รัฐสภาไทย
รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นสภานิติบัญญัติระดับชาติของประเทศไทย เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติอันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. 2564[4] บัญญัติให้รัฐสภาประกอบด้วยวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นการปกครองโดยใช้ระบบสองสภา โดยทั้งสองสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกันแล้วแต่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา โดยตำแหน่ง
สำหรับสถานที่ประชุมนั้นเริ่มจากพระที่นั่งอนันตสมาคม ก่อนย้ายมายังอาคารรัฐสภาไทย (ถนนอู่ทองใน) และสัปปายะสภาสถานตามลำดับ
ในบางช่วงเวลา (โดยเฉพาะหลังรัฐประหาร) อาจมีการยกเลิกรัฐสภาแล้วให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติแทน
องค์ประกอบแก้ไข
สภาผู้แทนราษฎรแก้ไข
สภาผู้แทนราษฎรไทย เป็นสภาล่างของประเทศไทย ประกอบด้วยสมาชิกโดยตรงทั้งหมด 500 คน ได้มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จำนวน 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวน 100 คน ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรูปแบบนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. 2564[4] ทั้งนี้ อายุของสภาผู้แทนราษฎรมีกำหนดคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
วุฒิสภาแก้ไข
วุฒิสภาไทย หรือเดิมมีชื่อว่า "พฤฒสภา" เป็นสภาสูงของรัฐสภาไทยคู่กับสภาผู้แทนราษฎรไทยซึ่งเป็นสภาล่าง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 วุฒิสภาในวาระเริ่มแรกประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่ถวายคำแนะนำ วุฒิสภามีวาระคราวละ 5 ปี ใช้ห้องประชุมใหญ่พระจันทรา ณ สัปปายะสภาสถาน เป็นที่ประชุม
การเลือกตั้งแก้ไข
การเลือกตั้งของประเทศไทย เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศไทย อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย วุฒิสภาไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วยการให้ประชาชนออกเสียงเลือกบุคคลที่เห็นสมควร
การเลือกตั้งในประเทศไทยจัดขึ้นภายใต้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป (Universal suffrage) ตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด หรือแปลงสัญชาติเป็นไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี
- มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม คือ ต้องไม่เป็นพระสงฆ์ สามเณร นักพรตหรือนักบวช ต้องไม่อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ต้องไม่ถูกคุมขังด้วยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่เป็นคนสติฟั่นเฟือน[5]
ประธานรัฐสภาแก้ไข
ประธานสภาผู้แทนราษฎรไทยถือเป็นประธานรัฐสภาไทยโดยตำแหน่ง เมื่อผู้ใดได้รับเลือกเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็จะถือเป็นประธานรัฐสภาโดยอัตโนมัติ ส่วนประธานวุฒิสภาไทยถือเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง[6][7] ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน คือ ชวน หลีกภัย ส่วนประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภาคนปัจจุบัน คือ พรเพชร วิชิตชลชัย
ดูเพิ่มแก้ไข
เชิงอรรถแก้ไข
- ↑ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คนตามมาตรา 107 แต่ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 บัญญัติให้ในวาระเริ่มแรก (5 ปี) ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ ประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๔๐ ง หน้า ๑ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
- ↑ ประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๔๐ ง หน้า ๒ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
- ↑ ประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๑๒๑ ง หน้า ๑-๙ วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
- ↑ 4.0 4.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑) พุทธศักราช ๒๕๖๔
- ↑ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร Archived 2013-05-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. คณะกรรมการการเลือกตั้ง. สืบค้น 6-7-2554.
- ↑ Constitution of the Kingdom of Thailand 2007. Chapter 6: National Assembly of Thailand, Part 1: General Provisions
- ↑ "เลขาสภายืนยัน บัตรเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรมีตราเฉพาะปลอมไม่ได้".
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
บทความเกี่ยวกับการเมือง การปกครองนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |