พุดตาน

พรรณไม้มงคลดอก 3 สี
(เปลี่ยนทางจาก ดอกพุดตาน)
พุดตาน
พุดตาน
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Malvales
วงศ์: Malvaceae
สกุล: Hibiscus
สปีชีส์: H.  mutabilis
ชื่อทวินาม
Hibiscus mutabilis
L.

พุดตาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Hibiscus mutabilis L.) (ชื่อสามัญ: Cotton rose, Cotton rose hibiscus, Confederate rose, Confederate rose mallow, Dixie rosemallow, Changeable Rose, Changeable rose mallow, Rose of Sharon) พรรณไม้มงคลไทยสรรพคุณทางยาควรค่าที่จะมีปลูกไว้ เป็นพันธุ์ไม้ที่ดอกสามารถเปลี่ยนสีได้ถึง 3 สี ภายใน 1 วัน ใบสวยงามมากเมื่อมีใบดกทั่วต้นโดยเป็นไม้ที่ชอบแดดจัด และไม่ชอบน้ำขัง เจริญได้ดีในดินดอนร่วนซุย ขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและปักชำ และยังมีสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้อีกด้วย

ประวัติ แก้

 
การเปลี่ยนสีระหว่างวันของดอกพุดตาน

เป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน[1] โดยชาวจีมีความเชื่อว่าเป็นพรรณไม้มงคล เนื่องจากดอกสามารถเปลี่ยนสีได้ถึง 3 สี ซึ่งเปรียบได้เสมือนกับชีวิตของคนที่เกิดมา "เป็นเด็ก" แล้วโตขึ้น "เป็นหนุ่ม" และชราวัย "เป็นแก่เฒ่า" หมุนเวียนตามวัฏจักรเกิดแก่เจ็บตายตามวัฏจักรของสรรพชีวิตเหมือนสีของดอก "พุดตาน" ที่เมื่อแรกบานจะเป็น "สีขาวบริสุทธิ์" เปรียบได้กับ "เด็กไร้เดียงสา" แล้วเปลี่ยนเป็น "สีชมพู" สดใสดุจ "คนหนุ่มสาววัยร่าเริง" และสุดท้ายจะเป็น "สีแดงเข้ม" ก่อนเหี่ยวและร่วงโรยจากต้นในที่สุด เสมือน "คนแก่วัยชรา" ที่รอวันสิ้นอายุขัย ซึ่งปัจจุบันน้อยคนมากที่จะรู้จักต้นพุดตานและเข้าใจในวัฏจักรของธรรมชาติ ที่แฝงไปด้วยองค์ความรู้ในการค้นหาความสุขที่แท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ถึงจุดสุดท้ายแห่งชีวิต

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แก้

พุดตานเป็นพรรณไม้จัดอยู่ในวงศ์ชบา (Family Malvaceae) ไม้พุ่มเตี้ย สูงประมาณ 2 - 5 เมตร ตามลำต้นและกิ่งมีขน อยู่ทั่วไป

  • กิ่งพุดตาน จะมีสีเขียวอ่อนและแก่ขึ้นเป็นสีเขียวเข้มจนเปลี่ยนเป็นกิ่งแก้เต็มที่จะมีสีน้ำตาลปน มีขนสีเทาทั่วกิ่ง มีดอกออกที่ปลายกิ่ง
  • ใบพุดตาน มีลักษณะคล้ายใบโพธิ์ ขนาดใหญ่ ขอบใบหยัก มีรูปแบบใบเป็นรูปไข่กว้าง ปลายแหลม โคนรูปหัวใจ ขอบใบเว้า 3 - 5 แฉก เนื้อใบมีขนสากมือ ก้านใบยาว สีเขียวสด เวลาใบดกจะดูสวยงามมาก ใบกว้างประมาณ 9-20 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร
  • ดอกพุดตาน ดอกออกเป็นดอกเดี่ยว หรือเป็นช่อ 1 - 3 ดอก ออกบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง มีริ้วประดับ 7-10 อัน ดอกมีกลีบเกลี้ยง 5 แฉก มีขนทั่วดอก มีกลีบดอกตั้งแต่ 5 กลีบไปจนถึง 10 กลีบ ตามแต่สายพันธุ์ ดอกมีขนาดใหญ่ ดอกมียอดเกสรตัวเมียสีเหลือง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 8-12 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายดอกชบาซ้อน โดยดอกจะบานในตอนเช้าช่วง 7 - 8 นาฬิกา โดยเมื่อดอกแรกบานจะ "เป็นสีขาว" ทั่วทั้งดอก เมื่อสายดอกจะค่อยๆ เปลี่ยนสี "เป็นสีชมพูและเป็นสีชมพูเข้ม" โดยมีสีชมพูปนขาว จนชมพูทั่วทั้งดอก ใน "ตอนบ่าย" และดอกจะเปลี่ยน "เป็นสีแดงและสีแดงเข้ม" โดยมีสีแดงปนชมพู ใน "ตอนเย็น" จนกลายเป็นสีแดงเข้มทั่วทั้งดอก แล้วร่วงโรยในที่สุด พุดตานออกดอกดกตลอดทั้งปี จึงเหมาะสำหรับปลูกไว้เป็นไม้ประดับที่ควรมีปลูกไว้
  • ผลพุดตาน รูปทรงกลม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ต้นพุดตาน ชอบอยู่กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด ไม่ชอบที่แฉะหรือมีน้ำขัง ปลูกได้ดีในที่ดอน ดินร่วนซุย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง

สารสำคัญที่พบ แก้

ในดอกพุดตานจะมีสารฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์ (Flavonoid glycosides) โดยสารชนิดนี้จะมีปริมาณเปลี่ยนไปตามสีของดอกเมื่อดอกบาน โดยสีแดงจะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ในช่วงที่ดอกมีสีแดงเข้ม โดยจะมีปริมาณเป็น 3 เท่าของตอนที่ดอกยังเป็นสีชมพู

สายพันธุ์พุดตานที่พบ แก้

พบว่าพุดตานมีมากกว่า 5 สายพันธุ์ ตามขนาดของดอก ตั้งแต่ พุดตานดอกเล็ก โดยมีขนาดดอกเทียบเท่ากับฝ่ามือของเด็ก และ พุดตานดอกกลาง สายพันธุ์ดอกขนาดกลางเทียบได้กับฝ่ามือของวัยรุ่น ไปจนถึง พุดตานดอกใหญ่ โดยสายพันธุ์พุดตานดอกใหญ่เทียบได้กับหนึ่งฝ่ามือผู้ใหญ่โตเต็มวัย

การขยายพันธุ์พุดตาน แก้

พุดตานสามารถขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่งและปักชำกิ่ง

สรรพคุณทางเภสัชวิทยา แก้

ใบ หรือ ดอกสด ตำผสมน้ำผึ้งทาบริเวณที่เป็นฝี หรือบริเวณที่ถูกผึ้งต่อยไม่ให้เกิดการอักเสบได้ ใบแห้ง บดเป็นผงเตรียมเป็นขี้ผึ้งรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกดีมาก ซึ่งสารสำคัญในดอกคือ สารฟลาโวนอยด์ไกลโคไซด์ (Flavonoid glycosides) นอกจากนั้น ใบแห้ง จำนวน 15 ใบ บดให้ละเอียดแล้วใส่ไข่ขาวผสมให้เข้ากันนำไปพอกบริเวณที่เป็น "คางทูม" ทำพอกวันละ2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น ทำพอกจนกว่าจะหายคอบวม หรือ ใช้ดอกแห้ง 12 กรัม และ ใบสด 40 กรัมต้มน้ำดื่ม หรือ จะบดรวมกัน แล้วใส่ไข่ขาวนำไปทาบริเวณที่เป็นคางทูมก็ได้เหมือนกัน หากใครถูกไฟลวก น้ำร้อนลวก จนผิวหนังเป็นแผลพุพองไม่ถึงกับเป็นแผลลึกนัก ให้ใช้ใบสด 4 ใบ ตำละเอียดผสมกับน้ำมันมะพร้าวทาบ่อยๆ อาการจะค่อยๆดีขึ้นเห็นได้ชัด ใครเป็น "งูสวัด" ใช้ใบสด 5 กรัม ตำใส่น้ำซาวข้าวทาบริเวณที่เป็นเรื่อยๆจะหายได้ หรือจะใช้ราก ตำนำไปพอกบริเวณที่เป็น "งูสวัด" รักษาได้เช่นกัน[2][3] ทั้งนี้จากการพบสารสำคัญในกลุ่มฟลาโวนอยด์ และสารสำคัญแอนโทไซยานิน ดอกอาจสามารถใช้ในการป้องกันและรักษาโรคมะเร็งได้อีกด้วย แต่ยังไม่มีงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว จึงเหมาะสำหรับการนำไปศึกษาวิจัย ในลำดับต่อไป

อ้างอิง แก้