ศาลและสุสานบังทอง

(เปลี่ยนทางจาก เนินหงส์ร่วง)

31°17′24.3″N 104°28′6.2″E / 31.290083°N 104.468389°E / 31.290083; 104.468389

ศาลและสุสานบังทอง
อักษรจีนตัวเต็ม龐統祠墓
อักษรจีนตัวย่อ庞统祠墓
ศาลมังกรและหงส์
อักษรจีนตัวเต็ม龍鳳祠
อักษรจีนตัวย่อ龙凤祠
ลกห้องโห (เนินหงส์ร่วง)
อักษรจีนตัวเต็ม落鳳坡
อักษรจีนตัวย่อ落凤坡

ศาลและสุสานบังทอง หรือชื่ออื่น ๆ ว่า ศาลมังกรและหงส์ และ เนินหงส์ร่วง เป็นศาลและสุสานที่ตั้งอยู่ในเมืองไป๋หม่ากวัน (白馬關鎮) เขตหลัวเจียง นครเต๋อหยาง มณฑลเสฉวน ประเทศจีน[1] ศาลเจ้าและสุสานสร้างเพื่ออุทิศแก่บังทอง (ค.ศ. 179–214) ที่ปรึกษาของเล่าปี่ จักรพรรดิผู้ก่อตั้งรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ศาลและสุสานกลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับความคุ้มครองในระดับชาติชุดที่หก[2]

ภูมิหลัง แก้

บังทองเป็นชาวเมืองซงหยง (襄陽郡 เซียงหยางจวิ้น; ปัจจุบันคือนครเซียงหยาง มณฑลหูเป่ย์) เริ่มรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ในเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจวิ้น; ปัจจุบันอยู่บริเวณนครจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) ก่อนมาเป็นที่ปรึกษาของขุนศึกเล่าปี่ในปี ค.ศ. 209 ครั้นเมื่อราวปี ค.ศ. 210 ได้ติดตามเล่าปี่เข้าร่วมในการศึกเพื่อเข้ายึดมณฑลเอ๊กจิ๋ว (มีพื้นที่ครอบคุลมมณฑลเสฉวนและนครฉงชิ่งในปัจจุบัน) จากขุนศึกเล่าเจี้ยง บังทองเสียชีวิตเพราะถูกยิงด้วยเกาทัณฑ์ในศึกที่อำเภอลกเสีย (雒縣 ลั่วเซี่ยน; ปัจจุบันอยู่ทางเหนือของนครกวั่งฮั่น มณฑลเสฉวน) ในปี ค.ศ. 214[3]

การเสียชีวิตของบังทองได้มีการเสริมเติมดัดแปลงในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ในนิยาย เตียวหยิมขุนพลของเล่าเจี้ยงจัดให้มีกองซุ่มอยู่นอกอำเภอลกเสีย ด้านเล่าปี่มอบม้าของตนคือเต๊กเลาให้บังทองขี่ก่อนเริ่มศึก บังทองนำกองทหารเข้าโจมตีอำเภอลกเสียและผ่านไปยังพื้นที่ที่มีการดักซุ่ม เตียวหยิมเห็นม้าเต๊กเลาก็เข้าใจว่าผู้ขี่คือเล่าปี่ สั่งให้ทหารยิงเกาทัณฑ์ใส่ผู้ขี่ บังทองถูกเกาทัณฑ์หลายดอกและเสียชีวิต ณ ที่นั้น สถานที่ที่บัวทองเสียชีวิตนั้นเรียกว่า "ลกห้องโห" (ลั่วเฟิ่งพัว) หรือ "เนินหงส์ร่วง"[4][5]

ประวัติของสุสานและศาล แก้

เล่าปี่ให้สร้างสุสานและศาลของบังทองในปี ค.ศ. 214 หลังการเสียชีวิตของบังทอง มีอีกชื่อเรียกว่า "วัดไป๋หม่า" (白馬寺; แปลว่า "วัดม้าขาว") เพราะตั้งอยู่ในเมืองไป๋หม่ากวัน (白馬關鎮; แปลว่า "เมืองประตูม้าขาว") และยังมีชื่อเรียกอื่นว่า "ศาลมังกรและหงส์" เพราะมีรูปปั้นของบังทองและจูกัดเหลียงอยู่ข้างใน บังทองและจูกัดเหลียงมีฉายานามว่า "หงส์อ่อน" (ฮองซู) และ "มังกรหลับ" (ฮกหลง) ตามลำดับ และทั้งคู่เป็นที่ปรึกษาของเล่าปี่[2]

ศาลและสุสานผุพังไปตามกาลเวลาแต่ได้รับการบูรณะในปี ค.ศ. 1691 ในรัชสมัยของจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง ในปัจจุบัน ศาลมีประตูใหญ่ โถงกลาง โถงข้างสองแห่ง และศาลา โดยสุสานตั้งอยู่ข้าง ๆ มีต้นสนขนาดใหญ่สองต้นภายในศาลซึ่งกล่าวกันว่าปลูกโดยเตียวหุย ขุนพลของเล่าปี่ มีกลอนคู่คู่หนึ่งอยู่ที่ประตูความว่า "แม้ว่าเป็นที่แน่ชัดว่าจักรพรรดิองค์ก่อน (เล่าปี่) ทรงโปรดหงส์ที่ร่วงหล่น (บังทอง) แต่มังกรหลับ (จูกัดเหลียง) ยังได้โอกาสเป็นเสนาบดีที่ครองตำแหน่งยาวนาน" ชีวประวัติบังทองที่เขียนโดยตันซิ่วในศตวรรษที่ 3 มีการสลักบนกำแพงศิลาในโถงกลาง[2]

ในวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ศาลและสุสานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ได้รับความคุ้มครองในระดับชาติชุดที่หก[2]

อ้างอิง แก้

  1. "Deyang (Sichuan) City Information". China Knowledge. สืบค้นเมื่อ 1 January 2015.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 昭化古城001 [Zhaohua Gucheng 001] (4 June 2014). "庞统祠墓 [Pang Tong Shrine and Tomb]". zhjmg.com (ภาษาจีน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 January 2015. สืบค้นเมื่อ 1 January 2015.
  3. จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 37.
  4. สามก๊ก ตอนที่ 63.
  5. "สามก๊ก ตอนที่ ๕๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ May 27, 2023.