เจียวอ้วน (เสียชีวิต พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 246)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เจี๋ยง หว่าน (จีน: 蔣琬; พินอิน: Jiǎng Wǎn) ชื่อรอง กงเหยี่ยน (จีน: 公琰; พินอิน: Gōngyǎn) เป็นขุนพล ขุนนาง และผู้สำเร็จราชการของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน[2] เจียวอ้วนเกิดในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เริ่มรับราชการในฐานะเสมียนและนายอำเภอภายใต้ขุนศึกเล่าปี่ผู้ซึ่งภายหลังเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งจ๊กก๊ก หลังเล่าเสี้ยนโอรสของเล่าปี่ขึ้นสืบราชบัลลังก์ถัดจากพระบิดาในปี ค.ศ. 223 เจียวอ้วนค่อย ๆ ขึ้นมามีบทบาทสำคัญภายใต้การปกครองของจูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีและผู้สำเร็จราชการแห่งจ๊กก๊ก ระหว่างปี ค.ศ. 228 ถึง ค.ศ. 234 ระหว่างที่จูกัดเหลียงนำทัพจ๊กก๊กบุกขึ้นเหนือรบกับรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊ก เจียวอ้วนรับผิดชอบกิจการภายในและสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงไปทัพจ๊กก๊กที่แนวหน้า หลังการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงในปี ค.ศ. 234 เจียวอ้วนสืบทอดอำนาจของจูกัดเหลียงในฐานะผู้สำเร็จราชการและเพิ่มพูนความเชื่อมั่นของราษฎรจ๊กก๊กได้เป็นอย่างดี ในช่วงเวลานั้นเจียวอ้วนพิจารณาว่าเส้นทางภาคพื้นดินผ่านเทือกเขาฉิินหลิ่งที่จูกัดเหลียงใช้ระหว่างการบุกขึ้นเหนือนั้นยากแก่การเดินทัพและขนส่งเสบียง จึงเสนอแผนเปลี่ยนเส้นทางการเดินทัพไปเป็นทางน้ำไปตามแม่น้ำฮั่นซุยมุ่งไปยังอาณาเขตของวุยก๊กในบริเวณที่เป็นมณฑลฉ่านซีและทางเหนือของมณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน แต่ราชสำนักจ๊กก๊กไม่เห็นด้วยกับแผนของเจียวอ้วนเพราะเห็นว่าเสี่ยงเกินไป ในปี ค.ศ. 243 เจียวอ้วนย้ายจากเมืองฮันต๋งใกล้กับชายแดนวุยก๊ก-จ๊กก๊ก ไปอยู่ที่อำเภอโปยเสีย (ปัจจุบันคือนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน) เนื่องจาปัญหาสุขภาพ ในช่วงบั้นปลายของการเป็นผู้สำเร็จราชการ สุขภาพของเจียวอ้วนแย่ลงจึงค่อย ๆ สละอำนาจของตนให้กับขุนนางผู้ช่วยคือบิฮุยและตั๋งอุ๋น แต่ตัวเจียวอ้วนยังคงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการในนาม เจียวอ้วนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 246 และบิฮุยขึ้นสืบทอดตำแหน่ง

เจียวอ้วน (เจี๋ยง หว่าน)
蔣琬
ภาพวาดเจียวอ้วนในยุคราชวงศ์ชิง
เสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)
ดำรงตำแหน่ง
เมษายนหรือพฤษาคม ค.ศ. 239 (239) – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 246 (246)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ผู้จัดการกิจการของสำนักราชเลขาธิการ
(錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคม ค.ศ. 235 (235) – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 243 (243)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ก่อนหน้าจูกัดเหลียง
ถัดไปบิฮุย
มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
พฤษภาคม ค.ศ. 235 (235) – พฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 243 (243)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ถัดไปบิฮุย
ข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋ว (益州刺史 อี้โจฺวชื่อฉื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. 244 (244)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ก่อนหน้าจูกัดเหลียง (ในฐานะเจ้ามณฑล)
ถัดไปบิฮุย
ขุนพลพิทักษ์ (都護 ตูฮู่)
(รักษาการ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – พฤษภาคม ค.ศ. 235 (235)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
หัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 234 (234) – ค.ศ. May 235 (May 235)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ถัดไปบิฮุย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
นครเซียงเซียง มณฑลหูหนาน
เสียชีวิตพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 246[a]
นครเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน
ที่ไว้ศพนครเหมียนหยาง มณฑลเสฉวน
บุตร
  • เจี่ยง ปิน
  • เจี๋ยง เสี่ยน
ญาติ
อาชีพขุนพล, ขุนนาง, ผู้สำเร็จราชการ
ชื่อรองกงเหยี่ยน (公琰)
สมัญญานามกงโหฺว (恭侯)
บรรดาศักดิ์อานหยางถิงโหฺว
(安陽亭侯)

ภูมิหลัง

แก้

เจียวอ้วนเป็นชาวอำเภอเซียงเซียง (湘鄉縣 เซียงเซียงเซี่ยน) เมืองเลงเหลง (零陵郡 หลิงหลิงจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครเซียงเซียง มณฑลหูหนาน[3] เจียวอ้วนและเล่าปิ้น (劉敏 หลิว หมิ่น) ลูกพี่ลูกน้องมีชื่อเสียงในเมืองเลงเหลงตั้งแต่ก่อนจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ (อายุราว 19 ปี)[4]

รับใช้เล่าปี่

แก้

ราวปี ค.ศ. 209 หรือ ค.ศ. 210[5] เจียวอ้วนเข้ารับราชการกับขุนศึกเล่าปี่ซึ่งเวลานั้นเป็นเจ้ามณฑลเกงจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลหูหนานในปัจจุบัน) และดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาลักษณ์ ในปี ค.ศ. 211[5] เจียวอ้วนติดตามเล่าปี่ไปยังมณฑลเอ๊กจิ๋ว (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) หลังเล่าปี่ยึดครองมณฑลเอ๊กจิ๋วได้ในปี ค.ศ. 214[6] ได้แต่งตั้งให้เจียวอ้วนเป็นนายอำเภอของอำเภอกว่างตู (廣都縣 กว่างตูเซี่ยน; อยู่ทางตะวันออกเฉียงของเขตซฺวางหลิว นครเฉิงตู มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน)[7]

ถูกปลดจากราชการเป็นเวลาสั้น ๆ

แก้

ครั้งหนึ่งเมื่อเล่าปี่มาเยือนอำเภอกว่างตู ได้เห็นว่าเจียวอ้วนเอาแต่เสพสุราและละเลยหน้าที่ในฐานะนายอำเภอ เล่าปี่โกรธมากถึงขั้นอยากจะสั่งประหารชีวิตเจียวอ้วนในข้อหาละเลยหน้าที่[8] แต่หัวหน้าที่ปรึกษาจูกัดเหลียงทัดทานและพูดว่า "เจียวอ้วนเป็นเสาหลักสำคัญของบ้านเมือง ความสามารถของเขานั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะใช้ปกครองพื้นที่เพียง 100 ลี้ รูปแบบการปกครองของเขาเน้นที่การนำสันติและความมั่นคงมาสู่ราษฎร เขาไม่ถือเอาเรื่องผิวเผินมาเป็นสาระสำคัญ ข้าพเจ้าเห็นว่านายท่านควรจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนมากขึ้น"[9] เล่าปี่เคารพความคิดเห็นของจูกัดเหลียงจึงไม่ลงโทษเจียวอ้วน แต่ยังคงปลดเจียวอ้วนออกจากตำแหน่ง[10]

กลับเข้ารับราชการ

แก้

หลังถูกปลดจากตำแหน่ง วันหนึ่งเจียวอ้วนฝันเห็นหัววัวแขวนที่อยู่ที่ประตูและมีเลือดไหลหยดลงมา เจียวอ้วนไม่สบายใจกับความฝันนี้จึงถามนักพยากรณ์ชื่อเตียวติด (趙直 เจ้า จื๋อ) ให้ช่วยตีความความฝัน[11] เตียวติดบอกว่า "การเห็นเลือดหมายถึงมีชะตาที่กระจ่างแจ้ง เขาและจมูกของวัวมีลักษณะคล้ายตัวอักษร กง (公) ท่านจึงจะขึ้นมามีตำแหน่งชั้นก๋ง (公 กง) ในกาลภายหน้า นี่เป็นนิมิตมงคลยิ่ง"[12] ไม่นานหลังจากนั้น เจียวอ้วนก็ถูกเรียกตัวกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งนายอำเภอของอำเภอฉือฟาง (什邡)[13]

ในปี ค.ศ. 219 หลังจากเล่าปี่สถาปนาตนขึ้นเป็น "อ๋องแห่งฮันต๋ง" (漢中王 ฮั่นจงหวาง) ภายหลังจากได้รับชัยชนะในยุทธการที่ฮันต๋ง[14] เล่าปี่แต่งตั้งให้เจียวอ้วนเป็นขุนนางในสำนักราชเลขาธิการ[15]

ในสมัยที่จูกัดเหลียงเป็นผู้สำเร็จราชการ

แก้

ในปี ค.ศ. 223 เล่าเสี้ยนขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งรัฐจ๊กก๊กภายหลังการสวรรคตของเล่าปี่ผู้เป็นพระบิดา เวลานั้นเล่าเสี้ยนยังทรงพระเยาว์ จูกัดเหลียงผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งจ๊กก๊กจึงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการ[16] หลังจากนั้นจูกัดเหลียงตั้งคณะเจ้าหน้าที่ส่วนตัวให้ช่วยเหลือตนในการบริหารกิจการของรัฐ โดยตั้งให้เจียวอ้วนเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยในสำนักตะวันออกของตน[17]

ปฏิเสธการเป็นเม่าไฉ

แก้

ภายหลังเจียวอ้วนได้รับการเสนอชื่อเป็นเม่าไฉ (茂才) แต่เจียวอ้วนปฏิเสธการได้รับเกียรตินี้และเสนอชื่อคนอื่น ๆ แทน เช่น หลิว ยง (劉邕), อิน ฮฺว่า (陰化), ผาง เหยียน (龐延) และเลียวซุน[b] (廖淳 เลี่ยว ฉุน) จูกัดเหลียงห้ามเจียวอ้วนไว้และว่า "ท่านจากบ้านและครอบครัว เดินทางไกลมาเพื่อทำงานรับใช้ราษฎร ข้าพเจ้ารู้สึกนับถือท่าน และอาจยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจเจตนาดีของท่าน นั่นคือเหตุผลที่ท่านควรรับเกียรตินี้เพื่อแสดงถึงคุณงามความดีและผลงานของท่าน ทั้งยังเป็นการเน้นย้ำถึงความเที่ยงธรรมและความเข้มงวดของกระบวนการคัดเลือกเม่าไฉ" เจียวอ้วนได้รับการเลื่อนขั้นเป็นที่ปรึกษาทัพ (參軍 ชานจฺวิน) ภายใต้จูกัดเหลียง[18]

ดูแลกิจการภายในและสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง

แก้

ในปี ค.ศ. 227 จูกัดเหลียงระดมกำลังทหารจากทั่วจ๊กก๊กเพื่อเตรียมการสำหรับการทัพครั้งใหญ่ต่อวุยก๊กอันเป็นรัฐอริของจ๊กก๊กในปีถัดไป[16] จากนั้นจึงย้ายไปรวมพลในเมืองฮันต๋ง โดยมอบหมายให้เจียวอ้วนและหัวหน้าเลขานุการเตียวอี้ดูแลสำนักในเซงโต๋นครหลวงของจ๊กก๊ก[19]

ในปี ค.ศ. 230 หลังการเสียชีวิตของเตียวอี้ เจียวอ้วนเข้ารับตำแหน่งแทนเตียวอี้ในฐานะหัวหน้าเลขานุการของจูกัดเหลียงและได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติมเป็นขุนพลสงบทัพ (撫軍將軍 ฝู่จฺวินเจียงจฺวิน)[20]

ระหว่างปี ค.ศ. 228 และ ค.ศ. 234[21] ระหว่างที่จูกัดเหลียงนำทัพจ๊กก๊กบุกขึ้นเหนือรบกับวุยก๊กหลายครั้ง เจียวอ้วนให้การสนันสนุนการส่งกำลังบำรุงเพื่อส่งกำลังเสริมและเสบียงไปถึงทัพจ๊กก๊กในแนวหน้าได้ทันท่วงที[22]

ได้รับการกำหนดให้เป็นผู้สืบทอดอำนาจของจูกัดเหลียง

แก้

ครั้งหนึ่งจูกัดเหลียงกล่าวว่า "ความทะเยอทะยานของกงเหยี่ยน[c]คือการรับใช้รัฐด้วยความซื่อสัตย์จงรักภักดีอย่างถึงที่สุด เขาจะเป็นผู้ที่สามารถทำงานร่วมกับข้าพเจ้าในการบรรลุการใหญ่ของรัฐ"[23] จูกัดเหลียงยังเคยทูลจักรพรรดิเล่าเสี้ยนเป็นการลับว่า "หากกระหม่อมไม่อยู่แล้ว เจียวอ้วนสามารถสืบทอดถัดจากกระหม่อม"[24]

ในปี ค.ศ. 234 เมื่อจูกัดเหลียงล้มป่วยลงอย่างหนักในยุทธการที่ทุ่งราบอู่จ้าง[25] ได้บอกกับลิฮกว่าเจียวอ้วนเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่สืบทอดตำแหน่งผู้สำเร็จราชการต่อจากตน และบิฮุยก็สามารถสืบทอดถัดจากเจียวอ้วน[26]

ในสมัยที่เจียวอ้วนเป็นผู้สำเร็จราชการ

แก้

สืบทอดจูกัดเหลียงในฐานะผู้สำเร็จราชการของจ๊กก๊ก

แก้

ภายหลังจากการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงในปี ค.ศ. 234[25] เจียวอ้วนได้สืบทอดอำนาจของจูกัดเหลียงในฐานะผู้สำเร็จราชการและดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการขุนพลพิทักษ์ (都護 ตูฮู่) ได้รับพระราชทานอาญาสิทธิ์ และได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าหลวงมณฑลเอ๊กจิ๋ว (益州刺史 อี้โจฺวชื่อฉื่อ)[27]

ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 235 เจียวอ้วนสละตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการให้กับบิฮุยที่เป็นผู้ช่วย[28] ตัวเจียวอ้วนได้เลื่อนขึ้นเป็นมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) และได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติมเป็นผู้จัดการกิจการของสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ) และยังได้รับบรรดาศักดิ์เป็นอานหยางถิงโหฺว (安陽亭侯)[29]

เวลานั้นการเสียชีวิตของจูกัดเหลียงยังเป็นเรื่องที่เพิ่งรับรู้กัน ราษฎรของจ๊กก๊กรู้สึกทุกข์ใจอย่างมากต่อการจากของจูกัดเหลียงและเริ่มหวาดกลัวต่ออนาคตของรัฐ[30] หลังจากเจียวอ้วนรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการ ก็ได้แสดงความสามารถและทักษะในการจ๊กก๊กเข้าสู่ยุคหลังสมัยจูกัดเหลียง เจียวอ้วนไม่แสดงอาการเศร้าโศกหรือดีใจ ยังคงสำรวมท่าทาง และทำหน้าที่ของตนเหมือนแต่ก่อน เมื่อเวลาผ่านไป เจียวอ้วนก็ค่อยได้รับความเชื่อมั่นจากราชสำนักและราษฎรของจ๊กก๊กในฐานะผู้นำคนใหม่[31]

ได้รับมอบหมายให้โจมตีวุยก๊ก

แก้

ในปี ค.ศ. 238 เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กมีพระราชโองการถึงเจียวอ้วนว่า "ข้าศึกยังไม่ถูกปราบ โจยอยนั้นหยิ่งผยองและชั่วร้าย ราษฎรสามเมืองในเลียวตั๋ง (遼東 เหลียวตง) ได้รับความเดือดร้อนจากการปกครองแบบทรราชมาช้าน้านจึงตัดสินใจรวมกำลังกันและหลุดพ้นจากการปกครองของวุย โจยอยส่งทัพไปโจมตีเลียวตั๋งและปราบปรามกบฏ ในอดีต การล้มสลายของราชวงศ์จิ๋น (秦 ฉิน) เริ่มต้นด้วย การก่อการกำเริบที่นำโดยตันเสง (陳勝 เฉิน เชิ่ง) และเหงากวาง (吳廣 อู๋ กว่าง) กบฏในเลียวตั๋งเป็นโอกาสที่สวรรค์ประทานให้เรา ท่านควรจัดเตรียมกำลังทหารสำหรับการรบ ระดัมพลและเตรียมให้พร้อมในฮันต๋ง เมื่อง่อเคลื่อนไหว ทั้งตะวันออกและตะวันตกจะเปิดการโจมตีประสานต่อวุยก๊กและคว้าโอกาสที่จะได้รับชัยชนะ"[32]

จากนั้นเล่าเสี้ยนจึงพระราชทานอนุญาตให้เจียวอ้วนตั้งคณะเจ้าหน้าที่ของตนเองเพื่อช่วยเหลือเจียวอ้วนในการบริหารราชการแผ่นดิน ในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคมของปีถัดมา[33] เจียวอ้วนได้รับการแต่งตั้งเพิ่มเติมเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)[34]

เสนอแนวคิดการใช้เส้นทางอื่นโจมตีวุยก๊ก

แก้

เจียวอ้วนพิจารณาว่าเหตุผลหนึ่งของความล้มเหลวในการบุกขึ้นเหนือของจูกัดเหลียงเพื่อรบกับวุยก๊กนั้นเพราะจูกัดเหลียงเลือกเส้นทางที่ยากลำบากผ่านเทือกเขาฉินหลิ่ง (秦岭) ภูมิประเทศที่เป็นภูเขาทำให้ทัพจ๊กก๊กยากที่จะเคลื่อนทัพและส่งเสบียงไปยังแนวหน้า เจียวอ้วนจึงคิดจะเปลี่ยนทางเส้นทางเดินทัพจากเส้นทางทางบกไปยังเส้นทางทางน้ำ ในแผนของเจียวอ้วนทัพจ๊กก๊กจะสร้างเรือรบเพิ่มและล้องไปตามแม่น้ำฮั่นซุย (漢水 ฮั่นฉุ่ย) เพื่อเข้าโจมตีเมืองเว่ย์ซิง (魏興) และเซียงหยง (上庸 ซ่างยง) ในอาณาเขตของวุยก๊ก ซึ่งอยู่ทางใต้ของมณฑลฉ่านซีและทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน[35]

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยปัญหาสุขภาพของเจียวอ้วน จึงไม่สามารถทำให้แผนถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ เมื่อแผนการของเจียวอ้วนถูกยกขึ้นมาอภิปรายในราชสำนักจ๊กก๊ก ขุนนางหลายคนคัดค้านแผนนี้เพราะมีความเห็นว่าเส้นทางทางน้ำมีความเสี่ยงเกินไปและไม่สามารถปฏิบัติได้ในระยะยาว เหตุผลหลักคือหากทัพจ๊กก๊กยึดเมืองเว่ย์ซิงและเซียงหยงไม่สำเร็จ จะยากลำบากในการถอนทัพไปตามแม่น้ำฮั่นซุยมากกว่าการถอยผ่านเส้นทางทางบก[36] จักรพรรดิจ๊กก๊กเล่าเสี้ยนจึงส่งบิฮุยและเกียงอุยไปยังเมืองฮันต๋งเพื่อพบเจียวอ้วนและแจ้งเหตุผลที่ปฏิเสธแผนของเจียวอ้วน[37]

ย้ายไปอำเภอโปยเสีย

แก้

เจียวอ้วนเขียนฎีกาถวายเล่าเสี้ยนว่า:

"เป็นความรับผิดชอบกระหม่อมที่ต้องทำลายความชั่วร้ายและช่วยเหลือราษฎร เป็นเวลาหกปีแล้วที่กระหม่อมได้รับมอบหมายให้ไปประจำการอยู่ที่ฮันต๋ง กระหม่อมไร้ตวามสามารถ ไร้สติปัญญา และสุขภาพไม่ดี จึงไม่สามารถดำเนินแผนการใหญ่ได้ กระหม่อมรู้สึกห่วงพะวงทั้งกลางวันและความคืน ทุกวันนี้วุยครอบครองเก้ามณฑลและมีรากฐานมั่นคงอย่างมาก การกำจัดวุยจึงไม่ใช่เรื่องง่าย หากตะวันออก (ง่อก๊ก) และตะวันตก (จ๊กก๊ก) สามารถร่วมมือกันและเปิดการโจมตีที่ประสานกันได้ อย่างน้อยเราก็จะสามารถแบ่งแยกยึดครองอาณาเขตบางส่วนของวุยและค่อย ๆ บั่นทอนฐานที่มั่นของวุย แม้ว่าเราจะไม่สามารถบรรลุการใหญ่ได้ในเวลาอันสั้น แต่ง่อชะลอปฏิบัติการทางทหารจึงไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ นี่เป็นเรื่องที่น่าวิตกโดยแท้ กระหม่อมไม่อาจกินและนอนได้อย่างสงบใจ เมื่อใดที่กระหม่อมสนทนากับบิฮุยและคนอื่น ๆ กระหม่อมเชื่ออยู่เสมอว่ามณฑลเลียงจิ๋วเป็นตำแหน่งยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับทั้งข้าศึกและชนเผ่าท้องถิ่น นอกจากนี้ชาวเกี๋ยงและชาวหูยังระลึกถึงยุคแห่งราชวงศ์ฮั่น ในอดีต เมื่อเราส่งทัพน้อยไปเป็นพันธมิตรกับชาวเกี๋ยง เราสามารถเอาชนะกุยห้วยได้ หลังจากชั่งน้ำหนักพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว กระหม่อมเห็นว่ามณฑลเลียงจิ๋วมีความสำคัญสูงสุดสำหรับเรา เราควรตั้งให้เกียงอุยเป็นข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว เกียงอุยสำหรับนำทัพของเราเข้ารบและดึงความสนใจของข้าศึกทางตะวันตกของแม่น้ำอุยโห (渭河 เว่ย์เหอ) ส่วนกระหม่อมจะนำทัพอีกทัพไปช่วยสนับสนุน อำเภอโปยเสียเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบและเข้าถึงง่าย หากเกิดศึกขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือ กระหม่อมสามารถนำทัพไปป้องกันชายแดนของเราได้ในเวลาอันสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้"[38]

ปลายเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน ค.ศ. 243 เล่าเสี้ยนทรงอนุมัติคำทูลขอของเจียวอ้วนที่ขอย้ายจากเมืองฮันต๋งไปยังอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ปัจจุบันคือนครเหมี่ยนหยาง มณฑลเสฉวน)[39][33]

เสียชีวิต

แก้

ปลายเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 243 ขณะที่สุขภาพของเจียวอ้วนแย่ลง เจียวอ้วนจึงสละตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) และผู้จัดการกิจการของสำนักราชเลขาธิการ (錄尚書事 ลู่ช่างชูชื่อ) ให้กับบิฮุย[40] ทำให้บิฮุยกลายเป็นผู้นำขุนนางของราชสำนักจ๊กก๊กโดยพฤตินัย ในปีถัดมา ตั๋งอุ๋นสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ของบิฮุย[33]

สุขภาพของเจียวอ้วนยังคงแย่ลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายนและ 25 ธันวาคม ค.ศ. 246[a] เล่าเสี้ยนพระราชทานสมัญญานามว่า "กงโหฺว" (恭侯; มีความหมายว่า "เจ้าพระยาผู้เป็นที่เคารพ") เพื่อเป็นเกียรติแก่เจียวอ้วน[41]

ครอบครัว

แก้

บุตรชายคนโตของเจียวอ้วนคือเจี่ยง ปิน (蔣斌) สืบทอดบรรดาศักดิ์ของบิดากลายเป็นอานหยางถิงโหว (安陽亭侯) คนถัดไป เจี่ยง ปินรับราชการเป็นขุนพลในจ๊กก๊กเช่นเดียวกับบิดา และมียศเป็นขุนพลสงบยุทธ (綏武將軍 ซุยอู่เจียงจฺวิน) และดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิทักษ์ทัพ (護軍 ฮู่จฺวิน) ในอำเภอฮันเสีย (漢城縣 ฮั่นเฉิงเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี)[42]

ในปี ค.ศ. 263 ระหว่างที่วุยก๊กยกทัพบุกจ๊กก๊ก[43] เมื่อจงโฮยขุนพลวุยก๊กยกกำลังเข้าใกล้อำเภอฮันเสีย ได้เขียนจดหมายถึงเจี่ยง ปินว่า "มีผู้มีความสามารถและคุณธรรมมากมายในจ๊กก๊ก คนเช่นท่านและจูเก่อ ซือยฺเหวี่ยน (จูกัดเจี๋ยม) ก็เฉกเช่นข้าพเจ้า และยังมีคนอื่นอีกมากที่เฉกเช่นท่านเช่นกัน เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของบรรพชนที่ต้องสักการมหาปราชญ์ในอดีต บัดนี้เมื่อข้าพเจ้ามาถึงจ๊ก ข้าพเจ้าต้องการไปเยือนหลุมศพของบิดาท่าน ข้าพเจ้าหวังว่าท่านจะบอกข้าพเจ้าว่าหลุมศพนั้นอยู่ที่ใด"[44]

เจี่ยง ปินตอบว่า "ข้าพเจ้ารู้ว่าท่านเป็นผู้ที่เข้าใจข้าพเข้าและข้าพเจ้าอยากจะเป็นมิตรกับท่าน บัดนี้เมื่อท่านร้องขออย่างสุภาพ ก็คงจะเป็นการเสียมารยาทหากปฏิเสธท่าน บิดาผู้ล่วงลับของข้าพเจ้าล้มป่วยเสียชีิวิตที่อำเภอโปยเสีย หลังจากที่อาจารย์ด้านฮวงจุ้ยบอกว่าอำเภอโปยเสียเป็นสถานที่ดี เราจึงฝังศพของบิดาที่นั่น ท่านมาตามทางไปจ๊กเพื่อเยี่ยมและคำนับหลุมศพของบิดา เหยียน หุย (顏回) ก็แสดงความเป็นผู้มีคุณธรรมเมื่อปฏิบัติต่อขงจื๊อเหมือนเป็นบิดาของตน บัดนี้หลังได้รับจดหมายของท่าน ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจอย่างมากและคิดถึงบิดาของข้าพเจ้ามากยิ่งขึ้น"[45]

จงโฮยรู้สึกประทับใจกับลักษณะนิสัยอันน่านับถือของเจี่ยง ปินหลังได้รับการตอบกลับของเจี่ยง ปิน จงโฮยจึงมุ่งหน้าไปยังอำเภอโปยเสีย หาสุสานของเจียวอ้วนจนพบและคำนับหลุมศพ[46] หลังการล่มสลายของจ๊กก๊กเมื่อปลายปี ค.ศ. 263 เจี่ยง ปินเดินทางไปยังอำเภอโปยเสียเพื่อพบกับจงโฮยแล้วกลายเป็นมิตรกับจงโฮย เจี่ยง ปินถูกสังหารโดยทหารที่ก่อการกำเริบในเดือนมีนาคม ค.ศ. 264 [43] เมื่อจงโฮยเริ่มก่อกบฏในเซงโต๋ต่อต้านสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊ก[47]

บุตรชายคนรองของเจียวอ้วนชื่อเจี๋ยง เสี่ยน (蔣顯) รับราชการเป็นมหาดเล็กของเล่ายอยรัชทายาทแห่งจ๊กก๊ก จงโฮยชื่นชมความสามารถของเจี๋ยง เสี่ยน และผูกมิตรกับเจี๋ยง เสี่ยนเช่นกัน เจี๋ยง เสี่ยนเสียชีิวิตพร้อมกับเจี่ยง ปินพี่ชายระหว่างความวุ่นวายเพราะกบฏจงโฮยในเดือนมีนาคม ค.ศ. 264.[48]

คำวิจารณ์

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 พระราชประวัติเล่าเสี้ยนในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าเจียวอ้วนเสียชีวิตในเดือน 11 ของศักราชเหยียนซีปีที่ 9 ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน[1] เดือนนี้ตรงกับช่วงตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายนถึง 25 ธันวาคม ค.ศ. 246 ในปฏิทินกริโกเรียน
  2. เลียวซุนเป็นชื่อเดิมของเลียวฮัว
  3. ชื่อรองของเจียวอ้วน

อ้างอิง

แก้
  1. ([延熙九年]冬十一月,大司馬蔣琬卒。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 33.
  2. de Crespigny (2007), p. 378.
  3. (蔣琬字公琰、零陵湘鄉人也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  4. (弱冠與外弟泉陵劉敏俱知名。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  5. 5.0 5.1 Sima (1084), vol. 66.
  6. Sima (1084), vol. 67.
  7. (琬以州書佐隨先主入蜀,除廣都長。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  8. (先主甞因游觀奄至廣都,見琬衆事不理,時又沈醉,先主大怒,將加罪戮。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  9. (軍師將軍諸葛亮請曰:「蔣琬,社稷之器,非百里之才也。其為政以安民為本,不以脩飾為先,願主公重加察之。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  10. (先主雅敬亮,乃不加罪,倉卒但免官而已。) จดหมายเหตุสามก๊ก ตอนที่ 44.
  11. (琬見推之後,夜夢有一牛頭在門前,流血滂沲,意甚惡之,呼問占夢趙直。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  12. ([趙]直曰:「夫見血者,事分明也。牛角及鼻,『公』字之象,君位必當至公,大吉之徵也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  13. (頃之,為什邡令。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  14. Sima (1084), vol. 68.
  15. (先主為漢中王,琬入為尚書郎。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  16. 16.0 16.1 Sima (1084), vol. 70.
  17. (建興元年,丞相亮開府,辟琬為東曹掾。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  18. (舉茂才,琬固讓劉邕、陰化、龐延、廖淳,亮教荅曰:「思惟背親捨德,以殄百姓,衆人旣不隱於心,實又使遠近不解其義,是以君宜顯其功舉,以明此選之清重也。」遷為參軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  19. ([建興]五年,亮住漢中,琬與長史張裔統留府事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  20. ([建興]八年,代裔為長史,加撫軍將軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  21. Sima (1084), vols. 71-72.
  22. (亮數外出,琬常足食足兵以相供給。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  23. (亮每言:「公琰託志忠雅,當與吾共贊王業者也。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  24. (密表後主曰:「臣若不幸,後事宜以付琬。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  25. 25.0 25.1 Sima (1084), vol. 72.
  26. (亮語福曰:「孤知君還意。近日言語,雖彌日有所不盡,更來亦決耳。君所問者,公琰其宜也。」福謝:「前實失不諮請公,如公百年後,誰可任大事者?故輒還耳。乞復請,蔣琬之後,誰可任者?」亮曰:「文偉可以繼之。」) อรรถาธิบายจากอี้ปู้ฉีจิ้วจ๋าจี้ในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 45.
  27. ([諸葛]亮卒,以琬為尚書令,俄而加行都護,假節,領益州刺史, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  28. Sima (1084), vol. 73.
  29. (... 遷大將軍,錄尚書事,封安陽亭侯。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  30. (時新喪元帥,遠近危悚。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  31. (琬出類拔萃,處羣僚之右,旣無戚容,又無喜色,神守舉止,有如平日,由是衆望漸服, ...) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  32. (... 延熈元年,詔琬曰:「寇難未弭,曹叡驕凶,遼東三郡苦其暴虐,遂相糾結,與之離隔。叡大興衆役,還相攻伐。曩秦之亡,勝、廣首難,今有此變,斯乃天時。君其治嚴,總帥諸軍屯住漢中,須吳舉動,東西掎角,以乘其釁。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  33. 33.0 33.1 33.2 Sima (1084), vol. 74.
  34. (又命琬開府,明年就加為大司馬。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  35. (琬以為昔諸葛亮數闚秦川,道險運艱,竟不能克,不若乘水東下。乃多作舟舩,欲由漢、沔襲魏興、上庸。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  36. (會舊疾連動,未時得行。而衆論咸謂如不克捷,還路甚難,非長策也。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  37. (於是遣尚書令費禕、中監軍姜維等喻指。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  38. (琬承命上疏曰:「芟穢弭難,臣職是掌。自臣奉辭漢中,已經六年,臣旣闇弱,加嬰疾疢,規方無成,夙夜憂慘。今魏跨帶九州,根蔕滋蔓,平除未易。若東西并力,首尾掎角,雖未能速得如志,且當分裂蠶食,先摧其支黨。然吳期二三,連不克果,俯仰惟艱,實忘寢食。輙與費禕等議,以涼州胡塞之要,進退有資,賊之所惜;且羌、胡乃心思漢如渴,又昔偏軍入羌,郭淮破走,筭其長短,以為事首,宜以姜維為涼州刺史。若維征行,銜持河右,臣當帥軍為維鎮繼。今涪水陸四通,惟急是應,若東北有虞,赴之不難。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  39. (由是琬遂還住涪。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  40. (琬自漢中還涪,禕遷大將軍,錄尚書事。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  41. (疾轉增劇,至九年卒,謚曰恭。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  42. (子斌嗣,為綏武將軍、漢城護軍。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  43. 43.0 43.1 Sima (1084), vol. 78.
  44. (魏大將軍鍾會至漢城,與斌書曰:「巴蜀賢智文武之士多矣。至於足下、諸葛思遠,譬諸草木,吾氣類也。桑梓之敬,古今所敦。西到,欲奉瞻尊大君公侯墓,當洒埽墳塋,奉祠致敬。願告其所在!」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  45. (斌荅書曰:「知惟臭味意眷之隆,雅託通流,未拒來謂也。亡考昔遭疾疢,亡於涪縣,卜云其吉,遂安厝之。知君西邁,乃欲屈駕脩敬墳墓。視予猶父,顏子之仁也,聞命感愴,以增情思。」) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  46. (會得斌書報,嘉歎意義,及至涪,如其書云。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  47. (後主旣降鄧艾,斌詣會於涪,待以交友之禮。隨會至成都,為亂兵所殺。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.
  48. (斌弟顯,為太子僕,會亦愛其才學,與斌同時死。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 44.

บรรณานุกรม

แก้
  • ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
  • เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
  • ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
  • de Crespigny, Rafe (2007). A Biographical Dictionary of Later Han to the Three Kingdoms 23-220 AD. Leiden: Brill. ISBN 9789004156050.