การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและกลุ่มคนเสื้อแดง พ.ศ. 2553 เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 มีเป้าหมายเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่ ต่อมา รัฐบาลใช้มาตรการทางทหารเข้ากดดันกลุ่มผู้ชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ[1] และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 2,100 คน[2] จากนั้น อภิสิทธิ์ประกาศแผนปรองดอง ซึ่งผู้ชุมนุมมีข้อเรียกร้องเพิ่มเติม การชุมนุมจึงดำเนินต่อไป และอภิสิทธิ์ก็ประกาศยกเลิกวันเลือกตั้งใหม่ตามแผนปรองดอง ก่อนจะใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม จนกระทั่ง แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553
ตามเข็มนาฬิกาจากด้านบน:
  • ผู้ประท้วงฝ่ายนปช. ที่ถนนราชประสงค์ วันที่ 9 เมษายน 2553
  • การชุมนุมตามท้องถนนกลุ่มฝ่ายหญิง
  • การชุมนุมตามท้องถนนกลุ่มฝ่ายชาย
  • กลุ่มผู้ชุมนุมบนถนนสัญจรที่แยกราชประสงค์
  • กลุ่มผู้ชุมนุมที่เซ็นทรัลเวิลด์
สถานที่ประเทศไทย (ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร)
วันที่12 มีนาคม – 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
ตาย99 คน[1]
เจ็บมากกว่า 2,100 คน[2]
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย
ภาพสรุปเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งหรือเกี่ยวข้องกับ
วิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553

การเมืองไทยประวัติศาสตร์ไทย

การชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2552 เนื่องจากผู้ชุมนุมมีข้อสงสัยว่ากองทัพไทยอยู่เบื้องหลังการยุบพรรคพลังประชาชน พร้อมทั้งจัดตั้งรัฐบาลผสม ที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์[3] ในปีต่อมา นปช. ประกาศจะเริ่มการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553 อภิสิทธิ์จึงเพิ่มมาตรการรักษาความมั่นคงอย่างมาก รวมทั้งเข้มงวดกับการตรวจพิจารณาสื่อมวลชนและอินเทอร์เน็ต ตลอดจนสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ และสถานีวิทยุที่ดำเนินงานโดยกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่สามารถยับยั้งกลุ่มผู้ชุมนุมมิให้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครได้..

ผู้ชุมนุมส่วนมากเดินทางมาจากต่างจังหวัด แต่ก็มีชาวกรุงเทพมหานครส่วนหนึ่งเข้าร่วมการชุมนุมเช่นกัน[4] การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม สื่อต่างประเทศรายงานว่าเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย[5] โดยในช่วงแรก การชุมนุมเกิดขึ้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศบนถนนราชดำเนินและเป็นไปโดยสงบ กลุ่มผู้ชุมนุมใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การเดินขบวนรอบกรุงเทพมหานคร การรวบรวมเลือดไปเทที่หน้าประตูทำเนียบรัฐบาล หน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และหน้าบ้านพักอภิสิทธิ์เพื่อกดดันรัฐบาล จากนั้นมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับผู้ชุมนุมสองครั้ง ได้ข้อสรุปว่าจะมีการยุบสภา แต่ไม่สามารถสรุปวันเวลาได้ โดยทั้งก่อนและระหว่างการชุมนุม มีการยิงลูกระเบิดชนิดเอ็ม-79 หลายสิบครั้ง แต่ก็ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำมาลงโทษได้แม้แต่คนเดียว[6]อย่างไรก็ตามกรมสอบสวนคดีพิเศษแถลงจับผู้ต้องสงสัย 3 ราย[7] วันที่ 15 มีนาคม ทหารบาดเจ็บสาหัส 2 ราย จากการยิงลูกระเบิดชนิดเอ็ม-79 ได้แก่ จ.ส.อ.ปรีชา ปานสมุทร ผบ.กองรักษาการณ์ พลทหารหนุ่ม ศรีเฟื้อง ทหารเวรยาม[8]

ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมปิดการจราจรที่ แยกราชประสงค์ รวมทั้งสร้างแนวป้องกันในบริเวณโดยรอบ วันที่ 8 เมษายน อภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่าห้าคนขึ้นไป และในวันที่ 10 เมษายน กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 24 ศพ มี นาย ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตรวมอยู่ด้วย 1 คน และทหารเสียชีวิต 5 นาย ตลอดจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 800 คน สื่อไทยเรียกการสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า "เมษาโหด"[9] วันที่ 14 เมษายน แกนนำประกาศรวมที่ชุมนุมไปยังแยกราชประสงค์เพียงแห่งเดียว วันที่ 22 เมษายน เหตุปาระเบิดมือทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คนได้แก่ นางธันยนันท์ แถบทอง และได้รับบาดเจ็บอีก 86 คน กลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนบุกเข้าไปใน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อหาตัวผู้ลงมือ แต่หาไม่พบ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติวิทยาศาสตร์ แพทย์หญิง คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในภายหลังชี้ว่าโรงพยาบาลอาจเป็นแหล่งของผู้ลงมือ แต่ไม่มีการจับกุมผู้กระทำแต่อย่างใด[10] เมื่อวันที่ 28 เมษายน ระหว่างที่ผู้ชุมนุมจากแยกราชประสงค์ กำลังเดินทางไปให้กำลังใจกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตลาดไท ย่านรังสิต ชานกรุงเทพมหานคร แต่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแนวขวางกั้น กลางถนนวิภาวดีรังสิต จนเกิดการปะทะกัน โดยมีทหารเสียชีวิต 1 นาย ในเหตุการณ์นี้ ได้แก่ พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี

อภิสิทธิ์เสนอแนวทางปรองดอง เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ซึ่งเสนอให้จัดการเลือกตั้งใหม่ แต่อภิสิทธิ์ก็ยกเลิกข้อเสนอดังกล่าวไปเอง[11] หลังจากที่แกนนำ นปช. ยื่นข้อเรียกร้องให้รองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ เข้ามอบตัวกับตำรวจ แม้จะมีท่าทียอมรับในระยะแรกก็ตาม ต่อมา รัฐบาลสั่งการให้กำลังทหารเข้าล้อมพื้นที่แยกราชประสงค์ ด้วยกำลังรถหุ้มเกราะและพลซุ่มยิง[12] ในระหว่างวันที่ 14-18 พฤษภาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 41 ศพ และบาดเจ็บกว่า 250 คน ซึ่งกองทัพอ้างว่า พลเรือนถูกยิงโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายหรือไม่ก็ถูกยิงเพราะติดอาวุธ หรือถูกผู้ก่อการร้ายยิง และชี้ว่าผู้ก่อการร้ายบางคนแต่งกายในชุดทหาร[13] ทหารเสียชีวิตนายหนึ่งเพราะถูกพวกเดียวกันยิง[14] สื่อไทยเรียกการสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า "พฤษภาอำมหิต"[15] กองทัพได้ประกาศ "เขตใช้กระสุนจริง" โดยทุกคนที่พบเห็นในเขตดังกล่าวจะถูกยิง และเจ้าหน้าที่แพทย์ถูกห้ามไม่ให้เข้าไปในพื้นที่[16][17][18][19] จนวันที่ 19 พฤษภาคม กำลังทหารเข้ายึดพื้นที่เป็นครั้งสุดท้าย จนถึงแยกราชประสงค์ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม และยอมมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นผลให้ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจ จากนั้น เกิดการก่อจลาจลและวางเพลิงสถานที่หลายแห่งทั่วประเทศ[20] ในช่วงค่ำ รัฐบาลประกาศห้ามออกจากเคหสถานในหลายจังหวัด และให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่องนำเสนอรายการของรัฐบาลเท่านั้น โดยทหารได้รับคำสั่งให้ใช้อาวุธปืนยิง ผู้ที่ทำการปล้นสะดม วางเพลิง หรือก่อความไม่สงบได้ทันที[20] ผู้ชุมนุมจำนวน 51 คนยังคงหายสาบสูญจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน[21] รัฐบาลอ้างว่าการประท้วงดังกล่าวจะต้องใช้เงินทุนถึง 150,000 ล้านบาท[22] ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2560 ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก บุคคลสองราย เป็นเวลา 10 ปี[23]ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556 จำนวนผู้เสียชีวิตที่ทราบชื่อทั้งหมดรวม 107 ราย เป็นการถูกสังหาร 106 ราย อุบัติเหตุประกอบระเบิดผิดพลาดส่งผลให้ตัวเองถึงแก่ความตาย 1 ราย

เบื้องหลัง แก้

ลำดับเหตุการณ์
12 มีนาคม เริ่มการชุมนุม มีการชุมนุมย่อยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร
16-17 มีนาคม ผู้ชุมนุมเจาะเลือดไปเทที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลและที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์[24] และบ้านพักนายกรัฐมนตรี[25]
20 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมจัดขบวนรถเคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพมหานครตามเส้นทางสำคัญ
28-29 มีนาคม ตัวแทนรัฐบาลเจรจาเรื่องการยุบสภากับตัวแทน นปช. สองรอบ ได้ข้อสรุปว่าจะให้ยุบสภา แต่ยังไม่กำหนดเวลา
3 เมษายน ย้ายไปชุมนุมบางส่วนยังแยกราชประสงค์
7 เมษายน นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
8-9 เมษายน รัฐบาลนำกำลังทหารเข้าระงับการออกอากาศของสถานีประชาชน; กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานี จนสถานีกลับมาออกอากาศได้อีกครั้ง แต่กำลังทหารก็ได้เข้าระงับการออกอากาศอีก
10 เมษายน เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีผู้เสียชีวิต 27 ศพ บาดเจ็บ 1,427 ราย[26][27][28]
16 เมษายน ตำรวจหน่วยอรินทราช 26 บุกจับกุมแกนนำ นปช. ที่โรงแรมเอสซีปาร์ค แต่ไม่สำเร็จ
28 เมษายน เจ้าหน้าที่สลายขบวนผู้ชุมนุมบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ มีผู้บาดเจ็บกว่า 16 ศพ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย[29]
29 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
12 พฤษภาคม ศอฉ. ประกาศตัดระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชนรอบแยกราชประสงค์
13 - 18 พฤษภาคม ทหารกระชับพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ มีผู้เสียชีวิต 43 ศพ[30]
19 พฤษภาคม ทหารสลายการชุมนุม เสียชีวิต 15 ศพ; แกนนำ นปช. ประกาศยุติการชุมนุม

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุบ 3 พรรคการเมือง ซึ่งพรรคพลังประชาชนเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ซึ่งทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นอันต้องยุติลง อีกทั้งศาลยังตัดสินให้นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มีการรายงานจากสื่อมวลชนบางแห่งว่า พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้สนับสนุน หรือบีบบังคับ ให้ ส.ส.จำนวนหนึ่ง มาสนับสนุนนายอภิสิทธิ์[3]แต่ไม่มีหลักฐานสนับสนุนในเรื่องนี้ ในกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติก็ยังเป็นเพียงความเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น โดย ส.ส.เหล่านั้น เป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา ที่นำโดย พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์, พรรคภูมิใจไทย และกลุ่มเพื่อนเนวิน ซึ่งเป็นอดีตสมาชิกพรรคพลังประชาชนบางส่วน[31] สนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[32][33][34] และชนะการลงมติให้เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551 โดยมี พล.ต.อ. ประชา พรหมนอก เป็นคู่แข่ง จึงทำให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภา ต้องกลายเป็นฝ่ายค้าน[35]

การเตรียมการ แก้

ฝ่ายผู้ชุมนุม แก้

วันที่ 8 มีนาคม นาย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติยืนยันว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะเข้าร่วมการชุมนุมใหญ่ที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 14 มีนาคมนี้ อย่างแน่นอน โดยยึดหลักประชาธิปไตย ไม่สร้างความวุ่นวายให้กับบ้านเมือง โดยการชุมนุมครั้งนี้ยึดหลักสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง และได้วางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างรัดกุม[36]วันที่ 12 มีนาคม 2553

ฝ่ายรัฐบาล แก้

วันที่ 11 มีนาคม นาย สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง พร้อมด้วย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก อภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผู้บัญชาการทหารบก พลเอก พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบก พลโท คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 พลตำรวจเอก ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลตำรวจโท สัณฐาน ชยนนท์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุมกองอำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ที่กองบัญชาการกองทัพบก

โดยได้นำชุดควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งชายและหญิง ชุดสายตรวจ ชุดสายตรวจ ชุดปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วยสวาท ชุดจู่โจมเคลื่อนที่เร็ว หรือชุดปะ ฉะ ดะ เพื่อให้ประชาชนรับทราบเจ้าหน้าที่ของตำรวจที่จะปฏิบัติหน้าที่ในช่วงประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ระหว่างวันที่ 11–23 มีนาคม พ.ศ. 2553

นายสุเทพ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่จะดูแลความสงบเรียบร้อยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ประกาศเป็นพื้นที่ความมั่นคง มีชุดสายตรวจ ชุดปฏิบัติการพิเศษหรือหน่วยสวาท ชุดจู่โจมเคลื่อนที่เร็ว หรือชุด ปะ ฉะ ดะ จะมีอาวุธติดตัว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ โดยจะมีเครื่องหมายเลขชัดเจน

ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2553 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่งตั้งให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย[37]

วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 ผู้ชุมนุมสามารถยึดแยกราชประสงค์ได้สำเร็จและปักหลักค้างคืนเป็นคืนแรก

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2553 พ.ต.ท.จุมพล คณานุรักษ์ รองผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการ 5 กองบังคับการอำนวยการกองบัญชาการตำรวจนครบาล เข้าเจรจาและมาแจกเอกสารประกาศของ ศอ.รส.เรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดฉบับทื่ 5 บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ[38]วัตถุประสงค์ของการแจกเอกสารเพื่อแจ้งผู้ชุมนุมว่าสามารถกลับมาที่บริเวณถนนราชดำเนิน สะพานผ่านฟ้าได้เนื่องจากขณะนั้นผู้ชุมนุมได้ยึดแยกราชประสงค์เป็นวันที่สอง

วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยม พันโท เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช และ จ่าสิบเอก ปรัชญา สูงสันเขต ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎ[39]

ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553 พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ ที่ ร.11 รอ. พล.อ.อนุพงษ์ ได้เรียก ผบ.หน่วย ที่รับผิดชอบปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าร่วมประชุมรับนโยบาย โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผบ.ทบ. พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผช.ผบ.ทบ. พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสธ.ทบ. พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รองเสธ.ทบ. พล.ท.โปฎก บุนนาค ผบ.นสศ. พล.ท.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ผบ.นปอ. พล.ต.อุกฤษฎ์ ณรงค์วิทย์ ผบ.มทบ.11 พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผบ.พล.1 รอ. พล.ต.สุรศักดิ์ บุญสิริ ผบ.พล.ม.2 รอ. พล.ต.อำพล ชูประทุม ผบ.พล.ปตอ. พล.ต.อุทิศ สุนทร ผบ.พล.ร.9 พ.อ. พ.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ รองผบ.พล.ร.2 รอ. ปฏิบัติหน้าที่แทน พล.ต.วลิต โรจนภักดี ผบ.พล.ร.2 รอ.ที่บาดเจ็บจากการปะทะเมื่อวันที่ 10 เมษายน เข้าร่วมประชุม[40]

สถานที่ชุมนุมหลัก แก้

สะพานผ่านฟ้าลีลาศ แก้

เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 โดยเวทีตั้งอยู่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และชุมนุมตลอดแนวถนนราชดำเนินกลางไปจนถึงลานพระราชวังดุสิต และในวันที่ 14 เมษายน ได้ยุบเวทีไปรวมกันที่แยกราชประสงค์ และเปิดเส้นทางจราจร เนื่องจากทางแกนนำไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ และเป็นการคืนพื้นที่ให้ตามที่รัฐบาลเรียกร้อง[41] โดยมี ส.ส. พรรคเพื่อไทยขึ้นเวทีปราศัย อาทิ ลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ จาตุรนต์ ฉายแสง วิภูแถลง พัฒนภูมิไท[42] และอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก ชัยสิทธิ์ ชินวัตร

แยกราชประสงค์ แก้

วันที่ 27 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเคลื่อนไปยังแยกราชประสงค์ ย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เพื่อเลียนแบบการชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. 2549[43] วันที่ 3 เมษายน มีการเคลื่อนขบวนมาปักหลักบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเต็มไปด้วยผู้ชุมนุมจำนวนมาก กระจายกันอยู่เต็มผิวจราจร ตั้งแต่แยกประตูน้ำ ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ต่อเนื่องไปจนถึงถนนราชดำริ โดยพิธีกรบนเวทีแจ้งว่า คืนนี้จะปักหลักชุมนุมข้ามคืน ที่แยกราชประสงค์[44]

ยุทธศาสตร์ แก้

การเทเลือด แก้

วันที่ 16 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมเจาะเลือดคนละ 10 ซีซี เพื่อที่จะนำไปเทยังสถานที่ต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนออกจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมไปถึงทำเนียบรัฐบาลไทย และเทเลือดบริเวณประตูของทำเนียบตั้งแต่ประตูที่ 2 ถึง 8 ต่อมาเวลา 18.45 น. กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางมาถึงที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ และเข้าไปเทเลือดที่บริเวณหน้าบันไดทางขึ้นของที่ทำการพรรค ส่วนเลือดที่เหลืออีก 10 แกลลอนนั้นได้เทลงยังบริเวณด้านหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เสร็จสิ้นแล้วจึงเคลื่อนขบวนกลับไปยังสะพานผ่านฟ้าลีลาศตามเดิม[45]

วันที่ 17 มีนาคม ช่วงเช้า เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 11.50 น. ทางกลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนเพื่อที่จะไปเทเลือดบริเวณหน้าบ้านพักของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ซอยสุขุมวิท 31 โดยมี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เป็นผู้คุมสถานการณ์ กลุ่มผู้ชุมนุมนำโดย อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง ได้ฝ่าวงล้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บุกไปถึงหน้าบ้านพักนายกรัฐมนตรี พร้อมเทเลือดกองบนพื้นถนนท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก[46][47] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จารุพรรณ กุลดิลก กล่าวสนับสนุนการเทเลือดในรายการพิเศษ "ฝ่าวิกฤตการเมือง ตอบคำถามคนของอนาคต" สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ซึ่งออกอากาศในวันเดียวกัน เมื่อเวลา 16.00 - 17.00 น. ตอนหนึ่งว่า "เลือดเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่มีมาแต่สมัยบรรพบุรุษ การเสียเลือดเสียเนื้อเป็นสิ่งที่สะเทือนใจ เพื่อไม่ให้บาดเจ็บล้มตายกันจริง ๆ เราก็ใช้สัญลักษณ์นี้เป็นตัวแทนการสละเลือดเพื่อชาติ"[48]

ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ Christian Sciene Monitor ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับ 10 การประท้วงสุดพิสดาร ปรากฏว่า การเทเลือดของกลุ่ม นปช. ถูกจัดให้เป็นอันดับ 1 ของการประท้วงสุดพิสดาร[49]

ขบวนรถดาวฤกษ์ แก้

 
ขบวนรถของกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกคลองตัน

วันที่ 20 มีนาคม กลุ่มผู้ชุมนุมจัดขบวนรถจำนวนมาก โดยเคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพมหานครตามเส้นทางสายสำคัญต่าง ๆ โดยทางแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงอ้างว่าตลอดทางมีประชาชนมาร่วมให้กำลังใจเป็นจำนวนมาก โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. จนกระทั่งสิ้นสุดเมื่อเวลา 18.00 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ประเมินตัวเลขจำนวนผู้ชุมนุมในวันนี้ไม่น้อยกว่า 100,000 คน รถจักรยานยนต์ ประมาณ 10,000 คัน และรถยนต์ประมาณ 7,000 คัน[50]

 
การเคลื่อนขบวนทั่วกรุงเทพมหานคร

วิทยุชุมชน แก้

มีการเผยแพร่ถ่ายทอดเสียงทางวิทยุชุมชนของกลุ่มเพื่อเพิ่มความเกลียดชังรัฐบาลในขณะนั้น[51]

การโกนผม แก้

วันที่ 25 มีนาคม เสกสกล อัตถาวงศ์ พร้อมแกนนำคนอื่น อาทิ วันชนะ เกิดดี, ยศวริศ ชูกล่อม รวมทั้งผู้ชุมนุมทั้งผู้ชาย ผู้หญิงและเด็กที่สมัครใจได้ทำการโกนศีรษะเพื่อประท้วงนายกรัฐมนตรีและขับไล่รัฐบาล รวมทั้งทำพิธีสาปแช่งนายกรัฐมนตรี โดยมี อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงโกนผมให้ เสกสกล อัตถาวงศ์ ขณะที่พระสงฆ์ประมาณ 15 รูป โกนผมให้แก่ผู้ชุมนุม บนเวทีหลักสะพานผ่านฟ้าลีลาศ[52]

การเคลื่อนขบวนกดดันทหาร แก้

วันที่ 27 มีนาคม คนเสื้อแดงได้เคลื่อนขบวนไปกดดันทหารให้ถอนกำลังกลับกรมกองตามจุดต่าง ๆ เอเอฟพีระบุว่ามีผู้เข้าร่วมชุมนุมประมาณ 80,000 คน[53]

การแห่ศพผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม แก้

วันที่ 12 เมษายน เวลา 10.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนแห่ศพผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมออกจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยขบวนประกอบด้วยรถยนต์บรรทุกโลงศพจำนวนทั้งสิ้น 17 คัน พร้อมด้วยขบวนรถจักรยานยนต์และผู้ชุมนุมที่เดินเท้าตาม ซึ่งผู้ชุมนุมได้นำธงชาติไทยมาคลุมโลงศพพร้อมรูปผู้เสียชีวิต[54]

การยกเลิกใส่เสื้อแดงชั่วคราว แก้

 
กลุ่มผู้ชุมนุมแสดง ตีนตบ
 
กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณห้างมาบุญครอง

วันที่ 24 เมษายน เวลา 18.00 น. วีระกานต์ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช. กล่าวบนเวทีปราศรัยว่าจะมีการปรับยุทธวิธีตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยังยึดแนวทางที่สันติวิธี

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. ขอความร่วมมือจากกลุ่มคนเสื้อแดง

  1. ให้ถอดเสื้อสีแดง และวางสัญลักษณ์ของ นปช. จนกว่ารัฐบาลจะประกาศยุบสภา
  2. อาสาสมัครจักรยานยนต์ไปประจำด่าน ทั้ง 6 ด่าน จำนวนด่านละ 2 พันคัน
  3. ให้คนเสื้อแดงทั่วประเทศคอยสังเกตการณ์กองกำลังทหาร และตำรวจที่พยายามจะเข้ามาในกรุงเทพมหานคร หากพบให้ทำการขัดขวางอย่างสันติ
  4. ให้กลุ่มคนเสื้อแดงกระทำและปฏิบัติตัวอย่างใดก็ได้อย่างอิสระ
  5. ให้ทุกคนจับกลุ่มย่อยละ 5 คน แลกเบอร์โทรศัพท์มือถือ และทำความรู้จักกันไว้ เพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารกัน

ณัฐวุฒิกล่าวอีกว่ามาตรการทั้งหมดนี้ เป็นมาตรการที่เตรียมไว้รับมือกับอภิสิทธิ์ เชื่อว่าภายใน 48 ชั่วโมงนี้ (24-26 เมษายน) อภิสิทธิ์ได้เตรียมการที่จะสลายการชุมนุม พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มคนเสื้อแดงทั่วประเทศเดินทางเข้ามาชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อแสดงความไม่ต้องการรัฐบาลอำมาตย์[55]

เหตุการณ์สำคัญ แก้

การเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำ นปช. แก้

วันอาทิตย์ที่ 28 มี.ค. เมื่อเวลา 19.30 น. การเจรจาของตัวแทนรัฐบาล และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เสร็จสิ้นลงหลังจากที่ใช้เวลาในการเจรจาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง โดยยังไม่ได้ข้อยุติและได้มีการนัดเจรจาใหม่ในวันจันทร์ที่ 29 มี.ค. เวลา 18.00 น. ที่สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ทั้งนี้นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำนปช. ได้ยื่นข้อเสนอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะนำเงื่อนไขที่ได้จากการหารือร่วมกันไปพิจารณาทางออกต่างๆ ก่อนจะกลับมาเจรจาร่วมกันอีกครั้ง สำหรับเนื้อหาการเจรจาโดยสรุปนั้นในช่วงแรก นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวขอบคุณแกนนำนปช. ที่มาเจรจากันพร้อมย้ำว่าไม่ปฏิเสธเรื่องการยุบสภา เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระบบ แต่มีคำถามว่า ยุบเพื่อวัตถุประสงค์อะไร โดยยืนยันพรรคร่วมสนับสนุนการเจรจาในครั้งนี้ แต่การตัดสินใจต้องฟังความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยว่า การยุบสภาจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ ซึ่นตนต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของคนทั้งประเทศ[56]

การปิดดี-สเตชัน แก้

วันที่ 8 เมษายน หลังจากที่สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปแจ้งให้ไทยคมระงับการแพร่สัญญาณภาพและเสียงของดี-สเตชัน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมปักหลักชุมนุมอยู่ที่บริเวณสถานีดาวเทียมไทยคม ที่ตั้งอยู่ถนนรัตนาธิเบศร์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และสถานีบริการภาคพึ้นดินไทยคม ซึ่งตั้งอยู่ถนนสายลาดหลุมแก้ว-วัดเจดีย์หอย ตำบลบ่อเงิน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณ[57]

วันที่ 9 เมษายน กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อเรียกร้องให้ยุติการระงับการเผยแพร่สัญญาณการออกอากาศของดี-สเตชันโดยได้มีการนำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตา ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในสถานีและกองทัพต้องถอนกำลังออกไป[58][59][60] หลังจากที่มีการยืนยันว่าทางดี-สเตชันจะมีการออกอากาศอย่างแน่นอน กลุ่มผู้ชุมนุมจึงเคลื่อนขบวนกลับไปยังที่ตั้ง[61] ทว่าหลังจากนั้นได้มีการระงับการออกอากาศอีกครั้งหลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่[62]

การสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แก้

 
บรรยากาศการจุดเทียนและวางพวงมาลัย บริเวณที่เกิดเหตุ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในคืนวันที่ 10 เมษายน เมื่อวันที่ 11 เมษายน

วันที่ 10 เมษายน รัฐบาลได้นำกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยในเวลาประมาณ 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ฉีดน้ำออกจากกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 และพยายามปิดประตู พร้อมขึงรั้วลวดหนาม นอกจากนี้มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตายิงด้วย

หลังจากนั้นจนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง ระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในบริเวณต่าง ๆ ใกล้กับที่ชุมนุม เช่น ถนนดินสอ ช่วงวงเวียนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนตะนาว ช่วงแยกคอกวัว ฝั่งเชื่อมต่อถนนข้าวสาร[63] โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 1,427 ราย[64][65] สื่อต่างประเทศรายงานว่าการสลายการชุมนุมดังกล่าวเป็นความรุนแรงทางการเมืองครั้งเลวร้ายที่สุดในกรุงเทพมหานครในรอบ 18 ปี[66]

การล้อมจับแกนนำผู้ชุมนุมที่โรงแรมเอสซีปาร์ค แก้

เมื่อช่วงเช้าวันที่ 16 เมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยอรินทราช บุกเข้าปิดล้อมโรงแรมเอสซีปาร์ค เพื่อพยายามจับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม ประกอบด้วยอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง, สุภรณ์ อัตถาวงศ์, พายัพ ปั้นเกตุ, ยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก และวันชนะ เกิดดี โดยอริสมันต์ได้โรยตัวออกทางระเบียง โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 300-400 รายคอยให้ความช่วยเหลือ[67] หลังจากนั้นนายอริสมันต์นำกลุ่มคนเสื้อแดงไปล้อมเจ้าหน้าที่อีกชั้น และชิงตัวแกนนำคนอื่น ๆ ออกมาได้ในที่สุด ซึ่งปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ทำให้ทางโรงแรมได้รับความเสียหายบางส่วน ขณะที่การจราจรโดยรอบต้องปิดไปโดยปริยาย[68]

การขอพึ่งพระบารมี แก้

เมื่อวันที่ 19 เมษายน พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และ นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์[69] ได้แถลงการณ์ขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทำการพรรคเพื่อไทยต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม จตุพร พรหมพันธุ์[70] ได้แถลงการณ์ขอพึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

การยิงระเบิด เอ็ม-79 ในย่านสีลม แก้

เมื่อคืนวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553 ได้เกิดเหตุระเบิด 5 ครั้งบริเวณถนนสีลม โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. รวมตัวการชุมนุมอยู่แยกศาลาแดงฝั่งถนนสีลม ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของตำรวจ โดยเสียงระเบิดดังขึ้น 3 ครั้ง ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง เสียงระเบิดทำให้ประชาชนที่อยู่บนสถานีและกลุ่มต่อต้าน นปช. เกิดความโกลาหล ระเบิดลูกที่ 4 ได้ระเบิดขึ้นบริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ใต้ทางเดินลอยฟ้าเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (สกายวอล์ก) ต่อมา เวลา 20.45 น. ระเบิดลูกที่ 5 ก็ระเบิดขึ้นที่หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศาลาแดง

เหตุระเบิดที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้บาดเจ็บทั้งหมด 87 คน สาหัส 3 คน โดยผู้บาดเจ็บถูกส่งไปรักษาตัวตามโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยรอบบริเวณการชุมนุม มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 3 คน[71] ส่วนตัวสถานีรถไฟฟ้าศาลาแดงนั้นได้รับความเสียหายบริเวณหลังคา และตัวรถไฟฟ้าได้รับความเสียหายบริเวณคอมเพรสเซอร์สำหรับระบบปรับอากาศ ทำให้ระบบปรับอากาศภายในตัวรถไฟฟ้าไม่ทำงาน

การสลายขบวนบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ แก้

วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2553 เมื่อเวลา 09.30 น. ขวัญชัย ไพรพนา แกนนำ นปช. ประกาศจะเคลื่อนขบวนไปยังตลาดไท เพื่อให้กำลังใจกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้มาถึงฐานทัพอากาศดอนเมือง ก่อนจะมุ่งหน้าต่อไปยังอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ทางกลุ่มได้หยุดเจรจากับเจ้าหน้าที่ที่ตั้งด่านสกัดอยู่ แต่ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางใส่จนกลุ่มผู้ชุมนุมถอยกลับมา[72]

ต่อมา จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงยอดผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์บริเวณหน้าอนุสรณ์สถานแห่งชาติว่า จากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเบื้องต้น พบมีผู้บาดเจ็บ 16 ราย ในจำนวนนี้ 10 ราย ส่งเข้ารักษาที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีสาหัส 1 ราย บาดเจ็บที่ช่องทองต้องเข้ารับผ่าตัด และอีก 3 ราย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแพทย์รังสิต ซึ่งก็มีสาหัส 1 รายที่ต้องผ่าตัดเช่นกัน เนื่องจากถูกยิงที่หน้าอก[73]

สำนักข่าวต่างประเทศ เช่น ซีเอ็นเอ็นและบีบีซี รายงานเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุม ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณเปิดเผยมีจำนวนผู้ชุมนุมบาดเจ็บอย่างน้อย 16 รายระหว่างการปะทะกัน ขณะที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 1 ราย จากกระสุนปืนของทหารด้วยกัน[74]ได้แก่พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี

การขอเข้าตรวจสอบโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แก้

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 พายัพ ปั้นเกตุ แกนนำ นปช. กล่าวว่าตนได้ไปตรวจสอบภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อ้างว่าภายในตึกโรงพยาบาลมีกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและปืนซุ่มยิงอยู่ครบมือ หากไม่ถอนกำลังทหารออกไปให้หมดภายในคืนนี้ ตนพร้อมจะนำสื่อมวลชนและกลุ่มคนเสื้อแดงไปตรวจสอบที่โรงพยาบาลทันทีเพื่อไปขอพื้นที่โรงพยาบาลคืนให้กับประชาชน[75] รวมทั้งในพื้นที่สวนลุมพินี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7 กองร้อยและในถนนสีลม ไม่ว่าจะเป็นตึกซีพี หรือธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลมก็มีกำลังทหารจำนวนมาก[76] ซึ่งภายหลังได้มีการยืนยันออกมาว่า ไม่ได้มีกำลังทหารตามที่ได้ถูกกล่าวอ้างแต่อย่างใด[77]

เวลา 19.00 น. พายัพและกลุ่มคนเสื้อแดงเดินทางไปถึงโรงพยาบาล เพื่อขอตรวจสอบตึกในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม พายัพได้เจรจากับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลจะให้การ์ดเดินแถวเรียงหนึ่งตรวจตึก แต่เมื่อเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เข้าไป การ์ดเสื้อแดงกลุ่มใหญ่ได้กระจายเข้าค้นทั่วโรงพยาบาล[78]

ด้านแกนนำ นปช. หลายคน เช่น นายแพทย์ เหวง โตจิราการ, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แถลงขอโทษเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนทางด้าน พายัพ ปั้นเกตุ อ้างว่า จากการสังเกตการณ์หลายวัน พบว่ามีการเคลื่อนไหวของทหารในโรงพยาบาลจริง จึงต้องการเรียกร้องโรงพยาบาล และบริษัทเอกชนที่มีอาคารสูงรอบพื้นที่การชุมนุม อย่าให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้พื้นที่หรือให้ที่พักพิง[79]

ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม มติแกนนำ นปช.เปิดสองฝั่งให้รถสามารถกลับรถหน้าโรงพยาบาลได้ พร้อมทั้งรื้อบังเกอร์เกาะกลางถนนในตอนบ่าย แต่ไม่ได้ถอยกลับไปที่แยกสารสินแต่อย่างใด[80]

การยิงระเบิด เอ็ม-79 ที่สวนลุมพินี และยิงปืนที่สีลม แก้

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 22.45 น. บริเวณแยกศาลาแดง เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ยืนเฝ้าที่หน้าธนาคารกรุงไทย สาขาย่อย อาคารซูลิก เฮ้าส์ ถนนสีลม ทำให้กระจกหน้าธนาคารกรุงไทย ใกล้ตู้เอทีเอ็ม แตก 1 บาน มีรอยร้าว มีรูกระสุน 1 รู มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4 ราย[81] ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่าคนร้ายน่าจะขับขี่รถจักรยานยนต์ออกมาจากสีลม และคนซ้อนท้ายได้ใช้ปืนกราดยิง จากถนนฝั่งตรงข้าม บริเวณร้านแมคโดนัลด์ ก่อนจะขับรถหนีออกไปถนนพระรามที่ 4[82] อย่างไรก็ตาม รายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 รายงานว่า มือปืนได้ยิงกราดเข้ามาใส่บริเวณกลางจุดการชุมนุมของชาวสีลม ซึ่งมีประมาณ 20-30 คน ห่างจากร้านกาแฟโอบองแปงประมาณ 10 เมตร[83]

เมื่อเวลาประมาณ 01.25 น. สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บรวม 4 ราย ตำรวจบาดเจ็บสาหัส 2 ราย รวม 6 ราย[84]ด.ต.วิสูตร บุญยังมาก และ ด.ต. บรรจบ โยมา บาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้ แกนนำ นปช. ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดขึ้น

เมื่อเวลา 01.30 น. ได้เกิดเหตุระเบิดที่บริเวณทางเข้าสวนลุมพินี ประตู 4 ถนนพระรามที่ 4 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นด่านตรวจของตำรวจและทหาร จำนวน 3 ครั้ง เบื้องต้นคาดว่าเป็นชนิดเอ็ม 79 เบื้องต้นมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เบื้องจากการตรวจสอบวิถีกระสุนในเบื้องต้น คนร้ายน่าจะยิงวิถีโค้ง ข้ามสะพานลอย น่าจะเป็นการยิงมาจากทางด้านแยกศาลาแดง[85] เมื่อเวลา 05.00 น. พบเจ้าหน้าที่ 1 นายเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว[86]ผู้เสียชีวิต

  1. จ่าสิบตำรวจ วิทยา พรหมสำลี
  2. สิบตำรวจเอก กาณนุพัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ 

การสลายการชุมนุม 13-19 พฤษภาคม แก้

ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลได้ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม และรถหุ้มเกราะ เข้าปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ บริเวณแยกราชประสงค์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม ทั้งสิ้น 56 ศพ[87] ในบรรดาผู้เสียชีวิตมีชาวต่างประเทศรวมอยู่สองศพและเจ้าหน้าที่กู้ชีพอีกสองศพ[88] ได้รับบาดเจ็บ 480 คน[89] และจนถึงวันที่ 8 มิถุนายน กลุ่มผู้ชุมนุมยังสูญหายอีกกว่า 51 คน[90] หลังแกนนำผู้ชุมนุมเข้ามอบตัวกับตำรวจเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ได้เกิดเหตุเผาอาคารหลายแห่งทั่วประเทศ รวมทั้ง เซ็นทรัลเวิลด์[91] สื่อต่างประเทศบางแห่ง ขนานนามการสลายการชุมนุมดังกล่าวว่า "สมรภูมิกรุงเทพมหานคร"[92][93]

การชุมนุมในต่างจังหวัด แก้

 
ความไม่สงบที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม
 
ความไม่สงบที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม
 
ความไม่สงบที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม

การชุมนุมในต่างจังหวัดเริ่มตั้งแต่ วันที่ 6 มีนาคม 2553 นาย ไพโรจน์ ตันบรรจง นาย วิสุทธิ์ ไชยณรุณ และ น.ส.อรุณี ชำนาญยา ได้ประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ประสานงานเสื้อแดงทั่วพื้นที่จังหวัดพะเยา จำนวนกว่า 60 คน ณ ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลตำบล(ทต.)ห้วยข้าวก่ำ อ.จุน จ.พะเยา โดยการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมและเช็คยอดจำนวนรถกระบะ และผู้ร่วมชุมนุม ก่อนเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 มีนาคม 2553[94]

ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553 นาย ฉลอง แสงราษฎร์เมฆินทร์ และ นาย ศักนรินทร์ กองแก้ว ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมไปประท้วง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ที่ วัดสุทธจินดาวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช[95]

ในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553 ดวงแข อรรณนพพร เรืองเดช สุพรรณฝ่าย ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำในการตรวจค้นรถยนต์และปิดถนนมิตรภาพ[96] วันที่ 21 เมษายน กลุ่มคนเสื้อแดงรวมตัวชุมนุมบริเวณสถานีรถไฟขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อสกัดไม่ให้ขบวนรถไฟลำเลียงทหาร อาวุธและยานพาหนะกว่า 20 โบกี้ออกจากสถานี เนื่องจากเกรงทหารจะเข้าร่วมสลายการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร[97]

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2553 ความเคลื่อนไหวในรูปแบบ "ขอนแก่นโมเดล" ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยที่จังหวัดอุดรธานี วิเชียร ขาวขำ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ได้เป็นแกนนำคนเสื้อแดงมาตั้งด่านสกัดเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 3 จุด โดยเฉพาะที่อำเภอโนนสะอาด โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องในกรุงเทพมหานคร ในขณะที่วิทยุชมรมคนรักอุดรก็ได้ประกาศเชิญชวนให้มาสกัดการเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ พร้อมให้เรียกระดมพลให้เข้าร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ ที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ก็มีการตั้งด่านของคนเสื้อแดงเช่นกัน โดยได้ตั้งด่านมาตั้งแต่คืนวันที่ 24 เมษายน นอกจากการตั้งด่านสกัดเจ้าหน้าที่แล้ว บรรดาคนเสื้อแดงยังได้มีการปล่อยลมยางรถทหารและรถตำรวจที่จะมีการเคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพมหานครด้วย โดยพบว่าส่วนใหญ่แล้วกลุ่มผู้ชุมนุมมีน้อยกว่าเจ้าหน้าที่[98]

วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 นาย สมบัติ รัตโน นาย ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ นาย ประยุทธ มูลสาร ได้ร่วมรวมผู้ชุมนุมราว 400 คนที่ถนนอุปราช จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อนำคนเข้ากรุงเทพมหานครพร้อมปราศัยโจมตีรัฐบาล[99]

ระหว่างวันที่ 13-19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 มีการเผารถดับเพลิงที่จังหวัดเชียงใหม่เผารถดับเพลิงที่เชิงสะพานนวรัฐและกลุ่มผู้ชุมนุมบุกเผาบ้านพักปลัดจังหวัดเชียงใหม่ บ้านพักสนามกีฬา 700 ปี [100][101]กองกำลังจังหวัดเชียงใหม่ประเมินความเสียหาย 13 ล้านบาท กลุ่มนปช.เชียงใหม่ใช้รถจักรยานยนต์จำนวน 30 คัน บรรทุกยางรถยนต์และใช้น้ำมันบรรจุขวดเครื่องดื่ม ขว้างเข้าใส่ บริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด ถ.มหิดล ต.สุเทพ อ.เมือง ซึ่งเป็นบริษัทของนายคะแนน สุภา บิดา กรุณา ชิดชอบ พ่อตาของ นาย เนวิน ชิดชอบ ทำให้กระจกบานใหญ่หน้าบริษัทแตกเสียหายหมดและเกิดเพลิงลุกไหม้[102]ที่จังหวัดเชียงใหม่ศาลอนุมัติหมายจับทั้งหมด 20 ราย ในจังหวัดอุดรธานี ได้จัดชมรมคนรักอุดรได้จัดตั้งประชาชนเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553[103] นปช. บางส่วนที่นิยมความรุนแรง (แดงฮาร์ดคอร์) ไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมได้เผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี[104] ศาลากลางจังหวัดอุดรธานี[105] ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น[106] ศาลากลางมุกดาหาร[107] และเผาธนาคารกรุงเทพ[108] ศาลพิพากษาจำคุกแล้ว มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการเสียชีวิตดังต่อไปนี้

บุคคลที่เสียชีวิตและสูญหายในเหตุการณ์ แก้

ในระหว่างการชุมนุม เกิดการเข้าใช้กำลังอาวุธกับผู้ชุมนุมโดยกองทัพสามครั้ง จนมีผู้เสียชีวิตนับร้อยคน บาดเจ็บนับพันคน ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงกลายเป็นนายกรัฐมนตรี ผู้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จนส่งผลให้ทหารตำรวจ ใช้กำลังอาวุธสงคราม เข้าสลายการชุมนุมทางการเมือง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ในประวัติศาสตร์ไทย นับตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา[115]ด้านจำนวนผู้สูญหายมีจำนวน 3 ราย[116] อย่างไรก็ตามมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ชุมนุมมีอาวุธและไม่ได้ชุมนุมอย่างสงบอีกทั้งมีความพยายามใช้ศพของผู้ชุมนุมเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองให้รัฐบาลขณะนั้นรับผิดชอบด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรไทย รวมทั้งมีการสนับสนุนทางการเงินจากพรรคเพื่อไทย[117]ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553 โดยมีข้อมูลปรากฏดังนี้

ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ แก้

ในเหตุการณ์นี้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 23 ราย ในจำนวนนี้ ทหารเสียชีวิต 5 ราย และชาวต่างประเทศเสียชีวิตอีก 1 รายรวมเสียชีวิต 29 ราย[118][119]

ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ แก้

ในเหตุการณ์นี้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 58 ราย ทหารเสียชีวิต 4 ราย ตำรวจเสียชีวิต 2 ราย และชาวต่างประเทศเสียชีวิต 2 ราย รวม 66 ราย[122][123] ซึ่งรายชื่อผู้เสียชีวิตรวมถึงบริเวณถนนสีลม ถนนพระรามที่ 4 และอนุสรณ์สถานแห่งชาติ[124] รวมทั้งสองเหตุการณ์เสียชีวิต 95 ราย

ผู้สูญหาย แก้

  • นาย อดิลักษณ์ อินสันเทียะ[131]
  • นาย อำนาจ โตฉ่ำ[132]

ปฏิกิริยาของฝ่ายต่าง ๆ แก้

ฝ่ายรัฐบาล แก้

ในวันที่ 15 มีนาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวว่า หลังการชุมนุมผ่านมา 3 วันทุกอย่างเรียบร้อยปกติ ซึ่งผู้ชุมนุมมีการยื่นเวลาให้ตนยุบสภาภายใน 24 ชั่วโมง ตนได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและผู้แทนพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือซึ่งเห็นร่วมกันว่าไม่ควรมีการยุบสภา[133]

การย้ายมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวน เพื่อออกมาตรการบังคับให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ถนนราชดำริ โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฟังได้ว่าการกระทำของแกนนำทั้ง 5 และผู้ร่วมชุมนุมเป็นการปิดกั้นกีดขวางเส้นทางคมนาคมและการใช้ยานพาหนะของประชาชนทั่วไป ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำคัญ รวมทั้งเกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตของประชาชน จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพการเดินทางของประชาชนที่จะใช้เส้นทางสาธารณะและกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมที่เกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ม.34 และ 63 บัญญัติไว้ ดังนั้นเมื่อ ผอ.รมน.โดย ผอ.ศอ.รส. รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา 18 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ออกข้อกำหนดและข้อประกาศห้ามแกนนำทั้งห้าและผู้ชุมนุมทั้งหมดออกจากพื้นที่ที่ชุมนุมแล้ว ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจึงมีสภาพบังคับอยู่ในตัว และเมื่อมีประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมาร้องขอให้ศาลออกคำบังคับตามข้อกำหนดดังกล่าวอีก ศาลจึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง[134]

ฝ่ายสนับสนุนการชุมนุม แก้

ในวันที่ 14 มีนาคม นายเพียร ยงหนู ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่ากองทัพต้องวางบทบาทอยู่บนหลักความถูกต้อง ยึดถือความยุติธรรม เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ สหภาพฯออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ไม่ให้นำกองกำลังทหารหลายกองร้อยออกปฏิบัติการเพื่อควบคุมฝูงชน เพราะจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชน และหากมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมด้วยวิธีรุนแรง สหภาพฯจะเข้าร่วมต่อสู้กับประชาชนทันที[135]

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน เมื่อวันที่ 9 เมษายน ว่าองค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนออกแถลงการณ์ประณามการปิดกั้นสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีเพิลแชนแนลและเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยระบุว่าการปิดกั้นสื่อมวลชนที่ทั้งเป็นกลางและสื่อที่มีความเห็นไปในทางเดียวกับฝ่ายค้าน ทำให้อาจเกิดความรุนแรงได้[136] เมื่อวันที่ 11 เมษายน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บตามโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยนายสมชาย กล่าวว่าขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะหลีกเลี่ยงไม่ได้[137]

วันที่ 12 เมษายน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปะทะกันของเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบมีคนเดียว คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นบุคคลที่ขาดสำนึกความเป็นผู้นำ ปฏิเสธที่จะเข้าใจถึงปัญหาของคนในชาติ ตนไม่เคยพบเห็นการใช้กำลังติดอาวุธเข้าปราบปรามประชาชน ไม่เคยเห็นความรุนแรง และกระทำอย่างขาดความสำนึกเช่นนี้[138]

ในวันเดียวกันเวลา 19.30 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย กล่าวว่าขอให้กลุ่มคนเสื้อแดงเดินหน้าต่อสู้กันต่อไป วันนี้ถือว่าได้ประชาธิปไตยมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เต็มที่ทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง เหลือเพียงไม่นานก็จะประสบความสำเร็จ เพื่อประเทศชาติ เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป[139]

เมื่อเวลา 14.20 น. นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แจกจ่ายแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ลงวันที่ 14 พฤษภาคม ไปยังสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ โดยเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ยุติการใช้เจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ พร้อมอาวุธสงครามร้ายแรง ทำการสลายการชุมนุมของประชาชนโดยทันที และสั่งให้เจ้าหน้าที่กลับกรม กองที่ตั้ง
  2. ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศในทุกจังหวัด โดยทันที
  3. เปิดการเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยทันทีเพื่อหาทางออกทางการเมือง โดยสันติวิธี
  4. ร่วมเจรจาหาแนวทางปรองดองอย่างแท้จริงกับทุกฝ่ายในชาติ เพื่อให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตย และความยุติธรรม และประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้การปรองดองต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ความยุติธรรม เมตตาธรรม และความจริงใจ[140]

ฝ่ายต่อต้านการชุมนุม แก้

ในวันที่ 9 มีนาคม นาย สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้อ่านแถลงการณ์ของพันธมิตรฯ ฉบับที่ 4/2553 ว่ารัฐบาลจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่กับผู้ชุมนุม เพื่อป้องปรามความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยระบุว่ากลุ่มพันธมิตรฯจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆในช่วงเวลาดังกล่าว[141]

ในวันที่ 23 มีนาคม นาย ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เลขาธิการกลุ่มสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ให้ชาวกรุงเทพมหานครรวมตัวกันเพื่อต่อต้านความรุนแรง รวมทั้งให้อยู่ในที่ตั้งเพื่อเฝ้าระวังเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง[142]

กลุ่มพี่น้องมหิดลออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ นปช. ยุติให้ผู้ชุมนุมเจาะเลือดแม้ผู้ให้จะเต็มใจก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าการนำเอาเลือดออกจากร่างกาย มีไว้เพื่อการตรวจวินิจฉัย เพื่อการรักษา หรือการบริจาคเท่านั้น มิสามารถกระทำเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใดได้ รวมทั้งมองว่าระดับแกนนำย่อมมีบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในการดูแลผู้เข้าร่วมชุมนุมให้เกิดความปลอดภัยและมีสุขภาพอนามัยที่ดีอยู่ตลอดเวลา ไม่ควรเลือกวิธีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ การอ่อนเพลียจากการสูญเสียเลือดและอากาศร้อนอบอ้าว [143]

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน อันประกอบด้วย ดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ประธานสมาคมธนาคารไทย ออกแถลงการณ์ขอให้กลุ่มคนเสื้อแดง คืนพื้นที่แยกราชประสงค์ที่ปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 3 เมษายน 2553 โดยให้กลับไปชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยที่ประชุม กกร. มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะการชุมนุมดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อการทำมาหากินในทุกระดับ ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านค้าย่อย รวมทั้ง นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ และแม้ นปช.จะมีสิทธิในการชุมนุมเพื่อแสดงออกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ควรจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ซึ่งข้อเรียกร้องต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมควรมีความชัดเจนและจริงใจต่อกันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง[144]

ที่ประชุมสมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย นาย อเนก ศรีชีวะชาติ นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว นาย สุรพล ศรีตระกูล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว นางสาว มัยรัตน์ พีระญาณ์โกเศส นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้แสดงจุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่ม นปช. ร่วมกันหาทางออกเพื่อยุติความขัดแย้งและการชุมนุมโดยเร็ว หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับความเสียหายแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการรวมพลังของผู้ประกอบการในที่ต่างๆ เช่น จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ สมุย พัทยา โดยใช้ข้อความว่า "ยุติความขัดแย้งเพื่อท่องเที่ยวไทย ทุกฝ่ายหยุดทำร้ายท่องเที่ยวไทย สมานฉันท์เพื่อท่องเที่ยวไทย" พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังเรียกร้องให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายดูแลการชุมนุมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วและปราศจากความรุนแรง เพราะถ้าการชุมนุมยังยืดเยื้อจะกระทบความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของประเทศ เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางมาเที่ยวเทศกาลสงกรานต์ [145]

โดยสำนักข่าวอัลจาซีร่า รายงานข่าวว่า การประท้วงของคนเสื้อแดงกำลังสร้างความไม่พอใจให้กับชาวกรุงเทพจำนวนมาก จนเกิดการชุมนุมของคนเสื้อชมพูมากกว่า 1,000 คน ที่สวนลุมพินี เพื่อระบุว่าพวกเสื้อแดงไร้เหตุผล นับเป็นครั้งแรกจากการบุกเข้ามาประท้วงในกรุงเทพฯ ของเสื้อแดงที่มีคนกลุ่มใหญ่ออกมาต่อต้าน เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลไทยที่มีกองทัพหนุนหลังจะไม่รีบร้อนยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ซึ่งอาจเปิดทางให้ผู้สนับสนุนของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรรีบขึ้นมาชิงอำนาจคืน [146]

16 เมษายน พ.ศ. 2553 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำผู้ประสานงานกลุ่มประชาชนพิทักษ์ชาติ และกลุ่มเฟสบุ๊คต้านยุบสภา เดินทางมาให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ที่บริเวณด้านหน้า กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

18 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มคนเสื้อหลากสี อันประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนพิทักษ์ชาติ และเครือข่ายเฟซบุ๊ก เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้รัฐบาลทำหน้าที่ พร้อมทั้งคัดค้านการยุบสภา และแสดงออกไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง[147]

21 เมษายน พ.ศ. 2553 พนักงานบริษัทย่านสีลม ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ เครือข่ายประชาคมชาวสีลม ออกมาชุมนุมในช่วงเวลาพักเที่ยงต่อต้านการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง พร้อมทั้งมอบอาหารและน้ำให้กับทหารและตำรวจที่มาดูแลรักษาความปลอดภัย [148]

ปฏิกิริยาจากนานาชาติ แก้

สหรัฐอเมริกา โดยนาย ไมค์ โทเนอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา อ่านแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนกระบวนการเจรจาเพื่อหาทางออกในวิกฤตการเมืองไทยระหว่างผู้นำฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายเสื้อแดง และสนับสนุนการแสดงตามสิทธิในการเดินขบวนตามท้องถนนแต่ก็ได้เรียกร้องให้แกนนำฝ่ายเสื้อแดงสาบานก่อนว่าจะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงใด ๆ[149][150] ภายหลังจากเหตุการบุกรุกรัฐสภาของกลุ่มคนเสื้อแดง รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประณามกลุ่มผู้ประท้วง โดย นายฟิลิป โครว์ลีย์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ อ่านแถลงการณ์ระบุว่า สหรัฐฯ เคารพการแสดงออกถึงสิทธิเสรีภาพ แต่การเข้าไปยังอาคารราชการ เป็นวิถีทางที่ไม่เหมาะสมสำหรับการประท้วงซึ่งทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมและการประท้วงอย่างสงบ ซึ่งสหรัฐฯ หวังว่าความเห็นที่แตกต่างกันจะสามารถแก้ไขได้ด้วยสถาบันประชาธิปไตยและไม่ใช้ความรุนแรง[151]

นาง ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านของพม่า วิพากษ์วิจารณ์วิกฤตการเมืองไทยว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนโดยทหาร ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ พร้อมวิจารณ์การรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ว่าเป็นการยึดอำนาจ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้ง[152]

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียได้ส่งจดหมายเปิดผนึกให้แก่นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย เพื่อเตือนให้หยุดใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ มิเช่นนั้นแล้วนายอภิสิทธิ์จะตกเป็นผู้รับผิดชอบตามมาตรา 25 (3) (a) ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ในการจงใจใช้กำลังจู่โจมผู้ชุมนุมที่เป็นประชาชนโดยตรง ซึ่งการใช้กำลังกับผู้ชุมนุม นปช. ที่ราชประสงค์นั้นถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อมาตราที่ 8 (2) (e) (i) ของ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ นอกจากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกการใช้กำลังทหารปราบปรามผู้ชุมนุมแล้ว ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียยังได้เสนอให้รัฐบาลไทยกลับมาใช้วิธีการเจรจากับผู้ชุมนุม เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ที่มีการสังหารผู้ชุมนุมเช่นวันที่ 10 เมษายน เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง[153]

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแห่งหน่วยงานฮิวแมนไรท์วอช ประจำนครนิวยอร์ก ชี้ว่าการประกาศใช้เขตใช้กระสุนจริงของรัฐบาลไทย เพื่อใช้ต่อสู้กับกลุ่มผู้ประท้วงคนเสื้อแดง เป็นสิ่งที่ล่อแหลมอันตราย โดยการประกาศเขตดังกล่าว ทำให้รัฐบาลไทยเสี่ยงที่จะเขยิบเข้าสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของพลเรือน ซึ่งจะทำให้ทหารคิดอย่างตื้น ๆ ว่า เขตใช้อาวุธจริงก็คือเขตยิงกระสุนได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะเมื่อความรุนแรงขยายตัว ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตชุมชนชาวบ้าน และรัฐบาลไทยจะต้องตระหนักว่า มีประชาชนคนธรรมดาอาศัยอยู่ที่นี่ด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะผู้ประท้วงเท่านั้น[154]

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน บริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพออสเตรเลีย รายงานว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงไม่กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสาธารณชน[155]

บทบาทสังคมออนไลน์ต่อการชุมนุม แก้

สำหรับเหตุการณ์นี้ สังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, แคมฟรอก, ซอฟแคช มีบทบาทอย่างมาก สำหรับการรายงานข่าวของเหตุการณ์ โดยมีการ follow นักข่าวที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ[156] ช่วยรายงานออนไลน์ ผ่านโทรศัพท์มือถือ เช่น แบล็คเบอรี่, ไอโฟน, 3Gข่าวที่ได้ก็รวดเร็วกว่าสื่ออื่นๆ และหลายข่าวมีผู้รายงานหลายคนให้เปรียบเทียบด้วย[157]

ผลกระทบ แก้

การเมือง แก้

การชุมนุมของกลุ่มนปช.ในครั้งนี้ แตกต่างจากเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลา เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กล่าวคือผู้ชุมนุมมีการขู่ที่จะทำลายสถานที่สำคัญของประเทศ เผาทำลายสถานที่ภายในประเทศ นอกจากนั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมทุบรถที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สุเทพ เทือกสุบรรณ นั่งอยู่โดยหวังฆ่าบุคคลทั้งสอง จนทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยที่ไม่สนับสนุนให้ผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงต่อรัฐบาล กับ กลุ่มที่มีความเห็นว่ารัฐบาลไม่ว่าอย่างไรก็ตามก็ไม่ควรให้ผู้ชุมนุมซึ่งเป็นคนไทยด้วยกันบาดเจ็บหรือเสียชีวิตคนเดือนตุลา[158] มีความเห็นแตกต่างทางการเมืองเนื่องจากมีความเชื่อที่แตกต่างกัน[159]

การคมนาคม แก้

 
MRT ประกาศปิดสถานีสีลมและสถานีลุมพินี

จากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่มีการรวมตัวเคลื่อนไหวปิดถนนในกรุงเทพมหานคร ส่งผลให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ประกาศหยุดให้บริการเดินรถประจำทางชั่วคราว 17 เส้นทาง และเดินรถผลัดเสริม 29 เส้นทาง จากจำนวนแส้นทางที่ให้บริการทั้งหมด 108 สายในกรุงเทพมหานคร โดยเส้นทางที่ได้รับผลกระทบ คือ ถนนพหลโยธิน (ขาเข้า) ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนเพชรบุรี ถนนสุขุมวิท และถนนสาทรที่มุ่งเข้าสู่สีลม พร้อมทั้งแนะประชาชนเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นแทน หรือทำการสอบถามเส้นทางจากโทร. 184 ซึ่งพบว่าในช่วงที่มีการชุมนุม ยอดผู้ใช้บริการปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 13,000 สายต่อวัน จากปกติประมาณ 8,000 สายต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ขสมก.จะมีการประเมินสถานการณ์การชุมนุม ของกลุ่มนปช. และประชาสัมพันธ์เส้นทางผ่านสื่อมวลชนทุก 1 ชั่วโมง และยืนยันว่าสถานการณ์การชุมนุมในปัจจุบัน ขสมก.ยัง สามารถบริหารจัดการการเดินรถได้ และหากสถานการณ์คลี่คลายจะทำการเปิดเดินรถตามปกติทันที

ส่วนรถไฟฟ้า บีทีเอสนั้นต้องปิดการให้บริการประชาชนในบางสถานีระหว่างมีการชุมนุม เช่น สถานีสยาม สถานีราชดำริ[160] และได้หยุดการให้บริการทั้งระบบในบางช่วงเวลา เนื่องจาก นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ถ้ามีการขนทหารมาฆ่าประชาชนทางรถไฟฟ้าจะทำให้รถไฟตกรางเป็นเรื่องง่ายมากและเจ้าหน้าที่คนไหนที่ขับรถมาส่งทหารก็จะให้คนเสื้อแดงไปจับ [161] ด้านรถไฟฟ้ามหานครได้ประกาศปิดประตูทางเข้าออกสถานีสีลมบริเวณสวนลุมพินีและหยุดการให้บริการในสถานีสีลมในบางช่วงเวลา[162] และการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เลื่อนกำหนดการทดสอบระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2553 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัยในการให้บริการและพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ[163]

เศรษฐกิจ แก้

 
บรรยากาศกรุงเทพมหานคร วันที่ 19 พฤษภาคม

การย้ายมาชุมนุมกันบริเวณแยกราชประสงค์เป็นผลให้ศูนย์การค้าบริเวณโดยรอบปิดให้บริการ โดยมีการประเมินว่าจะสร้างความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านบาท[164] ส่วนธุรกิจค้าปลีกได้รับความเสียหายแล้วกว่า 3,000 ล้านบาท โดยก่อนหน้ามีการชุมนุมคาดว่าธุรกิจค้าปลีกจะมียอดขยายตัวเพิ่มขึ้น 6-7 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเกิดการชุมนุมของ นปช. ตัวเลขดังกล่าวคงจะลดลงเหลือเพียง 4–5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น[165]

ทางด้านการท่องเที่ยว พบว่า หลังจากการชุมนุจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวไทยได้ลดลง ซึ่งภายใน 1 เดือนที่มีการชุมนุมนี้รายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมหายไปแล้ว 10,000 ล้านบาท หากการชุมนุมยังยืดเยื้อต่อไปอีกหลายเดือนจะเสียหายกว่านี้อีกหลายหมื่นล้านบาท[166] ด้าน ดร.ธนิต โสรัตน์ รักษาการรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า ความเสียหายจากการชุมนุมและความรุนแรงจะทำให้การท่องเที่ยว การบริการ ร้านอาหารโรงแรมภัตตาคารร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวตลอดจน ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ชุมนุมเสียหายรวมกันกว่า 35,000 ล้านบาท[167]

สาธารณสุข แก้

การเจาะเลือดซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่กลุ่ม นปช. ใช้ในการต่อต้านรัฐบาลส่งผลกระทบต่อด้านสาธารณสุข ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเลือดที่มีการเทไปยังสถานที่ต่างๆ ของกลุ่มผู้ชุมนุมมาตรวจที่ห้องแล็บของโรงพยาบาลรามาธิบดี วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานคร และวชิรพยาบาล พบเชื้อไวรัสติดต่อร้ายแรง 3 ชนิด ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และไวรัสเอชไอวี (เอดส์) อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าปกติ จึงอาจทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดย น.พ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมของแพทยสภาเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ การจะเจาะเลือดจะต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ คงต้องพิจารณาอีกครั้งว่าเจาะเลือดเพื่ออะไรและนำไปใช้อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากกการกระทำครั้งนี้ สามารถมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้ คงต้องดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เจาะเลือด รวมถึงผู้ที่เทและสาดเลือดเจาะเลือด[168][169]

ส่วนการย้ายสถานที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไปยังบริเวณแยกราชประสงค์ยังส่งผลกระทบต่อผู้มารับบริการและผู้ป่วยของโรงพยาบาลตำรวจ โดยได้รับผลกระทบด้านการเดินทางมาโรงพยาบาลที่ไม่สะดวก การใช้เสียงของกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ โดยผู้ป่วยบางคนมีอาการอ่อนเพลียเพราะนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งผู้ป่วยและญาติรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเข้ามาในโรงพยาบาลตำรวจ[170]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 "ความจริง-ความยุติธรรม และความตาย 99 ศพ 10 ปี พฤษภาเลือดปี "53 คำถามเดิม-ใครสั่งฆ่า?". กรุงเทพฯ: มติชน. 24 พ.ค. 2020. สืบค้นเมื่อ 6 มี.ค. 2021.
  2. 2.0 2.1 Asthana, Anushka; Sherman, Jill; Joanna Sugden and Sian Powell (15 พฤษภาคม 2010). "Death toll rises as anti-government protests escalate in Thailand". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2011. สืบค้นเมื่อ 14 May 2010.
  3. 3.0 3.1 The Telegraph, Thai army to 'help voters love' the government, 18 December 2008
  4. "Deadly clashes as police besiege Bangkok protesters". BBC News. 14 May 2010. สืบค้นเมื่อ 16 May 2010.
  5. IPS, In Convoys of Red, Rural Masses Stage Historic Protest เก็บถาวร 2010-03-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 14 March 2010
  6. PRD, DSI: Origin of Silom grenade attacks yet to be concluded : National News Bureau of Thailand เก็บถาวร 2012-07-23 ที่ archive.today, 5 May 2010
  7. สอบสวนคดีพิเศษแถลงจับผู้ต้องสงสัย 3 ราย[ลิงก์เสีย]
  8. ยิงระเบิดM79ใส่ร.1พัน1รอ.ทหารเจ็บ2
  9. บ้านเมือง, สะเก็ดการเมือง: หมอพรทิพย์ ลุยสอบเมษาโหด, 23 เมษายน 2553
  10. PRD, DSI: Origin of Silom grenade attacks yet to be concluded : National News Bureau of Thailand เก็บถาวร 2012-07-23 ที่ archive.today, 5 May 2010
  11. คำต่อคำ“อภิสิทธิ์”, โลกวันนี้รายวัน, 14 พฤษภาคม 2553
  12. CSM, Thai PM preps snipers, police to seal off Red-Shirt protest site, 13 May 2010
  13. Bangkok Post
  14. TNN, ยิงอากาศโยธินควบวีโก้เข้าสีลมโดนสอยดับ1เจ็บ1, 17 May 2010
  15. กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, พฤษภาอำมหิตกับองค์การนิรโทษกรรมสากล เก็บถาวร 2010-06-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 2 มิถุนายน 2010
  16. Doherty, Ben (16 May 2010). "Army declares 'shoot to kill'". The Age. Melbourne.
  17. The Nation, Medics banned from entering 'red zones' เก็บถาวร 2010-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 16 May 2010
  18. Brisbane Times, 16 dead, more likely as Thai authorities ramp up protest crack down, 15 May 2010
  19. "Thai violence claims more lives". BBC News. 15 May 2010.
  20. 20.0 20.1 SMH, Red-Shirts on rampage in Bangkok, 19 May 2010
  21. MThai, มูลนิธิกระจกเงาเผยจลาจลคนหาย 74 พบ 23, 30 เก็บถาวร 2019-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  22. Bangkok Post, DSI to deliberate 153 UDD cases, 14 June 2010
  23. ศาลชั้นต้น จำคุก 2 “ชายชุดดำ” พกอาวุธไปในสถานที่ชุมนุมคนละ 10 ปี
  24. เสื้อแดงคึกคัก เจาะเลือด ใช้เททำเนียบ
  25. ประมวลความเคลื่อนไหวกลุ่มเสื้อแดงวันที่17มี.ค.
  26. เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต21ราย พร้อมสาเหตุการเสียชีวิต ยอดบาดเจ็บ 863ราย กระจาย22รพ.
  27. ผู้เสียชีวิตจากเหตุปะทะ10เม.ย.เพิ่มอีก1รวมเป็น25ราย
  28. สธ.แจง4เหตุการณ์ชุมนุมเจ็บ1,427เสียชีวิต27
  29. รพ.พระมงกุฎฯยัน"พลทหาร"ตาย1ถูกยิงที่หัว กำลังเคลื่อนศพมาชันสูตร สื่อนอกอ้างตร.บอกทหารยิงกันเอง
  30. รายชื่อผู้เสียชีวิตเหตุการณ์กระชับพื้นที่ย่านราชประสงค์ จาก ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
  31. Democrats claim majority to form government เก็บถาวร 2008-12-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Nation, 7 December 2008
  32. Newin embraces Abhisit, but rejecting Thaksin "was tough" เก็บถาวร 2008-12-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Nation, 10 December 2008
  33. Abhisit poised to be PM as democrats seek house vote เก็บถาวร 2008-12-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Nation, 8 December 2008
  34. Thai opposition 'set for power' BBC News, 10 December 2008
  35. "New Thai prime minister elected". BBC news. 05:53 GMT, Monday, 15 December 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-12-15. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  36. เสื้อแดงย้ำชัด14มี.ค.ชุมนุมใหญ่กลางกรุง
  37. "คำสั่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่132/2553 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัย" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-09. สืบค้นเมื่อ 2018-04-29.
  38. สื่อเทศมองชาวกทม.เหลืออดเกิดเสื้อชมพูต้านแดง
  39. ราชินีเสด็จเยี่ยม ทหารบาดเจ็บ ที่รพ.พระมงกุฎฯ
  40. อนุพงษ์เครียดโดนมาร์ค-พธม.บีบลุยแดง
  41. เสื้อแดงประกาศ ยุบผ่านฟ้า ไปรวมราชประสงค์
  42. "พรรคเพื่อไทยขึ้นเวทีปราศัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-24. สืบค้นเมื่อ 2016-05-06.
  43. Business Week, Thai Protesters Vow to Fight as Government Again Blacks Out TV, 10 April 2010
  44. ยึดราชประสงค์ชุมนุมค้างคืน
  45. โพสต์ทูเดย์,นปช.ทะลักเทเลือดหน้าปชป.-ทำเนียบพราหมณ์หลวงชี้พิธีแดงไม่มีในสารบบ[ลิงก์เสีย], 16 มีนาคม พ.ศ. 2553
  46. ไทยรัฐ,แดงฝ่าฝน-จนท. เทเลือดปาอึ บ้านนายกฯเละ, 17 มีนาคม พ.ศ. 2553
  47. โพสต์ทูเดย์,แดงกลับผ่านฟ้าหลังเทเลือดบ้านนายกฯ-ยื่นหนังสือสถานทูตสหรัฐ[ลิงก์เสีย], 17 มีนาคม พ.ศ. 2553
  48. "เลือดเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ที่มีมาแต่สมัยบรรพบุรุษ[ลิงก์เสีย]
  49. The Christian Sciene Monitor,Top 10 unusual protests, 17 มีนาคม พ.ศ. 2553
  50. มติชน,สันติบาลประเมินม็อบเสื้อแดงกว่า6.5หมื่นจยย.1หมื่นกระบะ7พันคัน[ลิงก์เสีย], 20 มีนาคม พ.ศ. 2553
  51. "วิทยุชุมชน" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-02-22. สืบค้นเมื่อ 2016-10-11.
  52. ไทยรัฐ,เสื้อแดงทำจริง โกนผมประท้วงรัฐบาลอภิสิทธิ์, 25 มีนาคม พ.ศ. 2553
  53. ผู้จัดการ,ประมวลภาพจากสื่อนอก : ชุมนุมเสื้อแดง 80,000 คน[ลิงก์เสีย], 27 มีนาคม พ.ศ. 2553
  54. "ฉุนปิดสัญญาณพีทีวี "อริสมันต์"นำทีมเสื้อแดงบุกกสท.แจ้งวัฒนะ ขบวนแห่ศพทั่วกรุงฯตามไปสมทบ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-13. สืบค้นเมื่อ 2010-04-12.
  55. แดงปรับมาตรการ รับมือรัฐบาล ถูกสลายใน48ชม.
  56. โต๊ะเจรจารัฐบาล-เสื้อแดงยังไร้ข้อสรุป เตรียมเจรจาต่อในวันที่ 29 มี.ค. จตุพรยื่นข้อเสนอรัฐยุบสภาใน 2 สัปดาห์ อภิสิทธิ์ย้ำต้องฟังเสียงทุกภาคส่วนของสังคมและปรับกติกาให้เอื้อต่อการยุบสภาก่อน
  57. แดงบุกสถานีดาวเทียมไทยคมหลังสุเทพปูดปิดพีเพิลชาแนล
  58. VOA, Thai Military Uses Force Against 'Red-Shirt' Protesters เก็บถาวร 2010-04-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 9 April 2010
  59. Tim Johnston (9 April 2010). "Thai protesters seize key satellite station". Financial Times. สืบค้นเมื่อ 16 May 2010.
  60. "Thai protest restores blocked TV". BBC News. 9 April 2010.
  61. เสื้อแดงสลายตัวไทยคมลาดหลุมแก้วแล้ว หลังเชื่อมต่อสัญญาณพีทีวีสำเร็จ ปะทะเดือดทหาร-ม็อบเจ็บกว่า10ราย[ลิงก์เสีย]
  62. Business Week, Thai Protesters Vow to Fight as Government Again Blacks Out TV, 10 April 2010
  63. "นาทีต่อนาที เหตุจลาจลเดือด เสียง"ปืน-ระเบิด"ดังสนั่น สะพานมัฆวานฯ-แยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ฯปชต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-04-11.
  64. "ตายเพิ่มอีก1แดงปะทะเดือดจนท. ชายวัย54ถูกแก๊สน้ำตาทำระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ยอดพุ่ง21". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-13. สืบค้นเมื่อ 2010-04-11.
  65. สธ.แจง 4 เหตุการณ์ชุมนุมเจ็บ 1,427 เสียชีวิต 27
  66. Szep, Jason (2010-04-10). "Reuters journalist killed in Bangkok protests". Reuters. The Washington Post. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-13. สืบค้นเมื่อ 2011-05-22.
  67. อริสมันต์โรยตัวหนีคอมมานโดหลังนำกำลังบุกจับในโรงแรมเอสซีปาร์ค
  68. ล้อมจับแกนนำ 'กี้ร์'โรยตัว หนีจากโรงแรม
  69. ขอพึ่งพระบารมีในหลวง[ลิงก์เสีย]
  70. แถลงการณ์ขอพึ่งพระบารมี[ลิงก์เสีย]
  71. obj/front page/page/1037.html?content id=251194 ยิงM79 ใส่ย่านสีลม ตาย3 เจ็บ75[ลิงก์เสีย]
  72. ทหารปะทะแดงอนุสรณ์สถาน
  73. "ทหารถูกยิงตาย1หน้าอนุสรณ์สถาน สธ.เผยยอดคนเจ็บ16รายแล้ว "จตุพร"เผย"ขวัญชัย"ปลอดภัยดีปัดข่าวถูกจับ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-01. สืบค้นเมื่อ 2010-04-28.
  74. "รพ.พระมงกุฎฯยัน"พลทหาร"ตาย1ถูกยิงที่หัว กำลังเคลื่อนศพมาชันสูตร สื่อนอกอ้างตร.บอกทหารยิงกันเอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-01. สืบค้นเมื่อ 2010-04-28.
  75. อลหม่าน...แดงพล่านทั่ว รพ.จุฬาฯ
  76. ศอฉ.ไฟเขียวเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ ทหาร-เสื้อหลากสี-เสื้อแดง เผชิญหน้าที่สีลม
  77. 10 ปีสลายเสื้อแดง: กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง(ศาลโลก) เมื่อความยุติธรรมต้องรอการเมืองเปลี่ยน
  78. บุกค้นหาทหารในรพ.จุฬา จับผู้ต้องสงสัยเป็นคนงานก่อสร้าง ยังขอตร.ค้นอีกรอบ
  79. ""เสื้อแดง"แก้เกมรื้อบังเกอร์หน้ารพ.จุฬาฯ เปิดทางคนมาติดต่อ-รักษา เล็งถอนแนวป้องกันแยกชิดลม-ปทุมวัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-06. สืบค้นเมื่อ 2010-05-02.
  80. "เสื้อแดง"ยอมรื้อบังเกอร์เกาะกลางถนนรพ.จุฬาฯ เปิดให้วิ่งได้ทั้งไป-กลับ แต่ไม่ถอยกำลังไปที่แยกสารสิน[ลิงก์เสีย]
  81. ‘พฤษภาอำมหิต’ ย้อนรอย 10 ปี เผาเมือง แยกราชประสงค์
  82. บึมสนั่นศาลาแดง M79ถล่ม รพ.จุฬากระเจิง
  83. ปรองดอง???ยิงกราด+ตามด้วย*M79 *ตำรวจ ตาย2!!ทหาร ชาวบ้าน*เจ็บระนาว!!!.[ลิงก์เสีย]
  84. มือปืนกราดยิงสีลม ตร.ตาย1 อีก2นายถูกส่งรพ.จุฬาฯ ชาวบ้านถูกลูกหลงเจ็บ4 ก่อนซิ่ง..
  85. ป่วน!ยิงเอ็ม79ใส่ด่านตรวจประตู4สวนลุมฯทำตร.ทหารเจ็บรวม8ดับ1
  86. "ป่วน! เย้ยปรองดองยิงเอ็ม79ถล่มสวนลุมตร.กราดยิงสีลมตร.ตาย2 จนท.ตำรวจ-ทหารเจ็บระนาว ปชช.โดนลูกหลงเจ็บ4". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-10. สืบค้นเมื่อ 2010-05-08.
  87. รายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมด เก็บถาวร 2012-03-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. ศูนย์เอราวัณ
  88. Nation, Rescue teams bemoan soldiers' lack of trust เก็บถาวร 2011-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 27 May 2010
  89. "ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-18. สืบค้นเมื่อ 2012-05-25.
  90. MThai, มูลนิธิกระจกเงาเผยจลาจลคนหาย 74 พบ 23, 30 เก็บถาวร 2019-03-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  91. "Bangkok protest leaders surrender as curfew begins". The Irish Times. May 19, 2010. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  92. MacKinnon, Mark (May 19, 2010). "D-Day in Battle of Bangkok". The Globe and Mail. Bangkok. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  93. Condie, Bill (May 19, 2010). "Expat life in the Battle of Bangkok". The Times. สืบค้นเมื่อ 2010-05-20.
  94. พรรคเพื่อไทยเร่งระดมคนเข้ากรุงรอบ 2 สั่ง ส.ส.ขนเข้า 20 มีนาฯ[ลิงก์เสีย]
  95. เสื้อแดงป่วนพระราชทานเพลิงศพคนสนิทป๋าเปรม
  96. ส.ส.เสื้อแดงกร่างคับ4เลน ...ปิดถ.มิตรภาพ ค้นดะไล่จิกหัวทหารลงรถ ห้ามกลับค่าย!!![ลิงก์เสีย]
  97. แดงสกัดรถไฟที่ขอนแก่น อ้างขวางทหารเข้ากรุง
  98. "ขอนแก่นโมเดลลาม พื้นที่สีแดงสกัดตร.-ทหาร/ผู้ว่าฯชี้ช้าเกินกล่อมนปช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-29. สืบค้นเมื่อ 2010-05-02.
  99. นปช.อุบลราชธานีสั่งระดมพลเตรียมเข้ากรุงเทพ
  100. ศาลอนุมัติหมายจับ 20 เสื้อแดงเชียงใหม่
  101. สรุปความเสียหายเบื้องต้นจากเหตุ เสื้อแดงป่วนเมืองเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 กว่า 13 ล้านบาท[ลิงก์เสีย]
  102. แดงเชียงใหม่คลั่งเผาแหลก บ้านพ่อตาเนวินหวิดวอด
  103. จับตา'คนรักอุดร'ในวันไร้'ขวัญชัย'
  104. พิพากษาแดงอุบล จำคุก33ปี4ด. เผาศาลากลาง
  105. จำคุกเสื้อ แดงเผาศาลากลางอุดรธานี 22 ปี 6 เดือน
  106. รวบแกนนำแดงเผาศาลากลางขอนแก่น
  107. จำคุก 20 ปี 13 เสื้อแดงมุกดาหารเผาศาลากลาง
  108. จับ เขมร ร่วมเผาธนาคารกรุงเทพ
  109. ทรงศักดิ์ ศรีหนองบัว
  110. เพิน วงศ์มา
  111. อภิชาติ ระชีวะ
  112. รวบแล้ว!คนฆ่า แกนนำเสื้อแดง ทิ้งศพที่บ่อทอง
  113. การ์ดณัฐวุฒิ-จตุพรประสบเหตุดับเพื่อนการ์ดคาใจ
  114. ย้อนรอยคดีระเบิด "สมัย วงศ์สุวรรณ์"
  115. 85 ศพ "อภิสิทธิ์"อันดับ 1 นายกฯที่คนตายมากสุดจากการต่อต้าน จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดอย่างน้อย 80 คน เก็บถาวร 2010-05-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วอยซ์ทีวี, 22 พฤษภาคม 2553
  116. เรื่องสะเทือนใจ “สูญหาย-ซ้อมทรมาน-ข่มขืน” ระหว่าง นปช.ชุมนุม ปี 53
  117. DSI หาผู้กระทำผิด
  118. "เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต 23 ราย พร้อมสาเหตุการเสียชีวิต ยอดบาดเจ็บ 863 ราย กระจาย 22 รพ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-13. สืบค้นเมื่อ 2010-04-11.
  119. เสียชีวิตภายหลัง 1 ราย รวม 30 ราย
  120. รายงาน: 3 ปี 10 เมษา ภาพรวมไต่สวนการตาย และเรื่องเล่าจากคำเบิกความ
  121. แท็กซี่เสื้อแดงอัมพวาเหยื่อพิษแก๊สน้ำตา 10 เมษา เสียชีวิตแล้ว
  122. บีบพื้นที่ม็อบ5วัน ตาย36ศพ บาดเจ็บ280ราย
  123. กระชับพื้นที่ชุมนุม ปชช.เสียชีวิต 17ต่างชาติ 3 รายเจ็บ 157 จนท.กู้ภัยถูกยิงตาย-สอยช่างภาพร่วงหลายราย[ลิงก์เสีย]
  124. เปิดรายชื่อคนตาย พ.ค.35 และ พ.ค.53 – 7 ปี ความยุติธรรมที่ไม่ไปไหน
  125. นายบุญมี
  126. นางสาวละอองดาว
  127. นายฐานุทัศน์
  128. พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาระ
  129. ร.ต.ท. กานต์ณุพัฒน์ เลิศจันทร์เพ็ญ[ลิงก์เสีย]
  130. เปิดรายชื่อผู้เสียชีวิต-ทุพพลภาพ-บาดเจ็บ มีสิทธิรับเงินเยียวยาจาก รบ.1-4 แสน[ลิงก์เสีย]
  131. "ศูนย์บริการข้อมูลคนหาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-07. สืบค้นเมื่อ 2018-06-05.
  132. "ศูนย์บริการข้อมูลคนหาย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-05-07. สืบค้นเมื่อ 2018-06-05.
  133. "มาร์ค"ลั่นไม่ยุบสภาตามคำขู่กลุ่มเสื้อแดง
  134. ศาลชี้นายกฯมีอำนาจไล่เสื้อแดงพ้นราชประสงค์
  135. สร.กฟน.ขู่!! โดดร่วมวงม็อบ หากทหารใช้กำลังสลายการชุมนุม[ลิงก์เสีย]
  136. องค์กรสื่อต่างชาติ ประณาม"รบ.มาร์ค" ปิด"พีทีวี-36 เว็บแดง" ชี้เป็นเดิมพันที่เสี่ยง-หนุนให้เกิดความรุนแรง[ลิงก์เสีย]
  137. พ.ท.คนดังโดนระเบิดบาดเจ็บ
  138. "บิ๊กจิ๋ว"จี้ ยุบสภา ซัด"อภิสิทธิ์"ไร้สำนึก
  139. "จาตุรนต์"บอกได้ปชต.แล้ว "ตู่"ลั่นปักหลัก ช้ กกต.สั่งยุบปชต.แค่ยกแรก นัดเผาศพวัน "มาร์ค"ยุบ
  140. ""แม้ว"ร่อนแถลงการณ์ซัดรัฐบาลเลือกสันติวิธีหรือรุนแรงแลกชีวิตคนกับเก้าอี้". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-05-14.
  141. พธม.แถลงซัด “แม้ว” กบฏ จี้รัฐใช้ กม.จัดการ-แนะผู้รักชาติเตรียมพร้อมในที่ตั้ง[ลิงก์เสีย]
  142. แถลงการณ์ให้ชาวกรุงเทพมหานครรวมตัวกันเพื่อต่อต้านความรุนแรง[ลิงก์เสีย]
  143. "กลุ่มพี่น้องมหิดลเรียกร้องเสื้อแดงยุติเจาะเลือด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-10. สืบค้นเมื่อ 2019-02-20.
  144. "จตุพร"จวกกกร.ไม่มีสิทธิ์ต้านการชุมนุมเสื้อแดง
  145. ท่องเที่ยวสุดทนม็อบ ทำสูญหมื่นล. นัดแสดงพลัง2เมษา[ลิงก์เสีย]
  146. สื่อเทศมองชาวกทม.เหลืออดเกิดเสื้อชมพูต้านแดง
  147. "เสื้อหลากสี" แสดงพลังแน่นอนุสาวรีย์ฯ อ่านแถลงการณ์ค้านรบ.ยุบสภา-ไม่เอาชุมนุมเสื้อแดง[ลิงก์เสีย]
  148. ไม่เอาม็อบ
  149. "สหรัฐหนุนรัฐบาลเจรจาเสื้อแดง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-05. สืบค้นเมื่อ 2016-11-22.
  150. "สหรัฐหนุนการเจรจาในไทย ร้องแก้ปัญหาโดยสันติวิธี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-11-11. สืบค้นเมื่อ 2010-04-15.
  151. สหรัฐประณามเสื้อแดงบุกสภา
  152. "Thai crisis shows perils of military constitution: Suu Kyi". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-29. สืบค้นเมื่อ 2010-04-24.
  153. "ศูนย์สิทธิมนุษยชนเอเชียร้องรัฐหยุดปราบแดง ชี้เข้าข่ายอาชญากรสงคราม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2010-05-14.
  154. ฮิวแมน ไรท์ วอช"ชี้"เขตใช้กระสุนจริง"ส่อ"ละเมิดสิทธิมนุษยชน"จี้รบ.ไทยเลิก[ลิงก์เสีย]
  155. Thai king silent on deadly protests
  156. ข้อความ '#ตามหาความจริง' โผล่จุดสำคัญสลายชุมนุมแดง 53 แถมแฮชแท็กติดเทรนด์ทวิตเตอร์
  157. 10 ปี การชุมนุมคนเสื้อแดง 2553 จาก 3 ผู้ประสบเหตุ
  158. "เกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-08. สืบค้นเมื่อ 2016-10-12.
  159. '14ตุลา'นิยามความหมายใน'เหลือง-แดง'
  160. จับตาสถานการณ์ "เสื้อแดงชุมนุม"
  161. BTS ปิดให้บริการตลอดเส้นทาง หลังแดงขู่คว่ำขบวน[ลิงก์เสีย]
  162. ขนส่ง กทม.ยังระส่ำ! BTS วิ่งเป็นช่วงๆ ใต้ดินไม่จอดสีลม ขสมก.เปลี่ยนเส้นทางอื้อ[ลิงก์เสีย]
  163. การรถไฟฯ ขออภัยประชาชน เลื่อนกำหนดการเดินทดลองรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ [ลิงก์เสีย]
  164. ห้างย่านราชประสงค์อ่วม
  165. “เสื้อแดง”ทำค้าปลีกเจ๊งแล้ว 3 พันล้าน
  166. ท่องเที่ยวอ่วม! แดงชุมนุม รายได้หดหมื่นล.
  167. ชุมนุมทำท่องเที่ยวเสียหายแล้วกว่า 3.5 หมื่นล้าน
  168. แฉผลตรวจตย.เลือดเสื้อแดงพบเชื้อไวรัสร้ายแรง
  169. "มาลินี" เผยผลเลือดเสื้อแดงตรวจพบ เชื้อเอดส์-ไวรัส-เลือดสัตว์จริง ปัดดิสเครดิตผู้ชุมนุม[ลิงก์เสีย]
  170. "โพล ร.พ.ตำรวจ ระบุม็อบเสื้อแดงกระทบผู้ป่วย-ญาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-04-10. สืบค้นเมื่อ 2019-02-20.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้