เหวง โตจิราการ
นายแพทย์ เหวง โตจิราการ (เกิด 1 เมษายน พ.ศ. 2494) เป็นอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน และแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย เป็นอดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล
เหวง โตจิราการ | |
---|---|
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 1 เมษายน พ.ศ. 2494 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
พรรคการเมือง | ไทยรักไทย (2541–2550) พลังประชาชน (2550–2551) เพื่อไทย (2551–2561, 2564–ปัจจุบัน) ไทยรักษาชาติ (2561–2562) |
คู่สมรส | ธิดา ถาวรเศรษฐ์ |
ประวัติ
แก้นายแพทย์ เหวง โตจิราการ สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ยุค 14 ตุลา พ.ศ. 2516 เคยหนีเข้าป่าในยุค "ขวาพิฆาตซ้าย" 6 ตุลา พ.ศ. 2519 มีชื่อจัดตั้งว่า "สหายเข้ม" และมีสายสัมพันธ์อันดีกับ นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นศิษย์ผู้พี่
ชีวิตส่วนตัว สมรสกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ธิดา ถาวรเศรษฐ์ มีบุตรธิดา 2 คน คือ นางสาวมัชฌิมา โตจิราการ และนายสลักธรรม โตจิราการ
นายแพทย์ เหวง ร่วมเป็นแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ซึ่งมีการปรับโครงการการบริหารใหม่ให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น และจัดรายการ คุยกับหมอเหวง ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 21.00 - 22.00 น. ทางสถานีประชาชน พีเพิลแชนแนล ปัจจุบันเป็นวิทยากรประจำรายการ เดินหน้าต่อไป ออกอากาศในวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงบ่าย ทางพีซทีวี
การเมือง
แก้พฤษภาทมิฬ
แก้นายแพทย์ เหวง กลับมามีบทบาทในเวทีการเมืองภาคประชาชนอีกครั้ง ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 จากการเป็นแกนนำสมาพันธ์ประชาธิปไตย ร่วมกับ นายแพทย์ สันต์ หัตถีรัตน์ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เคยร่วมกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองในการเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร จนเป็นผลสำเร็จ
ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ
แก้เมื่อ พ.ศ. 2549 เคยขึ้นเวทีปราศรัยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นผู้ร่วมคัดค้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ร่วมกับกลุ่ม นปช.
แก้ต่อมาหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 นายแพทย์ เหวง ได้ทำการประท้วงต่อต้านคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งได้ทำการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 โดยเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ขึ้นเวทีปราศรัยต่อต้าน คปค. ซึ่งแปรสถานะเป็น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
นายแพทย์ เหวง ถูกรัฐบาลควบคุมตัววันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552 ตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายหลังเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2552 ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวในอีก 1 เดือนถัดมา
ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย
แก้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 นายแพทย์เหวง ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 19 ของพรรคเพื่อไทย[1] และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 35[2]
ร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ
แก้ในปี พ.ศ. 2561 นายแพทย์เหวง ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทย และไปเข้าร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ[3]
คำสแลง
แก้คำว่า "เหวง" กลายมาเป็นศัพท์สแลงของหมู่นักนิยมเล่นอินเทอร์เน็ต อันหมายถึง ผู้ที่พูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งมาจากการที่ในระหว่างการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน พ.ศ. 2553 ซึ่ง นายแพทย์ เหวงเป็นหนึ่งในสามแกนนำของของกลุ่ม นปช. เข้าเจรจาขอให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 15 วัน ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสงสัยถึงบทบาทของ นายแพทย์ เหวง ถูกมองว่าพูดไม่รู้เรื่องในการเจรจาครั้งนั้น จึงเป็นที่มาของศัพท์สแลงดังกล่าว
นายแพทย์เหวงกล่าวว่าชื่อของตัวนั้นแผลงมาจากภาษาจีน หมายถึง สว่างไสว[4] แม้ศัพท์คำว่า "เหวง" ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานแปลว่า "มาก" โดยใช้เป็นคำใช้ประกอบคำ เช่น เบา เป็น เบาเหวง หมายความว่าเบามาก และเมื่อขยายความเพิ่มเติมพบว่า ในภาษาเขมรนั้น คำว่า "เหวง" แปลว่า "หลงทาง" เช่น "ขะยมอัมเหวง" แปลว่า "ดิฉันหลงทาง" ก็ตาม[5]พร้อมกับตำหนิผู้ที่ใช้คำนี้ด้วย พร้อมยืนยันว่าตนไม่ได้พูดไม่รู้เรื่อง[6][7] ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. กาญจนา นาคสกุล ราชบัณฑิต ระบุว่า คำและความหมายของคำว่า "เหวง" มีสิทธิ์ขึ้นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเล่มหลักที่กำลังจะตีพิมพ์ใหม่อีกด้วย เนื่องจากความแรงของคำว่า "เหวง" วันนี้เป็นคำที่มีความหมาย ซึ่งคนสังคมส่วนมากเข้าใจได้ว่า หมายถึง อาการพูดจา ไม่รู้เรื่อง ฟังไม่ได้ศัพท์ แตกต่างไปจาก "เหวง" ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์ [8]
จากเหตุการณ์นี้ หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล ได้วิจารณ์ไว้ว่า
ใครที่ฟังหมอเหวงไม่รู้เรื่อง แปลว่า บุคคลนั้นมีความรู้น้อยกว่าหมอเหวง ที่ว่ามีความรู้น้อย...คือรู้ในข้อเท็จจริงและประเด็นที่ “หมอเหวง” นำมาพูดว่าต้องการทำเช่นนี้เพื่อหวัง “ผลลัพธ์” ในเรื่องอะไรเขาเหล่านั้นตามไม่ทัน หรือไม่รู้จริงๆ หรือรู้เข้าใจแต่ไม่ยอมรับเพราะเป็นฝ่ายตรงข้าม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต่างรู้ทั้งรู้ว่า “การยุบสภา” มิใช่สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย...หากผู้มีอำนาจเขาไม่ยอมรับ...เขาก็คง “ยึดมั่น” ในคำเดิมแล้วจะทำอย่างไรเพื่อ “เปิดแผล” มิให้ถูกมองว่า “ฝ่ายรัฐบาล” ดูดีเพราะคำพูดเพียงอย่างเดียวกี่ครั้งที่ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ออกอาการหลุด...จนต้องเข้าไปคลุกวงในกับ “จตุพร พรหมพันธุ์”ถือว่าได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ “บนโต๊ะเจรจา” กับการขำข้อมูล “เป็นจริง” ซึ่งประชาชนไม่เคยรับรู้มาเผยแพร่ให้เกิดการติดตามประเด็น“อย่ามาเหวง” จึงไม่มีอะไรมากนอกจากเป็นเสียงร้องโหยหวนของบุคคลที่เชียร์รัฐบาล ซึ่งตั้งขึ้นมาเป็น “วาทกรรม” เพื่อดิสเครดิตการต่อสู้ทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามแค่นั้นจริงๆ กับการลดความน่าเชื่อถือของ “หมอเหวง”"
ส่วน ดร.อนันต์ เหล่าเลิศวรกุล อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า
การเจราระหว่างแกนนำคนเสื้อแดงกับรัฐบาล จะเห็นว่าหมอเหวงไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีการพูด สังคมจึงจับได้ว่าตรงนี้เป็นคุณสมบัติเฉพาะส่วนตัว จึงไม่แปลกที่สังคมจะนำชื่อ “เหวง” มาใช้เรียกคนที่พูดจาสับสน ซึ่งอยากให้มองประเด็นที่ว่าหากพฤติกรรมของหมอเหวงที่นำมาเป็นศัพท์คำว่า เหวง นั้นไม่มีผู้คนในสังคมสนับสนุนก็คงไม่มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แต่การที่คำว่า เหวง ถูกนำมาใช้ก็หมายถึงผู้คนตอบรับและเห็นด้วย ดังนั้น คนคนหนึ่งไม่สามารถบัญญัติศัพท์ใดศัพท์หนึ่งขึ้นมาได้ แต่ต้องเป็นข้อตกลงของทุกคนในสังคม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2555 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นประถมาภรณ์มงกุฏไทย (ป.ม.)[11]
- พ.ศ. 2554 - เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[12]
อ้างอิง
แก้- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
- ↑ ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ (พรรคเพื่อไทย)
- ↑ ""น.พ.เหวง" ประกาศลาออกจากพรรคเพื่อไทย ซบ ไทยรักษาชาติ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-11-20. สืบค้นเมื่อ 2018-11-18.
- ↑ รายการเก็บตกจากเนชั่น ทางเนชั่น แชนแนล : วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553
- ↑ เหวง โตจิราการจากไทยรัฐ
- ↑ แจ้งเกิด “เหวง” ศัพท์ใหม่คนออนไลน์ เก็บถาวร 2011-12-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนจากเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
- ↑ เหวงโวย “ผมไม่เหวง” เหวงต่อสื่ออำมาตย์ป้ายสี เก็บถาวร 2012-11-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์
- ↑ 'เหวง' ฮิตขึ้นหิ้งราชบัณฑิตจ่อนำความหมายกัดเจ็บๆ ขึ้นพจนานุกรมเล่มหลัก
- ↑ ปลื้มค้าน! อย่ามา'เหวง'! จากบางกอกทูเดย์
- ↑ ศัพท์ใหม่ “เหวง” แปลเชิงลบ นักวิชาการชี้สังคมตื่น ชัง “ไพร่แดง”
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๕, เล่ม ๑๒๙, ตอน ๓๕ ข , ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เก็บถาวร 2013-10-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๔ เก็บถาวร 2012-11-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๘, ตอน ๒๔ ข, ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔