พจนานุกรมภาษาไทย
พจนานุกรมภาษาไทย หมายถึงพจนานุกรมที่เรียงลำดับตามดัชนีของศัพท์ภาษาไทย หรือพจนานุกรมที่ให้การจำกัดความเป็นภาษาไทย หรือทั้งสองอย่าง พจนานุกรมภาษาไทยที่เป็นทางการของประเทศไทยในปัจจุบันคือ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
ศัพทมูลวิทยา
แก้พจนานุกรม มาจากคำว่า พจน (คำ, คำพูด, ถ้อยคำ) สนธิกับคำว่า "อนุกรม" (ลำดับ) แปลตามศัพท์ว่า "ลำดับคำ" โดยก่อนหน้าที่จะมีคำว่า "พจนานุกรม" ขึ้นใช้นั้น พวกมิชชันนารีซึ่งได้เข้ามาเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ได้เคยจัดทำหนังสือชนิดนี้ โดยใช้ชื่อที่แตกต่างกัน เช่น ฉบับของหมอปรัดเล เรียกว่า อักขราภิธานศรับท์ ฉบับของสังฆราชปาเลกัว เรียกว่า สัพะ พะจะนะ พาสา ไท ฉบับของบาทหลวงเวย์ ซึ่งนำฉบับของสังฆราชปาเลกัวมาแก้ไขเพิ่มเติม ใช้ชื่อว่า ศริพจน์ภาษาไทย[1]
หนังสืออ้างอิงประเภทพจนานุกรม หรือในภาษาอังกฤษคือ "dictionary" มีคำไทยเรียกแตกต่างกัน เช่น นามานุกรม, ศัพทานุกรม, วจนานุกรม สำหรับ ปทานุกรม ที่ออกเผยแพร่และใช้ในราชการในปี พ.ศ. 2470 นั้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 คณะกรรมการชำระปทานุกรม กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือ กระทรวงศึกษาธิการ) ได้พิจารณาถึงชื่อหนังสือที่เรียกว่า "ปทานุกรม" แล้ว มีความเห็นให้ใช้คำ "พจนานุกรม" แทน เนื่องจากความหมายของ คำ "ปทานุกรม" ไม่ตรงกับคำว่า "dictionary" ด้วยเหตุที่ว่า "ปทานุกรม มาจากคำว่า "ปท (บท)" สนธิกับคำว่า "อนุกรม (ลำดับ)" แปลตามศัพท์ว่า "ลำดับบท"
นอกจากนี้แล้วยังมีคำเรียกอื่น ๆ ที่เรียกชื่อคล้ายกัน แต่มีลักษณะแตกต่างกัน คือ "สารานุกรม" มาจากคำว่า "สาร (หนังสือส่วนสำคัญ, เรื่องที่เป็นสาระ)" สนธิกับคำว่า "อนุกรม (ลำดับ)" แปลศัพท์ว่า "ลำดับเรื่อง" ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า "encyclopedia" ลักษณะของสารานุกรมนั้นเช่นเดียวกับพจนานุกรมคือ อาจจะเป็นเรื่องเฉพาะสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งก็ได้ เช่น สารานุกรมศัพท์ดนตรี
อักขรานุกรม มาจากคำว่า "อักขร (ตัวหนังสือ)" สนธิกับคำว่า "อนุกรม (ลำดับ)" แปลตามศัพท์ว่า "ลำดับอักษร" เป็นหนังสืออ้างอิงอีกประเภทหนึ่ง คล้ายคลึงกับพจนานุกรมหรือสารานุกรม เช่น อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ แปลตามศัพท์ว่า "เรื่องภูมิศาสตร์ที่ลำดับตามตัวอักษร" แต่ทั้งนี้อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไม่ใช่หนังสือตำราภูมิศาสตร์ แต่เป็นหนังสือคู่มือประเภทพจนานุกรมที่จะสอบค้นว่า สถานที่ทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ คืออะไร อยู่ที่ใด มีเส้นทางจะไปถึงได้อย่างไร ฯลฯ[2]
อนุกรมวิธาน มาจากคำว่า "อนุกรม (ลำดับ)" สมาสกับคำว่า "วิธาน (การจัดแจง, การทำ; กฎ, เกณฑ์)" แปลตามศัพท์ว่า "การจัดแบ่งตามลำดับ" เป็นศัพท์ที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้ตรงกับคำอังกฤษว่า "taxonomy" หนังสืออนุกรมวิธาน คือหนังสือเกี่ยวกับการจำแนกสิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ เห็ด รา สาหร่าย แบคทีเรีย และไวรัส โดยเฉพาะพืชและสัตว์ แบ่งออกเป็นอาณาจักร (kingdom) หมวด (phylum) ชั้น (class) อันดับ (order) วงศ์ (family) สกุล (genus) ชนิด (species) ฯลฯ ตามกฎหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ โดยพรรณาลักษณะของพืชและสัตว์นั้น ๆ[3]
ประวัติ
แก้การจัดทำโดยชาวต่างประเทศ
แก้ก่อนที่ชาวสยามหรือชาวไทยมีพจนานุกรมใช้ ชาวยุโรปที่เป็นมิชชันนารี (หมอเผยแผ่ศาสนาคริสต์) ก็ได้เคยตีพิมพ์พจนานุกรมภาษาไทยมาก่อน เช่น
- พจนานุกรมอักษรโรมัน ภาษาฝรั่งเศส-ไทย โดย หลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) ชาวฝรั่งเศส พิมพ์ พ.ศ. 2207-2239
- พจนานุกรมไทย โดย เจ. เทเลอร์ โจนส์ (John Taylor Jones) พิมพ์ พ.ศ. 2385
- พจนานุกรมไทย-ไทย โดย เจ. คัสเวล (Jesse Caswell) และ เจ. เอช. แชนด์เลอร์ (J. H. Chandler) พ.ศ. 2389 ไม่ได้ตีพิมพ์ในประเทศ
- พจนานุกรมละติน-ไทย พิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ พ.ศ. 2394
- สัพะ พะจะนะ พาสาไท โดย ชอง บาตีสต์ ปาเลอกัว (Jean Baptist Pallegoise) เรียบเรียงไว้ 4 ภาษา คือ ไทย ละติน ฝรั่งเศส และอังกฤษ พิมพ์ที่กรุงปารีส พ.ศ. 2397
- พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย โดย หมอยอร์ช บี. แมคฟาร์แลนด์ (George B. McFarland) พิมพ์ พ.ศ. 2408
- อักขราภิธานศรับท์ โดย แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) เป็นพจนานุกรมไทย-ไทย พิมพ์ พ.ศ. 2416
- ลิปิกรมายน ภาษาไทย-อังกฤษ โดย อี. บี. มิเชล (E. B. Michell) พิมพ์ พ.ศ. 2435
- ศริพจน์ภาษาไทย์ โดย บาทหลวงชอง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis Vey) ปรับปรุงจากฉบับของปาเลอกัว พิมพ์ พ.ศ. 2439
การจัดทำโดยชาวสยามและชาวไทย
แก้พจนานุกรมในช่วงแรกมีจุดประสงค์เพียงเพื่อประกอบการอ่านวรรณคดีร้อยกรอง และไม่ได้เรียงตามลำดับอักษร มีดังนี้
- อักษรศัพท์ โดยพระโหราธิบดี จัดทำขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีศัพท์ประมาณ 600 คำ อยู่ในหนังสือ จินดามณี
- คำฤษฏี โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ มีศัพท์ประมาณ 1,300 คำ จัดทำขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2369-2433
- อนันตวิภาค โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) รวมคำยืมในภาษาไทยและจัดเป็นหมวดหมู่เช่น คำยืมจากภาษาเขมร ภาษามอญ-พม่า ภาษาชวา-มลายู และภาษาบาลี-มคธ
หน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดทำพจนานุกรมในยุคต่อมาคือ กรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) จัดพิมพ์ พจนานุกรม เล่มแรกเมื่อ พ.ศ. 2435 ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2445 ซึ่งได้จัดเรียงตามลำดับตัวอักษรแล้ว ต่อมากรมตำรา กระทรวงธรรมการ ได้ตีพิมพ์พจนานุกรมชื่อว่า ปทานุกรม เมื่อ พ.ศ. 2470 ภายหลังเมื่อมีการจัดตั้งราชบัณฑิตยสถาน หน่วยงานนี้รับโอนงานพจนานุกรม (ปทานุกรม) จากกรมตำรา กระทรวงธรรมการ นำมาชำระและตีพิมพ์เป็น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 และปรับปรุงเรื่อยมาเป็นฉบับ พ.ศ. 2525, พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2554 ตามลำดับ
ประเภทของพจนานุกรม
แก้แบ่งประเภทของพจนานุกรม ได้จากเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ภาษา ผู้จัดทำ วัยของผู้ใช้ ขอบเขตและลักษณะของเนื้อหา
ภาษา
แก้- พจนานุกรมภาษาเดียว
- พจนานุกรมไทย โดยมานิต มานิตเจริญ
- พจนานุกรม ฉบับมติชน โดยสำนักพิมพ์มติชน
- พจนานุกรมคำใหม่ โดยราชบัณฑิตยสถาน
- พจนานุกรมสองภาษาหรือมากกว่า
- พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้ โดยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ)
- พจนานุกรมคำเมือง โดยมาลา คำจันทร์
- พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย และ พจนานุกรมไทย-อังกฤษ โดยสอ เสถบุตร
- พจนานุกรมฝรั่งเศส-ไทย และ พจนานุกรมไทย-ฝรั่งเศส โดยนาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากย์ (เรี่ยม ทรรทรานนท์)
- พจนานุกรมเยอรมัน-ไทย โดยหม่อมหลวงมานิจ ชุมสาย
- พจนานุกรมญี่ปุ่น-ไทย โดยโฆษา อาริยา
- พจนานุกรมจีน-ไทย, พจนานุกรมไทย-จีน และ พจนานุกรมอังกฤษ-จีน-ไทย สมัยใหม่ โดยเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ
- พจนานุกรมเขมร-ไทย โดยบรรจบ พันธุเมธา
- พจนานุกรมลาว-ไทย โดยวีระพงศ์ มีสถาน
- พจนานุกรมเวียดนาม-ไทย โดยเหงียน จิธง (ธง เหวี่ยน)
- พจนานุกรมมลายู-ไทย โดยโมหัมมัด อับดุลกาเดร์
ผู้จัดทำ
แก้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- พจนานุกรมเพื่อการศึกษาของชาติ หรือ พจนานุกรมฉบับหลวง จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการเป็นแหล่งศึกษาด้านภาษาและเพื่อวางบรรทัดฐานให้คนทุกระดับในชาติพูดและเขียนภาษาประจำชาติได้อย่างถูกต้องเป็นที่ยอมรับ ได้แก่ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมประเภทนี้มีหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านการศึกษาและทำนุบำรุงรักษาภาษาและวัฒนธรรมของชาติ หรือ เป็นคณะบุคคลที่รัฐแต่งตั้งให้ดำเนินการ
- พจนานุกรมเพื่อการค้า หรือ พจนานุกรมฉบับเอกชน จัดทำโดยองค์กรหรือสำนักพิมพ์เอกชนที่จัดทำในลักษณะนี้จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นการแข่งขันกันทางด้านการตลาดของผู้จัดทำแต่ละราย[4]
วัยของผู้ใช้
แก้พจนานุกรมประเภทนี้ คำนึงถึงวัยผู้ใช้ กล่าวคือ คำนึงถึงความยากง่ายของคำศัพท์ และความมากน้อยของจำนวนศัพท์เป็นหลัก เพื่อให้ผู้ใช้วัยต่างกันได้เลือกใช้ตามความเหมาะสม เช่น พจนานุกกรมสำหรับเด็ก มีรูปแบบ รูปเล่มต้องดึงดูดความสนใจของเด็กด้วยการมีภาพประกอบจำนวนมาก สีสันสวยงาม ใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่ ภาษาที่เหมาะสม เป็นต้น
ขนาด
แก้สามารถแบ่งออกได้เป็น[5]
- พจนานุกรมฉบับสมบูรณ์ เป็นพจนานุกรมขนาดใหญ่มากที่รวบรวมคำศัพท์ในภาษาไว้ทั้งหมดและให้หลักการใช้ทั่ว ๆ ไปอีกด้วย ปรกติแล้วมีจำนวนคำประมาณ 4 แสนถึง 6 แสนคำ
- พจนานุกรมขนาดใหญ่ เป็นพจนานุกรมที่มีจำนวนคำน้อยกว่าพจนานุกรมฉบับสมบูรณ์ แต่ใหญ่และมีจำนวนคำศัพท์มากกว่าพจนานุกรมฉบับตั้งโต๊ะ
- พจนานุกรมฉบับตั้งโต๊ะ เป็นพจนานุกรมขนาดค่อนค่อนข้างใหญ่ มีคำประมาณ 130,000-170,000 คำ
- พจนานุกรมฉบับจิ๋ว เป็นพจนานุกรมฉบับกะทัดรัด มีคำไม่มาก มักเป็นคำที่ใช้กับอยู่ในชีวิตประจำวัน สามารถพกติดตัวไปได้
ขอบเขตและลักษณะเฉพาะเนื้อหา
แก้- พจนานุกรมศัพท์ทั่วไป ไม่มีการจำกัดขอบเขตของเนื้อหา จึงเป็นพจนานุกรมรวมศัพท์และสำนวนที่ใช้กันอยู่ทั่วไป
- พจนานุกรมเฉพาะทาง
- พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
- พจนานุกรมศัพท์ศิลปกรรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
- พจนานุกรมแพทยศาสตร์ โดยวิทย์ เที่ยงบูรณธรรม
- พจนานุกรมศัพท์เศรษฐศาสตร์ โดยวันรักษ์ มิ่งมณีนาศิน และคณะ
- พจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์ โดยทักษิณา สวนานนท์
- พจนานุกรมศัพท์เคมี โดยลัดดา มีสุข
- พจนานุกรมธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
อ้างอิง
แก้- บทที่ 6 พจนานุกรมและการใช้ เก็บถาวร 2014-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
บรรณานุกรม
แก้- วิวัฒนาการของพจนานุกรมไทย.--กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2555.