พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (เขมร: ជ័យវរ្ម័នទី៧) เป็นกษัตริย์แห่งจักรวรรดิเขมร พระองค์เป็นพระราชโอรสของ พระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 และพระนาง ศรี ชัยราชจุฑามณี[2] พระองค์เป็นกษัตริย์องค์แรกที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงโปรดให้สร้าง บายน ถวายเป็นพุทธบูชา พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โดยทั่วไปถือว่าพระองค์เป็นกษัตริย์เขมรที่มีพระราชอำนาจมากที่สุดโดยนักประวัติศาสตร์[3] พระองค์มีโครงการมากมาย ทั้งโรงพยาบาล ทางหลวง ที่พักและวัด โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นแรงผลักดัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้รับการยกย่องในการสร้างรัฐสวัสดิการที่ตอบสนองความต้องการของชาวเขมร[4]
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 | |||||
---|---|---|---|---|---|
![]() ส่วนพระเศียรของประติมากรรมเทวรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ณ พิพิธภัณฑ์ กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส | |||||
พระเจ้าแห่งพระนครศรียโศธระปุระ | |||||
ครองราชย์ | ค.ศ. 1181-1218 (พ.ศ. 1724 - 1761) | ||||
ราชาภิเษก | ค.ศ. 1182[1] | ||||
ก่อนหน้า | ยโศวรมันที่ 2 | ||||
ถัดไป | อินทรวรมันที่ 2 | ||||
มเหสี | อินทรเทวี ชัยราชเทวี | ||||
พระราชบุตร | สุขรมหาเทวี (พระอัครมเหสีในพ่อขุนผาเมือง) | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ราชวงศ์วรมัน สายราชสกุลมหิธรปุระ | ||||
พระราชบิดา | ธรณินทรวรมันที่ 2 | ||||
พระราชมารดา | ศรีชัยราชจุฑามณี | ||||
ประสูติ | ค.ศ. 1122 เมืองพระนคร, จักรวรรดิเขมร | ||||
สวรรคต | ค.ศ. 1218 (อายุ 95–96) ยโศธรปุระ, จักรวรรดิเขมร | ||||
ศาสนา | มหายานแบบเขมร แต่ก่อน ฮินดูไศวะนิกาย |
พระราชประวัติแก้ไข
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าธรณินทรวรมันที่ 2 ประสูติเมื่อประมาณ พ.ศ. 1663 หรือ พ.ศ. 1668 พระนามเดิมคือเจ้าชายวรมัน ทรงเสกสมรสตั้งแต่ทรงพระเยาว์กับเจ้าหญิงชัยราชเทวี สตรีที่มีบทบาทและอิทธิพลสำคัญที่สุดเหนือพระองค์ รวมทั้งโน้มนำให้พระองค์หันมานับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน
ราว พ.ศ. 1720 – 1721 พระเจ้าชัยอินทรวรมันแห่งอาณาจักรจามปา ทรงนำทัพจามบุกเข้าโจมตียโศธรปุระ กองทัพเรือจามบุกเข้าถึงโตนเลสาบ เผาเมือง และปล้นสะดมสมบัติกลับไปเป็นจำนวนมาก รวมทั้งจับพระเจ้าตรีภูวนาทิตวรมันประหารชีวิต เชื่อกันว่า การรุกรานเมืองยโศธรปุระครั้งนั้น เจ้าชายวรมันได้วางเฉยยอมให้เมืองแตก จากนั้นพระองค์จึงกู้แผ่นดินขึ้นมาใหม่ โดยนำทัพสู้กับพวกจามนานถึง 4 ปี จนสามารถพิชิตกองเรือจามผู้เชี่ยวชาญการเดินเรือได้อย่างราบคาบ ในยุทธการทางเรือที่โตนเลสาบ
พ.ศ. 1724 ยโศธปุระกลับสู่ความสงบ พระองค์ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พร้อมกับบูรณปฏิสังขรณ์ราชธานีขึ้นมาใหม่ รู้จักกันในชื่อ “เมืองพระนคร” หรือ “นครธม” หรือ “นครใหญ่” และย้ายศูนย์กลางของราชธานีจากปราสาทปาปวนในลัทธิไศวนิกาย มายังปราสาทบายนที่สร้างขึ้นใหม่ ให้เป็นศาสนสถานในลัทธิมหายานแทน จากนั้นมา ศูนย์กลางแห่งอาณาจักรเขมรโบราณก็คือ ปราสาทบายน หรือนครธม
พระองค์ทรงสถาปนาคติ “พระพุทธเจ้าที่ยังมีชีวิต” หรือ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรขึ้นมา ซึ่งหมายถึงตัวพระองค์เอง คือพระโพธิสัตว์ที่เกิดมาเพื่อปัดเป่าทุกข์ภัยให้แก่ราษฎร ภาพสลักรูปใบหน้าที่ปรากฏตามปรางค์ในหลายปราสาทที่ทรงสร้างขึ้น เชื่อว่าคือใบหน้าของพระองค์ในภาคพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรนั่นเอง
หลังจากสถาปนาศูนย์กลางอาณาจักรแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงทรงแก้แค้นศัตรูเก่าคืออาณาจักรจามปา ใน พ.ศ. 1733 กองทัพของพระองค์ก็สามารถยึดเมืองวิชัยยะ เมืองหลวงของจามปาได้ นอกเหนือจากการสงครามแล้ว พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้สร้างพุทธสถานไว้มากมาย เช่น ปราสาทบันทายคดี ปราสาทตาพรม ที่สร้างถวายพระมารดา ปราสาทพระขรรค์ สร้างถวายพระบิดา ปราสาทตาโสม ปราสาทนาคพัน ปราสาทบันทายฉมาร์ ในเขตประเทศไทยปัจจุบัน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นผู้บูรณะปราสาทหินพิมายซึ่งสันนิษฐานเป็นเมืองเกิดของพระมารดา และปราสาทเขาพนมรุ้ง ให้เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และยังมีอาณาจักรละโว้ เมืองศรีเทพ อีกด้วย
นอกจากนี้ พระองค์ยังโปรดให้สร้าง “บ้านมีไฟ” หรือที่พักคนเดินทาง ซึ่งก่อด้วยศิลา และจุดไฟไว้ตลอด ศาสตราจารย์ หลุยส์ ฟิโนต์ ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ เรียกอาคารแบบนี้ว่า “ธรรมศาลา”
จารึกที่ปราสาทพระขรรค์ กล่าวถึงที่พักคนเดินทางว่ามีจำนวน 121 แห่ง อยู่ตามทางเดินทั่วราชอาณาจักร และตามทางเดินไปเมืองต่าง ๆ ในจำนวนนั้น มี 17 แห่งอยู่ระหว่างการเดินจากเมืองพระนครไปยังเมืองพิมาย ซึ่งศาสตรจารย์ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล พบว่าที่พักคนเดินทางเท่าที่ค้นพบแล้วมี 7 แห่ง แต่ละแห่งห่างกันประมาณ 12 – 15 กิโลเมตร จารึกปราสาทพระขรรค์ระบุอีกว่า มีการสร้างโรงพยาบาล หรือที่จารึกเรียกว่า “อโรคยาศาลา” จำนวน 102 แห่ง กระจายอยู่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีส่วนหนึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เสด็จสวรรคตประมาณปี พ.ศ. 1758 หรือ พ.ศ. 1762 เชื่อกันว่ามีพระชนมพรรษายืนยาวถึง 94 ปี ด้วยฉลองพระนามหลังสวรรคตว่า “มหาบรมสุคตะ” หมายความว่า พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่
นครธมแก้ไข
นครธม (เขมร: អង្គរធំ) เป็นเมืองหลวงแห่งสุดท้ายและเมืองที่เข้มแข็งที่สุดของอาณาจักรขะแมร์ สถาปนาขึ้นในปลายคริสต์ศวรรษที่ 12 โดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ 9 ตารางกิโลเมตร อยู่ทางทิศเหนือของ นครวัด ภายในเมืองมีสิ่งก่อสร้างมากมายนับแต่สมัยแรก ๆ และที่สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และรัชทายาท ใจกลางพระนครเป็นปราสาทหลักของพระเจ้าชัยวรมัน เรียกว่า ปราสาทบายน และมีพื้นที่สำคัญอื่น ๆ รายล้อมพื้นที่ชัยภูมิถัดไปทางเหนือ
จุดเด่นที่สุดคือทางเข้าด้านใต้ ที่มีลักษณะเป็นหน้า 4 หน้า ก่อนจะเข้าสู่บริเวณนี้ จะเป็นแถวของยักษ์ (อสูร) ทางด้านขวา และเทวดาทางด้านซ้าย เรียงรายแบกพญานาคอยู่สองข้างสะพาน เมื่อเข้าสู่ใจกลางนครธมจะพบสิ่งก่อสร้างต่างๆ บริเวณประตูด้านใต้นี้ได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูไว้ได้ดีกว่าบริเวณอื่น ๆ อีก 3 ด้าน
อ้างอิงแก้ไข
- Jean Boiselier: Refléxions sur l'art du Jayavarman VII., BSEI (Paris), 27 (1952) 3: 261-273.
- Georges Coedès: Un grand roi de Cambodge - Jayavarman VII., Phnom Penh 1935.
- Georges Coedès: Les hôpitaux de Jayavarman VII., BEFEO (Paris), 40 (1940): 344-347.
- Louis Finot: Lokésvara en Indochine, Paris: EFEO, 1925.
- Paul Mus: Angkor at the Time of Jayavarman VII., Bulletin de Société des Études Indochinoises (Paris), 27 (1952) 3: 261-273.
- Jan Myrdal/Gun Kessle: Angkor - An Essay on Art and Imperialism, New York 1970.
- Philippe Stern: Les monuments du style de Bayon et Jayavarman VII., Paris 1965.
หมายเหตุแก้ไข
- ↑ Chandler, David (2008). A History of Cambodia. ISBN 978078673-3156.
- ↑ Coedès, George (1968). Vella, Walter F. (บ.ก.). The Indianized States of Southeast Asia. แปลโดย Brown Cowing, Susan. University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-0368-1.
- ↑ "ការគ្រងរាជ្យរបស់ព្រះបាទជ័យវរ្ម័នទី៧ (ភាគ១៦)" (ภาษาเขมร). Radio Free Asia. 4 June 2014. สืบค้นเมื่อ 4 June 2014.
- ↑ Reynolds, F. E. (n.d.). Jayavarman VII. Britannica. Retrieved March 24, 2022, from https://www.britannica.com/biography/Jayavarman-VII
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ก่อนหน้า | พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
พระเจ้าตรีภูวนาทิตยวรมัน | พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (จักรวรรดิเขมร ) (พ.ศ. 1724 - พ.ศ. 1762) |
พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 |
บทความเกี่ยวกับชีวประวัตินี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |