พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)

ขุนนางสยาม

พระยาศรีสุนทรโวหาร นามเดิม น้อย ต้นสกุลอาจารยางกูร[1] (5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 — 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434) เป็นขุนนางชาวไทย ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ ควบตำแหน่งเจ้ากรมอักษรพิมพการ ทั้งเป็นผู้แต่งตำราเรียนภาษาไทยชุดแรกสำหรับใช้ในโรงเรียนหลวง และแต่งกวีนิพนธ์อีกหลายเรื่อง

พระยาศรีสุนทรโวหาร
(น้อย อาจารยางกูร)

เกิด5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365
เมืองฉะเชิงเทรา อาณาจักรรัตนโกสินทร์
เสียชีวิต16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 (69 ปี)
เมืองพระนคร ประเทศสยาม
นามปากกาน้อย อาจารยางกูร
อาชีพนักเขียน, นักประพันธ์, นักภาษาศาสตร์
สัญชาติสยาม
แนวร่วมในทางวรรณคดีแบบเรียนหลวง, บทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ฯลฯ
ช่วงปีที่ทำงานพ.ศ. 2396 – 2434
คู่สมรสคุณหญิงแย้ม
บุตร7 คน

ประวัติ แก้

วัยเยาว์ แก้

พระยาศรีสุนทรโวหารเกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ตรงกับปลายรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เป็นชาวฉะเชิงเทรา เดิมท่านชื่อน้อย เกิดที่บ้านในคลองโสธร แขวงเมืองฉะเชิงเทรา เมื่อ ณ วัน 6 เดือน 8 แรม 2 ค่ำ ปีมะเมีย จัตวาศก จุลศักราช 1184 ตรงกับวันที่ 5 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 41 บิดาท่านชื่อ ทองดี มารดาท่านชื่อ บัว ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ของบรรพบุรุษ แล้วเป็นน้องเล็กสุดจากจำนวนพี่น้องทั้ง 6 คน

การศึกษา แก้

เมื่ออายุได้ประมาณ 5-7 ปี เรียนหนังสือไทยกับหลวงบรรเทาทุกข์ราษฎร์ กรมการเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นพี่ชายใหญ่ของท่าน ในขณะที่หลวงบรรเทาทุกข์ราษฎร อุปสมบทเป็นภิกษุอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่ออายุ 15 ปี ท่านได้เข้าไปศึกษาต่อในพระนคร อยู่กับสามเณรน้าชาย ชื่อทัด ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อายุ 14 ปี บรรพชาเป็นสามเณรเรียนหนังสือไทยกับพระกรรมวาจาจารย์ (จัน) เรียนหนังสือขอมกับพระครูวิหารกิจจานุการ (กรรมวาจาจีน) ศึกษาพระธรรมวินัยจากสำนักต่าง ๆ เช่น

ท่านได้บวชเป็นสามเณร 8 ปี เมื่ออายุ 21 ปี ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศวรวิหาร ท่านแตกฉานทั้งภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต รู้การแต่งคำประพันธ์ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี เมื่ออายุ 24 ปี ได้เข้าแปลปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดราชบุรณราชวรวิหาร ได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค

ด้วยระยะเวลานั้น วัดสระเกศวรวิหารขาดพระมหาเปรียญเป็นเวลานับสิบปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสยินดี ทรงเฉลิมพระราชศรัทธาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัดใหม่ รื้อกุฏิเก่าฝาไม้ไผ่ออกสร้างกุฏิตึกเป็นเสนาสนะงดงาม ตลอดทั้งก่อสร้างสถาปนาภูเขาทองด้วยนับเป็นเกียรติยศอย่างสูง ด้วยความอุตสาหะพากเพียรใฝ่รู้ของท่าน จึงได้ขอศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพรรษาที่ 6 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมในที่ประชุมพระราชาคณะ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร สอบได้เปรียญธรรม 7 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชาคณะที่ “พระประสิทธิสุตคุณ”

การทำงาน แก้

พ.ศ. 2396 ท่านลาสิกขาบท เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) (หรือเจ้าหมื่นสรรพเพชรภักดีในขณะนั้น) ได้นำท่านเข้าถวายตัวรับราชการอยู่ในกรมมหาดเล็กเวรศักดิ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้สอยในเรื่องหนังสือไทย หนังสือขอมคล่องแคล่ว ตามที่พระองค์ต้องการ ไม่ว่าจะติดขัดในประการใดก็ช่วยเหลือพระองค์ได้เสมอ ท่านรับราชการ 1 ปี ก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นที่ “ขุนประสิทธิ์อักษรศาสตร์” ทำงานเป็นผู้ช่วยของเจ้ากรมพระยารักษ์ ว่าที่เจ้ากรมอักษรพิมพการ ครั้นถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ขุนสารประเสริฐ” ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์ และเมื่อเจ้านครเชียงใหม่นำช้างเผือกมาถวาย ท่านจึงได้แต่งฉันท์กล่อมช้าง

พ.ศ. 2414 ท่านได้คิดแบบสอนอ่านหนังสือไทย รวม 6 เล่ม ได้แก่ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน พิศาลการันต์ ไวพจน์พิจารณ์ (ไวพจน์พิจารณ์แต่งในปี พ.ศ. 2425) ซึ่งเป็นที่ถูกพระราชหฤทัยของพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ท่านจึงได้เลื่อนยศขึ้นเป็น “พระสารประเสริฐ” ปลัดทูลฉลอง กรมพระอาลักษณ์

พ.ศ. 2415 ท่านได้เป็นครูสอนหนังสือไทย ในกรมมหาดเล็ก

พ.ศ. 2416 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นอาจารย์สอนพระราชวงศ์ที่ยังพระเยาว์ และบุตรหลานข้าราชการได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 60 บาท ภายหลังได้คิดแบบเรียนอีกหลายเล่ม เช่น อนันตวิภาค เขมรากษรมาลา (หนังสือขอม) นิติสารสาธก ปกรนำพจนาตถ์ โคลงฉันท์หลายเรื่อง

พ.ศ. 2418 ในปีนั้นพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระสารประเสริฐขึ้นเป็น พระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ ถือศักดินา 3,000 ไร่[2]

พ.ศ. 2422 เมื่อมีการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามท่านได้มีส่วนในการแต่งโคลงรามเกียรติ์เพื่อจารึกที่ระเบียงรอบพระอุโบสถ และเป็นท่านยังเป็นแม่กองตรวจโคลงรามเกียรติ์ที่ข้าราชการแต่งทูลเกล้าฯ ถวายอีกด้วย ผลงานและความชอบในครั้งนั้นได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น"พระยาศรีสุนทรโวหาร ญานปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ" ถือศักดินา 3,000 ไร่ และได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 4 ชั่ง[3]

พ.ศ. 2425 ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้เป็นองคมนตรีเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และทำหน้าที่เป็นเลขานุการสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และองคมนตรีสภาอีกด้วย [4] และให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยตั้งโรงเรียนหลวงแห่งแรก ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2414 โดยมีพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่คนแรก[5]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 ท่านได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า[6] และได้รับพระราชทานพานหมากทอง คนโททอง กระโถนทอง เป็นเครื่องยศ

ชีวิตคู่ครอง แก้

พระยาศรีสุนทรโวหาร หรือ น้อย อาจารยางกูร ใช้ชีวิตคู่สมรสกับ คุณหญิงแย้ม มีบุตร-ธิดา ด้วยกันทั้งหมด 7 คน[7]

อนิจกรรม แก้

พ.ศ. 2434 ท่านได้ป่วยด้วยโรคชรา[8] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหมอหลวงรักษา และให้พาหมอเชลยศักดิ์มารักษาด้วย แต่อาการไม่ดีขึ้น ดังนั้นในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรม สิริอายุได้ 69 ปี ได้รับพระราชทานโกศโถเป็นเกียรติยศ[9] ต่อมาได้มีการพระราชทานเพลิงศพพระยาศรีสุนทรโวหารเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2438 ณ เมรุ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเป็นองค์ประธาน[10]

ผลงาน แก้

  • มูลบทบรรพกิจ
  • วาหนิติ์นิกร
  • อักษรประโยค
  • จอมราชจงเจริญ
  • สังโยคภิธาน
  • ไวพจน์พิจารณ์
  • พิศาลการันต์
  • อนันตวิภาค
  • เขมรากษรมาลา (เป็นแบบหนังสือขอม)
  • นิติสารสาธก
  • ปกีรณำพจนาตถ์ (คำกลอน)
  • ไวพจน์ประพันธ์
  • อุไภยพจน์
  • สังโยคภิธานแปล
  • วิธีสอนหนังสือไทย
  • มหาสุปัสสีชาดก
  • วรรณพฤติคำฉันท์
  • ฉันท์กล่อมช้าง
  • ฉันทวิภาค
  • ร่ายนำโคลงภาพพระราชพงศาวดาร
  • โคลงภาพพระราชพงศาวดาร รูปที่ 65 และ 85
  • คำนมัสการคุณานุคุณ
  • สยามสาธก วรรณสาทิศ
  • พรรณพฤกษา
  • พหุบาทสัตวาภิธาน
  • ฯลฯ

การรำลึกถึง แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ประกาศพระราชทานนามสกุล ครั้งที่ 18 (ลำดับที่ 1433 ถึงลำดับที่ 1483)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา. 31 (0 ง): 827. 12 กรกฎาคม 2457. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. "พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) (ต่อ)". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-04-05. สืบค้นเมื่อ 18 มกราคม 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. สามัญศึกษาจังหวัดฉะเชิงเทรา,2540:99-100[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  4. เกษม หน่ายคอน และคณะ, 2540 : 1-4[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  5. พีระ เทพพิทักษ์ และคณะ,2539:63[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
  6. 6.0 6.1 การพระราชพิธีฉัตรมงคลแลพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
  7. จ.ฉะเชิงเทรา จัดพิธีสักการะ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และ เปิด หอเชิดชูเกียรติ เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติและจัดแสดงผลงาน คมชัดลึก สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2563
  8. พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย). อนันตวิภาค. พระนคร : พิศาลบรรณนิติ, 2445. หน้า 1 ก-ค.
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวตาย, เล่ม 8, ตอน 30, 25 ตุลาคม 2534, หน้า 265
  10. เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)
  11. อนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ศิลปะ วัฒนธรรม แหล่งมรดก และสถาปัตยกรรม
  12. คำขวัญจังหวัดฉะเชิงเทรา[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้