มหาวิทยาลัยทักษิณ

พิกัดภูมิศาสตร์: 7°09′47.41″N 100°36′32.30″E / 7.1631694°N 100.6089722°E / 7.1631694; 100.6089722

มหาวิทยาลัยทักษิณ (อังกฤษ: Thaksin University; อักษรย่อ: มทษ. – TSU) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ มีพื้นที่ตั้ง 2 วิทยาเขตในจังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง ถือกำเนิดมาจากวิทยาลัยวิชาการศึกษาที่ก่อตั้งเมือปี พ.ศ. 2511 และพัฒนาเรื่อยมาจนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลาเมื่อปี 2517 และแยกตัวเป็นเอกเทศเมื่อปี พ.ศ. 2539 มาเป็น "มหาวิทยาลัยทักษิณ" โดยพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณได้ผ่านกระบวนการตามกฎหมายครบทุกขั้นตอน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2539 มีผลบังคับใช้ในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยทักษิณ โดยชื่อ มหาวิทยาลัยทักษิณ สื่อถึง "มหาวิทยาลัยแห่งภาคใต้" (ทักษิณ แปลว่า ทิศใต้)

มหาวิทยาลัยทักษิณ
ตราตำราการศึกษา 3 เล่ม สีเทา
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา
(พ.ศ. 2511–2517)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา
(พ.ศ. 2517–2539)
ชื่อย่อมทษ.[1] / TSU
คติพจน์ปัญญา จริยธรรม นำการพัฒนา
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา
• 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 (55 ปี)
มหาวิทยาลัยทักษิณ
• 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 (27 ปี)
งบประมาณ1,896,621,900 บาท
(ปีการศึกษา 2564)[2]
อธิการบดีรศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์
ผู้ศึกษา13,747 (ปีการศึกษา 2563) [3]
ที่ตั้ง
วิทยาเขตมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง
222 หมู่ 2 ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพยอม จังหวัดพัทลุง
สี
เว็บไซต์www.tsu.ac.th

มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดอยู่ในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาที่เน้นการผลิตบัณฑิต พร้อมพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม ได้รับการประเมินจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับดี โดยเฉพาะในด้านการบริการแก่สังคม ด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และด้านการประกันคุณภาพภายในที่ได้รับการประเมินในระดับดีมาก ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยทักษิณประกอบด้วย 2 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง รวมทั้งมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร 1 แห่ง จัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ครอบคลุมสาขาวิชาการทางวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ใน 11 คณะ 3 วิทยาลัย 1 บัณฑิตวิทยาลัย

ประวัติมหาวิทยาลัย แก้

มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกๆ ในพื้นที่ภาคใต้ ถือกำเนิดขึ้นภายหลังจากการสถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษา (College of Education) ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ขึ้นแทนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ณ ถนนประสานมิตร อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ในปีพุทธศักราช 2497 เพื่อพัฒนาปรัชญาและแนวคิดทางด้านการศึกษาสมัยใหม่ให้สอดคล้องผสานสัมพันธ์กับสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาศาสตร์ให้เป็นวิชาชีพที่มีระบบแบบแผน และมีความลุ่มลึกในสังคมไทย พร้อมกับการประสาทปริญญาทางด้านศึกษาศาสตร์ วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ พร้อมกับการขยายการจัดการศึกษาไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ และมีการบริหารงานแบบหลายวิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตปทุมวัน (ปีพุทธศักราช 2498) วิทยาเขตบางแสน จังหวัดชลบุรี (ปีพุทธศักราช 2498) วิทยาเขตพิษณุโลก (ปีพุทธศักราช 2510) วิทยาเขตมหาสารคาม (ปีพุทธศักราช 2511) วิทยาเขตสงขลา (ปีพุทธศักราช 2511) วิทยาเขตพระนคร (ปีพุทธศักราช 2512) และวิทยาเขตพลศึกษา (ปีพุทธศักราช 2513) โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหาร

วิทยาลัยวิชาการศึกษา สงขลา แก้

วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตสงขลา ได้รับการสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ณ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา (ที่ตั้งปัจจุบันของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา) ตามมติสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา ในการขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปยังพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2511 จึงถือเป็นวันสถาปนาวิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตสงขลา ได้เปิดการเรียนการสอนเป็นครั้งแรกในปีการศึกษา 2512 หลักสูตรปริญญาการศึกษาบัณฑิต เฉพาะหลักสูตร 2 ปี และในปีการศึกษา 2517 จึงเริ่มรับนิสิตเข้าเรียนในหลักสูตรปริญญาการศึกษาบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี ได้ดำเนินการจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตให้มีความเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้รับการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ในปีพุทธศักราช 2517 วิทยาลัยวิชาการศึกษา วิทยาเขตสงขลา จึงเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา”

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา แก้

ในระหว่างปีพุทธศักราช 2532 – 2533 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ได้เริ่มวางแผนขยายงานไปยังพื้นที่จังหวัดพัทลุง เนื่องด้วยพื้นที่เดิม ณ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดไม่เพียงพอต่อการรองรับการจัดตั้งคณะใหม่ ๆ และการขยายงานในอนาคต โดยคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้มหาวิทยาลัยขยายงานไปยังพื้นที่จังหวัดพัทลุง และให้บรรจุโครงการดังกล่าวไว้ในแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 2539) ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2535 สภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้มีมติกำหนดชื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลาใหม่เป็น “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้” ทั้งนี้โดยคำนึงถึงภารกิจของมหาวิทยาลัยอันเกี่ยวเนื่องกับภาคใต้โดยรวม ไม่จำเพาะแต่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง

มหาวิทยาลัยทักษิณ แก้

และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ได้รับการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรม ในทบวงมหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2539 มหาวิทยาลัยทักษิณได้พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ ในปีการศึกษา 2547 เริ่มเปิดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการของมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ที่ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีมติให้มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา และวิทยาเขตพัทลุง มีการบริหารงานแบบ 2 วิทยาเขต ประกอบด้วย วิทยาเขตสงขลา (วิทยาเขต 1) บ้านอ่าวทราย ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา (เป็นส่วนของสถาบันคดีศึกษา) (วิทยาเขต 2) ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา วิทยาเขตพัทลุง (วิทยาเขต 1) ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง (วิทยาเขต 2) ตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง

ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 - ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยทักษิณได้พัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐด้วยการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ. 2551 และภายใต้ปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ปัญญา จริยธรรม นำการพัฒนา”

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย แก้

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณมีตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเป็นรูปตำราการศึกษา 3 เล่ม สีเทา (สีประจำมหาวิทยาลัย) สะท้อนปรัชญาของมหาวิทยาลัย “ปัญญา จริยธรรม และการพัฒนา” ล้อมรอบด้วยอักษรสีฟ้า (สีประจำมหาวิทยาลัย) เป็นภาษาไทย “มหาวิทยาลัยทักษิณ” และภาษาอังกฤษ “THAKSIN UNIVERSITY” ซึ่งหมายถึงมหาวิทยาลัยแห่งภาคใต้ ด้านบนเหนือรูปตำราการศึกษาเป็นมงกุฎเปล่งรัศมีสีฟ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นเลิศและเกียรติยศ ด้วยในปีพุทธศักราช 2539 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ตรงกับวโรกาสอันเป็นมหามงคลสมัยปีกาญจนาภิเษก ในศุภวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี

ต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณมีต้นไม้และดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยคือ ต้นปาริชาต หรือทองหลาง (ชื่อสามัญ: Tiger’s Claw หรือ Indian Coral Tree ชื่อวิทยาศาสตร์:Erythrina variegata L.) เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ อยู่ในวงศ์ถั่ว (LEGUMINOSAE หรือ FABACEAE) ดอกมีลักษณะเป็นช่อสีแดงเข้ม เป็นต้นไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในพระไตรปิฎก คนไทยโบราณเชื่อว่าเป็นไม้มงคล หรือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ปลูกบนสวรรค์ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ต้นประวาลพฤกษ์ ซึ่งประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มออกช่อดอกแล้วบานสะพรั่งเมื่อถึงปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณสำเร็จการศึกษา

สีประจำมหาวิทยาลัย สีประจำมหาวิทยาลัยทักษิณ สืบเนื่องมาจากสีประจำวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา คือสีเทา-ฟ้า

███ สีเทา เป็นสีของสมอง หมายถึง ความคิดหรือปัญญา (นอกจากนี้ สีเทา ยังเป็นสีร่วมกันของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและอดีตวิทยาเขตทั้ง 4 แห่งด้วย)
███ สีฟ้า เป็นสีของทะเล และท้องฟ้า หมายถึง ความกว้างไกล

สีเทา - ฟ้า จึงหมายถึง ความคิดที่กว้างไกล หรือคิดอย่างมีวิสัยทัศน์

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำมหาวิทยาลัย พระพุทธศรีศากยมุนินทร์ศรีนครินทรวิโรฒมงคล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธศรีศากยมุนินทร์ ศรีนครินทรวิโรฒมงคล” ซึ่งมีความหมายว่า “องค์พระพุทธเจ้า ที่เป็นมิ่งมหามงคล แห่งมหาวิทยาลัย” และมหาวิทยาลัยได้กระทำพิธัอัญเชิญพระพุทธศรีศากยมุนินทร์ศรีนครินทรวิโรฒมงคลมาประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534

เพลงประจำมหาวิทยาลัย แก้

  • เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยทักษิณ
  • เพลงร่มปาริชาต (1 ใน 2 เพลงประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา)
  • เพลงขวัญตาฟ้าเทา
  • เพลงตะลุงรับขวัญ
  • เพลงทักษิณ ถิ่นรัก
  • เพลงอยากรำด้วย
  • เพลงอาลัยปาริชาต (1 ใน 2 เพลงประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา)
  • เพลงลาเพื่อน
  • เพลงทักษิณถวายชัยจอมราชัน

การศึกษา แก้

มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ การบริหารการศึกษาดำเนินการโดย 11 คณะ 3 วิทยาลัย 1 บัณฑิตวิทยาลัย และ 1 สถาบันวิจัย ประกอบไปด้วย

สำนัก/สถาบัน/ศูนย์ แก้

  • สำนักคอมพิวเตอร์ (Computer Center)
  • สำนักหอสมุด (University’s Library)
  • สำนักบ่มเพาะวิชาการเพื่อวิสาหกิจในชุมชน (Business Incubation Center)
  • ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Creative Lab Center)
  • ศูนย์ภาษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
  • ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยทักษิณ
  • สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยทักษิณ

โรงเรียน แก้

พื้นที่มหาวิทยาลัย แก้

วิทยาเขตสงขลา แก้

มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา เป็นวิทยาเขตแรกก่อตั้งของมหาวิทยาลัยทักษิณ มีพันธกิจหลักในการผลิตบัณฑิตที่เน้นทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการการเรียนการสอน ณ บริเวณตำบลเขารูปช้าง และพื้นที่ของสถาบันทักษิณคดีศึกษา ณ บริเวณตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา และยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่

คณะ/วิทยาลัย แก้

โรงเรียน แก้

สำนัก/สถาบัน/ศูนย์ แก้

วิทยาเขตพัทลุง แก้

มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นวิทยาเขตแห่งที่สองของมหาวิทยาลัยทักษิณ ภายหลังจากการจัดตั้งวิทยาเขตสงขลา มีพันธกิจหลักในการผลิตบัณฑิตที่เน้นทางด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และการเกษตร โดยมีพื้นที่ปฏิบัติการการเรียนการสอน ณ บริเวณตำบลบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม และพื้นที่ของวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน ณ บริเวณตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และยังเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่

คณะ/วิทยาลัย แก้

โรงเรียน แก้

สำนัก/สถาบัน/ศูนย์ แก้

กิจกรรมสำคัญ แก้

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก้

ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ ในกิจการของมหาวิทยาลัยทักษิณ และพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตของมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นประจำทุกปีนับแต่แรกเริ่มก่อตั้งจวบจนกาลปัจจุบัน โดยพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน โดยในอดีตได้ประกอบพิธี ณ หอประชุมปาริชาติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ปัจจุบันพิธีพระราชทานปริญญาบัตรได้ย้ายมาจัด ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2559 เป็นต้นมา

งานเทางามสัมพันธ์ แก้

 
ตราสัญลักษณ์กิจกรรมเทางามสัมพันธ์ ครั้งที่ 25

กิจกรรมเทางามสัมพันธ์ เกิดขึ้นหลังจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตต่าง ๆ ได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยทักษิณ แม้ว่าวิทยาเขตต่าง ๆ จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ แต่ด้วยความตระหนักถึงความผูกพันทั้ง 5 มหาวิทยาลัย จึงมีปณิธานที่จะร่วมมือกันในภารกิจอันควรแก่มหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงได้ร่วมมือกันจัดงานเทา-งามสัมพันธ์ ขึ้น โดยใช้สี “เทา” ซึ่งเป็นสีประจำโดยรวมของทุกวิทยาเขตเป็นพื้นฐาน และเพิ่มคำว่า “งาม” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายและมีคุณค่ายิ่ง มีความหมายรวมเป็น “เทา-งามสัมพันธ์” ในปี 2538 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา หรือมหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพโดยมีรูปแบบกิจกรรมที่เน้นด้านกีฬาและด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นหลัก

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ทั้ง 5 มหาวิทยาลัย โดยอธิการบดีร่วมเล็งเห็นความสำคัญต่อภารกิจของมหาวิทยาลัยและประเทศชาติ จึงได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งามสัมพันธ์ เป็นต้นมา ซึ่งมีข้อตกลงชัดเจนใน 4 ด้าน คือ ด้านการวิจัย ด้านการบริหารวิชาการแก่สังคม ด้านการสร้างความสามัคคีระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือเทา-งาม ตลอดจนถึงการทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและการกีฬา และด้านการพัฒนาองค์กรบริหาร การจัดการและวิชาการ

ในปี พ.ศ. 2565 มหาวิทยาลัยพะเยา เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือเทางามอย่างเป็นทางการ เป็นมหาวิทยาลัยที่ 6 ของกลุ่ม และปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในเครือทั้งสิ้น 6 แห่งด้วยกัน คือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยพะเยา (อนึ่ง มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้ใช้สีเทาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒโดยตรงเหมือนอีก 4 แห่ง แต่แยกตัวมาจากวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยนเรศวร)

สถานที่สำคัญ แก้

หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย แก้

เป็นแหล่งรวบรวม ประเมิน คุณค่า จัดเก็บและจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการสืบค้นและให้บริการ แก่ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้า รวมทั้งได้ทราบถึงพัฒนาการของ มหาวิทยาลัยทักษิณ

สำนักคอมพิวเตอร์ แก้

เป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการมีฐานะเทียบเท่าคณะ ก่อตั้งวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 เริ่มต้นจากการเป็น “ศูนย์บริการการศึกษาและประมวลผลไมโครคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา” โดยคณะกรรมการบริหารวิทยาเขต ได้อนุมัติให้ใช้เงินสำรองของมหาวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเป็นโครงการเงินทุนหมุนเวียน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ศูนย์คอมพิวเตอร์มศว สงขลา” และ “ศูนย์คอมพิวเตอร์ มศว ภาคใต้” ตามลำดับการดำเนินงานใช้รูปแบบคณะกรรมการดำเนินการประจำศูนย์คอมพิวเตอร์และดำเนินงานด้วยค่าใช้จ่ายจาก เงินงบประมาณรายได้ของมหาวิทยาลัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 มหาวิทยาลัยได้อนุมัติงบประมาณเงินรายได้ จำนวน 736,000 บาท ให้ก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังแรก ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวมีพื้นที่ปฏิบัติการ 220 ตารางเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2530

ในปี พ.ศ. 2532 เริ่มได้รับอนุมัติให้บรรจุข้าราชการ และในปี พ.ศ. 2536 ได้รับงบประมาณแผ่นดิน จำนวน 24,668,000 บาท เป็นงบประมาณผูกพันระยะเวลา 3 ปี เพื่อทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการหลังใหม่ (อาคารปัจจุบัน) เป็นอาคาร 2 ชั้น มีพื้นที่ 2,793 ตารางเมตร การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม 2538 และ เปิดให้ใช้การได้ในปีเดียวกัน

พ.ศ. 2539 เมื่อมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ ได้รับการยกวิทยฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง ส่วนราชการ ในมหาวิทยาลัยทักษิณ ทบวงมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 115 ตอนที่ 89ก ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2541 หน้า 4-5 กำหนดให้สำนักคอมพิวเตอร์เป็นส่วนราชการหนึ่งในมหาวิทยาลัยทักษิณ

สำนักหอสมุด แก้

เดิมเป็นอาคาร 2 ชั้นเริ่มเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2512 ต่อมาเนื่องจากอาคารเสื่อมสภาพ ประกอบกับวัสดุห้องสมุดและผู้ใช้บริการเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้สร้างอาคารใหม่ขึ้นเป็นอาคาร 5 ชั้น มีเนื้อที่ 9,660 ตารางเมตร ที่นั่งอ่านประมาณ 1,200 ที่นั่ง เปิดให้บริการ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2538 เป็นหน่วยงานบริการทางวิชาการ ของมหาวิทยาลัย ดำเนินงานโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความสนับสนุนความเป็นเลิศ ของมหาวิทยาลัย ทั้งในด้าน การสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม มีภารกิจ ที่สำคัญคือ ทำหน้าที่เป็นศูนย์วิชาการที่รวบรวม วัสดุสารสนเทศ สำหรับให้บริการด้าน การเรียน การสอน และ การศึกษาค้นคว้าวิจัยแก่นิสิต อาจารย์ ข้าราชการ และบุคลากรอื่น ๆ ของ มหาวิทยาลัย ตลอดจนบุคคลภายนอก

สถาบันวิจัยและพัฒนา แก้

ในปี 2548 ภารกิจส่งเสริมการวิจัย ภายใต้กลุ่มงานบริการการศึกษา ซึ่งมีบุคลากรในการดำเนินงานเพียง 2 คน โดยมี ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว เป็นประธานกรรมการพัฒนาชุดโครงการวิจัย โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2549 เป็นเงิน 13,687,800 บาท เป็นโครงการต่อเนื่องผูกพันงบประมาณ เป็นเวลา 3 ปี (2549-2551) รวมงบประมาณทั้งสิ้นเป็นวงเงินประมาณ 26 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2548 สภามหาวิทยาลัยทักษิณได้ประกาศจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา ขึ้น

ทำเนียบอธิการบดีมหาวิทยาลัย แก้

นับแต่ปี พ.ศ. 2511 เป็นต้นมา วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา,มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้,มหาวิทยาลัยทักษิณ มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารมาแล้ว ดังนี้

วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลา
รายนามรองอธิการประจำวิทยาเขต วาระการดำรงตำแหน่ง
1.ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง (พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2517)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา
รายนามรองอธิการบดีประจำวิทยาเขต วาระการดำรงตำแหน่ง
1. ศาสตราจารย์ ดร.สมพร บัวทอง (พ.ศ. 2517 - พ.ศ. 2518)
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปรีชา สิงขโรทัย (พ.ศ. 2518 - พ.ศ. 2520)
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประหยัด หาสิตะพันธ์ (พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2521)
4. ศาสตราจารย์ ดร.เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (พ.ศ. 2521 - พ.ศ. 2526)
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บันลือ ถิ่นพังงา (พ.ศ. 2526 - พ.ศ. 2535)
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตภาคใต้
รายนามรองอธิการบดีประจำวิทยาเขต วาระการดำรงตำแหน่ง
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บันลือ ถิ่นพังงา (พ.ศ. 2535 - พ.ศ. 2538)
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์ (พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2539)
มหาวิทยาลัยทักษิณ
รายนามอธิการบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพโรจน์ อินทรศิริสวัสดิ์ (พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2544)
7. รองศาสตราจารย์ ดร.สมบูรณ์ ชิตพงศ์ (พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2548)
8. รองศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ สายธนู (พ.ศ. 2548 - พ.ศ. 2556)
9. รองศาสตราจารย์ ดร.วิชัย ชำนิ (พ.ศ. 2556 - พ.ศ. 2565)
10. รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ (พ.ศ. 2565[4] - ปัจจุบัน)

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

นิสิตเก่าและบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัย แก้

การจัดอันดับมหาวิทยาลัย แก้

การจัดอันดับโดย เว็บโอเมตริกซ์ (Webometrics) ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อแสดงความตั้งใจของสถาบันต่าง ๆ ในการเผยแพร่ความรู้สู่เว็บไซต์ และเป็นความริเริ่มเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงความรู้อย่างเปิดกว้าง (Open Access) ทั่วโลก โดยบ่งบอกถึงปริมาณและคุณภาพของสิ่งตีพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ของสถาบัน เพื่อใช้ร่วมกับตัวชี้วัดอื่น ๆ ในการประเมินผลงานวิจัยของสถาบัน ซึ่งทางเว็บโอเมตริกซ์ได้จัดอันดับปีละ 2 ครั้งในเดือนมกราคม และกรกฎาคม ล่าสุดเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 มหาวิทยาลัยทักษิณ อยู่ในอันดับที่ 2,772 ของโลก อันดับที่ 99 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับที่ 35 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย[5]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้