อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ในวันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ตั้งอยู่เลขที่ 14/16 ถนนราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร บริเวณสี่แยกคอกวัว สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2544

อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
อนุสรณ์สถานเมื่อปี 2563
แผนที่
ที่ตั้งสี่แยกคอกวัว เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเภทอนุสรณ์สถาน
เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2541
สร้างเสร็จพ.ศ. 2544
การเปิด14 ตุลาคม พ.ศ. 2544
อุทิศแด่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ในวันที่ 14 - 16 ตุลาคม พ.ศ. 2516

สถานที่

แก้

สถานที่จัดสร้างอนุสรณ์สถาน เช่ามาจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภายในอนุสรณ์สถานมีพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด สำนักงาน ห้องประชุม ลานกิจกรรม สวนสาธารณะ และประติมากรรมต่าง ๆ

หนึ่งในประติมากรรมที่เด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ สถูปวีรชน 14 ตุลา เป็นรูปกรวยคว่ำ สูง 14 เมตร จารึกรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด 72 คนและบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ รูปกรวยคว่าเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณการมนุษย์ ส่วนปลายยอดกรวยที่ดูเหมือนยังสร้างไม่เสร็จแทนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพที่ยังต้องดำเนินต่อไป

ประวัติการก่อสร้าง

แก้

การก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีประวัติอันยาวนาน เริ่มตั้งแต่มีการเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์สำหรับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2517 แต่ประสบอุปสรรคนานัปการ วีรชนเดือนตุลาที่กลุ่มการเมืองแทบทุกฝ่ายยกเว้นกองทัพเห็นงามด้วยทีแรกกลับถูกตีความใหม่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) ว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย เป็นเหตุให้ไม่ได้สร้างอนุสาวรีย์ทั้งที่วางศิลาฤกษ์แล้วในเดือนตุลาคม 2518[1]:266 เริ่มมีความพยายามสร้างอนุสาวรีย์แก่วีรชนเดือนตุลา และนักศึกษา 6 ตุลาในปี 2532 แต่ล่าช้ามาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายในปี 2541 มีการตั้งอนุสาวรีย์อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 ซึ่งศาสตราจารย์ธงชัย วนิจจะกุลแย้งว่าที่ตั้งได้ส่วนหนึ่งเพราะกันนักศึกษา 6 ตุลาไปแล้ว

ในปี 2532 รัฐบาลชาติชาย (ซึ่งตัวเขาเองสนับสนุนการเดินขบวนของฝ่ายขวาในเหตุการณ์ 6 ตุลา) ตกลงจะสร้างอนุสาวรีย์ แต่ก็ไม่ได้สร้าง ในปี 2538 แผนการสร้างอนุสาวรีย์ได้เริ่มขึ้นแล้วที่สวนสันติพร แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างถนนเลี่ยงเมืองในบริเวณนั้น ทำให้แผนต้องถูกยกเลิกไปอีก จนในปี 2541 ธีรยุทธ บุญมีอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอานันท์ ปันยารชุนเจรจาทำสัญญาส่วนตัวกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนสุดท้ายมีการสร้างอนุสาวรีย์จนได้ แต่อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 เท่านั้น[1]:268–9

จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2544 อนุสรณ์สถานแห่งนี้จึงจะสามารถสร้างได้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็ด้วยแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องจากขบวนการนิสิตนักศึกษา อดีตนักศึกษาในสมัย 14 ตุลา นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย

งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้มาจากเงินบริจาคของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และในโอกาสครบรอบ 28 ปี 14 ตุลา รวมกับเงินบริจาคของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นผู้รับผิดชอบ

ระเบียงภาพ

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 Thongchai Winichakul (2002). "Remembering/ Silencing the Traumatic Past". In Shigeharu Tanabe and Charles F. Keyes eds., Cultural Crisis and Social Memory: Modernity and Identity in Thailand and Laos. Honolulu: University of Hawaii Press.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°45′24″N 100°29′58″E / 13.756674°N 100.499352°E / 13.756674; 100.499352