อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

(เปลี่ยนทางจาก ปราสาทพนมรุ้ง)

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คำว่า พนมรุ้ง นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่

ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง
Prasat Phanom Rung
ด้านหน้าทางเข้าปราสาทพนมรุ้ง
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทปราสาทหิน
สถาปัตยกรรมเกาะแกร์ คลัง บาปวน นครวัด บายน
เมืองอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
ประเทศประเทศไทย
พิกัด14°31′53″N 102°56′32″E / 14.53139°N 102.94222°E / 14.53139; 102.94222
เริ่มสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15
ปรับปรุงพ.ศ. 2514 ถึง 2531
ผู้สร้างพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2
ผู้ปรับปรุงกรมศิลปากร ประเทศไทย
ข้อมูลทางเทคนิค
โครงสร้างหินทรายสีชมพู ศิลาแลง หินภูเขาไฟ อิฐ
พื้นที่451 ไร่ 11 ตารางวา
การออกแบบและการก่อสร้าง
เป็นที่รู้จักจากเป็นปราสาทขอมโบราณที่ได้รับการยกย่องว่าสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

ปัจจุบัน ปราสาทหินพนมรุ้งกำลังอยู่ในเกณฑ์กำลังพิจารณาเป็นมรดกโลก เช่นเดียวกับ ปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นหนึ่งในปราสาทหินขอมของไทยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ และถือเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงเป็นภาพพื้นหลังตราสัญลักษณ์ของสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดอีกด้วย

ประวัติ

แก้
 
บริเวณทางขึ้นสู่ตัวปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบสถ์พราหมณ์ลัทธิไศวะเดิมเป็นเทวสถานอิฐในศิลปะแบบเกาะแกร์ มีการบูรณะก่อสร้างต่อเนื่องกันมาหลายสมัย ตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 ถึงพุทธศตวรรษที่ 17 และในพุทธศตวรรษที่ 18 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมได้หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน เทวสถานแห่งนี้จึงได้รับการดัดแปลงเป็นวัดมหายาน ในช่วงแรกปราสาทหินพนมรุ้ง สร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งสูง 1,320 ฟุตจากระดับน้ำทะเล ชื่อพนมรุ้งแปลว่าภูเขาใหญ่ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15-18

จารึกต่าง ๆ ที่นักวิชาการได้อ่านและแปลพอจะสรุปได้ว่า พระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2 กษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร (พ.ศ. 1487–1511) ได้สถาปนาเทวสถานถวายพระศิวะที่เขาพนมรุ้ง ซึ่งในสมัยแรก ๆ คงยังไม่ใหญ่โตนัก ต่อมาพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ. 1511–1544) ได้ทรงอุทิศที่ดินและข้าทาสถวายแด่เทวสถานพนมรุ้ง ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 17 นเรนทราทิตย์ เจ้านายแห่งราชวงศ์มหิธรปุระที่ปกครองดินแดนแถบนี้ (ซึ่งเป็นต้นตระกูลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างนครวัด) ได้สร้างปราสาทแห่งนี้ขึ้นและได้ทรงบำเพ็ญพรตเป็นโยคี ณ ปราสาทพนมรุ้ง

สถาปัตยกรรมและโบราณสถาน

แก้
 
ผังปราสาทหินพนมรุ้ง

ปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเนื่องในศาสนาฮินดูลัทธิไศวะ ซึ่งนับถือพระศิวะเป็นเทพเจ้าสูงสุด ดังนั้นเขาพนมรุ้งจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาสที่ประทับของพระศิวะ

องค์ประกอบและแผนผังของปราสาทพนมรุ้งได้รับการออกแบบให้มีลักษณะเป็นแนวเส้นตรง และเน้นความสำคัญเข้าหาจุดศูนย์กลาง นั่นคือปราสาทประธานซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาของบันไดทางขึ้นสู่ศาสนสถานมีอาคารที่เรียกว่า พลับพลา อาคารนี้อาจจะเป็นอาคารที่เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง ซึ่งเป็นที่พักจัดเตรียมองค์ของพระมหากษัตริย์ ก่อนเสด็จเข้าสู่การสักการะเทพเจ้าหรือประกอบพิธีกรรมในบริเวณศาสนสถาน

สะพานนาคราช

แก้
 
สะพานนาคราช

ทางเดินสู่ปราสาททั้งสองข้างประดับด้วยเสามียอดคล้ายดอกบัวตูมเรียกว่า เสานางเรียง จำนวนข้างละ 35 ต้น ทอดตัวไปยัง สะพานนาคราช ซึ่งเป็นรูปทรงกากบาทยกพื้นสูง ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร สะพานนาคราชนี้ ตามความเชื่อเป็นทางที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับเทพเจ้า สิ่งที่น่าสนใจคือ จุดกึ่งกลางสะพาน มีภาพจำหลักรูปดอกบัวแปดกลีบ อาจหมายถึงเทพประจำทิศทั้งแปด ในศาสนาฮินดู หรือเป็นจุดที่ผู้มาทำการบูชา ตั้งจิตอธิษฐาน จากสะพานนาคราชชั้นที่ 1 มีบันไดจำนวน 52 ขั้นขึ้นไปยังลานบนยอดเขา

ด้านข้างของทางเดินทางทิศเหนือมีพลับพลาสร้างด้วยศิลาแลง 1 หลัง เรียกกันว่า โรงช้างเผือก สุดสะพานนาคราชเป็นบันไดทางขึ้นสู่ปราสาท ซึ่งทำเป็นชานพักเป็นระยะ ๆ รวม 5 ชั้น สุดบันไดเป็นชานชลาโล่งกว้าง ซึ่งมีทางนำไปสู่สะพานนาคราชหน้าประตูกลางของระเบียงคด อันเป็นเส้นทางหลักที่จะผ่านเข้าสู่ลานชั้นในของปราสาท และจากประตูนี้ยังมีสะพานนาคราชรับอยู่อีกช่วงหนึ่งก่อนถึงปรางค์ประธาน

ที่หน้าซุ้มประตูระเบียงคดทิศตะวันออก มีสะพานนาคราชชั้นที่ 2 ระเบียงคดก่อเป็นห้องยาวต่อเนื่องกัน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ารอบลานปราสาทแต่ไม่สามารถเดินทะลุถึงกันได้ เพราะมีผนังกั้นอยู่เป็นช่วง ๆ มีซุ้มประตูกึ่งกลางของแต่ละด้าน ที่มุมระเบียงคดทำเป็นซุ้มกากบาท ที่หน้าบันของระเบียงคดทิศตะวันออกด้านนอก มีภาพจำหลักรูปฤๅษีซึงหมายถึงพระศิวะในปางที่เป็นผู้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอาจรวมหมายถึง นเรนทราทิตย์ ผู้ก่อสร้างปราสาทประธานแห่งนี้ด้วย

ตัวปราสาท

แก้
 
ปราสาทประธาน

ปราสาทประธาน ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางของลานปราสาทชั้นใน มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมณฑป คือห้องโถงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เชื่อมอยู่ทางด้านหน้าที่ส่วนประกอบของปรางค์ประธานตั้งแต่ฐานผนังด้านบนและด้านล่าง เสากรอบประตู เสาติดผนัง ทับหลัง หน้าบัน ซุ้มชั้นต่าง ๆ ตลอดจนกลีบขนุน ก่อด้วยหินทรายสีชมพูมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมกว้าง 8.20 เมตร สูง 27 เมตร ด้านหน้าทำเป็นมณฑปโดยมีอันตราละหรือฉนวนเชื่อมปราสาทประธานนี้ เชื่อว่า สร้างโดย นเรนทราทิตย์ ซึ่งเป็นผู้นำปกครองชุมชนที่มีปราสาทพนมรุ้งเป็นศูนย์กลาง ราว พุทธศตวรรษที่ 17

 
ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์

ที่บริเวณหน้าบันและทับหลังของปราสาทประธานมีภาพจำหลักแสดงเรื่องราวในศาสนาฮินดู เช่น ศิวนาฏราช (ทรงฟ้อนรำ) ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ อวตารของพระนารายณ์ เช่น พระราม (ในเรื่องรามเกียรติ์) หรือพระกฤษณะ ภาพพิธีกรรม ภาพชีวิตประจำวันของฤๅษีเป็นต้น โดยเฉพาะทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นทับหลังที่ถูกขโมยไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2503 และได้กลับคืนมาในปี พ.ศ. 2531

ปรางค์ล้วนสลักลวดลายประดับทั้งลวดลายดอกไม้ ใบไม้ ภาพฤๅษี เทพประจำทิศ ศิวนาฏราช ที่ทับหลังและหน้าบันด้านหน้าปรางค์ประธาน ลักษณะของลวดลายและรายละเอียดอื่น ๆ ช่วยให้กำหนดได้ว่าปรางค์ประธานพร้อมด้วยบันไดทางขึ้นและสะพานนาคราชสร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 17 ภายในลานชั้นในด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีปรางค์ขนาดเล็ก 1 องค์ ไม่มีหลังคา จากหลักฐานทางศิลปกรรมที่ปรากฏ เช่น ภาพสลักที่หน้าบัน ทับหลัง บอกให้ทราบได้ว่าปรางค์องค์นี้สร้างขึ้นก่อนปรางค์ประธาน มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16

 
ศิวลึงค์ประดิษฐานภายในห้องครรภคฤหะ

ภายในเรือนธาตุตรงกึ่งกลาง เรียกว่า ห้องครรภคฤหะ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพที่สำคัญที่สุด ในที่นี้คือ ศิวลึงค์ ซึ่งแทนองค์พระศิวะ เป็นที่น่าเสียดายว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ได้สูญหายไป เหลือเพียงแต่ ท่อโสมสูตร คือร่องน้ำมนต์ที่ใช้รับน้ำสรงจากการสักการะศิวลึงค์เท่านั้น

ทางเดินด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทประธาน มีปราสาทอิฐสององค์และปรางค์น้อย จากหลักฐานทางด้านสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม กล่าวได้ว่า ปราสาททั้งสามหลังได้สร้างขึ้นก่อนปราสาทประธานราวพุทธศตวรรษที่ 15 และ 16 ตามลำดับ ส่วนทางด้านหน้าของปราสาทประธาน คือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีอาคารสองหลังก่อด้วยศิลาแลง เรียกว่าบรรณาลัย ซึ่งเป็นที่เก็บรักษาคัมภีร์ทางศาสนา ก่อสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ร่วมสมัยเดียวกันกับ โรงช้างเผือก พลับพลาที่สร้างขึ้นด้วยศิลาแลงข้างทางเดินขึ้นสู่ปราสาททางทิศเหนือ

บริเวณรายรอบ

แก้
 
ด้านหลังทางเข้าปราสาทหินพนมรุ้ง สังเกตเห็นประตู 15 ช่อง ตรงกลางคือ ศิวลึงค์ และ โคนนทิ

ชุมชนที่เคยตั้งอยู่บริเวณเขาพนมรุ้งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ เพราะนอกจากมีบารายหรืออ่างเก็บน้ำ ซึ่งใช้ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของปากปล่องภูเขาไฟเดิมเป็นอ่างเก็บน้ำอยู่บนเขาอยู่แล้ว ที่เชิงเขามีบารายอีก 2 สระ คือสระน้ำหนองบัวบารายที่เชิงเขาพนมรุ้ง และสระน้ำโคกเมืองใกล้ปราสาทหินเมืองต่ำ สระน้ำบนพื้นราบเบื้องล่างภูพนมรุ้งนี้รับน้ำมาจากธารน้ำที่ไหลมาจากบนเขา นอกจากนี้ยังมีกุฏิฤๅษีอยู่ 2 หลัง เป็นอโรคยาศาลที่รักษาพยาบาลของชุมชนอยู่เชิงเขาด้วย

บริเวณที่ตั้งของปราสาทพนมรุ้งอาจเคยเป็นที่ตั้งของศาสนาพื้นถิ่นมาก่อนที่จะมีการก่อสร้างขึ้นเป็นปราสาท ที่มีความใหญ่โตงดงาม สมกับเป็น กมรเตงชคตวฺนํรุง ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งปราสาทพนมรุ้ง อันหมายถึงองค์พระศิวะในศาสนาฮินดูที่กษัตริย์เขมรทรงนับถือ การเปลี่ยนสถานที่เคารพพื้นถิ่นให้เป็นปราสาทตามแบบคติเขมร น่าจะเกี่ยวเนื่องกับ การเปลี่ยนลักษณะการเมืองการปกครอง ที่ผู้นำท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับกษัตริย์เขมรโดยใช้ระบบความเชื่อมทางศาสนา วัฒนธรรมและวัฒนธรรมท้องถิ่น

การบูรณะและการเปิดอุทยาน

แก้

กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและบูรณะปราสาทหินพนมรุ้ง โดยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) คือ รื้อของเดิมลงมาโดยทำรหัสไว้ จากนั้นทำฐานใหม่ให้แข็งแรง แล้วนำชิ้นส่วนที่รื้อรวมทั้งที่พังลงมากลับไปก่อใหม่ที่เดิม โดยใช้วิธีการสมัยใหม่ช่วย ซึ่งปราสาทหินพนมรุ้งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อปี พ.ศ. 2475 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75

ต่อมาได้ดำเนินการบูรณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสมบูรณ์ และเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ปี พ.ศ. 2531 ได้มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี ในวันที่ 2–4 เมษายน

ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15

แก้

ในวันที่ 2–4 เมษายน และ 8–10 กันยายน ของทุกปี ดวงอาทิตย์ขึ้น ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน ชาวบ้านจะเดินเท้าขึ้นมาเพื่อชมความอลังการที่ผสานระหว่างธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างของบรรพชน นอกจากนี้ในวันที่ 5–7 มีนาคม และ 5–7 ตุลาคม ของทุกปี ดวงอาทิตย์ก็ตก ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 บาน เช่นกัน[1]

โคนนทิ

แก้

เป็นประติมากรรมวัว ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของปราสาทประธานเคียงข้างกับศิวลึงค์ โคนนทิ (อังกฤษ: Nandin) คือ พาหนะของพระศิวะ โคนนทิเป็นบุตรของพระกัศยปกับโคสุรภี พระศิวะเห็นโคสุรภีก็อยากจะได้เป็นบริวารแต่รังเกียจว่าเป็นเพศเมีย พระกัศยปจึงอาสาผสมพันธุ์กับโคสุรภี จึงให้กำเนิดเป็นวัวเพศผู้ชื่อว่า "นนทิ" แล้วถวายเป็นบริวารของพระศิวะ ทำหน้าที่เป็นผู้เฝ้าประตูวิมานบนเขาไกรลาสด้านทิศตะวันออกคู่กับมหากาลและทำหน้าที่เป็นเทพพาหนะเมื่อพระศิวะเสด็จออกภายนอก

เหตุการณ์ทุบทำลาย

แก้

คืนวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนเข้าทุบทำลาย รูปปั้นทวารบาลและสัตว์พาหนะ รวมถึงมีการเคลื่อนย้ายศิวลึงค์ โดยลักษณะเป็นการทำลายแขนเทวรูปก่อน แล้วจึงนำแขนเทวรูปไปทุบกับใบหน้าสัตว์พาหนะอื่นๆ โดย เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการประวัติศาสตร์อิสระกล่าวว่า การใช้ข้อมือของของทวารบาลเป็นตัวทำลาย นั้นเพราะน่าจะเป็นวัสดุแข็งที่พอจะทำลายสิงห์ ทำลายนาค หรือโคนนทิได้ คงไม่ใช่เรื่องของรายละเอียดที่จะต้องเน้นว่าเอามือทวารบาลไปทุบ[2]

ดุสิต ทุมมากรณ์ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ระบุว่า เทวรูปที่ถูกทำลายเสียหายมีของจริงเพียงเศียรนาค 4 เศียร จาก 11 เศียร นอกนั้นเป็นเทวรูปที่จำลองขึ้นแต่มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี โดยวันที่ 26 พฤษภาคม นายช่างศิลปกรรม อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ได้เริ่มบูรณะซ่อมแซมโดยเริ่มจาก ซ่อมหัวสิงห์ 2 ตัว ที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของปราสาทก่อน โดยวัสดุที่ใช้ในการซ่อมแซมคือ เหล็กไร้สนิม ที่ใช้เป็นแกนยึด ส่วนวัสดุประกอบคือ ยางพารา หินทรายเทียม สีฝุ่น ขุยมะพร้าว ปูนปลาสเตอร์ และเชื่อมประสานด้วยอิพ็อกซี โดยกรมศิลปากรระบุว่าจะใช้เวลา 1 เดือนในการบูรณปฏิสังขรณ์[3]

การเดินทาง

แก้

ในการเดินทางไปที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งโดยใช้รถยนต์ส่วนบุคคล สามารเลือกเดินทางได้ 2 เส้นทางออกจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ดังนี้

  • เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 218 (บุรีรัมย์-นางรอง) เป็นระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร จากนั้นให้เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (สีคิ้ว-อุบลราชธานี) ไปจนถึงหมู่บ้านตะโก ประมาณ 14 กิโลเมตร แล้วจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ผ่านบ้านตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติอีกประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง
  • เดินทางโดยใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 219 (บุรีรัมย์-ประโคนชัย) เป็นระยะทางประมาณ 44 กิโลเมตร ถึงตัวอำเภอประโคนชัย จะเห็นทางแยกที่จะไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ซึ่งใช้เวลาเดินทางอีกประมาณ 21 กิโลเมตร โดยใช้ทางหลวงหมายเลข 2075 และเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2117 ก็จะถึงอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

ถ้าเดินทางโดยใช้บริการรถโดยสารจากขนส่งบุรีรัมย์ ก็ให้ขึ้นรถโดยสารสายบุรีรัมย์-จันทบุรี พอถึงที่หมู่บ้านตะโก แล้วจึงลงจากรถ จากนั้นจะมีรถสองแถววิ่งไปอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือไม่ก็นั่งวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้

อ้างอิง

แก้
  1. ลอย ชุนพงษ์ทอง (2551). ปฏิทินไทย เชิงดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ (2 ed.). กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. ISBN 978-9747444-24-7.
  2. "'พนมรุ้ง' หลังประตูบานที่15...บูชาหรือทำลาย". ผู้จัดการออนไลน์. 22 พฤษภาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2012.
  3. "เริ่มบูรณะแล้ว เทวรูป "พนมรุ้ง" -ส่วนคดีไม่คืบคนชั่วยังลอยนวล". ผู้จัดการออนไลน์. 26 พฤษภาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2012.

ดูเพิ่ม

แก้

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้