ระบบการลงคะแนน (อังกฤษ: voting system) หรือ ระบบการเลือกตั้ง (electoral system) คือ กฎเกณฑ์ที่ระบุถึงการลงคะแนนเสียงเพื่อทำการเลือกตั้งหรือลงประชามติ รวมทั้งวิธีการหาผลลัพธ์เพื่อหาผู้ชนะ ระบบการเลือกตั้งนั้นอยู่ในกำกับของรัฐบาล ในขณะที่การลงคะแนนที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองนั้นสามารถใช้ในธุรกิจองค์กรต่าง ๆ รวมถึงองค์การไม่แสวงหาผลกำไรด้วย

แผนที่แสดงระบบการลงคะแนนสำหรับสภาล่างในประเทศต่าง ๆ (ข้อมูลเมื่อ มกราคม 2022)
ระบบเสียงข้างมาก (ผู้ชนะเขตหนึ่งคน)
  ระบบสองรอบ (two-round system)
ระบบเสียงข้างมาก (ผู้ชนะเขตหลายคน)
ระบบกึ่งสัดส่วน
  แบบสะสม (limited voting หรือ cumulative voting)
  แบบทวินาม (binomial system)
ระบบสัดส่วน
ระบบผสม
    แบบสัดส่วนผสม (mixed-member propotional representation)
        ระบบเสียงข้างมากผสม (mixed-member majoritarian representation)
  ระบบเสียงข้างมากแบบเพิ่มที่นั่ง (majority bonus system)
อื่น ๆ
  ไม่มีการเลือกตั้ง
  แตกต่างกันไปตามรัฐ
  ไม่ปรากฏข้อมูล

กฎเกณฑ์เหล่านี้รวมถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับระบบการลงคะแนนโดยองค์รวมตั้งแต่การเลือกตั้ง ว่าผู้ใดสามารถมีสิทธิ์ลงคะแนน ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง วิธีการลงคะแนนเสียง วิธีการนับคะแนนเสียง วิธีการคำนวณเพื่อหาผู้ชนะการเลือกตั้ง การควบคุมและจำกัดงบประมาณที่เกี่ยวกับการหาเสียง และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะมีผลต่อการเลือกตั้งได้ ระบบการเลือกตั้งทางการเมืองนั้นได้รับการระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายการเลือกตั้ง โดยปกติจะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสามารถใช้ระบบการเลือกตั้งหลายระบบให้เหมาะสมกับการเลือกตั้งในแต่ละประเภท

ในบางระบบการเลือกตั้งนั้นใช้การเลือกบุคคลเพียงคนเดียวเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี หรือผู้ว่าราชการ ในขณะที่การเลือกตั้งแบบอื่น ๆ ใช้ในการเลือกตั้งผู้สมัครจำนวนหลายคนในคราวเดียว เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะผู้บริหารบริษัท ระบบการเลือกตั้งแบ่งเป็นหลายระบบมากมาย โดยระบบที่พบทั่วไปได้แก่ ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุด (first-past-the-post) ระบบสองรอบ (two-round system) ระบบสัดส่วน (proportional representation system) และแบบจัดลำดับ (ranked voting) นอกจากนี้ยังมีระบบผสม (mixed System) ที่ใช้ข้อดีของทั้งระบบคะแนนเสียงข้างมากและระบบสัดส่วนเข้าด้วยกัน

ระบบการเลือกตั้งแบบต่าง ๆ แก้

ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า แก้

 
ประเทศที่ใช้ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ

ในระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า (plurality voting) นั้นผู้สมัคร (หนึ่งคนหรือมากกว่า) ที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดได้รับเลือกตั้ง โดยไม่มีข้อจำกัดเพิ่มเติมว่าจะต้องได้คะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ในกรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวจะเรียกว่า ระบบแบ่งเขตคะแนนสูงสุดหรือระบบเสียงข้างมาก โดยระบบนี้ใช้มากที่สุดเป็นอันดับที่สองในโลก โดยมีกว่า 58 ประเทศใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ[1] โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศหรือดินแดนอาณานิคมอังกฤษหรือสหรัฐในอดีตและปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่ใช้เลือกตั้งประธานาธิบดีมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลกใน 19 ประเทศอีกด้วย[1]

ในกรณีที่ในหนึ่งเขตเลือกตั้งมีมากกว่าหนึ่งที่นั่ง (หนึ่งเขตหลายเบอร์) ระบบนี้จะเรียกว่า ระบบแบ่งเขตหลายเบอร์ (plurality-at-large voting หรือ block voting) ซึ่งพบในสองแบบหลัก ๆ แบบแรกคือผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเลือกผู้สมัครรายใดก็ได้ (โดยไม่จำเป็นต้องตามพรรคการเมือง) โดยสามารถลงคะแนนเท่ากับจำนวนที่นั่งในแต่ละเขตเลือกตั้ง โดยระบบนี้ใช้ใน 8 ประเทศ โดยยังแบ่งเป็นแบบย่อย ๆ เช่น ระบบจำกัดคะแนนเสียง (limited voting) ซึ่งจำกัดคะแนนเสียงน้อยกว่าจำนวนที่นั่งในแต่ละเขต (พบเฉพาะในยิบรอลตาร์)[1] และระบบเสียงเดียวถ่ายโอนคะแนนไม่ได้ (single non-transferable vote) ซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนได้เพียงคะแนนเดียวในเขตเลือกตั้งที่มีหลายที่นั่ง โดยผู้สมัครรายที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด (หนึ่งคนหรือมากกว่า) จะได้รับเลือกตั้ง ซึ่งใช้ในประเทศอัฟกานิสถาน คูเวต หมู่เกาะพิตแคร์น และวานูอาตู[1] แบบที่สองของระบบแบ่งเขตหลายเบอร์ คือ ระบบแบ่งเขตยกพรรค (general ticket หรือ party block voting) ซึ่งผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใช้สิทธิ์ลงคะแนนผู้สมัครหลายคนในพรรคเดียวกันได้เท่านั้น โดยใช้ใน 5 ประเทศโดยเป็นส่วนหนึ่งของระบบผสม[1]

ระบบเสียงข้างมาก แก้

ในการลงคะแนนระบบเสียงข้างมาก (majoritarian voting) คือผู้สมัครจะต้องได้คะแนนเสียงข้างมากเท่านั้นจึงจะได้รับเลือกตั้ง แต่ในระบบเลือกตั้งบางระบบนั้นนิยมใช้เพียงระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าในรอบสุดท้ายในการนับคะแนนเสียงเพื่อหาผู้ชนะในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด ในระบบคะแนนเสียงข้างมากแบ่งเป็นสองแบบย่อย แบบหนึ่งใช้การลงคะแนนเสียงเพียงหนึ่งรอบโดยเรียงลำดับคะแนน และอีกแบบหนึ่งใช้การลงคะแนนเสียงถึงสองรอบหรือมากกว่า แต่ทั้งสองแบบนี้ใช้สำหรับเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครเพียงรายเดียวเท่านั้น

การใช้ระบบเสียงข้างมากนี้สามารถทำได้ในรอบเดียวโดยใช้การลงคะแนนแบบหลายรอบในทันที (instant-runoff voting, IRV) ซึ่งผู้ลงคะแนนลงคะแนนตามลำดับความชอบ ซึ่งใช้ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของออสเตรเลียและปาปัวนิวกินี หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดในรอบแรกนั้น ในรอบที่สองคะแนนเสียงของลำดับอื่น ๆ ในผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยที่สุดจะนำมารวมเข้ากันกับผู้สมัครที่ได้เลือกในลำดับอื่น ๆ ไว้ โดยทำขั้นตอนนี้ซ้ำจนได้ผู้สมัครที่มีคะแนนมากกว่าร้อยละ 50 ของคะแนนเสียงทั้งหมด ในกรณีที่คะแนนลำดับอื่น ๆ ถูกใช้หมดแล้ว การนับยังสามารถทำต่อได้จนถึงผู้สมัครเพียงสองคน โดยในรอบสุดท้ายนี้จะใช้คะแนนเสียงที่เหนือกว่าเพื่อเป็นการตัดสินผู้ชนะ

อีกระบบที่คล้ายคลึงกันเรียกว่า contingent vote ซึ่งผู้ลงคะแนนไม่ต้องใส่ลำดับความชอบในทุกผู้สมัคร แต่ใส่ได้เพียงจำนวนจำกัดเท่านั้น หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด (มากกว่าร้อยละ 50) ผู้สมัครรายอื่น ๆ จะถูกตัดออก ยกเว้นผู้สมัครสองรายที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด และจากนั้นจึงนำเอาคะแนนเสียงในส่วนของผู้สมัครรายที่ถูกตัดออกในรอบที่สองนี้นำเข้ามาแบ่งให้ตามลำดับความชอบที่ผู้ลงคะแนนเลือกไว้แต่แรก โดยผู้ชนะจะได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดโดยปริยาย ประเทศศรีลังกาใช้ระบบนี้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งผู้ลงคะแนนสามารถใส่ลำดับความชอบได้ถึงสามลำดับ[2]

อีกระบบหนึ่งที่เป็นแบบหลักของระบบเสียงข้างมาก ได้แก่ ระบบสองรอบ (two-round system) ซึ่งเป็นระบบปกติที่ใช้มากที่สุดในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในประเทศต่าง ๆ ถึง 88 ประเทศ และยังใช้กับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติถึง 20 ประเทศ[1] ในระบบนี้หากไม่มีผู้สมัครรายใดได้คะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดในรอบแรก ในรอบที่สองจะเป็นรอบชี้ขาดผู้ชนะ ในกรณีส่วนใหญ่แล้วในรอบที่สองจะเหลือเพียงแค่ผู้สมัครเพียงสองรายจากรอบแรกเท่านั้น แต่ในบางประเทศสามารถมีได้มากกว่าสองรายในรอบที่สองซึ่งในกรณีนี้จะใช้การนับคะแนนเสียงแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าแทน ในบางประเทศใช้ระบบที่แปลงมาจากระบบสองรอบ เช่น เอกวาดอร์ ซึ่งผู้สมัครในการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะเป็นผู้ชนะหากได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ 40 และจะต้องได้คะแนนมากกว่าอย่างน้อยร้อยละ 10 จากผู้สมัครที่ได้คะแนนลำดับถัดไป[3] หรืออาร์เจนตินา (ใช้ร้อยละ 45 และต้องมีอย่างน้อยร้อยละ 10 มากกว่าลำดับที่สอง) ที่เรียกระบบนี้ว่า ระบบบัตรลงคะแนน

ในระบบบัตรลงคะแนนหลายรอบ (exhaustive ballot) ไม่ได้จำกัดการลงคะแนนเพียงแค่สอบรอบ แต่ใช้การตัดผู้สมัครในแต่ละรอบที่ได้คะแนนน้อยสุดออกไปรอบละคน ซึ่งในระบบนี้อาจทำให้มีจำนวนรอบลงคะแนนหลายรอบจึงไม่เหมาะกับการเลือกตั้งใหญ่ ๆ แต่นิยมใช้กันในการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรในหลายประเทศ รวมทั้งคณะมนตรีสมาพันธรัฐสวิส ในบางรูปแบบนั้นอาจจะใช้ระบบหลายรอบโดยไม่มีผู้ได้ถูกตัดออกจนกระทั่งมีผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมาก เช่น ระบบที่ใช้เลือกตั้งคณะผู้เลือกตั้งสหรัฐ

ระบบสัดส่วน แก้

 
ประเทศที่ใช้การเลือกตั้งระบบสัดส่วน

การเลือกตั้งระบบสัดส่วนเป็นระบบการลงคะแนนที่ใช้มากในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติ โดยมีมากกว่าแปดสิบประเทศในโลกที่ใช้ระบบนี้ในการลงคะแนน

การเลือกตั้งระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ (party-list proportional representation) เป็นระบบการเลือกตั้งแบบเดียวที่ใช้กันกว่าแปดสิบประเทศทั่วโลก ซึ่งผู้ลงคะแนนทำการลงคะแนนให้กับรายชื่อผู้สมัครทั้งรายชื่อที่จัดทำโดยพรรคการเมือง ในแบบบัญชีปิดนั้นผู้ลงคะแนนจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวผู้สมัครที่พรรคการเมืองได้จัดลำดับไว้ได้ ส่วนในแบบบัญชีเปิดผู้ลงคะแนนสามารถลงคะแนนให้เป็นรายบุคคลในบัญชีรายชื่อเพื่อเลือกลำดับในบัญชีรายชื่อได้

ในบางประเทศ เช่น อิสราเอลหรือเนเธอร์แลนด์ การเลือกตั้งทำในระบบสัดส่วนอย่าง "บริสุทธิ์" กล่าวคือ นำคะแนนเสียงในระดับประเทศมารวมกันจึงทำการแบ่งที่นั่งให้กับแต่ละพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามในกรณีส่วนใหญ่ นิยมใช้เขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนมากกว่าหนึ่งคน มากกว่าเขตเลือกตั้งเดียวรวมทั้งประเทศ ทำให้มีการแบ่งสัดส่วนตามภูมิศาสตร์ซึ่งอาจจะส่งผลให้การแบ่งสัดส่วนที่นั่งไม่สอดคล้องกับจำนวนผลรวมคะแนนในประเทศได้ ดังนั้นในบางประเทศจึงมีการเกลี่ยที่นั่งให้กับพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงน้อยกว่าสัดส่วนคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ

ในด้านของเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำ (คะแนนเสียงขั้นต่ำคิดเป็นร้อยละของคะแนนเสียงทั้งหมดที่พรรคการเมืองจะต้องได้รับเพื่อที่จะได้ที่นั่ง) มีการใช้หลายวิธีในการแบ่งที่นั่งในระบบสัดส่วน โดยแบ่งเป็นสองวิธีหลัก คือ วิธีค่าเฉลี่ยสูงสุด และวิธีเหลือเศษสูงสุด วิธีค่าเฉลี่ยสูงสุด (highest averages method) รวมถึงการแบ่งจำนวนคะแนนเสียงในแต่ละพรรคการเมืองแล้วหารด้วยตัวหารต่าง ๆ เพื่อนำมาซึ่งจำนวนที่นั่งของพรรคการเมือง เช่น วิธีโดนต์ (D'Hondt method; ซึ่งมีระบบใกล้เคียง เช่น ระบบฮาเกินบัค-บิชช็อฟ) และวิธีเว็บสเตอร์/แซ็งต์-ลากูว์ (Webster/Sainte-Laguë method) ส่วนวิธีเหลือเศษมากสุด (largest remainder method) คะแนนเสียงของพรรคการเมืองจะถูกหารด้วยจำนวนโควตา (ซึ่งมาจากการหารจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดด้วยจำนวนที่นั่งที่มี) โดยในแบบนี้มักจะเหลือเศษที่นั่งที่ไม่ลงตัว ซึ่งจะเกลี่ยให้กับพรรคการเมืองตามจำนวนที่นั่งที่ยังไม่ครบของแต่ละพรรค ตัวอย่างของระบบนี้ได้แก่ โควตาแฮร์, โควตาดรูป, โควตาอิมเปรีอาลี และโควตาฮาเกินบัค-บิชช็อฟ

การเลือกตั้งแบบถ่ายโอนคะแนนเสียง (STV) เป็นการเลือกตั้งระบบสัดส่วนอีกแบบหนึ่ง ซึ่งผู้ลงคะแนนลงคะแนนให้กับผู้สมัครหลายคนตามลำดับในเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนมากกว่าหนึ่งคน (ไม่ใช่ลงคะแนนให้บัญชีรายชื่อ) ใช้ในมอลตาและไอร์แลนด์ เพื่อที่จะได้รับเลือกนั้นผู้สมัครจะต้องได้คะแนนเกินจำนวนโควตา (ใช้โควตาดรูปเป็นส่วนใหญ่) ผู้สมัครที่ได้คะแนนเกินโควตาในรอบแรกจะได้รับเลือกก่อน คะแนนเสียงของผู้สมัครที่ได้คะแนนน้อยที่สุด และคะแนนส่วนเกินของผู้สมัครที่ชนะในรอบแรกจะถูกโอนไปยังผู้สมัครที่ได้คะแนนในอันดับถัดไป ทำซ้ำขั้นตอนนี้จนได้ผู้สมัครจนครบทุกที่นั่ง (แต่ละที่นั่งจะต้องผ่านคะแนนโควตา)[1]

ระบบผสม แก้

ในหลายประเทศนั้นนิยมใช้ระบบผสมในการลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซึ่งรวมถึงการลงคะแนนแบบคู่ขนาน และแบบสัดส่วนผสม

ในแบบคู่ขนานซึ่งใช้กันใน 20 ประเทศทั่วโลก[1] นั้นใช้สองวิธีเพื่อเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ ส่วนหนึ่งมาจากการลงคะแนนแบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าหรือเสียงข้างมากจากเขตเลือกตั้งที่มีผู้แทนคนเดียวหลายเขตรวมกัน (แบบแบ่งเขต) และส่วนสมาชิกจำนวนที่เหลือนั้นมาจากระบบสัดส่วน โดยผลลัพธ์ของจำนวนคะแนนเสียงที่ได้รับจากระบบแบ่งเขตนั้นไม่มีผลจำนวนของสมาชิกที่มาจากระบบสัดส่วน[4]

ในแบบสัดส่วนผสมซึ่งใช้ใน 8 ประเทศ ใช้การเลือกตั้งสภานิติบัญญัติมาจากสองส่วน คือ จากการลงคะแนนในเขตเลือกตั้ง (แบบแบ่งเขต) และจากระบบสัดส่วน แต่ในกรณีนี้ผลลัพธ์ของจำนวนที่นั่งที่มาจากระบบสัดส่วนนั้นจะปรับตามจำนวนที่นั่งของผู้แทนที่ได้จากแบบแบ่งเขตเพื่อที่จะให้จำนวนที่นั่งทั้งหมดของพรรคการเมืองเป็นสัดส่วนของจำนวนคะแนนเสียงทั้งหมดที่พรรคได้รับ[1] โดยวิธีนี้อาจทำให้เกิดปัญหา ที่นั่งเกิน (overhang seats) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อพรรคการเมืองชนะที่นั่งในแบบแบ่งเขตมากกว่าจำนวนสมาชิกที่พึงมีจากการนับคะแนนเสียงรวม

การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรก แก้

การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรก (primary elections) หรือ การเลือกตั้งแบบไพรแมรี เป็นลักษณะเฉพาะของระบบการลงคะแนนที่ใช้เพิ่มเติมโดยอาจจะใช้เป็นทางการในระบบการลงคะแนนนั้น ๆ หรืออาจนำมาใช้โดยพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเพื่อใช้ในการคัดเลือกตัวผู้สมัคร ตัวอย่างเช่น ประเทศอิตาลี การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรกช่วยจำกัดความเสี่ยงของการเสียงแตกโดยจะสามารถคัดผู้สมัครเพียงคนเดียวเท่านั้น ในอาร์เจนตินาใช้ระบบนี้เป็นมาตรฐานในระบบการลงคะแนน โดยจะใช้การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรกก่อนเป็นเวลาสองเดือนก่อนการเลือกตั้งทั่วไป โดยพรรคการเมืองใดที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าร้อยละ 1.5 จะไม่มีสิทธิ์ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทั่วไปได้ ในสหรัฐ ใช้การเลือกตั้งผู้สมัครรอบแรกในการเลือกตั้งทั้งผู้ที่สังกัดพรรค และในนามอิสระ

การเลือกตั้งทางอ้อม แก้

ในการเลือกตั้งบางประเภทมีลักษณะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งบางกรณีไม่มีการลงคะแนนเสียงเลย หรือจำกัดการลงคะแนนในขั้นตอนสุดท้ายของการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งโดยปกติในขั้นตอนสุดท้ายจะทำโดยคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ในหลายประเทศ เช่น มอริเชียสหรือตรินิแดดและโตเบโก ตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นถูกเลือกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ในอินเดีย การลงคะแนนทำโดยคณะผู้เลือกตั้งซึ่งประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ และฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐ ในสหรัฐ ประธานาธิบดีนั้นมาจากการเลือกตั้งทางอ้อมโดยขั้นตอนสองระดับ คือมีการลงคะแนนในระดับมลรัฐเพื่อเลือกสมาชิกคณะผู้เลือกตั้งซึ่งต่อไปจะเป็นผู้เลือกตั้งประธานาธิบดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่ผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในระดับประเทศไม่ชนะการลงคะแนนในระดับคณะผู้เลือกตั้ง เช่น การเลือกตั้งสหรัฐใน ค.ศ. 2000 และ ค.ศ. 2016

กฎเกณฑ์ แก้

นอกเหนือจากแบบการลงคะแนนดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ระบบการลงคะแนนยังมีกฎเกณฑ์ที่หลากหลายและเปิดกว้าง ซึ่งโดยปกติจะถูกกำกับไว้ในรัฐธรรมนูญปกครองประเทศนั้น ๆ หรือกฎหมายเลือกตั้ง โดยข้อบังคับเหล่านี้รวมถึง คุณสมบัติของผู้สมัคร การคัดเลือกผู้สมัคร การลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนน สถานที่ลงคะแนน ระบบลงคะแนนแบบออนไลน์ การลงคะแนนทางไปรษณีย์ และการลงคะแนนล่วงหน้า

กฎเกณฑ์อื่น ๆ รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับลงคะแนน เช่น บัตรลงคะแนน เครื่องลงคะแนน หรือระบบลงคะแนนแบบเปิด รวมทั้งวิธีการนับคะแนน การรับรองคะแนน และวิธีการที่ใช้ตรวจสอบ เป็นต้น

ประวัติศาสตร์ แก้

ก่อนประชาธิปไตย แก้

ประชาธิปไตยช่วงต้น แก้

การพัฒนาระบบการลงคะแนนใหม่ แก้

การเปรียบเทียบระบบการลงคะแนน แก้

ระบบลงคะแนนในหลายแบบสามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้หลายวิธี โดยความคิดเห็นของข้อดีด้อยในแต่ละระบบนั้นย่อมได้รับอิทธิพลมาจากผลกระทบโดยตรงจากกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านแนวคิดในแต่ละระบบซึ่งทำให้การเปรียบเทียบตามวัตถุประสงค์ (objective) นั้นเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามสามารถมีวิธีแก้ปัญหาด้านการเปรียบเทียบดังนี้:

วิธีหนึ่งคือการนิยามเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ให้ชัดเจนซึ่งจะสามารถตัดสินได้ว่าระบบการลงคะแนนใดผ่านหรือไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์ตามวัตถุประสงค์แต่การนำมาใช้จริงนั้นยังอาจจะไม่สามารถชี้ชัดได้

อีกหนึ่งวิธีคือการนิยามเกณฑ์ที่เหมาะสมโดยสมมติว่าไม่มีระบบการลงคะแนนใดที่จะผ่านเกณฑ์ได้สมบูรณ์ และจากนั้นให้ทดลองจัดการเลือกตั้งโดยกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่โดยมีหลายโจทย์เพื่อดูผลลัพธ์ ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ว่าแบบใดนั้นผ่านเกณฑ์ในทางปฏิบัติ แต่วิธีในการออกโจทย์สำหรับการเลือกตั้งทดลองสามารถถูกชี้นำได้

วิธีสุดท้ายคือการนิยามเกณฑ์ขึ้นมา และให้คณะกรรมการที่เป็นกลางนั้นประเมินผลของแต่ละวิธีอิงตามเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น โดยวิธีนี้สามารถมองเห็นถึงมิติต่างๆ ของระบบเลือกตั้งซึ่งอีกสองวิธีแรกนั้นมองข้ามไป แต่การจำกัดความนิยามเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้รวมถึงการประเมินผลนั้นก็ยังเป็นความเห็นส่วนตัวเชิงมุมมอง (subjective)

ตามผลการสำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการลงคะแนนเมื่อปี ค.ศ. 2006 ระบบเลือกตั้งที่ได้รับการลงคะแนนเรียงตามความชอบจากมากไปน้อยได้ดังนี้:[5]

  1. ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม
  2. ระบบถ่ายโอนคะแนนเสียง
  3. ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อเปิด
  4. ระบบคะแนนเสียงเผื่อเลือก
  5. ระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อปิด
  6. ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า
  7. ระบบสองรอบ
  8. ระบบคู่ขนาน
  9. ระบบเสียงเดียวโอนไม่ได้

ดูเพิ่ม แก้


อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 1.8 Table of Electoral Systems Worldwide เก็บถาวร 2017-05-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน IDEA
  2. Sri Lanka: Election for President IFES
  3. Ecuador: Election for President เก็บถาวร 2016-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน IFES
  4. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ IDG
  5. Bowler, Shaun; Farrell, David M.; Pettit, Robin T. (2005-04-01). "Expert opinion on electoral systems: So which electoral system is "best"?". Journal of Elections, Public Opinion and Parties. 15 (1): 3–19. doi:10.1080/13689880500064544. ISSN 1745-7289.