รถรางกรุงเทพ เป็นระบบรถรางในกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการระหว่าง พ.ศ. 2431–2511 โดยถือเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียที่ใช้ระบบรถราง และถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ใช้กำลังไฟฟ้าในการเดินรถอีกด้วย[ต้องการตรวจสอบความถูกต้อง] [1] โดยระบบรถรางได้เปิดให้บริการทั้งสิ้น 11 สาย

ทางแยกต่างระดับTram รถรางกรุงเทพ
ข้อมูลทั่วไป
เจ้าของกระทรวงมหาดไทย
ที่ตั้งจังหวัดพระนคร
ประเภทรถราง
จำนวนสาย11
การให้บริการ
เริ่มดำเนินงาน22 กันยายน พ.ศ. 2431 (135 ปี)
เลิกให้บริการ30 กันยายน พ.ศ. 2511 (80 ปี)
ผู้ดำเนินงานระบบม้าลากจูง
จอห์น ลอฟตัส (2431-2432)
บริษัทบางกอก แทรมเวย์ คอมปะนี ลิมิเต็ด (2432-2435)
ระบบไฟฟ้า
บริษัทสัญชาติเดนมาร์กไม่ทราบชื่อ (2435-2437)
อิเลคทริค ซิตี้ คอมปะนี (2443-2451)
บริษัท รถรางไทย (2448-2451)
บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด (2451-2470)
บริษัท ไฟฟ้าไทย คอปอเรชั่น จำกัด (2470-2493)
การไฟฟ้ากรุงเทพ (2493-2511)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง53.5 กม.
รางกว้าง1.000 เมตร (ระบบไฟฟ้า)
มาตรวัดเก่าไม่ทราบขนาด (ระบบม้าลากจูง)
การจ่ายไฟฟ้า600 V DC จ่ายไฟเหนือหัว

ประวัติ แก้

 
ถนนเจริญกรุง ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2460 มองเห็นรถรางและราง

ถนนสายแรกของประเทศไทย คือ ถนนเจริญกรุงที่เริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2404 และเปิดให้ใชัสัญจรตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2407 พื้นของถนนใช้เพียงอิฐเรียงตะแคงทำให้เกิดความชำรุดอย่างรวดเร็ว ไม่สะดวกแก่รถม้า รถเจ๊ก และแม้แต่คนเดินเท้า ด้วยเหตุนี้ ชาวเดนมาร์กที่มีนามว่า จอห์น ลอฟตัส ได้ขออนุญาตต่อรัฐบาลทำสัมปทานการรถรางขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2430 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้นายจอห์น ดำเนินการได้ พิธีเปิดเดินรถรางเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2431 โดยใช้ม้าลากไปตามราง[2] โดยเป็นกิจการรถรางลากจูงด้วยม้าถึง 8 ตัว มีเส้นทางวิ่งระหว่างพระบรมมหาราชวัง บริเวณศาลหลักเมืองไปตามถนนเจริญกรุง ปลายทางอยู่ที่อู่ฝรั่งหรือบางกอกด๊อก (Bangkok Dock) หรือบริษัทอู่กรุงเทพ ยานนาวาในปัจจุบัน และในปีต่อมาก็ได้ขยายเส้นทางไปถึงถนนตก[3] แต่ดำเนินกิจการได้ไม่นานก็โอนกิจการให้บริษัทบางกอก แทรมเวย์ คอมปะนี ลิมิเต็ด ภายหลังในปี พ.ศ. 2435 กิจการก็ถูกขายต่อให้กับบริษัทสัญชาติเดนมาร์ก (ไม่ทราบชื่อ) อีก โดยบริษัทหลังนี้ได้หยุดกิจการชั่วคราว เพื่อเปลี่ยนไปใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยกระแสไฟฟ้าแทน โดยตกลงเช่ากระแสไฟฟ้าจากบริษัท อิเลคทริค ซิตี้ คอมปะนี ลิมิเต็ด

รถรางโดยกำลังกระแสไฟฟ้าก็ได้ทำพิธีเปิดเดินขบวนเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2437 ต่อมา พ.ศ. 2448 มีบริษัทดำเนินการอีกราย คือ บริษัท รถรางไทย วิ่งเส้นทางใหม่สายดุสิต ภายหลังบริษัทนี้ได้โอนกิจการพร้อมเปลี่ยนนามใหม่เป็น บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด เกิดสายรถรางวิ่งบนท้องถนนถึง 11 สาย จนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2470 บริษัทจึงได้เปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งเป็นบริษัท ไฟฟ้าไทย คอปอเรชั่น จำกัด[4]

เมื่อพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางเลือกในการคมนาคมมากขึ้น รถรางก็เสื่อมความนิยม พ.ศ. 2493 สัมปทานการเดินรถต่าง ๆ ของเอกชนสิ้นสุดลง รัฐบาลจึงมาดำเนินการต่อในนาม บริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพฯ จำกัด ในสังกัดของกรมโยธาเทศบาลและกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2503 เริ่มมีนโยบายยกเลิกกิจการรถรางไปทีละสาย และยกเลิกไปในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2511

เส้นทาง แก้

 
แผนที่รถรางกรุงเทพสายต่าง ๆ

ระบบรถรางได้เปิดให้บริการทั้งสิ้น 11 สาย ดังนี้[1]

  • สายบางคอแหลม ระยะทาง 9.2 กม. วิ่งระหว่างศาลหลักเมือง เข้าถนนเจริญกรุงถึงถนนตก
  • สายสามเสน ระยะทาง 11.3 กม. เริ่มจากบางซื่อ ไปตามถนนสามเสน เข้าถนนราชินี ออกมาเยาวราช เข้าถนนพระราม 4 และไปสิ้นสุดที่คลองเตย
  • สายดุสิต ระยะทาง 11.5 กม. เริ่มจากถนนสามเสนน่าจะเป็นบริเวณแยกซังฮี้ มาตามถนนสามเสน เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพิษณุโลก จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าถนนนครสวรรค์ ออกถนนจักรพรรดิพงษ์ เข้าถนนวรจักร และมาสิ้นสุดที่บริเวณจักรวรรดิ์
  • สายกำแพงเมือง ระยะทาง 7.0 กม. วิ่งเป็นวงกลมไปตามถนนมหาราช ถนนพระอาทิตย์ ถนนมหาไชย ถนนจักรเพชร และกลับมายังถนนมหาราชใหม่อีกครั้ง
  • สายบางซื่อ ระยะทาง 4 กม. เริ่มต้นที่สถานีรถไฟบางซื่อ ถนนเทอดดำริ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนปูนซิเมนต์ไทย ถนนเตชะวณิช ผ่านตลาดบางซื่อ วัดธรรมาภิรตาราม เลี้ยวขวาเข้าถนนทหาร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสามเสน เลี้ยวขวาเข้าซอยสามเสน 23 สุดที่ท่าเขียวไข่กา
  • สายหัวลำโพง ระยะทาง 4.4 กม. เริ่มจากสถานีรถไฟหัวลำโพง มาตามถนนกรุงเกษม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบำรุงเมือง ไปออกถนนตะนาว และสิ้นสุดที่บางลำพู
  • สายสีลม ระยะทาง 4.5 กม. เริ่มจากถนนสีลมปลายด้านถนนเจริญกรุง ไปตามถนนสีลม ออกถนนราชดำริ และไปสิ้นสุดที่ท่าเรือประตูน้ำ
  • สายปทุมวัน ระยะทาง 4.5 กม. เริ่มจากสะพานกษัตริย์ศึก แยกกษัตริย์ศึก (ยศเส) ไปตามถนนพระรามที่ 1 มาบุญครอง สยาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำริ ผ่านหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ สิ้นสุดทางที่ท่าเรือประตูน้ำ
  • สายสุโขทัย ระยะทาง 0.6 กม. น่าจะเริ่มจากแม่น้ำเจ้าพระยาตรงสุดถนนสุโขทัย เลี้ยวขวาเข้าถนนขาวและเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชวิถี สิ้นสุดที่ถนนสามเสนตรงแยกซังฮี้
  • สายอัษฏางค์ ระยะทาง 0.5 กม. เริ่มจากบริเวณท่าเรือราชินีมายังถนนพระพิพิธ
  • สายราชวงศ์ ระยะทาง 0.5 กม. เริ่มจากท่าน้ำราชวงศ์มาบรรจบถนนเจริญกรุง

การจัดการ แก้

 
ถนนเยาวราชถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2488
 
เมื่อ พ.ศ. 2448

รถรางในสมัยแรกที่ยังไม่ใช้ไฟฟ้า ใช้ม้าเทียม 8 แยกเป็น 2 พวง พวงละ 4 ตัว ในพวงหนึ่ง ๆ มีม้า 2 คู่ พวงที่อยู่หน้าใช้เฉพาะขึ้นสะพาน มีการเปลี่ยนม้าเป็นระยะ ๆ หากม้าไม่ไหวหรือล้มไป โดยเปลี่ยนตามระยะที่วางอะไหล่ไว้[5]

ลักษณะรถรางส่วนใหญ่มีสองสีคู่กัน สีที่ใช้แตกต่างกันตามเส้นทาง มีที่นั่งขนานตามทางยาวกับตัวตู้ 26 ที่นั่ง มีที่ว่างตรงกลางให้ผู้โดยสารยืนได้ 34 คน ช่วง สามารถจุคนได้ทั้งสิ้นรวม 60 คน ที่นั่งแบ่งชั้นบริการเป็นรถรางชั้นหนึ่งและชั้นสอง มีฉากลูกกรงไม้แบ่งครึ่งกลางคัน โดยรถรางชั้นสอง จะไม่มีเบาะรอง ส่วนชั้นหนึ่ง มีเบาะนั่ง ในปีสุดท้ายของกิจการรถรางสายดุสิต คิดค่าโดยสารเป็นระยะหรือสถานี ระยะละ 50 สตางค์ สำหรับที่นั่งชั้นหนึ่ง และระยะละ 25 สตางค์ สำหรับที่นั่งชั้นสอง ในปีสุดท้ายของกิจการรถรางสายหัวลำโพง คิดค่าโดยสารเป็นระยะหรือสถานี ระยะละ 30 สตางค์ สำหรับที่นั่งชั้นหนึ่ง และระยะละ 15 สตางค์ สำหรับที่นั่งชั้นสอง[6]

แต่ละคันมีกำลังขับ 40 แรงม้า มีท่ารถรางสี่แห่งที่สะพานดำ สะพานเหลือง บางกระบือ และบางคอแหลม สำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนท่าช้าง ทีโรงจอดที่เป็นโรงซ่อมด้วยอยู่บริเวณแยกแม้นศรี

ป้ายหยุดรถมีลักษณะคล้ายธง มี 2 สี คือ ธงสามเหลี่ยมสีแดงมีดาวตรงกลางคือจุดจอด ขึ้นลงและรับผู้โดยสาร ส่วนธงสามเหลี่ยม สีเขียวมีดาวตรงกลางคือป้ายแสดงจุดให้รถรางรอหลีกขบวนกัน

ร่องรอย แก้

 
ร่องรอยรถรางข้างศาลหลักเมือง

ปรากฏร่องรอยของรางรถรางบนถนนเจริญกรุง บริเวณหน้าวัดอุภัยราชบำรุง ตรงตลาดน้อย เป็นแนวเส้นเหมือนรางรถไฟอยู่บนถนนที่แนวคอนกรีตที่กร่อนลงไป แต่ถูกลาดยางทับไปเมื่อ พ.ศ. 2558[7] ซึ่งเส้นทางนี้คือ สายบางคอแหลม อีกแห่งคืออยู่ตรงข้างศาลหลักเมือง นอกจากนั้นยังพบป้ายหยุดรถราง ป้ายสามเหลี่ยมเล็ก ๆ สีแดง มีดวงดาวตรงกลาง ปรากฏเพียงแห่งเดียวคือ บนชายคาของตึกแถวริมถนนเยาวราช บริเวณหน้าเวิ้งนาครเขษม[3] แต่ได้ถูกปลดออกไปแล้วในวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2562 โดยการไฟฟ้านครหลวง ทั้งนี้มีแผนที่จำนำป้ายรถรางดังกล่าวไปจัดแสดงไว้ในศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ การไฟฟ้านครหลวง ในอนาคต[8]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ถอดบทเรียน รถราง ระบบขนส่งมวลชนในอดีต". realist.
  2. "22 กันยายน 2431 พิธีเปิดรถรางในสยาม". ศิลปวัฒนธรรม.
  3. 3.0 3.1 หนุ่มลูกทุ่ง. "ย้อนอดีต"รถราง"พาหนะสุดคลาสสิก". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. "รถรางเสน่ห์แห่งรัตนโกสินทร์". ไทยโพสต์.
  5. จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พระมหานครกรุงเทพฯ ในความทรงจำของคนอายุ 70 ปี ใน อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพพลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา), (กรุงเทพฯ: กรมแผนที่ทหารบก, 2504).
  6. "ประวัติศาสตร์การขนส่งมวลชนทางบก: สาย "รถราง" ย่านบางลำพู". พิพิธบางลำพู.
  7. "ชาวเน็ตเสียดาย! หลังกทม. ราดยางทับรางรถรางสมัยร.5 รางสุดท้ายบริเวณ ถ.เจริญกรุง ตลาดน้อย". ผู้จัดการออนไลน์.
  8. "กฟน. ปลดป้ายรถรางสุดท้ายของไทย ปิดตำนานขนส่งมวลชนระบบรางสายแรกแห่งสยาม". การไฟฟ้านครหลวง.