วิทยาลัยช่างศิลป

วิทยาลัยช่างศิลป (อังกฤษ: College of Fine Arts) เป็นกลุ่มสถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดการเรียนการสอนในสาขาศิลปะ ทั้งศิลปะไทยประเพณี และศิลปะร่วมสมัย

วิทยาลัยช่างศิลป
College of Fine Arts
สถาปนา4 มีนาคม พ.ศ. 2495 (72 ปี)
ผู้อำนวยการนายจรัญ หนองบัว
ที่อยู่
เลขที่ 60 ซอยหลวงแพ่ง 2 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520
มาสคอต
พระพิฆเนศ
เว็บไซต์cfa.bpi.ac.th

ประวัติความเป็นมาวิทยาลัยช่างศิลป แก้

วิทยาลัยช่างศิลป มีชื่อเดิมว่า "โรงเรียนศิลปศึกษา" ตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมายเพื่อให้มีฐานะเป็นโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินงานโดยอาศัยเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัย และได้ครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยช่วยทำการสอน นอกจากครูสอนวิชาสามัญมีทั้งครูประจำและเชิญบุคคลภายนอกมาสอนพิเศษเป็นรายชั่วโมง หลักสูตรศิลปะก็จัดวิชาและรายการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร เว้นแต่วิชาสามัญคงดำเนินการสอนตามหลักสูตรชั้นเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์

โรงเรียนศิลปศึกษา ได้มีประกาศให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2495 โดยนายกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยศิลปากร และประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาของโรงเรียนศิลปศึกษา พุทธศักราช 2495 กำหนดคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้สมัครเข้าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียน

หลักสูตรในระยะแรกเริ่มนี้คงเปิดสอนเพียงแผนกเดียว คือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เป็นหลักสูตร 3 ปี และให้สิทธิ์ผู้สอบได้ชั้นปีที่ 2 ซึ่งได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศิลปากรโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก ส่วนผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี จะได้ประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางของกรมศิลปากร

โรงเรียนศิลปศึกษา เปิดทำการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 มีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 36 คน โดยใช้สถานที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว

  • พ.ศ. 2496 – ได้ขยายการสอนเป็น 3 แผนก คือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม แผนกช่างสิบหมู่ และแผนกโบราณคดี แต่ละแผนกมีกำหนดเวลาเรียน 3 ปี
  • พ.ศ. 2497 – กรมศิลปากรได้รับมอบตึกที่ทำการกระทรวงคมนาคมเดิม 3 หลัง จึงได้ยกตึก 2 หลังด้านในให้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนศิลปศึกษา นับแต่นั้นเป็นต้นมาโรงเรียนศิลปศึกษาจึงมีสถานที่เรียนเป็นการถาวร จน พ.ศ. 2503 อาคารเรียนจึงถูกรื้อไปเสียหลังหนึ่งเพื่อสร้างโรงละครแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2498 – โรงเรียนศิลปศึกษายังคงดำเนินการสอนใน 3 แผนก พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาใหม่ คือรับนักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้นปีที่ 2 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แต่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเสียก่อน
  • พ.ศ. 2500 – มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียนหลายประการคือ
    • ได้มีการกำหนดฐานะของโรงเรียนประเภทเตรียมอุดมศึกษา เรียกชื่อว่า "โรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร"
    • ได้ยุบเลิกแผนกช่างสิบหมู่ คงเหลือไว้เพียง 2 แผนก และเรียกชื่อใหม่ว่า แผนกเตรียมศิลปและแผนกเตรียมโบราณคดี สำหรับการศึกษาใน 2 ปีแรก
    • เปลี่ยนมาสังกัดอยู่ในกองหัตถศิลป กรมศิลปากร
  • พ.ศ. 2501 – โรงเรียนศิลปศึกษาได้กลับไปสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้ง จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2503 เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรแยกไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ โรงเรียนศิลปศึกษาจึงกลับมาสังกัดกองหัตถศิลป กรมศิลปากรดังเดิม และพ้นฐานะจากการเป็นโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ยุบเลิกแผนกโบราณคดี คงเหลือแต่แผนกจิตรกรรมและประติมากรรมแผนกเดียว ส่วนกำหนดเวลาเรียนยังคงเป็น 3 ปี จึงจบหลักสูตร

จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่ มีการตั้งกองศิลปศึกษาขึ้น โรงเรียนศิลปศึกษาจึงมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งในกองศิลปศึกษา มีงบประมาณตำแหน่งครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงเรียนช่างศิลป" ในโอกาสนี้ด้วย

  • พ.ศ. 2505 – ทางการได้รื้ออาคารเรียนเดิมซึ่งเหลืออยู่เพียงหลังเดียว เพื่อสร้างโรงละครแห่งชาติ จึงได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นอาคารเรียนถาวรให้แก่โรงเรียนช่างศิลปขึ้นภายในบริเวณเดียวกันกับโรงเรียนนาฏศิลป นับแต่นั้นมา โรงเรียนช่างศิลปได้ให้การศึกษาแก่นักเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง (เทียบเท่าหลักสูตรครูประถมการช่าง หรือ ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหลักสูตร 3 ปี จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง โรงเรียนช่างศิลป กรมศิลปากร พุทธศักราช 2517 ซึ่งใช้เวลาต่อจากหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางอีก 2 ปี และเทียบการศึกษานี้เท่ากับหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.) โรงเรียนช่างศิลปจึงได้เปิดให้การศึกษาตามหลักสูตรนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2517

ในปีการศึกษา 2518 โรงเรียนช่างศิลปก็ได้ให้การศึกษาแก่นักเรียน ทั้งในระดับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางและระดับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง และผลิตผู้สำเร็จการศึกษาการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงเป็นรุ่นแรก ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนช่างศิลป เป็น วิทยาลัยช่างศิลป เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 และเริ่มขยายกิจการการเรียนการสอนไปที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยได้เริ่มพัฒนาก่อสร้างอาคารเรียนในที่ดินวิทยาลัยเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เนื้อที่ประมาณ 63 ไร่ ในปี พ.ศ. 2519 และเริ่มใช้เป็นสถานศึกษาของวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา

  • พ.ศ. 2524 – วิทยาลัยช่างศิลปได้ปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง ซึ่งเทียบเท่าประโยคครูประถมการช่าง โดยยกเลิกการเรียนวิชาการศึกษาในหลักสูตรนี้ โครงสร้างของหลักสูตรประกอบด้วย หมวดวิชาสามัญ หมวดวิชาสัมพันธ์ หมวดวิชาชีพภาคทฤษฎี และวิชาชีพภาคปฏิบัติทั้งศิลปะไทยแบบประเพณีและศิลปะร่วมสมัย มีกำหนดเวลาเรียน 3 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง (ระดับ ปวช.)
  • พ.ศ. 2527 – ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงซึ่งเทียบเท่าหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.) อีกครั้งหนึ่ง โดยยกเลิกการเรียนวิชาการศึกษาเช่นเดียวกับหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง โครงสร้างของหลักสูตรจึงประกอบด้วย หมวดวิชาพื้นฐานทั่วไป หมวดวิชาศิลปะ (วิชาพื้นฐานวิชาศิลปะ วิชาศิลปะเฉพาะสาขา วิชาศิลปะเลือก) และหมวดวิชาเลือก โดยให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาศิลปะสาขาต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจในศิลปะเฉพาะสาขา (วิชาเอก) และวิชาศิลปะเลือก (วิชาโท) เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง (ระดับ ปวส.)
  • พ.ศ. 2539 – วิทยาลัยได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นกลางและหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นสูงอีกครั้งหนึ่ง เรียกชื่อว่า หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2539 (ศ.ปวช.) และหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2539 (ศ.ปวส.) ตามลำดับ ซึ่งมีสาขาวิชาให้นักศึกษาเลือกเรียนอย่างหลากหลาย สอดคล้องกับแนวนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม
  • พ.ศ. 2546 – ปรับหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2539 มาเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2544 วิทยาลัยช่างศิลป ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542
  • พ.ศ. 2550 – วิทยาลัยช่างศิลปและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์แยกตัวจากกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 32 ก วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
  • พ.ศ. 2552 – วิทยาลัยช่างศิลปปรับโครงสร้างการบริหารให้เป็นไปตามประกาศของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยให้มีการสรรหาผู้อำนวยการวิทยาลัย และผู้อำนวยการคนแรกที่มาจากระบบการสรรหา คือ อาจารย์สมบัติ กุลางกูร

วิสัยทัศน์ และพันธกิจ วิทยาลัยช่างศิลป แก้

วิสัยทัศน์

วิทยาลัยช่างศิลป มุ่งจัดการศึกษาด้านศิลปะ ที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

ด้วยการบริหารจัดการที่มี นโยบาย เป้าหมายที่ชัดเจนเป็นระบบ


พันธกิจ

1.จัดการเรียนการสอนศิลปะอย่างมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพตามธรรมชาติของผู้เรียน ด้วยหลักสูตรที่กำหนดคุณลักษณะเฉพาะอันพึงประสงค์

และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

2.ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

3.พัฒนาบุคลากรทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

4.จัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้แก่ผู้เรียน

5.พัฒนาระบบการสนับสนุน และการบริหารด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อการเนินงานของวิทยาลัย

หลักสูตรการศึกษา แก้

วิทยาลัยช่างศิลป จัดการศึกษาทางด้านศิลปกรรมในระดับวิชาชีพและระดับอุดมศึกษา โดยพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับมาตรฐานการอาชีวศึกษา

ส่วนการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องทางด้านปฏิบัติการ หรือวิชาชีพ เพื่อรองรับผู้จบหลักสูตรศิลปกรรม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงให้เข้าศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความเห็นชอบหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว

การจัดการศึกษาในแต่ละหลักสูตร มีรายละเอียด ดังนี้

หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ศ.ปวช.)

วิทยาลัยช่างศิลป ได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปรับปรุง) พุทธศักราช 2560 เป็นหลักสูตร 3 ปี

รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) หรือเทียบเท่า โดยนักเรียนจะต้องศึกษารายวิชาต่างๆ ประกอบด้วย

1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ศึกษาในรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา และวิชาภาษาอังกฤษ

2. หมวดวิชาเฉพาะ

2.1 หมวดพื้นฐานวิชาชีพ (ทฤษฎี) ได้แก่ วิชาทฤษฎีสี วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ วิชากายวิภาค และวิชาทัศนียวิทยา

2.2 หมวดพื้นฐานวิชาชีพ (ปฏิบัติ) ได้แก่ วิชาวาดเส้น วิชาองค์ประกอบศิลป์ และวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิกส์

2.3 หมวดวิชาชีพ ได้แก่ วิชาศิลปะไทย จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ออกแบบตกแต่ง ลายรดน้ำ สถาปัตยกรรมไทย และเครื่องเคลือบดินเผา

2.4 หมวดวิชาเลือกเสรี เปิดให้ลงทะเบียนรายวิชาต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน

3. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เปิดให้ผู้เรียนเลือกชมรม กิจกรรมเสริมหลักสูตร หรืออาสารักษาดินแดน (รด.)

หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ศ.ปวส.)

เป็นหลักสูตร 2 ปี รับจากผู้สำเร็จการศึกษาศิลปกรรม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ศ. ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ด้านศิลปะ) หรือรับผู้จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า

ที่มีทักษะความสามารถด้านศิลปะในแขนงที่เกี่ยวข้อง

ประกาศนียบัตรวิชาชีพ
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
ปริญญาตรี

หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ศ.ปวช.)

หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ศ.ปวส.)

  • สาขาวิชาศิลปะไทย
  • สาขาวิชาจิตรกรรม
  • สาขาวิชาประติมากรรม
  • สาขาวิชาภาพพิมพ์
  • สาขาวิชาออกแบบตกแต่ง
  • สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย
  • สาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา
  • สาขาวิชาช่างสิปปหมู่

หลักสูตรระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาทัศนศิลป์

  • วิชาเอกจิตรกรรม
  • วิชาเอกศิลปะไทย
  • วิชาเอกเครื่องเคลือบดินเผา

วิทยาลัยช่างศิลป 3 แห่ง แก้

ทำเนียบผู้บริหาร แก้

โรงเรียนศิลปศึกษา
ลำดับ ผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1
อาจารย์ประยูร โชติกะพุกกณะ พ.ศ. 2495
2
อาจารย์เรณู ยศสุนทร พ.ศ. 2495 – พ.ศ. 2497
3
อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ พ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2499
4
อาจารย์อรุณ โลหะชาละ พ.ศ. 2499 – พ.ศ. 2500
5
อาจารย์ละม่อม โอชกะ พ.ศ. 2500
6
อาจารย์สะอาด บัวชาติ พ.ศ. 2500 – พ.ศ. 2502
โรงเรียนช่างศิลป
ลำดับ ผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
7
อาจารย์สะอาด บัวชาติ พ.ศ. 2503 – พ.ศ. 2504
8
อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข พ.ศ. 2504 – 2517
วิทยาลัยช่างศิลป
ลำดับ ผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
9
อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข พ.ศ. 2517 – พ.ศ. 2528
10
อาจารย์กนก บุญโพธิ์แก้ว พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2534
11
อาจารย์ธงชัย รักปทุม พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2542
12
อาจารย์กมล สุวุฒโฑ พ.ศ. 2542 – พ.ศ. 2547
13
อาจารย์พัชรี ผลานุรักษา พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2550
14
อาจารย์สุขุม บัวมาศ พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2551
รักษาการ พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2552
15
อาจารย์สมบัติ กุลางกูร พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2556
16
อาจารย์บุญพาด ฆังคะมะโน พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2560
17
อาจารย์จรัญ หนองบัว พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้