สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ
สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ (พ.ศ. 2316–2340) หรือ นักองค์เอง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 105 แห่งกัมพูชา
สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ | |||||
---|---|---|---|---|---|
สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ | |||||
พระมหากษัตริย์กัมพูชา | |||||
ครองราชย์ | พ.ศ. 2337–2339 | ||||
รัชกาลก่อนหน้า | สมเด็จพระรามราชาธิราช | ||||
รัชกาลถัดไป | สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี | ||||
ประสูติ | พ.ศ. 2316 กัมพูชา | ||||
สวรรคต | พ.ศ. 2339 | ||||
พระราชบุตร | นักองค์จัน นักองค์พิมพ์ นักองค์สงวน นักองค์อิ่ม นักองค์ด้วง | ||||
| |||||
ราชวงศ์ | ตรอซ็อกผแอม | ||||
พระราชบิดา | พระนารายน์ราชารามาธิบดี | ||||
พระราชมารดา | นักนางไชย |
พระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2316 ตรงกับในสมัยกรุงธนบุรี ทรงครองราชย์ขณะมีพระชนมายุเพียง 4 พรรษา ทรงราชาภิเษกเมื่อปี พ.ศ. 2337 และเสด็จสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. 2340 หลังจากที่พระองค์ลี้ภัยในกรุงเทพฯ นาน 11 ปี
พระราชประวัติ
แก้พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระนารายน์ราชารามาธิบดีหรือนักองค์ตน พระมารดาคือนักนางไชย ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2316 พระบิดาของพระองค์ดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบนิยมเวียดนาม และขอกำลังทหารเวียดนามมาช่วยเมื่อเกิดความขัดแย้งกับไทย แต่เมื่อถีงปลายรัชกาล เวียดนามอ่อนแอลง นักองค์ตนจึงยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าตากสินมหาราช และมอบราชสมบัติให้นักองค์โนน ซึ่งนิยมไทยและพระเจ้าตากสินทรงให้การสนับสนุน พระบิดาของนักองค์เองทรงดำรงตำแหน่งอุปราชจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2320 ขณะนั้น นักองค์เองมีพระชนม์เพียง 4 พรรษา
ต่อมาใน พ.ศ. 2322 เกิดจลาจลในกัมพูชาเมื่อขุนนางไม่พอใจสมเด็จพระรามราชาหรือนักองค์โนน ผลสุดท้าย นักองค์โนนและพระโอรสถูกจับประหารชีวิต เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ได้ยกนักองค์เองขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2323 ขณะมีพระชนม์ได้ 7 พรรษา ใน พ.ศ. 2325 ออกญายมราช (แบน) ร่วมกับออกญากลาโหม (สู) ฆ่าเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) เสีย แต่ภายหลังเกิดแตกคอกันเอง ออกญายมราช (แบน) จึงฆ่าออกญากลาโหม (สู) เสีย แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ ต่อมา ใน พ.ศ. 2326 เจ้าฟ้าทะละหะ (แบน) แพ้ออกญามหาเทพเจ้าเมืองตโบงฆนุมที่นำทัพชาวจามเข้ามาตีพนมเปญ[1] จึงพานักองค์เองหนีมากรุงเทพฯ ขณะที่พระชนม์ได้ 10 พรรษา ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดรับนักองค์เองเป็นราชบุตรบุญธรรม ให้สร้างตำหนักถวายที่ตำบลคอกกระบือ ส่วนออกญายมราช (แบน) ได้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์
ในขณะที่นักองค์เองลี้ภัยอยู่ที่กรุงเทพฯ เวียดนามเข้าไปมีอำนาจในกัมพูชา จัดให้ขุนนางเวียดนามมาปกครอง รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร ที่พระตะบอง รบกับเวียดนามจนได้รับชัยชนะ ตั้งเมืองหลวงที่เมืองอุดงค์มีชัยหรือเมืองบันทายเพชรได้ใน พ.ศ. 2333 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่องเชียงสือปราบกบฏไตเซินสำเร็จ
ต่อมาใน พ.ศ. 2337 รัชกาลที่ 1 โปรดให้นักองค์เองผนวช เมื่อลาสิกขาแล้วจึงให้ออกไปครองกรุงกัมพูชา เฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนาถบพิตร เจ้ากรุงกัมพูชา"[1]โดยให้ออกญากลาโหม (ปก) พระพี่เลี้ยงเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) ส่วนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ให้ครองพระตะบองและเสียมราฐขึ้นตรงต่อสยาม การขึ้นครองราชย์อีกครั้งของนักองค์เองทำให้ชาวกัมพูชาปลาบปลื้มหลังจากว่างกษัตริย์มานาน พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวัง เชิญเชื้อพระวงศ์กัมพูชาที่อยู่ในกรุงเทพฯให้กลับออกไป และจัดระบบราชการให้เรียบร้อย แต่พระองค์ครองราชย์ได้ไม่นาน ประชวรสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2339 รวมพระชนม์เพียง 23 พรรษา พระโอรสของพระองค์คือนักองค์จันทร์ได้ขึ้นครองราชสมบัติต่อมา
พระราชบุตร
แก้สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ มีพระราชบุตรประสูติแต่นักนางโอด หรือนักนางโอง พระสนมชั้นพระแม่นาง ได้แก่ สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี (หรือนักองค์จัน) และสมเด็จพระไชยเชษฐา มหาอุปโยราช (หรือ นักองค์สงวน)[2] ประสูติแต่นักนางแก พระสนมชั้นพระแม่นาง ชื่อนักองค์พิมพ์ และประสูติแต่นักนางรศ พระสนมชั้นพระแม่นาง ชื่อสมเด็จศรีไชยเชฐ พระมหาอุปราช (หรือนักองค์อิ่ม)[3][4] และสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (หรือนักองค์ด้วง)[5]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 ศานติ ภักดีคำ. เขมรรบไทย. กทม. มติชน. 2554. หน้า 272
- ↑ ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 113
- ↑ เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์), นายพันตรี. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด, 2563, หน้า 166-167
- ↑ เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์), นายพันตรี. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด, 2563, หน้า 186
- ↑ เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์), นายพันตรี. ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด, 2563, หน้า 172
- สุมาลี บำรุงสุข. นักองค์เอง ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 155 - 157