สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เนื้อหาในบทความนี้ล้าสมัย โปรดปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามเหตุการณ์ปัจจุบันหรือล่าสุด ดูหน้าอภิปรายประกอบ |
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (อังกฤษ: Crown Property Bureau; อักษรย่อ: CPB) เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐและเป็นหน่วยงานในพระมหากษัตริย์ที่มีสถานะพิเศษ[1][2] มีหน้าที่จัดการ ดูแลรักษา จัดหาผลประโยชน์ และดำเนินการอื่นใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่จะทรงมอบหมาย (ซึ่งประกอบด้วย ทรัพย์สินในพระองค์ และทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์)[2]
ตราประจำหน่วยงาน | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 (76 ปี 289 วัน) |
ผู้ก่อตั้ง | รัฐบาลควง อภัยวงศ์ |
หน่วยงานก่อนหน้า |
|
สำนักงานใหญ่ | วังลดาวัลย์ เลขที่ 173 ถนนนครราชสีมา แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
เอกสารหลัก |
|
เว็บไซต์ | http://www.crownproperty.or.th |
เชิงอรรถ | |
† ถูกยกเลิกจากการให้คำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในรัฐบาลคสช. |
เดิมเปลี่ยนฐานะจาก "กรมพระคลังข้างที่" ยกสถานะขึ้นเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491[3] มีหน้าที่ดูแลรักษาและบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่กำหนดให้แยกต่างหากจากทรัพย์สินส่วนพระองค์ซึ่งดูแลโดยสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และ ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักพระราชวัง ต่อมาใน พ.ศ. 2561 มีการออกกฎหมายเพื่อจัดระเบียบทรัพย์สินดังกล่าวใหม่ และมีการโอนทรัพย์สินให้อยู่ในพระปรมาภิไธย
ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เดิมมาจากการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน การถือครองที่ดินขนาดใหญ่และการถือครองธุรกิจหลายอย่าง ทรัพย์สินส่วนนี้ยังได้รับการยกเว้นภาษีอากรอีกด้วย ในปี 2548 มีผู้คำนวณว่าทรัพย์สินโดยเฉพาะหุ้นและที่ดินมีมูลค่ากว่า 990,000 ล้านบาท คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า สำนักงานฯ มีฐานะเป็นเอกชน แต่เป็นหน่วยงานของรัฐ เพราะ "สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย” สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิจารณ์ว่า ทรัพย์สินส่วนนี้แทบไม่ต่างกับทรัพย์สินส่วนพระองค์
ประวัติ
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ชื่อเดิมคือ "กรมพระคลังข้างที่" มีฐานะเป็นกรมอิสระ ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ[4] ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดฯให้พระยาไชยสุรินทร์เป็นกรมพระคลังข้างที่และพระคลังสวนและตึกเรือนโรงของหลวง [5] ทรัพย์สินในส่วนนี้เติบโตขึ้นเนื่องจากการขยายตัวของกรุงเทพมหานครหลังการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริง กรมพระคลังข้างที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายพัฒนาเมืองของรัฐบาล และเข้าควบคุมที่ดินจนกลายเป็นผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่สุดของประเทศ[6]: 7–8 กรมพระคลังข้างที่ได้รับจัดสรรเงินจากงบประมาณแผ่นดิน โดยบางปีสูงถึงร้อยละ 20 ของงบประมาณ[6]: 8–9
ต่อมา หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 กรมพระคลังข้างที่ถูกลดบทบาทมาเป็น "สำนักงานพระคลังข้างที่" อยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ต่อมามีการแยกบัญชี "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ออกจาก "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" และมีการตั้งสำนักงานทรัพย์สินฯ ขึ้นมาดูแลทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีสถานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานที่ปรึกษา[7][3]
มีการออกกฎหมายกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบ บริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ คือพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 มีการแก้ไขใน ปี พ.ศ. 2484 และ ปี พ.ศ. 2491 การแก้ไขในปี พ.ศ. 2491 ส่งผลให้ หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ เป็นประธานคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คนแรก ตามกฎหมายดังกล่าว โดยมีผลในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2491 มาตรา 4 ทวิ ให้สร้างสำนักงานขึ้นสำนักงานหนึ่งเรียกว่า สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดังนั้นวันก่อตั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คือวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 หากยึดตามกฎหมายดังกล่าว[3]
ต่อมาในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ ๗๑/๒๕๖๑ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 คณะรัฐมนตรีได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการยกเลิกกฎหมายฉบับเดิมเข้ามาเป็นเรื่องด่วนซึ่งไม่ปรากฏในวาระการประชุมต่อที่ประชุมสภาโดยสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานคือให้มีการเปลี่ยนชื่อสำนักงานจาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็น สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา ๗ ซึ่งที่ประชุมมีมติในวาระที่ ๑ ชั้นรับหลักการด้วยคะแนน เห็นด้วย ๑๙๔ เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง ๓ เสียง จากนั้นที่ประชุมได้ประชุมกรรมาธิการเต็มสภาตามข้อเสนอของนาย สมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและเลขานุการ วิป สนช. ซึ่งที่ประชุมมีมติในวาระที่ ๒ และ ๓ ด้วยคะแนน เห็นด้วย ๑๙๙ เสียง ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง ๓ เสียง ให้ประกาศใช้ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ... เป็นกฎหมายซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้ส่งร่างกฎหมายฉบับนี้กลับไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยและลงประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา ต่อไป
กระทั่งวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งทรงให้ไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561[2]
การบริหาร
โครงสร้างใหม่
พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561[2] กำหนดให้สำนักงานทรัพย์สินฯ มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" ประกอบด้วย ประธานกรรมการและกรรมการอื่นซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์คนหนึ่งเป็นผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ
- ในวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามโครงสร้างใหม่ประกอบด้วย [8]
- พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นประธานกรรมการ และเป็นผู้อำนวยการสำนักงานฯ อีกตำแหน่งหนึ่ง
- นายแพทย์ เกษม วัฒนชัย เป็นกรรมการ
- ดร.กฤษณ์ กาญจนกุญชร เป็นกรรมการ
- พันโท สมชาย กาญจนมณี เป็นกรรมการ
- พันตำรวจเอก ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม เป็นกรรมการ
- พลอากาศเอก อำนาจ จิระมณีมัย เป็นกรรมการ
- พลเอก จักรภพ ภูริเดช เป็นกรรมการ
- ต่อมาในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
- พลอากาศโท ภักดี แสง-ชูโต เป็นกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพิ่มเติม [9]
- วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
- พลเรือเอก ปวิตร รุจิเทศ รองสมุหราชองครักษ์และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน เป็นกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [10]
- วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2561 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
- พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นเลขาธิการพระราชวัง และผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[11] เนื่องจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นาย จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี นั้น ทำให้ตำแหน่งเลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่างลง
- วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2562 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
- ดร. อำพน กิตติอำพน
- พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เพิ่มเติม[12]
- วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
- พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นรองผู้อำนวยการ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์[13]
- ปัจจุบัน
- รศ.ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[14]
- พลเอก จิระศักดิ์ วัฒนาวงศ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
โครงสร้างเดิม
พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 กำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และจะทรงแต่งตั้งหนึ่งคนในจำนวนนี้ให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานฯ
เมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560 มีพระราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งพลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการผลประโยชน์ทรัพย์สินส่วนพระองค์[15]
การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ดำเนินงานตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491[16]
ทรัพย์สิน
พอพันธุ์ (2549) เขียนว่า ปัจจัยที่ทำให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นกลุ่มทุนทรงอิทธิพลของประเทศ ได้แก่ การแก้ไขพระราชบัญญํติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, ความเข้มแข็งของสถาบันพระมหากษัตริย์ และการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ[6]: 17
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีทรัพย์สินในความดูแล เป็นที่ดินกว่า 54 ตารางกิโลเมตรในกรุงเทพมหานคร และ 160 ตารางกิโลเมตรในจังหวัดอื่น โดยทำสัญญาให้เช่าแก่หน่วยงานราชการ องค์กรธุรกิจ และบุคคลทั่วไป ปัจจุบันมีอสังหาริมทรัพย์อยู่ในความดูแลประมาณ 37,000 สัญญา ในจำนวนนี้มีการจัดประโยชน์หลายรูปแบบ ทั้งเพื่ออยู่อาศัยหาประโยชน์พอยังชีพ ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและสมาคม องค์กรที่ไม่ได้แสวงหาประโยชน์ในเชิงธุรกิจ แยกเป็นที่ดินในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 25,000 สัญญา และในส่วนภูมิภาค อาทิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดพิจิตร จังหวัดลำปาง จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสงขลา จังหวัดนครปฐม จังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดชลบุรี รวมประมาณ 12,000 สัญญา[17]
ในปลายปี พ.ศ. 2556 สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือครองอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด รวมพื้นที่ 41,000 ไร่ (65.6 ตร.กม. หรือ 16,210 เอเคอร์) ซึ่งเป็นที่ดิน 93% สำหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ชุมชน ตลาด ผู้เช่าอาคาร ที่ดินรายย่อย และมีพื้นที่ดินเชิงพาณิชย์ใจกลางเมืองคิดเป็น 7%[18]
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ริเริ่มการพัฒนาชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 ต่อมาร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปัจจุบัน[19]
อนึ่ง ก่อนพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 จะมีผลบังคับใช้ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ในความดูแลของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้รับการยกเว้นภาษีอากร เช่นเดียวกับทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479[20] ในขณะที่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ในความดูแลของสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีอากร
สฤณี อาชวานันทกุล เขียนโดยอ้างอิงหนังสือ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work ว่า ทรัพย์สินโดยเฉพาะหุ้นและที่ดินมีมูลค่ากว่า 990,000 ล้านบาทในปี 2548[21]
การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์
ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2561 ได้มีการปฏิรูปการดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยมีการออก พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ทางสำนักงานฯจึงได้ออกหนังสือชี้แจง โดยมีใจความสำคัญดังนี้[22]
- สำนักงานฯ มีภาระหน้าที่ถวายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลแต่เดิม คืนให้แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจะทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดยทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในรูปแบบหุ้นของบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ต้องเปลี่ยนเป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ซึ่งได้รวมทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์แล้ว
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้นตามข้อ 1. นั้น ให้มีการเสียภาษีอากรทุกประเภทเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป
- การที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์นั้น ก็เพื่อเป็นการสืบสานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า
- สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ซึ่งสิทธิ์ในการมอบหมายข้าราชบริพารหรือผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทดูแลกิจการต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์
ในพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 มีเนื้อหาสอดคล้องกับหนังสือชี้แจงดังกล่าว และมีข้อเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมดังนี้[2]
- เปลี่ยนชื่อ "ทรัพย์สินส่วนพระองค์" เป็น "ทรัพย์สินในพระองค์" และรวม "ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน" และ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ. 2491 เข้าเป็น "ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์"
- ในกรณีทั้งปวงเกี่ยวกับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ระบุพระปรมาภิไธยหรือข้อความใด อันแสดงหรืออนุมานได้ว่าพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ ให้ระบุเพียงชื่อผู้ได้รับการมอบหมายให้ดูแลทรัพย์สินดังกล่าว และในกรณีที่ทรงมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นใดที่มิใช่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นผู้จัดการ ให้ต่อท้ายด้วยคำว่า "ผู้จัดการทรัพย์สินในพระองค์" หรือ "ผู้จัดการทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์" แล้วแต่กรณี สำหรับทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหน้าที่เป็นผู้จัดการ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์เป็นคู่กรณีหรือคู่ความ
- รายได้จากทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นำไปจ่ายหรือลงทุนได้ ทั้งนี้ ตามที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายหรือใช้สอยได้ ก็แต่โดยพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย
การลงทุนหลักทรัพย์
บทความนี้อาจมีงานค้นคว้าต้นฉบับรวมอยู่ |
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลงทุนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งต้องชำระภาษีอากรเช่นเดียวกับบริษัททั่วไป มีข้อมูลเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ดังต่อไปนี้
- บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) - ทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท
- สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ - ถือหุ้นร้อยละ 98.54 จำนวน 49,272,239 หุ้น (ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2551)
- บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) - ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1,200 ล้านบาท ราคาตลาดหุ้นละ 474 บาท
- สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ - ถือหุ้นร้อยละ 30 จำนวน 360 ล้านหุ้น
- บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด - ถือหุ้นร้อยละ 1.6 จำนวน 19.22 ล้านหุ้น
- บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) - ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 33,944.38877 ล้านบาท ราคาตลาดหุ้นละ 144 บาท
- สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ - ถือหุ้นร้อยละ 21.3 จำนวน 722.941958 ล้านหุ้น
- บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด - ถือหุ้นร้อยละ 2.43 จำนวน 82.3678 ล้านหุ้น
- กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล - ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 58,080 ล้านบาท ราคาตลาดหุ้นละ 12.2 บาท
- บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด - ถือหุ้นร้อยละ 0.86 จำนวน 50 ล้านหุ้น
- บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) - ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 524.463106 ล้านบาท ราคาตลาดหุ้นละ 9 บาท
- บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด - ถือหุ้นร้อยละ 0.61 จำนวน 3.1827 ล้านหุ้น
- บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) - ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1,670 ล้านบาท ราคาตลาดหุ้นละ 16.3 บาท
- บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด - ถือหุ้นร้อยละ 0.5 จำนวน 8.3521 ล้านหุ้น
และยังมีการลงทุนในบริษัทดังต่อไปนี้
- สยามพิวรรธน์
- ดอยคำ
- บริษัท สยามสินธร จำกัด [23]
- บริษัท นวุติ จำกัด [24]
- บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด [25]
- บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด [26]
- เครือโรงแรมเคมปินสกี้ (จากประเทศเยอรมนี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์) [27]
- บริษัท หินอ่อน จำกัด [28]
- บริษัท ฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด [29]
- บริษัท องค์การเภสัชกรรม - เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด [30]
- บริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด [31]
- บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด [32]
- บริษัท นันทวัน จำกัด (ไทยโอบายาชิ) [33]
- บริษัท พรีมัส (ประเทศไทย) จำกัด [34]
- มหาวิทยาลัยเอเชียน [35]
บริษัทในเครือ
สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ดำเนินการจัดตั้งบริษัทในเครือขึ้น 2 แห่ง เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการสินทรัพย์ต่างๆ โดยชำระภาษีอากรเช่นเดียวกับบริษัททั่วไป ดังต่อไปนี้
- บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด - ทำหน้าที่บริหารการลงทุนในหุ้นอื่นๆ
- บริษัท วังสินทรัพย์ จำกัด - ทำหน้าที่ดูแลการลงทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่
ผลการดำเนินงาน
ภายหลังการมีสถานะเป็นนิติบุคคลในปี พ.ศ. 2491 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีการบริหารงานเช่นเดียวกับองค์กรทั่วไป จนกระทั่งเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจใน พ.ศ. 2540 ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอยู่ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จึงมีการปรับปรุงการบริหารงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และกิจการต่างๆ ที่ลงทุน เริ่มฟื้นตัวได้ในปี พ.ศ. 2546[ต้องการอ้างอิง] จึงทำให้สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีรายได้ในปีนั้นที่ประมาณ 3,800 ล้านบาท[ต้องการอ้างอิง]
จากการแถลงข่าวประจำปี พ.ศ. 2548 ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานฯ แจ้งว่าในปี พ.ศ. 2547 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีรายได้ประมาณ 5 พันล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 90 เป็นรายได้จากเงินปันผลของหุ้นที่ลงทุนใน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ และ บมจ.เทเวศประกันภัย[ต้องการอ้างอิง] ที่เหลืออีกประมาณร้อยละ 8 หรือประมาณ 400 ล้านบาท เป็นรายได้จากค่าเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์[ต้องการอ้างอิง]
ข้อวิจารณ์
ในปี 2553 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ระบุในรายงานประจำปี 2553 ปฏิเสธข่าวของนิตยสารฟอบส์ที่ลงว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นพระมหากษัตริย์ที่รวยที่สุดในโลก โดยอธิบายว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินของรัฐและของแผ่นดิน ซึ่งมีรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ โดยสำนักงานฯ เป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน มีนโยบายดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยตลอด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สำนักงานปฏิรูปที่ดิน (สปก.) นำที่ดินราวกึ่งหนึ่งที่มอบให้สำนักงานฯ ดูแลตั้งแต่ปี 2479 (44,000 กว่าไร่) จัดสรรให้ประชาชน ส่วนที่ดินที่เหลือก็ไม่ได้ใช้แสวงประโยชน์อย่างเอกชน แต่บริหารจัดการโดยมีนโยบายการพัฒนาระยะยาวเพื่อประโยชน์สังคมเป็นหลัก[36]
ฝ่าย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เขียนในประชาไท ว่า ในทางปฏิบัติ รัฐบาลมิได้เป็นผู้รับผิดชอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทั้งไม่มีอำนาจควบคุม จัดการได้ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในในวงการธุรกิจ รัฐบาลและสำนักงานฯ การเขียนในรายงานประจำปี 2553 เป็นการบิดเบือนความจริง เพราะแย้งว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในมือรัฐบาล สมศักดิ์เขียนต่อไปว่า ผลประโยชน์ทั้งหมดจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์จะทรงจำหน่ายใช้สอย "ตามพระราชอัธยาศัย ไม่ว่าในกรณีใด ๆ" หมายรวมถึงว่า จะทรงจำหน่ายใช้สอยในกรณีที่จะตีความว่าเป็น "ส่วนพระองค์" ก็ได้[37]
สมศักดิ์เขียนว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความสถานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หลายครั้ง ดังนี้[37]
- สำนักงานฯ "ไม่อาจถือได้ว่าเป็นกิจการของรัฐ เพราะคำว่า “รัฐ” และคำว่า “พระมหากษัตริย์” มีความหมายแตกต่างกัน และตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 [แก้ไขเพิ่มเติม 2491] ก็มิได้มีบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นว่า รัฐได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์แต่ประการใด"
- คณะกรรมการกฤษฎีกาลงความเห็นตามเสียงข้างมากว่า กฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ "ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดกำหนดให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นส่วนราชการ” และ "การที่ทรงแต่งตั้งกรรมการ [ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์] ดังกล่าว เป็นพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ มิใช่รัฐบาลเป็นผู้เสนอแนะในการแต่งตั้งแต่ประการใด การที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งดังกล่าว ก็เป็นเพียงการปฏิบัติการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มิได้มีผลทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ”
- สำนักงานฯ มีฐานะเป็นเอกชน เพราะ "การดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมิได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับของรัฐบาล [...] มิได้อยู่ในการควบคุมหรือกำกับของรัฐบาล ที่จะจัดให้ดำเนินงานตามความประสงค์ของรัฐบาลได้ แต่การดำเนินธุรกิจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นไปเพื่อจัดหา ผลประโยชน์แก่กองทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้จ่ายสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ [...] และเท่าที่เป็นมา การที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าถือหุ้นในบริษัทรัฐวิสาหกิจแห่งใด ก็ถือว่ามีฐานะอย่างเอกชน ไม่มีการนับส่วนที่มีหุ้นนั้นว่าเป็นของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ"
- สำนักงานฯ "มิใช่หน่วยงานภาครัฐที่อยู่ภายใต้การควบคุมหรือกำกับดูแลของรัฐบาล" จึงไม่มีฐานะเป็นกระทรวง ทบวง กรม หรือเทียบเท่า ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชอบในหนี้สินและภาระผูกพันของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์"
- สำนักงานฯ ถือได้ว่าเป็น "หน่วยงานของรัฐ" เพราะ "สถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐด้วย"[38]
จากการตีความครั้งหลังสุดของคณะกรรมการกฤษฎีกา สมศักดิ์เขียนว่า หากสำนักงานฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาย่อมมีอำนาจที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงการดำเนินการได้ แต่ที่จริง คณะกรรมการกฤษฎีกายังย้ำอีกว่า "โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการต่าง ๆ ที่เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยหรือ ที่ต้องได้รับพระบรมราชานุญาตนั้น บุคคลใดไม่พึงดำเนินการสอบสวนให้เป็นที่กระทบกระเทือนต่อพระราชอำนาจดังกล่าว"[37][38]
สมศักดิ์จึงสรุปว่า ทรัพย์สินส่วนพระองค์กับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แทบไม่ต่างกัน เพราะ "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ไม่ว่าเป็นการกำหนด "รายจ่ายประจำ" หรือการกำหนดให้มี "คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" และ "สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" ก็ล้วนแต่ "อยู่ในการกำกับดูแลของพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย" ทั้งสิ้น[37]
วันที่ 15 ธันวาคม 2557 มีข่าวกระทรวงการคลังยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระประสงค์ขอรับพระราชทานเงินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เพื่อพระราชทานให้ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี จำนวน 200 ล้านบาท[39]
บิลเลียนแนส์นิวส์ไวร์ (Billionaires NewsWire) ระบุว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ยังลงทุนในบริษัทที่ไม่แสดงรายการต่อสาธารณะ เช่น เครือโรงแรมเยอรมัน เคมพินสกีอาเก (Kempinski AG) และเทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน)[40]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ "สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" (PDF). สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. เมษายน 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-05-13. สืบค้นเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2016.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2557 (3 พฤศจิกายน 2018), จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. ๒๕๖๑ (PDF) (พระราชบัญญัติ), vol. 135, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-11-23, สืบค้นเมื่อ 2018-11-03: 2
- ↑ 3.0 3.1 3.2 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พุทธศักราช 2491 มาตรา 4 ทวิ
- ↑ เปิดงานวิจัย ความเป็นมา "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์"
- ↑ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาค ๑๓ เดือน ๔ จุลศักราช ๑๒๔๔
- ↑ 6.0 6.1 6.2 อุยยานนท์, พอพันธ์ (2006). "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับบทบาทการลงทุนทางธุรกิจ".
{{cite journal}}
: Cite journal ต้องการ|journal=
(help) - ↑ กรมพระคลังข้างที่ถูกลดบทบาทมาเป็น สำนักงานพระคลังข้างที่
- ↑ พระราชโองการ ประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอน ๑๘๓ ง พิเศษ หน้า ๓ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๐
- ↑ ประกาศ แต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอน ๒๕๐ ง พิเศษ หน้า ๑ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๐
- ↑ ประกาศ แต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔ ตอน ๒๖๗ ง พิเศษ หน้า ๑ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
- ↑ ประกาศ แต่งตั้งเลขาธิการพระราชวังและผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอน ๕๕ ง พิเศษ หน้า ๒ ๑๒ มีนาคม ๒๕๖๑
- ↑ ประกาศ แต่งตั้งกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอน ๔ ง พิเศษ หน้า ๑ ๖ มกราคม ๒๕๖๒
- ↑ "แต่งตั้งรองผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 18 November 2000. สืบค้นเมื่อ 27 September 2021.
- ↑ แต่งตั้งเป็นประธานกรรมการมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
- ↑ พระราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งพลอากาศเอกสถิตย์พงษ์ สุขวิมล เป็นผู้ดูแลรักษาและจัดการผลประโยชน์ทรัพย์สินส่วนพระองค์
- ↑ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 เก็บถาวร 2018-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Longdo Law
- ↑ "เปิดพอร์ต"มหึมา" สำนักงานทรัพย์สินฯขุมทรัพย์ที่ดินทำเลทองแสนล้าน". มติชนออนไลน์. 6 กุมภาพันธ์ 2554. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "รายงานประจำปี 2556". สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์. กุมภาพันธ์ 2557. สืบค้นเมื่อ 17 พฤษภาคม 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "การพัฒนาชุมชนในพื้นที่" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-23. สืบค้นเมื่อ 2011-09-01.
- ↑ "พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-01. สืบค้นเมื่อ 2015-07-02.
- ↑ สฤณี อาชวานันทกุล (23 กรกฎาคม 2555). "นี่หรือคือโปร่งใส? กรณีรายงานของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์". ไทยพับลิกา.
- ↑ คำชี้แจงการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ↑ "บริษัท สยามสินธร จำกัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-13. สืบค้นเมื่อ 2017-06-28.
- ↑ บริษัท นวุติ จำกัด
- ↑ "บริษัท เอเพ็กซ์เซล่า จำกัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-15. สืบค้นเมื่อ 2013-12-21.
- ↑ "บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-13. สืบค้นเมื่อ 2013-12-21.
- ↑ History Kempinski Hotels เครือโรงแรมเคมปินสกี้
- ↑ บริษัท หินอ่อน จำกัด
- ↑ บริษัท ฮอนด้าออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด
- ↑ "บริษัท องค์การเภสัชกรรม - เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-22. สืบค้นเมื่อ 2017-06-28.
- ↑ บริษัท ปตท.จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด
- ↑ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด
- ↑ "บริษัท นันทวัน จำกัด (ไทยโอบายาชิ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-05-22. สืบค้นเมื่อ 2017-06-28.
- ↑ "บริษัท พรีมัส (ประเทศไทย) จำกัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-10. สืบค้นเมื่อ 2014-01-08.
- ↑ มหาวิทยาลัยเอเชียน[ลิงก์เสีย]
- ↑ มติชนออนไลน์ (17 มิถุนายน 2554). "สำนักงานทรัพย์สินฯ แจง "ในหลวง"ไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก".
- ↑ 37.0 37.1 37.2 37.3 ประชาไท (22 มิถุนายน 2554). "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: โต้ รายงานประจำปี 2553 ของ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์".
- ↑ 38.0 38.1 "บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ฐานะของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๔๒". เมษายน 2544.[ลิงก์เสีย]
- ↑ กระทรวงการคลัง (15 ธันวาคม 2557). "ข่าวที่ 106/2557 การชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรณีการพระราชทานเงินให้ท่านผู้หญิงศรีรัศม์ สุวะดี" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-12-18. สืบค้นเมื่อ 2019-12-18.
- ↑ "บิลเลียนแนส์นิวส์ไวร์ (Billionaires NewsWire)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-11. สืบค้นเมื่อ 2015-06-21.
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บไซต์ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เก็บถาวร 2014-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์