การปลงพระชนม์โดยสุมาเจียว
การปลงพระชนม์โดยสุมาเจียว หรือ อุบัติการณ์ศักราชกำลอ (จีน: 甘露之變) เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 260[a] ในลกเอี๋ยงนครหลวงของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน โจมอจักรพรรดิวุยก๊กแต่เพียงในนามทรงพยายามจะโค่นอำนาจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียวผู้ควบคุมราชสำนักวุยก๊กอย่างเบ็ดเสร็จ แต่แผนการของโจมอล้มเหลวและจบลงด้วยการสวรรคตของโจมอ และสุมาเจียวยังคงรักษาสถานะไว้ได้ การพยายามก่อรัฐประหารของโจมอกลับทำให้ตระกูลสุมามีอำนาจและอิทธิพลในวุยก๊กมากขึ้น และกลายเป็นรากฐานสำหรับการแย่งชิงราชบัลลังก์วุยก๊กในปี ค.ศ. 266 โดยสุมาเอี๋ยนบุตรชายของสุมาเจียว ผู้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันตก
การปลงพระชนม์โดยสุมาเจียว | |||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
ส่วนหนึ่งของ สงครามในยุคสามก๊ก | |||||||
| |||||||
คู่สงคราม | |||||||
โจมอกับกลุ่มผู้ร่วมสมคบคิด | สุมาเจียวกับผู้ป้องกันหลายคน | ||||||
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ | |||||||
โจมอ † อองซิม (แปรพักตร์) อองเก๋ง อองเหงียบ (แปรพักตร์) |
สุมาเจียว สุมาเตี้ยม กาอุ้น เซงเจ อองซิม อองเหงียบ | ||||||
กำลัง | |||||||
300 นาย[ต้องการอ้างอิง] |
การปลงพระชนม์โดยสุมาเจียว | |||||||
อักษรจีนตัวเต็ม | 司馬昭弒君 | ||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|
อักษรจีนตัวย่อ | 司马昭弑君 | ||||||
|
เหตุการณ์นี้ยังถูกกล่าวถึงในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) โดยล่อกวนตงซึ่งเล่าถึงประวัติศาสตร์ช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกและยุคสามก๊ก เหตุการณ์นี้ที่บรรยายในนวนิยายมีความคล้ายคลึงเป็นส่วนใหญ่กับเหตุการณ์ที่บรรยายในแหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์
ภูมิหลัง
แก้รัฐวุยก๊กได้รับการก่อตั้งในปี ค.ศ. 220 โดยโจผี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคสามก๊กในจีน อำนาจของราชวงศ์วุยก๊กอ่อนแอลงตั้งแต่การสวรรคตของโจยอยจักรพรรดิลำดับที่ 2 ของวุยก๊ก และมาถึงจุดตกต่ำที่สุดหลังอุบัติการณ์สุสานโกเบงเหลงในปี ค.ศ. 249 เมื่อสุมาอี้ขุนพลวุยก๊กยึดอำนาจจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โจซอง สุมาอี้เสียชีวิตในปี ค.ศ. 251 บุตรชายของสุมาอี้คือสุมาสูและสุมาเจียวได้สืบทอดอำนาจและควบคุมราชสำนักวุยก๊กอย่างเบ็ดเสร็จ
ในปี ค.ศ. 254 สุมาสูปลดโจฮองจักรพรรดิลำดับที่ 3 ของวุยก๊ก และตั้งโจมอพระชนมายุ 13 พรรษาขึ้นครองบัลลังก์แทน โจมอทรงแสดงท่าทีต่อต้านตระกูลสุมาตั้งแต่เริ่มรัชสมัยของพระองค์ โดยทรงปฏิเสธที่จะรับตราพระราชลัญจกรจากสุมาสูโดยตรง หลังสุมาสูเสียชีวิตในปี ค.ศ. 255 โจมอทรงพยายามมีรับสั่งให้สุมาเจียวยังคงอยู่ที่ฮูโต๋ (許昌 สฺวี่ชาง; ปัจจุบันคือนครสฺวี่ชาง มณฑลเหอหนาน) เพื่อเฝ้าระวังอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย) ซึ่งเพิ่งมีการปราบปรามกบฏที่นำโดยบู๊ขิวเขียมและบุนขิม แต่สุมาเจียวเพิกเฉยต่อรับสั่งของโจมอและกลับไปยังนครหลวงลกเอี๋ยง (洛陽 ลั่วหยาง) ในขณะที่สุมาเจียวบริหารราชการแผ่นดิน โจมอก็ทรงพยายามเอาใจเหล่าปัญญาชนในราชสำนักด้วยการทรงเรียกประชุมเพื่อจะทรงปรึกษาในเรื่องวรรณกรรมกับข้าราชการบางคน ได้แก่ สุมาปอง (ลูกพี่ลูกน้องของสุมาเจียว), อองซิม, หุยสิว และจงโฮย โจมอยังพระราชทานรถม้าและทหารองครักษ์ 5 นายไว้คุ้มกันสุมาปอง เพราะสุมาปองอาศัยอยู่ห่างจากพระราชวังมากกว่าคนอื่น ๆ
ในปี ค.ศ. 258 สุมาเจียวได้รับการเสนอให้มีบรรดาศักดิ์เป็นจินก๋ง (晉公 จิ้นกง) และให้ได้รับเครื่องยศเก้าประการ แต่สุมาเจียวปฏิเสธ การสนทนาและถกเถียงกันในเรื่องนี้ทำให้สุมาเจียวประเมินระดับการสนับสนันที่มีต่อตนได้
หนึ่งปีต่อมาในปี ค.ศ. 259 โจมอทรงเห็นมังกรเหลืองในบ่อน้ำสองบ่อ พระองค์จึงทรงพระราชนิพนธ์กวีนิพนธ์ที่กล่าวถึงมังกรที่ติดอยู่ในบ่อน้ำ และเปรียบเทียบตัวพระองค์เองกับมังกร สุมาเจียวเห็นกวีนิพนธ์นี้ก็โกรธมาก
ในปี ค.ศ. 260 สุมาเจียวได้รับการเสนอให้มีบรรดาศักดิ์เป็นจินก๋งและรับพระราชทานเครื่องยศเก้าประการอีกครั้ง สุมาเจียวยังไม่ปฏิเสธในทันที
เหตุการณ์
แก้ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 260 จักรพรรดิโจมอพระชนมายุ 19 พรรษาทรงเรียกอองซิม, อองเก๋ง และอองเหงียบมาเข้าเฝ้า พระองค์แสดงเจตนาที่จะพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อจะโค่นล้มสุมาเจียว แม้จะต้องแลกด้วยพระชนมชีพของพระองค์ก็ตาม
อองเก๋งทูลทัดทานไม่ให้จักรพรรดิโจมอก่อการ แต่โจมอทรงไม่ฟังคำขอของอองเก๋งและทรงแจ้งแผนของพระองค์ต่อกวยทายเฮา ในระหว่างที่พระองค์ไม่อยู่ อองซิมและอองเหงียบลอบทอดทิ้งโจมอและแจ้งเรื่องแผนการของพระองค์ให้สุมาเจียวทราบ
จากนั้นโจมอจึงนำกำลังทหารของพระองค์ออกจากพระราชวัง พระองค์ถือถือพระแสงกระบี่ สุมาเตี้ยมน้องชายของสุมาเจียวพยายามต้านพระองค์ที่ประตูแห่งหนึ่ง แต่พ่ายแพ้และหนีไป กาอุ้นผู้ช่วยของสุมาเจียวนำกองทหารอีกกองมาป้องกันที่หอสังเกตการณ์ด้านใต้ เซงเจ (成濟 เฉิง จี้) นายทหารใต้บังคับบัญชาของกาอุ้นถามกาอุ้นว่าควรทำอย่างไร กาอุ้นบอกให้เซงเจปกป้องตระกูลสุมาโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลที่ตามมา เซงเจจึงเข้าไปใกล้จักรพรรดิโจมอและปลงพระชนม์พระองค์ด้วยทวน
ผลสืบเนื่อง
แก้หลังการสวรรคตของโจมอ ผู้คนเรียกร้องให้ประหารชีวิตกาอุ้นฐานปลงพระชนม์ สุมาเจียวบังคับกวยทายเฮาให้ลดฐานันดรศักดิ์ของโจมอลงเป็นสามัญชน จากนั้นสุมาเจียวจึงสั่งให้ประหารชีวิตอองเก๋งและครอบครัว ในวันถัดมา หลังสุมาหูอาของสุมาเจียวขอร้อง สุมาเจียวจึงทูลกวยทายเฮาให้ทรงแต่งตั้งย้อนหลังให้โจมอมีฐานันดรศักดิ์เป็น "เกากุ้ยเซียงกง" และทำพิธีฝังพระศพของโจมอด้วยเกียรติระดับอ๋อง แม้ว่าจะไม่ได้มีการฝังพระศพจริง ๆ ก็ตาม เฉา หฺวาง (曹璜; ภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็นโจฮวนหรือเฉา ฮฺว่าน) ผู้เป็นฉางเต้าเซียงกง (常道鄉公) ทรงได้รับเลือกให้สืบราชบัลลังก์ถัดจากโจมอ 19 วันต่อมา สุมาเจียวสั่งให้ประหารชีวิตเซงเจและครอบครัวเพื่อระงับความโกรธของผู้คน แต่กาอุ้นได้รับการละเว้นโทษ
สุมาเจียวสามารถรักษาอำนาจของตนไว้ได้ในช่วงที่เหตุการณ์เหล่านี้และกำจัดศัตรูภายในราชสำนัก เหลือเพียงโจฮวนผู้เยาว์ในฐานะจักรพรรดิหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของตน สุมาเจียวไม่ได้ชิงราชบัลลังก์วุยก๊กจนกระทั่งเสียชีวิต เพียงแต่ได้รับฐานันดรซักดิ์เป็น "จีนอ๋อง" (晉王 จิ้นหวาง) และได้รับพระราชทานเครื่องยศเก้าประการจากโจฮวนในปี ค.ศ. 264 สุมาเจียวเสียชีวิตในเดือนกันยายน ค.ศ. 265 สุมาเอี๋ยนบุตรชายได้สืบทอดอำนาจ และยังบังคับโจฮวนให้สละบัลลังก์ให้ตนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 266 และก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันตก
หมายเหตุ
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ ([甘露五年]五月己丑,高貴鄉公卒, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 4.
บรรณานุกรม
แก้- ตันซิ่ว (คริสต์ศตวรรษที่ 3). สามก๊กจี่ (ซันกั๋วจื้อ).
- ฝาน เสฺวียนหลิง (648). จิ้นชู.