โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย

โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย หรือโครงการ วมว. เป็นโครงการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีมหาวิทยาลัยเป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินการ การบริหาร จัดการหลักสูตรการเรียนการสอนห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนซึ่งอาจเป็นโรงเรียนเครือข่ายหรือโรงเรียนในกำกับของมหาวิทยาลัยโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้ให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน

โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย
Science Classrooms in University-Affiliated School Project
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง24 เมษายน พ.ศ. 2550
ผู้ก่อตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานใหญ่75/47 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ถนนพระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
เว็บไซต์scius.most.go.th scius.mhesi.go.th

ประวัติ แก้

เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[1] ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินงานโครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (โครงการ วมว.) ขึ้น เพื่อผลิตนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี ทั้งนี้ ให้ปรับเปลี่ยนจากการให้การสนับสนุนในรูป "ทุนการศึกษา" เป็นการสนับสนุน "หลักสูตรการศึกษา" ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมแทน โดยเริ่มแรก (ปีการศึกษา 2551) มีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน 4 คู่ศูนย์[2]

โดยในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 19 คู่ศูนย์ ซึ่งหลักสูตรจะแตกต่างกันไปตามศักยภาพ ความพร้อม และความโดดเด่นทางวิชาการในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ

สัญลักษณ์ แก้

ความหมายของสี แก้

  • สีเหลือง หมายถึง วิทยาศาสตร์ และเป็นสีประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นสีที่ตามองเห็นได้ชัดเจน และกระตุ้นให้คนใช้ปัญญาและเกิดการอยากเรียนรู้ เป็นสีแห่งความเฉลียวฉลาด ความรอบรู้มุ่งมั่น ความตั้งใจและความรวดเร็วในการคิด ซึ่งแสดงถึงการเป็นผู้มีความเจริญทางปัญญาและความรู้อย่างมีเหตุผล
  • สีแสด หมายถึง สีประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสีที่แสดงถึงแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยม และพลังในการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์
  • สีน้ำเงิน หมายถึง นวัตกรรมและพระมหากษัตริย์ แทนความมีอัจฉริยภาพ ความเป็นผู้นำในการพัฒนาสร้างสรรค์และก่อกำเนิดสิ่งที่มีคุณค่าใหม่ ๆ
  • สีเขียว หมายถึง สิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมชาติ และการเจริญเติบโต แสดงถึงการใช้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนา ควบคู่กับการดำรงระบบนิเวศไว้ให้ยั่งยืน

การรับสมัครนักเรียน [3] แก้

คุณสมบัติของนักเรียนผู้สมัคร แก้

  1. กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเทียบเท่าในปีการศึกษานั้น
  2. มีผลการเรียน ดังนี้
    • ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมรวมทุกรายวิชาในชั้น ม.1 และ ม.2 ไม่ต่ำกว่า 3.00
    • ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมรายวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้น ม.1 และ ม.2 ไม่ต่ำกว่า 3.00
    • ระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมรายวิชาคณิตศาสตร์ในชั้น ม.1 และ ม.2 ไม่ต่ำกว่า 3.00
  3. มีสัญชาติไทย (มีเลขประจำตัวประชาชน)
  4. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา และการพักในหอพัก
  5. มีความขยันหมั่นเพียร มีความประพฤติดีและมีบุคลิกภาพเหมาะสม
  6. มีความตั้งใจเข้าเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในโครงการ และได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครอง
  7. สามารถพักอยู่ในโรงเรียนหรือสถานที่ที่โรงเรียนจัดไว้ให้ในลักษณะโรงเรียนประจำได้ และสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ หรือข้อบังคับ ของหอพักหรือโครงการกำหนดไว้ได้

ขั้นตอนการรับสมัครและคัดเลือก แก้

  1. โครงการฯ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะดำเนินการรับสมัครนักเรียนในเดือนสิงหาคมของทุกปีทาง ระบบการรับสมัครนักเรียนของโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
  2. มหาวิทยาลัยและโรงเรียนทำการตรวจสอบคุณสมบัติ เมื่อนักเรียนมีคุณสมบัติครบถ้วน จึงจะมีสิทธิ์ในการสอบคัดเลือก
  3. โครงการฯ โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จะเป็นผู้ดำเนินการคัดเลือกนักเรียนในรอบแรก โดยการสอบข้อเขียนในรายวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งมีเกณฑ์การคัดเลือกโดยใช้คะแนนผลการสอบคัดเลือกโรงเรียนละ 150-300 อันดับแรก (ตามการรับของแต่ละศูนย์) โดยคะแนนลำดับที่ 150-300 (ตามการรับของแต่ละศูนย์) ให้คัดเลือกนักเรียนที่ได้คะแนนเท่ากันไว้ทั้งหมด
  4. มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการแต่ละแห่งจะเป็นผู้ดำเนินการสอบคัดเลือกรอบสอง โดยแยกกัน โดยอิสระในช่วงเดือนมกราคมของทุกปีโดยวิธีการสอบคัดเลือกในลักษณะเดียวกันกับการสอบรอบแรก
  5. มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการแต่ละแห่งเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกนักเรียนในโครงการ วมว. แห่งละ 30 - 90 คน (ตามการรับของแต่ละศูนย์) พร้อมสำรอง และส่งให้รายชื่อให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

รายชื่อมหาวิทยาลัยและโรงเรียนในกำกับ แก้

มหาวิทยาลัย โรงเรียนในกำกับ ปีที่เข้าร่วม รายละเอียดหลักสูตร[4]
1 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2551[2] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติโดยนักเรียนจะได้เรียนรู้ผ่านการเรียนการสอนแบบ Problem based ที่นำองค์ความรู้แต่ละกลุ่มสาระบูรณาการเป็นหน่วยการเรียนรู้อย่างกลมกลืน โดยนักเรียนได้รับทักษะและกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ผ่านการปฏิบัติจริง
2 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย 2551[2] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และการวิจัย มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนตามความสนใจ ความถนัด และศักยภาพของนักเรียนเพิ่มเติมด้วยวิชาปฏิบัติการฟิสิกส์ เคมี และชีวเคมี และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่หลากหลายทั่งภายใน และภายนอกสถานศึกษา
3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โรงเรียนดรุณสิกขาลัย 2551[2] หลักสูตรห้องเรียนวิศว์-วิทย์ เน้นการเรียนรู้ผ่านเรื่องราวที่ร้อยเรียงตามประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติโดยเชื่อมโยงคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมเข้ากันไว้ด้วยกันแบบ Story-Based Learning นักเรียนจะเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติการแก้ปัญหาจริง และโครงงานหลังสูตรนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการเติบโตไปเป็นวิศวกรวิจัย (Research Engineer) และวิศวกรปฏิบัติ-นวัตกร (Hands-on Engineer)
4 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ 2551[2] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงโดยประยุกต์ใช้กับวิทยาการด้านนวัฒนกรรมการเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ สัตวแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ
5 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2553[2] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาษาอังกฤษ มุ่งเน้นให้นักเยนมีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ กล้าแสดงออกและเป็นผู้นำที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์
6 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน 2554[2] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงโดยประยุกต์ใช้กับวิทยาการด้านนวัฒนกรรมการเกษตร อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ สัตวแพทยศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ
7 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (ศึกษาศาสตร์) 2554[2] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ นาโนเทคโนโลยี และการวิจัยผ่านการลงมือปฏิบัติทั้งในและนอกห้องเรียน โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนเกิดทักษะ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่สามารถนำมาพัฒนาท้องถิ่นได้จริง
8 มหาวิทยาลัยบูรพา โรงเรียนสาธิต "พิบูลบำเพ็ญ" มหาวิทยาลัยบูรพา 2556[5] หลักสูตรการเรียนการสอนมุ่งเน้นให้นักเรียนมีความโดดเด่นในด้านทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดแก้ปัญหาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ทางทะเล โดยมีเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการเรียนรู้
9 มหาวิทยาลัยนเรศวร โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร 2556[5] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ-กายภาพ-ชีวภาพ เน้นการสร้างทักษะการวิจัยจากการทำโครงงานวิทยาศาสตร์และต่อยอดการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัย/คณาจารย์ของมหาวิทยาลัย มีกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่มุ่งเน้นพัฒนานักเรียนให้เป็นนักวิจัย/นักนวัตกรรมในอนาคตและมีความสามารถในด้านภาษาต่างประเทศ นักเรียนสามารถเรียนรายวิชาพื้นฐานวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ของมหาวิทยาลัยนเรศวรล่วงหน้าได้
10 มหาวิทยาลัยทักษิณ โรงเรียนป่าพะยอมพิทยาคม 2556[5] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ คณิตศาสตร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งแวดล้อม พลังงานทดแทนและเกษตรยั่งยืน บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการเรียนรู้ด้วยรูปแบบต่างๆ โดยคณาจารย์มหาวิทยาลัยและปราชญ์ชาวบ้านเพื่อให้นักเรียนได้มีการบูรณาการความรู้ผ่านการทำโครงงานวิจัยขนาดเล็กร่วมกับคณาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัย โดยเน้นบริบทในท้องถิ่นภาคใต้
11 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายมัธยม) 2556[5] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยผสานความโดดเด่นทางวิชาการตามความสนใจของนักเรียน และการแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์แบบบูรณาการโดยใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
12 มหาวิทยาลัยพะเยา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยพะเยา 2558[5] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ พลังงานและสิ่งแวดล้อมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และภาษาอังกฤษ มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ความคิดวิเคราะห์สังเคราะห์ กล้าแสดงออกและเป็นผู้นำที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่สมบูรณ์
13 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) 2558[5] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ประยุกต์ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีเกษตร โดยจัดการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเน้นการะบวนการคิดตามแนวทางการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) พร้อมทั้งนำมาประยุกต์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้องค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนาหรือเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างนักยุววิจัยเพื่อเป็นรากฐานของนักวิจัยในอนาคต
14 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โรงเรียนลือคำหาญวารินชำราบ 2558[5] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มีการบูรณาการความรู้ในสาขาต่างๆ ได้แก่ นาโนเทคโนโลยี วัสดุนาโนเพื่อพลังงานและประหยัดพลังงาน เคมีอินทรีย์ขั้นสูงเพื่อพลังงาน การพัฒนาพลังงานเอทานอลและพืชพลังงาน การคำนวณและการจำลองแบบวัสดุพลังงาน และด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นพัฒนาทักษะของนักเรียนเพื่อไปเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในอนาคตต่อไป
15 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต 2558[5] หลักสูตรมีความโดดเด่นในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นสากลโดยการปฏิบัติจริงและใช้หลัก Project Based Learning กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และนำไปสร้างประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เน้นบูรณาการความรู้ระหว่างสาระการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง
16 มหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัย 2558[5] มุ่งจัดการศึกษาแบบสร้างสรรค์ภายใต้กรอบแนวความคิด ‘บูรณาการ วิทยาศาสตร์และศิลป์ ศึกษาสสารและวัสดุ พัฒนาพลังงานทดแทน ประสานสู่สิ่งแวดล้อม’ สำหรับนักเรียนผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีทักษะกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์สำหรับการเป็นนักวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งมีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตสำนึกในความเป็นไทย
17 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี 2559[5] หลักสูตรมีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาวิชาการที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เช่น เทคโนโลยียาง เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือ RIBA
18 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โรงเรียนสุรวิวัฒน์ 2561 หลักสูตรที่เน้นให้นักเรียนมีทักษะ ประสบการณ์ และการคิดวิเคราะห์ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความโดดเด่นในด้านการเรียนการสอน มุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนตามแบบสะเต็มศึกษา ฝึกฝนการคิดวิเคราะห์อย่างนักวิทยาศาสตร์ สร้างเสริมความชำนาญด้านปฏิบัติการ การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม เน้นพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษ
19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โรงเรียนสาธิตอิสลามศึกษา 2562

อ้างอิง แก้

  1. สำนักงานเลขาธิการรัฐมนตรี, มติคณะรัฐมนตรี เรื่อง โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย, สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 โครงการ วมว., ความเป็นมาของโครงการ เก็บถาวร 2021-10-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559
  3. โครงการ วมว., คู่มือการรับสมัคร[ลิงก์เสีย], สืบค้นเมื่อ 15 กันยายน พ.ศ. 2559
  4. โครงการ วมว., คู่มหาวิทยาลัย - โรงเรียนในกำกับ เก็บถาวร 2019-01-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ สุราษฎร์ธานี, WHAT IS SCIUS เก็บถาวร 2017-02-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2559

แหล่งข้อมูลอื่น แก้