ชาวจาม
จาม (จาม: ꨂꨣꩃ ꨌꩌꨛꨩ, Urang Campa, อูรัง จัมปา[4]; เวียดนาม: người Chăm, เหงื่อยจัม; người Chàm, เหงื่อยจ่าม; เขมร: ជនជាតិចាម) จัดอยู่ในตระกูลภาษามาลาโยโพลินีเชียน อาศัยอยู่บริเวณทางใต้ของเวียดนาม และเป็นกลุ่มชนมุสลิมเป็น 1 ใน 54 ชาติพันธุ์ของประเทศเวียดนาม
ꨂꨣꩃ ꨌꩌꨛꨩ Urang Campa | |
---|---|
การเต้นระบำจาม ที่วัดแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศเวียดนาม | |
ประชากรทั้งหมด | |
~500,000 คน | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
กัมพูชา | 317,000[1] |
เวียดนาม | 127,000[2] |
ลาว | 15,000[2] |
มาเลเซีย | 10,000 |
ไทย | 4,000 |
สหรัฐ | 3,000 |
ฝรั่งเศส | 1,000 |
ภาษา | |
จาม, มลายู, เขมร, เวียดนาม, ทมิฬ | |
ศาสนา | |
ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามซุนนี ส่วนน้อยนับถือศาสนาฮินดู[3] และพุทธศาสนา |
ในอดีตชนชาติจามตั้งอาณาจักรจามปาที่ยิ่งใหญ่ มีความเจริญรุ่งเรืองช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 2–15 ด้วยอาณาเขตติดทะเล ชาวจามจึงมีความสามารถเดินเรือและค้าขายไปตามหมู่เกาะ ไกลถึงแถบตะวันออกกลาง รวมถึงประเทศจีน ส่วนใหญ่เป็นผ้าไหม ไม้หอม เครื่องปั้นดินเผา ปัจจุบันคือบริเวณเมืองดานัง เมืองท่าในตอนกลางของเวียดนาม มีเมืองหลวงชื่อ วิชัย (ปัจจุบันคือเมืองบิญดิ่ญ) มีโบราณสถานกระจัดกระจายอยู่ตามภูเขาต่าง ๆ ในเวียดนาม
กระทั่งในปี ค.ศ. 1471 อาณาจักรจามปาสู้รบกับชนชาติเวียดนามเดิม ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ทำให้อาณาจักรจามปาล่มสลาย ชาวจามส่วนใหญ่ต้องอพยพลงไปใต้ปัจจุบันมีชาวจามอาศัยอยู่ทางตอนกลางของเวียดนาม ที่เมืองนิงห์ถ่วง เมืองบินห์ถ่วง เตยนินห์ โฮจิมินห์ ส่วนทางใต้จะอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่เมืองอันยาง
ประวัติศาสตร์
แก้ชาวจามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมใกล้เคียงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยในอดีตชาวจามได้ก่อตั้งอาณาจักรจามปา ซึ่งในอดีตพื้นที่ของอาณาจักรจะครอบคลุมเมืองเว้ กว่างนาม ถัวเถียน ฟานซาง และญาจาง ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน
ราว พ.ศ. 989 กองทัพจีนยกทัพมาตีราชธานีวิชัย (เมืองบิญดิ่ญในปัจจุบัน) ได้สำเร็จช่วงนี้ชาวจีนที่มีชื่อ หม่าตวนหลิน (馬端臨) เข้ามาบันทึกเรื่องชาวหลินอี้ (ชาวจาม) ความว่า
...สร้างบ้านด้วยอิฐฉาบปูน หญิงและชายมีผ้าฝ้ายผืนเดียวห่อหุ้มร่างกาย ชอบเจาะหูและห้อยห่วงเล็ก ผู้ดีใส่รองเท้าหนัง ไพร่เดินเท้าเปล่า พระราชาสวมพระมาลาทรงสูง ทรงช้าง และล้อมรอบด้วยบริพารถือธงและกลดกั้น
— หม่าตวนหลิน
อาณาจักรจามปา รุ่งเรืองสูงสุดช่วงพุทธศตวรรษที่ 14–15 แต่ช่วงปลายต้องกรำศึกสงครามกับอาณาจักรไดเวียดทางทิศเหนือ และอาณาจักรขอมโบราณกระหนาบทางทิศใต้อย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 1688 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ที่สร้างนครวัด เข้ายึดครองเมืองหลวงได้ ต่อมา ชาวจามปารวมตัวกันติด จัดกองทัพยกมาตีเอาเมืองเมืองหลวงคืนได้ พ.ศ. 1692
ใน พ.ศ. 1720 กองทัพเรือจามปายังยกพลขึ้นบกเข้าโจมตีและปล้นสะดม เผาทำลายเมืองพระนครเสียหายยับเยิน อำนาจอาณาจักรนครหลวงเสื่อมไประยะหนึ่ง จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724–1763?) พระองค์ได้กระทำสงครามปราบกษัตริย์จามปาสำเร็จ โดยปรากฏมีภาพสลักยุทธนาวีกับกองทัพจาม ณ ปราสาทนครธมด้วย โดยได้ผนวกอาณาจักรจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมโบราณถัดจากพระองค์นี้ อาณาจักรก็อ่อนแอลงเรื่อยมา
แม้ชาวอาณาจักรจามปาพยายามรวมตัวถือโอกาสปลดแอกจากอาณาจักรขอมได้สำเร็จ แต่ต่อมาก็ถูกอาณาจักรไดเวียด พ.ศ. 2014 กษัตริย์เลถั่นตองแห่งไดเวียดส่งทัพตีเมืองหลวงวิชัย ยึดสำเร็จ กระทั่ง พ.ศ. 2375 สมเด็จพระจักรพรรดิมิงห์หม่างจึงได้ผนวกดินแดนส่วนที่เหลือของจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม และกลืนชาวจามจนกลายเป็นชนกลุ่มน้อย
ระหว่างสงครามทำลายล้างชาวจามของขอม และไดเวียดนั้น ชาวจามบางส่วนอพยพเข้าสู่ดินแดนสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199–2231) จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้มีผู้อพยพชาวจามเข้ามามากที่สุดอีกช่วงหนึ่ง คือเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองกัมพูชาเมื่อกว่า 100 ปีก่อน โดยได้บีบบังคับห้ามนับถือศาสนาอิสลาม ชาวจามจึงเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย[ต้องการอ้างอิง]
วัฒนธรรม
แก้วัฒนธรรมของอาณาจักรจามปานั้น ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งไศวนิกายมาตั้งแต่ต้น ศาสนาพุทธนิกายมหายานมีอิทธิพลเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 แต่หลังจากนั้นศาสนาฮินดูก็กลับมาเป็นศาสนาหลักอีกครั้ง
ส่วนศาสนาอิสลามเริ่มเข้าสู่อาณาจักรจามในพุทธศตวรรษที่ 15 จากการค้าขายกับชาวอาหรับ แต่ก็ไม่แพร่หลายมากนัก ศาสนาฮินดูยังคงเป็นศาสนาหลักอยู่ แต่ต่อมาหลังจากที่อาณาจักรจามแพ้เวียดนามในปี พ.ศ. 2014 ศาสนาอิสลามก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้น จนกระทั่งในราวพุทธศตวรรษที่ 22 ราชวงศ์ของกษัตริย์แห่งจามปาก็ยอมรับนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งก็ยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปนับถือศาสนาอิสลามมากขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบันนี้ แม้ว่าคนที่สืบเชื้อสายจามส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม แต่ทว่าอิทธิพลของวัฒนธรรมฮินดูนั้นก็ยังคงมีอยู่กับชาวจามอยู่ค่อนข้างมาก[5]
ศาสนา
แก้ชาวจามในอดีตนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและพุทธมหายานได้ปรากฏในโบราณสถานต่าง ๆ ของชาวจาม แต่ต่อมาชาวมลายูได้มาเผยแพร่ศาสนาอิสลามแก่ชาวจาม โดยชาวจามที่แบ่งตามศาสนาสามารถแยกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่[6]
- จามยัต หรือ จามฮารัต เป็นจามที่บริสุทธิ์ หรือจามดั้งเดิม ที่ยังไม่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หรือศาสนาอิสลาม จามกลุ่มนี้เชื่อในเรื่องของเทวดานับถือเทพดิน น้ำ แม่น้ำ ต้นไม้ เมื่อเสียชีวิตจะใช้วิธีฝังศพ ปัจจุบันจามกลุ่มนี้เหลือเพียงไม่ถึง 2,000 คน อยู่ที่เมืองนิงห์ถ่วง
- จามอาฮิเออร์ จามที่ยังไม่ได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม แต่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไม่กินเนื้อวัว เมื่อเสียชีวิตจะทำการเผาศพ บูชาเทวดา พระศิวะ จามกลุ่มนี้ปัจจุบันอยู่ที่เมืองนิงห์ถ่วง และบินห์ถ่วง
- จามเอาวัล หรือ บีนี หรือ บานี จามที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเป็นกลุ่มแรก อาศัยอยู่ที่เมือนิงห์ถ่วง มีทั้งสิ้น 40,000 คน แต่เป็นจามมุสลิมที่ต่างจากชาวมุสลิมทั่วโลก เพราะมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง จะนับถือศาสนาอิสลาม คู่ไปกับการนับถือบรรพบุรุษดั้งเดิม โดยพวกเขานับถือและบูชาพระอัลเลาะห์ เทวดา และบรรพบุรุษ แต่จะไม่ท่องจำคัมภีร์อัลกุรอ่าน ไม่สวด ไม่ละหมาด ไม่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน มัสยิดจะเปิดเฉพาะในเดือนรอมฎอนเท่านั้น และไม่มีความสัมพันธ์กับมุสลิมทั่วโลก
- จามอาซูแลม ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามโดยตรง อาศัยอยู่มากที่เมืองอันยาง เมืองยางไซยอ เมืองเตยนินห์ เมืองนิงห์ถ่วง มีประมาณ 25,000 คน กลุ่มนี้ปฏิบัติตนเคร่งครัดตามหลักศาสนาอิสลาม ละหมาดวันละ 5 ครั้ง ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน บริจาครายได้ (ซะกาต) แสวงบุญที่เมืองเมกกะ และมีความสัมพันธ์กับมุสลิมทั่วโลก
ชาวจามในไทย
แก้แขกจามในไทยสะสมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวจามเหล่านี้น่าจะถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนของตัวเอง (เวียดนามปัจจุบัน) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในปริมณฑลของนครธม จนเมื่อถูกเจ้าสามพระยาโจมตีจึงเริ่มถูกกวาดต้อนมาอยู่อยุธยา ในช่วงสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่สอง ชุมชนชาวจามนี้ก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งในการสู้รบกับการรุกรานของพม่าด้วย แต่ภายหลังการหลังเสียกรุง ชาวจามที่เหลือรอดได้เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านครัว ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี มีการรุกรานเขมรและกวาดต้อนครัวจามมาเพิ่มเติมที่บ้านครัวเพิ่มอีก
ในสงคราม 9 ทัพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการเกณฑ์เชลยศึกกองทัพอาสาจามไปต่อสู้กับพม่าจนได้รับชนะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินผืนหนึ่ง เพื่อให้ทำมาหากินอยู่รวมกันเป็นหมู่นอกเขตพระนคร โดยมีต้นไม้ใหญ่เป็นแนวเขต และมีร่องน้ำลำกระโดงตามธรรมชาติไหลผ่านริมคลองมหานาคและคลองแสนแสบ คือชุมชนบ้านครัว เขตปทุมวันในปัจจุบัน[7]
หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนเกี่ยวกับชาวจามตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ที่บ้านครัวเป็นแหล่งที่อยู่ ของขุนนางและทหารเรือของกรมอาสาจาม ภายใต้การนำของ พระยาราชวังสัน (บัว) ชาวบ้านครัวมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง หญิงชาวจามมีความชำนาญในเรื่องการทอผ้าไหมมาก หญิงบ้านครัวจึงทอผ้าเป็นหัตถกรรมในระยะแรก เพราะตามประเพณีดั้งเดิมของชาวจามจะทอผ้าเอาไว้ใช้เองในครอบครัว [8]
อีกกลุ่มหนึ่ง ลงเรือมาขึ้นปากอ่าวลำคลองท่าตะเภา และปากอ่าวคลองน้ำเชี่ยว อยู่ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด อีกกลุ่มขึ้นปากน้ำระยอง และกลุ่มที่สามไปถึงกรุงเทพฯ กลุ่มนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินให้อยู่ที่บ้านครัว เขตปทุมวัน มาจนทุกวันนี้
ชาวจามที่มีชื่อเสียง
แก้- พระเจ้าเชบองงา - กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรจามปา
- เช ลินห์ (Che Linh) - นักร้อง
- อาหมัด โทนี่ (Ahmad Tony) - นักกีฬาสกูตเตอร์
- ชอนนี จามี (Seany Chamy) - นักแสดงวัยรุ่นของสิงคโปร์
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ "Western Cham in Cambodia". The Joshua Project.
- ↑ 2.0 2.1 "Cambodia's Muslim Western Cham People". 30-Days Prayer Network. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2009.
- ↑ "Cham". Minority rights Group. 19 มิถุนายน 2015.
- ↑ Andaya, Leonard Y. (2008). Leaves of the same tree: trade and ethnicity in the Straits of Melaka. University of Hawaii Press. p. 44. ISBN 978-0-8248-3189-9.
- ↑ Plin. "เวียดนาม (17) : พิพิธภัณฑ์ประติมากรรมจาม เมืองดานัง". exteen.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มีนาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2009.
- ↑ ใหม่มณี รักษาพรมราช (6 กุมภาพันธ์ 2016). "บรรยายสาธารณะ : คนจามที่เจ๊าดก เวียดนามกับการปรับตัวในโลกสมัยใหม่". มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2022. สืบค้นเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2022.
- ↑ "ชุมชนบ้านครัวเหนือ". thaifolk.com. 17 ธันวาคม 2002.
- ↑ "ชุมชนบ้านครัว". reurnthai.com.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- "Cham people". Britannica.
- "Research on Champa and its Evolution" (PDF). Proceedings of the Seminar on Champa. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 12 พฤษภาคม 2005.
- Danny Wong Tze Ken (มีนาคม 2004). "Vietnam-Champa Relations and the Malay-Islam Regional Network in the 17th–19th Centuries". Kyoto Review of Southeast Asia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มิถุนายน 2004.
- "Chamstudies". a new site on Chams.
- "Radio Sapcham". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 ธันวาคม 2009.