ถนนนครสวรรค์
ถนนนครสวรรค์ (อักษรโรมัน: Thanon Nakhon Sawan) เป็นถนนสายหนึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจุดเริ่มต้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ บริเวณแยกผ่านฟ้าลีลาศจากส่วนปลายของถนนราชดำเนินกลาง ทอดผ่านแยกจักรพรรดิพงษ์ ผ่านแยกเทวกรรมข้ามสะพานเทวกรรมรังรักษ์ พื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และไปสิ้นสุดลงที่แยกนางเลิ้ง จุดตัดกับถนนพิษณุโลก บริเวณด้านหน้าอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ฝั่งทิศใต้ (ประตูทางเข้าสนามม้านางเลิ้งเดิม) ในพื้นที่แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต รวมระยะทางทั้งสิ้น 1.31 กิโลเมตร
ถนนนครสวรรค์เดิมมีชื่อว่า "ถนนตลาด" สร้างขึ้นมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นถนนนครสวรรค์ดังในปัจจุบัน ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต หรือทูลกระหม่อมบริพัตร พระบรมวงศานุวงศ์องค์สำคัญ[1] [2]
บริเวณถนนนครสวรรค์ เป็นที่ตั้งของตลาดนางเลิ้ง ตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทย เป็นชุมชนที่มีความเก่าแก่ยาวนาวนานและมีสินค้ามากมายจำหน่าย โดยเฉพาะอาหารนานาชนิด เช่น กล้วยแขก, ขนมถ้วย และขนมไทยอีกหลายอย่าง อีกทั้งอาคารบ้านเรือนแถบนี้ยังมีความเก่าแก่และมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามอีกด้วย[1] [3] [4]
หลักฐานทางโบราณคดี
แก้เมื่อ พ.ศ. 2557 การประปานครหลวงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างท่อประปาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1,000 มิลลิเมตร โดยการดันท่อลอดในถนนนครสวรรค์ช่วงถนนจักรพรรดิพงษ์ถึงถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อสร้างบ่อดัน-บ่อรับจำนวน 8 บ่อ ซึ่งมีงานบางส่วนต้องขุดเปิดหน้าดินในเขตโบราณสถานป้อมมหากาฬ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งพบหลักฐานทางโบราณคดีในเขตโบราณสถานป้อมมหากาฬและพื้นที่ใกล้เคียง
พบแนวถนนที่คาดว่าน่าจะเป็นทางเดินเท้าระหว่างป้อมมหากาฬและสะพานผ่านฟ้าลีลาส น่าจะมีอายุในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีลักษณะปูด้วยอิฐ เรียงกัน 1 ชั้นอิฐ โดยใช้อิฐขนาด 15x30x7 เซนติเมตร วางเรียงแบบสานคู่ และใช้อิฐขนาด 20x40x10 เซนติเมตร ก่อเป็นขอบถนนโดยใช้สันอิฐตั้งขึ้น มีความกว้างของถนน 1 เมตร ถนนอยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินปัจจุบัน 100 เซนติเมตร รวมถึงยังพบทางระบายน้ำสองแนว กำหนดอายุราวรัชกาลที่ 4–5 แนวแรกก่อด้วยอิฐขนาด 11x22x6 เซนติเมตร ทำเป็นร่องขนาด 10 เซนติเมตร แนวที่สองก่อด้วยอิฐขนาด 15x30x7 เซนติเมตร วางตัวในแนวขนานกับแนวแรก โดยทั้งสองแนววางห่างกัน 10 เซนติเมตร
พบส่วนพื้นและฐานของอาคาร พื้นปูด้วยกระเบื้อง กระเบื้องมีขนาด 30x30 เซนติเมตร น่าจะมีอายุก่อน พ.ศ. 2486 เพราะคล้ายกับอาคารในภาพถ่ายของวิลเลียม ฮันต์ ถ่ายเมื่อราว พ.ศ. 2486[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 pongsakornlovic (2011-01-11). "CHN 200 ถนนนครสวรรค์". ชื่อนั้นสำคัญไฉน?.
- ↑ บุนนาค, โรม (2016-03-16). "ยุคนิยมเครื่องลายครามจีนสุดขีด ถึงขั้นตั้งชื่อถนนทั้งชุด ออกกติกาการประกวดเป็น พ.ร.บ.!!!". ผู้จัดการออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-03-07. สืบค้นเมื่อ 2018-02-28.
- ↑ "อร่อยทุกเจ้า เด็ดทุกร้าน!! ตลาดนางเลิ้ง". สนุกดอตคอม. 2011-06-16.
- ↑ "ใครเคยกิน? "กล้วยทอดนางเลิ้ง"". คมชัดลึก. 2017-03-10.
- ↑ กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์, ทนงศักดิ์ เลิศพิพัฒน์วรกุล. "ถนนนครสวรรค์". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ถนนนครสวรรค์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์