เขาไกรลาส
เขาไกรลาส (ทิเบต: གངས་རིན་པོ་ཆེ; จีนตัวย่อ: 冈仁波齐峰; จีนตัวเต็ม: 岡仁波齊峰; สันสกฤต: कैलास, Kailāsa, ไกลาส) เป็นยอดเขาแห่งหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย ตั้งอยู่ในทิศตะวันตกของเขตปกครองตนเองทิเบต ทางตอนเหนือของยอดเขานันทาเทวีราว 100 ไมล์
เขาไกรลาส | |
---|---|
གངས་རིན་པོ་ཆེ (ทิเบต) | |
เขาไกรลาสมองทางเหนือ | |
จุดสูงสุด | |
พิกัด | 31°4′0″N 81°18′45″E / 31.06667°N 81.31250°E |
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ | |
ประเทศ | จีน |
เทือกเขา | Gangdisê Range |
การพิชิต | |
พิชิตครั้งแรก | ไม่มี (ปัจจุบันยังคงห้ามปีนขึ้นเขา) |
มีความสูง 6,638 เมตร (21,778 ฟุต) จัดว่าเป็นยอดเขาสูงเป็นอันดับที่ 32 ของโลก และสูงเป็นที่ 19 ในบรรดายอดเขาของเทือกเขาหิมาลัย เป็นยอดเขาที่มีอายุกำเนิดมาจนถึงปัจจุบัน 50 ล้านปี
ในศาสนาฮินดูเชื่อว่าเขาไกรลาสเป็นที่ประทับของพระศิวะและพระแม่ปารวตี ในศาสนาพุทธมีคัมภีร์สารัตถปกาสินีระบุว่าเขาไกรลาสเป็นเขาที่ประเสริฐสุดในบรรดาภูเขาในป่าหิมพานต์[1] และยังปรากฏในศาสนาเชนและศาสนาบอน
ตามความเชื่อของศาสนาต่าง ๆ เหล่านี้ เขาไกรลาสเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และเชื่อว่า คือแห่งเดียวกันกับเขาพระสุเมรุ
เชิงเขาไกรลาส เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสายของภูมิภาคแห่งนี้ ได้แก่ แม่น้ำคงคา แม่น้ำสินธุ และยังมีทะเลสาบอีก 7 แห่งอยู่รายรอบ ซึ่งแห่งที่สำคัญ คือ "ทะเลสาบมานสโรวระ" หรือ "ทะเลสาบมานัสสะ" อยู่ทางเหนือของเขาไกรลาส ที่เชื่อกันว่า คือ "สระอโนดาต" ในป่าหิมพานต์ เชื่อกันว่าเป็นสถาน ๆ ที่เป็นต้นกำเนิดของหงส์ และหงส์จะบินกลับมาที่นี่ทุกปี ทะเลสาบมานัส ได้ถูกอ้างอิงถึงในรามายณะและมหาภารตะ ที่ระบุว่า "ทะเลสาบมานัสอันศักดิ์สิทธิ์นี้ แม้แต่ใครได้ถูกต้องสัมผัสหรือนำเอามาล้างร่างกายหรือได้อาบน้ำในทะเลสาบนี้ ผู้นั้นจะได้ไปสู่สรวงสวรรค์ และถ้าใครได้ดื่มน้ำในทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์นี้ ก็จะได้ขึ้นไปอยู่ในสวรรค์ใกล้ที่สถิตของพระศิวะ"
เขาไกรลาส ปกติจะปกคลุมด้วยหิมะและน้ำแข็งสีขาวโพลน จนได้อีกชื่อหนึ่งว่า "ภูเขาสีเงิน" ("ไกรลาส" หรือ "ไกลาส" เป็นคำวิเศษณ์ในภาษาสันสกฤต แปลว่า "สีเงินยวง"[2]) ทุกปีจะมีผู้จาริกแสวงบุญตามศาสนาต่าง ๆ เดินทางมาที่นี่ โดยเชื่อว่าเป็นการบูชาและได้อยู่ใกล้พระศิวะ โดยทำการประทักษิณให้ครบ 39 รอบ เป็นการเคารพบูชาอันสูงสุด[3]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "อรรถกถานานาติตถิยสูตร". 84000.org.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ ไกรลาส น.ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542
- ↑ INDIA ความเร้นลับของปฐพีชมพูทวีป โดย ทีมงานต่วย'ตูน (สำนักพิมพ์ ซีเอ็ดยูเคชั่น พิมพ์รวมเล่ม ครั้งแรก : มิถุนายน 2551, 264 หน้า) ISBN 978-974-16-1960-3