โจมอ (ค.ศ. 241 - 2 มิถุนายน ค.ศ. 260)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉา เหมา (จีน: 曹髦; พินอิน: Cáo Máo; การออกเสียง) ชื่อรอง เยี่ยนชื่อ (จีน: 彥士; พินอิน: Yànshì) เป็นจักพรรดิลำดับที่ 4 ของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน โจมอเป็นพระนัดดา (หลานชาย) ของโจผีจักรพรรดิลำดับแรกของวุยก๊ก โจมอเป็นผู้ทรงเฉลียดฉลาดและขยันเล่าเรียน พระองค์พยายามชิงอำนาจรัฐคืนจากสุมาเจียวซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หลายครั้งแต่ล้มเหลว พระองค์ถูกปลงพระชนม์ระหว่างทรงพยายามก่อรัฐประหารต่อสุมาเจียว

โจมอ (เฉา เหมา)
曹髦
ภาพวาดโจมอจากนวนิยายภาพสามก๊ก (ค.ศ. 1957)
จักรพรรดิแห่งวุยก๊ก
ครองราชย์2 พฤศจิกายน ค.ศ. 254 – 2 มิถุนายน ค.ศ. 260[1]
ก่อนหน้าโจฮอง
ถัดไปโจฮวน
ผู้สำเร็จราชการสุมาสู
สุมาเจียว
เกากุ้ยเซียงกง (高貴鄉公)
ดำรงตำแหน่งค.ศ. 244 – 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 254
ประสูติ241[a]
สวรรคต2 มิถุนายน พ.ศ. 260[a]
ลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน
คู่อภิเษกจักพรรดินีเปี้ยน
พระนามเต็ม
ชื่อสกุล: โจ (曹 เฉา)
ชื่อตัว: มอ (髦 เหมา)
ชื่อรอง: เยี่ยนชื่อ (彥士)
รัชศก
ราชวงศ์ราชวงศ์โจ
พระราชบิดาเฉา หลิน

ภูมิหลังครอบครัวและการขึ้นครองราชย์

แก้

โจมอเป็นพระโอรสของเฉา หลิน (曹霖) อ๋องแห่งตองไฮ (東海王 ตงไห่หวาง) พระโอรสของโจผี ในปี ค.ศ. 244 ขณะมีพระชนมายุ 3 พรรษา ตามกฎหมายของวุยก๊กแล้วพระโอรสของอ๋อง (นอกเหนือจากพระโอรสองค์โตที่เกิดกับพระชายา ซึ่งตามธรรมเนียมกำหนดให้เป็นทายาทของอ๋อง) จะได้รับการแต่งตั้งให้มีบรรดาศักดิ์ก๋ง (公 กง) โจมอได้รับบรรดาศักดิ์เป็น "เกากุ้ยเซียงกง" (高貴鄉公)[3] เฉา หลินสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 249 ขณะโจมอมีพระชนมายุ 8 พรรษา พระเชษฐาของโจมอคือเฉา ฉี่ (曹啟) ได้สืบทอดบรรดาศักดิ์อ๋องแห่งตองไฮสืบจากพระบิดา

ในช่วงเวลานั้นอำนาจรัฐอยู่ใต้การควบคุมของตระกูลสุมาหลังจากที่สุมาอี้ได้ยึดอำนาจจากโจซองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในปี ค.ศ. 249[3] หลังสุมาอี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 ตระกูลสุมาได้รับการนำโดยสุมาสูบุตรชายคนโตของสุมาอี้[3] ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูกล่าวหาเตียวอิบซึ่งพระสัสสุระ (พ่อตา) ของโจฮอง รวมถึงพรรคพวกของเตียวอิบคือลิฮองและแฮเฮาเหียนในข้อหากบฏ สุมาสูสั่งให้ประหารชีวิตทั้งสามรวมถึงครอบครัว ในปีถัดมาโจฮองทรงพระดำริจะก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจตระกูลสุมา สุมาสูทราบความจึงปลดพระองค์ออกจากการเป็นจักพรรดิ[3]

เวลานั้นเองกวยทายเฮาผู้เป็นพระมารดาเลี้ยงของโจฮองพยายามอีกครั้งที่จะรักษาพระราขอำนาจของราชตระกูลโจโดยนำพระองค์ไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกจักรพรรดิองค์ถัดไป สุมาสูทูลกวยทายเฮาว่าตนต้องการจะตั้งให้โจกี๋ (曹據 เฉา จฺวี้) ผู้เป็นอ๋องแห่งแพเสีย (彭城王 เผิงเฉิงหวาง) และเป็นพระอนุชาของโจผีให้เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่ กวยทายเฮาทรงพยายามโน้มน้าวสุมาสูว่าการสืบราชบัลลังก์ดังกล่าวไม่เหมาะสม เพราะโจกี๋เป็นพระปิตุลา (อา) ของโจยอย (จักรพรรดิลำดับที่ 2 ของวุยก๊ก) ผู้เป็นพระสวามีของพระองค์ การสืบราชบัลลังก์เช่นนี้จะทำให้โจยอยไม่มีทายาท สุมาสูจึงจำต้องยอมเห็นด้วยกับข้อเสนอของกวยทายเฮาที่จะให้โจมอเปนจักรพรรดิ (เวลานั้นโจมอแม้ยังทรงพระเยาว์เพียง 13 พรรษา แต่ก็ทรงมีชื่อเสียงในเรื่องสติปัญญา และกวยทายเฮาก็อาจทรงเชื่อว่าโจมอเป็นเจ้าชายเพียงพระองค์เดียวที่มีโอกาสจะโต้กลับตระกูลสุมาได้) เมื่อสุมาสูทูลถามกวยทายเฮาถึงเรื่องพระราชลัญจกร กวยทายเฮาก็ทรงให้เหตุผลและปฏิเสธอย่างสุภาพ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงเคยพบกับโจมอมาก่อนและมีพระประสงค์จะถวายพระราชลัญจกรแก่โจมอด้วยพระองค์เอง เมื่อโจมอเสด็จมานครหลวง พระองค์ปฏิบัติตนตามธรรมเนียมในฐานะก๋งมากกว่าในฐานะจักรพรรดิจนกว่าพระองค์จะขึ้นเสวยราชย์ พระจริยวัตรนี้ทำให้พระองค์ได้รับการสนับสนุนและการสรรเสริญว่าเป็นจักรพรรดิหนุ่มผู้ถ่อมตน

รัชสมัย

แก้

ในปี ค.ศ. 255 ขุนพลบู๊ขิวเขียมและบุนขิมเริ่มก่อกบฏต่อตระกูลสุมาในฉิวฉุน แต่ถูกทัพของสุมาสูปราบลงอยู่รวดเร็ว บู๊ขิวเขียมและครอบครัวถูกสังหาร บุนขิมและบุตรชายคือบุนเอ๋งและบุนเฮา (文虎 เหวิน หู่) หนีไปเข้าด้วยง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก สุมาสูเสียชีวิตด้วยอาการป่วยหลังจากกบฏถูกปราบปรามไม่นาน หลังการเสียชีวิตของสุมาสู โจมอซึ่งขณะนั้นมีพระชนมายุ 14 พรรษาทรงพยายามอีกครั้งที่จะยึดพระราชอำนาจคืนมา พระองค์ออกพระราชโองการให้สุมาเจียวที่เป็นผู้สืบทอดอำนาจของสุมาสูให้ยังคงอยู่ที่ฮูโต๋ โดยให้เหตุผลว่าสถานการณ์ในฉิวฉุนยังไม่สงบโดยสมบูรณ์ พระองค์ยังทรงเรียกตัวเปาต้านที่เป็นผู้ช่วยของสุมาสูกลับมายังราชสำนักพร้อมกับกำลังพล อย่างไรก็ตาม สุมาเจียวทำตามคำแนะนำของเปาต้านและจงโฮย คือเพิกเฉยต่อพระราชโองการและยกทัพกลับมานครหลวงลกเอี๋ยง และยังคงกุมอำนาจในราชสำนักต่อไป

อีกไม่กี่ปีต่อมา โจมอทรงค่อย ๆ รวมกลุ่มผู้คนรอบพระองค์ ได้แก่ สุมาปองลูกพี่ลูกน้องของสุมาเจียว, อองซิม, โปยสิว และจงโฮย ทุกคนเป็นผู้มีชื่อเสียงในด้านความสามารถทางวรรณกรรม คนเหล่านี้เป็นผู้สนับสนุนตระกูลสุมา แต่อาจได้ประโยชน์บางอย่างหากแสดงความภักดีต่อโจมอ พระองค์ทรงทำเช่นนี้ด้วยหวังว่าจะลดความระแวงของสุมาเจียวที่มีต่อพระองค์ ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากคนเหล่านี้ด้วย พระองค์มักจะทรงจัดงานพบปะกับคนเหล่านี้เพื่อสนทนาในเรื่องวรรณกรรม นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานรถสองล้อเคลื่อนที่เร็วและราชองครักษ์ 5 นายสำหรับคุ้มกันให้กับสุมาปอง เพราะสุมาปองอาศัยอยู่ห่างไกลจากพระราชวังมากกว่าคนอื่น ๆ

ราวปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนผู้ขึ้นเป็นแม่ทัพในฉิวฉุนแทนที่บู๊ขิวเขียม ได้เริ่มก่อกบฏต่อสุมาเจียว โดยได้รับการสนับสนุนจากง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก สุมาเจียวนำทัพไปปราบกบฏด้วยตนเองและล้อมกบฏไว้ได้ในป้อมในช่วงต้นปี ค.ศ. 28 เกิดความขัดแย้งภายในฉิวฉุนขึ้นระหว่างจูกัดเอี๋ยนและบุนขิม (ซึ่งร่วมอยู่ในกองกำลังของง่อก๊กที่ยกมาเพื่อสนับสนุนการก่อกบฏ) ซึ่งจบลงด้วยการเสียชีวิตของบุนขิมด้วยฝีมือของจูกัดเอี๋ยน และการแปรพักตร์ของบุตรชายทั้งสองของบุนขิมไปเข้าด้วยสุมาเจียว ในที่สุดฉิวฉุนก็ถูกทัพสุมาเจียวตีแตกและกบฏถูกปราบปราม ใน ค.ศ. 259 โจมาทรงได้รับรายงานการพบมังกรเหลือง (เป็นนิมิตมงคล) ในสระน้ำสองแห่ง พระองค์ทรงให้ความเห็นว่าแท้จริงแล้วเป็นนิมิตอัปมงคลต่างหาก และทรงพระราชนิพนธ์กวีนิพนธ์ชื่อ เฉียนหลงชือ (濳龍詩; แปลว่า "กวีนิพนธ์เรื่องมังกรซ่อนกาย") ความว่า:

มังกรที่น่าสงสารติดกับดัก
ไม่อาจโผนข้ามเหวลึก
ไม่อาจทะยานสู่ฟ้า
ไม่อาจร่อนลงผืนนา
ม้วนตัวอยู่ก้นบ่อ
ปลาไหลระบำอยู่ต่อหน้า
ซ่อนฟันแฝงกรงเล็บ
ถอนใจว่าข้าก็ทุกข์เช่นกัน
傷哉龍受困,不能越深淵。
上不飛天漢,下不見於田。
蟠居於井底,鰍鱔舞其前。
藏牙伏爪甲,嗟我亦同然!

กวีนิพนธ์นี้ทำให้สุมาเจียวไม่พอใจอย่างมาก และเพ่งเล็งการกระทำหลังจากนั้นของโจมอมากยิ่งขึ้น ในปี ค.ศ. 258 ภายใต้แรงกดดันจากสุมาเจียว โจมอจึงทรงออกพระราชโองการพระราชทานเครื่องยศเก้าประการแก่สุมาเจียว แต่สุมาเจียวปฏิเสธ

ความพยายามก่อการรัฐประหารและการเสียชีวิต

แก้

ราวเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 260[b] โจมอทรงถูกบังคับอีกครั้งให้ออกพระราชโองการแต่งตั้งสุมาเจียวให้เป็นจีนก๋ง (晉公 จิ้นกง) พร้อมพระราชทานเครื่องยศเก้าประการ สุมาเจียวปฏิเสธอย่างหนักแน่นถึง 9 ครั้ง หลังจากโจมอทรงถูกบังคับให้กระทำเช่นเดิมอีกครั้ง สุมาเจียวก็ปฏิเสธอีก ซึ่งทำให้โจมอไม่พอพระทัยมากยิ่งขึ้น โจมอทรงเรียกอองซิม อองเก๋ง และอองเหงียบมาเข้าเฝ้า แล้วทรงประกาศแผนการของพระองค์ที่พยายามเป็นครั้งสุดท้ายในการชิงพระราชอำนาจคืนจากสุมาเจียว ภายหลังอองสิมและอองเหงียบไปเตือนสุมาเจียวในเรื่องนี้ โจมอทรงพระแสงดาบและนำกำลังทหารราชองครักษ์ด้วยพระองค์เองออกจากพระราชวังเข้าโจมตีสุมาเจียว สุมาเตี้ยมน้องชายของสุมาเจียวนำกำลังป้องกันที่ประตูแต่พ่ายแพ้ กาอุ้นนำกำลังป้องกันอีกกองที่หอสังเกตการณ์ด้านใต้และสั่งให้นายทหารเซงเจปลงพระชนม์โจมอ เซงเจใช้ทวนแทงเข้าพระอุระของโจมอจนพระองค์สวรรคต

สุมาเจียวบังคับให้กวยทายเฮาออกพระราชเสาวนีย์กล่าวโทษโจมอว่าวางแผนโจมตีกวยทายเฮา แล้วให้ถอดพระอิสริยยศของโจมอออก เพื่อเสนอไปว่าการโจมตีของโจมอเป็นการมุ่งเป้าไปที่กวยทายเฮามากกว่าจะเป็นตัวสุมาเจียวเอง สุมาหูอาของสุมาเจียวและเสนาบดีคนอื่น ๆ เสนอให้สุมาเจียวคืนสถานะให้โจมอเป็นก๋งและฝังพระศพอย่างสมพระเกียรติเจ้าชาย แต่สุมาเจียวปฏิเสธ โจมอจึงไม่ได้รับการฝังศพอย่างสมเกียรติเจ้าชาย สุมาเจียวยังคงปฏิเสธการรับตำแหน่งจีนก๋งและเครื่องยศเก้าประการ

สุมาเจียวกล่าวโทษเซงเจในข้อหาปลงพระชนม์และสั่งประหารทั้งครอบครัว เฉา หฺวาง (曹璜; ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโจฮวน) ผู้เป็นฉางเต้าเซียงกง (常道鄉公) ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิองค์ใหม่และเป็นจักรพรรดิหุ่นเชิดองค์สุดท้ายของวุยก๊กก่อนที่สุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวจะชิงราชบัลลังก์วุยก๊กในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266

ชื่อศักราช

แก้

ครอบครัว

แก้

พระมเหสี:

เฉา ป้า (曹霸) ศิลปินในยุคราชวงศ์ถัง เป็นผู้สืบเชื้อสายของโจมอ

พงศาวลี

แก้
โจโฉ (ค.ศ. 155–220)
โจผี (ค.ศ. 187–226)
เปียนซี (ค.ศ. 161–230)
เฉา หลิน (สิ้นพระชนม์ ค.ศ. 251)
ฉิวชื่อ
โจมอ (ค.ศ. 241–260)

ดูเพิ่ม

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 บทพระราชประวัติโจมอในจดหมายเหตุสามก๊กบันทึกว่าพระองค์สวรรคตในวันจี๋โฉฺ่ว (己丑) ของเดือน 5 ศักราชกำลอ (甘露 กานลู่) ปีที่ 5 ในรัชสมัยของพระองค์ ขณะพระชนมายุ 20 พรรษา (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[2] วันสวรรคตเทียบได้กับวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 260 ในปฏิทินเกรโกเรียน เมื่อคำนวณแล้ววันที่ที่พระองค์ประสูติอยู่ในปี ค.ศ. 241 เพราะพระองค์สวรรคตขณะพระชนมายุ 19 พรรษาในปี ค.ศ. 260
  2. เดือน 4 ศักราชกำลอ (甘露 กานลู่) ปีที่ 5 ตามที่ระบุในพระราชประวัติโจมอในจดหมายเหตุสามก๊ก เดือนนี้เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 28 เมษายนถึง 26 พฤษภาคม ค.ศ. 260 ในปฏิทินจูเลียน

อ้างอิง

แก้
  1. Vervoorn 1990, p. 316.
  2. ([甘露五年]五月己丑,高貴鄉公卒,年二十。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 4.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Chen, Shou (1999). Empresses and Consorts: Selections from Chen Shou's Records of the Three States With Pei Songzhi's Commentary. University of Hawaii Press. p. 197. ISBN 0824819454.

บรรณานุกรม

แก้
ก่อนหน้า โจมอ ถัดไป
โจฮอง   จักรพรรดิจีน
วุยก๊ก

(ค.ศ. 254-260)
  โจฮวน