ศาลอาญาระหว่างประเทศ
ศาลอาญาระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Criminal Court; คำย่อ: ICC) เป็นศาลระหว่างประเทศซึ่งมีที่ทำการอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีเขตอำนาจดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ 4 ฐาน คือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน ก่อตั้งขึ้นโดยประสงค์จะให้เป็นส่วนเสริมของระบบยุติธรรมที่แต่ละประเทศมีอยู่ จึงมีเขตอำนาจเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขเท่านั้น เช่น เมื่อศาลระดับประเทศไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแล้ว หรือเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหรือรัฐหนึ่ง ๆ เสนอคดีมาให้พิจารณา ศาลนี้เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 อันเป็นวันที่ธรรมนูญกรุงโรมเริ่มใช้บังคับ ธรรมนูญดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาพหุภาคีซึ่งวางรากฐานและกำหนดการบริหารจัดการของศาล รัฐที่เข้าเป็นภาคีแห่งธรรมนูญจะนับเป็นรัฐสมาชิกของศาล ปัจจุบันมีรัฐภาคี 125 รัฐ
ศาลอาญาระหว่างประเทศ | |
---|---|
ภาคีและผู้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม รัฐภาคี
รัฐภาคีที่ถอนตัวออกไป
ลงนามแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
ลงนามแล้วถอนการลงนาม
ไม่ได้เป็นภาคีและไม่ได้ลงนาม | |
ที่ทำการ | กรุงเฮก, ประเทศเนเธอร์แลนด์ |
ภาษาในการทำงาน | อังกฤษ ฝรั่งเศส |
ภาษาราชการ[1] | 6 ภาษา
|
รัฐสมาชิก | 125 |
ผู้นำ | |
• ประธานศาล | Piotr Hofmański |
• รองประธาน | Luz del Carmen Ibáñez Carranza |
• รองประธานที่สอง | Antoine Kesia-Mbe Mindua |
• อัยการ | Karim Ahmad Khan |
• นายทะเบียน | Peter Lewis |
ก่อตั้ง | |
• ตกลงรับธรรมนูญกรุงโรม | 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 |
• ธรรมนูญกรุงโรมใช้บังคับ | 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2002 |
เว็บไซต์ www |
องค์กรหลักของศาลมี 4 องค์กร คือ คณะประธาน แผนกตุลาการ สำนักงานอัยการ และสำนักงานทะเบียน ประธานศาลเป็นตุลาการที่ได้รับเลือกมาจากตุลาการคนอื่นในแผนกตุลาการ สำนักงานอัยการมีอัยการเป็นหัวหน้า ทำหน้าที่สืบสวนคดีและส่งฟ้องต่อแผนกตุลาการ ส่วนสำนักงานทะเบียนมีนายทะเบียนเป็นหัวหน้า รับผิดชอบงานธุรการทั้งปวงของศาล ซึ่งรวมถึงการบริหารสำนักงานใหญ่ของศาล หน่วยขัง และสำนักงานทนายจำเลย
โครงสร้าง
แก้ภาพรวม
แก้ผู้บริหารศาล คือ สมัชชารัฐภาคีซึ่งประกอบด้วยรัฐทั้งหมดที่เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม สมัชชานี้คัดเลือกบุคลากรศาล อนุมัติงบประมาณศาล และตกลงรับการแก้ไขเพิ่มเติมธรรมนูญกรุงโรม[2]
ส่วนศาลนั้นแบ่งองค์กรเป็น 4 องค์กร คือ คณะประธาน แผนกตุลาการ สำนักงานอัยการ และสำนักงานทะเบียน[3]
สมัชชารัฐภาคี
แก้สมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Assembly of the States Parties to the Rome Statute of the International Criminal Court) เป็นองค์กรด้านบริหารและนิติบัญญัติของศาล ประกอบด้วยผู้แทนหนึ่งคนจากรัฐภาคีแต่ละรัฐ[4]
สมัชชาจะเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการและอัยการ กำหนดงบประมาณของศาล ตกลงรับบทกฎหมายสำคัญ ๆ เช่น ระเบียบว่าด้วยวิธีพิจารณาและพยานหลักฐาน (Rules of Procedure and Evidence) และกำกับดูแลองค์กรอื่น ๆ ของศาล[2][4] ข้อ 46 ของธรรมนูญกรุงโรมยังให้อำนาจสมัชชาถอดถอนตุลาการหรืออัยการได้ ถ้าปรากฏว่าผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ของตนอย่างร้ายแรง หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ตามธรรมนูญกรุงโรมได้[5]
แต่สมัชชาก็ดี หรือรัฐภาคีก็ดี ไม่อาจจะสอดแทรกการทำหน้าที่ทางตุลาการของศาล การวินิจฉัยอรรถคดีย่อมเป็นกิจของศาล[6]
ในการประชุมสมัชชาครั้งที่ 7 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2008 สมัชชาได้กำหนดให้มีการประชุมทบทวนธรรมนูญกรุงโรมขึ้น ณ เมืองกัมปาลา ประเทศอูกันดา ราว ๆ ต้น ค.ศ. 2010[6]
คณะประธาน
แก้คณะประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (Presidency of the International Criminal Court) เป็นองค์กรด้านบริหารศาล แต่ไม่รวมถึงการบริหารสำนักงานอัยการของศาล[7] ประกอบด้วย ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ (President of the International Criminal Court) และรองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ คนที่ 1 และคนที่ 2 (First and Second Vice-Presidents of the International Criminal Court) ทั้ง 3 คนนี้ได้รับเลือกตั้งโดยตุลาการที่เหลือ มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี[8]
แผนกตุลาการ
แก้ตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศ (judges of the International Criminal Court) มีทั้งหมด 18 คน ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งแบ่งกันเป็น 3 แผนก (Division) คือ แผนกพิจารณาเบื้องต้น (Pre-Trial Division) แผนกพิจารณา (Trial Division) และแผนกอุทธรณ์ (Appeals Division)[9]
สมัชชารัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรมมีอำนาจเลือกตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลอาญาระหว่างประเทศ ตุลาการแต่ละคนอยู่ในตำแหน่ง 9 ปี และได้เพียงวาระเดียวเท่านั้น[9] คุณสมบัติของผู้จะเป็นตุลาการ คือ ต้องมีสัญชาติของรัฐภาคีแห่งธรรมนูญกรุงโรม และในบรรดาตุลาการทั้ง 18 คนนั้นห้ามมีสัญชาติซ้ำกัน นอกจากนี้ ข้อ 36 แห่งธรรมนูญกรุงโรมยังกำหนดว่า ตุลาการต้องเป็น "บุคคลผู้พร้อมด้วยจริยลักษณะอันสูงส่ง ความเป็นกลาง และความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งมีคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับแต่งตั้งข้าราชการตุลาการชั้นผู้ใหญ่ในรัฐของตน"[10]
ข้อ 41 แห่งธรรมนูญกรุงโรมยังว่า อัยการ หรือบุคคลที่กำลังถูกสืบสวนหรือฟ้องคดี จะร้องขอคัดค้านตุลาการคนใดก็ได้ "ในกรณีที่มีเหตุควรกังขาถึงความเป็นกลางของตุลาการผู้นั้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใด" [11] คำร้องขอคัดค้านมิให้ตุลาการคนใดเข้าร่วมทำคดีใด ๆ นั้น จะได้รับการวินิจฉัยโดยเสียงข้างมากเด็ดขาดของตุลาการคนอื่น ๆ ที่เหลือ[11]
อนึ่ง ตุลาการอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งได้ ถ้า "ปรากฏว่าตุลาการผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ร้ายแรง" หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้[5] การจะสั่งให้ตุลาการคนใดพ้นจากตำแหน่งนั้น ต้องได้รับเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของตุลาการคนอื่น ๆ ที่เหลือ และเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ของรัฐภาคี[5]
สำนักงานอัยการ
แก้สำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Office of the Prosecutor of the International Criminal Court) รับผิดชอบงานสืบสวนและงานฟ้องคดี[12] มีผู้บังคับบัญชา คือ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (Prosecutor of the International Criminal Court) มีรองอัยการ (Deputy Prosecutor) 2 คนคอยแบ่งเบาภาระหน้าที่ แต่ละคนดำรงตำแหน่ง 9 ปี และอยู่ในตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว[3]
ธรรมนูญกรุงโรมกำหนดให้สำนักงานอัยการมีอิสระในการดำเนินงานของตน[13] เพราะฉะนั้น พนักงานอัยการทุกคนของสำนักงานอัยการจะไม่เสาะหาหรือรับฟังคำสั่งของผู้ใดอีก ไม่ว่าเป็นรัฐ องค์การระหว่างประเทศ องค์การระหว่างรัฐบาล หรือบุคคลใดก็ตาม[12]
สำนักงานอัยการนั้นจะเริ่มสืบสวนเมื่อมีพฤติการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้[12]
- เมื่อรัฐภาคียื่นเรื่องราวสถานการณ์ใดมา
- เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยื่นเรื่องราวสถานการณ์ใดมา เพื่อเตือนให้ทราบถึงภัยอันคุกคามสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
- เมื่อองค์คณะตุลาการชั้นไต่สวนมูลฟ้องอนุญาตให้สืบสวน หลังจากศาลอาญาระหว่างประเทศได้รับข้อมูลข่าวสารมาจากแหล่งอื่น ๆ เช่น มีบุคคลหรือหน่วยงานเอกชนแจ้งมา
บุคคลใดที่กำลังถูกสืบสวนหรือฟ้องคดีจะร้องขอคัดค้านพนักงานอัยการคนใด ๆ ไม่ให้ทำคดีของตนก็ได้ ถ้า "ปรากฏว่ามีเหตุสมควรกังขาถึงความเป็นกลางของอัยการ ไม่ว่าด้วยเหตุผลอันใด"[13] คำร้องคัดค้านพนักงานอัยการเช่นนี้ จะได้รับการวินิจฉัยจากแผนกอุทธรณ์ของศาล[13] พนักงานอัยการอาจถูกถอดถอนจากตำแหน่งด้วยคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาดของสมัชชารัฐภาคีก็ได้ ถ้าปรากฏว่า พนักงานอัยการผู้นั้นมีความประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือละเลยหน้าที่ร้ายแรง หรือไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้[5]
สหรัฐอเมริกาวิพากษ์วิจารณ์ว่า ธรรมนูญกรุงโรมไม่ได้วางระบบให้เพียงพอสำหรับคานอำนาจและตรวจสอบกันระหว่างพนักงานอัยการและตุลาการของศาลอาญาระหว่างประเทศ และยังปราศจากระบบป้องกันมิให้มีการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์ทางการเมืองหรือใช้อำนาจไม่โดยมิชอบประการอื่นด้วย[14] เฮนรี คิสซิงเงอร์ (Henry Kissinger) ว่า ระบบตรวจสอบและถ่วงดุลนั้นอ่อนถึงขนาดที่ในทางปฏิบัติแล้วอัยการสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างไม่จำกัด[15]
สำนักงานทะเบียน
แก้สำนักงานทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ (Registry of the International Criminal Court) รับผิดชอบงานธุรการและงานบริการของศาล[16] งานเหล่านี้รวมถึงงานให้ความช่วยเหลือทางคดี การบริหารจัดการของศาล กิจการเกี่ยวกับผู้เสียหายและพยานบุคคล งานจัดหาทนายฝ่ายจำเลย งานของหน่วยขัง และงานทั่วไปตามจำเป็นสำหรับธุรการ เช่น งานทะเบียน งานแปล งานอาคารสถานที่ งานบุคลาการ งานงบประมาณ ฯลฯ[16]
สำนักทะเบียนนั้นมีผู้บังคับบัญชา คือ นายทะเบียนศาลอาญาระหว่างประเทศ (Registrar of the International Criminal Court) ซึ่งคณะตุลาการเลือกมาให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี
สถานที่ของศาล
แก้สำนักงานใหญ่
แก้สำนักงานใหญ่ของศาลอยู่ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาที่อื่นก็ได้[17]
นิติสัมพันธ์ระหว่างศาลกับประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นเป็นไปตามความตกลงเรื่องสำนักงานใหญ่ ซึ่งเรียก ความตกลงเรื่องสำนักงานใหญ่ระหว่างศาลอาญาระหว่างประเทศกับรัฐที่ตั้ง (Headquarter Agreement between the International Criminal Court and the Host State) ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2008[18]
ศาลย้ายเข้าสำนักงานใหญ่ถาวรเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2015 ตั้งอยู่ ณ Oude Waalsdorperweg 10 ในกรุงเฮก[19] อันเป็นอาณาบริเวณที่เรียกว่า Alexanderkazerne ซึ่งเดิมเป็นฐานทัพทหาร อยู่ใกล้กับเนินทรายแถบเหนือของเมือง เขตเดียวกับองค์การระหว่างประเทศแห่งอื่น ๆ เช่น วังสันติของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ สำนักประสานงานบังคับใช้กฎหมายสหภาพยุโรป (ยูโรโพล) คณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย องค์การห้ามอาวุธเคมี และสภาโลก[20]
อ้างอิง
แก้- ↑ "The International Criminal Court: An Introduction". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2012.
The official languages of the ICC are Arabic, Chinese, English, French, Russian and Spanish and the working languages are currently English and French
- ↑ 2.0 2.1 International Criminal Court. "Assembly of States Parties". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มกราคม 2008. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2008.
- ↑ 3.0 3.1 International Criminal Court. Structure of the Court เก็บถาวร 25 พฤษภาคม 2012 ที่ archive.today, ICC website. Retrieved 16 June 2012
- ↑ 4.0 4.1 Article 112 of the Rome Statute. Retrieved 18 October 2013.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 ดู ข้อ 46 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ 6.0 6.1 Coalition for the International Criminal Court. "Assembly of States Parties". สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
- ↑ International Criminal Court. "The Presidency". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-18. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
- ↑ ดู ข้อ 38 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ 9.0 9.1 International Criminal Court (2009). "Chambers". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-07-18. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
- ↑ ดู ข้อ 36 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ 11.0 11.1 ดู ข้อ 41 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ 12.0 12.1 12.2 International Criminal Court (2009). "Office of the Prosecutor". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-19. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 ดู ข้อ 42 แห่ง ธรรมนูญกรุงโรม เก็บถาวร 2013-09-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ US Department of State (2003-06-30). "Frequently Asked Questions About the U.S. Government's Policy Regarding the International Criminal Court (ICC)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-01-09. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
- ↑ Henry A. Kissinger. “The Pitfalls of Universal Jurisdiction”. Foreign Affairs, July/August 2001, p. 95. Accessed 31 December 2006.
- ↑ 16.0 16.1 International Criminal Court. "The Registry". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-16. สืบค้นเมื่อ 2010-03-05.
- ↑ Article 3 of the Rome Statute. Retrieved 18 October 2013.
- ↑ International Criminal Court (25 มิถุนายน 2008). "Headquarter Agreement between the International Criminal Court and the Host State" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 14 มกราคม 2009. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน 2008.
- ↑ "ICC Permanent Premises". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-23. สืบค้นเมื่อ 22 February 2016.
- ↑ "The Hague - International Zone". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 5 May 2016.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์ทางการ
- เว็บไซต์องค์กรเอกชน
- เว็บไซต์พันธมิตรศาลอาญาระหว่างประเทศ
- เว็บไซต์ศาลอาญาระหว่างประเทศ เก็บถาวร 2 กุมภาพันธ์ 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – องค์การนิรโทษกรรมสากล สหรัฐอเมริกา
- บล็อกเกี่ยวกับคดีอาญาระหว่างประเทศ เก็บถาวร 20 มิถุนายน 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน – สมาคมแม็กแน็บ (McNabb Associates)
- Victims' เว็บไซต์กลุ่มทำงานเพื่อสิทธิ