กงสุล
กงสุล (อังกฤษ: Consul) เป็นตำแหน่งทางการเมือง ในปัจจุบันหมายถึงผู้แทนอย่างเป็นทางการของรัฐบาลของรัฐหนึ่งในดินแดนของอีกรัฐหนึ่ง ตามปกติมีหน้าที่ช่วยเหลือและคุ้มครองพลเมืองของประเทศผู้แต่งตั้งกงสุล และเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและไมตรีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ กงสุลแตกต่างจากเอกอัครราชทูต ตรงที่เอกอัครราชทูตเป็นผู้แทนจากประมุขแห่งรัฐหนึ่งต่อประมุขแห่งรัฐอื่น เอกอัครราชทูตจากประเทศหนึ่งไปประจำอีกประเทศหนึ่งสามารถมีได้เพียงคนเดียว ขณะที่กงสุลอาจมีได้หลายคน ประจำการอยู่ในเมืองหลัก เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเด็นทางราชการแก่ทั้งพลเมืองของประเทศผู้แต่งตั้งหรือที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ และพลเมืองของประเทศที่กงสุลประจำอยู่ซึ่งต้องการท่องเที่ยวในหรือค้าขายกับประเทศผู้แต่งตั้ง
ตำแหน่งกงสุลในนครรัฐยุคโบราณ มีหน้าที่แตกต่างจากตำแหน่งกงสุลในปัจจุบัน กงสุลในสมัยโบราณเป็นตำแหน่งทางปกครองระดับสูงสุดของสาธารณรัฐโรมันและจักรวรรดิโรมัน ซึ่งมีอำนาจบริหารและตุลาการในบุคคลเดียว ต่อมา สาธารณรัฐเจโนวาก็รับเอาตำแหน่งนี้ไปใช้ แต่เป็นตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ปกครองเท่านั้น ไม่จำกัดว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดเฉกเช่นของโรมัน กงสุลของเจโนวาจะประจำการอยู่ตามท่าเรือของนครรัฐริมชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และคอยอำนวยความสะดวกให้แก่พ่อค้าหรือนักเดินเรือชาวเจโนวาเมื่อเกิดความยุ่งยากกับทางการท้องถิ่น จึงกล่าวได้ว่าตำแหน่งกงสุลของสาธารณรัฐเจโนวา ค่อนข้างมีบทบาทหน้าที่คล้ายคลึงกับตำแหน่งกงสุลทางการทูตในปัจจุบัน
ประเภทของกงสุล
แก้กงสุลมี 2 ประเภท คือ
- กงสุลโดยอาชีพ (Career consular officer)ได้แก่ ผู้ที่เป็นข้าราชการของประเทศผู้แต่งตั้ง
- กงสุลกิตติมศักดิ์ (อังกฤษ: Honorary Consul) ได้แก่ ผู้ได้รับแต่งตั้งซึ่งมิใช่ข้าราชการและไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งอาจเป็นคนชาติของประเทศผู้แต่งตั้งหรือคนชาติอื่นก็ได้ บุคคลในท้องถิ่นผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายให้ดูแล ส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศและคนชาติในพื้นที่ในเขตอาณา และดำเนินการตรวจลงตราหนังสือเดินทางแก่บุคคลที่จะเดินทางเข้าประเทศที่กงสุลกิตติมศักดิ์เป็นผู้แทน การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากประเทศผู้รับ และต้องยื่นสัญญาบัตร และได้รับอนุมัติบัตรเช่นเดียวกับผู้แทนฝ่ายกงสุลอาชีพ ทั้งนี้กงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์จะได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตอาณาที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่าและสำคัญกว่า
ในส่วนของไทย กงสุลกิตติมศักดิ์แตกต่างจากกงสุลอาชีพใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
- กงสุลกิตติมศักดิ์ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม หรือเป็นผู้นำที่มีความสัมพันธ์พิเศษกับไทย
- กงสุลกิตติมศักดิ์ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสำนักงาน ได้แก่ สถานกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์หรือสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ทั้งหมด
- กงสุลกิตติมศักดิ์ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันทางกงสุลน้อยกว่ากงสุลอาชีพ
กงสุลที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าสถานกงสุลมี 4 ระดับ คือ กงสุลใหญ่ กงสุล รองกงสุลและตัวแทนฝ่ายกงสุล
อ้างอิง
แก้- หน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ เก็บถาวร 2012-06-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- [1] เก็บถาวร 2014-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- คัดลอกจากหนังสือคำศัพท์ - คำย่อ ทางการทูตและการต่างประเทศ ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2
- พระราชบัญญัติ ว่าด้วยเอกสิทธิและความคุ้มกันทางกงสุล พ.ศ. ๒๕๔๑ [2] เก็บถาวร 2014-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- บทความใน GotoKnow [3]