โจฮวน (ค.ศ. 245/246 – ค.ศ. 302/303[b]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉา ฮฺว่าน (จีนตัวย่อ: 曹奂; จีนตัวเต็ม: 曹奐; พินอิน: Cáo Hùan; การออกเสียง) ชื่อรอง จิ่งหมิง (จีน: 景明; พินอิน: Jǐngmíng) เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 5 และลำดับสุดท้ายของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 พระองค์สละราชบัลลังก์ให้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเอี๋ยน (ภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้แห่งราชวงศ์จิ้น) เป็นการสิ้นสุดสมัยปกครองของวุยก๊ก หลังโจฮวนสละราชบัลลังก์ พระองค์ได้รับการตั้งให้มีฐานันดรศักดิ์เป็น "ตันลิวอ๋อง" และดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จวบจนสิ้นพระชนม์ ภายหลังพระองค์ได้รับพระสมัญญานามว่า "จักรพรรดิเว่ย์-ยฺเหวียนตี้" (魏元帝)[2]

โจฮวน (เฉา ฮฺว่าน)
曹奐
เว่ย์-ยฺเหวียนตี้
魏元帝
ภาพวาดโจฮวนจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
จักรพรรดิแห่งวุยก๊ก
ครองราชย์27 มิถุนายน ค.ศ. 260[a] – 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266
ก่อนหน้าโจมอ
ผู้สำเร็จราชการสุมาเจียว
สุมาเอี๋ยน
ฉางเต้าเซียงกง อำเภออานชื่อ
(安次縣常道鄉公)
ดำรงตำแหน่ง256 – 27 มิถุยายน ค.ศ. 260
ตันลิวอ๋อง (陳留王 เฉินหลิวหวาง)
ดำรงตำแหน่ง4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 – ค.ศ. 302
ประสูติค.ศ. 245
สวรรคตค.ศ. 302
มเหสีจักรพรรดินีเปี้ยน
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: โจ (曹 เฉา)
ชื่อตัว: ฮวน (奐 ฮฺว่าน)
ชื่อรอง: จิ่งหมิง (景明)
รัชศก
พระสมัญญานาม
ยฺเหวียนตี้ (元帝)
ราชวงศ์ราชวงศ์โจ (เฉา)
พระราชบิดาโจฮู
พระราชมารดาจางชื่อ

ภูมิหลังครอบครัวและการขึ้นครองราชย์

แก้

พระนามโดยกำเนิดของโจฮวนคือ "เฉา หฺวาง" (曹璜) พระบิดาของโจฮวนคือโจฮูผู้เป็นเอียนอ๋อง / เอี๋ยนอ๋อง (燕王 เยียนหวาง) และเป็นบุตรชายของโจโฉ (บิดาของโจผีจักรพรรดิลำดับแรกของวุยก๊ก)[3]

ในปี ค.ศ. 258 ขณะเฉา หฺวางมีพระชนมายุ 12 พรรษา ตามกฎหมายของวุยก๊กที่ระบุว่าพระโอรสของอ๋อง (นอกเหนือจากพระโอรสองค์โตที่เกิดกับพระชายา ซึ่งโดยปกติได้รับการตั้งให้เป็นทายาทของอ๋อง) ต้องได้รับการแต่งตั้งให้มีฐานันดรศักดิ์ก๋ง (公 กง) เฉา หฺวางจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น "ฉางเต้าเซียงกง" (常道鄉公)[4]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 260 ภายหลังจักรพรรดิโจมอถูกปลงพระชนม์ระหว่างทรงพยายามจะชิงอำนาจรัฐคืนจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว เฉา หฺวางได้รับเลือกให้สืบราชบัลลังก์ถัดจากโจมอ[5]

รัชสมัย

แก้

ในช่วงเวลาที่เฉา หฺวางขึ้นเป็นจักรพรรดิ พระนามของพระองค์ถูกเปลี่ยนเป็น "โจฮวน" (เฉา ฮฺว่าน) เนื่องจากข้อห้ามเรื่องการระบุชื่อของพระนาม "หฺวาง" (璜 ซึ่งพ้องเสียงกับคำทั่วไปจำนวนมาก เช่น "หฺวาง" ที่มีความหมายว่า "สีเหลือง" และ "หฺวาง" ที่มีความหมายว่า "จักรพรรดิ") ในรัชสมัยของโจฮวน ตระกูลสุมากุมอำนาจรัฐ ในขณะที่ราชตระกูลโจเป็นเพียงหุ่นเชิดและเป็นผู้นำรัฐแต่เพียงในนาม

ในวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 263 โจฮวนทรงตั้งให้พระชายาเปี้ยนเป็นจักรพรรดินี[c]

ช่วงต้นรัชสมัยของโจฮวน มีการโจมตีอย่างต่อเนื่องจากทัพของรัฐจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริภายใต้การบัญชาการของเกียงอุยขุนพลจ๊กก๊ก แม้ว่าโดยมากการโจมตีของเกียงอุยก็ถูกทัพวุยก๊กตีโต้จนล่าถอยไปอย่างง่ายดาย ในที่สุดสุมาเจียวก็มีคำสั่งให้บุกโจมตีจ๊กก๊กด้วยกำลังทหาร 180,000 นายภายใต้การบัญชาการของจงโฮยและเตงงาย

ในช่วงปลาย ค.ศ. 263 เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กยอมจำนนต่อเตงงาย เป็นการสิ้นสุดของรัฐจ๊กก๊ก หลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก เตงงายถูกจงโฮยกล่าวหาว่าคิดก่อกบฏจึงถูกปลดจากอำนาจบังคับบัญชา

ต้นปี ค.ศ. 264 จงโฮยวางแผนร่วมกับเกียงอุยเพื่อฟื้นฟูรัฐจ๊กก๊กและกำลังขุนพลวุยก๊กทุกคนที่อาจต่อต้านพวกตน แต่เหล่าขุนพลก็เริ่มก่อการต่อต้านจงโฮย สังหารจงโฮยและเกียงอุยลงได้ อาณาเขตที่เคยเป็นของจ๊กก๊ก (ครอบคลุมพื้นที่ของมณฑลเสฉวน, นครฉงชิ่ง, มณฑลยูนนาน, ทางใต้ของมณฑลฉ่านซี และทางตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ได้ถูกผนวกเข้ากับวุยก๊กโดยสมบูรณ์

การสละราชบัลลังก์และช่วงบั้นปลายพระชนมชีพ

แก้

รัฐวุยก๊กเองก็คงอยู่ได้ไม่นานหลังการล่มสลายของจ๊กก๊ก ในปี ค.ศ. 263 สุมาเอียวบังคับให้โจฮวนพระราชทานเครื่องยศเก้าประการอีกครั้ง และที่สุดสุมาเจียวก็ยอมรับเครื่องยศในครั้งนี้ บ่งบอกถึงการชิงราชบัลลังก์ที่กำลังใกล้เข้ามา[7] ในปี ค.ศ. 264 สุมาเจียวขึ้นมามีฐานันดรศักดิ์เป็น "จีนอ๋อง" (晉王 จิ้นหวาง) ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายก่อนการชิงราชบัลลังก์[8] หลังสุมาเจียวเสียชีวิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 265 สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดตำแหน่งบิดา และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 สุมาเอี๋ยนบังคับโจฮวนให้สละราชบัลลังก์ จากนั้นในอีก 4 วันต่อมา (8 กุมภาพันธ์) สุมาเอี๋ยนจึงก่อตั้งราชวงศ์จิ้น พระองค์ตั้งให้โจฮวนมีฐานันดรศักดิ์ "ตันลิวอ๋อง" (陳留王 เฉินหลิวหวาง) ซึ่งโจฮวนดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนกระทั่งสิ้นพระชนม์

ไม่มีข้อมูลมากนักเกี่ยวกับพระชนมชีพของโจฮวนในฐานะอ๋องภายใต้การปกครองของราชวงศ์จิ้น สุมาเอี๋ยน (ภายหลังเป็นที่รู้จักในพระนามว่าจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) ทรงอนุญาตให้โจฮวนยังคงใช้ธงและราชรถอย่างจักรพรรดิได้ และสักการะบรรพชนด้วยพิธีการอย่างจักรพรรดิได้[9] โจฮวนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 302 ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้พระโอรสของสุมาเอี๋ยน พระองค์ได้รับการฝังพระศพด้วยเกียรติอย่างจักรพรรดิและได้รับพระสมัญญานาม

ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สืบทอดฐานันดรตันลิวอ๋องในลำดับถัดจากโจฮวน ทราบเพียงว่าในเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ค.ศ. 326 มีการตั้งฐานันดรศักดิ์ตันลิวอ๋องให้กับเฉา ม่าย (曹勱) ผู้เป็นลื่อชายของโจโฉ[10] ดำรงฐานันดรศักดิ์นี้จนกระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 358[d] ฐานันดรศักดิ์สืบทอดต่อมาโดยบุตรชายคือเฉา ฮุย (曹恢) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 363[12] ฐานันดรศักดิ์ตันลิวอ๋องยังคงอยู่ภายในตระกูลโจจนกระทั่งถูกยกเลิกในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 479[e] ในรัชสมัยของเซียว เต้าเฉิง (蕭道成) จักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฉีใต้ ตันลิวอ๋องคนสุดท้ายคือเฉา ช่าน (曹粲)

ชื่อศักราช

แก้

ฐานันดรศักดิ์

แก้
  • ตันลิวอ๋อง (陳留王 เฉินหลิวหวาง)
  • จักรพรรดิเว่ย์-ยฺเหวียนตี้ (魏元帝) (สมัญญานาม)

พระราชวงศ์

แก้

พระมเหสี:

พงศาวลี

แก้
โจโก๋ (เสียชีวิต ค.ศ. 193)
โจโฉ (ค.ศ. 155–220)
ติงชื่อ
โจฮู (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 278)
หฺวานชื่อ
โจฮวน (ค.ศ. 246–302)
จาง เหิง (เสียชีวิต ค.ศ. 177)
เตียวฬ่อ (เสียชีวิต 216)
หลูชื่อ
จางชื่อ

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. วันเจี่ยอิ๋น (甲寅) ในเดือน 6 ของปีที่โจมอสวรรคต ตามที่ระบุในบทพระราชประวัติโจฮวนในสามก๊กจี่
  2. เว่ย์ชื่อผู่ระบุว่าโจฮวนมีพระชนมายุ 58 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอชียตะวันออก) เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในศักราชไท่อาน (太安) ปีที่ 1 ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ เมื่อคำนวณแล้ว ปีเกิดของพระองค์อาจเป็นปี ค.ศ. 245 หรือ ค.ศ. 246[1] ปีที่สิ้นพระชนม์เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 302 ถึง 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 303 ในปฏิทินจูเลียน
  3. บทพระราชประวัติโจฮวนในสามก๊กจี่ระบุว่าพระชายาเปี้ยนขึ้นเป็นจักรพรรดินีในวันกุ๋ยเหม่า (癸卯) ในเดือน 10 ของศักราชจิ่ง-ยฺเหวียน (景元) ปีที่ 4 ในรัชสมัยของโจฮวน เทียบได้กับวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 263 ในปฏิทินกริโกเรียน[6]
  4. วันอี๋โฉ่ว (乙丑) ในเดือน 10 ของศักราชเชินผิง (升平) ปีที่ 2[11]
  5. วันกุ่ยซื่อ (癸巳) ในเดือน 8 ของศักราชเจี้ยน-ยฺเหวียน (建元) ปีที่ 1[13]

อ้างอิง

แก้
  1. (年五十八,太安元年崩) อรรถาธิบายจากเว่ยชื่อผู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  2. (太安元年崩,谥曰元皇帝。) อรรถาธิบายจากเว่ยชื่อผู่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  3. (陳留王諱奐,字景明,武帝孫,燕王宇子也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  4. (甘露三年,封安次縣常道鄉公。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  5. (高貴鄉公卒,公卿議迎立公。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 04.
  6. [(景元四年十月)癸卯, 立皇后卞氏] สามก๊กจี่ เล่มที่ 04.
  7. (甲寅,復命大將軍進爵晉公,加位相國,備禮崇錫,一如前詔;又固辭乃止。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  8. (己卯,進晉公爵為王,封十郡,并前二十。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
  9. (己巳,詔陳留王載天子旌旗,備五時副車,行魏正朔,郊祀天地,禮樂制度皆如魏舊,上書不稱臣。) จิ้นชู เล่มที่ 3.
  10. "晋书 : 帝纪第七 显宗成帝 康帝 - Chinese Text Project". ctext.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-05-29.
  11. จิ้นชู เล่มที่ 8
  12. "晋书 : 帝纪第八 孝宗穆帝 哀帝 废帝海西公 - Chinese Text Project". ctext.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-05-29.
  13. หนานฉื่อ เล่มที่ 4

บรรณานุกรม

แก้
ก่อนหน้า โจฮวน ถัดไป
โจมอ   จักรพรรดิจีน
วุยก๊ก

(ค.ศ. 260–266)
  สุมาเอี๋ยน
ราชวงศ์จิ้นตะวันตก