แดน บีช แบรดลีย์

มิชชันนารีโปรเตสแตนต์ชาวอเมริกัน
(เปลี่ยนทางจาก หมอบรัดเลย์)

แดเนียล บีช แบรดลีย์ (Daniel Beach Bradley) หรือคนไทยนิยมเรียก หมอปลัดเล[a] เป็นนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมายังเผยแพร่งานพิมพ์และการแพทย์แผนตะวันตกในราชอาณาจักรด้วย

แดเนียล บีช แบรดลีย์
หมอแบรดลีย์ถ่ายเมื่อปี 2408
เกิด18 กรกฎาคม พ.ศ. 2347
เมืองมาร์เซลลัส รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ
เสียชีวิต23 มิถุนายน พ.ศ. 2416 (68 ปี)
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
สัญชาติอเมริกัน
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยนิวยอร์ก
อาชีพแพทย์, มิชชันนารี
ปีปฏิบัติงาน1835–1873
องค์การสมาคมมิชชันนารีอเมริกัน
มีชื่อเสียงจากการกำจัดโรคฝีดาษในสยาม
คู่สมรสเอมิลี รอยส์ (สมรส 1834; เสียชีวิต 1845)
ซาราห์ บรักลีย์ (สมรส 1848)
บุตร2 คน

ประวัติ

แก้

ชีวิตช่วงแรก

แก้
 
บ้านพัก ภูมิลำเนาเดิมของหมอบรัดเลย์ ที่เมืองมาร์เซลลัส รัฐนิวยอร์ก

แบรดลีย์เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) รัฐนิวยอร์ก สหรัฐ เกิดวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2347 บุตรคนที่ห้าของนายแดน แบรดลีย์และนางยูนิช บีช แบรดลีย์ บิดาเกิดที่เมืองแฮมเดน รัฐคอนเนตทิคัต ก่อนจะย้ายครอบครัวมายังเมืองมาร์เซลลัสเมื่อ พ.ศ. 2288 บิดาของหมอแบรดลีย์เป็นผู้หนึ่งที่เริ่มก่อตั้งเมืองมาร์เซลลัส ส่วนมารดา ยูนิช เสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2347 เมื่ออายุ 38 ปี หลังจากที่คลอดหมอแบรดลีย์ ท่านจึงได้มารดาเลี้ยงคือ แนนซี ดูแลในวัยเด็ก[1]

แบรดลีย์เลือกศึกษาวิชาแพทย์เพราะในสมัยนั้นต้องการมิชชันนารีเป็นอย่างมาก ระยะแรกศึกษากับ ดร.เอ.เอฟ โอลิเวอร์ ที่เมืองเพนน์แยน โดยพยายามแก้ไขการพูดติดอ่างซึ่งเป็นมาตั้งแต่วัยรุ่นโดยการเข้ากลุ่มฝึกพูด เขาเคยไปฟังบรรยายทางการแพทย์ที่ฮาเวิร์ดใน ค.ศ. 1830 และกลับไปฝึกปฏิบัติงานการแพทย์ สลับกับการเป็นครูในหมู่บ้าน เมื่อสะสมเงินได้เพียงพอจึงไปโรงเรียแพทย์ที่กรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียนและสอบได้รับปริญญาแพทย์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1833 ระหว่างอยู่ที่นิวยอร์กได้ปฏิบัติงานหาความชำนาญ จนสมัครเป็นแพทย์มิชชันนารีกับคณะกรรมการพันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเล (American Board of Commissioners for Foreign Missions) เพื่อทำงานในเอเชีย[2]

เดินทางมายังสยาม

แก้

แบรดลีย์ออกเดินทางพร้อมภรรยา เอมิลี จากเมืองบอสตัน เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 พร้อมมิชชันนารีกลุ่มหนึ่งซึ่งจะเดินทางไปพม่า โดยสารมากับเรือชื่อแคชเมียร์ ใช้เวลา 157 วัน จนถึงเมืองท่าแอมเฮิสต์ ของพม่า (ปัจจุบันคือเมืองไจคามี) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2377 จนวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม พ.ศ. 2378 เรือมาทอดสมอที่เกาะปีนัง แล้วเดินทางต่อมาถึงสิงคโปร์ 12 มกราคม ใช้เวลา 6 เดือนกว่าจะถึงสิงคโปร์ เมื่อมาถึงสิงคโปร์ได้พักอาศัยอยู่กับสมาคมมิชชันนารีแห่งลอนดอน (London Missionary Society) โดยพยายามเรียนภาษาไทยกับชาวอินเดียในสิงคโปร์ และเดินทางออกจากสิงคโปร์เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เรือมาทอดสมออยู่นอกสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่เช้า เวลา 7.00 น. ของวันที่ 16 กรกฎาคม รอน้ำขึ้นและคนนำร่อง ในที่สุดเรือผ่านสันดอนได้วันที่ 18 กรกฎาคม จึงได้ลงเรือยาวพร้อมกับสัมภาระบางส่วนเข้ามายังกรุงเทพฯ มาถึงปากน้ำเวลาเที่ยงวัน และถึงกรุงเทพฯ เวลา 21.00 น. ของวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2378 ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 31 พอดี[2]

แบรดลีย์พักอาศัยอยู่แถววัดเกาะ สำเพ็ง (วัดสัมพันธวงศารามวรวิหาร) โดยอาศัยพักรวมกับครอบครัวของศาสนาจารย์สตีเฟน จอห์นสัน หมอแบรดลีย์เปิดโอสถศาลาขึ้นเป็นที่แรกในสยาม เพื่อทำการรักษา จ่ายยาและหนังสือเกี่ยวกับศาสนาให้กับคนไข้ แต่เนื่องจากในย่านนั้นมีชาวจีนอาศัยอยู่ กิจการนี้จึงถูกเพ่งเล็งว่าอาจทำให้ชาวจีนกระด้างกระเดื่องต่อรัฐบาลสยามได้[3] จึงกดดันให้เจ้าของที่ดินคือนายกลิ่น ไม่ให้มิชชันนารีเช่าอีกต่อไป ต่อมาจึงย้ายไปอยู่แถวกุฎีจีน ที่เป็นย่านของชาวโปรตุเกส เช่าบ้านที่ปลูกให้ฝรั่งเช่าของเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) บริเวณหน้าวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร โดยหมอแบรดลีย์และคณะมิชชันนารีดัดแปลงบ้านเช่าที่พักแห่งใหม่นี้เป็น โอสถศาลา เปิดทำการเมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2378

ที่บ้านพักแห่งใหม่นี้ เขาได้ทำการผ่าตัดครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การแพทย์ของไทย โดยตัดแขนให้แก่ภิกษุรูปหนึ่ง เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2380 พระภิกษุรูปนั้นประสบอุบัติเหตุจากกระบอกบรรจุดินดำทำพลุแตก ในงานฉลองที่วัดประยุรวงศ์ ซึ่งประสบความสำเร็จดีจนเป็นที่เลื่องลือ เพราะแต่ก่อนคนไทยยังไม่รู้วิธีผ่าตัดร่างกายมนุษย์แล้วยังมีชีวิตอยู่ดี[4] หมอแบรดลีย์ได้ทำการรักษาคนไข้จนมีชื่อเสียง ส่วนภรรยา เอมิลี เข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในวัง ค่าใช้จ่ายเริ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีใครสนับสนุน หมอจึงหางานเสริมมาเลี้ยงครอบครัว จนหน่วยงานด้านกิจการศาสนาในอเมริกา ขอยุติการสนับสนุนภารกิจของมิชชันนารีในสยาม และขอให้ยกทีมเดินทางกลับอเมริกา ส่วนหมอแบรดลีย์กำลังหมดตัว แต่คณะมิชชันนารีได้ทิ้งเครื่องพิมพ์ไว้ให้ จนหมอหันมาทุ่มเทด้านการพิมพ์ จนประดิษฐ์อักษรไทยสำเร็จ เมื่อ พ.ศ. 2395 และได้ทุนรับจ้างพิมพ์จากทางราชการสยาม[3]

กลับอเมริกาและกลับมายังสยาม

แก้
 
สุสานหมอแบรดลีย์

จนภรรยาที่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้ราชสำนักสยามมานาน 10 ปีล้มป่วยและเสียชีวิตด้วยวัณโรค จึงพาลูก 4 คนที่เกิดในสยามกลับไปอเมริกา เป็นเวลา 3 ปีเศษ ส่งลูกศึกษาที่อเมริกา ดิ้นรนจนได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมมิชชันนารีอเมริกันเป็นผลสำเร็จ และได้พบรักใหม่กับภรรยาใหม่ ซาราห์ บลักลี (Sarah Blachly) บัณฑิตจากวิทยาลัยโอเบอร์ลิน รัฐโอไฮโอ(Ohio) หลังแต่งงานก็กลับสยามเพื่อทำงานที่ค้างไว้ในสยามเมื่อ 3 ปีก่อน การกลับมาครั้งนี้ ได้พิมพ์หนังสือพิมพ์ไทยฉบับแรก บางกอกรีคอร์เดอร์ เป็นทั้งบรรณาธิการและเขียนบทความเอง และได้พิมพ์หนังสือต่าง ๆ อีกหลายเล่ม ส่วนภรรยา ซาราห์ ก็สอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก หมอแบรดลีย์ยังริเริ่มการปลูกฝี ที่กำลังระบาดในสยาม[3]

6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2395 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินให้หมอแบรดลีย์ รวมถึงมิชชานารี ได้สร้างโรงพิมพ์บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ ข้างป้อมวิชัยประสิทธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตบางกอกใหญ่) พระองค์เสด็จไปสนทนาภาษาอังกฤษและเรื่องราวความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับเขาและแหม่มซาราห์ที่บ้านอยู่บ่อยครั้ง[3]

แบรดลีย์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2416 อายุ 69 ปี ศพฝังที่สุสานโปรเตสแตนต์ ที่ใกล้โรงงานยาสูบ ถนนตก ซึ่งยังมีอยู่มาถึงทุกวันนี้

ในฐานะหมอสอนศาสนา

แก้

แบรดลีย์สมัครเป็นมิชชันนารีกับคณะกรรมการพันธกิจคริสตจักรโพ้นทะเล (American Board of Commissioners for Foreign Missions) โดยเรียนศาสนศาสตร์ด้วยตัวเอง ต่อมาภายหลังเขาเชื่อหลักศาสนศาสตร์เรื่อง คริสเตียนสมบูรณ์แบบ (Christian perfection) ของชาลส์ ฟินนีย์ โดยเชื่อว่า คริสเตียนทำบาปไม่ได้ เขาเชื่อว่าคนมีสองพวกเท่านั้น คือคนชอบธรรมและอธรรม[5]

สิ่งที่แบรดลีย์ทำเป็นประจำควบคู่กับการรักษาคนเจ็บป่วยที่คลินิกคือการเทศน์และการอธิบายถึงพระเจ้าแท้จริง เขาจะไปเทศน์อธิบายข้อความในพระคัมภีร์ทุกแห่งที่มีโอกาสไม่ว่าจะเป็นที่วัด เช่นเมื่อครั้งไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะที่ทรงผนวชอยู่ที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร ก็ถือโอกาสเทศน์ให้พระสงฆ์ หรือเมื่อไปรักษาคนเจ็บป่วยในวังก็เทศน์ให้ชาววัง ยังมีการแจกแผ่นปลิวที่พิมพ์เป็นภาษาไทย จากการแปลด้วยตัวเอง และมีครูภาษาไทยช่วยเรียบเรียงให้ในระยะแรก แบรดลีย์ยังแวะขึ้นเรือสำเภาที่จอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา แถบท่าดินแดง ท่าราชวงศ์ คลองสาน เรื่อยมาจนถึงบางรัก ยานนาวา แจกแก่ลูกเรือชาวแต้จิ๋ว[2]

ในฐานะแพทย์

แก้
 
การอยู่ไฟของมารดาหลังคลอด

แบรดลีย์เป็นผู้นำแพทย์แผนปัจจุบัน (แบบตะวันตก) เข้ามาหลายประการ ทั้งการผ่าตัดและการป้องกันโรค หมอแบรดลีย์เปิดสถานพยาบาลรักษาผู้ป่วยในบางกอกเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2374[6] ในการรักษาโรคในระยะแรก ๆ เขาจะตรวจผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมากเกือบ 70-100 คน ในเวลา 3-4 ชั่วโมง ส่วนมากในช่วงเช้ามีคนช่วยจัดยาและแจกใบปลิวข้อความในพระคัมภีร์ด้วย

ในปีแรกเจ้าฟ้าน้อย (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ได้เสด็จมาเยี่ยม เล่าให้ฟังเรื่องประเพณีการอยู่ไฟของมารดาหลังคลอด หมอแบรดลีย์ได้เสนออยากจะสอนให้คนไทยบางคนรู้จักภาษาอังกฤษแลสอนวิชาแพทย์ที่มี โดยในช่วงที่มีการปลูกฝี มีหมอหลวงมาศึกษากับหมอแบรดลีย์ และยังเขียนหนังสือเพื่อสอนหมอชาวสยาม เขียนบทความอธิบายวิธีการปลูกฝี ในภายหลังรัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานรางวัลให้ 250 บาท (เท่ากับ 145 ดอลลาร์อเมริกันในสมัยนั้น) ตำราแพทย์แผนปัจจุบันเล่มแรกนี้ชื่อว่า ครรภ์ทรักษา[7] มีความหนา 200 หน้า มีภาพประกอบฝีมือคนไทยประมาณ 50 ภาพ มีเนื้อหาเกี่ยวกับอาการของโรคในการคลอดและวิธีการแก้ไขรักษา กับพยายามสอนให้คนไทยเลิกธรรมเนียมการอยู่ไฟ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มารดาหลังคลอดเสียชีวิต

สิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้แบรดลีย์ คือการผ่าตัด มีการผ่าตัดก้อนเนื้อที่หน้าผากของผู้ป่วยรายหนึ่งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1835 โดยไม่มียาสลบ และอีกหนึ่งการผ่าตัดที่ได้รับการจารึกไว้คือเมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1837 เกิดเหตุระเบิดของปืนใหญ่ที่งานวัดบริเวณวัดประยุรวงศาวาส มีคนตาย 8 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก เขาได้ตัดแขนของชายหนุ่มคนหนึ่งถึงเหลือหัวไหล่ ในภายหลังวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1840 หมอแบรดลีย์ได้บันทึกไว้ว่า ได้ตัดแขนเด็กที่ได้รับอุบัติเหตุบนเรือฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังมีการบันทึกว่า วันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1837 เขาได้ใช้เวลาทั้งวันในการแก้ไขกรามบนของชายที่กรามหักในงานวันเมื่อ 6 วันก่อน[2]

ในบันทึกของแบรดลีย์ ยังบันทึกการผ่าตัดรักษาต้อกระจกหลายครั้ง รวมถึงการผ่าตัดต้อเนื้อ เช่น เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1836 มีพระภิกษุรุปหนึ่งจากสุโขทัยเดินทางมา 15 วัน พาพี่ชายที่ตาบอดเพราะการอักเสบมาตรวจ แต่ช้าเกินกว่าจะรักษา หลังจากนั้น 4 ธันวาคม ค.ศ. 1836 พระภิกษุรูปเดิมพาพระจากสุโขทัย 5 รูป มาตรวจตา มีรูปหนึ่งอายุ 80 ปี เป็นต้อเนื้อ ก็ได้รับการผ่าตัดลอกต้อออกได้ ยังมีการผ่าตัดต้อกระจกขุนนางชั้นสูง เช่น เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1844 เขาได้ผ่าตัดต้อกระจกเจ้าพระยาพลเทพ อายุ 73 ปี ซึ่งอีก 2 เดือนต่อมาได้ให้ใส่แว่นก็เห็นได้ชัดเจนดี[2]

งานพิมพ์

แก้

สิ่งพิมพ์

แก้
 
บางกอกรีกอเดอ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย

แบรดลีย์ถือเป็นผู้บุกเบิกงานพิมพ์ในประเทศไทย ภูมิหลังน่าจะได้มาจากบิดาซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือ และการสนใจในวรรณคดีแต่เด็ก การพิมพ์ในยุคแรกของเขามุ่งเน้นเรื่องทางศาสนา โดยได้แปลและพิมพ์หนังสือ ใบปลิวที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก โดยไม่ยอมพิมพ์หนังสือเรื่องทางโลกอื่น ๆ ยกเว้นเรื่องทางการแพทย์และเอกสารของราชการ เนื่องจากหมอแบรดลีย์ได้พัฒนาอักษรและแท่นพิมพ์ให้เหมาะสม ทำให้ราชสำนักสยามว่าจ้างให้ตีพิมพ์เอกสารประกาศของราชการ อย่าง ประกาศห้ามมิให้คนสูบแลค้าขายฝิ่นจำนวน 9,000 ฉบับ ปีกุน พ.ศ. 2382 ออกเผยแพร่ให้แก่ราษฎร[8] ซึ่งนับว่าเป็นเอกสารทางราชการไทยชิ้นแรกที่ได้จัดพิมพ์ขึ้น[9]

แต่ต่อมาหลังจากกลับจากอเมริกาและถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1850 มีความจำเป็นต้องพึ่งตัวเองมากขึ้น จึงเริ่มพิมพ์งานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา เช่น พิมพ์นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) ใน พ.ศ. 2404 โดยได้ซื้อลิขสิทธิ์จากหม่อมราโชทัยด้วยจำนวนเงิน 400 บาท ถือเป็นการซื้อขายลิขสิทธิ์ในการพิมพ์หนังสือครั้งแรกในประเทศไทย และได้จัดพิมพ์หนังสือด้วยตัวอักษรลาวขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย มีการตีพิมพ์ ภูมิประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส พิมพ์ตำราเรียนภาษาไทย เช่น ประถม ก กา จินดามณี หนังสือกฎหมาย ทั้งยังพิมพ์เรื่องในวรรณคดีต่าง ๆ เช่น ราชาธิราช สามก๊ก เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น[10] และก่อนจะเสียชีวิตในปี 1873 ได้ตีพิมพ์พจนานุกรมไทย ชื่อ อักขราภิธานศรับท์[2]

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ริเริ่มการพิมพ์หนังสือพิมพ์ในแนวจดหมายเหตุ ที่ชื่อ บางกอกรีคอเดอ ถือเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก ฉบับแรกออกเมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 เป็นเอกสารชั้นต้นซึ่งบันทึกข่าวสารเหตุการณ์สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื้อหาในแต่ละฉบับมีข้อมูลสิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยีวิทยาศาสตร์ การแพทย์และการสาธารณสุข ตลอดจนให้ข้อมูลสินค้าของสยามและต่างประเทศ คำศัพท์สำนวนภาษาอังกฤษ พงศาวดารต่างชาติ ฯลฯ[11] หมอแบรดลีย์นำเสนอข่าวสารอย่างกล้าหาญและรักความเป็นธรรม ตัวอย่างเช่นเมื่อกงสุลฝรั่งเศสชวนข้าทาสไทยให้เข้าไปอยู่ในความคุ้มครองของฝรั่งเศสและเป็นตัวแทนจำหน่ายสุราโดยไม่บอกรัฐบาลไทยทราบ เมื่อลงหนังสือพิมพ์ก็ถูกฟ้องร้องและถูกปรับ แต่ฝรั่งในไทยช่วยกันรวมรวมเงินจ่ายค่าปรับแทน โดยรัชกาลที่ 4 พระราชทานเงินสมทบด้วย[12]

แบรดลีย์ยังริเริ่มการเย็บเล่ม เข้าปกแบบหนังสือตะวันตก จึงเรียกว่า สมุดฝรั่ง[9] และพิมพ์ปฏิทินสุริยคติเป็นภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก

ตัวพิมพ์

แก้

ก่อนยุคหมอแบรดลีย์ การพิมพ์และหล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยมีขึ้นแล้ว แต่ทำกันในต่างประเทศ ผลงานในยุคแรก ๆ เช่น หนังสือ James Low's Thai Grammar ของเจมส์ โลว์ ใช้ตัวพิมพ์ซึ่งจัดทำโดยมิชชันนารีสตรีชาวอเมริกันชื่อ แอน แฮสเซลไทน์ จัดสัน และช่างพิมพ์ที่ชื่อนายฮัฟ การเรียงตัวและจัดพิมพ์ทำขึ้นที่อินเดียและพม่า ในราว พ.ศ. 2370 เมื่อเขาถึงกรุงเทพ ก็ได้นำตัวพิมพ์ชุดนี้เข้ามาใช้ในโรงพิมพ์ของเขา ต่อมาใน พ.ศ 2382 ได้รับจ้างราชการไทยพิมพ์เอกสาร แผ่นประกาศห้ามสูบฝิ่น เอกสารนี้ใช้ตัวเรียงซึ่งซื้อจากสิงคโปร์ จนมีการหล่อตัวพิมพ์ในประเทศไทยสำเร็จครั้งแรกใน พ.ศ. 2384 ผลงานชิ้นแรก ๆ เช่น ครรภ์ทรักษา

ส่วนตัวพิมพ์ที่เรียกกันว่า "แบรดลีย์เหลี่ยม" ใช้ในผลงานรุ่นถัดมา ปรากฏใช้ครั้งแรกใน บางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งออกใน พ.ศ. 2387 แบบอักษรของแบรดลีย์เหลี่ยมนั้น ถ่ายทอดมาจากตัวเขียนลายมือ สันนิษฐานได้ว่ามาจากลายมือแบบอาลักษณ์ อาจพบลายมือคล้ายกันนี้ในสมุดข่อย ซึ่งเขียนขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์หลายเล่ม ตัวอักษรของแบรดลีย์เหลี่ยม ทำเพื่อให้แกะง่ายขึ้น เช่น ดัดตัวให้ตรง มีเส้นนอนด้านบน ซึ่งหักมุมเหลี่ยมเป็นบุคลิกสำคัญ มีรูปทรงและสัดส่วนของอักษรที่แน่นอน เช่น ก ไก่ มีความกว้างยาวเป็นสัดส่วนราว 2 ต่อ 3 และมีรูปทรงสี่เหลี่ยนผืนผ้าแนวตั้ง ยังปรับปรุงโครงสร้างอื่น เช่น ทำเส้นตั้งหรือ ขา ให้ตั้งฉากกับเส้นนอน กำหนดหัวกลมโปร่งให้มีเอกภาพและตำแหน่งแน่นอน เส้นมีความหนา และการหักมุมเที่ยงตรงแบบเรขาคณิต ดูเป็นระเบียบมากขึ้น ตัวอักษรแบรดลีย์เหลี่ยมยังสร้างมาตรฐานใหม่ของอักษรไทย ถือกันว่าเป็นการวางฐานสำคัญให้แก่ตัวพิมพ์ไทย[13]

นอกจากนั้นยังมีตัวอักษร "แบรดลีย์โค้ง" พิมพ์ครั้งแรกใน นิราษเมืองลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (กระต่าย) แบรดลีย์โค้งชุดนี้มี 2 ขนาด ใน บางกอกรีคอร์เดอร์ ซึ่งออกช่วงปี 2408 ใช้แบรดลีย์โค้งเป็นตัวพาดหัว[13]

ผลงาน

แก้

ผลงานการตีพิมพ์ของแบรดลีย์ที่ออกมาเป็นรูปเล่ม โดยหนังสือเรื่องแรกที่พิมพ์แต่ยังไม่ออกเป็นรูปเล่ม คือ พระกิตติคุณของพระเยซูคริสต์ หนังสือต่าง ๆ เหล่านี้พิมพ์เป็นภาษาไทย

  • ค.ศ. 1837 - การสร้างโลก, ประวัติพระคริสต์, ลักษณะและพระบัญญัติของพระยะโฮวาห์, ประวัติพระพุทธและพระคริสต์โดยเปรียบเทียบ, หนทางที่แท้สู่สวรรค์
  • ค.ศ. 1838 - บทเพลงเพื่อดวงวิญญาณ (รวม 72 บท), คำตัดสินสุดท้าย, คำสอนของนักบุญ
  • ค.ศ. 1839 - คัมภีร์การปลูกฝี
  • ค.ศ. 1841 - ความเรียงว่าด้วยฝิ่น, จุลสารว่าด้วยวัฒนธรรมอินเดีย
  • ค.ศ. 1842 - ประวัติพระคัมภีร์เดิม ตอนที่ 4, ความเรียงว่าด้วยความชั่วร้ายของการเสพสุรา, ความเรียงว่าด้วยบุตรผู้รักดี, ความเรียงว่าด้วยลาซารัสและคนดำน้ำ, ความเรียงว่าด้วยทูตสวรรค์, ความเรียงว่าด้วยข้าวสาลีและภาชนะ
  • ค.ศ. 1843 - คำภีร์ครรภ์ทรักษา, ประวัติพระคัมภีร์เดิม ตอนที่ 5
  • ค.ศ. 1844 - จัดทำร่างพจนานุกรมบาลี
  • ค.ศ. 1845 - ประวัติพระคัมภีร์เดิม ตอนที่ 6
  • ค.ศ. 1846 - เรื่องของแดเนียล
  • ค.ศ. 1847 - เรื่องของโยเซฟ
  • ค.ศ. 1859 - กฎหมายว่าด้วยการจอดเรือ
  • ค.ศ. 1860 - นิราศลอนดอน, จินดามณี
  • ค.ศ. 1863 - ภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส
  • ค.ศ. 1864 - พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล
  • ค.ศ. 1865 - สามก๊ก
  • ค.ศ. 1870 - เลียดก๊ก
  • ค.ศ. 1872 - ไซ่ฮั่น
  • ค.ศ. 1873 - อักขราภิธานศรับท์

งานหลวง

แก้

แบรดลีย์ใช้วิชาการแพทย์แผนตะวันรักษาผู้ป่วยคนไทยเป็นจำนวนมาก จนพวกขุนนางและข้าราชการไทยได้รับบริการจากท่านด้วย กิตติศัพท์นี้เข้าถึงพระกรรณเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งผนวชอยู่ที่วัดราชาธิราช พระองค์รับสั่งให้หมอแบรดลีย์เข้าเฝ้า เพื่อถวายการรักษาพระโรคลมอัมพาตที่เกิดแก่พระพักตร์ของพระองค์ ต่อมายังเข้าถวายพระโอสถใช้รักษา ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2379 ผลการรักษา ได้ผลดีทำให้อาการของพระโรคทุเลาลงมาก ทำให้หมอแบรดลีย์ได้เข้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จนโปรดเป็นพระสหายคนหนึ่งในเวลาต่อมา ดังจะเห็นได้จากการโปรดให้หมอแบรดลีย์ เข้าถวายพระอักษรภาษาอังกฤษใน พ.ศ. 2362 เจ้านายที่โปรดหมอแบรดลีย์มากอีกพระองค์คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ส่วนขุนนางที่สนิทสนมกับหมอแบรดลีย์ คือ หลวงนายสิทธิ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งต่อมาคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)[14]

แบรดลีย์เข้ามาในสยามในยามที่ชนชั้นนำกำลังปรับปรุงโลกทัศน์ตนเอง โดยเฉพาะหลังการขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้านายฝ่ายนั้น พร้อมกับการขึ้นมาเป็นหัวหน้าขุนนางของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นขุนนางหัวก้าวหน้ามาตั้งแต่สมัยมิชชันนารีเริ่มเข้าสู่สยาม จากบันทึกของหมอแบรดลีย์ ในปีแรก ได้พูดคุยกับขุนนางชั้นสูงหลายคน ทั้งซักถามถึงวิทยาการแผนใหม่เช่นการแพทย์ โดยบันทึกไว้ว่า "เมื่อคนชั้นปกครองในเมืองไทยมีความกระหายที่จะเรียนรู้ความเจริญแบบยุโรปเช่นนี้ ก็ย่อมทำให้พวกเราเกิดมีใจมุมานะที่จะอยู่ และปฏิบัติกิจการของเราต่อไปเป็นอันมาก"[15] เขายังเป็นผู้ร่างและแปลจดหมายภาษาอังกฤษถวายตลอดจนทรงปรึกษาแบรดลีย์ในบางกรณีที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับแบบแผนวัฒนธรรมตะวันตก บางครั้งเขาเป็นล่ามในการเจรจาทำสัญญาการค้ากับตะวันตกด้วย[16]

ชีวิตส่วนตัว

แก้

แบรดลีย์สมรสกับภรรยาคนแรก เอมิลี รอยส์ แบรดลีย์ (Emilie Royce Bradley) เมื่อมาเมืองไทยรับลูกของมิชชันนารีด้วยกันเป็นบุตรบุญธรรมคนหนึ่ง และภรรยามีลูกอีก 2 คน รวมมีบุตรเป็น 3 คน แต่เอมิลีเสียชีวิต ใน พ.ศ. 2388 ด้วยโรควัณโรคและศพได้ฝังอยู่ในประเทศไทย จากนั้น พ.ศ. 2390 กลับอเมริกาโดยพาบุตรและบุตรบุญธรรมกลับ และกลับมาเมืองไทยอีกครั้งปี พ.ศ. 2393 มีภรรยาใหม่ชื่อ ซาราห์ บรักลีย์ แบรดลีย์ (Sarah Brachly Bradley) คงพักอยู่ในสยามโดยไม่ได้กลับอเมริกาเลยตลอดชีวิต เธอเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2436 อายุ 75 ปี อยู่สยามรวม 43 ปี ส่วนลูกของเธอ 4 คนเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในอเมริกา มีบุตรชายชื่อ คอร์เนลิอุส บี แบรดลีย์ (Cornelius) ลูกสาวคนหนึ่งของหมอพักอาศัยในบ้านหลังนี้ต่อไปจนเสียชีวิตด้วยโรคชรา และมอบที่ดินดังกล่าวให้กองทัพเรือ[3]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

ภาพยนตร์ไทยแนวย้อนยุค–โรแมนติกคอเมดีที่ร่วมทุนสร้างระหว่างค่ายจีดีเอชและบรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น เรื่อง บุพเพสันนิวาส 2 ออกฉายวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 มีตัวละครหนึ่งชื่อ "หมอแบรดลีย์" รับบทโดยสตีเฟน โธมัส[17][18][19]

เชิงอรรถ

แก้
  1. บ้างสะกดเป็น หมอบรัดเล หมอปลัดเล หมอปรัดเล หรือ หมอปรัดเลย์

อ้างอิง

แก้
  1. คทาวุธ โลกาพัฒนาและรักอร่าม ปิฏกานนท์. "Marcellus บ้านเกิดหมอบรัดเลย์" นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547 หน้า 68-71
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 คทาวุธ โลกาพัฒนา. "หมอบรัดเลย์" นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547 หน้า 77-86
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 นิพัทธ์ ทองเล็ก (27 Sep 2016). "หมอปลัดเล.. หมอเทวดาที่มาทำงานในสยาม โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 27 Aug 2018.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. ธัชชัย ยอดพิชัย. "โอสถศาลาหมอบรัดเลย์" นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 3 มกราคม 2552 หน้า 110-115
  5. อุบลวรรณ มีชูธน. "หมอบรัดเลย์กับการประกาศศาสนาในสยาม" นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547 หน้า 87-95
  6. อยู่ไฟหลังคลอด ในความทรงจำแห่งอดีต[ลิงก์เสีย]
  7. หมอเผยที่มา ‘อยู่ไฟ’หลังคลอด มีแค่ไทยเท่านั้นทั่วโลกไม่ทำ แจงชัดดีต่อคุณแม่หรือไม่
  8. "บางกอกรีคอร์เดอร์ : หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-14. สืบค้นเมื่อ 2018-06-05.
  9. 9.0 9.1 การนำการพิมพ์ตัวอักษรไทยเข้ามาในเมืองไทย[ลิงก์เสีย]
  10. หมอบรัดเลย์ บิดาแห่งวงการพิมพ์ของไทย
  11. "บางกอกรีคอร์ดเดอร์ (The Bangkok Recorder) : หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-27. สืบค้นเมื่อ 2018-06-05.
  12. เดอะ กู๊ด เดอะ แบด แอนด์ ดิ อั๊กลี่ (2)
  13. 13.0 13.1 ประชา สุวีรานนท์. "บรัดเลย์: ตัวพิมพ์กับกำเนิดโลกทัศน์ใหม่" นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547 หน้า 72-74
  14. "ความเป็นมาของการวิจัย อักขราภิธานศรับท์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-03-15. สืบค้นเมื่อ 2018-06-15.
  15. ขจร สุขพานิช. ข้อมูลประวัติศาสตร์สมัยบางกอก. (กรุงเทพฯ: คุรุสภา, 2531) หน้า 129.
  16. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. "หมอบรัดเลย์กับ American Orientalism ในสยาม" นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับที่ 9 กรกฎาคม 2547 หน้า 96-107
  17. รีวิวหนังบุพเพสันนิวาส2 : ไปดูกันหรือยังหนาออเจ้า
  18. เผยโฉมเหล่าบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ปรากฎให้เห็นกันแล้วใน "บุพเพสันนิวาส ๒"
  19. ย้อนรอย 4 บุคคลในประวัติศาสตร์ “บุพเพสันนิวาส 2” เล่ายังไงให้สนุก กรุงเทพธุรกิจ สืบค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2565

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้