ปราสาทเขมร หรือ ปราสาทขอม เป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างขึ้นโดยอาณาจักรเขมร ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นต้นมา พบมากในประเทศกัมพูชา และในเขตอีสานใต้ของประเทศไทย ปราสาทขอมก่อสร้างด้วยวัสดุอิฐ หินทราย และศิลาแลง ด้วยศิลปะเขมร

ในประเทศไทยมีปราสาทขอมในที่ราบสูงอีสานทั้งสิ้น 155 แห่งได้แก่ จังหวัดนครราชสีมาจำนวน 37 แห่งแล้ว จังหวัดบุรีรัมย์อีก 50 แห่ง จังหวัดสุรินทร์มีอยู่จำนวน 31 แห่ง จังหวัดชัยภูมิ 6 แห่ง จังหวัดร้อยเอ็ด 14 แห่ง จังหวัดศรีสะเกษ 11 แห่ง และจังหวัดอุบลราชธานีอีก 6 แห่ง ส่วนมากมักถูกทำลายเหลือเพียงบางส่วน[1]

ประวัติศาสตร์

แก้

จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้ทราบว่าชนชาติเขมรเริ่มรวมตัวเป็นอาณาจักรหรือรัฐ มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 โดยพัฒนามาจากเมืองท่าที่ติดต่อค้าขายกับอินเดีย มีความเจริญภายใต้พื้นฐานของอารยธรรมอินเดีย ใช้ชื่อว่า อาณาจักรฟูนัน มีอาณาบริเวณครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง (เวียดนามตอนใต้) และแม่น้ำโขงตอนใต้ (กัมพูชา) จนถึงบางส่วนในบริเวณของภาคอีสานตอนใต้ของประเทศไทย โดยมีเมืองออกแก้ว (ตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม) เป็นเมืองท่าในการติดต่อค้าขาย และมีราชธานีนามว่า“วยาธปุระ” ใกล้เขาบาพนมในประเทศกัมพูชา

อาณาจักรฟูนันมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศทั้งกับอินเดียและจีน หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับอาณาจักรนี้ยังดูรางเลือนหาข้อสรุปไม่ได้แน่ชัดนัก ทราบแต่เพียงว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายคือ รุทรวรมัน และนับถือศาสนาพราหมณ์ที่ได้รับมาจากอินเดียเป็นหลัก

พุทธศตวรรษที่ 12 อาณาจักรเจนฬา ซึ่งแต่เดิมเป็นรัฐหนึ่งของอาณาจักรฟูนัน มีอาณาบริเวณตั้งแต่เมืองจำปาศักดิ์-ภูเขาวัดภู ในปัจจุบันคือบริเวณทางตอนใต้ของประเทศลาวและทางภาคเหนือของประเทศกัมพูชา ราชธานีของอาณาจักรเจนฬาคือ เมือง “เศรษฐปุระ” อาณาจักรเจนฬามีพื้นฐานอารยธรรมสืบต่อมาจากอาณาจักรฟูนันรวมทั้งการนับถือศาสนาพราหมณ์ด้วย

พระเจ้าภววรมัน ปฐมกษัตริย์ของเจนฬาได้ยึดวยาธปุระจากรุทรวรมัน ต่อมาพระอนุชาของภววรมันคือ พระเจ้ามเหนทรวรมันที่ 1 ได้เข้ายึดฟูนันและปราบปรามได้ ทำให้อาณาจักรเจนฬาได้ขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าเดิม จนล่วงพุทธศตวรรษที่ 13 อาณาจักรเจนฬาได้ถูกกษัตริย์ชวาจากราชวงศ์ไศเลนทร์แห่งอาณาจักรชวาภาคกลางรุกราน จึงทำให้เจนฬาแตกออกเป็น 2 ส่วนคือ เจนฬาบก และ เจนฬาน้ำซึ่งถูกชวายึดครองได้ นอกจากนี้อาณาจักรชวายังได้นำตัวรัชทายาทคือ เจ้าชายชัยวรมันที่ 2 ไปเป็นตัวประกันที่อาณาจักรชวาอีกด้วย ซึ่งเป็นระบบที่เรียกว่าตัวจำนำเพื่อรับรองความจงรักภักดีของอาณาจักรเขมร

ต่อมาในปี พ.ศ. 1350 ชัยวรมันที่ 2 ได้ยกทัพขึ้นมาประกาศเอกราชจากอาณาจักรชวา และยังรวมอาณาจักรเจนฬาบกและเจนฬาน้ำที่แตกแยกเข้าด้วยกัน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับอาณาจักรเขมรใหม่ และขนานนามใหม่ว่า เมืองกัมโพชน์ตะวันออก โดยแยกตัวมาจากอาณาจักรลโวทยหรือละโว้ หรือปัจจุบันเรียกว่า ลพบุรี พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงตั้งราชธานีของเมืองกัมโพชน์ในบริเวณทางเหนือของทะเลสาบเขมร พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจเข้าไปถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำบริเวณอีสานใต้ของประเทศไทยในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ

ลัทธิเทวราชาและการก่อสร้างปราสาท

แก้

พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ทรงสถาปนาลัทธิเทวราชา คือยกฐานะกษัตริย์ให้เป็นเทพเจ้าหรือเทวาราชาเป็นกษัตริย์สูงสุด เป็นการปูพื้นฐานระบบเทวราชาให้อาณาจักรอื่นๆเป็นแบบอย่าง รวมถึงสยามซึ่งรับระบบนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน ระบบเทวราชานี้มีส่วนทำให้พราหมณ์เข้ามามีบทบาทในราชสำนัก ในฐานะผู้เชี่ยวชาญศิลปศาสตร์ต่างๆ และประกอบพิธีราชาภิเษกให้กับกษัตริย์

ลัทธิเทวราชาหรือระบบเทวราชา ต่างจากลัทธิไศวนิกายแลไวษณพนิกายคือ ก่อนหน้านั้นกษัตริย์เป็นเพียงมนุษย์ที่นับถือเทพเจ้า แต่ลัทธิราชานั้นถือว่ากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเทพเจ้าคือเทพเจ้าแบ่งภาคลงมาจุติเป็นกษัตริย์นั่นเอง เมื่อกษัตริย์เสวยราชย์แล้วต้องกระทำ 3 สิ่ง คือ

  1. ขุดสระชลประทานหรือที่เรียกว่า บาราย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขมรมีความยิ่งใหญ่ เพราะเนื่องจากเขมรก็ไม่นิยมตั้งถิ่นฐานใกล้แม่น้ำเท่าใดนัก ที่เมืองพระนครมีบารายขนาดใหญ่หลายบาราย เช่น บารายอินทรฏกะ
  2. กษัตริย์ต้องสร้างศาสนสถานบนฐานเตี้ยๆ อุทิศถวายบรรพบุรุษ หรือปราสาทสร้างบนฐานเตี้ยๆเพียงชั้นเดียว เช่น ปราสาทพะโค ที่พระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษของพระองค์
  3. ต้องสร้างศาสนสถานบนฐานเป็นชั้น หรือปราสาทแบบยกฐานเป็นชั้นสูงหลายชั้นเพื่อเป็นที่สถิตของเทพเจ้า หากเป็นศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายจะประดิษฐานศิวลึงค์ของสัญลักษณ์แห่งองค์พระอิศวร หรือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกายก็จะประดิษฐานเทวรูปพระวิษณุ และมีความเชื่อว่าเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์วิญญาณของพระองค์จะไปเสด็จรวมกับเทพเจ้าที่ปราสาทที่พระองค์สร้างไว้นั่นเอง เช่น พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงสร้างปราสาทนครวัด อุทิศถวายแด่องค์พระวิษณุ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ก็มีพระนามว่า บรมพิษณุโลก

จากเหตุผล 2 ข้อหลังนี้เองที่เป็นประเพณีที่กษัตริย์เขมรทุกพระองค์จะต้องสร้างปราสาทอย่างน้อยที่สุด 2 หลัง ส่วนรูปแบบของปราสาทขอมนั้นก็พัฒนารูปแบบมาจากศาสนสถานในประเทศอินเดีย ที่เรียกกันว่า ศิขร เป็นศาสนสถานของศิลปะอินเดียในภาคเหนือ และ วิมาน เป็นศาสนาสถานของอินเดียภาคใต้ นอกจากนี้ก็ยังได้รับอิทธิพลของ จันฑิ ศาสนาสถานในศิลปะชวาเมื่อครั้งที่อาณาจักรเจนฬาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรชวา

ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้จึงก่อให้เกิดรูปแบบงานศิลปกรรมเขมรที่เรียกกันว่า ปราสาทขอม หรือ ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ที่มีความสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเป็นอย่างยิ่ง และเนื่องด้วยปราสาทขอมเหล่านี้สร้างด้วยวัสดุที่เป็นอิฐ ศิลาทรายและศิลาแลง ซึ่งเป็นถาวรวัตถุจึงทำให้มีความคงทนจนถึงในปัจจุบัน

แต่ว่าปราสาทเขมร ก็มิได้มีเพียงในเขตแดนของประเทศกัมพูชาเท่านั้น ยังพบในบริเวณของประเทศลาวและประเทศไทยซึ่งมีปราสาทเขมรอยู่มากมายเช่นกัน เนื่องจากในบางช่วงที่อาณาจักรเขมรมีความเข้มแข็ง ทำให้สามารถขยายอำนาจและดินแดนได้อย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้จึงมีปราสาทที่ถูกสร้างขึ้นในดินแดนของประเทศอื่นๆด้วย

รูปแบบศิลปะ

แก้

ก. สมัยก่อนเมืองพระนคร

1. ศิลปะแบบพนมดา ราว พ.ศ. 1100 – 1150

2. ศิลปะแบบสมโบร์ไพรกุก ราว พ.ศ. 1150 – 1200

3. ศิลปะแบบไพรกเมง ราว พ.ศ. 1180 – 1250

4. ศิลปะแบบกำพงพระ ราว พ.ศ. 1250 – 1350

ข. สมัยเมืองพระนคร

5. ศิลปะแบบกุเลน ราว พ.ศ. 1370 – 1420

6. ศิลปะแบบพระโค ราว พ.ศ. 1420 – 1440

7. ศิลปะแบบบาแค็ง ราว พ.ศ. 1440 – 1470

8. ศิลปะแบบเกาะแกร์ ราว พ.ศ. 1465 – 1490

9. ศิลปะแบบแปรรูป ราว พ.ศ. 1490 – 1510

10. ศิลปะแบบบันทายสรี ราว พ.ศ. 1510 – 1550

11. ศิลปะแบบคลัง (หรือเกลียง) ราว พ.ศ. 1550 – 1560

12. ศิลปะแบบบาปวน ราว พ.ศ. 1560 – 1630

13. ศิลปะแบบนครวัด ราว พ.ศ. 1650 – 1720

14. ศิลปะแบบบายน ราว พ.ศ. 1720 – 1780

อ้างอิง

แก้