วัดธรรมาภิรตาราม (กรุงเทพมหานคร)
วัดธรรมาภิรตาราม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร วัดมีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่
วัดธรรมาภิรตาราม | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดธรรมาภิรตาราม, วัดสองพี่น้อง, วัดสี่แยก, วัดสะพานสูง |
ที่ตั้ง | เลขที่ 170 ถนนเตชะวณิช แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระประธาน | หลวงพ่อสุโขทัย |
พระพุทธรูปสำคัญ | หลวงพ่ออู่ทอง |
เจ้าอาวาส | พระครูโกศลธรรมคุณ (สำลี สิริกาญฺจโน ศรีโพนทอง) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดธรรมาภิรตารามสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 ไม่ทราบนามและประวัติผู้สร้าง เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดสองพี่น้อง สันนิษฐานว่า มีพี่น้องสองคนร่วมกันสร้างวัดนี้ขึ้น ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเรียกเป็น วัดสี่แยก เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณที่คลองบางซื่อตัดกับคลองเปรมประชากร นอกจากนั้นยังมีอีกชื่อ คือ วัดสะพานสูง ตามลักษณะของสะพานข้ามคลองบริเวณนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดนี้ มีพระราชดำรัสถามถึงชื่อวัด แล้วตรัสว่า วัดนี้มีสะพานสูงเป็นเครื่องหมาย ควรชื่อวัดสะพานสูง จึงเรียกวัดสะพานสูงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต่อมาราว พ.ศ. 2482 หลังจากสยามเปลี่ยนชื่อมาเป็นประเทศไทยแล้ว วัดได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "วัดธรรมาภิรตาราม"[1] เพราะเห็นว่าชื่อวัดที่เป็นภาษาไทยแท้ ๆ ไม่ไพเราะ โดยตั้งเพื่อให้เหมาะสมตามเหตุการณ์ที่เคยได้เป็นวัดที่มีการศึกษาเล่าเรียนมาทั้งทางโลกและทางธรรม กุลบุตรกุลธิดาที่ได้ศึกษาเล่าเรียนในสำนักนี้มีความรู้ไปประกอบการเลี้ยงชีพ[2]
อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ
แก้อาคารเสนาสนะในวัดได้แก่ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองหรือเจดีย์ทรงเครื่อง กว้างด้านละ 6 เมตร สูงประมาณ 12 เมตร อยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถลักษณะศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายแบบที่เรียกว่าโบสถ์มหาอุด กล่าวคือ ก่ออิฐถือปูน หลังโบสถ์อุดตัน หน้าโบสถ์เป็นเพิง หลังคาชั้นเดียวไม่มีช่อฟ้า ใบระกา สัณฐานโบสถ์ด้านนอกทำคล้ายท้องเรือสำเภา คือหัวท้ายโค้ง กลางอ่อนลง ซุ้มประตูอยู่ภายในบริเวณพระอุโบสถมีลักษณะเป็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูน หลังคาทรงจีน ภายในมีใบเสมาหินแกะสลักลวดลาย วัดมีหอระฆังเก่าเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องว่าว[3]
ปูชนียวัตถุของวัด ได้แก่ หลวงพ่ออู่ทอง เป็นพระพุทธรูปในวิหารองค์ใหญ่ ทำด้วยหินทรายแดง ลงรักปิดทอง ปางสมาธิ แบบสมัยอู่ทอง หน้าตักกว้าง 168 เซนติเมตร ส่วนสูงวัดจากทับเกษตรถึงยอดเปลวรัศมีได้ 227 เซนติเมตร และมีพระพุทธรูปอีกองค์ คือ หลวงพ่อสุโขทัย เป็นพระประธานในพระอุโบสถ ลงรักปิดทอง ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 183 เซนติเมตร ส่วนสูงวัดจากทับเกษตร (ที่นั่ง) ถึงยอดเปลวรัศมีได้ 242 เซนติเมตร[4]
รายนามเจ้าอาวาส
แก้- เจ้าอธิการทอง
- เจ้าอธิการคุ่ย
- พระอธิกาคอน
- พระมหาสา
- พระครูธรรมานุกูล (เครื่อง อิสฺสรเถร วอนประสพ)
- พระครูสิริธรรมวิมล (เล็ก ปวโร เปาวรัตน์)
- พระครูโกศลธรรมคุณ (สำลี สิริกาญฺจโน ศรีโพนทอง)
อ้างอิง
แก้- ↑ กรมศิลปากร. ฝ่ายทะเบียนโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและช่างอนุรักษ์. รายงานการสำรวจขึ้นทะเบียนโบราณสถาน, พ.ศ. 2539.
- ↑ "ประวัติวัด".
- ↑ "วัดธรรมาภิรตาราม". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "หลวงพ่อสุโขทัย".