平路勢至險,蜀已先據;若進不獲戰,退見徼絕,覆軍必矣。將何以任其責!」玄懼,言於爽,引軍退。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.
  18. (五年,夏侯玄伐蜀,淮督諸軍為前鋒。淮度勢不利,輙拔軍出,) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  19. (故不大敗。還假淮節。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 26.
  20. (費禕進兵據三嶺以截爽,) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
  21. (爽爭嶮苦戰,僅乃得過。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
  22. (所發牛馬運轉者,死失略盡,羌、胡怨嘆,而關右悉虛耗矣。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊กเล่มที่ 9.
  23. (與曹爽共興駱谷之役,時人譏之。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 9.

บรรณานุกรม แก้

  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • ฝาน เสฺวียนหลิง (648). พงศาวดารราชวงศ์จิ้น (จิ้นชู).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • Selected Examples of Battles in Ancient China Writing Team, Selected Examples of Battles in Ancient China, 1st Edition, published by Chinese Publishing House & Distributed by New China Bookstore Publishing House in Beijing, 1981 - 1984.
  • Yuan, Tingdong, War in Ancient China, 1st Edition, published by Sichuan Academy of Social Science Publishing House & Distributed by New China Bookstore in Chengdu, 1988, ISBN 7-80524-058-2
  • Zhang, Xiaosheng, General View of War of Ancient China, 1st Edition in Xi'an, published by Long March Publishing House in Beijing & Distributed by New China Bookstore in Beijing, 1988, ISBN 7-80015-031-3 (set)