พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2

กษัตริย์เขมร

สูรยวรรมันที่ 2[1] เอกสารไทยมักเรียก สุริยวรมันที่ 2 (เขมร: សូរ្យវរ្ម័នទី២ สูรฺยวรฺมันที ๒) สวรรคตแล้วได้พระนามว่า บรมวิษณุโลก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรพระนคร ครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 1113 ถึง ค.ศ. 1145/1150 และเป็นผู้สร้างนครวัดซึ่งเป็นศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งอุทิศให้กับพระวิษณุ สถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์ การสู้รบทางทหารหลายครั้งและการฟื้นฟูรัฐบาลให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ทำให้นักประวัติศาสตร์จัดให้พระเจ้าสูรยวรรมันที่ 2 เป็น 1 ในกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิ

พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
พระบาทบรมวิษณุโลก
รูปสลักสูรยวรรมันที่นครวัด
พระมหากษัตริย์พระนคร
ครองราชย์ค.ศ. 1113 – 1145/50
พระองค์ก่อนพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 1
พระองค์ถัดไปพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2
พระราชสมภพคริสต์ศตวรรษที่ 11
อาณาจักรพระนคร
สวรรคตค.ศ. 1145/1150
อาณาจักรพระนคร
พระมเหสีพระนางวิชเยนทรลักษมี
พระสมัญญานาม
พระบาทบรมวิษณุโลก
พระราชบิดาพระเจ้ากษิเตนทราทิตย์
พระราชมารดาพระนางนเรนทรลักษมี
ศาสนาศาสนาฮินดูนิกายไวษณพ

พระนาม

แก้

พระนาม "สูรยวรรมัน" แปลว่า ผู้มีพระอาทิตย์เป็นเกราะ หรือผู้มีสุริยเทพคุ้มครอง มาจากคำสันสกฤต สูรฺย แปลว่า พระอาทิตย์ + วรฺมัน แปลว่า ผู้มีเกราะ คำนี้เพี้ยนมาจาก สูรยวรรม และภายหลังเพี้ยนต่อเป็น สุริโยพรรณ เช่น ในพระนามของพระบรมราชาที่ 7 (พระศรีสุริโยพรรณ) และของนักองค์เอง (พระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ)[2]

พระนามหลังสวรรคต คือ "พระบาทกมรเตงอัญบรมวิษณุโลก" (វ្រះបាទកម្រតេងអញបរមវិឝ្ណុលោក วฺระบาทกมฺรเตงอญบรมวิศฺณุโลก)[1] พระนาม "บรมวิษณุโลก" นี้สื่อว่า ทรงเข้าถึงแล้วซึ่งพิภพอันยิ่งใหญ่ของพระวิษณุ คือ สรวงสวรรค์[3]: 118 

พระราชกำเนิด

แก้

สูรยวรรมันน่าจะเติบใหญ่ในชนบทช่วงที่จักรวรรดิเขมรกำลังเสื่อมการปกครองจากศูนย์กลาง จารึกอันหนึ่งระบุว่า พระบิดามีนามว่า กษิเตนทราทิตย์ (ក្សិតេន្ទ្រាទិត្យ กฺสิเตนฺทฺราทิตฺย) ส่วนพระมารดา คือ นเรนทรลักษมี (នរេន្ទ្រលក្ឝ្មី นเรนฺทฺรลกฺศฺมี)

ในฐานะเชื้อพระวงศ์วัยหนุ่ม สูรยวรรมันฝึกรบด้วยปรารถนาราชบัลลังก์ในวันหน้า ทรงปราบปรามผู้อื่นที่อ้างสิทธิในราชสมบัติเหมือนพระองค์ ในการนี้ น่าจะได้รบรากับเชื้อสายของหรรษวรรมันที่ 2 (ហស៌វរ្ម័នទី២ หรฺสวรฺมันที ๒) ที่ครองอำนาจอยู่ทางใต้ เช่น นฤบดีนทรวรรมัมที่ 2 (ន្ឫបតីន្ទ្រវម៌្មទី២ นฺฤบตีนฺทฺรวรฺมฺมที๒) แล้วน่าจะได้กระทำสงครามกับธรณินทรวรมันที่ 1 (ធរណីន្ទ្រវរ្ម័នទី១ ธรณีนฺทฺรวรฺมันที ๑) ผู้เป็นพระมหากษัตริย์เขมร จารึกพรรณนาว่า ทรงประหารศัตรูดังพญาครุฑประหารนาคราช[4] แต่นักประวัติศาสตร์ยังไม่ยุติว่า ศัตรูที่ถูกประหารนี้เป็นผู้ใด

เสวยราชย์

แก้

ราชาภิเษก

แก้

สูรยวรรมันขึ้นครองราชบัลลังก์จักรวรรดิเขมรสืบต่อจากธรณินทรวรมันที่ 1 ใน ค.ศ. 1113[5]: 159  พราหมณ์ผู้เฒ่านามว่า ทิวการบัณฑิต (Divakarapandita) เป็นประธานในการราชาภิเษก นับเป็นครั้งที่สามในประวัติศาสตร์เขมรที่นักบวชเป็นประธานพิธีนี้[6]

จารึกหลายหลักว่า ในการราชาภิเษก สูรยวรรมันจัดมหรสพ และพระราชทานทรัพย์นานัปการแก่ทิวการบัณฑิต เช่น เสลี่ยง พัชนี ศิราภรณ์ ธำมรงค์ และคนโท เสร็จพิธีแล้ว พราหมณ์เฒ่าผู้นี้เดินทางต่อไปยังศาสนสถานต่าง ๆ ในแว่นแคว้นของพระองค์ รวมถึงปราสาทพระวิหาร (ប្រាសាទព្រះវិហារ บฺราสาทพฺระวิหาร) บนเทือกเขาพนมดงรัก (ជួរភ្នំដងរែក ชัวรภฺนํฎงแรก) ที่ซึ่งเขาได้รับปฏิมากรรมทองคำรูปศิวนาฏราช[6]

ใน ค.ศ. 1119 สูรยวรรมันจัดราชาภิเษกอีกครั้ง เชิญทิวการบัณฑิตเป็นประธานในพิธีเช่นเดิม[6]

สงคราม

แก้

ตลอดรัชกาล สูรยวรรมันทรงรวบรวมจักรวรรดิที่แตกแยกเข้าเป็นหนึ่งอีกครั้ง เมืองขึ้นทั้งปวงส่งบรรณาการถวาย พระองค์ยังเปิดศึกกับชนชาติจามทางด้านตะวันออก แต่โดยมากแล้วทรงพ่ายแพ้[3]: 113–114 

จารึกของชาวจามและบันทึกของเวียดนามว่า สูรยวรรมันทำสงครามใหญ่กับรัฐของชาวเวียดนามที่เรียก ด่ายเวียต (Đại Việt) ถึงสามครั้ง แต่ไม่ชนะสักครั้ง บางครั้ง ทรงได้รับความสงเคราะห์จากชาวจาม สงครามครั้งแรกเกิดใน ค.ศ. 1128 สูรยวรรมันนำทหาร 20,000 นายบุกไปด่ายเวียต แต่แพ้ยับเยินจนต้องถอยกลับ ปีต่อมา ทรงส่งกองเรือกว่า 700 ลำไปตีชายฝั่งด่ายเวียต ครั้น ค.ศ. 1132 กองผสมเขมรจามบุกด่ายเวียตอีกครั้ง สงครามครั้งสุดท้ายมีใน ค.ศ. 1138 เขมรพ่ายแพ้ดังเคย ภายหลัง อินทรวรรมันที่ 3 (ឥន្ទ្រវរ្ម័នទី៣ อินฺทฺรวรฺมันที ๓) พระมหากษัตริย์จาม ทรงเป็นไมตรีกับด่ายเวียต จามจึงเลิกสนับสนุนเขมร ฉะนั้น ใน ค.ศ. 1145 สูรยวรรมันจึงหันไปตีจามแทน จามแพ้ เขมรปล้นเอาราชธานี คือ เมืองวิชัย ได้[7]: 75–76  สูรยวรรมันตั้งน้องเขย คือ หริเทวะ (Harideva) ให้เป็นพระมหากษัตริย์จามพระองค์ใหม่ แต่ต่อมา ชาวจามยึดเมืองวิชัยคืนได้ แล้วประหารหริเทวะเสีย[8] การสงครามระหว่างชนชาติเหล่านี้มีขึ้นครั้งสุดท้ายใน ค.ศ. 1150 ผลลัพธ์ คือ เขมรพ่ายหนีกลับบ้านเมือง[5]: 159–160 

การทูต

แก้

เมื่อเข้าสู่พระราชสมบัติแล้ว สูรยวรรมันส่งเพชรนิลจินดาไปถวายกุโลตตุงคะที่ 1 (Kulothunga I) พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์โจฬะทางอินเดียใต้ ใน ค.ศ. 1114[9]

สูรยวรรมันยังสานไมตรีกับประเทศจีน โดยสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการขึ้นใน ค.ศ. 1116 จดหมายเหตุจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ว่า ปีนั้น เขมรส่งทูต 14 คนไปจีน ทูตเหล่านี้พอไปถึงราชสำนักแล้วได้รับชุดขุนนางพิเศษ คณะทูตกลับคืนเขมรในปีถัดมา ครั้น ค.ศ. 1120 เขมรส่งทูตไปจีนอีกครั้ง และใน ค.ศ. 1128 ราชสำนักจีนมอบบรรดาศักดิ์สูงส่งแก่สูรยวรรมัน โดยถือว่า เป็นเจ้าเมืองขึ้นอันยิ่งใหญ่ของจีน ครั้งนี้ยังได้เจรจาปัญหาทางการค้ากันจนลุล่วง[5]: 159, 162 [10]

สถาปัตยกรรม

แก้
 
รูปสลักสูรยวรรมันที่นครวัด

รัชกาลสูรยวรรมันบังเกิดความก้าวหน้าทางศิลปะและสถาปัตยกรรมอย่างยิ่ง สูรยวรรมันทรงถือไวษณพนิกาย (ถือพระวิษณุเป็นใหญ่) ต่างจากพระมหากษัตริย์เขมรพระองค์อื่น ๆ ที่ถือไศวนิกาย (ถือพระศิวะเป็นใหญ่) พระองค์จึงสร้างนครวัดถวายพระวิษณุ[11]: 372, 378–379  แต่นครวัดมาสำเร็จเอาเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว

สูรยวรรมันเป็นพระมหากษัตริย์เขมรพระองค์แรกที่ปรากฏโฉมในงานศิลปะ เช่น ที่นครวัดมีรูปสลักนูนต่ำของพระองค์ประทับนั่งบนราชอาสน์ สวมเครื่องทรงต่าง ๆ เช่น ศิราภรณ์ ต่างหู กำไลแขน กำไลเท้า สังวาลย์ ฯลฯ หัตถ์ขวาถือซากงู รายล้อมด้วยบริพารถือพัชนี แส้ และฉัตร ทั้งมีพราหมณ์ที่ดูเหมือนกำลังเตรียมพิธีอยู่ใกล้ ๆ และเหมือนกำลังประทับอยู่กลางป่า

พระองค์ยังสร้างเทวสถานอื่น ๆ เช่น ปราสาทบันทายสำเหร่ (ប្រាសាទបន្ទាយសំរែ บฺราสาทบนฺทายสํแร), ปราสาทธรรมนันท์ (ប្រាសាទធម្មនន្ទ บฺราสาทธมฺมนนฺท), ปราสาทเจ้าสายเทวดา (ប្រាសាទចៅសាយទេវតា บฺราสาทเจาสายเทวตา), และปราสาทบึงมาลา (ប្រាសាទបឹងមាលា บฺราสาทบึงมาลา)

สวรรคต

แก้

สูรยวรรมันเสกสมรสกับสตรีซึ่งไม่มีบันทึกนามเอาไว้ จารึกระบุว่า พระองค์สวรรคตในระหว่าง ค.ศ. 1145–50 ซึ่งน่าจะในระหว่างทำสงครามกับชาวจาม[3]: 120  จากนั้น สูรยวรรมันทรงได้รับเฉลิมพระนามว่า "บรมวิษณุโลก"[3]: 118 

เมื่อสิ้นพระองค์แล้ว เชื้อพระวงศ์ของพระองค์ คือ ธรณินทรวรรมันที่ 2 (ធរណីន្ទ្រវរ្ម័នទី២ ธรณีนฺทฺรวรฺมันที ๒) สืบราชสมบัติต่อ บ้านเมืองเขมรกลับสู่ความอ่อนแออีกครั้ง[3]: 120 

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2549. p. 929. ISBN 9749528476.
  2. ประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 12. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร. 2549. p. 71. ISBN 9749528476.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Higham, C., 2001, The Civilization of Angkor, London: Weidenfeld & Nicolson, ISBN 9781842125847
  4. Briggs, "The Ancient Khmer Empire," p. 187.
  5. 5.0 5.1 5.2 Coedès, George (1968). Walter F. Vella (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. trans.Susan Brown Cowing. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
  6. 6.0 6.1 6.2 Higham, "The Civilization of Angkor," p. 113.
  7. Maspero, G., 2002, The Champa Kingdom, Bangkok: White Lotus Co., Ltd., ISBN 9747534991
  8. Briggs, "The Ancient Khmer Empire," p. 192.
  9. A History of India Hermann Kulke, Dietmar Rothermund: p.125
  10. Briggs, "The Ancient Khmer Empire," p. 189.
  11. Higham, C., 2014, Early Mainland Southeast Asia, Bangkok: River Books Co., Ltd., ISBN 9786167339443

บรรณานุกรม

แก้
  • Briggs, Lawrence Palmer. The Ancient Khmer Empire. Transactions of the American Philosophical Society, Volume 41, Part 1. 1951
  • Vickery, Michael, The Reign of Suryavarman I and Royal Factionalism at Angkor. Journal of Southeast Asian Studies, 16 (1985) 2: 226-244.
ก่อนหน้า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถัดไป
ธรณีนทรวรรมันที่ 1    
พระมหากษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร
(ค.ศ. 1113–1145/50)
  ธรณีนทรวรรมันที่ 2