เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร)
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) อดีตเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร) | |
---|---|
เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2463 – พ.ศ. 2473 | |
ก่อนหน้า | พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ |
ถัดไป | เจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 21 กันยายน พ.ศ. 2420 |
เสียชีวิต | 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 (69 ปี) |
ศาสนา | พุทธ |
ญาติ | พระยาศรีสรราชภักดี ( หนูเล็ก โกมารกุล ณ นคร ) (บิดา)
คุณหญิงเล็ก โกมารกุล ณ นคร (มารดา) เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (ตา) |
ประวัติ
แก้มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพลเทพ นามเดิม ชิต (ภายหลังเปลี่ยนเป็น เฉลิม) เกิดในสกุล "โกมารกุล ณ นคร" เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2420 ( ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู นพศก จุลศักราช 1239 ) เป็นบุตรของ พระยาศรีสรราชภักดี ( หนูเล็ก โกมารกุล ณ นคร ) กับ คุณหญิงเล็ก ศรีสรราชภักดี ( ธิดา เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ วร บุนนาค และ ท่านผู้หญิงอิ่ม ) ท่านมีพี่น้อง ดังรายนามต่อไปนี้
- นายพลพ่าย ( ชวน โกมารกุล ณ นคร )
- หม่อมย้อย ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
- คุณเยี่ยม โกมารกุล ณ นคร ( คุณกลาง )
- นายฉันท์ โกมารกุล ณ นคร ( บิดาของ 1.หลวงอำนาจนทีสฤษฎิ์ ฉินท์ โกมารกุล ณ นคร 2.นางสมัคร วงศ์นาคน้อย 3.เฉลย โกมารกุล ณ นคร )
- คุณหญิงเยื้อน ราชสมบัติ
- พระศรีไกรลาศ ( เชื้อ โกมารกุล ณ นคร )
- เจ้าพระยาพลเทพ
- นายฉาย โกมารกุล ณ นคร
- คุณเยียน โกมารกุล ณ นคร
- นางยิ้ม ประพัทธ์สุรพงษ์
เมื่อเยาว์วัย ได้ศึกษาในขั้นแรก ในสำนักเรียน พระศาสนโสภณ ( อ่อน ) วัดพิชยญาติการาม ธนบุรี จน พ.ศ. 2439 จึงได้ตามเสด็จ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาอยู่เป็นเวลา 5 ปี เดินทางกลับกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2443
ในปีที่กลับถึงเมืองไทย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการ ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในตำแหน่งผู้ช่วยนายเวร ในกรมตรวจ และ กรมสารบัญชี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2443 และได้เลื่อนเป็นนายเวรบัญชีคลังหัวเมือง ในปีถัดมา
ถึง พ.ศ. 2445 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการพระคลัง มณฑลพายัพ ได้ออกไปปฏิบัติราชการ ณ ที่นั้น เกือบ 5 ปี จึงย้ายกลับมากรุงเทพฯ เพื่อรับตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี กรมตรวจ และ กรมสารบัญชี
ถึง พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมเก็บ ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จนเมื่อ วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2458 ก็ได้เป็น อธิบดีกรมตรวจ และ สารบัญชี ในที่สุด ( กรมตรวจ และ สารบัญชีนี้ ต่อมาได้ขนานนามใหม่ว่า กรมบัญชีกลาง) นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งเป็น องคมนตรี ด้วย
ท่านได้รับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยปรีชาสามารถ จนได้เป็นกรรมการสภาการคลัง และอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ ทรงเล็งเห็นว่า มีความสามารถที่จะทำการในตำแหน่งอันสูง ณ กระทรวงอื่นๆได้ จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่ เดือน เมษายน พ.ศ. 2466 ซึ่งท่านก็ได้รับราชการฉลองพระคุณด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ ด้วยเหตุสุขภาพไม่สมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2473
อนึ่ง เมื่อมีการพระราชทานนามสกุลนั้น ท่านเจ้าพระยาพลเทพ เมื่อยังเป็นที่ พระยาไชยยศสมบัติ ได้เป็นผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุล จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยผู้หนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานว่า "โกมารกุล ณ นคร"( เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า Koma^rakul na Nagara ) สำหรับผู้สืบสายลงมาจาก เจ้าพระยามหาศิริธรรม ( เมือง ณ นคร ) เป็นบุตร เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) และ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) เป็นพระราชโอรสองค์รองสุดท้ายในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ บุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) นับเป็นนามสกุลที่ 253 ของประเทศไทย
ภายหลังออกจากราชการแล้ว ท่านเจ้าพระยาพลเทพ ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ ณ บ้านเลขที่ 147 เยื้องตลาดแขก ตำบลขนุนกวน อำเภอบางยี่เรือ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเก่าของตระกูล ตกทอดมาจากเจ้าพระยามหาศิริธรรม ( เมือง ณ นคร ) ปู่ของท่าน ( ซึ่งรับพระบรมราชโองการให้ย้ายจากนครศรีธรรมราช มารับราชการที่กรุงธนบุรีฯ และเลือกที่ดินผืนนี้ เพื่อให้อยู่ใกล้พระราชวังเดิม ) แวดล้อมไปด้วยญาติๆ และบรรดาข้าราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และ กระทรวงเกษตราธิการ ที่ท่านรับอุปการะ เป็นที่น่าเสียดายว่าบ้านหลังดังกล่าว ภายหลังเมื่อท่านถึงอสัญกรรมแล้ว ทายาทได้ขายให้ทางราชการไป กลายสภาพมาเป็นสถาบันราชภัฎธนบุรี ดังที่เห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ท่านยังมีใจที่ใฝ่ในการกุศลอย่างแรงกล้า ได้บำรุงและก่อสร้างศาสนสถานตามวัดต่างๆ เช่นที่วัดอนงคาราม และ วัดบุปผาราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัดบุปผารามนั้น มีหลายสิ่ง ที่ยังปรากฏจนปัจจุบัน คือ หอระฆังและกลอง มีนามว่า "หออาณัติ" ซึ่งท่านสร้างอุทิศแก่ วราภา โกมารกุล ณ นคร ธิดาคนเล็ก ของท่าน ซึ่งถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย กับสร้างสนามหญ้าหน้าโรงเรียนปริยัติธรรมสินสุขะนิธิ ( สนามนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว ) กับยังรับอุปฐากภิกษุสามเณรในวัด นับแต่ พระอโนมคุณมุนี ( กล่อม อนุภาสเถระ ) เจ้าอาวาส ลงไป และเมื่อมีเวลาว่างยังพอมีกำลังเดินไปวัดได้ ก็อาจจะให้มีการประชุม นิมนต์สามเณรเล็กๆ มาโต้ธรรมวาที
นอกจากนี้ ท่านยังพยายามให้มีการแปลหนังสือธรรมะบางฉบับจากภาษาต่างประเทศ มาเป็นภาษาไทยด้วย เช่น นิมนต์พระพม่า วัดปรก มาสนทนาธรรมกับนายบุญมั่น โดนให้ นายบุญมั่น ถาม และพระพม่า วิสัชนา มีชวเลข คอยจด จนได้ออกเป็นหนังสือ ชื่อ "ทำไมมนุษย์จึงเคารพนับถือพระพุทธเจ้า" เล่มหนึ่ง กับเมื่อก่อนจะถึงอสัญกรรม ยังได้มอบให้หลวงไพจิตรวิทยาการ ( หม่อมหลวงไพจิตร สุทัศน์ ) แปลหนังสือธรรมะ ชื่อ Buddhist Meditation ของ G. Constant Lounsbery ขึ้นอีกเล่มนึง ซึ่ง สุชีโว ภิกขุ ( สุชีพ ปุญญานุภาพ ) ให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า "การบำเพ็ญฌานทางพระพุทธศาสนา" ยังคงเป็นหนังสือที่มีค่าในทางการศึกษาพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้
งานอดิเรกของท่านนอกจากบำรุงพระศาสนาแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่ง เช่น ต่อจิ๊กซอว์ , ฟังวิทยุคลื่นสั้นจากต่างประเทศ เช่น บีบีซี และ ออลอินเดียเร และที่สำคัญซึ่งท่านรักมาก คือ การเลี้ยงนกเขาชวา โดยมี พระศรีไกรลาศ และ ขุนสฤษดิ์รังวัดการ เป็นผู้ดูแลให้ท่าน
ท่านเจ้าพระยาพลเทพ เริ่มป่วยด้วยความชราภาพ ตั้งแต่เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้เชิญนายแพทย์ที่เชี่ยวชาญมาทำการรักษาพยาบาล แต่อาการก็ทรงและทรุดเรื่อยมา แต่ในยามมีทุกขเวทนานั้น ท่านก็สามารถระงับความเจ็บปวดได้จากธรรมะ ที่ท่านได้เพียรศึกษาและปฏิบัติมาเสมอ จนที่สุดได้ถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 เวลา 23.25 นาที
ได้รับพระราชทานโกษฐ์ไม้สิบสอง ประกอบศพ เป็นเกียรติยศ ตั้งบำเพ็ญกุศล ณ บ้านตำบลตลาดแขก จนถึงวาระได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2490
ครอบครัว
แก้ท่านมีบุตร-ธิดา ดังรายนามต่อไปนี้
ที่เกิดด้วย คุณหญิงแช่ม โกมารกุล ณ นคร ราชินิกูล ท.จ. ธิดา พระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี (ชาย บุนนาค) และ ท่านเปรม คือ
- คุณหญิงแฉล้ม บุรณศิริพงษ์ ภริยา พระยาบุรณศิริพงษ์ (ประโมทย์ บุรณศิริ) (ถึงแก่อนิจกรรม)
ที่เกิดด้วย นางสิน โกมารกุล ณ นคร คือ
- นายโฉลก โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
- นางเฉลา พันพุฒอนุราช ภรรยา พันพุฒอนุราช (ยิม หรือ พุฒ โกมารกุล ณ นคร) (ถึงแก่กรรม)
ที่เกิดด้วยภรรยา (ไม่ทราบนาม) คือ
- เด็กหญิงฉลวย โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
ที่เกิดด้วย คุณหญิงสว่าง พลเทพ ต.จ. (สกุลเดิม ปลีกอยู่สุข) คือ
- นายเฉลว โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
- นายดิลก โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
- คุณหญิงโฉมศรี กำภู ณ อยุธยา ภริยา ฯพณฯ หม่อมหลวงชูชาติ กำภู (ถึงแก่อนิจกรรม)
- นายเฉลียววงศ์ โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
- พลตำรวจตรี เฉลิมพงศ์ โกมารกุล ณ นคร
- นายพลทิพ โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
- นายฉลาดล้ำ โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
- นายฉลองพันธ์ โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
- นางโฉมฉาย ชัยสมบูรณ์ (ถึงแก่กรรม)
- นางวิภาต์ รามนันทน์ (ถึงแก่กรรม)
- นางไฉน์ไลต์ รามนันทน์ (ถึงแก่กรรม)
- เด็กหญิงวราภา โกมารกุล ณ นคร (ถึงแก่กรรม)
ตำแหน่งทางราชการ
แก้ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ ,ราชทินนาม และ ยศ ตามลำดับ ดังนี้
บรรดาศักดิ์ และ ราชทินนาม
แก้- วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2444 เป็น หลวงอุปนิกษิตสารบรรณ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ถือศักดินา ๖๐๐[1]
- วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2451 เป็น พระไชยยศสมบัติ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ถือศักดินา ๘๐๐ [2]
- วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2453 เลื่อนขึ้นเป็นพระยาไชยยศสมบัติ มีตำแหน่งราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ถือศักดินา ๑๐๐๐[3]
- วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2464 รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัตร ว่า เจ้าพระยาพลเทพ สรรพพลเสพเสนาบดี ศรีมหาเกษตรธิบาล ผลาผลธัญญาหารอุดม สมบูรณ์คณิตศาสตร์ มหาอำมาตย์โกมารกุล วรุณเทพมุรธาธร เกียรติกำจรกัลยาณวัตร พุทธาธิรัตนตรัยคุณธาดา อุดมเมตตาชวาศัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ [4]นับเป็นเจ้าพระยาพลเทพ คนสุดท้ายของกรุงรัตนโกสินทร์
ยศ
แก้- วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2454 เป็น มหาอำมาตย์ตรี[5]
- 16 ธันวาคม 2454 – นายหมู่ตรี[6]
- 4 มิถุนายน 2456 – นายหมู่โท[7]
- วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2458 เป็น มหาอำมาตย์โท[8]
- วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2463 เป็นมหาอำมาตย์เอก[9]
ตำแหน่ง
แก้เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2465 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.) (ฝ่ายหน้า)[12]
- พ.ศ. 2464 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) (ฝ่ายหน้า)[13]
- พ.ศ. 2468 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)[14]
- พ.ศ. 2457 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.)[15]
- พ.ศ. 2470 – เหรียญจักรพรรดิมาลา (ร.จ.พ.)[16]
- พ.ศ. 2464 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 2 (ว.ป.ร.2)[17]
- พ.ศ. 2469 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 3 (ป.ป.ร.3)[18]
- พ.ศ. 2454 - เข็มข้าหลวงเดิม[19]
อ้างอิง
แก้- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรขุนนาง
- ↑ พระบรมราชโองการ
- ↑ ประกาศพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานยศ แก่ข้าราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (หน้า ๑๐๑๕)
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรเสือป่า
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรเสือป่า
- ↑ พระราชทานยศและเลื่อนยศ
- ↑ พระราชทานยศ
- ↑ พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งรองเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการและกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
- ↑ ประกาศ ตั้งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานตรารัตนวราภรณ์, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๗๒, ๗ มกราคม ๒๔๖๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๔๗๒, ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๑๒, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายพระนามแลนามผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล, เล่ม ๓๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๑๘๕๑, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๒๑, ๒๔ เมษายน ๒๔๗๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2020-07-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๘๓๒, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายหน้า, เล่ม ๔๓ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๒๕, ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเข็มข้าหลวงเดิม, เล่ม ๒๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๕๑, ๒๘ พฤษภาคม ๑๓๐
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- การบำเพ็ญฌานทางพระพุทธศาสนา ( เจ้าภาพพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าพระยาพลเทพ ( เฉลิม โกมารกุล ณ นคร ) ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2490 )