มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (อังกฤษ: Suan Dusit University; อักษรย่อ: มสด. – SDU) เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐในประเทศไทย[3] เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษาปฐมวัย คหกรรมศาสตร์ ธุรกิจบริการ ธุรกิจการโรงแรม ธุรกิจการบิน รวมถึง กฎหมายและการเมือง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2477 ในชื่อ "โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน" ตั้งอยู่ที่ถนนนครราชสีมา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
Suan Dusit University
ตราสัญลักษณ์ มสด.
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
ชื่อย่อมสด. / SDU
คติพจน์เทคโนโลยีก้าวไกล อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
ประเภทสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ
สถาปนา17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558; 9 ปีก่อน (2558-07-17)
สังกัดการศึกษากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สังกัดวิชาการ
งบประมาณ1,061,148,800 บาท
(พ.ศ. 2568)[1]
นายกสภาฯถนอม อินทรกำเนิด
อธิการบดีผู้ช่วยศาสตราจารย์ พิทักษ์ จันทร์เจริญ (รักษาการ)
อาจารย์819 คน (พ.ศ. 2567)
บุคลากรทั้งหมด2,209 คน (พ.ศ. 2567)
ผู้ศึกษา22,162 คน (พ.ศ. 2558)[2]
ที่ตั้ง
วิทยาเขตวิทยาเขตและศูนย์การศึกษา
เพลงมาร์ชมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ต้นไม้เฟื่องฟ้าขจร
สี  สีฟ้าน้ำทะเล
เว็บไซต์เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

ประวัติมหาวิทยาลัย

แก้

หลังการการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หรือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการศึกษาเข้าสู่ยุคการศึกษาสมัยปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ ในช่วงนั้นรัฐบาลมีการจัดตั้งโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยเฉพาะทางขึ้นมามากมายให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงตามสิทธิของตนในระบอบรัฐธรรมนูญ นำความรู้นั้นพัฒนาชาติต่อไป โดยมีการนำวัง พระราชวัง ที่พัก และพื้นที่ที่รัฐบาลยึดจากเชื้อพระวงศ์และบุคคลสำคัญบางแห่งใช้มาเป็นสถานที่ราชการและสถานศึกษาจำนวนมาก เช่น วังหน้า ใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บ้านนรสิงห์ ใช้เป็นทำเนียบรัฐบาลไทย เป็นต้น ภายหลังทรัพย์สินเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 และนี่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆของโรงเรียนการเรือน-มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การจัดการศึกษาเพื่อจะให้พลเมืองได้มีการศึกษาโดยแพร่หลาย ก็จะต้องอนุโลมตามระเบียบการปกครองที่ให้เข้าลักษณะเกี่ยวกับแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ หลักสูตรของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยจะต้องขยายให้สูงขึ้นเท่าเทียมอารยประเทศ ในการนี้จะต้องเทียบหลักสูตรของนานาประเทศ หลักสูตรใดสูงถือตามหลักสูตรนั้น

— มโนปกรณ์นิติธาดา, พระยา

โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน (พ.ศ. 2477–2480)

แก้

โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน สังกัดกองอาชีวศึกษา กรมวิชาการ กระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการ) โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ระหว่าง พ.ศ. 2475–พ.ศ. 2476 เป็นผู้วางโครงการก่อตั้งโรงเรียนการเรือน และ พระสารสาสน์ประพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ระหว่าง พ.ศ. 2477–พ.ศ. 2478 ผู้ดำเนินการก่อตั้งโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน โดยโรงเรียนฯ เปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2477 ที่วังกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พณิชยการพระนคร) โดยมี คุณหญิงเพชรดา ณ ป้อมเพชร (นามเดิม หม่อมหลวงจิตรจุล กุญชร) เป็นครูใหญ่คนแรก โรงเรียนนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมการบ้านการเรือนสำหรับสตรี หลักสูตร 4 ปี และได้เริ่มเปิดสอนหลักสูตรอบรมครูการเรือนขึ้นเป็นครั้งแรกมีความมุ่งหมายเพื่อเตรียมผู้ที่จะออกไปมีอาชีพครูในสาขานี้

โรงเรียนการเรือน (วังจันทรเกษม) (พ.ศ. 2480–2484)

แก้

พ.ศ. 2480 ได้ย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่วังจันทรเกษม (กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) และเปลี่ยนชื่อจากโรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือนมาเป็น "โรงเรียนการเรือน" (จากเอกสารพบว่าใช้ชื่อโรงเรียนการเรือนเท่านั้น ส่วนวังจันทรเกษมนักเรียนและผู้ปกครองมีการใช้เรียกต่อท้ายเอง) สังกัดกองและกรมเดิม โดยเปิดสอนหลักสูตรมัธยมการเรือน (หลักสูตร 3 ปี) และหลักสูตรการเรือนชั้นสูง (หลักสูตร 3 ปี) โดยโรงเรียนการเรือนนี้เป็นโรงเรียนแบบ Finishing school เหมือนทางยุโรป คือ มีสอนงานบ้าน งานเรือนสำหรับกุลสตรี การจัดดอกไม้สด ดอกไม้แห้ง งานศิลปะ การประกอบอาหาร มารยาท และการเข้าสังคม เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากโรงเรียนการช่างสตรีอื่นในยุคสมัยเดียวกัน นักเรียนเสียค่าเล่าเรียนภาคการศึกษาละ 150 บาทซึ่งถือว่าเป็นค่าเล่าเรียนที่สูงพอสมควรในยุคสมัยนั้น

โรงเรียนการเรือนพระนคร (พ.ศ. 2484–2504)

แก้

พ.ศ. 2484 โรงเรียนได้ย้ายจากวังจันทรเกษม (ที่ตั้งกระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) มาตั้งอยู่ในบริเวณสวนสุนันทา บนพื้นที่ประมาณ 37 ไร่ (รวมพื้นที่โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ) ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบันและเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนการเรือนพระนคร" ย้ายสังกัดจากกองอาชีวศึกษาไปสังกัดกองฝึกหัดครู กรมสามัญศึกษา เปิดสอนหลักสูตร ป.กศ., ป.กศ. ชั้นสูง

  • สวนสุนันทา พระราชวังดุสิต เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จมาประทับที่พระราชวังสวนดุสิตเป็นการถาวรหลังจากการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่สองแล้ว มีพระราชดำริที่จะสร้างพระราชอุทยานขึ้นทางด้านหลังของพระที่นั่งอัมพรสถาน โดยให้มีลักษณะแบบสวนป่าแต่อยู่ในวังเพื่อเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และข้าบาทบริจาริกาของพระองค์ภายในสวนนี้ด้วย และพระราชทานนามสวนนี้ว่า "สวนสุนันทา" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สวนนี้เป็นหนึ่งในสี่สวนสร้างล้อมรอบพระราชวังดุสิตตามความเชื่อเรื่องสวนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีอุทยานสวรรค์ 4 แห่งประกอบด้วย สวนนันทวัน หรือ นันทวนอุทยาน หรือ สวนสุนันทา (ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน รวมไปถึงเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกองการสื่อสาร กรมการปกครอง ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย) สวนจิตลดาวันหรือ สวนจิตรลดา (ที่ตั้งพระตำหนักสวนจิตรลดาปัจจุบัน) สวนปารุสวัน (ที่ตั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาลปัจจุบัน) และสวนมิสกวัน (ที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ปัจจุบัน) ที่ตั้งสวนสุนันทาแต่เดิมคงจะเป็นที่ว่างระหว่างถนน 4 สาย คือ ถนนตะพานทอง (ถนนสามเสนใน) ถนนดวงดาวใน (ถนนนครราชสีมา) ถนนใบพร (ถนนอู่ทองนอก) และ ถนนซางฮี้ (ถนนราชวิถี) จึงโปรดให้ขยายเขตพระราชฐานออกไปถึงถนนตะพานทอง และขยายถนนให้ใหญ่ขึ้นเท่าถนนซังอี้และถนนใบพร เอาถนนดวงดาวในมาเป็นถนนภายในพระราชวัง พร้อมทรงคาดการณ์ว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะโปรดฯ ให้รื้อกำแพงพระราชฐานด้านหลังออก รวมบริเวณสวนสุนันทาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพระราชฐาน แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนการรื้อกำแพงด้านหลังจึงระงับไป มีเพียงทางติดต่อจากเขตพระราชฐานทางด้านถนนบ๊วยเพียงประตูเดียวที่รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามประตูนี้ว่า "สุนันทาทวาร"

ในสวนสุนันทานี้มีตำหนักรวมทั้งสิ้นจำนวน 32 ตำหนัก (อยู่ในฝั่งโรงเรียนการเรือนพระนคร 15 ตำหนัก) พระตำหนักที่สำคัญในพื้นที่โรงเรียนการเรือนพระนคร เช่น พระตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้วตั้งอยู่บริเวณทางเชื่อมอาคาร 2 และอาคาร 3), พระตำหนักสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (แต่ไม่ได้เสด็จมาประทับ) ปัจจุบันคืออาคารสถาบันศิลปวัฒนธรรม, สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ (ปัจจุบันรื้อถอนไปแล้วตั้งอยู่บริเวณสระว่ายน้ำของมหาวิทยาลัย) เป็นต้น และรัชกาลที่ 6 โปรดฯ ให้สร้างท้องพระโรง (พระที่นั่งนงคราญสโมสร) ในปี พ.ศ. 2465

  • สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นระยะเวลาที่จังหวัดพระนคร ถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ทำให้ต้องอพยพนักเรียนฝึกหัดครูอนุบาลไปเรียนที่โรงเรียนดัดดรุณี จังหวัดฉะเชิงเทรา และอพยพนักเรียนการเรือนชั้นสูงไปเรียนที่โรงเรียนประชาบาลวัดแจ้ง อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา บางส่วนไปเรียนที่โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา หลังจากสงครามสงบอาคารหลายหลังของโรงเรียนการเรือนได้ถูกทำลายและเสียหายจากการโจมตีทางอากาศ จนปี พ.ศ. 2490 จึงมีการย้ายนักเรียนโรงเรียนการเรือนพระนครกลับมาเรียนยังสถานที่เดิม
  • โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ พ.ศ. 2498 โอนแผนกฝึกหัดครูอนุบาล จากโรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ มาสังกัด โรงเรียนการเรือนพระนคร
  • งานชุมนุมแม่บ้าน งานชุมนุมแม่บ้านซึ่งจัดโดยวิทยาลัยครูสวนดุสิตและสมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยการริเริ่มของ คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์ ช่วงปี พ.ศ. 2501 จนถึง พ.ศ. 2518 โดยงานชุมนุมแม่บ้านทุกปีจะจัดในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน และต้นเดือนธันวาคม นับว่าเป็นงานประจำปีซึ่งเป็นแหล่งที่รวมของผู้สนใจและรักงานคหกรรมศาสตร์โดยแท้จริง สำหรับงานชุมนุมแม่บ้านจัดขึ้นเพื่อศูนย์กลางให้แม่บ้านผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีชื่อเสียงในงานบ้านแขนงต่าง ๆ เป็นการส่งเสริมงานด้านคหกรรมศาสตร์และการเรือน โดยในงานมีการแสดงสาธิตและประกวดการทำอาหาร งานศิลปะประดิษฐ์ แกะสลัก ร้อยมาลัย จัดดอกไม้ งานตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ

วิทยาลัยครูสวนดุสิต (พ.ศ. 2504–2535)

แก้

พ.ศ. 2504–2518

ยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครู (โรงเรียนการเรือนคือโรงเรียนฝึกหัดครูด้านการเรือน) เป็นวิทยาลัยครูในนาม "วิทยาลัยครูสวนดุสิต" นับเป็นครั้งแรกที่ใช้นาม "สวนดุสิต" ซึ่งเป็นชื่อของสถานที่ตั้งของวิทยาลัยฯ เป็นชื่อสถานศึกษานับแต่นั้น

พ.ศ. 2518–2535

ก่อนปี พ.ศ. 2518 วิทยาลัยครูหลายแห่งยังเปิดเปิดสอนได้เพียงระดับ ป.กศ. และ ป.กศ. (ชั้นสูง) เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2518 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครูขึ้นเพื่อให้วิทยาลัยครูทั้งหมดสามารถเปิดการสอนในระดับปริญญาได้ โดยให้สังกัดกองการฝึกหัดครู กรมการฝึกหัดครู โดยให้มี 3 คณะวิชาได้แก่ คณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

  • วิทยาลัยครู ปี พ.ศ. 2518 โรงเรียนฝึกหัดครูได้เปลี่ยนสถานะเป็น วิทยาลัยครู ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง เพื่อให้วิทยาลัยเหล่านี้เปิดสอนในระดับปริญญาได้
  • โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ ปี พ.ศ. 2518 โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ถูกโอนไปสังกัดวิทยาลัยครูสวนดุสิต ในชื่อ "โรงเรียนสาธิตอนุบาลละอออุทิศ" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ" ในปี พ.ศ. 2550–ปัจจุบัน
  • คหกรรมศาสตร์ ถือเป็นยุคของคหกรรมศาสตร์ของวิทยาลัยครูสวนดุสิต มีการรวบรวมองค์ความรู้ บุคลากรเพื่อใช้ในการถ่ายทอดงานวิชาด้านคหกรรมศาสตร์และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางโดยผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ท่านหนึ่งคือ คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ อธิการวิทยาลัยครูสวนดุสิตในขณะนั้น
  • โฮมเบเกอรี่ (Home Bakery) ปี พ.ศ. 2528 ทางวิทยาลัยฯได้เปิดสอนระดับอนุปริญญา สาขาคหกรรมศาสตร์ โดยมีการจัดสอนการทำขนมเค้กขึ้นและด้วยที่ขณะนั้นทางวิทยาลัยฯ ขาดแคลนอุปกรณ์ในการสอน ทำให้นักศึกษาต้องช่วยกันลงขันเป็นเงินจำนวน 1,692.25 บาท เพื่อทำขนมส่งอาจารย์ หลังจากส่งอาจารย์แล้วก็นำไปแจกจ่ายให้กับบุคคลที่รู้จักทั่วไป ภายหลังมีการนำไปจำหน่ายเพื่อหาเป็นทุนในการทำเค้กครั้งต่อไป จากรสชาติที่อร่อยจึงกลายเป็นการพูดแบบปากต่อปากจนทำให้ขนมเริ่มมีคนซื้อจำนวนมากขึ้น ทางวิทยาลัยฯ จึงจัดสรรพื้นที่โรงจอดรถของอธิการบดี (ที่ตั้งร้านโฮมเบเกอรี่ HOME BEKERRY ในปัจจุบัน) เป็นสถานที่ฝึกประสบการณ์และแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาคหกรรมศาสตร์ โดยใช้ชื่อโครงการว่า "โครงการอาหารกลางวัน 2" (โครงการอาหารกลางวัน 1 คือ ครัวสวนดุสิต) ขนมเค้กที่รู้จักกันดีนับแต่นั้นคือ "ท๊อฟฟี่เค้ก" โดยผู้คิดค้นสูตรนี้และอีกหลายร้อยชนิดคือ ศาสตราจารย์วันเพ็ญ จงสวัสดิ์ และทางมหาวิทยาลัยก็ได้พัฒนารูปแบบโฮมเบเกอรี่มาจนถึงทุกวันนี้
  • โบราณสถานอาคารพระที่นั่งนงคราญสโมสรและสวนสุนันทา ปี พ.ศ. 2522 บริเวณวังสวนสุนันทาเดิมทั้งหมด 121 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา ปัจจุบันคือที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ถูกจัดให้เป็นเขตโบราณสถานเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2522 โดยการดูแลจากกรมศิลปากรในฐานะผู้ดูแลโบราณสถานของชาติ และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
  • คณะวิทยาการจัดการ ถือเป็นคณะใหม่ของสถาบันฯ จัดตั้งเพื่อรองรับสาขาที่จะเปิดสอนขึ้นใหม่ในขณะนั้นได้แก่ บริหารธุรกิจ บัญชี เศรษฐศาสตร์ นิเทศศาสตร์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
  • คณะศิลปกรรมศาสตร์ จัดตั้งเป็นคณะฯ หลังการเปลี่ยนสถานะเป็นสถาบันราชภัฏ โดยโอนย้ายสาขาที่เกี่ยวข้องจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาได้แก่ ออกแบบนิเทศศิลป์, ออกแบบประยุกต์ศิลป์, ออกแบบอุตสาหกรรมศิลป์ แต่เนื่องจากสถานที่จัดการเรียนการสอนในขณะนั้นคับแคบ การจราจรหนาแน่นไม่เอื้อต่อการเรียนด้านการออกแบบ ทางสถาบันมีแนวคิดที่จะย้ายสถานที่และจัดตั้งคณะใหม่ในชื่อ คณะการออกแบบ ที่โครงการวิทยาเขตสุพรรณบุรี จึงมีการย้ายการเรียนการสอนจาก ที่ตั้งคณะฯ อาคาร 1 และ อาคาร 13 ไปที่ศูนย์ธนาลงกรณ์ (ธนาลงกรณ์ทาวเวอร์) เป็นการชั่วคราว และยุบคณะศิลปกรรมศาสตร์โดยโอนสาขาทั้งหมดกลับไปยังคณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์ดูแล หลังจากนั้นมีการทดลองเปิดสาขาออกแบบแฟชั่น, ออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ ที่อาคารแฟชั่นและอาคารกลางน้ำ โครงการวิทยาเขตสุพรรณบุรีในเวลาต่อมา และมีการพัฒนาสาขาขึ้นมาใหม่คือ สาขาออกแบบนิทรรศการและงานแสดง ปัจจุบันสาขาทั้งหมดและโครงการจัดตั้งคณะยุบไปหมดแล้วคงเหลือเพียงสาขาเดียวคือ ออกแบบนิทรรศการและงานแสดง ซึ่งปัจจุบันโอนสังกัดจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มายังโรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ วิทยาเขตสุพรรณบุรีแทน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552

สถาบันราชภัฏสวนดุสิต (พ.ศ. 2535–2547)

แก้

ปี พ.ศ. 2535 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจต่างๆ ของประเทศ ภารกิจของสถาบันราชภัฏที่เพิ่มขึ้นในขณะนั้นก็เพื่อการสร้างบุคลากรให้เพียงพอและตรงกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศ ส่งผลให้วิทยาลัยครูสวนดุสิตเปลี่ยนสถานะและชื่อ เป็น "สถาบันราชภัฏสวนดุสิต" และสังกัดสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ กระทรวงศึกษาธิการ

  • สวนดุสิตโพล ปี พ.ศ. 2534 วิทยาลัยฯ ได้เปิดสอนวิชาเอกบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ เพื่อสร้างนักสารนิเทศขึ้นรองรับตลาดงานในช่วงนั้น และมีการจัดตั้ง สวนดุสิตโพล ขึ้นในปี พ.ศ. 2535 เพื่อที่นักศึกษาวิชาเอกบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ ใช้เป็นแหล่งสร้างเสริมทักษะและประสบการณ์
  • ศูนย์การศึกษานอกสถาบัน ช่วงปี พ.ศ. 2538–พ.ศ. 2552 มีความต้องการของผู้เรียนที่ต้องการเข้าศึกษาในสถาบันฯจำนวนมาก สถาบันฯจึงมีการจัดตั้งศูนย์การศึกษานอกสถาบันขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑล รวมทั้งในต่างจังหวัด โดยเปิดสอนในระบบปกติทั้งภาคปกติและภาคสมทบ ปริญญาตรี และปริญญาโทในบางศูนย์ฯ เพื่อรองรับรองความต้องการของผู้เรียนโดยเฉพาะผู้เรียนภาคปกติเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ในช่วง 2 ปีแรกจะเรียนที่ศูนย์การศึกษา และเข้ามาศึกษาอีก 2 ปีในสถาบันฯ

ศูนย์ศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ ศูนย์ซุปเปอร์เซฟ ศูนย์องค์การเภสัชกรรม ศูนย์อรรถวิทย์ ศูนย์ดุสิตพณิชยการ ศูนย์จรัญสนิทวงศ์ ศูนย์สุโขทัย ศูนย์สันติราษฏร์ ศูนย์ธนาลงกรณ์ ศูนย์บุษยมาส ศูนย์เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ศูนย์อิมพีเรียลบางนา ศูนย์ระนอง2 ศูนย์ลุมพินี ศูนย์พณิชยการสยาม (ภายหลังยุบและย้ายไปศูนย์รางน้ำ) ศูนย์พงษ์สวัสดิ์ ในพื้นที่ต่างจังหวัด ได้แก่ ศูนย์นครนายก ศูนย์ปราจีนบุรี ศูนย์นครปฐม ศูนย์ชลบุรี ศูนย์พัทยา ศูนย์สระบุรี ศูนย์พะเยา ศูนย์ลำปาง ศูนย์พิษณุโลก ศูนย์ตรัง ศูนย์หนองคาย ศูนย์หัวหิน และ วิทยาเขตสุพรรณบุรี ทำให้ช่วงนั้นสถาบันฯ มีนักศึกษารวมมากกว่า 4.5 หมื่นคน อาจารย์และบุคลากรกว่า 2,000 คน

ช่วงดังกล่าวนี้ได้นำเทคโนโลยีช่วยในการจัดการเรียนการสอนและจัดการอื่นๆมาใช้เป็นครั้งแรก เช่น Video Conference, Video on demand, E–learning, Visual library, ระบบบริหารการศึกษา, E–asm Kiosk, ระบบ Intranet เป็นต้น ภายใต้นโยบาย "เทคโนโลยีก้าวไกล อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน"

ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการปรับเปลี่ยนศูนย์การศึกษาเพื่อบริการท้องถิ่นและชุมชนคงเหลือเพียง 5 แห่งบนพื้นที่ของตนเอง ได้แก่ ศูนย์นครนายก ศูนย์ตรัง ศูนย์ลำปาง ศูนย์หัวหิน วิทยาเขตสุพรรณบุรี และเปลี่ยนเป็นศูนย์การเรียนรู้ 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์รางน้ำ ศูนย์ระนอง 2

  • โครงการจัดตั้งวิทยาเขตสุพรรณบุรี ปี พ.ศ. 2538 พื้นที่ของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ขณะนั้นมีความคับแคบ สถาบันราชภัฏสวนดุสิตจึงเล็งเห็นความสำคัญในการขยายพื้นที่เพื่อรองรับคณะใหม่ในตอนนั้นคือ คณะการออกแบบและคณะวิทยาศาสตร์การอาหาร จึงมีการจัดหาพื้นที่และได้ประสานงานไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อขอใช้พื้นที่สาธารณะลาดชะโด พื้นที่ 197 ไร่เศษ ริมถนนป่าโมก–สุพรรณบุรี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 33) ตำบลโคกโคเฒ่า อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อจัดสร้างวิทยาเขตของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต ในช่วงแรกสถาบันได้จัดสร้างอาคารที่ทำการ และอาคารกลางน้ำ และอาคารหอพักนักศึกษา 3 อาคาร และสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งเป็นวิทยาเขตสุพรรณบุรีแล้วในปี พ.ศ. 2559 บนพื้นที่ 207 ไร่
  • โครงการจัดตั้งคณะนิเทศศาสตร์ หากกล่าวถึงนิเทศศาสตร์ช่วงปี พ.ศ. 2538–พ.ศ. 2549 สวนดุสิตถือเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงทางด้านนิเทศศาสตร์สถาบันหนึ่งของประเทศโดยเฉพาะสาขาวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งขณะนั้นมีนักศึกษาที่ทำการศึกษาในระบบทุกชั้นปีในสาขานี้รวมมากกว่า 5 พันคน สาขานี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนซึ่งตลาดแรงงานมีความต้องการมากในขณะนั้น และพัฒนาศิลปิน นักแสดง นักสื่อสารมวลชนมีชื่อเสียงมากมาย โดยจัดการเรียนการสอนที่ศูนย์ระนอง 2 และศูนย์ลุมพินี (ปัจจุบันศูนย์การศึกษาทั้ง 2 ศูนย์นี้ยุบเลิกไปแล้ว)
  • ธุรกิจการโรงแรม สาขาที่มีชื่อเสียงอีกสาขาหนึ่งของสถาบันฯ คือ โปรแกรมวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แขนงธุรกิจการโรงแรม เพื่อสร้างบุคลากรด้านการโรงแรม สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศในยุคนั้นที่รัฐบาลมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยทำเปิดสอนที่ ศูนย์พนิชยการสันติราษฎร์และในสถาบันฯ
  • โรงแรมเดอะสวนดุสิตพาเลซ ปี พ.ศ. 2536 มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนด้านการโรงแรมใช้ขื่อโครงการว่า "โครงการอาคารอเนกประสงค์ปฏิบัติวิชาชีพธุรกิจ" หรือ โรงแรมเดอะสวนดุสิตพาเลซ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น โรงแรมสวนดุสิตเพลส ในปัจจุบัน
  • บัณฑิตวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2540 มีการจัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้น เริ่มเปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Master of Business Administration) โดยร่วมมือกับ Victoria University ประเทศแคนาดา ในช่วงแรกจัดการเรียนการสอนที่ อาคาร 11 ชั้น 2, 5, 6, 7 ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ แยกสวนรื่นฤดี ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
  • สวนดุสิตเกมส์ ปี พ.ศ. 2545 สถาบันราชภัฏสวนดุสิตในขณะนั้นได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาสถาบันราชภัฏถือว่าเป็นการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้วยจำนวนผู้ร่วมงานพิธีเปิดกว่า 4 หมื่นคน โดยใช้งบประมาณในการจัดการแข่งขันขณะนั้นมากกว่า 40 ล้านบาท จัดขึ้น ณ สนามกีฬามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ปัจจุบันกีฬาสถาบันราชภัฏได้ถูกผนวกเข้ากับกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยในปัจจุบันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548
  • ธุรกิจการบิน ปี พ.ศ. 2545 จากการริเริ่มของ ดร.สุรพล ศิริเศรษฐ ที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาแรงงานด้านธุรกิจการบินเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจนี้หลังจากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิและการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบินของรัฐบาล จึงมีการพัฒนาสาขานี้ขึ้นเป็นแห่งแรก โดยจัดการเรียนการสอนที่ ศูนย์หัวหิน
  • สถาบันการอาหารสวนดุสิต ปี พ.ศ. 2546 มีการจัดตั้งหน่วยการเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนด้านการอาหารและรองรับภารกิจด้านการอาหารในอนาคตของสถาบันในชื่อ สถาบันการอาหารสวนดุสิต ก่อนจะใช้ชื่อเป็นโรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต และศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติสวนดุสิต สังกัดโรงเรียนการเรือน ตามลำดับ

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (พ.ศ. 2547–2558)

แก้

สถาบันราชภัฎสวนดุสิตได้ปรับเปลี่ยนสถานภาพจาก "สถาบันราชภัฏ" เป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 โดยใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต" สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

  • ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ (เดิมคือ ศูนย์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์) ปี พ.ศ. 2548 มีการจัดสร้างอาคารใหม่ตรงข้ามมหาวิทยาลัย ทางเข้าประตู 5 ถนนราชวิถี ฝั่งชุมชนสวนอ้อย บนที่ดินกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ภายหลังอาคารแล้วเสร็จใช้ชื่อ "อาคาร ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน" เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์และเป็นสถานที่อบรมต่างๆ ของทั้งหน่วยงานภายนอกและภายในมหาวิทยาลัย
  • ศูนย์วิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ปี พ.ศ. 2550 มหาวิทยาลัยได้ทำการก่อสร้างพื้นที่การศึกษาแห่งใหม่ในกรุงเทพมหานครขึ้น คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ตั้งอยู่บนถนนสิรินธร เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร และปี พ.ศ. 2553 หลังจากสร้างศูนย์วิทยาศาสตร์แล้วเสร็จ จึงได้ทำการย้ายห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ทั้งหมดจากอาคาร 11 ชั้น 3–5 และสำนักงานคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกจากอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ฯเดิม ไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ (ปัจจุบันอาคารห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ถูกรื้อถอนและจัดสร้างเป็นอาคารสำนักงานมหาวิทยาลัยสวนดุสิต) เพื่อรองรับการเรียนการสอนหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัย
  • คณะพยาบาลศาสตร์ ปี พ.ศ. 2550 มีการจัดตั้งคณะใหม่ คือ คณะพยาบาลศาสตร์ และเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 53 คน ใช้พื้นที่ร่วมกับโรงเรียนการเรือน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์ ถนนสิรินธร
  • โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ ปี พ.ศ. 2552 ด้วยอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับในชื่อเสียงด้านอุตสาหกรรมการบริการ ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยจึงมีมติรวมสาขาธุรกิจการโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการบิน จากคณะวิทยาการจัดการ และออกแบบนิทรรศการและงานแสดง จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เข้าเป็นคณะใหม่ในชื่อ โรงเรียนการท่องเที่ยวและการบริการ
  • โรงเรียนการเรือน ปี พ.ศ. 2552 มีการรวมสาขาที่เกี่ยวข้องด้านอาหารและคหกรรมศาสตร์ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและการบริการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คหกรรมศาสตร์ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคาร จากคณะวิทยาการจัดการ เข้าเป็นคณะใหม่ในชื่อ โรงเรียนการเรือน

มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (พ.ศ. 2558–ปัจจุบัน)

แก้

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เปลี่ยนสถานะเป็น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. 2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 มีฐานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ภายในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พระราชทานโฉนดที่ดินในพระปรมาภิไธย ซึ่งมีที่ตั้งในกรุงเทพมหานคร และในส่วนภูมิภาค เพื่อใช้ประโยชน์เป็นสถานที่ทำงานสถานศึกษา และเพื่อเป็นประโยชน์ในทางราชการตลอดไป มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยรองศาสตราจารย์ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เฝ้าฯ รับพระราชทานโฉนดที่ดินเนื้อที่ 37 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เดิมพื้นที่ส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต คือ สวนดุสิต อันเป็นที่ประทับของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ดังจะเห็นได้จากพระตำหนัก ตำหนักของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และบริเวณพื้นที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาจำนวนหนึ่ง

ทำเนียบผู้บริหาร

แก้
นาม วาระ
1. คุณหญิงเพชรดา ณ ป้อมเพชร์ พ.ศ. 2477
2. นางนิลรัตน์ บรรณสิทธิ์วรสาสน์ พ.ศ. 2477
3. คุณหญิงไสววงศ์ ทองเจือ พ.ศ. 2477–2484
4. นางบุญเกลื้อ กรลักษณ์ พ.ศ. 2484–2489
5. คุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์ พ.ศ. 2489–2518
6. ศาสตราจารย์เรวดี วงศ์พรหมเมฆ พ.ศ. 2518–2528
7. รองศาสตราจารย์ลำพอง บุญช่วย พ.ศ. 2528–2537
8. รองศาสตราจารย์ธง รุญเจริญ พ.ศ. 2537–2538
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน พ.ศ. 2538–2546 (วาระที่ 1)
10. รองศาสตราจารย์ ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ พ.ศ. 2546–2547
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน พ.ศ. 2547–2556 (วาระที่ 2)
11. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ พ.ศ. 2556–2559
9. รองศาสตราจารย์ ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน พ.ศ. 2559–2563 (วาระที่ 3)[4]
10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563–ปัจจุบัน (วาระที่ 4)

พิธีพระราชทานปริญญาบัตร

แก้
  • พ.ศ. 2560–2561 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง ณ อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
  • พ.ศ.​ 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง ณ อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
  • พ.ศ. 2565 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาปีการศึกษา 2560–2562 จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง ณ หอประชุมสิริวรปัญญา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
พิธีพระราชทานปริญญาบัตร*
ประจำปี ผู้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ สถานที่ หมายเหตุ
พ.ศ. 2526
(17–20, 22–25 และ 27 พฤษภาคม)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาคารใหม่ สวนอัมพร พระราชวังดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาแก่ผู้สำเร็จจากวิทยาลัยครูทั่วประเทศ
พ.ศ. 2527–พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
พ.ศ. 2538–พ.ศ. 2546 เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏเขตภาคกลาง
พ.ศ. 2547–พ.ศ. 2559 เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง
พ.ศ. 2560–พ.ศ.​ 2561 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว อาคารอเนกนิทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมกับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคกลาง

สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

แก้
  • ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย
    • ดอกเฟื่องฟ้า ดอกเฟื่องฟ้า ชื่อสามัญ Bougainville ชื่อพฤกษศาสตร์ Bougainvillea Spectabilis, Willd วงศ์ Nyctaginceae เฟื่องฟ้าเป็นไม้เลื้อยเถาใหญ่แข็งแรง มีหลากหลายสี บางพื้นที่เรียกดอกไม้นี้ว่า ดอกกระดาษ มีต้นกำเนิดจากทวีปอเมริกาใต้ สันนิฐานว่ามีการนำเข้ามาราชอาณาจักรสยามสมัยรัชกาลที่ 5
    • ดอกขจร ขจร (สลิด) ชื่อพฤกษศาสตร์ Telosma minor Craib (Syn. T. odoratissma, Coville) Fergularia doratissima วงศ์ Asclepidaceae ขจรหรือสลิด เป็นไม้เถาเลื้อยเล็ก ใบเป็นรูปใบโพธิ์แต่เล็ก ดอกออกเป็นช่อตามข้อ ดอกรูปคล้ายแตรเล็ก สีเหลืองอมเขียว บานตอนเย็น กลิ่นหอมเย็นออกดอกตลอดปี
  • สีประจำมหาวิทยาลัย: สีฟ้าน้ำทะเล (  รหัสสี #00baf2)

ตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย

แก้

ตราสัญลักษณ์พระโพธิสัตว์สวนดุสิต

แก้

พ.ศ. 2558 มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยจึงมีแนวคิดการจัดทำตราสัญลักษณ์ขึ้นใหม่เพื่อใช้สื่อสารในองค์กรและสาธารณะ จึงได้มีการติดต่อไปยังสำนักพระราชวังเพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อม ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ใช้ตราพระโพธิสัตว์สวนดุสิต ซึ่งเป็นตราประจำพระราชวังดุสิตที่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงปี พ.ศ. 2442 เพื่อนำใช้ใน เอกสารราชการ งานพิธีสำคัญ และอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตและประกาศให้ใช้สัญลักษณ์นี้

ตราสัญลักษณ์ มสด.

แก้

ปี พ.ศ. 2547 โครงการสวนดุสิตกราฟิกไซท์ ได้รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ โดยเน้นเป้าหมายเพื่อความง่ายต่อการสื่อสาร ความโดดเด่น สะดุดตา ง่ายต่อการจดจำ และสื่อความหมายในภาพลักษณ์ใหม่ของมหาวิทยาลัยในขณะนั้นได้ อีกทั้งเพื่อองค์กรจะได้มีตราประจำมหาวิทยาลัยสำหรับใช้เพื่อการสื่อสารเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากตราพระราชลัญจกรซึ่งมีประจำอยู่ในทุกมหาวิทยาลัยราชภัฏ

สัญลักษณ์ใหม่ชิ้นนี้ได้ถูกออกแบบขึ้นโดยการใช้ภาพตัวอักษร (Letter mark) เพื่อสื่อถึงความเป็นเอกภาพ ความคล่องตัว และความเป็นเลิศในการบริหารจัดการ ภายใต้แนวคิดการทำงานเป็นทีม โดยนำอักษรย่อจากคำเต็มในภาษาไทยและภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยมาใช้ โดยยึดตัวอักษรหลักของแต่ละชื่อในแต่ละภาษามาใช้คือ มสด. และ SDU ตามลำดับ อีกทั้งคำย่อดังกล่าวยังได้แสดงถึงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ท่ามกลางความโดดเด่นที่แตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยราชภัฏด้วยกัน ซึ่งความโดดเด่นแห่งอัตลักษณ์นี้ถือเป็นอิทธิพลหนึ่งจากแบบตัวอักษรที่เคยปรากฏเป็นสัญลักษณ์จากพระราชลัญจกร และพระนามแบบต่างๆ ที่เคยปรากฏอยู่ในราชสำนักนับตั้งแต่ยุคสมัยการปฏิรูปประเทศตามแนวทางตะวันตก นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2450 เป็นต้นมา

ปี พ.ศ. 2559 มีการประกาศใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่เพิ่มเติม โดยมีรูปแบบสัญลักษณ์เป็นวงรีรูปไข่ 2 วงซ้อนกัน วงรีด้านนอกใช้สีทอง ด้านบนมีข้อความเป็นภาษาไทยว่า "มหาวิทยาลัยสวนดุสิต" สีขาว ส่วนด้านล่างมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า "SUAN DUSIT UNIVERSITY" สีขาว ใช้รูปแบบอักษร (font) SP Suan Dusit คั่นด้วยดอกเฟื่องฟ้าและดอกขจร ในวงรีด้านในใช้สีฟ้าน้ำทะเลเป็นพื้น มีเครื่องหมายของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นพยัญชนะภาษาไทย อักษรย่อ "มสด" สีขาว สำหรับภาษาอังกฤษใช้ อักษรย่อ "SDU" สีขาวอยู่ตรงกลาง[5]

สถานที่สำคัญภายในมหาวิทยาลัย

แก้
  • อาคารตึกใหญ่ (พระตำหนักพระองค์เจ้าอัพภันตรีปชา) สร้างขึ้นพร้อมกับวังสวนสุนันทา พระตำหนักตั้งติดกับสระน้ำขนาดใหญ่กลางอุทยานชื่อว่าสระอโนดาต (ปัจจุบันถูกถมดินและเปลี่ยนพื้นที่เป็น ลานสวนดุสิตโพล อาคารสำนักวิทยฯ อาคาร 4, 8, 11, 13 อาคารพจมาน ชินวัตร, หอพักเจ้าหน้าที่ ในฝั่งสวนดุสิต และอาคาร 31, 32, 33, 34, 35, 36, 26 ในฝั่งสวนสุนันทา และสำนักงานบางส่วนของกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น) เป็นพระตำหนักที่สร้างให้กับเจ้าจอมมารดาแสกับพระธิดา เป็นตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อพักผ่อนของเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และพระเจ้าลูกเธอใน รัชกาลที่ 5 ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานของ สวนดุสิตโพล
  • อาคารศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรม (พระตำหนักเยาวภา) เป็นทาวน์เฮาส์หลังแรกของประเทศไทยสร้างแบบครึ่งปูนครึ่งไม้เป็นศิลปะแบบพระราชวังเบิร์นสตอร์ฟ (Bernstorff Palace) ในประเทศเดนมาร์ค อาคารพระตำหนักเยาวภา เป็นอาคาร 2 ชั้น ยกพื้นสูงประมาณ 1 เมตร ปูพื้นด้วยไม้สักทั้งหลัง หลังคาทรงสูงทำด้วยกระเบื้องว่าว สีเดิมของอาคารเป็นสีเขียว ต่อมามีการบูรณะปรับปรุงเป็นสีน้ำตาล ภายในอาคารแบ่งเป็นส่วนๆ คล้ายอาคารชุดประตูเปิดติดต่อกันมีช่องลมเป็นลายไม้จำหลักเหนือขอบประตูเป็นหน้าต่างเป็นบานกระทุ้ง ตรงกลางเป็นบานเกล็ด ชั้นบนของอาคารมีเฉลียงด้านหน้ายาวตลอดทั้งอาคาร มีบันไดใหญ่ขึ้นลงแยกกัน 2 บันไดและมีบันไดเล็ก ริมสุดของอาคารอยู่ทางทิศใต้ เสาของอาคารมีลายปูนปั้น บันไดทางขึ้นด้านหน้าอาคารทำด้วยหินอ่อนสีขาว ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงเครื่องใช้และพระราชประวัติของเจ้านายในพระตำหนักเดิม
  • กำแพงวังสวนสุนันทา กำแพงนี้ก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเป็นขยายจากพระราชวังดุสิตเดิมไปทางทิศตะวันตกสร้างล้อมบริเวณเขตพระราชฐานชั้นในอุทยานสวนสุนันทา มีถนนดวงดาวใน (ถนนนครราชสีมา) ขั้นกลาง สร้างตั้งแต่บริเวณถนนดวงดาวในไปตามแนวถนนซังฮี้ (ถนนราชวิถี) จรดถนนตะพานทอง (ถนนสามเสน) เลียบถนนตะพานทอง จรดถนนถนนส้มมือใต้ (อู่ทองนอก) เลียบถนนส้มมือใต้ และไปจรดถนนดวงดาวใน มีประตูสุนันทาทวารเชื่อมเข้าอุทยาน (รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานชื่อประตูนี้ภายหลัง ปัจจุบันประตูและแนวกำแพงเดิมรื้อถอนแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เพื่อขยายเขตพระราชฐาน) ลักษณะกำแพงก่อสร้างโดยก่ออิฐถือปูนมีความสูงจากฐานถึงยอดเสา 3.20 เมตร แต่ละช่องกว้างจากกึ่งกลางเสาแต่ละต้น 3.10 เมตร ทุกหัวเสาด้านนอกประดับด้วยปูนปั้นลายดอกพุดตาน ทาสีน้ำตาลแดงทุกด้าน ในส่วนของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีเพียงด้านทิศเหนือตลอดแนวถนนราชวิถี และมีการรื้อกำแพงออกประมาณ 4.95 เมตร (เฉพาะทางเดินรถ) เพื่อเป็นทางเข้าออก (ประตู 5) มาจนถึงปัจจุบัน
  • ศาลหลวงปู่ชัยมงคล ศาลหลวงปู่ชัยมงคลเป็นศาลพระภูมิที่ตั้งขึ้นตามคติความเชื่อแบบพราหมณ์ เพื่อดูแลปกปักรักษาปกครองดูแลเคหะสถานบ้านเรือนและร้านโรง อาคารต่างๆ สร้างขึ้นเมื่อครั้งตั้งโรงเรียนการเรือนพระนครประมาณปี พ.ศ. 2484 ปัจจุบันตั้งอยู่บริเวณด้านข้างใกล้กับศาลาสารภีคู่ในมหาวิทยาลัย

หลักสูตรการศึกษา

แก้

ระดับปริญญาตรี

แก้

โครงสร้างหน่วยงานในมหาวิทยาลัย

แก้

สวนดุสิตโพล

แก้

สวนดุสิตโพล เป็นหน่วยงานหนึ่งในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยทำหน้าที่สำรวจประชามติ วิเคราะห์ และประเมินผลสถานการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชนทุกด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง กีฬา ฯลฯ ซึ่งนักศึกษาวิชาเอก สารนิเทศศาสตร์ ระดับปริญญาตรี มีส่วนร่วมในการสำรวจประชามติ ปัจจุบันมีผลงาน 775 เรื่อง อีกทั้งในปี พ.ศ. 2539 สวนดุสิตโพลได้รับเชิญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเพื่อดูงานการเลือกตั้งประธานาธิบดี[6]

ศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้ง / วิทยาเขต / พื้นที่

แก้

รายนามบุคคลจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

แก้

ด้านบันเทิง สื่อสารมวลชน

แก้

ด้านการอาหาร

แก้
  • มาลินี ชมเชิงแพทย์ ผู้คิดค้นแป้งสำเร็จรูปตรา"โกกิ" สาขาคหกรรมศาสตร์

นางแบบ นายแบบ นางงาม

แก้

ด้านการเมือง

แก้

ด้านอื่นๆ

แก้

รายนามบุคคลจากโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๓๙, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-10-20. สืบค้นเมื่อ 2016-06-20.
  3. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสวนดุสิต พ.ศ. 2558, ราชกิจจานุเบกษา, วันที่สืบค้น 17 กรกฎาคม 2558
  4. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-10-24. สืบค้นเมื่อ 2016-07-08.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-06. สืบค้นเมื่อ 2016-07-04.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้