การไฟฟ้านครหลวง
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
การไฟฟ้านครหลวง เป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย มีพื้นที่บริการในปัจจุบันได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ โดยแบ่งออกเป็น 18 เขต[2] และ 14 สาขาย่อย ในอดีตเคยให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าครอบคลุมถึงจังหวัดปทุมธานี ต่อมาได้โอนกิจการดังกล่าวให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)[ต้องการอ้างอิง]
Metropolitan Electricity Authority | |
อาคารวัฒนวิภาส | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 |
หน่วยงานก่อนหน้า |
|
เขตอำนาจ | กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรปราการ |
สำนักงานใหญ่ | 1192 อาคารวัฒนวิภาส ถนนพระรามที่ 4 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร |
งบประมาณต่อปี | 134.07 ล้านบาท (พ.ศ. 2558) [1] |
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน |
|
ต้นสังกัดหน่วยงาน | กระทรวงมหาดไทย |
เว็บไซต์ | www.mea.or.th |
ในสิ้นปี 2565 การไฟฟ้านครหลวง เป็นรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้แผ่นดินสะสมสูงสุด ลำดับที่ 5[3]
ประวัติ
แก้ในปี พ.ศ. 2427 ประเทศไทยเริ่มมีไฟฟ้าใช้ครั้งแรก แต่เป็นการจ่ายไฟฟ้าในส่วนราชการและสาธารณูปโภคโดยจอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เป็นผู้ให้กำเนิดการไฟฟ้าของไทยตั้งแต่ยังมีบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เดินสายไฟฟ้า และติดตั้งดวงโคมไฟฟ้าที่ กรมทหาร (ที่ตั้งกระทรวงกลาโหม ในปัจจุบัน) ในวันที่เปิดทดลองใช้ไฟฟ้าครั้งแรก บรรดาขุนนาง ข้าราชการ และประชาชน มาดูแสงไฟฟ้าอย่างแน่นขนัดด้วยความตื่นตาตื่นใจเมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งระบบไฟฟ้าและดวงโคมไฟฟ้าใน พระบรมมหาราชวัง ทันที
ส่วนการจ่ายไฟฟ้าในภาคเอกชนและภาคประชาชนครั้งแรก ดำเนินการโดยองค์กรที่ดำเนินกิจการไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้ากรุงเทพ และ กองไฟฟ้าหลวงสามเสน ซึ่งต่อมาทั้งสองแห่งได้ควบรวมกิจการเป็น การไฟฟ้านครหลวง
การไฟฟ้ากรุงเทพ
แก้การไฟฟ้ากรุงเทพ เดิมเป็นกิจการของเอกชนที่เปลี่ยนมือหลายบริษัท โดยการจ่ายไฟฟ้าครั้งแรก เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2437 สำหรับระบบไฟฟ้าของรถรางกรุงเทพ
เดิมที เจ้าหมื่นไวยวรนาถ วางแผนที่สร้างโรงไฟฟ้าให้ประชาชนในเขตพระนครได้ใช้ไฟฟ้า โดยคิดจะจัดรูปบริษัทร่วมกับชาวต่างประเทศ แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินการ จนกระทั่งระบบรถรางไฟฟ้าเกิดขึ้น
ในปี พ.ศ. 2430 นายจอห์น ลอฟตัส กับ นาย อังเดร ดู เปลซี เดอ ริเชอเลียว (ต่อมาคือ พระยาชลยุทธโยธินทร์) ได้รับสัมปทานการเดินรถรางจากรัฐบาล ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนครั้งแรกในประเทศไทยแต่ยังใช้ม้าลากเพราะขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าทำให้มีปัญหาในการลากเสมอ จึงเกิดภาวะขาดทุนในปี พ.ศ. 2435 จึงโอนกิจการให้ บริษัทเดนมาร์ก
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 บริษัทเดนมาร์กได้เปลี่ยนจากม้าลากมาเป็นระบบรถรางไฟฟ้า นับเป็นการจ่ายไฟฟ้าแก่ภาคเอกชนครั้งแรกในประเทศไทย ขณะนั้นแม้แต่หลายประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำในยุโรปก็ยังไม่มีรถรางไฟฟ้า
ในปี พ.ศ. 2440 ความนิยมใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น นายเลียวนาดี ชาวอเมริกัน กับเพื่อนก่อตั้ง บริษัท บางกอก อิเล็กตริก ไลต์ ซินดิเคท เป็นการดำเนินกิจการไฟฟ้าโดยเอกชนเป็นครั้งแรก โดยมีสัญญาจ่ายไฟตามจุดต่าง ๆ ในท้องถนนหลวงและสถานที่ราชการ โดยได้เช่าที่ดินวัดราชบูรณะราชวรวิหาร (วัดเลียบ) จึงเรียกกันว่า โรงไฟฟ้าวัดเลียบ เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ระบบเครื่องจักรไอน้ำ ใช้ไม้ฟืน ถ่านหิน น้ำมัน และแกลบเป็นเชื้อเพลิง
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2441 นายอ๊อก เวสเตนโฮลซ์ ชาวเดนมาร์ก ก่อตั้ง บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด เช่นกัน จดทะเบียนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
ในปี พ.ศ. 2443 บริษัทเดนมาร์กขายกิจการรถรางให้แก่ บริษัท บางกอกอีเล็คตริคซิตี้ ไลท์ ซินดิเคท และภาวะขาดทุนของ บริษัท บางกอกอีเล็คตริคซิตี้ ไลท์ ซินดิเคท จึงต้องโอนกิจการอีกครั้งให้ บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ซึ่งทำสัญญากับรัฐบาลสยามเมื่อ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2444 ต่อมาได้มีการแก้ไขสัญญากับ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2467[4]
โรงไฟฟ้าวัดเลียบในสมัยนั้น มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 6 เครื่อง และรวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 18,500 กิโลวัตต์ (18.50 เมกะวัตต์)
ต่อมา เมื่อ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 ต่อมา บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไฟฟ้าสยามคอร์ปอเรชั่น จำกัด [5] จนกระทั่งเมื่อ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไฟฟ้าไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด
เมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2492 สัมปทานหมดอายุลง รัฐบาลจึงเข้าดูแลกิจการทั้งหมดเอง และเปลี่ยนชื่อเป็น การไฟฟ้ากรุงเทพ เป็นหน่วยงานหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ทำหน้าที่ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณตอนใต้ของคลองบางกอกน้อยและคลองบางลำภู ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2493
กองไฟฟ้าหลวงสามเสน
แก้กองไฟฟ้าหลวงสามเสน เดิมชื่อ กองไฟฟ้าสามเสน ก่อตั้งจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาล และผู้บังคับบัญชากรมสุขาภิบาลในขณะนั้น ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายแก่ประชาชน นอกเหนือจากการจ่ายไฟฟ้าให้ โรงกรองน้ำสามเสน บริเวณพระราชวังดุสิต และ โรงทำยาฝิ่นที่สามเสน (ปัจจุบันคือบริเวณ กรมสรรพสามิต สมัยนั้นฝิ่นยังเป็นของถูกกฎหมาย) โดยให้มีการจัดการเช่นการค้าขายทั่วไป หรือรัฐวิสาหกิจในปัจจุบัน
เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)ในฐานะผู้บังคับบัญชากรมสุขาภิบาล จึงกู้เงินจากกระทรวงการคลัง สมัยที่ยังเป็น กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จำนวน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี โดยนำกำไรจากการขายไฟฟ้ามาชำระหนี้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และ ได้มีการลงนามในสัญญาเงินกู้เมื่อ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2454 (นับอย่างปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2455) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อที่ดิน การก่อสร้างโรงไฟฟ้าและการดำเนินงานผลิตจำหน่ายกระแสไฟฟ้า
แต่ต่อมาต้องกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านบาท เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 (นับอย่างปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2457) เนื่องจากส่วนที่ประมาณไว้แต่เดิม ไม่เพียงพอกับงานที่ต้องทำจริง เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 กองไฟฟ้าหลวงสามเสน จึงได้เริ่มทดลองเดินเครื่องจักรผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นครั้งแรก โดยใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจาก บริษัท เออีจี ส่งไฟฟ้าให้โรงยาฝิ่นหลวงเพื่อหารายได้ (นับอย่างปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2457)
หลังจากนั้นเมื่อ กรกฎาคม พ.ศ. 2457 จึงเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้แก่ประชาชน นับเป็นการจำหน่ายไฟฟ้าแก่ภาคประชาชนทั่วไปครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีเขตจำหน่ายอยู่บริเวณสุขาภิบาลฝ่ายเหนือ อันได้แก่บริเวณตอนเหนือของคลองบางกอกน้อย คลองบางลำภู คลองมหานาค และ คลองแสนแสบ ตามที่ได้ตกลงกันไว้กับบริษัทไฟฟ้าสยาม จำกัด ซึ่งได้มีการตกลงกันไว้ ตั้งแต่เมื่อ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 แม้กว่าจะมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2464[6]
นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าหลวงสามเสน ได้จำหน่ายไฟฟ้าให้ โรงกรองน้ำสามเสน เมื่อ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 แต่ผู้รับเหมาดำเนินการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ส่งมอบงานให้กรมสุขาภิบาลโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2457 (นับอย่างปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2458)
หลังจากนั้น โรงไฟฟ้าสามเสน ได้จำหน่ายไฟฟ้า ให้โรงงานบางซื่อ ของบริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด เมื่อ พ.ศ. 2458[7] และพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดโรงไฟฟ้าสามเสนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2458[8]
ต่อมาเมื่อ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2501 รัฐบาลสมัยพลเอกถนอม กิตติขจร ควบรวมองค์การทั้งสองเข้าด้วยกัน เปลี่ยนชื่อเป็น การไฟฟ้านครหลวง [9] ซึ่งต่อมา มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เมื่อปี พ.ศ. 2530[10]และปี พ.ศ. 2535[11] จนถึงทุกวันนี้
คณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง
แก้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2567 แต่งตั้งกรรมการดังต่อไปนี้
- นายกองเอก ขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ประธานกรรมการ
- นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อดีตปลัดกระทรวงแรงงาน
- นายกองเอก สนิท ขาวสอาด อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ
- พลเอก เกรียงไกร ศรีรักษ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
- นายกิตติพงษ์ ภิญโญตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
- พลตำรวจโท กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- ศาสตราจารย์ ดร. วีรกร อ่องสกุล อดีตรักษาการรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาทรัพยากร สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
- ศาสตราจารย์ ดร. ธรรมรัตน์ คุตตะเทพ หัวหน้าภาควิชาการจัดการขยะพลาสติกในทะเล คณะสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
- รองศาสตราจารย์ ดร. รังสรรค์ วงศ์สรรค์ รองศาสตราจารย์ประจำสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- อาจารย์ ดร.เพียงออ เลาหะวิไลย อาจารย์ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- รองศาสตราจารย์ ดร. จิรพล สังข์โพธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองศาสตราจารย์ ดร. อัศม์เดช วานิชชินชัย ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการ[12]ในคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมืองเพื่อเสนอเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชยกฤต อัศวธิตานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นางสาว ปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง
อ้างอิง
แก้- กระทรวงพลังงาน. ประวัติการพัฒนาพลังงานไทย. เว็บไซต์ iEnergy Guru. เผยแพร่เมื่อ พฤษภาคม พ.ศ. 2558
- อาคม รวมสุวรรณ. รัชกาลที่5 กับการกำเนิดระบบรางขนส่งมวลชน. เว็บไซต์ ไทยรัฐออนไลน์. เผยแพร่เมื่อ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เล่ม 131 ตอนที่ 69ก วันที่ 30 กันยายน 2557
- ↑ "สถานที่ตั้งการไฟฟ้านครหลวงเขต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-22. สืบค้นเมื่อ 2010-07-06.
- ↑ ปตท.แชมป์ ส่งรายได้เข้ารัฐมากสุด 1.89 หมื่นล้านบาท
- ↑ เอกสารชั้นต้นเลขที่ น. 7/6.74 เรื่องหนังสือสัญญาบริษัทไฟฟ้าสยาม ของ กระทรวงนครบาล สมัยรัชกาลที่ 6 จากกรมราชเลขานุการ (เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- ↑ "เรื่องจดทะเบียนบริษัทจำกัด บริษัทในพระบรมราชานุญาตพิเศษ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 44 (ง): 453. 2011-05-28.
- ↑ เอกสารชั้นต้นเลขที่ น. 7/6.75 เรื่องบริษัทไฟฟ้าสยาม (24 พ.ค. 2458 - 16 ก.ย. 2467) ของ กระทรวงนครบาล สมัยรัชกาลที่ 6 จากกรมราชเลขานุการ (เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- ↑ เอกสารชั้นต้นเลขที่ น. 7/6.3 ตั้งโรงไฟฟ้าของรัฐบาล (15 ต.ค. 2453 - 28 เม.ษ. 2458) ของ กระทรวงนครบาล สมัยรัชกาลที่ 6 จากกรมราชเลขานุการ (เก็บรักษาที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
- ↑ "ข่าวในพระราชสำนัก" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 32 (ง): 2261. 2011-05-28.
- ↑ "พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 75 (58): 1. 2011-05-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-12-04. สืบค้นเมื่อ 2021-07-13.
- ↑ "พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ 2)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 104 (164): 1. 2011-05-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-13. สืบค้นเมื่อ 2021-07-13.
- ↑ "พระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง (ฉบับที่ 3)" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (32): 32. 2011-05-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-13. สืบค้นเมื่อ 2021-07-13.
- ↑ ประกาศตั้งที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการ
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวง เก็บถาวร 2010-07-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน