บุนเอ๋ง
บุนเซ็ก (ค.ศ. 238[1] – 23 เมษายน ค.ศ. 291[b])[2] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เหวิน ชู่ (จีน: 文俶; พินอิน: Wén Chù) ชื่อรอง ชื่อเชียน (จีน: 次騫; พินอิน: Cìqiān) เป็นที่รู้จักในชือ บุนเอ๋ง[c] ชื่อในภาษาจีนกลางว่า เหวิน ยาง (จีน: 文鴦; พินอิน: Wén Yāng) เป็นนายทหารของราชวงศ์จิ้นในประวัติศาสตร์จีน เดิมบุนเอ๋งรับราชการในรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก
บุนเอ๋ง (เหวิน ยาง) | |
---|---|
文鴦 | |
นายพันตงอี๋ (東夷校尉 ตงอี๋เซี่ยวเว่ย์) | |
ดำรงตำแหน่ง ป. ทศวรรษ 280 – ค.ศ. 291 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ (สุมาเอี๋ยน) จักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ |
ผู้พิทักษ์ทัพสงบอนารยชน (平虜護軍 ผิงหลู่ฮู่จฺวิน) | |
ดำรงตำแหน่ง ? – ป. ทศวรรษ 280 | |
กษัตริย์ | จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ (สุมาเอี๋ยน) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | บุนเซ็ก (文俶 เหวิน ชู่) ค.ศ. 238[a] |
เสียชีวิต | 23 เมษายน ค.ศ. 291 (53 ปี)[2] |
บุพการี |
|
ความสัมพันธ์ | บุนเฮา (น้องชาย) |
อาชีพ | นายทหาร |
ชื่อรอง | ชื่อเชียน (次騫) |
บรรดาศักดิ์ | กวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) |
ในปี ค.ศ. 255 บุนเอ๋งเข้าร่วมในการก่อกบฏในฉิวฉุนที่เริ่มก่อการโดยบุนขิมผู้บิดาและบู๊ขิวเขียมที่เป็นขุนพลวุยก๊กอีกคน แต่กบฏถูกปราบปราม บุนขิมและครอบครัวจำตองหนีไปสวามิภักดิ์ต่อง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก ในปี ค.ศ. 257 เมื่อเกิดการก่อกบฏอีกครั้งในฉิวฉุน บุนขิมและเหล่าบุตรชายนำกองกำลังจากง่อก๊กมาสนับสนุนจูกัดเอี๋ยนที่เป็นผู้นำกบฏ แต่ในปี ค.ศ. 258 บุนขิมเกิดความขัดแย้งกับจูกัดเอี๋ยน จูกัดเอี๋ยนระแวงบุนขิมมากขึ้นเรื่อย ๆ และในที่สุดก็สั่งประหารชีวิตบุนขิม บุนเอ๋งและบุนเฮา (文虎 เหวิน หู่) น้องชายหนีจากฉิวฉุนและยอมสวามิภักดิ์กับสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของวุยก๊ก และช่วยเหลือสุมาเจียวในการปราบกบฏ
บุนเอ๋งรับราชการต่อไปกับราชวงศ์จิ้นซึ่งมาแทนที่การปกครองของวุยก๊กในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 และขึ้นมามีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำทัพในการรบกับกบฏชนเผ่าที่นำโดยทูฟ่า ชู่จีเหนิง (禿髮樹機能) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ในเดือนเมษายน ค.ศ. 291 บุนเอ๋งถูกกล่าวหาว่าร่วมมือกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หยาง จฺวิ้น (楊駿) วางแผนจะก่อกบฏ บุนเอ๋งจึงถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัว
ประวัติ
แก้บุนเอ๋งเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของบุนขิมขุนพลของรัฐวุยก๊ก บ้านเกิดบรรพบุรษของบุนเอ๋งคือที่เมืองเจียวก๋วน (譙郡 เฉียวจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในนครปั๋วโจว มณฑลอานฮุย[3] บุนเอ๋งมีชื่อเสียงในด้านพละกำลังตั้งแต่วัยเยาว์[4]
กบฏในฉิวฉุนครั้งที่ 2
แก้ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ผู้ผูกขาดอำนาจรัฐในวุยก๊กปลดจักรพรรดิโจฮองจากตำแหน่งและตั้งโจมอขึ้นครองราชย์แทน บุนขิมผู้ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลยังจิ๋วในเวลานั้นรู้สึกไม่พอใจการกระทำของสุมาสูเป็นอย่างมากและต้องการจะก่อกบฏต่อสุมาสู บู๊ขิวเขียมขุนพลของวุยก๊กอีกคนก็ร่วมสนับสนุนบุนขิม ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 255 บู๊ขิวเขียม บุนขิม และคนอื่น ๆ ออกพระราชเสาวนีย์ปลอมในพระนามของกวยทายเฮา แสดงรายการความผิด 11 กระทงที่ิอ้างว่าสุมาสูก่อขึ้น และเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) เพื่อโค่นล้มสุมาสูและตระกูลรวมทั้งผู้สนับสนุนออกจากอำนาจ สุมาสูได้รับข่าวจากเตงงายเรื่องการก่อกบฏของบุนขิวและบู๊ขิวเขียม สุมาสูจึงลอบระดมพลทหารหลวง นำทัพด้วยตนเองไปปราบกบฏและไปถึงงักแกเสีย (樂嘉 เยฺว่เจีย; ปัจจุบันคือนครเซี่ยงเฉิง มณฑลเหอหนาน) บุนขิมรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้ยินว่าสุมาสูยกทัพมาอย่างรวดเร็ว[5]
บุนเอ๋งบอกกับบุนขิมผู้บิดาว่า "ข้าศึกยังไม่ได้ตั้งหลัก เราเอาชนะพวกมันได้หากเราโจมตีตอนนี้" บุนขิมทำตามคำแนะนำของบุนเอ๋งและส่งกองกำลัง 2 กองแยกเข้าโจมตีสุมาสูในเวลากลางคืน คืนนั้นบุนเอ๋งนำทหารของตนบุกโจมตีค่ายวุยก๊กและตะโกนชื่อของสุมาสูระหว่างการโจมตี ทหารวุยก๊กต่างตกตะลึง สุมาสูเกิดความวิตกกังวลส่งผลทำให้อาการป่วยที่ตาซึ่งเพิ่งได้รับการผ่าตัดมาแย่ลง และทำให้ลูกตาถลนออกจากเบ้า อย่างไรก็ตาม สุมาสูไม่ต้องการให้ทหารรู้เรื่องอาการป่วยของตนและจะยิ่งตื่นตระหนก จึงทนความเจ็บปวดและใช้ฟันกัดหมอนและผ้าห่มของตนเพื่อระบายความเจ็บปวดจนหมอนและผ้าห่มฉีกขาดเป็นชิ้น ๆ ด้านบุนเอ๋งเห็นว่ากำลังทหารฝ่ายข้าศึกมีมากกว่าตนและฝ่ายตนกำลังเสริมยังมาไม่ถึง บุนเอ๋งจึงล่าถอยไปก่อนรุ่งสาง[6][7]
หลังจากบุนเอ๋งล่าถอยไป สุมาสูสั่งให้นายทหารไล่ตามข้าศึก แต่เหล่านายทหารพูดว่า "บุนขิมและบุตรชายเป็นทหารผ่านศึก พวกเขาไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เหตุใดพวกเขาจึงล่าถอยไปเล่า" สุมาสูตอบว่า "ตีเหล็กต้องตีตอนร้อน ไม่เช่นนั้นก็เสียแรงผลักดัน (บุน) เอ๋งเป็นคนใจร้อนและไม่ได้รับการหนุนช่วยทันกาล พวกเขาเสียแรงผลักดันจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากล่าถอย!" ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น บุนขิมได้ล่าถอยกลับไปฉิวฉุน แต่บุนเอ๋งกล่าวกับบุนขิมว่า "เราไม่ควรล่าถอยจนกว่าจะสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ข้าศึกเสียก่อน" แล้วบุนเอ๋งจึงนำทหารม้าประมาณ 10 นายเข้าโจมตีทัพวุยก๊กอย่างกองกำลังที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้ ก่อนจะล่าถอยไป ซือหม่า ปาน (司馬班) นายทหารของสุมาสูนำทหารม้าประมาณ 8,000 นายไล่ตามกองกำลังของบุนเอ๋ง บุนเอ๋งหันกลับมาและเข้าโจมตี สังหารทหารข้าศึกไปประมาณ 100 นายขณะบุกเข้าและออกแนวรบของข้าศึกรวม 6-7 ครั้ง ข้าศึกไม่กล้าเข้าไปใกล้บุนเอ๋ง[8]
ในที่สุดกบฏก็ถูกปราบปรามโดยทัพวุยก๊กในปี ค.ศ. 255 และบู๊ขิวเขียมถูกสังหาร บุนขิมและครอบครัวหนีไปแปรพักตร์เข้าด้วยง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก ด้านสุมาสูเสียชีวิตด้วยอาการป่วยในฮูโต๋ (許昌 สฺวี่ชาง; ปัจจุบันคือนครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) ในปีเดียวกันหลังกบฏถูกปราบปราม[5]
กบฏในฉิวฉุนครั้งที่ 3
แก้ในปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) อีกครั้งเพื่อต่อต้านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียวผู้สิบทอดอำนาจต่อจากสุมาสูพี่ชาย ซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กสั่งให้บุนขิมและเหล่าบุตรชายพร้อมด้วยนายทหารง่อก๊กคนอื่น ๆ นำกำลังทหารไปฉิวฉุนเพื่อช่วยเหลือจูกัดเอี๋ยน สุมาเจียวนำทัพวุยก๊กด้วยตนเองไปยังฉิวฉุนเพื่อปราบกบฏ ครั้นในปี ค.ศ. 228 จูกัดเอี๋ยนซึ่งเดิมไม่ไว้วางใจบุนขิมอยู่แล้วก็ระแวงบุนขิมมากขึ้น ในที่สุดจูกัดเอี๋ยนก็สั่งให้นำตัวบุนขิมไปประหารชีวิต[9]
เมื่อบุนเอ๋งและบุนเฮา (文虎 เหวิน หู่) น้องชายทราบข่าวการเสียชีวิตของบุนขิมผู้บิดา ทั้งคู่จึงนำทหารของตนไปเผชิญหน้ากับจูกัดเอี๋ยนเพื่อล้างแค้นให้บิดา แต่ทหารเหล่านั้นปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่ง บุนเอ๋งและบุนเฮาที่สิ้นหวังจึงปีนกำแพงเมืองหนีออกจากฉิวฉุนและแปรพักตร์เข้าด้วยฝ่ายสุมาเจียว สุมาเจียวกล่าวว่า "บุนขิมกระทำความผิดที่ไม่อาจให้อภัยได้ (การก่อกบฏ) บุตรชายของเขาก็ควรถูกประหารชีวิต แต่ในเมื่อ (บุน) เอ๋งและ (บุน) เฮาตัดสินใจยอมจำนนภายใต้สถานการณ์ที่สิ้นหวัง และในเมื่อเมือง (ฉิวฉุน) ยังไม่ถูกยึด การสังหารสองคนนี้ก็มีแต่จะทำให้ข้าศึกยิ่งตัดสินใจต่อต้านต่อไปเท่านั้น" สุมาเจียวจึงนิรโทษกรรมให้บุนเอ๋งและบุนเฮา แต่งตั้งให้ทั้งคู่เป็นนายทหาร ตั้งให้ทั้งคู่มีบรรดาศักดิ์ระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว) และสั่งให้ทั้งคู่นำทหารม้าหลายร้อยนายเดินไปรอบกำแพงฉิวฉุนและตะโกนกับกลุ่มกบฏว่า "ดูสิ บุตรชายของบุนขิมได้รับการไว้ชีวิตหลังยอมจำนน จะมีอะไรต้องกลัวเล่า" กลุ่มกบฏที่ขาดแคลนเสบียงและติดอยู่ในเมือง สูญเสียขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้ ในเดือนถัดมา ทัพของสุมาเจียวก็ตีฉิวฉุนแตกและเข้ายึดได้ จูกัดเอี๋ยนถูกสังหารขณะพยายามหลบหนี กบฏก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ[9] สุมาเจียวอนุญาตให้บุนเอ๋งและบุนเฮาไปกู้ศพของบิดาและทำพิธีศพอย่างเหมาะสม สุมาเจียวยังมอบรถม้าและวัวให้ทั้งคู่[10]
รับราชการกับราชวงศ์จิ้น
แก้บุนเอ๋งรับราชการต่อไปกับราชวงศ์จิ้นซึ่งขึ้นมามีอำนาจแทนที่รัฐวุยก๊กในปี ค.ศ. 266 หลังสุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียวบังคับให้โจฮวนจักรพรรดิลำดับสุดท้ายของวุยก๊กสละราชบัลลังก์ให้ตน ในปี ค.ศ. 275 บุนเอ๋งผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิทักษ์ทัพสงบอนารยชน (平虜護軍 ผิงหลู่ฮู่จฺวิน) นำทัพราชวงศ์จิ้นจากมณฑลยงจิ๋วและเลียงจิ๋วเข้าโจมตีกบฏชนเผ่าที่นำโดยทูฟ่า ชู่จีเหนิง (禿髮樹機能) ทัพของบุนเอ๋งข่มขวัญกลุ่มกบฏ ทำให้ชู่จีเหนิงและชนเผ่าประมาณ 200,000 คนกลับมายอมจำนนต่อราชวงศ์จิ้น[11][12] เมื่อชู่จีเหนิงก่อกบฏอีกครั้งในปี ค.ศ. 277 บุนเอ๋งก็เอาชนะได้อย่างรวดเร็ว[13] บทบาทของบุนเอ๋งในการปราบกบฏทำให้บุนเอ๋งมีชื่อเสียงในด้านวีรกรรมในการศึกและความกล้าหาญในการรบ[14]
เสียชีวิต
แก้ในช่วงศักราชไท่คาง (太康; ค.ศ. 280-289) บุนเอ๋งได้รับการแต่งตั้งเป็นนายพันตงอี๋ (東夷校尉 ตงอี๋เซี่ยวเว่ย์) บุนเอ๋งเข้าเฝ้าจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน (จิ้นอู่ตี้) ในราชสำนักเพื่อทูลลาก่อนเดินทางไปรับตำแหน่ง แต่จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงไม่โปรดบุนเอ๋งหลังได้พบ และทรงหาข้ออ้างปลดบุนเอ๋งจากตำแหน่ง ในปี ค.ศ. 291 ในรัชสมัยของจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ หลังผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หยาง จฺวิ้น (楊駿) ถูกปลดจากตำแหน่ง หลานตาของจูกัดเอี๋ยนชื่อซือหม่า เหยา (司馬繇) ผู้มีฐานันดรศักดิ์เป็นตงอานกง (東安公) มีความไม่พอใจต่อบุนเอ๋งที่มีส่วนต่อการเสียชีวิตของจูกัดเอี๋ยนผู้ตา จึงกล่าวหาว่าบุนเอ๋งร่วมวางแผนกับหยาง จฺวิ้นจะก่อกบฏ บุนเอ๋งจึงถูกจับกุมและถูกประหารชีวิตพร้อมกับครอบครัว[2][15]
ในนิยายสามก๊ก
แก้บุนเอ๋งปรากฏในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ซึ่งเล่าเรื่องเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ในนวนิยายบรรยายถึงบุนเอ๋งว่า:
"... บุนเอ๋งอายุสิบแปดปี สูงแปดฉื่อ สวมชุดเกราะเต็มตัว มีกระบองเหล็กสะพายที่เอว จับทวนขึ้นม้า สำรวจค่ายวุยจากระยะไกลและรุดหน้าไป"[16]
บทกวีในนวนิยายเปรียบเทียบวีรกรรมของบุนเอ๋งในการโจมตีค่ายของสุมาสูที่งักแกเสียกับวีรกรรมของเตียวจูล่งในยุทธการที่เตียงปัน[17]
ในวัฒนธรรมประชานิยม
แก้บุนเอ๋งปรากฏครั้งแรกในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในภาคที่ 8ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอ
ดูเพิ่ม
แก้หมายเหตุ
แก้- ↑ จือจื้อทงเจี้ยนบันทึกว่าบุนเอ๋งมีอายุ 18 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) ในปี ค.ศ. 255 (ศักราชเจงหงวนปีที่ 2 ของรัชสมัยของโจมอ)[1] เมื่อคำนวณแล้วปีเกิดนของบุนเอ๋งจึงควรเป็นประมาณ ค.ศ. 238
- ↑ วันซินเหม่า (辛卯) เดิอน 3 ของศักราชหย่งผิง (永平) ปีที่ 1 จากบทพระราชประวัติจักรพรรดิจิ้นฮุ่ยตี้ในจิ้นชู ซึ่งบันทึกชื่อของบุนเซ็กเป็น "เหวิน ชู" (จีน: 文淑; พินอิน: Wén Shū) ซึ่งอาจเป็นการบันทึกผิดพลาด
- ↑ เอ๋ง (鴦 ยาง) เป็นชื่อตัวในวัยเด็กของบุนเอ๋ง (แม้ว่าจือจื้อทงเจี้ยนใช้ชื่อนี้เพื่อกล่าวถึงบุนเอ๋ง) ชื่อตัวอย่างเป็นทางการของบุนเอ๋งคือ เซ็ก (俶 ชู่ Chù) จิ้นชูบันทึกชื่อตัวเป็น "ชู" (淑 Shū) แต่เนื่องจากความคล้ายคลึงระหว่างตัวอักษร 2 ตัวนี้จึงอาจเป็นการบันทึกผิดพลาด
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ([正元二年] ... 欽子鴦,年十八,勇力絕人, ...) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 82.
- ↑ (魏書曰:欽字仲若,譙郡人。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชูในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
- ↑ (魏氏春秋曰:欽中子俶,小名鴦。年尚幼,勇力絕人, ...) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
- ↑ 5.0 5.1 จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
- ↑ (... 謂欽曰:「及其未定,擊之可破也。」於是分為二隊,夜夾攻軍。俶率壯士先至,大呼大將軍,軍中震擾。欽後期不應。會明,俶退,欽亦引還。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
- ↑ (於是分為二隊,夜夾攻軍,鴦帥壯士先至鼓譟,軍中震擾。師驚駭,所病目突出,恐衆知之,囓被皆破。欽失期不應,會明,鴦見兵盛,乃引還。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
- ↑ (師與諸將曰:「賊走矣,可追之!」諸將曰:「欽父子驍猛,未有所屈,何苦而走?」師曰:「夫一鼓作氣,再而衰。鴦鼓譟失應,其勢已屈,不走何待!」欽將引而東,鴦曰:「不先折其勢,不得去也。」乃與驍騎十餘摧鋒陷陳,所向皆披靡,遂引去。師使左長史司馬班率驍將八千翼而追之,鴦以匹馬入數千騎中,輒殺傷百餘人,乃出,如此者六七,追騎莫敢逼。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
- ↑ 9.0 9.1 จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 77.
- ↑ (欽子鴦及虎將兵在小城中,聞欽死,勒兵馳赴之,衆不為用。鴦、虎單走,踰城出,自歸大將軍。軍吏請誅之,大將軍令曰:「欽之罪不容誅,其子固應當戮,然鴦、虎以窮歸命,且城未拔,殺之是堅其心也。」乃赦鴦、虎,使將兵數百騎馳巡城,呼語城內云:「文欽之子猶不見殺,其餘何懼?」表鴦、虎為將軍,各賜爵關內侯。城內喜且擾,又日飢困,誕、咨等智力窮。 ... 聽鴦、虎收斂欽喪,給其車牛,致葬舊墓。) จดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28.
- ↑ ([咸寧元年]二月...叛虜樹機能送質請降。) จิ้นชู เล่มที่ 3
- ↑ (樹機能、侯彈勃等欲先劫佃兵,駿命平虜護軍文俶督涼、秦、雍諸軍各進屯以威之。機能乃遣所領二十部彈勃面縛軍門,各遣入質子。安定、北地、金城諸胡吉軻羅、侯金多及北虜熱冏等二十萬口又來降。) จิ้นชู เล่มที่ 38
- ↑ ([咸寧三年]三月,平虜護軍文淑討叛虜樹機能等,並破之。) จิ้นชู เล่มที่ 3
- ↑ (幹寶《晉紀》曰:文淑,字次騫,小名鴦,有武力籌策。楊休、胡烈爲虜所害,武帝西憂,遣淑出征,所向摧靡,秦涼遂平,名震天下。爲東夷校尉,姿器膂力,萬人之雄。) ไท่ผิง-ยฺวี่หล่าน เล่มที่ 275.
- ↑ (鴦一名俶。晉諸公贊曰,俶後為將軍,破涼州虜,名聞天下。太康中為東夷校尉、假節。當之職,入辭武帝,帝見而惡之,託以他事免俶官。東安公繇,諸葛誕外孫,欲殺俶,因誅楊駿,誣俶謀逆,遂夷三族。) อรรถาธิบายของเผย์ ซงจือในจดหมายเหตุสามก๊ก เล่มที่ 28 อ้างถึงจิ้นจูกงจ้าน.
- ↑ (且說文鴦年方十八歲,身長八尺,全裝貫甲,腰懸鋼鞭,綽鎗上馬,遙望魏寨而進。) สามก๊ก ตอนที่ 110.
- ↑ (後人有詩曰:長坂當年獨拒曹,子龍從此顯英豪。樂嘉城內爭鋒處,又見文鴦膽氣高。) สามก๊ก บทที่ 110.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (ศตวรรษที่ 3). จดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อ).
- เผย์ ซงจือ (ศตวรรษที่ 5). อรรถาธิบายจดหมายเหตุสามก๊ก (ซานกั๋วจื้อจู้).
- หลี ฝ่าง (ศตวรรษที่ 10). ไท่ผิง-ยฺวี่หล่าน.
- ซือหม่า กวาง (1084). จือจื้อทงเจี้ยน.
- ล่อกวนตง (ศตวรรษที่ 14). สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้)