พรรคประชาราช
พรรคประชาราช (อังกฤษ: Royal People Party, ย่อว่า: ปชร.) เป็นพรรคการเมืองที่ก่อตั้งโดยนายเสนาะ เทียนทอง เพื่อที่จะดำเนินงานทางการเมืองหลังลาออกมาจากพรรคไทยรักไทย ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ตั้งเป็นพรรคเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2549 แต่เดิมมี นายเสนาะ เทียนทอง เป็นหัวหน้าพรรค และมี นายฐานิสร์ เทียนทอง บุตรชายนายเสนาะ เป็นเลขาธิการพรรค ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 ทั้งคู่ได้ลาออกไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย จึงทำให้ รองหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรคแทน[1] และที่ประชุมใหญ่วิสามัญของพรรค เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2554 มีมติแต่งตั้งให้ ดร.คัมภีร์ สุริยาศศิน เป็นหัวหน้าพรรค และนางพรพิศ โกศลจิตร เป็นเลขาธิการพรรค [2]
พรรคประชาราช | |
---|---|
ผู้ก่อตั้ง | เสนาะ เทียนทอง |
หัวหน้า | ดร.คัมภีร์ สุริยาศศิน |
เลขาธิการ | พรพิศ โกศลจิตร |
โฆษก | ทรงธรรม ขจรชัยธนัง |
คำขวัญ | ไทยวัฒนา ประชาเป็นสุข |
ก่อตั้ง | 10 มกราคม พ.ศ. 2549 |
ถูกยุบ | 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561 (12 ปี 224 วัน) |
แยกจาก | พรรคไทยรักไทย |
ที่ทำการ | 55/305 เมืองทองธานี ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 |
สภาผู้แทนราษฎร 2550 | 8 / 480
|
เว็บไซต์ | |
http://www.prp.or.th (ปัจจุบันใช้การไม่ได้แล้ว) | |
การเมืองไทย รายชื่อพรรคการเมือง การเลือกตั้ง |
พรรคประชาราช มีตราสัญลักษณ์เป็นรูป "เปลวเทียนสีแดง" หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์ของประชาชน มีคำขวัญของพรรคว่า "ไทยวัฒนา ประชาเป็นสุข" นายเสนาะ เทียนทอง เคยอธิบายความหมายของชื่อพรรคไว้ว่า ชื่อพรรคประชาราช หมายถึง "ประชาชนผู้จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์" [3]
นโยบายของพรรค
แก้นโยบายหลักของพรรคมีอยู่ 12 ข้อ ที่ประกาศต่อสาธารณะ [4]
- ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง
- ปราบทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง
- นำสันติสุขกลับคืนภาคใต้โดยเร็ว
- จัดทำเอกสารที่ดินทำกินให้เหมาะสม
- ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
- แก้ไขความยากจนของเกษตรกร การตั้งสหกรณ์ ทบทวน FTA
- แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร
- ให้นักเรียนเรียนฟรี 12 ปี จนถึงอุดมศึกษา
- คุ้มครองสิทธิ ผลประโยชน์ของผู้ใช้แรงงาน
- รับรอง คุ้มครองสิทธิเด็ก คนชรา คนพิการ
- ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยของประชาชน (ไม่เก็บ 30 บาท)
- ปรับฐานภาษี ให้ทั่วถึงเป็นธรรม
กรรมการบริหารพรรค
แก้หลังจากก่อตั้งพรรค นายเสนาะได้พยายามติดต่อผู้มีชื่อเสียงในสังคมหลายคน เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค เช่น ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน [5], ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา แต่ในระยะแรก นายเสนาะ เทียนทอง ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยมีนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารทีพีไอ เป็นเลขาธิการพรรค และนายประมวล รุจนเสรี เป็นรองหัวหน้าพรรค [6]
ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2550 พรรคประชาราชได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ที่ประชุมตกลงให้นายเสนาะ เทียนทอง เป็นหัวหน้าพรรค นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน (ภรรยานายสมศักดิ์ เทพสุทิน) เป็นเลขาธิการพรรค นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารพรรค
แต่ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2550 นายประชัยได้แถลงข่าวลาออก ด้วยเหตุผลว่าแนวทางทางการเมืองไปด้วยกันไม่ได้กับนายเสนาะ พร้อมกันนี้ เลขาธิการพรรคและสมาชิกพรรคส่วนหนึ่งได้ลาออกตามด้วย และหลังจากนั้นทั้งหมดพากันไปเข้าสังกัด พรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ก่อตั้งโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน
ในการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550 พรรคประชาราชมีแนวทางที่จะสนับสนุน นายกร ทัพพะรังสี รองหัวหน้าพรรคให้เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ในปลายเดือนตุลาคมปีเดียว นายกร ทัพพะรังสี ได้ลาออกจากพรรคประชาราช เพื่อไปอยู่กับพรรคชาติไทย และนายเสนาะ ก็ได้ให้โอกาสสมาชิกพรรคย้ายพรรคไปอยู่กับพรรคอื่นได้โดยอิสระ
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 นายเสนาะ เทียนทอง พร้อมด้วยนายฐานิสร์ เทียนทอง เลขาธิการพรรค และสมาชิกพรรคบางส่วน ย้ายไปร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคเพื่อไทย[7] โดยมี ดร.คัมภีร์ สุริยาศศิน รองหัวหน้าพรรค ปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน[8]
การเลือกตั้ง
แก้ผลการเลือกตั้ง | จำนวนที่นั่ง | คะแนนเสียงทั้งหมด | สัดส่วนคะแนนเสียง | ที่นั่งเปลี่ยน | ผลการเลือกตั้ง | ผู้นำเลือกตั้ง |
---|---|---|---|---|---|---|
2550 | 5 / 480
|
408,851 | 1.36% | 5 [ก] | ร่วมรัฐบาล (2551) | เสนาะ เทียนทอง |
ฝ่ายค้าน (2551-2554) | ||||||
2557 | การเลือกตั้งเป็นโมฆะ | คัมภีร์ สุริยาศศิน |
สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
แก้พรรคประชาราชถูกยุบพรรคตามมติในที่ประชุม กกต. ครั้งที่ ๓๓/๒๕๖๑ เมื่อวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 เนื่องจากในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคประชาราชครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 คณะกรรมการบริหารพรรคมีมติให้ยุบเลิกพรรคตามข้อบังคับพรรคประชาราช (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๑๐๘ ซึ่ง กกต. ได้มีประกาศออกมาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2561 โดยให้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2561 [9]
หมายเหตุ
แก้- ↑ ได้รับเลือก 5 คน ต่อมาได้รับเลือกตั้งซ่อม เพิ่ม 4 คน
อ้างอิง
แก้- ↑ ""ไดโนเหนาะ" ยิ้มร่า พาโคตรเหง้าเข้ารังเพื่อแม้ว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-31. สืบค้นเมื่อ 2011-06-27.
- ↑ ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง เรื่อง ตอบรับการเปลี่บนแปลงคณะกรรมการบริหารพรรคประชาราช [(จำนวน 8 คน)ราชกิจาจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 164ง วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554 หน้า 38
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-14. สืบค้นเมื่อ 2006-08-28.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2006-08-28.
- ↑ นายเสนาะได้พยายามติดต่อผู้มีชื่อเสียงในสังคมหลายคน เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2006-08-28.
- ↑ 'เสนาะ'ควงลูก เข้าเพื่อไทย ชู'ยิ่งลักษณ์'นายกฯไทยรัฐออนไลน์
- ↑ "เสนาะ'หนุน'ยิ่งลักษณ์'นั่งนายกฯหญิงคนแรก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-13. สืบค้นเมื่อ 2011-06-05.
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง พรรคประชาราชสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง