เชียงตุง

เมืองในรัฐฉาน ประเทศพม่า

เชียงตุง (ไทใหญ่: ၵဵင်းတုင်, ออกเสียง [keŋ˥.tuŋ˨˦]; พม่า: ကျိုင်းတုံ, เอ็มแอลซีทีเอส: kyuing:tum, ออกเสียง: [t͡ɕáɪ̯ɰ̃.tòʊɰ̃]; ไทเขิน: ᨩ᩠ᨿᨦᨲᩩᨦ; ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นเมืองตั้งอยู่ในรัฐฉานของประเทศพม่า เป็นเมืองของชาวไทเขินและชาวไทใหญ่ ถือได้ว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่าเมืองเชียงใหม่แห่งล้านนาและเมืองเชียงรุ่งแห่งสิบสองปันนา โดยชาวไทใหญ่เรียกชื่อเมืองนี้ว่า "เก็งตุ๋ง" ในอดีตเชียงตุงเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางการค้าเชื่อมต่อระหว่างสิบสองปันนากับล้านนา โดยมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อเดินทางไปมาค้าขายในเส้นทางนี้

เชียงตุง

ၵဵင်းတုင်
ကျိုင်းတုံ
เมือง
เชียงตุงตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เชียงตุง
เชียงตุง
ที่ตั้งเมืองเชียงตุงในประเทศพม่า
พิกัด: 21°17′30″N 99°36′30″E / 21.29167°N 99.60833°E / 21.29167; 99.60833
ประเทศ พม่า
รัฐ รัฐฉาน
จังหวัดเชียงตุง
อำเภอเชียงตุง
พื้นที่
 • ทั้งหมด3,506 ตร.กม. (1,354 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2014)[1]
 • ทั้งหมด171,620 คน
 • ความหนาแน่น48.955 คน/ตร.กม. (126.79 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+6.30 (เวลามาตรฐานพม่า)

ประวัติศาสตร์ แก้

 
เจ้าฟ้าอินแถลง เจ้าครองนครเชียงตุงองค์สุดท้าย

ประวัติศาสตร์ในช่วงแรกของเชียงตุงไม่ชัดเจน แต่มีตำนานเล่าขานกันว่า เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ท่วมเมืองมีฤๅษีนามว่า ตุงคฤๅษี แสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้น้ำไหลออกไปอยู่ตรงกลางเมือง ทำให้เกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกกันว่า หนองตุง อันเป็นที่มาของชื่อ เชียงตุง เป็นแว่นแคว้นที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม อุดมไปด้วยป่าไม้ และมีเจ้าฟ้าที่เข้มแข็งปกครอง จึงเฉลิมนามให้ใหม่ว่า เขมรัฐตุงคบุรี หลักฐานที่เป็นพงศาวดารของเมืองได้กล่าวไว้ว่า เมื่อจุลศักราช 791 (พ.ศ. 1772) พญามังรายได้เสด็จประพาสป่าและทรงไล่กวางทองมาจนถึงเมืองเชียงตุง พระองค์ทรงเล็งเห็นภูมิประเทศของเมืองเชียงตุง ก็พอพระทัยมากจึงยกกองทัพมารบ ยึดเมืองเชียงตุงไว้ในอาณาเขต และส่ง เจ้าน้ำท่วม ผู้เป็นราชบุตรไปปกครองเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1786 เชียงตุงจึงเป็นเมือง "ลูกช้างหางเมือง" หรือ "เมืองลูกหลวง" ขึ้นกับอาณาจักรล้านนาและได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากล้านนา ก่อนจะกลายเป็นเมืองประเทศราชของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง และเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปพร้อมกับพม่า

 
คุ้มหลวงเชียงตุงของเจ้าก้อนแก้วอินแถลง ถูกพม่าทุบทิ้งเมื่อ พ.ศ. 2534

ในสมัยการล่าอาณานิคมนี้ ทำให้เกิดเจ้าฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชียงตุง พระนามว่า เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือ เจ้าอินแถลง ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับ รัชกาลที่ 5 ของไทย พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุงไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ เชียงตุงก็ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ

จนกระทั่งในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเชียงตุง และ เมืองพาน จากอังกฤษ ที่เคยเป็นของชาวสยาม โดยมีความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น มีข้ออ้างว่ามีประวัติและเชื้อชาติที่เหมือนกัน นอกจากนั้นกองทัพไทยยังเข้าไปโจมตี เมืองตองยี และสิบสองปันนาอีกด้วย แต่ไทยก็มิได้ปกครองโดยตรง ญี่ปุ่นช่วยให้เมืองเชียงตุงและเมืองพานมาร่วมเข้ากับประเทศไทย รวมทั้งหมดนี้ทำให้จัดตั้งเป็นสหรัฐไทยเดิม แต่ก็อยู่ได้เพียงแค่ 3 ปี ก็ต้องคืนกลับให้แก่อังกฤษเหมือนเดิม เพราะญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ปัจจุบันเชียงตุงจึงเป็นส่วนหนึ่งพม่า

ชื่อ แก้

  • ตุงคบุรี เป็นชื่อเรียกโดยย่อ ๆ ก่อนที่จะมาเป็นเมืองเชียงตุง
  • เขมรัฐตุงคบุรี หรือ นครเขมรัฐ ในช่วงที่เจริญรุ่งเรือง
  • เชียงตุง (ชื่อสามัญ)

ภูมิศาสตร์ แก้

เชียงตุงเป็นจังหวัดหนึ่งในรัฐฉานของพม่า ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ตั้งอยู่ละติจูดที่ 21 องศา 17 ลิปดา 48 พิลิปดา เหนือ และ ลองจิจูดที่ 99 องศา 40 ลิปดา ตะวันออก (21.2967n, 99.667e) ความสูงประมาณ 2,700 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง มีรูปร่างเป็นแอ่งกระทะมีภูเขาล้อมรอบ มีที่ราบน้อยมาก จุดที่สำคัญที่สุดก็คือ เวียงเชียงตุง แม้จะเป็นที่ราบแต่ก็มีพื้นที่ตะปุ่มตะป่ำ

ภูมิอากาศ แก้

ข้อมูลภูมิอากาศของเชียงตุง (ค.ศ. 1981–2010, สูงสุด ค.ศ. 1986–1994 และ 2001–2010)
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 32.0
(89.6)
33.6
(92.5)
36.5
(97.7)
40.0
(104)
39.6
(103.3)
36.6
(97.9)
34.6
(94.3)
35.6
(96.1)
35.0
(95)
33.9
(93)
32.4
(90.3)
32.2
(90)
40.0
(104)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 27.2
(81)
29.5
(85.1)
32.0
(89.6)
33.7
(92.7)
31.9
(89.4)
30.7
(87.3)
29.5
(85.1)
29.6
(85.3)
29.6
(85.3)
28.8
(83.8)
27.3
(81.1)
25.6
(78.1)
29.62
(85.31)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 10.0
(50)
11.0
(51.8)
14.2
(57.6)
17.9
(64.2)
20.4
(68.7)
21.7
(71.1)
21.5
(70.7)
21.3
(70.3)
20.3
(68.5)
18.5
(65.3)
14.6
(58.3)
11.0
(51.8)
16.87
(62.36)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 3.9
(39)
5.0
(41)
7.6
(45.7)
10.2
(50.4)
13.4
(56.1)
16.0
(60.8)
18.0
(64.4)
17.0
(62.6)
14.8
(58.6)
7.8
(46)
4.3
(39.7)
2.8
(37)
2.8
(37)
หยาดน้ำฟ้า มม (นิ้ว) 3.2
(0.126)
4.7
(0.185)
7.1
(0.28)
41.9
(1.65)
168.4
(6.63)
163.6
(6.441)
158.1
(6.224)
253.2
(9.969)
293.4
(11.551)
184.0
(7.244)
60.6
(2.386)
8.1
(0.319)
1,346.3
(53.004)
แหล่งที่มา 1: Norwegian Meteorological Institute[2]
แหล่งที่มา 2: Sistema de Clasificación Bioclimática Mundial (records)[3]

กำแพงเมืองเชียงตุง แก้

กำแพงเมืองเชียงตุง คือ กำแพงที่ล้อมรอบเวียงเชียงตุง พวกเขาก่อกำแพงเมืองโดยอาศัยภูมิประเทศ ใช้วิธีปรับแนวกำแพงเมืองไปตามธรรมชาติ ที่ที่สูงก็ไม่ต้องก่อเพิ่ม ที่ที่ต่ำก็เสริมให้สูงขึ้น ทำอย่างนี้จนรอบเวียง ความยาวของกำแพงนั้นคาดว่ายาวพอ ๆ กับกำแพงในเวียงเชียงใหม่ แต่กำแพงเชียงตุงนั้นสูงใหญ่กว่าของเวียงเชียงใหม่ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ากำแพงเมืองเชียงตุงมีความยาวมาก ก็คือครั้งเมื่อกองทัพในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีกำลังพลนับหมื่นคนแต่ก็ไม่สามารถล้อมได้หมด เนื่องจากกำแพงนั้นใหญ่มากโดยเฉพาะทางทิศเหนือ ซึ่งในสมัยนั้นต้องตั้งค่ายทางทิศนี้ถึง 12 ค่าย

ประชากร แก้

เชียงตุงมีประชากรหลากหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน ส่วนใหญ่จะเป็นชาวไทเขิน ไทใหญ่ และพม่า รองลงมายังมีชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น อาข่า ปะด่อง ว้า เป็นต้น

การศึกษา แก้

รัฐบาลพม่าจัดการศึกษาในเชียงตุงตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงอุดมศึกษา มีวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยทางด้านวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ โดยในโรงเรียนจะสอนเป็นภาษาพม่า ส่วนภาษาไทเขินมีสอนแต่ในวัดเท่านั้น

อ้างอิง แก้

  1. Myanmar City Population
  2. "Myanmar Climate Report" (PDF) (ภาษาอังกฤษ). Norwegian Meteorological Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-10-20. สืบค้นเมื่อ 28 October 2018.
  3. "Kengtung (Myanmar)" (PDF). Centro de Investigaciones Fitosociológicas. สืบค้นเมื่อ 13 December 2018.

บรรณานุกรม แก้

  • Forbes, Andrew ; Henley, David (2011). Traders of the Golden Triangle. Chiang Mai: Cognoscenti Books. ASIN: B006GMID5
  • J. G. Scott, Gazetteer of Upper Burma and the Shan States. 5 vols. Rangoon, 1900-1901.
  • Sao Sāimöng Mangrāi, The Pādaeng Chronicle and the Kengtung State Chronicle Translated. University of Michigan, Ann Arbor, 1981
  • พระปลัดเสน่ห์ ธัมมวโร. วิถีไทเขิน เชียงตุง. เชียงใหม่. มรดกล้านนา. 2550

แหล่งข้อมูลอื่น แก้