เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี (อังกฤษ: The Honourable Order of Rama) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สร้างขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 สำหรับบำเหน็จความดีความชอบแก่ผู้ทำความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์
รามาธิบดี

เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร และแพรแถบย่อ
มอบโดย

พระมหากษัตริย์ไทย
ประเภทสายสะพายพร้อมดารา, ดวงตราพร้อมดารา, ดวงตรา, เหรียญ (6 ชั้น)
วันสถาปนาพ.ศ. 2461
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
ผู้สมควรได้รับข้าราชการทหาร, ผู้มีเกียรติของต่างประเทศ
มอบเพื่อความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่าในยามสงบหรือยามสงคราม
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ
23 กรกฎาคม พ.ศ. 2461
รายล่าสุดพลเอก เชษฐา ฐานะจาโร
30 พฤษภาคม พ.ศ. 2541
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์‎
รองมาเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
หมายเหตุผู้ได้รับพระราชทานจะต้องเข้าร่วมพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย

ปัจจุบัน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แบ่งออกเป็น 6 ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยชั้นเสนางคะบดีจัดเป็นชั้นสูงสุด พระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีนั้น ผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งเก่าและใหม่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย[2] การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ควรสวมสายสะพายรามาธิบดีเฉพาะงานที่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งมีหมายกำหนดการระบุไว้โดยเฉพาะว่าให้สวมสายสะพายรามาธิบดี [3]

ประวัติ

แก้

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า "ราชการทหารเป็นกิจพิเศษอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้ปฏิบัติราชการอย่างนั้นต้องออกกำลังแรงและปัญญาอย่างอุกฤษฐ์ ทั้งต้องพร้อมอยู่เสมอที่จะสละชีวิตเป็นราชพลีและเพื่อรักษาอิสรภาพบำรุงความรุ่งเรืองแก่ชาติบ้านเมือง สมควรจะมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบสำหรับผู้ทำดีในราชการแผนกนี้เป็นพิเศษอีกส่วนหนึ่ง" ดังนั้น พระองค์จึงทรงสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์เพื่อบำเหน็จความชอบแก่ผู้ทำดีในราชการทหาร ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 โดยพระราชทานครั้งแรกให้กับ ทหารและอาสาสมัคร ผู้ไปปฏิบัติภารกิจในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยกำหนดให้แบ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็น 4 ชั้น พร้อมด้วยเหรียญราชอิสริยาภรณ์ โดยมอบหมายให้กระทรวงมุรธาธรเป็นผู้จัดทำ พร้อมกันนี้ โปรดเกล้าฯ ให้มีคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ประกอบด้วย

  • คณาธิบดี 1 คน
  • เลขาธิการ 1 คน
  • ที่ปรึกษา 5 คน

สำหรับเป็นที่ปรึกษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยมีหน้าที่พิจารณาว่าผู้ใดสมควรที่จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอรับพระราชทานต่อไป[1]

คณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มีการแต่งตั้งขึ้น 2 ครั้ง โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์มีพระบรมราชโองการให้[4]

  1. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ เป็นคณาธิบดี
  2. พระยาสีหราชเดโชไชย (แย้ม ณ นคร) เป็นเลขาธิการ
  3. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นที่ปรึกษา
  4. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นที่ปรึกษา
  5. พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นที่ปรึกษา
  6. หม่อมเจ้าพันธุประวัติ เกษมสันต์ เป็นที่ปรึกษา
  7. พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ ณ อยุธยา) เป็นที่ปรึกษา

ส่วนคณะที่ปรึกษาประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชุดที่ 2 นั้น แต่งตั้งขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์มีพระบรมราชโองการให้[5]

  1. สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นคณาธิบดี
  2. พระอาษาสงคราม (ต๋อย หัศดิเสวี) เป็นเลขาธิการ
  3. พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เป็นที่ปรึกษา
  4. พระเจ้าพี่ยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เป็นที่ปรึกษา
  5. หม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เป็นที่ปรึกษา
  6. หม่อมเจ้าอลงกฎ ศุขสวัสดิ์ เป็นที่ปรึกษา
  7. พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นที่ปรึกษา เป็นที่ปรึกษา

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ก็ได้ระงับไปชั่วคราว จนกระทั่ง มีการตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 ขึ้นมาใหม่เพื่อให้เหมาะสมแก่ภาวะการปัจจุบัน รวมทั้งได้ยกเลิกคณะที่ปรึกษาแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลงด้วย[6] และมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ขึ้นอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

ประเภท ลำดับชั้น และ ลำดับเกียรติ

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี แบ่งออกเป็น 6 ชั้น ประกอบด้วย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ 4 ชั้น ได้แก่ ชั้นเสนางคะบดี, ชั้นมหาโยธิน, ชั้นโยธิน, ชั้นอัศวิน และเหรียญราชอิสริยาภรณ์ 2 ชั้น ได้แก่ เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร เหรียญรามมาลา โดยมีลักษณะและลำดับชั้น ดังต่อไปนี้[6]

แพรแถบย่อ ดุมเสื้อ ชั้น ชื่อ อักษรย่อ ตำแหน่งการบังคับบัญชาทางทหาร ในราชการสงคราม[1] ลำดับเกียรติ[7]
 
ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี ส.ร. 7
 
ชั้นที่ 2 มหาโยธิน ม.ร.
  • ผู้ทำหน้าที่ควบคุม บังคับบัญชาหน่วยทหารจำนวน 1 กองพลน้อยขึ้นไป
  • ผู้บังคับการกองเรือรบขนาดใหญ่ มีกำลังรบมากกว่ากองพลเรือน้อยขึ้นไป
  • หน่วยทหาร หรือ กองเรือรบนั้น กระทำการรบเป็นผลดีเยี่ยม อย่างพิเศษ
14
 
ชั้นที่ 3 โยธิน ย.ร.
  • ผู้ทำหน้าที่ควบคุม บังคับบัญชาหน่วยทหารจำนวน 1 กองร้อยขึ้นไป จนถึงกำลังรบระดับ กองพลน้อย
  • ผู้บังคับบัญชากองเรือรบ มีกำลังรบซึ่งย่อมกว่ากองพลเรือน้อย
  • หน่วยทหาร หรือ กองเรือรบ กองพลเรือน้อยนั้น กระทำการรบเป็นผลดีเยี่ยม อย่างพิเศษ
19
 
ชั้นที่ 4 อัศวิน อ.ร.
  • ผู้ทำหน้าที่ควบคุม บังคับบัญชาทหารจำนวน 1 หมู่ขึ้นไป จนถึง 1 กองร้อย
  • ผู้บังคับการเรือขนาดเล็ก เช่น เรือดำน้ำ เรือตอร์ปิโด เรือรับใช้ต่าง ๆ 1 ลำ หรือ หลายๆลำ
22
 
ไม่มี ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ร.ม.ก. ผู้ใดแสดงความองอาจส่วนตัวเป็นพิเศษอย่างยิ่งยวด ยอมเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อกระทำการให้สำเร็จตามหน้าที่ หรือกระทำการเกินกว่าความจำเป็นในหน้าที่ 37
 
ชั้นที่ 6 เหรียญรามมาลา ร.ม. ผู้ใดกระทำการรบเข้มแข็งน่าชมเชย แต่มิอาจกระทำการเช่นนั้นแต่เพียงผู้เดียว ทำพร้อมกันหลาย ๆ คน เช่นเดียวกัน ขณะเดียวกัน 38

ลักษณะ

แก้

ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี

แก้
 
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้น 1-4

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 มีชื่อว่า เสนางคะบดี และมีอักษรย่อว่า ส.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดสายสะพาย มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 7 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย

  1. ดารา เป็นรูปไข่ทำด้วยทองมีลายแหลมออกสี่ทิศ กลางดาราด้านหน้าเป็นรูปพระปศุรามาวตารปราบพญาการตวีรยะอยู่บนพื้นลงยาสีลูกหว้าอ่อน ด้านหลังเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ร.ร." กับเลข "๖" อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งหมายความถึง "สมเด็จพระรามราชาธิบดี รัชกาลที่ ๖"[1] บนพื้นลงยาสีขาวขอบสีขาบ มีรัศมีเงินใหญ่แปดแฉก รัศมีทองแฉกเล็กแทรกแปดแฉก ใช้สำหรับประดับที่หน้าอกเสื้อด้านซ้าย
  2. ดวงตรา เป็นรูปไข่ทำด้วยทอง มีลวดลายเดียวกับบริเวณตรงกลางของดารา แต่ไม่มีรัศมี ใช้สำหรับห้อยกับสายสะพายที่เป็นแพรแถบสีดำกว้าง 10 เซนติเมตร มีริ้วสีแดงกว้าง 2 เซนติเมตร อยู่ใกล้ขอบทั้งสอง ใช้สวมเฉียงจากขวาไปซ้าย

ชั้นที่ 2 มหาโยธิน

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 2 มีชื่อว่า มหาโยธิน และมีอักษรย่อว่า ม.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอ มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 14 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย

  1. ดารา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ดาราของเสนางคะบดี แต่ใช้ประดับที่หน้าอกเสื้อด้านขวา
  2. ดวงตรา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ดวงตราของเสนางคะบดี แต่ใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 45 มิลลิเมตร สีเดียวกับแพรแถบสายสะพายเสนางคะบดี ใช้สำหรับคล้องคอ
     

ชั้นที่ 3 โยธิน

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 3 มีชื่อว่า โยธิน และมีอักษรย่อว่า ย.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดคล้องคอ ไม่มีดารา มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 19 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย

  • ดวงตรา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ดวงตราของมหาโยธิน ใช้สำหรับคล้องคอ และไม่มีดารา
 

ชั้นที่ 4 อัศวิน

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 4 มีชื่อว่า อัศวิน และมีอักษรย่อว่า อ.ร. เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชนิดประดับหน้าอกเสื้อ มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับที่ 22 จาก 36 ลำดับ[8] 1 สำรับ ประกอบด้วย

  • ดวงตรา มีลักษณะเช่นเดียวกับ ดวงตราของโยธิน แต่มีขนาดเล็กกว่าห้อยกับแพรแถบขนาดกว้าง 32 มิลลิเมตร ใช้สำหรับประดับหน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย
 

ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 5 มีชื่อว่า เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร และมีอักษรย่อว่า ร.ม.ก. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติอยู่ในลำดับสูงสุดในหมู่เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ[8] มีลักษณะ ดังนี้

  • เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร มีลักษณะเป็นรูปไข่ทำด้วยเงิน ด้านหน้าเป็นรูปพระปศุรามาวตารปราบพญาการตวีรยะ ด้านหลังเป็นอักษรพระปรมาภิไธยย่อ "ร.ร." กับเลข "๖" อยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ สำหรับห้อยกับแพรแถวขนาดกว้าง 32 มิลลิเมตร และมีเครื่องหมายพระวชิราวุธที่แพรแถบ ใช้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย

ชั้นที่ 6 เหรียญรามมาลา

แก้
 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 6 มีชื่อว่า เหรียญรามมาลา และมีอักษรย่อว่า ร.ม. เป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์ที่มีลำดับเกียรติรองจากเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรในหมู่เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ[8] มีลักษณะ ดังนี้

  • เหรียญรามมาลา มีลักษณะเช่นเดียวกับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร แต่ไม่มีเครื่องหมายพระวชิราวุธที่แพรแถบ ใช้ประดับที่หน้าอกเสื้อเบื้องซ้าย

การพระราชทาน

แก้
 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับยอดธงชัยเฉลิมพลประจำกองทหารอาสาของสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2462

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ผู้ทำความชอบพิเศษเป็นประโยชน์ยิ่งแก่ราชการทหาร ไม่ว่ายามสงบหรือยามสงคราม หรือผู้มีเกียรติของต่างประเทศ ในอดีตนั้นจะมีคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับทำหน้าที่พิจารณาว่าผู้ใดสมควรได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแล้วจึงนำความขึ้นกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอรับพระราชทานต่อไป[1] แต่ในปัจจุบันได้ยกเลิกคณะที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ลง และกำหนดให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและและเรียกคืนได้ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร แต่ยังคงไว้สำหรับพระราชทานสำหรับผู้ทำความดีความชอบเป็นพิเศษและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในราชการทหาร ไม่ว่าในยามสงบหรือในยามสงครามดังเช่นที่เคยเป็นมา[6]

ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีตั้งแต่ชั้นที่ 4 ขึ้นไปนั้น จะได้รับใบประกาศนียบัตรทรงลงพระปรมาภิไธยและประทับพระราชลัญจกร ส่วนผู้ที่ได้รับพระราชทานชั้นที่ 5 และ 6 นั้น จะได้รับการประกาศนามในราชกิจจานุเบกษา[6] การรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งเก่าและใหม่จะเข้าร่วมในพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาด้วย[2][9]

นอกจากนี้ ยังมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นพิเศษให้ใช้ประดับที่ธงชัยของกองทหารบกรถยนต์เพื่อเป็นเกียรติยศพิเศษ[10] รวมทั้ง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้น 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร สำหรับประดับธงชัยเฉลิมพล กองพันทหารราบที่ 1 กองพันทหารราบที่ 2 กองพันทหารราบที่ 3 และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ[11]

ผู้ได้รับพระราชทาน

แก้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มอบให้แก่ผู้ทำความดีในราชการทหาร โดยพระราชทานให้ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตและผู้วายชนม์ โดยที่ผ่านมานั้นผู้ได้รับพระราชทานจะเป็นบุรุษทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 นั้นจะไม่ได้ระบุว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานให้แก่บุรุษเท่านั้น[6] อย่างไรก็ตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พ.ศ. 2541 นั้น มีการระบุถึงการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีเฉพาะบุรุษเท่านั้น[3] ผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีมีจำนวนมาก อาทิ[12]

ชั้นที่ 1 เสนางคะบดี  

  1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ (เสนางคะบดี)
  2. จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (เสนางคะบดี)
  3. จอมพล ถนอม กิตติขจร (เสนางคะบดี)
  4. จอมพล ประภาส จารุเสถียร (เสนางคะบดี, มหาโยธิน)
  5. พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (เสนางคะบดี, มหาโยธิน)

ชั้นที่ 2 มหาโยธิน  

  1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช (มหาโยธิน)
  2. พล.อ. เชษฐา ฐานะจาโร (มหาโยธิน)
  3. พล.อ. เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ (มหาโยธิน)
  4. พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก (มหาโยธิน, โยธิน, อัศวิน)
  5. พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ (มหาโยธิน, อัศวิน)

ชั้นที่ 3 โยธิน  

  1. พล.อ. อิทธิ สิมารักษ์ (โยธิน, อัศวิน)
  2. พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช (โยธิน, อัศวิน)

ชั้นที่ 4 อัศวิน  

  1. พล.อ. พิจิตร กุลละวณิชย์ (อัศวิน)
  2. พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ (อัศวิน)
  3. พล.อ. อิสระพงศ์ หนุนภักดี (อัศวิน)
  4. พล.อ. ธวัชชัย สมุทรสาคร (อัศวิน)
  5. พล.อ. หาญ ลีนานนท์ (อัศวิน)
  6. พล.อ. หาญ เพไทย (อัศวิน)

ชั้นที่ 5 เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร  

  1. พล.อ. วิโรจน์ บัวจรูญ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  2. พล.อ. สุรพันธ์ พวงเพ็ชร์ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  3. พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  4. พล.อ. พงษ์เทพ กนิษฐานนท์ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  5. พล.อ. พอพล มณีรินทร์ (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  6. พล.อ. นพรัตน์ ยอดวิมล (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  7. พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  8. พล.อ. สําเร็จ ศรีหร่าย (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  9. พล.ต.อ. สมเพียร เอกสมญา (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)
  10. พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส (เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร)

ชั้นที่ 6 เหรียญรามมาลา  

  1. พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร (เหรียญรามมาลา)
  2. พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ (เหรียญรามมาลา)
  3. พล.อ. ปราการ ชลยุทธ (เหรียญรามมาลา)
  4. พล.อ. วิชัย แชจอหอ (เหรียญรามมาลา)

การประดับ

แก้

การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ ควรสวมสายสะพายรามาธิบดี (ชั้นเสนางคะบดี) เฉพาะงานที่เกี่ยวกับราชการทหาร ซึ่งมีหมายกำหนดการระบุไว้โดยเฉพาะว่าให้สวมสายสะพายรามาธิบดีเท่านั้น[3] อาทิเช่น พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนและสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ ส่วนผู้ที่เคยได้รับพระราชทานเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรมาก่อนนั้น สามารถประดับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมรได้ทุกโอกาสที่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือที่มีกำหนดนัดหมายทางการให้ประดับเหรียญ รวมทั้งมีสิทธิประดับเครื่องหมายเข็มกล้ากลางสมรสอดบนแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ตลอดไป แม้จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีชั้นที่สูงขึ้นไปชั้นใดก็ตาม โดยให้ประดับในโอกาสที่มิได้ประดับเหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ในกรณีที่แต่งเครื่องแบบให้ประดับที่อกเสื้อเบื้องขวา ส่วนในกรณีแต่งสากลให้ประดับที่คอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้ายใต้ดุมเครื่องราชอิสริยาภรณ์[13]

สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลนี้ตั้งแต่ชั้นอัศวินขึ้นไปนั้น จะมีเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเครื่องหมายที่ใช้เป็นดุมเสื้อเป็นรูปดอกไม้จีบด้วยแพรแถบของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเครื่องสากลโดยให้ประดับที่รังดุมคอพับของเสื้อชั้นนอกเบื้องซ้าย[14] และสามารถใช้ประดับเมื่อสวมชุดไทย โดยบุรุษมีสิทธิใช้ประดับเป็นดุมเสื้อเวลาแต่งเสื้อชุดไทยสีสุภาพ โดยประดับที่อกเสื้อเบื้องซ้าย บริเวณปากกระเป๋าเสื้อ[15]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิศริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๑๖๙
  2. 2.0 2.1 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เก็บถาวร 2012-11-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักนายกรัฐมนตรี
  3. 3.0 3.1 3.2 ราชกิจจานุเบกษา, ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๑, เล่ม ๑๑๕, ตอนพิเศษ ๑๑๘ ง เล่มที่ ๒, ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๑, หน้า ๑
  4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เรื่อง ตั้งคณาธิบดี เลขาธิการ และที่ปรึกษา สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ ก, ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๑๘๓
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งคณาธิบดี เลขาธิการ และที่ปรึกษาสำหรับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี (ครั้งที่ ๒), ตอน ๔๕, เล่ม ๐ก, ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑, หน้า ๑๖๗
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. ๒๕๐๓, เล่ม ๗๗, ตอน ๖๐ก, ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓, หน้า ๔๗๖
  7. "ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-01. สืบค้นเมื่อ 2021-07-29.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 8.5 ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ลำดับเกียรติเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย เก็บถาวร 2011-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๐, ตอน ๒๙ง ฉบับพิเศษ, ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๑
  9. ราชกิจจานุเบกษา, หมายรับสั่งสำนักพระราชวัง ๓๐ เมษายน ๒๕๒๕ พระราชพิธีพระราชทานอิสริยภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ถือน้ำพระพิพัฒนสัตยาและบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระราชทานแก่ผู้ที่เสียชีวิต พุทธศักราช ๒๕๒๕, ตอน ๙๙, เล่ม ๖๔ ง, ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๑๕๓๔
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับธงไชยของกองทหารบกรถยนต์ซึ่งไปราชการสงครามข้ามทะเล, เล่ม ๓๖, ตอน ๐, ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๒, หน้า ๑๗๒๑
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีประดับธงชัยเฉลิมพล เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๐, ตอน ๑๒๕ ง ฉบับพิเศษ, ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๖, หน้า ๑๕
  12. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี, เล่ม ๑๐๗, ตอน ๕๕ ง, ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๓, หน้า ๒๖๕๙
  13. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี และการประดับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติเข็มกล้ากลางสมรแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี, ตอน ๙๔, เล่ม ๑๓๓ ก ฉบับพิเศษ, ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐, หน้า ๔
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ พ.ศ. ๒๔๙๘, เล่ม ๗๒, ตอน ๙๐ ก, ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๘, หน้า ๑๕๗๑
  15. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกากำหนดเครื่องหมายสำหรับประดับแพรถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และที่ใช้เป็นดุมเสื้อ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘, เล่ม ๑๐๒, ตอน ๙๖ ก ฉบับพิเศษ, ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๘, หน้า ๑

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้