พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (อังกฤษ: Bangkok National Museum) เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของพระราชวังบวรสถานมงคล ที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในอดีต ที่มีมีอาณาเขตตั้งแต่บริเวณมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, มณฑลพิธีท้องสนามหลวงตอนเหนือฝั่งตะวันตก, อนุสาวรีย์ทหารอาสา และโรงละครแห่งชาติในปัจจุบัน
Bangkok National Museum | |
บริเวณทางเข้าพิพิธภัณฑ์ ประกอบด้วยพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน (ซ้ายกลาง) และพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ (ขวาหลังป้าย) | |
ก่อตั้ง | พ.ศ. 2402 |
---|---|
ที่ตั้ง | เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
ผลงานสำคัญ | |
ผลงาน |
|
จำนวนผู้เยี่ยมชม | 710,007 คน (พ.ศ. 2555)[1] |
ผู้ก่อตั้ง | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
เจ้าของ | สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร |
ขนส่งมวลชน | รถประจำทาง: 3, 6, 9, 15, 19, 30, 32, 33, 53, 59, 64, 65, 70, 80, 84, 123, 165, ปอ. 3, ปอ.6, ปอ.7, ปอ.39, ปอ.80, ปอ.91, ปอ.พ.8[2] |
ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ และ อาคารมหาสุรสิงหนาท
เดิมพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ที่หอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม ในปัจจุบัน) เรียกว่า "มิวเซียม" หรือ "พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย" โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 จนต่อมาเมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลลง เป็นเหตุให้พระราชวังบวรสถานมงคลว่าง พระองค์จึงโปรดฯ ให้ย้ายพิพิธภัฑสถานมาจัดแสดงโดยใช้พื้นที่ของพระราชวังบวรฯ บางส่วน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนพระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดได้เปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและหอสมุดพระวชิรญาณเพื่อจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2469[3]
ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย งานประณีตศิลป์และชาติพันธุ์วิทยา รวมไปถึงนิทรรศการชั่วคราวต่าง ๆ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีสถิติจำนวนผู้เข้าชมมากที่สุดในประเทศไทย จากข้อมูลปี พ.ศ. 2555 มีผู้เข้าชมราว 710,007 คน[1]
ประวัติ
แก้การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2402 ที่พระที่นั่งราชฤดี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านข้างของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ต่อมา เมื่อพระองค์ทรงสร้างพระอภิเนาว์นิเวศน์ขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง จึงโปรดฯ ให้ย้ายโบราณวัตถุและของแปลก ๆ มาไว้ยังพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ ซึ่งนับเป็นพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ หรือ “รอยัล มิวเซียม” (Royal Museum) มิได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม
ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้นที่หอคองคอเดีย (ศาลาสหทัยสมาคม ในปัจจุบัน) เรียกว่า "มิวเซียม" หรือ "พิพิธภัณฑสถานหอคองคอเดีย" โดยมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งนับเป็นวันกำเนิดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย[4] พิพิธภัณฑสถานตั้งอยู่ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นเวลา 13 ปี จนกระทั่ง กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จทิวงคต พร้อมกันนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นเหตุให้พระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ว่างลง พระองค์จึงโปรดฯ ให้ย้ายพิพิธภัฑสถานมาจัดแสดงโดยใช้พื้นที่ของพระราชวังบวรฯ บางส่วน ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430[5] นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดฯ ให้มีการปรับปรุงพื้นที่เขตวังหน้าและให้ตัดพื้นที่บางส่วนไปใช้ในราชการทหารด้วย
ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ เหลือน้อยพระองค์ พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรฯ เข้าไปประทับในพระบรมมหาราชวัง และพระราชทานพระมหามณเฑียร ณ ขณะนั้นให้เป็นโรงทหาร จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดฯ ให้ย้ายโรงทหารไปอยู่ที่วังจันทรเกษม (บริเวณกระทรวงศึกษาธิการ ในปัจจุบัน) ส่วนพระราชมณเฑียรของพระราชวังบวรฯ ทั้งหมดจัดเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครและหอสมุดพระวชิรญาณเพื่อจัดตั้งเป็น พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2469[3] ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2477
ในปี พ.ศ. 2510 ได้สร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก 2 หลัง คือ "อาคารมหาสุรสิงหนาท" ปัจจุบัน จัดแสดงความเป็นมา ศิลปวัตถุ โบราณวัตถุในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และในยุคประวัติศาสตร์ตั้งแต่อาณาจักรทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี ตลอดจนอิทธิพลอารยธรรมอินเดียสมัยก่อนพุทธศักราช 1800 และ "อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์" ปัจจุบัน จัดแสดงศิลปวัตถุจากอาณาจักรล้านนา สุโขทัย อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ตลอดจนจัดแสดงงานประณีตศิลป์ของกรุงรัตนโกสินทร์
วัตถุจัดแสดง
แก้แนวทางการจัดแสดง ปัจจุบัน พิพิธภัณสถานแห่งชาติ พระนคร แบ่งการจัดแสดง ออกเป็น 3 หัวเรื่องใหญ่ ๆ คือ
- ประวัติศาสตร์ชาติไทย จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
- ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีในประเทศไทย จัดแสดงตามยุคสมัย คือ
- สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารส่วนหลังของพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
- สมัยประวัติศาสตร์ จัดแสดงในอาคารใหม่ 2 หลัง ที่สร้างขนาบสองข้างของหมู่วิมานเมื่อ พ.ศ. 2510 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ สมัยก่อนพุทธศักราช 1800 ได้แก่ สมัยทวารวดี สมัยศรีวิชัย และ สมัยลพบุรี จัดแสดงในอาคารมหาสุรสิงหนาท และส่วนที่ 2 คือ สมัยหลังพุทธศักราช 1800 เป็นต้นมา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงในอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์
- ประณีตศิลป์ และ ชาติพันธุ์วิทยา จัดแสดงในหมู่พระวิมาน คือ พระที่นั่งวสันตพิมาน พระที่นั่งวายุสถานอมเรศ และ พระที่นั่งพรหมเมศธาดา ศิลปโบราณวัตถุที่จัดแสดง ได้แก่ เครื่องทอง เครื่องถม เครื่องมุก เครื่องดนตรี เครื่องไม้จำหลัก ผ้าโบราณ เครื่องถ้วย เครื่องสูง ราชยานคานหาม อาวุธโบราณ เครื่องใช้ในพิธีพระพุทธศาสนา และ อัฐบริขารของสงฆ์ และ เครื่องการละเล่นต่าง ๆ เช่น หัวโขน หุ่นกระบอก หุ่นเล็ก และหนังใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี ราชรถที่ใช้ในกระบวนแห่พระบรมศพ คือพระมหาพิชัยราชรถ พระเวชยันตราชรถ ราชรถน้อย และ เครื่องประกอบการพระราชพิธีต่าง ๆ ที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จัดแสดงใน อาคารโรงราชรถ
นอกจากศิลปะโบราณวัตถุแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังมีโบราณสถาน คือ พระที่นั่ง และ พระตำหนักบางองค์ ที่เป็นตัวอย่างของ งานสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามยิ่ง พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ ที่ประทับ ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระตำหนักแดง ที่ประทับ ของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 รวมไปถึง พระที่นั่งขนาดย่อม และศาลาทรงไทยในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ศาลาสรง ศาลาสำราญมุขมาตย์ พระที่นั่งมังคลาภิเษก และ พระที่นั่งปาฏิหาริย์ทัศนัย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ยังคงมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมไทย ที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของเกาะรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
พระที่นั่ง
แก้พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน
แก้เดิมเคยเป็นห้องสำหรับสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จออกขุนนางและบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ปัจจุบันจัดแสดงเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย
- สมัยสุโขทัย จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อตั้งอาณาจักร สถาปัตยกรรม การชลประทานการผลิตเครื่องสังคโลก ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19)
- สมัยกรุงศรีอยุธยา จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมือง การปกครองและเหตุการณ์ณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ตู้จัดแสดงเหตุการณ์สงครามเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. 2091
- สมัยรัตนโกสินทร์ จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เครื่องราชบรรณาการ เทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ และการเข้าร่วมสงครามโลก กองทัพทหารไทยอาสาเข้าไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี พ.ศ. 2461
พระที่นั่งพุทไธสวรรย์
แก้พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 สำหรับประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและภาพเทพชุมนุม
- พระพุทธสิหิงค์ ตามตำนานกล่าวว่า เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้มาจากลังกาแล้วนำขึ้นไปถวายพระเจ้ากรุงสุโขทัย จากนั้นได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานหลายเมือง เช่น กรุงศรีอยุธยา กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่
- พระพุทธสิหิงค์ ศิลปะสุโขทัย สำริดกะไหล่ทอง สูง 166 ซม.
- ภาพเขียนพุทธประวัติ ตอนเทศนาโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
พระตำหนักแดง
แก้เดิมนั้นตั้งอยู่บริเวณด้านหลังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ได้โปรดฯให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระพี่นางเธอ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางพระองค์เล็ก และก็ได้สร้างพระตำหนักเขียวขึ้นเพื่อถวายเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งเป็นพระพี่นางพระองค์ใหญ่
เมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์สิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ แล้ว พระธิดา คือ เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด ได้ทรงครอบครองตำหนักแดงต่อมา จนกระทั่งทรงย้ายไปประทับกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยผู้เป็นพระภัศดา (ในขณะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร) ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
และเมื่อสมเด็จฯเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้ทรงย้ายที่ประทับจากพระราชวังเดิม กรุงธนบุรีมาประทับในพระบรมมหาราชวังพร้อมกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ (เจ้าฟ้าหญิงบุญรอด) สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯ มีพระราชโอรสสามพระองค์ สิ้นพระชนม์หนึ่งพระองค์ เหลือ ๒ พระองค์คือ
๑. สมเด็จเจ้าฟ้าชายมงกุฏ (ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)
๒. สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฑามณี (ได้รับพระราชทานพระบวรราชาภิเษกเป็น พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว )
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๒ ได้เสด็จออกไปประทับอยู่พระราชวังเดิมกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุที่ว่าในระยะเวลาช่วงนั้น ภายในพระบรมมหาราชวังมีการเปลี่ยนแปลงให้รื้อตำหนักเครื่องไม้ในพระราชวังหลวงสร้างเป็นตำหนักตึก รัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานตำหนักแดงของเดิมให้ไปปลูกถวาย ณ พระราชวังเดิม กรุงธนบุรี
เมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สวรรคตในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ายที่ประทับจากพระราชวังเดิม กรุงธนบุรีมาอยู่ภายในพระราชวังบวรสถานมงคล จึงโปรดเกล้าฯให้รื้อตำหนักแดงจากพระราชวังเดิมให้มาสร้างใหม่ที่ท้ายพระบวรราชวัง (บริเวณที่ตั้งของอาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน) เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต พระตำหนักแดงไม่ได้รับการดูแลจึงชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา จนกระทั่งถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ปี พ.ศ. 2470 สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จประพาสพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ได้ทอดพระเนตรเห็นพระตำหนักแดงชำรุดทรุดโทรม จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ในการปฏิสังขรณ์จนแล้วเสร็จในปีพ.ศ. 2471 โดยสมเด็จพระพันวัสสาฯ ได้เสด็จมาบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระตำหนักแดงด้วยพระองค์เอง
ต่อมาในปี 2506 ได้มีการปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง โดยได้ย้ายพระตำหนักแดง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่พระวิมานมาปลูกที่หลังพระที่นั่งศิวโมกขพิมานดังที่เห็นในปัจจุบัน
การจัดแสดง ภายในพระตำหนักแดงมีการจัดแสดงสิ่งของ เครื่องใช้ของชนชั้นสูง ส่วนใหญ่เป็นศิลปวัตถุที่เป็นเครื่องประดับบ้าน เช่น ตู้เท้าสิงห์ โต๊ะและเก้าอี้เท้าสิงห์ โถเบญจรงค์ หีบใส่ผ้าของชนชั้นสูง และศิลปวัตถุของผู้ครอบครองตำหนัก ได้แก่ พระแท่นบรรทม และฉลองพระบาทของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 โคมส่องเสด็จของสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
หมู่พระวิมาน
แก้พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย
แก้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้า ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรงใช้เป็นที่เสด็จออก ปัจจุบันใช้เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการพิเศษหมุนเวียนตลอดปี
- ห้องมุขกระสัน ภายในห้องมหรรฆภัณฑ์ซึ่งเก็บรักษาและจัดแสดงเครื่องทองที่ได้จากการขุดค้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเครื่องทองในสมัยรัตนโกสินทร์
- พระพุทธรูปบุทอง ศิลปะรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 24)
พระที่นั่งภิมุขมณเฑียร
แก้จัดแสดงเครื่องราชยาน คานหาม สัปคับ เสลี่ยงกง เสลี่ยงหิ้วและสีวิกา
- พระที่นั่งราเชนทรยาน สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ไม้จำหลักปิดทองประดับกระจก กว้าง 103 ซม. ยาว 191 ซม. สูง 415 ซม. ใช้สำหรับราชพิธี
พระที่นั่งทักษิณาภิมุข
แก้เคยเป็นที่ประทับในสมัยสมเด็จพระบวรเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ ปัจจุบันจัดแสดงเครื่องการละเล่น หุ่น หัวโขน หนังใหญ่ เครื่องแต่งกาย ละคร เครื่องกีฬาไทย หมากรุกงา ปี้กระเบื้อง ตัวหวย กอ ขอ
- ตัวหนังใหญ่ ศิลปะรัตนโกสินทร์ ทำด้วยหนังวัว สูง 160 กว้าง 141 ซม
พระที่นั่งวสันตพิมาน
แก้ชั้นล่าง จัดแสดงเครื่องถ้วยล้านนา ลพบุรี เบญจรงค์ลายน้ำทอง เครื่องถ้วยญี่ปุ่น และเครื่องถ้วยยุโรป
- ชามเบญจรงค์ ศิลปะไทย – จีน สมัยอยุธยาดินเผาเนื้อกระเบื้อง
พระที่นั่งวสันตพิมาน
แก้ชั้นบน จัดแสดงงาช้าง งาช้างจำหลัก และเครื่องใช้ที่ทำจากงาช้าง
- งาช้างแกะสลักเป็นพระพุทธรูป ศิลปะพม่า (พุทธศตวรรษที่ 25) สูงพร้อมฐาน 8. ซม.
พระที่นั่งปัจฉิมาภิมุข
แก้จัดแสดงของใช้ประดับมุก เครื่องมุกส่วนใหญ่เป็นของสมเด็จ ฯ กรมพระนครสวรรค์พินิต ประทานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
- เตียบ สมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 25) หวายแลไม้ลงรักประดับมุข ปากกว้าง 49.5 ซม. สูงพร้อมฝา 62 ซม.
พระที่นั่งปฤษฎางคภิมุข
แก้จัดแสดงหุ่นจำลองม้าและช้างทองเครื่องคชาธารอาวุธภัณฑ์สมัยโบราณและกลองศึก
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 พิษน้ำท่วมยอดชมพิพิธภัณฑ์ลดฮวบ[ลิงก์เสีย] ,ผู้จัดการ - Manager Online .วันที่ 9 ต.ค. 2555
- ↑ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร, https://lordknight1234.wordpress.com/ .สืบค้นเมื่อ 02/01/2560
- ↑ 3.0 3.1 ราชกิจจานุเบกษา, คำกราบบังคมทูล ในการเปิดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร, เล่ม ๔๓, ตอน ง, ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๙, หน้า ๓๐๓๘
- ↑ ประวัติความเป็นมาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จาก เว็บไซต์พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
- ↑ อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณและพิพิธภัณฑสถาน สำหรับพระนคร, พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2470
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์