ภาษาสเปน
ภาษาสเปน (español) หรือ ภาษากัสติยา (castellano) เป็นภาษาในกลุ่มภาษาโรมานซ์ หนึ่งในภาษาทางการ 6 ภาษาขององค์การสหประชาชาติ[19] และภาษาที่มีผู้พูดเป็นภาษาแม่มากที่สุดในโลกเป็นอันดับสองรองจากภาษาจีนกลาง[20][21] รวมทั้งยังเป็นภาษาราชการขององค์การระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจและการเมืองที่สำคัญอีกหลายองค์การอีกด้วย เช่น สหภาพยุโรป[22] สหภาพแอฟริกา[23] องค์การรัฐอเมริกา[24] องค์การรัฐไอบีเรียอเมริกา[25] ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ[26] และสหภาพชาติอเมริกาใต้[27] เป็นต้น
มีผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่หนึ่งและภาษาที่สองเป็นจำนวนระหว่าง 450-500 ล้านคน[16][28][29] โดยเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้พูดภาษานี้มากที่สุด นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังเป็นภาษาที่มีผู้เรียนมากเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากภาษาอังกฤษ[28] มีผู้เรียนภาษานี้อย่างน้อย 17.8 ล้านคน[30][31][32] ขณะที่แหล่งข้อมูลบางแห่งกล่าวว่า มีผู้เรียนภาษานี้กว่า 46 ล้านคนกระจายอยู่ใน 90 ประเทศ[33]
ภาษาสเปนมีต้นกำเนิดจากภาษาละตินชาวบ้านที่พัฒนามาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 3 (เช่นเดียวกับภาษาอื่นในกลุ่มภาษาโรมานช์) หลังจากจักรวรรดิโรมันล่มสลายลง ดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิต่างแยกไปอยู่ใต้การปกครองของชนกลุ่มต่าง ๆ กัน ภาษานี้จึงถูกตัดขาดออกจากภาษาถิ่นของภาษาละตินในดินแดนอื่น ๆ และมีวิวัฒนาการอย่างช้า ๆ จนเกิดเป็นภาษาละตินใหม่ต่างหากอีกภาษาหนึ่ง แต่เนื่องจากได้รับการเผยแพร่ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้เป็นเวลาที่ต่อเนื่องยาวนาน ภาษาสเปนจึงกลายเป็นภาษาละตินใหม่ที่ใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบัน
ชื่อภาษาและที่มา
แก้ชาวสเปนมักเรียกภาษาของตนว่า ภาษาสเปน (español) เมื่อนำภาษานี้ไปเปรียบเทียบกับภาษาของชาติอื่น เช่น ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ แต่จะเรียกว่า ภาษากัสติยา (castellano) [= ภาษาของแคว้นกัสติยา] เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาษาในประเทศสเปนภาษาอื่น ๆ (เช่น ภาษากาลิเซีย ภาษาบาสก์ และภาษากาตาลา) หรือแม้กระทั่งการนำไปเทียบกับบรรดาภาษาพื้นเมืองของประเทศในลาตินอเมริกาบางประเทศ ด้วยวิธีนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสเปน ค.ศ. 1978 จึงใช้คำว่า "ภาษากัสติยา" (castellano) เพื่อนิยามภาษาราชการของประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับ "ภาษาของสเปนภาษาอื่น ๆ" (las demás lenguas españolas) ตามมาตรา 3 ดังนี้
- El castellano es la lengua española oficial del Estado. (…) Las demás lenguas españolas serán también oficiales en las respectivas Comunidades Autónomas…
- ภาษากัสติยาเป็นภาษาสเปนทางการของทั้งรัฐ (…) ภาษาสเปนภาษาอื่น ๆ จะมีสถานะทางการเช่นกันในแคว้นปกครองตนเองตามลำดับ (ต่อไปนี้…)
นักนิรุกติศาสตร์บางคนใช้ชื่อ "Castilian" เมื่อกล่าวถึงภาษาที่ใช้กันในภูมิภาคกัสติยาสมัยกลางเท่านั้น โดยเห็นว่า "Spanish" ควรนำมาใช้เรียกภาษานี้ในสมัยใหม่จะดีกว่า ภาษาถิ่นย่อยของภาษาสเปนที่พูดกันทางตอนเหนือของแคว้นกัสติยาในปัจจุบันเอง บางครั้งก็ยังเรียกว่า "Castilian" ภาษาถิ่นนี้แตกต่างจากภาษาถิ่นในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศสเปน (เช่นในแคว้นอันดาลูซิอาหรือกรุงมาดริดเป็นต้น) โดยในประเทศสเปนถือว่าเป็นภาษาเดียวกับภาษาสเปนมาตรฐานอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม คำ castellano ยังใช้กันเป็นวงกว้างเพื่อเรียกภาษาสเปนทั้งหมดในลาตินอเมริกา เนื่องจากผู้พูดภาษาสเปนบางคนจัดว่า castellano เป็นคำกลาง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองหรือลัทธิใด (เหมือนกับ "Spanish" ในฐานะคำหนึ่งของภาษาอังกฤษ) ชาวลาตินอเมริกาจึงมักใช้คำนี้ในการแบ่งแยกความหลากหลายของภาษาสเปนในแบบของพวกเขาว่า ไม่เหมือนกันกับความหลากหลายของภาษาสเปนที่ใช้กันในประเทศสเปนเอง
คำว่า español ที่ถูกนำมาเปลี่ยนแปลงรูปตามกฎทางไวยากรณ์และสัทวิทยา (การศึกษาเกี่ยวกับเสียงในภาษา) ของแต่ภาษาเพื่อใช้เรียกชาวสเปนและภาษาของพวกเขานั้น มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาละตินว่า "ฮิสปานิโอลุส" (Hispaniolus) [= ชาวฮิสปาเนียน้อย] รูปคำดังกล่าวได้วิวัฒนาการมาเป็น Spaniolus (ในช่วงเวลานั้น ตัว H ในภาษาละตินจะหายไปในการสนทนาปกติ คำนี้จึงออกเสียงว่า "อิสปานิโอลู" [ispa'niolu]) และสระ [i] (ใช้ในภาษาพูดของละตินเพื่อความรื่นหู) ก็ถูกเปิดเป็นสระ [e] จึงทำให้คำนี้มีรูปเขียนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน[34]
ประวัติ
แก้ชาวโรมันจากคาบสมุทรอิตาลีได้นำภาษาละตินเข้ามาใช้บนคาบสมุทรไอบีเรียนับตั้งแต่สมัยสงครามพิวนิกครั้งที่ 2 เมื่อ 218 ปีก่อนคริสต์ศักราช[35] ภาษานี้ได้รับอิทธิพลจากภาษาของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ ภาษาเคลติเบเรียน ภาษาบาสก์ และภาษาโบราณอื่น ๆ บนคาบสมุทร เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายลงในคริสต์ศตวรรษที่ 5 การติดต่อระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ในจักรวรรดิจึงถูกตัดขาดออกจากกัน ส่งผลให้อิทธิพลของภาษาละตินชั้นสูงที่มีต่อชาวบ้านทั่วไปค่อย ๆ ลดลง จนเหลือเพียงภาษาละตินสามัญซึ่งเป็นภาษาพูดเท่านั้นที่ทหารและชาวบ้านทั่วไปยังคงใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันอยู่
ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ชาวมัวร์จากแอฟริกาเหนือได้เข้ารุกรานและครอบครองคาบสมุทรไอบีเรียต่อจากชาววิซิกอท การทำสงครามเพื่อผนวกและยึดดินแดนคืนจึงดำเนินไปอย่างยาวนาน พื้นที่บนคาบสมุทรจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนโดยปริยาย ในเขตอัลอันดะลุสใช้ภาษาอาหรับและภาษาเบอร์เบอร์ แต่ก็มีผู้ใช้ภาษาโมซาราบิก (เป็นภาษาโรมานซ์ภาษาหนึ่ง แต่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอาหรับ) อยู่ด้วย ส่วนพื้นที่ทางตอนเหนือที่ยังคงเป็นเขตอิทธิพลของชาวคริสต์นั้น ภาษาพูดละตินในท้องถิ่นต่าง ๆ ได้มีพัฒนาการทางโครงสร้างที่แตกต่างจากกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มกลายเป็นภาษาถิ่นที่มีลักษณะเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกาตาลา, นาวาร์-อารากอน, กัสติยา, อัสตูร์-เลออน หรือกาลิเซีย-โปรตุเกส โดยภาษาเหล่านี้มีชื่อเรียกโดยรวมว่า "โรมานซ์"
ภาษาโรมานซ์กัสติยาซึ่งเป็นหนึ่งในบรรพบุรุษของภาษาสเปนนั้นถือกำเนิดจากภาษาละตินสามัญที่ใช้กันในแถบทิวเขากันตาเบรีย (พื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างจังหวัดอาลาบา, กันตาเบรีย, บูร์โกส, โซเรีย และลาริโอฆา ทางตอนเหนือของสเปนปัจจุบัน ขณะนั้นเป็นเขตของแคว้นกัสติยา) โดยรับอิทธิพลบางอย่างจากภาษาบาสก์และภาษาของชาววิซิกอท หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเก่าแก่ที่สุดมีชื่อว่า จดหมายเหตุบัลปูเอสตา (Cartularios de Valpuesta) พบที่โบสถ์แห่งหนึ่งในจังหวัดบูร์โกส เป็นเอกสารที่บันทึกลักษณะและศัพท์ของภาษาโรมานซ์ (ที่จะพัฒนามาเป็นภาษากัสติยา) ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 ไว้[36]
ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ได้เกิดกระบวนการกลมกลืนและปรับระดับทางภาษาขึ้นระหว่างภาษาโรมานซ์ที่ใช้กันในตอนกลางของคาบสมุทร ได้แก่ อัสตูร์-เลออน, กัสติยา และนาวาร์-อารากอน นำไปสู่การก่อรูปแบบของภาษาที่ผู้คนบนคาบสมุทรนี้จะใช้ร่วมกันต่อไป นั่นคือ ภาษาสเปน[37] อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้เห็นด้วยกับข้อสันนิษฐานที่มีมาแต่เดิมว่า ภาษาสเปนพัฒนามาจากภาษากัสติยาเป็นหลักและอาจจะได้รับอิทธิพลจากภาษาข้างเคียงมาบ้างเท่านั้น[37]
เมื่อการพิชิตดินแดนคืนจากชาวมุสลิม (ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8) มีความคืบหน้าไปมากในยุคกลางตอนปลาย ภาษาโรมานซ์ต่าง ๆ จากทางเหนือก็ถูกนำลงมาเผยแพร่ทางตอนกลางและตอนล่างของคาบสมุทรไปพร้อม ๆ กัน โดยเฉพาะภาษากัสติยาซึ่งเข้าไปแทนที่หรือส่งอิทธิพลต่อภาษาในท้องถิ่นต่าง ๆ และในขณะเดียวกันก็ได้ยืมศัพท์เป็นจำนวนมากจากภาษาอาหรับ และจากภาษาโมซาราบิกของชาวคริสต์และชาวยิวที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวมัวร์ด้วย (แต่ภาษาเหล่านี้ได้สูญไปจากคาบสมุทรไอบีเรียตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16)
ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 และ 13 อาณาจักรกัสติยาได้กลายเป็นผู้นำทางการเมืองและวัฒนธรรมเหนืออาณาจักรอื่น ๆ บนคาบสมุทร สถานการณ์นี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดการวางมาตรฐานภาษากัสติยาเป็นภาษาเขียนอีกทางหนึ่ง[38] เห็นได้ชัดในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 พระองค์ทรงรวบรวมนักเขียนและปราชญ์จากเมืองต่าง ๆ มาประชุมกันในราชสำนักเพื่อเขียนและแปลเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ดาราศาสตร์ และกฎหมาย โดยผลงานต่าง ๆ ได้รับการบันทึกลงเป็นภาษากัสติยาแทนภาษาละติน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้เหล่านั้นได้มากขึ้น[39]
ต่อมาในปี ค.ศ. 1492 เอลิโอ อันโตนิโอ เด เนบริฆา ได้แต่งตำราอธิบายโครงสร้าง คำศัพท์ และวิธีการสอนภาษากัสติยาที่เมืองซาลามังกา มีชื่อว่า ไวยากรณ์ภาษากัสติยา (Gramática de la Lengua Castellana) นับว่าเป็นตำราไวยากรณ์ภาษาแรกในยุโรป[40] เกร็ดที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งมีอยู่ว่า เมื่อเนบรีคาเสนอตำราดังกล่าวแด่สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 พระองค์มีพระราชดำรัสถามว่าผลงานชิ้นนี้มีประโยชน์อย่างไร เขาได้ทูลตอบว่า ภาษาถือเป็นเครื่องมือของจักรวรรดิ[41]
ระหว่างปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 จนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเสียงขนานใหญ่ในภาษาสเปนเช่นเดียวกับภาษาอื่นในกลุ่มโรมานซ์ กล่าวคือ เสียงพยัญชนะบางเสียงได้สูญหายไป มีเสียงพยัญชนะใหม่ปรากฏขึ้น ส่วนเสียงพยัญชนะเสียดแทรกที่มีฐานอยู่ที่ปุ่มเหงือก ฟัน และเพดานแข็ง (ส่วนหน้า) บางเสียงได้ถูกกลืนเข้ากับเสียงอื่น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นผลให้ภาษาสเปนมีระบบเสียงพยัญชนะใกล้เคียงกับที่ปรากฏในปัจจุบัน
ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 นักสำรวจและนักล่าอาณานิคมได้นำภาษาสเปนเข้าไปเผยแพร่และใช้ในดินแดนทวีปอเมริกาและสแปนิชอีสต์อินดีสอย่างต่อเนื่องนานนับร้อยปี จนภาษานี้ได้กลายเป็นหนึ่งในภาษาหลักที่ใช้ผู้คนในทวีปดังกล่าวใช้สื่อสารกันมาจนถึงทุกวันนี้ และในเวลาต่อมา ภาษาสเปนก็ถูกนำไปใช้เป็นครั้งแรกในอิเควทอเรียลกินี เวสเทิร์นสะฮารา รวมไปถึงพื้นที่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิสเปนมาก่อนเลย เช่น ในย่านสแปนิชฮาร์เล็มของนครนิวยอร์ก
ปัจจุบันภาษาสเปนที่ใช้กันในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกมีความหลากหลายอย่างมากทั้งในด้านการออกเสียงและด้านคำศัพท์ แม้ว่าจะมีโครงสร้างหลักร่วมกันเป็นภาษาละตินก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการติดต่อกับภาษาพื้นเมืองของแต่ละท้องที่เป็นเวลานาน เช่น ภาษาไอมารา, ชิบชา, กวารานี, มาปูเช, มายา, นาวัตล์, เกชัว, ตาอีโน และตากาล็อก ทำให้ผู้ใช้ภาษาสเปนมีแนวโน้มที่จะรับเอาชุดความคิดและลักษณะที่ปรากฏในภาษาเหล่านั้นเข้ามาใช้ โดยเฉพาะคำศัพท์ ซึ่งหลายครั้งไม่เพียงมีอิทธิพลต่อภาษาสเปนในพื้นที่ที่สัมผัสภาษานั้นโดยตรงเท่านั้น แต่ยังส่งอิทธิพลต่อวงคำศัพท์ภาษาสเปนทั่วโลกด้วย
ลักษณะเฉพาะ
แก้สิ่งบ่งชี้ลักษณะเฉพาะอย่างหนึ่งของภาษาสเปนก็คือ การเปลี่ยนเสียงสระเดี่ยวที่มาจากภาษาละติน ได้แก่ สระ ‹e› และสระ ‹o› ให้กลายเป็นเสียงสระประสมสองเสียง (diphthong) คือสระ ‹ie› และสระ ‹ue› ตามลำดับเมื่อสระทั้งสองอยู่ในตำแหน่งที่ลงเสียงหนักภายในคำ การกลายเสียงที่คล้ายกันนี้ยังสามารถพบได้ในภาษาโรมานซ์อื่น ๆ แต่สำหรับภาษาสเปน ลักษณะเหล่านี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ละติน petra > สเปน piedra; อิตาลี pietra; ฝรั่งเศส pierre; โรมาเนีย piatrǎ; โปรตุเกส/กาลิเซีย pedra; กาตาลา pedra ‘ก้อนหิน’
- ละติน moritur > สเปน muere; อิตาลี muore; ฝรั่งเศส meurt / muert; โรมาเนีย moare; โปรตุเกส/กาลิเซีย morre; กาตาลา mor ‘เขาตาย’
ลักษณะแปลกอีกอย่างหนึ่งของภาษาสเปนยุคแรกที่ไม่พบในภาษาอื่นที่พัฒนามาจากภาษาละติน (ยกเว้นภาษาถิ่นแกสกันของภาษาอุตซิตา ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาษาทั้งสองได้รับอิทธิพลมาจากภาษาบาสก์ซึ่งเป็นภาษาพื้นเดิมและมีเขตผู้ใช้ภาษาอยู่ติดต่อกัน)[42] คือการกลายรูปพยัญชนะจาก ‹f› ต้นคำ เป็น ‹h› เมื่อใดก็ตามที่ ‹f› ตัวนั้นนำหน้าสระเดี่ยวที่จะไม่พัฒนามาเป็นสระประสมในภาษาสเปน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ละติน fīlium > อิตาลี figlio; โปรตุเกส filho; ฝรั่งเศส fils; อุตซิตา filh (แต่ แกสกัน hilh ); สเปน hijo (แต่ ลาดิโน fijo) ‘ลูกชาย’
- ละติน fābulārī > ลาดิโน favlar; โปรตุเกส falar; สเปน hablar ‘พูด’
- แต่ ละติน focum > อิตาลี fuoco; โปรตุเกส fogo; สเปน/ลาดิโน fuego ‘ไฟ’
พยัญชนะควบกล้ำบางตัวในภาษาละติน เช่น ‹cl›, ‹fl›, ‹pl›, ‹ct› เมื่อมีวิวัฒนาการไปเป็นส่วนหนึ่งของภาษาต่าง ๆ ในกลุ่มโรมานซ์ยังเกิดผลแตกต่างกันอย่างเป็นเอกลักษณ์ในภาษาเหล่านี้ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้
- ละติน clāmāre, flammam (รูปกรรม), plēnum > ลาดิโน lyamar, flama, pleno; สเปน llamar, llama, lleno (แต่ภาษาสเปนก็มีรูป clamar, flama, pleno ด้วย); โปรตุเกส chamar, chama, cheio
- ละติน octō (รูปกรรม), noctem, multum > ลาดิโน ocho, noche, muncho; สเปน ocho, noche, mucho; โปรตุเกส oito, noite, muito; กาลิเซีย oito, noite, moito
การจำแนกและภาษาร่วมตระกูล
แก้ภาษาสเปนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับภาษาอื่น ๆ ในกลุ่มไอบีเรียตะวันตก ได้แก่ ภาษาอัสตูเรียส ภาษากาลิเซีย ภาษาลาดิโน ภาษาอัสตูเรียส-เลออน และภาษาโปรตุเกส ส่วนภาษากาตาลาแม้จะมีเขตผู้ใช้ภาษาอยู่ในประเทศสเปน แต่เนื่องจากเป็นภาษาในกลุ่มไอบีเรียตะวันออกและแสดงลักษณะหลายประการของกลุ่มภาษาโรมานซ์กอล จึงมีความใกล้เคียงกับภาษาอุตซิตามากกว่ากับภาษาสเปน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือมากกว่าที่ภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกสใกล้เคียงกันเสียอีก
ภาษาสเปนและภาษาโปรตุเกสมีระบบไวยากรณ์และคำศัพท์คล้ายคลึงกัน และยังมีประวัติความเป็นมาร่วมกันในด้านอิทธิพลจากภาษาอาหรับในยุคที่พื้นที่ส่วนใหญ่ของคาบสมุทรไอบีเรียตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของชาวมุสลิมอีกด้วย โดยความใกล้เคียงของศัพท์ของภาษาทั้งสองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 89[10]
ภาษาลาดิโน
แก้ภาษาลาดิโน (Ladino) เป็นภาษายิว-สเปน (Judaeo-Spanish) ที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาสเปนโบราณและมีความใกล้เคียงกับภาษาสเปนสมัยใหม่มากกว่าภาษาอื่น ผู้พูดภาษานี้เป็นผู้ที่สืบทอดเชื้อสายมาจากชาวยิวเซฟาร์ดี (Sephardic Jews) ที่ถูกขับไล่ออกไปจากสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ทุกวันนี้ผู้พูดภาษาลาดิโนแทบจะเหลือเพียงชาวยิวเซฟาร์ดีที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศตุรกี กรีซ คาบสมุทรบอลข่าน และลาตินอเมริกา ภาษานี้ไม่มีคำศัพท์อเมริกันพื้นเมืองซึ่งส่งอิทธิพลต่อภาษาสเปนในสมัยที่สเปนยังมีอาณานิคมที่ทวีปนั้นและยังรักษาคำศัพท์โบราณที่สูญหายไปแล้วจากภาษาสเปนมาตรฐาน อย่างไรก็ตามในภาษานี้ยังปรากฏคำศัพท์ที่ไม่พบในภาษากัสติยามาตรฐาน ได้แก่ คำศัพท์จากภาษาฮีบรู ภาษาตุรกี และจากภาษาอื่น ๆ ในที่ที่ชาวยิวเซฟาร์ดีเข้าไปตั้งถิ่นฐานปะปนอยู่ด้วย
ภาษาลาดิโนอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญสิ้นไป เพราะผู้ใช้ภาษานี้ในปัจจุบันเป็นผู้สูงอายุซึ่งไม่ได้ถ่ายทอดภาษานี้ไปสู่รุ่นลูกหลาน ส่วนชุมชนเซฟาร์ดีในลาตินอเมริกา ความเสี่ยงที่จะภาษานี้จะสูญไปยังมีเหตุผลมาจากการถูกกลืนเข้ากับภาษาสเปนสมัยใหม่อีกด้วย
ภาษาถิ่นที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาลาดิโนคือภาษาฮาเกเตีย (Haketia) ซึ่งเป็นภาษายิว-สเปนทางภาคเหนือของประเทศโมร็อกโก ภาษานี้ก็มีแนวโน้มที่จะถูกกลืนเข้ากับภาษาสเปนสมัยใหม่เช่นกันในสมัยที่สเปนเข้าครอบครองบริเวณดังกล่าว
การเปรียบเทียบคำศัพท์
แก้ภาษาสเปนและภาษาอิตาลีมีระบบสัทวิทยา (เสียงในภาษา) ที่คล้ายคลึงกันมากและไม่มีความแตกต่างกันนักในระบบไวยากรณ์ อีกทั้งในปัจจุบันภาษาที่สองยังมีความใกล้เคียงของศัพท์อยู่ที่ประมาณร้อยละ 82[10] ดังนั้น ผู้ใช้ภาษาสเปนและผู้ใช้ภาษาอิตาลีจึงสามารถสื่อสารกันเข้าใจได้ในระดับที่ต่างกันออกไป ความใกล้เคียงของศัพท์ระหว่างภาษาสเปนกับภาษาโปรตุเกสนั้นอยู่ที่ร้อยละ 89 แต่ความไม่แน่นอนของกฎการออกเสียงในภาษาโปรตุเกสทำให้ผู้ใช้ภาษาสเปนเข้าใจภาษานี้ได้น้อยกว่าที่เข้าใจภาษาอิตาลี ส่วนความเข้าใจกันได้ระหว่างภาษาสเปนกับภาษาฝรั่งเศสและภาษาโรมาเนียมีน้อยกว่า (มีความใกล้เคียงของศัพท์อยู่ที่ร้อยละ 75 และร้อยละ 71[10] ตามลำดับ) ความเข้าใจภาษาสเปนของผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสที่ไม่เคยเรียนภาษาสเปนมาก่อนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 45 อย่างไรก็ตาม ระบบการเขียนที่มีลักษณะร่วมกันของภาษาในกลุ่มโรมานซ์ทำให้ผู้ใช้ภาษาของแต่ละภาษาในกลุ่มนี้นิยมสื่อสารกับผู้ใช้ภาษาอื่น ๆ (ในกลุ่มเดียวกัน) ด้วยการอ่านเอาความมากกว่าการใช้คำพูดสนทนา
ละติน | สเปน | โปรตุเกส | กาตาลา | อิตาลี | ฝรั่งเศส | โรมาเนีย | ความหมาย |
---|---|---|---|---|---|---|---|
nōs | nosotros | nós¹ | nosaltres | noi² | nous³ | noi | พวกเรา |
frātrem germānum ("พี่ชาย, น้องชายแท้") |
hermano | irmão | germà | fratello | frère | frate | พี่ชาย, น้องชาย |
diēs Martis (ภาษาชั้นสูง)
fēria tertia (ภาษาพระ) |
martes | terça-feira | dimarts | martedì | mardi | marți | วันอังคาร |
cantiō, canticum | canción | canção | cançó | canzone | chanson | cântec | เพลง |
magis หรือ plūs | más (คำโบราณ: plus) |
mais (คำโบราณ: chus) |
més (คำโบราณ: pus) |
più | plus | mai | มากกว่า, อีก |
manum sinistram | mano izquierda
หรือ (mano siniestra) |
mão esquerda (คำโบราณ: sẽestra) |
mà esquerra | mano sinistra | main gauche | mâna stângă | มือซ้าย |
nihil หรือ nūllam rem nātam ("ไม่มีอะไรเกิดขึ้น") |
nada | nada (คำโบราณ: rem) |
res | niente/nulla | rien/nul | nimic | ไม่มีอะไร |
1. หรือ nós outros ในภาษาโปรตุเกสสมัยใหม่ (ยุคต้น)
2. noi altri ในภาษาถิ่นใต้ของอิตาลี
3. หรือ nous autres
ความแพร่หลายในพื้นที่ต่าง ๆ
แก้ทุกวันนี้ ภาษาสเปนเป็นภาษาราชการภาษาหนึ่งของประเทศสเปน เกือบทุกประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา รวมทั้งประเทศอิเควทอเรียลกินีในทวีปแอฟริกาด้วย สรุปแล้วมี 20 ประเทศกับอีก 1 ดินแดนที่มีประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษานี้เป็นภาษาหลัก ซึ่งเกือบทั้งหมดตั้งอยู่ในภูมิภาคฮิสแปนิกอเมริกา ปัจจุบันประเทศเม็กซิโกเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้ภาษาสเปนมากที่สุดในโลก[43] คิดเป็นเกือบหนึ่งในสามของจำนวนผู้ใช้ภาษาสเปนทั้งหมดบนโลก[43]
จากสถิติการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกในปี ค.ศ. 2007 ปรากฏว่าภาษาสเปนเป็นภาษาที่ใช้กันในอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับที่สามรองจากภาษาอังกฤษและภาษาจีน[44]
ประเทศ | จำนวนประชากร[45] | จำนวนผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาแม่[46] | จำนวนผู้พูดสองภาษาและผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่สอง (ในประเทศที่ใช้ภาษานี้เป็นภาษาทางการ)[47] หรือจำนวนผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาต่างประเทศ (ในประเทศที่ไม่ใช้ภาษานี้เป็นภาษาทางการ)[48] | จำนวนผู้พูดภาษาสเปนคิดเป็นร้อยละของจำนวนประชากรทั้งประเทศ[49] | จำนวนผู้พูดภาษาสเปนรวมทั้งหมด |
---|---|---|---|---|---|
เม็กซิโก | 112,336,538 [50] | 104,135,971 [51] | 6,515,519 | 98.5% [49] | 110,651,490 |
สหรัฐ | 307,006,550 [52] | 35,468,501 [53] | 14,531,499 | 16.3% | 50,000,000[54][55] |
สเปน | 47,150,819 [56] | 41,964,229 [57] | 4,620,780 | 98.8% [49] | 46,585,009 |
โคลอมเบีย | 46,240,000 [58] | 45,740,000 [59] | 130,080 | 99.2% [49] | 45,870,080 |
อาร์เจนตินา | 40,900,496 [60] | 36,333,605 [61] | 4,321,488 | 99.4% [49] | 40,655,093 |
ระบบการเขียน
แก้ตัวอักษร
แก้ภาษาสเปนใช้อักษรละตินในการเขียนเช่นเดียวกับภาษาส่วนใหญ่ในยุโรป แต่จะมีอักขระเพิ่มขึ้นมาหนึ่งตัวคือ ‹ñ› หรือเรียกว่า "เอเญ" นอกจากนี้ยังมีทวิอักษร ‹ch› "เช" และ ‹ll› "เอเย" โดยถือว่าทั้งสองเป็นตัวอักษรในชุดตัวอักษรสเปนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1803[62][63] เนื่องจากใช้แทนเสียงที่ไม่ใช่เสียงเดียวกับเสียงตัวอักษรที่ประกอบขึ้นเป็นตัวมันเอง กล่าวคือ ‹ñ› แทนหน่วยเสียง /ɲ/, ‹ch› แทนหน่วยเสียง /t͡ʃ/ และ ‹ll› แทนหน่วยเสียง /ʎ/ หรือ /ɟ͡ʝ/ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ทวิอักษร ‹rr› "เอเรโดเบล" หรือเรียกอย่างง่ายว่า "เอร์เร" (คนละตัวกับ ‹r› "เอเร") จะแทนหน่วยเสียงต่างหากเช่นกันคือ /r/ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นตัวอักษรต่างหากเหมือน ‹ch› และ ‹ll›
ในการประชุมครั้งที่ 10 ของสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมาดริดเมื่อปี ค.ศ. 1994 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการใช้ชุดตัวอักษรละตินแบบสากลตามที่องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรร้องขอ ส่งผลให้ทวิอักษร ‹ch› และ ‹ll› ไม่ถือเป็นตัวอักษรโดด ๆ แต่ถือเป็นพยัญชนะซ้อน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นและการเรียงลำดับคำในพจนานุกรม คำต่าง ๆ ที่ขึ้นต้นด้วย ‹ch› จึงถูกนำไปจัดเรียงอยู่ระหว่างคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹ce› และ ‹ci› แทน ต่างจากเดิมที่ถูกจัดไว้ต่อจากคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹cz› ส่วนคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹ll› ก็ถูกจัดอยู่ระหว่างคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹li› และ ‹lo› เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปครั้งนั้นมีผลเฉพาะต่อการเรียงลำดับคำตามตัวอักษรเท่านั้น ไม่มีผลต่อชุดตัวอักษรสเปนซึ่งทวิอักษร ‹ch› และ ‹ll› ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในนั้นอยู่[64] จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2010 หนังสือคู่มืออักขรวิธีภาษาสเปน (Ortografía de la lengua española) ซึ่งจัดทำโดยราชบัณฑิตยสถานสเปนร่วมกับสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนได้ตัด ‹ch› และ ‹ll› ออกจากชุดตัวอักษรอย่างสมบูรณ์[65]
ดังนั้น ชุดตัวอักษรสเปนในปัจจุบันจึงประกอบด้วยตัวอักษร 27 ตัว[66] ได้แก่
- a, b, c, d, e, f, g, h, i, j, k, l, m, n, ñ, o, p, q, r, s, t, u, v, w, x, y, z
เครื่องหมายอื่น ๆ
แก้คำสเปนแท้จะมีการลงน้ำหนักที่พยางค์ก่อนพยางค์สุดท้ายของคำ หากคำนั้นลงท้ายด้วยสระ (ไม่รวม ‹y›) หรือลงท้ายด้วยพยัญชนะ ‹n› หรือ ‹s› นอกนั้นจะลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย แต่ถ้าตำแหน่งที่ลงน้ำหนักในคำไม่เป็นไปตามกฎดังกล่าว สระในพยางค์ที่ถูกเน้นก็จะมีเครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัด (acute accent) กำกับไว้ข้างบน เช่น página, décimo, jamón, tailandés และ árbol แต่เครื่องหมายลงน้ำหนักมักจะถูกละบ่อยครั้งเมื่อสระที่มันกำกับเสียงหนักอยู่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ (ในยุคแรก ๆ คอมพิวเตอร์บางเครื่องสามารถพิมพ์ได้เฉพาะตัวพิมพ์เล็กที่มีเครื่องหมายนี้กำกับเท่านั้น) ซึ่งราชบัณฑิตยสถานสเปนก็แนะนำไม่ให้ทำเช่นนั้น[67][68]
นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัดเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างคำพ้องเสียง เช่น ระหว่าง el (คำกำกับนามเพศชาย ชี้เฉพาะ) กับ él (‘เขา’ สรรพนามบุรุษที่ 3 เอกพจน์ รูปประธาน) หรือระหว่าง te (‘เธอ’ สรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ รูปกรรม) de (‘แห่ง’ หรือ ‘จาก’) และ se (สรรพนามสะท้อน) กับ té (‘น้ำชา’) dé (‘ให้’) และ sé (‘ฉันรู้’ หรือ ‘จงเป็น...’)
ในภาษาสเปน จะมีการลงน้ำหนักสรรพนามคำถามต่าง ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น qué (‘อะไร’), cuál (‘อันไหน’), dónde (‘ที่ไหน’), quién (‘ใคร’) ทั้งที่อยู่ในประโยคคำถามตรง (direct questions) และประโยคคำถามอ้อม (indirect questions) ส่วนคำระบุเฉพาะ (demonstratives) เช่น ése, éste, aquél และอื่น ๆ จะลงน้ำหนักเมื่อใช้เป็นสรรพนาม
คำสันธาน o (‘หรือ’) แต่เดิมจะเขียนโดยใส่เครื่องหมายลงน้ำหนักเมื่ออยู่ระหว่างจำนวนที่เป็นตัวเลข เพื่อไม่ให้สับสนกับเลขศูนย์ เช่น 10 ó 20 จะอ่านว่า diez o veinte (‘10 หรือ 20’) ไม่ใช่ diez mil veinte (‘10,020’) จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2010 ราชบัณฑิตยสถานสเปนและสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนได้กำหนดว่าไม่ต้องใส่เครื่องหมายลงน้ำหนักบนคำสันธานนี้แล้ว เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่พยางค์ที่ลงน้ำหนักในประโยค และในทางปฏิบัติก็ไม่พบว่าเกิดความเข้าใจสับสนระหว่างตัว o กับเลขศูนย์ในบริบทนี้แต่อย่างใด[69]
ในบางกรณี เมื่อตัวอักษร ‹u› อยู่ระหว่างพยัญชนะ ‹g› กับสระหน้า (‹e, i›) จะต้องใส่เครื่องหมายเสริมสัทอักษรกำกับเป็น ‹ü› เพื่อบอกว่าเราต้องออกเสียง u ตัวนี้ด้วย (ปกติตัว ‹u› จะทำหน้าที่กันไม่ให้ ‹g› ที่จะประกอบขึ้นเป็นพยางค์กับสระ ‹e› หรือ ‹i› ออกเสียงเป็น /x/ เราจึงไม่ออกเสียงสระ ‹u› ในตำแหน่งนี้) เช่น cigüeña (‘นกกระสา’) จะออกเสียงว่า /θiˈɡweɲa/ [ซี.กฺเว.ญา] แต่ถ้าสะกดว่า *cigueña จะต้องออกเสียงเป็น /θiˈɡeɲa/ [ซี.เก.ญา] นอกจากนี้ เรายังอาจพบเครื่องหมายเสริมสัทอักษรดังกล่าวบนสระ ‹i› และ ‹u› ได้ในกวีนิพนธ์ต่าง ๆ เนื่องจากผู้แต่งต้องการแยกสระประสม (ซึ่งปกตินับเป็นหนึ่งพยางค์) ออกเป็นสองพยางค์ เพื่อให้มีจำนวนพยางค์ในวรรคตรงตามที่ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ บังคับไว้พอดี เช่น ruido มีสองพยางค์คือ rui-do [รุยโด] แต่ ruïdo มีสามพยางค์คือ ru-ï-do [รูอีโด]
อีกประการหนึ่ง การเขียนประโยคคำถามจะขึ้นต้นด้วยปรัศนีหัวกลับ ‹¿› ส่วนประโยคอุทานก็จะขึ้นต้นด้วยอัศเจรีย์หัวกลับ ‹¡› เครื่องหมายพิเศษสองตัวนี้ช่วยให้เราอ่านประโยคคำถามและประโยคอุทาน (ซึ่งจะแสดงออกให้ทราบได้ด้วยการใช้ทำนองเสียงแบบต่าง ๆ เมื่อสนทนาเท่านั้น) ได้ง่ายขึ้น โดยเราจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่าประโยคยาว ๆ ที่อ่านอยู่เป็นประโยคแบบใด (บอกเล่า คำถาม หรืออุทาน) ในภาษาอื่นไม่จำเป็นต้องใช้ ‹¿› และ ‹¡› เนื่องจากมีระบบวากยสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความกำกวมในการอ่าน เพราะโดยทั่วไปแล้ว การสร้างประโยคบอกเล่ามักจะนำประธานมาไว้ต้นประโยคแล้วจึงตามด้วยกริยา เราจะย้ายกริยามาไว้ต้นประโยคแล้วตามด้วยประธานก็ต่อเมื่อทำเป็นประโยคคำถาม แต่ในภาษาสเปน เราสามารถเรียงลำดับโดยให้กริยามาก่อนประธานได้เป็นปกติ ไม่ว่าในประโยคบอกเล่าหรือประโยคคำถาม และมักจะละประธานออกไปด้วย (เช่น Is he coming tomorrow?, Vient-il demain?, Kommt er morgen? และ ¿Viene mañana?)
สัทวิทยา
แก้การออกเสียงคำส่วนใหญ่ในภาษาสเปนจะสามารถทราบได้จากตัวสะกดอยู่แล้ว เนื่องจากพยัญชนะ/สระหนึ่งตัวส่วนใหญ่จะแทนเสียงเพียงเสียงเดียว ไม่ว่าจะปรากฏอยู่ในตำแหน่งใดหรือกับพยัญชนะ/สระใดก็ตาม ยกเว้นบางหน่วยเสียง (phoneme) ที่หากปรากฏในตำแหน่งที่ต่างกันจะมีเสียงแปร (allophone) เกิดขึ้น ซึ่งยังมีลักษณะการออกเสียงใกล้เคียงกับหน่วยเสียงหลัก แต่นอกจากเสียงสระและพยัญชนะแล้ว การลงน้ำหนักพยางค์ (accentuation) และการใช้ทำนองเสียง (intonation) แบบต่าง ๆ ให้เหมาะสมก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการออกเสียงเพื่อสื่อสาร ในภาษาสเปนมีจำนวนคำที่ต้องลงน้ำหนักที่พยางค์รองสุดท้ายมากที่สุด[70] รองลงมาเป็นคำที่ต้องลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้ายและคำที่ต้องลงน้ำหนักที่พยางค์ที่สาม (นับจากพยางค์สุดท้าย) ตามลำดับ
ลักษณะเฉพาะตัวทางสัทวิทยาของภาษาสเปนที่เปลี่ยนแปลงไปจากภาษาละตินได้แก่ การกลายเสียงพยัญชนะไม่ก้องระหว่างสระเป็นเสียงก้อง[71] (เช่น ละติน vīta > สเปน vida; ละติน lupus > สเปน lobo; ละติน lacus > สเปน lago), การกลายเสียงสระเดี่ยว e และ o ในพยางค์เน้นเป็นสระประสม[72] (เช่น ละติน terra > สเปน tierra; ละติน novus > สเปน nuevo) และการกลายเสียงพยัญชนะที่ซ้ำเสียงกันต่อเนื่องเป็นเสียงพยัญชนะเพดานแข็ง[71] (เช่น ละติน annus > สเปน año /ˈaɲo/; ละติน caballus > สเปน caballo /kaˈbaʎo/) เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางเสียงทำนองนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกันในภาษากลุ่มโรมานซ์ภาษาอื่น ๆ หลังจากการสถาปนาราชบัณฑิตยสถานสเปนขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ระบบการเขียนของภาษาสเปนจึงได้รับการดัดแปลงให้ง่ายขึ้นโดยอิงรูปแบบทางสัทศาสตร์เป็นหลัก
เสียงสระ
แก้หน่วยเสียงสระสเปน[73]
ประเภท | สระหน้า | สระ กลางลิ้น |
สระหลัง |
---|---|---|---|
สระลิ้นยกสูง (ปิด) | /i/ | /u/ | |
สระลิ้นระดับกลาง | /e/ | /o/ | |
สระลิ้นลดต่ำ (เปิด) | /a/ |
ภาษาสเปนมีหน่วยเสียงสระ 5 หน่วยเสียง ได้แก่ /i/, /u/, /e/, /o/ และ /a/ สระทุกตัวสามารถปรากฏทั้งในตำแหน่งที่รับและไม่ได้รับการลงเสียงหนักในพยางค์[73] โดยปกติเสียงสระ /e/ และ /o/ เป็นสระลิ้นระดับกลาง (mid vowel) กล่าวคือ ลิ้นไม่ยกสูงขึ้นไปใกล้เพดานปากและไม่ลดต่ำลงจนห่างจากเพดานปากมากเกินไป แต่ในการออกเสียงจริง บางครั้งลิ้นอาจลดต่ำลงอีกจากตำแหน่งปกติจนทำให้สระทั้งสองเกือบกลายเป็นสระ [ɛ] [เอะ+แอะ] และ [ɔ] [เอาะ] ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของสระรวมทั้งพยัญชนะที่นำหน้าและ/หรือตามหลังมันในคำต่าง ๆ [74] แต่เราไม่ถือว่าเสียงสระเหล่านี้เป็นหน่วยเสียงหลักต่างหากในภาษาสเปน เนื่องจากไม่ทำให้ความหมายของคำแตกต่างไปจากหน่วยเสียงสระเดิม นั่นหมายความว่าเสียงเหล่านี้ยังคงเป็นเสียงย่อย (allophone) ของหน่วยเสียง /e/ และ /o/ ตามลำดับ ต่างจากภาษาพี่น้องอย่างกาตาลา โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอิตาลีที่มี /ɛ/ และ /ɔ/ เป็นหน่วยเสียงเอกเทศ[74][75][76] เพราะทั้งหมดมีความสำคัญต่อการจำแนกความหมายของคำ
เสียงพยัญชนะ
แก้ปัจจุบันระบบเสียงในหลายสำเนียงของภาษาสเปนประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะอย่างน้อย 17 หน่วยเสียง ได้แก่ /m, n, ɲ, p, b, t̪, d̪, k, ɡ, t͡ʃ, ɟ͡ʝ, f, s, x, ɾ, r, l/ แต่ในแถบเทือกเขาแอนดีสในทวีปอเมริกาใต้จะปรากฏหน่วยเสียง /ʎ/[77] เพิ่มขึ้นเป็น 18 หน่วยเสียง และในหลายพื้นที่ของประเทศสเปนจะปรากฏหน่วยเสียง /ʎ/ และ /θ/[77][78] เพิ่มขึ้นอีกรวมเป็น 19 หน่วยเสียง รายการหน่วยเสียงพยัญชนะสเปนในตารางข้างล่างนี้แสดงหน่วยเสียงที่ปรากฏเฉพาะในสำเนียงดังกล่าวไว้ด้วยโดยมีเครื่องหมายดอกจันกำกับอยู่ ตัวสัทอักษรที่ปรากฏในวงเล็บคือเสียงย่อยที่สำคัญ ส่วนตัวสัทอักษรที่ปรากฏเป็นคู่ในช่องเดียวกันแสดงว่า ทั้งสองมีตำแหน่งเกิดเสียงและลักษณะการออกเสียงร่วมกัน แต่ตัวซ้ายจะเป็นเสียงไม่ก้อง ตัวขวาจะเป็นเสียงก้อง
ริมฝีปาก | ริมฝีปาก กับฟัน |
ลิ้น ระหว่างฟัน |
ฟัน | ปุ่มเหงือก | เพดานแข็ง | เพดานอ่อน | |
---|---|---|---|---|---|---|---|
เสียงนาสิก | m | n | ɲ | (ŋ) | |||
เสียงกัก | p b | t̪ d̪ | k ɡ | ||||
เสียงกักเสียดแทรก | t͡ʃ ɟ͡ʝ | ||||||
เสียงเสียดแทรก | f | θ* | s | x | |||
เสียงเปิด | (β̞) | (ð̞) | ( ʝ̞ ) | (ɣ̞) | |||
เสียงลิ้นกระทบ | ɾ | ||||||
เสียงรัว | r | ||||||
เสียงข้างลิ้น | l | ʎ* |
การลงน้ำหนักพยางค์
แก้ภาษาสเปนเป็นภาษาหนึ่งที่มีการลงน้ำหนักพยางค์และการใช้ทำนองเสียง ในคำสเปนส่วนใหญ่ น้ำหนักจะตกอยู่ที่พยางค์ใดพยางค์หนึ่งในสามพยางค์สุดท้ายของคำ แต่มีข้อยกเว้นคืออาจจะตกที่พยางค์ที่สี่หรือห้านับจากพยางค์สุดท้ายซึ่งเป็นกรณีพบไม่บ่อยนัก โดยแนวโน้มในการลงน้ำหนักพยางค์ของคำสเปนมีดังต่อไปนี้[80] (ลงน้ำหนักที่พยางค์ที่เป็นตัวหนา)
- คำที่ลงน้ำหนักที่พยางค์รองสุดท้าย ได้แก่ คำที่ลงท้ายด้วยสระหรือพยัญชนะ ‹n› และ ‹s›[81] เช่น copa, cine, todo, luchan, gracias เป็นต้น ทั้งนี้ ยกเว้นในกรณีที่ ‹s› มีพยัญชนะอื่นนำหน้าอยู่ คำนั้นจะลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย[82]
- คำที่ลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย ได้แก่ คำที่ลงท้ายด้วยพยัญชนะตัวอื่น ๆ นอกเหนือจาก ‹n› และ ‹s›[81] เช่น Madrid, igual, llamar, virrey, veraz เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงคำที่ลงท้ายด้วย ‹s› แต่มีพยัญชนะอื่นนำหน้า ‹s› ตัวนั้นอยู่ด้วย เช่น robots, zigzags เป็นต้น[82]
คำที่มีการลงน้ำหนักที่พยางค์อื่น ๆ นอกเหนือจากสองพยางค์สุดท้าย หรือมีการลงน้ำหนักที่พยางค์ใดพยางค์หนึ่งในสองพยางค์นี้แต่ไม่เป็นไปตามกฎข้างบน จะมีเครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัด (acute accent) กำกับไว้บนสระของพยางค์นั้น[83] เช่น café, clímax, débil, fórceps, razón, yóquey, veintitrés, sábado เป็นต้น
- คำที่ลงน้ำหนักที่พยางค์ที่สามจากท้ายคำ เช่น dígame, párrafo, helicóptero เป็นต้น
- คำที่ลงน้ำหนักที่พยางค์ที่สี่หรือห้าจากท้ายคำ มักจะเป็นคำที่ในรูปประโยคคำสั่ง (imperative) หรือรูปกริยาเป็นนาม (gerund) ที่สร้างขึ้นโดยนำรูปติด (clitic) ซึ่งเป็นสรรพนามกรรมตรงและกรรมรองมาต่อท้ายรูปกริยาแท้โดยไม่เว้นวรรค แต่ตำแหน่งลงเสียงหนักจะอยู่ในคำกริยาเหมือนเดิม ไม่เลื่อนไปอยู่ที่กรรมตรงหรือกรรมรองไม่ว่าจะลงท้ายด้วยสระหรือพยัญชนะตัวใดก็ตาม เช่น cómetelo, guardándoselos, llévesemela เป็นต้น หรือเกิดกับคำกริยาวิเศษณ์บางคำที่สร้างขึ้นโดยใช้หน่วยคำเติมหลัง -mente ต่อท้ายคำคุณศัพท์ที่มีตำแหน่งลงเสียงหนักผิดปกติอยู่แล้ว เช่น difícil > difícilmente, rápido > rápidamente เป็นต้น
นอกจากข้อยกเว้นต่าง ๆ ของแนวโน้มในการลงน้ำหนักพยางค์แล้ว ยังมีคู่เทียบเสียง (minimal pair) อีกเป็นจำนวนมากที่มีความแตกต่างกันในเรื่องการลงน้ำหนักพยางค์เท่านั้น เช่น sábana (‘ผ้าปูที่นอน’) และ sabana (‘ทุ่งหญ้าสะวันนา’) หรือ límite (‘เขตแดน’), limite (‘[ที่] เขา/เธอจำกัด’) และ limité (‘ฉันจำกัด’) เป็นต้น
ไวยากรณ์
แก้ภาษาสเปนจะจัดอยู่ในกลุ่มภาษาวิภัตติปัจจัย (inflected language) กล่าวคือ ในการสร้างประโยคหนึ่ง ๆ จะนิยมใช้การผันคำเพื่อบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่าง ๆ ภายในประโยคนั้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะใช้การผันคำซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของภาษากลุ่มนี้แล้ว ในภาษาสเปนยังมีการใช้คำบุพบทซึ่งเป็นคำนามธรรมที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปได้เพื่อบ่งชี้ความสัมพันธ์ดังกล่าวอีกด้วย และเนื่องจากภาษานี้มีระบบการจำแนกรูปกรรมของสกรรมกริยา (ซึ่งจะใช้รูปการกกรรม) ให้แตกต่างจากรูปประธานทั้งของสกรรมกริยาและของอกรรมกริยา (ซึ่งจะใช้รูปการกประธานทั้งคู่) จึงจัดเป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษากรรมการก (nominative–accusative language) เช่นเดียวกับภาษาส่วนใหญ่ของตระกูลอินโด-ยุโรเปียน
ระบบหน่วยคำ
แก้การผันคำ
แก้ตามที่กล่าวแล้วว่าภาษาสเปนเป็นภาษาวิภัตติปัจจัย คำต่าง ๆ ในภาษานี้จึงประกอบขึ้นจากการเพิ่มหน่วยคำวิภัตติปัจจัยหรือหน่วยคำผัน (inflectional morpheme) เข้าไปที่รากศัพท์ (root) [หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าหน่วยศัพท์ (lexeme)] หน่วยคำผันเป็นหน่วยคำที่ทำหน้าที่แสดงลักษณะทางไวยากรณ์ของรากศัพท์เท่านั้น ไม่ทำให้ความหมายของรากศัพท์เปลี่ยนไป โดยหน่วยคำผันสำหรับการกระจายคำกริยา ได้แก่ หน่วยคำที่แสดงมาลา (mood) กาล (tense) วาจก (voice) การณ์ลักษณะ (aspect) บุรุษ (person) และพจน์ (number) เป็นต้น และหน่วยคำผันสำหรับการผันคำนาม คำสรรพนาม คำคุณศัพท์ และตัวกำหนด (determiner) ได้แก่ หน่วยคำที่แสดงเพศ (gender) และพจน์ เป็นต้น
จากภาพทางขวามือ รากศัพท์ gat- ซึ่งมีความหมายว่าแมว เมื่อเติมหน่วยคำผันต่อท้าย รากศัพท์นี้จึงมีความหมายชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ก็ยังคงแปลว่าแมวเช่นเดิม ไม่เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น หน่วยคำผันเหล่านั้นได้แก่ -o (หน่วยคำแสดงเพศชาย), -a (หน่วยคำแสดงเพศหญิง), -s (หน่วยคำแสดงพหูพจน์) และ -Ø (หน่วยคำแสดงเอกพจน์ ซึ่งแม้เราจะมองไม่เห็นแต่ก็ถือว่ามีส่วนในการแสดงความหมาย)
ชนิดของคำในภาษาสเปนที่มีรูปผันหลากหลาย ได้แก่ สรรพนามและกริยา
สรรพนาม
แก้สรรพนามสำคัญในภาษาสเปน ได้แก่ yo (ฉัน), tú (เธอ), usted (คุณ), él (เขา), ella (หล่อน), ello (มัน/สิ่งนั้น), nosotros (พวกเรา), vosotros (พวกเธอ), ustedes (พวกคุณ), ellos (พวกเขา), ellas (พวกหล่อน), esto (สิ่งนี้), eso (สิ่งนั้น), aquello (สิ่งโน้น) เป็นต้น จะเห็นได้ว่า สรรพนามหลายตัวมีพิสัยในการใช้งานค่อนข้างแตกต่างจากสรรพนามในภาษาอังกฤษ โดยปกติแล้วบุรุษสรรพนามจะถูกละไปเนื่องจากรูปการผันของคำกริยาที่แตกต่างกันสามารถบอกให้ทราบได้อยู่แล้วว่ากำลังสื่อถึงประธานตัวใด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราพบบุรุษสรรพนามตัวใดก็ตามปรากฏในภาษาเขียนหรือแม้กระทั่งในภาษาพูด ส่วนใหญ่เป็นเพราะผู้ส่งสารต้องการเน้นสรรพนามตัวนั้นหรือกันไม่ให้ผู้รับสารสับสนจากรูปผันกริยาที่ซ้ำกันในบางกรณี
พจน์ (Número) |
บุรุษ (Persona) |
การก (Caso) | ||||
ประธาน (กรรตุการก) / เรียกขาน (สัมโพธนาการก) (nominativo / vocativo) |
กรรมตรง (กรรมการก) (acusativo) |
กรรมรอง (สัมปทานการก) (dativo) |
กรรมของคำบุพบท (อธิกรณการก, หลังคำบุพบท) (preposicional) |
ผู้ร่วม (หลัง con (กับ)) (con + สรรพนาม) (comitativo) |
||
เอกพจน์ | ที่ 1 | yo | me | me | mí | conmigo (con + mí) |
ที่ 2 | tú (tuteo) | te | te | ti | contigo (con + ti) | |
vos (voseo) | te/os/vos | te/os/vos | vos | con vos | ||
ที่ 3 | él, ella, ello, usted* | se, lo, la | le | sí**, él, ella, ello | con él/ella/usted*, consigo** (con + sí) | |
พหูพจน์ (พวก..., ...ทั้งหลาย) | ที่ 1 | nosotros, nosotras | nos | nos | nosotros, nosotras | con nosotros/nosotras |
ที่ 2 | vosotros, vosotras*** | os/vos | os/vos | vosotros, vosotras*** | con vosotros/vosotras*** | |
ที่ 3 | ellos, ellas, ustedes* | se, los, las | les | sí, ellos, ellas | con ellos/ellas/ustedes* |
- หมายเหตุ
*รูปย่อของสรรพนาม usted คือ Ud., Vd., U. หรือ V. ส่วนรูปย่อของสรรพนาม ustedes คือ Uds. หรือ Vds. ทั้งหมดต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่เสมอ
**สรรพนาม sí ในการกกรรมของบุพบทเป็นสรรพนามสะท้อน (reflexive pronoun) เสมอ แต่จะมีรูปไม่สอดคล้องกับรูปสรรพนามเดียวกันในการกประธาน กล่าวคือ ประธาน él mismo, ella misma และ ellos mismos ("ตัวเขาเอง", "ตัวเธอเอง", "ตัวพวกเขาเอง") เมื่อตามหลังบุพบท en, para เป็นต้น ก็จะเปลี่ยนรูปเป็น en sí, para sí ยกเว้นตามหลังบุพบท con จะเปลี่ยนรูปเป็น consigo (ไม่เกี่ยวข้องกับการกผู้ร่วม)
***สรรพนาม vosotros/-as ("พวกเธอ") มีที่ใช้เฉพาะในประเทศสเปนเท่านั้น ส่วนในทวีปอเมริกา รวมทั้งบางส่วนของแคว้นอันดาลูซิอาและแคว้นกานาเรียสจะใช้สรรพนาม ustedes ทั้งในความหมายว่า "พวกคุณ" และ "พวกเธอ"[84][85]
กริยา
แก้การใช้คำกริยาสเปนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่สุดเรื่องหนึ่งของไวยากรณ์สเปน ระบบกริยาจะแบ่งออกเป็น 14 กาลแตกต่างกัน (กาลในที่นี้เป็นคำรวมหมายถึงทั้งกาลและมาลา) ซึ่งยังแบ่งออกเป็นสองกลุ่มย่อยได้แก่ กาลเดี่ยว (simple tense) 7 กาล และกาลประสมหรือกาลสมบูรณ์ (compound tense; perfect tense) 7 กาล โดยในกาลประสมจำเป็นต้องใช้คำกริยาช่วย haber ร่วมกับรูปกริยาขยายแบบอดีต (past participle)
กริยาสเปนจะผันไปในหมวดหมู่ต่าง ๆ ซึ่งแบ่งตามลักษณะการแสดงเนื้อความของตัวกริยาเอง หมวดหมู่เหล่านั้นเรียกว่ามาลา ในภาษาสเปนได้แก่ นิเทศมาลาหรือมาลาบอกเล่า (indicative), ปริกัลปมาลาหรือสมมุติมาลา (subjunctive) และอาณัติมาลาหรือมาลาคำสั่ง (imperative) ส่วนรูปกริยาไม่ระบุประธาน (formas no personales) ที่ตำราไวยากรณ์เก่าจัดเป็นอีกมาลาหนึ่งนั้นประกอบด้วยรูปกริยาไม่แท้ 3 รูป ซึ่งกริยาทุกตัวจะมีรูปกริยาเหล่านี้ ได้แก่ รูปกริยากลาง (infinitive), รูปกริยาเป็นนาม (gerund) และรูปกริยาขยายแบบอดีต (past participle) รูปกริยาไม่แท้ตัวหลังสุดนี้สามารถผันตามเพศและพจน์ของคำนามได้เหมือนกับคำคุณศัพท์ ดังนั้นมันจึงมีรูปผันที่เป็นไปได้อีก 4 รูป คือ เพศชาย เอกพจน์, เพศหญิง เอกพจน์, เพศชาย พหูพจน์ และเพศหญิง พหูพจน์ นอกจากนี้ยังมีรูปผันอีกรูปหนึ่งที่เรียกกันมาตั้งแต่อดีตว่า รูปกริยาขยายแบบปัจจุบัน (present participle) แต่โดยทั่วไปจะถือว่ารูปนี้เป็นคำคุณศัพท์ที่ถูกแปลงมาจากคำกริยามากกว่าจะเป็นรูปหนึ่งของคำกริยา
กริยาจำนวนมากที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นกริยาที่ผันแบบผิดปกติ ส่วนกริยาที่เหลือจะจัดอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสามกลุ่มซึ่งมีรูปกริยากลางลงท้ายด้วย -ar, -er และ -ir ตามลำดับ ทั้งนี้ กริยาในแต่ละกลุ่มจะมีรูปแบบการผันแบบเดียวกัน กริยาที่ลงท้ายด้วย -ar เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุด และกริยาที่เกิดขึ้นใหม่ในภาษาสเปนก็มักจะมีส่วนท้ายเป็น -ar ด้วย ส่วนกลุ่มกริยาที่ลงท้ายด้วย -er และ -ir จะมีคำกริยาในกลุ่มของตัวเองน้อยกว่าและการผันกริยามักจะมีลักษณะผิดปกติมากกว่ากริยาในกลุ่มที่ลงท้ายด้วย -ar
ในมาลาบอกเล่าจะมีกาลทั้งหมด 7 กาลซึ่งพอจะเทียบกับกาลที่มีอยู่ในภาษาอังกฤษได้บ้างไม่มากก็น้อย เช่น ปัจจุบันกาล (I walk, I do walk), อดีตกาล (-ed หรือ did), กาลไม่สมบูรณ์ (was, were, หรือ used to), กาลสมบูรณ์ (I have _____), อนาคตกาล (will) และประโยคเงื่อนไข (would) เป็นต้น สิ่งที่ยากก็คือ แต่ละกาลจะมีรูปผันกริยาที่แตกต่างกันไปตามประธาน ซึ่งไวยากรณ์ภาษาอังกฤษจะง่ายกว่าในเรื่องนี้ ยกตัวอย่างเช่น กริยา eat เมื่อผันตามปัจจุบันกาลจะมีรูปที่เป็นไปได้อยู่ 2 รูป นั่นคือ eat และ eats ขณะที่ภาษาสเปน กริยา comer ("กิน") ในกาลเดียวกันจะมีรูปผันที่เป็นไปได้ถึง 6 รูป
มาลาบอกเล่า (MODO INDICATIVO) | |||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
ปัจจุบันกาล (Presente) |
อดีตกาลสมบูรณ์ (กาลเดี่ยว) (Pretérito perfecto simple) |
อดีตกาลไม่สมบูรณ์ (Pretérito imperfecto) |
อนาคตกาล (กาลเดี่ยว) (Futuro simple) |
ประโยคเงื่อนไข (เดี่ยว) (Condicional simple) | |||||||||||||||||
กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | |||||||
‑o | ‑o | ‑o | ‑é | ‑í | ‑í | ‑aba | ‑ía | ‑ía | ‑aré | ‑eré | ‑iré | ‑aría | ‑ería | ‑iría | |||||||
‑as | ‑ás | ‑es | ‑és | ‑es | ‑ís | ‑aste | ‑iste | ‑iste | ‑abas | ‑ías | ‑ías | ‑arás | ‑erás | ‑irás | ‑arías | ‑erías | ‑irías | ||||
‑a | ‑e | ‑e | ‑ó | ‑ió | ‑ió | ‑aba | ‑ía | ‑ía | ‑ará | ‑erá | ‑irá | ‑aría | ‑ería | ‑iría | |||||||
‑amos | ‑emos | ‑imos | ‑amos | ‑imos | ‑imos | ‑ábamos | ‑íamos | ‑íamos | ‑aremos | ‑eremos | ‑iremos | ‑aríamos | ‑eríamos | ‑iríamos | |||||||
‑áis | ‑éis | ‑ís | ‑asteis | ‑isteis | ‑isteis | ‑abais | ‑íais | ‑íais | ‑aréis | ‑eréis | ‑iréis | ‑aríais | ‑eríais | ‑iríais | |||||||
‑an | ‑en | ‑en | ‑aron | ‑ieron | ‑ieron | ‑aban | ‑ían | ‑ían | ‑arán | ‑erán | ‑irán | ‑arían | ‑erían | ‑irían | |||||||
สมมุติมาลา (MODO SUBJUNTIVO) |
มาลาคำสั่ง (MODO IMPERATIVO) | ||||||||||||||||||||
ปัจจุบันกาล (Presente) |
อดีตกาลไม่สมบูรณ์ แบบที่ 1 (Pretérito imperfecto I) |
อดีตกาลไม่สมบูรณ์ แบบที่ 2 (Pretérito imperfecto II) |
อนาคตกาล (กาลเดี่ยว) (Futuro simple) |
คำสั่งให้ทำ (Imperativo positivo) | |||||||||||||||||
กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | |||||||
‑e | ‑a | ‑a | ‑ara | ‑iera | ‑iera | ‑ase | ‑iese | ‑iese | ‑are | ‑iere | ‑iere | — | — | — | |||||||
‑es | ‑as | ‑as | ‑aras | ‑ieras | ‑ieras | ‑ases | ‑ieses | ‑ieses | ‑ares | ‑ieres | ‑ieres | ‑a | ‑á | ‑e | ‑é | ‑e | ‑í | ||||
‑e | ‑a | ‑a | ‑ara | ‑iera | ‑iera | ‑ase | ‑iese | ‑iese | ‑are | ‑iere | ‑iere | ‑e | ‑a | ‑a | |||||||
‑emos | ‑amos | ‑amos | ‑áramos | ‑iéramos | ‑iéramos | ‑ásemos | ‑iésemos | ‑iésemos | ‑áremos | ‑iéremos | ‑iéremos | ‑emos | ‑amos | ‑amos | |||||||
‑éis | ‑áis | ‑áis | ‑arais | ‑ierais | ‑ierais | ‑aseis | ‑ieseis | ‑ieseis | ‑areis | ‑iereis | ‑iereis | ‑ad | ‑ed | ‑id | |||||||
‑en | ‑an | ‑an | ‑aran | ‑ieran | ‑ieran | ‑asen | ‑iesen | ‑iesen | ‑aren | ‑ieren | ‑ieren | ‑en | ‑an | ‑an | |||||||
รูปกริยาที่ไม่ระบุประธาน (FORMAS NO PERSONALES) |
* การใช้กาลประสม จำเป็นต้องผันคำกริยาช่วย haber ไปตามช่วงเวลา (ปัจจุบัน อดีต หรืออนาคต) ก่อน แล้วจึงตามด้วยรูปกริยาขยายแบบอดีต (participio pasado) * -ante และ -iente ในวงเล็บเป็นส่วนเติมท้ายของรูปที่เรียกว่า "กริยาขยายแบบปัจจุบัน" (participio de presente) ในภาษาละติน รูปกริยาขยายชนิดนี้ยังคงมีค่าความหมายที่แสดงการกระทำจึงจัดเป็นรูปหนึ่งของคำกริยา แต่สำหรับภาษาสเปนสมัยใหม่ รูปนี้ถือเป็นคำคุณศัพท์เนื่องจากสูญเสียค่าความหมายเช่นนั้นไปแล้ว | ||||||||||||||||||||
รูปกริยากลาง (Infinitivo) |
รูปกริยาขยาย (Participio) |
รูปกริยาเป็นนาม (Gerundio) | |||||||||||||||||||
กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | กลุ่ม 1 | กลุ่ม 2 | กลุ่ม 3 | |||||||||||||
‑ar | ‑er | ‑ir | ‑ado/a (-ante) |
‑ido/a (-iente) |
‑ido/a (-iente) |
‑ando | ‑iendo | ‑iendo |
วากยสัมพันธ์
แก้ลักษณะทางวากยสัมพันธ์ของภาษาสเปนโดยรวมเป็นแบบประธาน-กริยา-กรรม มีโครงสร้างแตกกิ่งไปทางขวา มีการใช้คำบุพบท ในประโยคหนึ่ง ๆ มักจะวางคำคุณศัพท์ไว้หลังคำนาม (แต่ไม่เสมอไป) นอกจากนี้ ภาษาสเปนยังเป็นภาษาละสรรพนาม (pro-drop language) กล่าวคือสามารถละประธานของประโยคได้เมื่อไม่จำเป็นทั้งในการสนทนาและการเขียน
คำศัพท์
แก้คำสเปน | คำอาหรับ | ความหมาย |
---|---|---|
aceite | azzayt[86] | น้ำมัน |
aceituna | zaytūnah[87] | มะกอก |
alcalde | qāḍī ("ผู้พิพากษา")[88] | นายกเทศมนตรี |
alcohol | kuḥl[89] | แอลกอฮอล์ |
aldea | ḍay‘ah[90] | หมู่บ้าน |
almohada | miẖaddah[91] | หมอน |
alquiler | kirā'[92] | การเช่า |
asesino | ḥaššāšīn ("คนติดกัญชา")[93] |
ผู้ลอบสังหาร |
azafrán | za‘farān[94] | หญ้าฝรั่น |
espinaca | isbānaẖ[95] | ผักโขม |
hasta | ḥattá[96] | จนกระทั่ง |
jazmín | yāsamīn[97] | มะลิ |
marfil | ‘aẓm alfíl[98] | งาช้าง |
rehén | rihān[99] | ตัวประกัน, เชลย |
zanahoria | safunnárya[100] | แครอต |
คำศัพท์ภาษาสเปนที่ใช้ในชีวิตประจำวันประมาณร้อยละ 94 มีที่มาจากภาษาละติน ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติและไม่น่าแปลกใจเนื่องจากภาษานี้เป็นภาษาหนึ่งในกลุ่มภาษาโรมานซ์ อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับภาษาอื่น ภาษาสเปนยังมีคำยืมจากภาษาของชนชาติต่าง ๆ ที่ผู้ใช้ภาษาสเปนและบรรพบุรุษของผู้ใช้ภาษาสเปนได้เข้าไปมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วยอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลากว่าพันปี
ในภาษาสเปน ปรากฏคำศัพท์จำนวนหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาของกลุ่มคนสมัยก่อนโรมันบนคาบสมุทรไอบีเรีย (ภาษาไอบีเรีย, บาสก์, เคลต์ หรือตาร์เตสโซส) เช่น gordo ("อ้วน"), izquierdo ("ซ้าย"),[101] nava ("ที่ราบลุ่มระหว่างภูเขา"),[102] conejo ("กระต่าย")[103]
ภาษาของชาววิซิกอท (ชนเผ่าเยอรมันที่ปกครองคาบสมุทรไอบีเรียต่อจากจักรวรรดิโรมัน) ก็มีอิทธิพลต่อคลังคำศัพท์ภาษาสเปนอยู่ไม่น้อย ตัวอย่างได้แก่ ชื่อแรกเกิดทางศาสนาคริสต์ เช่น Enrique, Gonzalo, Rodrigo เป็นต้น นามสกุลที่มาจากชื่อเหล่านั้น คือ Enríquez, González
และ Rodríguez คำศัพท์บางคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น brotar ("งอก/ออกดอก"),[104] ganar ("ชนะ"),[105] ganso ("ห่าน"),[106] ropa ("เสื้อผ้า")[107] คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการทหาร เช่น yelmo ("หมวกเหล็กที่ใส่กับชุดเกราะ"),[108] espía ("สายลับ"),[109] guerra ("สงคราม")[110] เป็นต้น รวมทั้งหน่วยคำเติมหลัง -engo เช่นในคำว่า realengo ("ของรัฐ") เป็นต้น
นอกจากนี้ การครอบครองคาบสมุทรไอบีเรียเป็นเวลาเกือบ 800 ปีของชาวมุสลิมยังเปิดโอกาสให้ภาษาสเปนรับคำศัพท์จำนวนมากจากภาษาอาหรับเข้ามาใช้ โดยเฉพาะคำที่ขึ้นต้นด้วย al- แม้กระทั่งหน่วยคำเติมหลัง -í ที่ใช้แสดงสัญชาติของประเทศหรือดินแดนบางแห่งก็มีที่มาจากภาษานี้เช่นกัน ตัวอย่างได้แก่ ceutí ("ชาวเซวตา"), iraquí ("ชาวอิรัก"), israelí ("ชาวอิสราเอล") เป็นต้น
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เริ่มมีการยืมคำศัพท์ในแวดวงศิลปะจากภาษาอิตาลีมาใช้ในภาษาสเปน รวมทั้งมีการยืมคำศัพท์จากภาษาชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาอีกด้วย เช่น ภาษานาวัตล์ ภาษาอาราวัก และภาษาเกชัว เป็นต้น ซึ่งส่วนมากเป็นคำที่เกี่ยวข้องกับพืช ประเพณี หรือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับดินแดนนั้น ได้แก่ batata ("มันเทศ"),[111] papa ("มันฝรั่ง"),[112] yuca ("มันสำปะหลัง"),[113] cacique ("ผู้มีอำนาจในท้องถิ่น"),[114] huracán ("เฮอร์ริเคน"),[115] cacao ("โกโก้"),[116] chocolate ("ช็อกโกแลต") เป็นต้น
ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เริ่มมีความนิยมในการใช้ศัพท์สูงและสำนวนโวหารที่มีความหมายและโครงสร้างไวยากรณ์ซับซ้อน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากงานเขียนในรูปแบบดังกล่าวของลุยส์ เด กองโกรา กวียุคบารอกของสเปน จนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18 จึงมีการยืมคำศัพท์จากภาษาฝรั่งเศสมาใช้ โดยเฉพาะคำที่เกี่ยวข้องกับแฟชั่น การทำอาหาร และการปกครองของชนชั้นขุนนาง เช่น pantalón ("กางเกงขายาว"),[117] puré ("ซุปเคี่ยวเปื่อยแล้วกรอง"),[118] tisú ("ผ้าเส้นทองหรือเงิน"),[119] menú ("รายการอาหาร"),[120] maniquí ("หุ่น"),[121] restorán/restaurante ("ภัตตาคาร"),[122] buró ("โต๊ะทำงาน/คณะกรรมการบริหาร"),[123] carné ("บัตรประจำตัว"),[124] gala ("ชุดหรูหรา"),[125] bricolaje ("งานช่างในบ้านที่ทำได้ด้วยตัวเอง")[126] เป็นต้น
ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังคงมีการนำคำศัพท์ใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในภาษาสเปนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคำศัพท์จากภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน แต่ก็มีคำศัพท์จากภาษาอิตาลีเข้ามาอีกครั้งเช่นกันในสาขาการทำอาหารและการดนตรี (โดยเฉพาะการแสดงอุปรากร) เช่น batuta ("ไม้บาตอง"),[127] soprano ("โซปราโน"),[128] piano[129][130] เป็นต้น และตั้งแต่เริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา คลังคำศัพท์ของภาษาสเปนได้รับอิทธิพลจากภาษาอังกฤษอย่างมากในทุกสาขา โดยเฉพาะด้านธุรกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดนตรี และการกีฬา เช่น marketing,[131] quasar,[132] Internet,[133] software,[134] rock,[135] reggae,[136] set,[137] penalti,[138] fútbol,[139] windsurf[140] เป็นต้น
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ ราชบัณฑิตยสถานสเปนได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้คำยืมและคำทับศัพท์โดยใช้ตัวสะกดตามภาษาต้นฉบับ แต่กำหนดให้ใช้คำแปลตรงตัวของคำที่ยืมมานั้น หรือใช้ตัวสะกดที่สอดคล้องกับอักขรวิธีดั้งเดิมของภาษาสเปนและยังออกเสียงได้ใกล้เคียงกับเสียงในภาษาต้นฉบับแทน เช่น zum แทน zoom,[141] correo electrónico แทน e-mail,[142] fútbol แทน football,[139] escáner แทน scanner,[143] mercadotecnia แทน marketing[144] เป็นต้น แม้ว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นส่วนใหญ่จะได้รับการตอบรับอย่างดีจากสังคม แต่บางคำที่เคยเสนอให้ใช้ เช่น "cadi" แทน caddie, "best-séller" แทน best seller, "yaz" แทน jazz เป็นต้น กลับไม่ได้รับการยอมรับและหายไปจากพจนานุกรมในที่สุด[145][146]
โดยทั่วไปในปัจจุบัน ภาษาสเปนในทวีปอเมริกา (โดยเฉพาะประเทศเม็กซิโก) มักมีการยืมคำศัพท์หรือรูปแบบโครงสร้างของคำศัพท์และสำนวนต่าง ๆ มาจากภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ เนื่องจากมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ภาษาสเปนในประเทศสเปน จะนิยมโครงสร้างคำศัพท์จากภาษาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศสมากกว่า ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้ภาษาสเปนบนคาบสมุทรไอบีเรียจะเรียกคอมพิวเตอร์ว่า ordenador โดยยืมรูปคำ ordinateur จากภาษาฝรั่งเศสมาปรับใช้ ตรงข้ามกับผู้ใช้ภาษาสเปนในทวีปอเมริกา กล่าวคือ จะใช้คำว่า computadora หรือ computador ซึ่งเป็นการดัดแปลงรูปคำของคำว่า computer นั่นเอง
การแปร
แก้สัทวิทยา
แก้ภาษาสเปนที่ใช้ในภาคเหนือและภาคกลางของประเทศสเปนประกอบด้วยหน่วยเสียงพยัญชนะ 19 ตัว (ตามที่กล่าวไปแล้ว) แต่ภาษาสเปนที่ใช้ในประเทศอื่น ๆ จะมีหน่วยเสียงพยัญชนะเพียง 17 หน่วยเสียง และบางแห่งมี 18 หน่วยเสียง นอกจากนี้ยังประกอบด้วยเสียงแปรอีกเป็นจำนวนมาก ความแตกต่างที่สำคัญในด้านสัทวิทยาระหว่างภาษาสเปนในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากความแตกต่างเรื่องเสียงพยัญชนะนั้นมีดังต่อไปนี้
- การแทนเสียง [m] หรือ [n] ท้ายพยางค์ด้วยเสียง [ŋ] ในภาษาสเปนมาตรฐานของประเทศสเปน อาร์เจนตินา โคลอมเบีย และเม็กซิโก พยัญชนะ ‹n› ท้ายพยางค์จะออกเสียงเป็นเสียงนาสิก ปุ่มเหงือก [n][147][148] เช่น pan ออกเสียง ปัน [pãn], bien ออกเสียง เบียน [bjẽn] เป็นต้น แต่ในสำเนียงอื่น ๆ จะออกเสียงเป็นเสียงนาสิก เพดานอ่อน [ŋ] ดังนั้นคำว่า pan จึงออกเสียงเป็น ปัง [pãŋ] และ bien ออกเสียงเป็น เบียง [bjẽŋ] การออกเสียง ‹n› ท้ายพยางค์เป็นเสียงเพดานอ่อนนี้พบได้ทั่วไปในพื้นที่หลายส่วนของสเปน (กาลิเซีย เลออน อัสตูเรียส ภูมิภาคมูร์เซีย เอซเตรมาดูรา และอันดาลูซิอา) และยังเป็นลักษณะเด่นของภาษาสเปนในหลายพื้นที่ของทวีปอเมริกา ตั้งแต่ภูมิภาคแคริบเบียนทั้งหมด อเมริกากลาง พื้นที่ชายฝั่งของโคลอมเบีย เวเนซุเอลา พื้นที่ส่วนใหญ่ของเอกวาดอร์ เปรู ไปจนถึงภาคเหนือของชิลี นอกจากนี้ในเอกวาดอร์ เปรู เวเนซุเอลา (ยกเว้นแถบเทือกเขาแอนดีส) และสาธารณรัฐโดมินิกัน ไม่ว่า /n/ หรือ /m/ ที่อยู่ท้ายพยางค์และ/หรือนำหน้าพยัญชนะตัวอื่นจะออกเสียงเป็น [ŋ] เช่นกัน ดังนั้นคำว่า ambientación จึงออกเสียง อังเบียงตาสิย็อง [ãŋbjẽŋtäˈsjõ̞ŋ] ในพื้นที่ดังกล่าว
- การแทนที่เสียง [θ] ด้วยเสียง [s] ในประเทศสเปน (ยกเว้นแคว้นกานาเรียสและแคว้นอันดาลูซิอา) จะแยกความแตกต่างระหว่างเสียง [[เสียงเสียดแทรก ลิ้นระหว่างฟัน ไม่ก้อง|[θ]]] (เขียนแทนด้วย ‹z› หรือ ‹c› เมื่ออยู่หน้า ‹e› และ ‹i›) กับเสียง [[เสียงเสียดแทรก ปุ่มเหงือก ไม่ก้อง|[s]]] เช่น casa (‘บ้าน’) ออกเสียง [ˈkäsä], caza (‘การล่าสัตว์’) ออกเสียง [ˈkäθä] ขณะที่ในแคว้นกานาเรียส แคว้นอันดาลูซิอา และทวีปอเมริกาจะไม่มีความแตกต่างดังกล่าว เช่น casa และ caza จะออกเสียงว่า [ˈkäsä] ทั้งคู่
- การออกเสียง /s/ โดยใช้ฐานกรณ์ที่แตกต่างกัน ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาและภาคใต้ของประเทศสเปน หน่วยเสียงพยัญชนะ /s/ จะเป็นเสียงจากฐานปุ่มเหงือกกับปลายลิ้น (lamino-alveolar) [s̻] ขณะที่ในภาคเหนือและภาคกลางของสเปนรวมทั้งแถบเทือกเขาแอนดีสในโคลอมเบีย เปรู และโบลิเวีย /s/ จะเป็นเสียงจากฐานปุ่มเหงือกกับปลายสุดลิ้น (apico-alveolar) [s̺][149][150]
- การสูญเสียง /s/ ท้ายพยางค์ การไม่ออกเสียง /s/ ท้ายพยางค์ (คล้ายกับกระบวนการที่เกิดกับภาษาฝรั่งเศสในยุคกลาง) เป็นปรากฏการณ์ที่พบทั่วไปในพื้นที่ราบแทบทุกแห่งของประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา พื้นที่ที่ไม่เกิดปรากฏการณ์นี้ได้แก่ ประเทศเม็กซิโก (ยกเว้นพื้นที่ชายฝั่งทะเลแคริบเบียนบางแห่ง) ภาคเหนือของสเปน (แต่เริ่มจะพบมากขึ้นแล้ว) และบริเวณแนวเทือกเขาแอนดีส (โดยเฉพาะในโคลอมเบีย เอกวาดอร์ แถบชายฝั่งของเปรู และโบลิเวีย)
- การแทนเสียง [x] ด้วยเสียง [h], [ç] หรือ [χ] ในอดีต ‹j› และ ‹g› (เมื่ออยู่หน้า ‹e› และ ‹i›) เคยใช้เป็นรูปพยัญชนะแทนเสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ไม่ก้อง /ʃ/ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 15 เมื่อชาวสเปนกลุ่มแรกมาถึงโลกใหม่ ตำแหน่งเกิดเสียงพยัญชนะเสียงนี้จึงเริ่มเปลี่ยนจากปุ่มเหงือก-เพดานแข็งไปสู่เพดานอ่อนเป็นเสียง [[เสียงเสียดแทรก เพดานอ่อน ไม่ก้อง|[x]]] อย่างไรก็ตาม ในสำเนียงทางภาคใต้ของประเทศรวมทั้งสำเนียงแคริบเบียน (ซึ่งได้รับอิทธิพลจากผู้ตั้งถิ่นฐานที่มาจากภาคใต้ของสเปน) หน่วยเสียง /ʃ/ ไม่ได้มีวิวัฒนาการเป็นเสียง [x] แต่กลับมีวิวัฒนาการไปเป็นเสียงเสียดแทรก เส้นเสียง ไม่ก้อง [h] แทน ทุกวันนี้การออกเสียง ‹j› และ ‹g› (เมื่ออยู่หน้า ‹e› และ ‹i›) เป็น [h] ถือเป็นมาตรฐานสำหรับภาษาสเปนในภูมิภาคแคริบเบียน[151] (คิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน และปวยร์โตรีโก) เช่นเดียวกับบนแผ่นดินใหญ่ของเวเนซุเอลา[149] โคลอมเบีย[149] อเมริกากลาง[152] ไปจนถึงแถบชายฝั่งทะเลแคริบเบียนของเม็กซิโก[147] แต่ในส่วนอื่น ๆ ของทวีปอเมริกาจะพบการออกเสียงเป็น [x] มากกว่า นอกจากนี้ ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาร์เจนตินา (บริเวณแม่น้ำลาปลาตา) และชิลี การออกเสียง [x] จะเลื่อนตำแหน่งไปข้างหน้าจนกลายเป็นเสียงเพดานแข็ง [ç] (เสียงเดียวกับเสียง ‹ch› จากคำว่า ich ในภาษาเยอรมัน) เมื่อเสียงนี้อยู่หน้าสระลิ้นส่วนหน้า [i, e] เช่น gente [ˈçẽnte], jinete [çiˈnete] เป็นต้น ในสเปน การออกเสียง [h] จะพบได้ทั่วไปในแคว้นกานาเรียสและภาคตะวันตกของแคว้นอันดาลูซิอา ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศ จะพบการออกเสียง [x] สลับกับการออกเสียงเสียดแทรก ลิ้นไก่ ไม่ก้อง [χ] ในบางตำแหน่งภายในคำ
- การแทนเสียง [ʎ] ด้วยเสียง [ʝ] หรือ [ɟʝ] เดิม ‹ll› ออกเสียงเป็น [ʎ] แต่ปัจจุบันเสียงนี้ถูกกลืนเข้ากับเสียงของ ‹y› กล่าวคือ พยัญชนะทั้งสองตัวจะออกเสียงเดียวกันเป็น [ʝ ~ ɟʝ] ทำให้เกิดความสับสนระหว่างการใช้พยัญชนะทั้งสองตัวนี้ เช่น คำว่า yendo บางครั้งมีผู้สะกดผิดเป็น *llendo เป็นต้น ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า "เยอิสโม" (yeísmo) เกิดในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกที่ใช้ภาษาสเปน ยกเว้นในพื้นที่บางแห่งของทวีปอเมริกาซึ่งใช้ภาษานี้ร่วมกับภาษาอื่นที่มีการแยกความแตกต่างทางเสียงระหว่างพยัญชนะสองตัวนี้ เช่น พื้นที่สองภาษาอย่างเขตภาษาสเปน-เกชัวหรือเขตภาษาสเปน-กวารานีในประเทศโบลิเวียและปารากวัย เป็นต้น รวมทั้งในพื้นที่หลายแห่งของสเปนซึ่งยังคงมีการแยกความแตกต่างของเสียงพยัญชนะทั้งสองตัวอยู่ แต่ก็เริ่มลดลงแล้ว
- การแทนเสียง [ʎ] ด้วยเสียง [dʒ], [ʒ] หรือ [ʃ] หน่วยเสียง /ʎ ~ ʝ/ ซึ่งเกิดจากปรากฏการณ์เยอิสโมยังออกเสียงได้อีกหลายแบบนอกจาก [ʝ] หรือ [ɟʝ] เช่น ในประเทศเม็กซิโกโดยทั่วไปออกเสียงนี้เป็น [dʒ] (เหมือนเสียงของ ‹j› ในภาษาอังกฤษ) ส่วนในพื้นที่บริเวณแม่น้ำลาปลาตาของอาร์เจนตินาและอุรุกวัยจะออกเสียงเป็นเสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ก้อง [ʒ][148] หรือเสียงเสียดแทรก หลังปุ่มเหงือก ไม่ก้อง [ʃ] ปรากฏการณ์เยอิสโมในพื้นที่นี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "เชอิสโม" (žeísmo / šeísmo)
- หน่วยเสียงสระที่เกิดจากการสูญเสียง /s/ ท้ายพยางค์ ทางภาคใต้ของประเทศสเปน โดยเฉพาะในแคว้นมูร์เซียและภาคตะวันออกของแคว้นอันดาลูซิอา เสียงพยัญชนะ /s/ ที่อยู่ท้ายคำจะออกเสียงเบาลงเป็น [h] หรืออาจไม่ออกเสียงเลย ดังนั้น ในการออกเสียงสระที่ปรากฏหน้าหน่วยเสียงพยัญชนะนี้ ระดับของลิ้นจึงลดต่ำลงจากตำแหน่งปกติ[153] เกิดเป็นเสียงสระเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิม 5 ตัวในภาษาสเปนถิ่นเหนือ ดังต่อไปนี้
- /as/ > [æ̞] เช่น más [mæ̞] (‘อีก’)
- /es/ > [ɛ] เช่น mes [mɛ] (‘เดือน’)
- /is/ > [i̞] เช่น mis [mi̞] (‘ของฉัน พหูพจน์’)
- /os/ > [ɔ] เช่น tos [tɔ] (‘ไอ’)
- /us/ > [u̞] เช่น tus [tu̞] (‘ของเธอ พหูพจน์’)
ไวยากรณ์
แก้การใช้สรรพนาม vos
แก้ภาษาสเปนมีสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ 3 ตัว ได้แก่ usted, tú และอีกตัวหนึ่งซึ่งใช้กันแพร่หลายในทวีปอเมริกา คือ vos โดยทั่วไปนั้น tú และ vos เป็นสรรพนามที่ไม่เป็นทางการ (‘เธอ’) คือผู้พูดจะใช้กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว ส่วน usted (‘คุณ, ท่าน’) เป็นสรรพนามที่ถือว่าเป็นทางการในทุกแห่ง โดยใช้ในทำนองแสดงความนับถือเมื่อพูดกับคนที่มีอายุมากกว่าหรือคนที่ไม่สนิท
โบเซโอ (voseo) หมายถึงการใช้ vos เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์แทน tú นอกจากนี้ยังมีความหมายครอบคลุมถึงการใช้รูปผันกริยาของ vos กับสรรพนาม tú ในการกประธานอีกด้วย[154] เช่น ภาษาสเปนในประเทศชิลี[155] เป็นต้น
รูปกรรมตามหลังบุพบทของสรรพนาม tú คือ ti จะถูกแทนที่ด้วย vos เช่นกัน กล่าวคือ vos จะเป็นได้ทั้งรูปประธานและรูปกรรมตามหลังบุพบท ดังนั้น para ti (‘เพื่อเธอ’) จึงกลายเป็น para vos ส่วนรูปประสมบุพบท-สรรพนามอย่าง contigo (‘กับเธอ’) จะกลายเป็น con vos แต่รูปกรรมตรงและกรรมรอง te ยังคงรูปเดิม ไม่เหมือนกรณี vosotros (‘พวกเธอ’) ที่ใช้รูปกรรมตรงและกรรมรอง os นอกจากนี้ รูปสรรพนามแสดงความเป็นเจ้าของของ vos ก็ใช้รูปเดียวกับ tú คือ ‹tu(s), tuyo(s) และ tuya(s)› แทนที่จะใช้ร่วมกับ vosotros เป็น ‹vuestro(s) และ vuestra(s)›
ตารางข้างล่างนี้แสดงการเปรียบเทียบรูปคำกริยาหลายตัวที่ผันกับประธาน tú และประธาน vos ส่วนแถวสุดท้ายคือรูปคำกริยาที่ผันกับประธาน vosotros ซึ่งเป็นรูปสรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์ที่ปัจจุบันใช้ในประเทศสเปนเท่านั้น รูปผันที่มีเครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัดกำกับอยู่ (คือรูปผันของ vos และ vosotros) และรูปกริยากลาง เมื่อออกเสียงจะลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย ส่วนรูปผันของกริยากับประธาน tú จะลงน้ำหนักที่พยางค์รองสุดท้าย
รูปกริยากลาง | ความหมาย | Tú | Vos (ทั่วไป) |
Vos (เวเนซุเอลา) |
Vos/Tú (ชิลี) |
Vosotros |
---|---|---|---|---|---|---|
hablar | ‘พูด’ | hablas | hablás | habláis | hablái | habláis |
comer | ‘กิน’ | comes | comés | coméis | comís | coméis |
poder | ‘สามารถ’ | puedes | podés | podéis | podís | podéis |
vivir | ‘อยู่อาศัย’ | vives | vivís | vivís | vivís | vivís |
ser | ‘เป็น, อยู่’ | eres | sos | sois | soi/erís | sois |
haber | ‘มี’ | has | has/habés | habéis | habís/hai | habéis |
venir | ‘มา’ | vienes | venís | venís | venís | venís |
รูปผันกริยาทั่วไปของประธาน vos หมายถึงรูปผันที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปและใช้กันในหลายประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา อุรุกวัย ปารากวัย พื้นที่หลายแห่งในโบลิเวีย เอกวาดอร์ โคลอมเบีย อเมริกากลาง ไปจนถึงรัฐทางภาคใต้ของเม็กซิโก
ในทางกลับกัน ภาษาสเปนที่ใช้กันในรัฐซูเลีย ซึ่งเป็นพื้นที่รอบทะเลสาบมาราไกโบทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวเนซุเอลา มีลักษณะเด่นคือ ในการผันกริยากับประธาน vos จะยังคงรักษารูปผันที่มีมาแต่เดิมเอาไว้ ซึ่งรูปผันดังกล่าวในปัจจุบันยังคงใช้ผันกับประธาน vosotros ในประเทศสเปน
รูปผันกริยาของประธาน vos ในภาษาสเปนของประเทศชิลียังมีความแตกต่างออกไปอีก กล่าวคือ แทนที่จะตัด -i- ออกจากรูปสระประสม -áis (และ -ois) ที่อยู่ท้ายคำเหมือนกับการผันทั่วไป แต่กลับตัดตัว -s ท้ายคำออกไปแทน (เช่น vos/tú soi/erís, vos/tú estái) และในกรณีที่รูปผัน
นั้นลงท้ายด้วย -ís จะยังคงตัว -s ไว้เหมือนเดิม (เช่น comís, podís, vivís, erís, venís) โดยที่พยัญชนะ ‹s› จะไม่ถูกละไปเสียทีเดียวในการออกเสียง แต่จะได้ยินเป็นเสียง [h][156]
เป็นที่น่าสังเกตว่า ลักษณะของโบเซโอสำหรับภาษาสเปนในประเทศชิลีจะเป็นการใช้ประธาน tú ตามด้วยรูปผันกริยาของ vos (voseo verbal)[156] เช่น tú sabís มากกว่าจะใช้ประธาน vos ตามด้วยรูปผันกริยาของ vos (voseo pronominal) เช่น vos sabís ทั้งนี้เนื่องจากโบเซโอในลักษณะหลังจะปรากฏในสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการอย่างมากและอาจถือว่าหยาบคายได้ในบางกรณี[156]
ความแพร่หลายในลาตินอเมริกา
แก้สรรพนาม vos ใช้เป็นสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ อย่างกว้างขวางในภาษาสเปนสำเนียงริโอเดลาปลาตา (ประเทศอาร์เจนตินาและอุรุกวัย) ในปารากวัย กัวเตมาลา นิการากัว และคอสตาริกา ผู้คนในโบลิเวีย ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ก็ใช้สรรพนามตัวนี้ในชีวิตประจำวันเช่นกัน แต่ในสามประเทศนี้ สื่อยังคงนิยมใช้สรรพนาม tú
โดยทั่วไป vos จะไม่ใช้ในงานเขียนที่เป็นทางการ (ยกเว้นในอาร์เจนตินาและอุรุกวัย) ในเอลซัลวาดอร์ การ์ตูนในหนังสือพิมพ์มักจะใช้สรรพนาม vos โดยแทบจะไม่พบการใช้สรรพนามตัวนี้ในบทความอื่นเลย นอกจากในข้อความที่ผู้เขียนยกมากล่าวอ้าง (quotation) แต่สื่อต่าง ๆ (โดยเฉพาะป้ายประกาศและสื่อโฆษณา) เริ่มหันมาใช้สรรพนามตัวนี้แทนที่ tú มากขึ้นในอเมริกากลาง เช่น นิการากัวและฮอนดูรัส ส่วนอาร์เจนตินาและอุรุกวัยยังใช้ vos เป็นรูปสรรพนามมาตรฐานในสื่อโทรทัศน์อีกด้วย
ในประเทศโบลิเวีย ภาคเหนือและภาคใต้ของเปรู เอกวาดอร์ พื้นที่บางแห่งแถบเทือกเขาแอนดีสในเวเนซุเอลา พื้นที่ส่วนใหญ่ของโคลอมเบีย และภาคตะวันออกของคิวบา ถือว่า tú เป็นรูปสรรพนามที่ใช้ในภาษาระดับทางการ โดย vos จะเป็นรูปสรรพนามที่ผู้คนทั่วไปใช้กันมากกว่า[156] ส่วนในประเทศชิลี รัฐซูเลียของเวเนซุเอลา ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของโคลอมเบีย อเมริกากลาง ไปจนถึงรัฐตาบัสโกและรัฐเชียปัสทางภาคใต้ของเม็กซิโก จะใช้สรรพนาม tú ในระดับกึ่งทางการ และใช้สรรพนาม vos ในระดับกันเอง[156]
อย่างไรก็ตาม ในลาตินอเมริกาก็ยังมีพื้นที่ที่ใช้สรรพนาม tú ในฐานะสรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์เป็นหลักอยู่เช่นกัน ได้แก่ ประเทศคิวบา สาธารณรัฐโดมินิกัน ปวยร์โตรีโก พื้นที่เกือบทั้งหมดของเม็กซิโกและปานามา พื้นที่ส่วนใหญ่ของเปรูและเวเนซุเอลา และชายฝั่งทะเลแคริบเบียนของโคลอมเบีย[156]
การใช้สรรพนาม ustedes
แก้ในภาษาสเปนยังมีความแตกต่างในเรื่องการใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์ ในลาตินอเมริกามีสรรพนามดังกล่าวเพียงรูปเดียวที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คือ ustedes ซึ่งใช้ทั้งในเชิงทางการและไม่ทางการ (= ‘พวกคุณหรือพวกเธอ’) ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่บางครั้งอาจพบ vosotros (= ‘พวกเธอ’) ในบทร้อยกรองหรือวรรณกรรมที่ใช้สำนวนโวหารต่าง ๆ เช่นกัน
ในสเปน การใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 พหูพจน์จะแบ่งออกเป็น ustedes (ทางการ) และ vosotros (กันเอง) โดยสรรพนาม vosotros เป็นรูปพหูพจน์ของสรรพนาม tú นั่นเอง แต่ในทวีปอเมริกา รวมทั้งบางเมืองทางภาคใต้ของสเปน (เช่น กาดิซหรือเซบิยา) และแคว้นกานาเรียส สรรพนาม vosotros จะถูกแทนด้วย ustedes เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ ustedes ในความหมายว่า ‘พวกเธอ’ ทางภาคใต้ของสเปนนั้นไม่เป็นไปตามกฎการผันกริยา (ซึ่งแสดงความสอดคล้องระหว่างสรรพนามกับกริยา) เช่น ขณะที่ประโยค ustedes van (‘พวกคุณไป’) ใช้รูปผันกริยาสำหรับประธานสรรพนามบุรุษที่ 3 พหูพจน์ (เป็นกฎการผันกริยาตามปกติ) แต่ในเมืองกาดิซและเซบิยาเมื่อพูดว่า ‘พวกเธอไป’ จะใช้ ustedes vais ซึ่งเป็นรูปผันกริยาที่ตามกฎแล้วจะใช้กับ vosotros เท่านั้น ส่วนในแคว้นกานาเรียส การผันกริยาจะเป็นไปตามปกติคือ ustedes van ไม่ว่าจะหมายถึง ‘พวกเธอไป’ หรือ ‘พวกคุณไป’
คำศัพท์
แก้มีคำภาษาสเปนเป็นจำนวนมากที่มีความหมายและรูปแบบการใช้แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ผู้พูดภาษาสเปนส่วนใหญ่จะรู้จักคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันในรูปเขียนอื่น แม้จะเป็นคำที่ไม่ได้ใช้กันทั่วไปก็ตาม แต่ชาวสเปนส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจการใช้คำที่มีรูปเขียนเดียวกันในความหมายอื่น ๆ ของผู้พูดภาษาสเปนในทวีปอเมริกา เช่น คำว่า mantequilla, aguacate และ albaricoque ในประเทศสเปน (แปลว่า ‘เนย’, ‘อะโวคาโด’ และ ‘แอพริคอต’ ตามลำดับ) มีความหมายตรงกับคำว่า manteca, palta และ damasco ในประเทศอาร์เจนตินา ชิลี เปรู ปารากวัย และอุรุกวัย[157][158][159] คำที่ใช้กันตามปกติในสเปนอย่าง coger (‘เก็บ, หยิบ’) และ concha (‘เปลือกหอย’) กลายเป็นคำที่มีความหมายหยาบโลนในลาตินอเมริกา เพราะที่นั่น coger จะหมายถึง ‘มีเพศสัมพันธ์’[160] ส่วน concha หมายถึง ‘อวัยวะเพศหญิง’[161]
ตัวอย่างอื่น ๆ ได้แก่ คำว่า ตาโก taco ซึ่งมีความหมายหนึ่งแปลว่า ‘คำสบถ’ ในสเปน[162] แต่ทั่วโลกรู้จักคำนี้ในฐานะชื่ออาหารเม็กซิโกชนิดหนึ่ง คำว่า pinche ซึ่งในปวยร์โตรีโกแปลว่า ‘กิ๊บติดผม’ ถือเป็นคำไม่สุภาพในเม็กซิโก (ความหมายทำนองเดียวกับ ‘damn’ ในภาษาอังกฤษ) ส่วนในเอลซัลวาดอร์ นิการากัว และคอสตาริกาแปลว่า ‘ขี้เหนียว’[163] คำว่า coche ซึ่งในสเปนหมายถึง ‘รถยนต์’ นั้น ในกัวเตมาลาจะหมายถึง ‘หมู’ หรือ ‘สกปรก’[164] ขณะที่ carro ซึ่งหมายถึง ‘รถยนต์’ ในลาตินอเมริกาบางประเทศ[165] กลับหมายถึง ‘เกวียน’ ในประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสเปน และคำว่า papaya ซึ่งโดยทั่วไปแปลว่า ‘มะละกอ’ แต่ในคิวบา คำนี้เป็นสแลงแปลว่า ‘ช่องคลอด’[166] ดังนั้นเมื่อต้องการจะพูดถึงผลไม้จริง ๆ ชาวคิวบาจะเรียกว่า frutabomba[167]
นอกจากนี้ วัยรุ่นในประเทศที่พูดภาษาสเปนก็มีคำสแลงสำหรับใช้เรียกเพื่อนสนิท (ในทำนองเดียวกับที่วัยรุ่นอเมริกันนิยมใช้คำว่า ‘dude’) แต่คำที่ใช้เรียกนั้นแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ เช่น güey, mano, หรือ carnal ในเม็กซิโก,[168] cuate ในกัวเตมาลาและฮอนดูรัส,[169] mae ในคอสตาริกา,[170] tío ในสเปน, tipo ในโคลอมเบีย, huevón ในชิลี[171] และ chabón ในอาร์เจนตินา คำเหล่านี้จะใช้ในวงจำกัดกับเพื่อนที่สนิทจริง ๆ เท่านั้น เพราะค่อนข้างหยาบคายและบางคำมีความหมายดั้งเดิมในเชิงดูหมิ่น
หน่วยงานควบคุมการใช้ภาษา
แก้ราชบัณฑิตยสถานสเปน (Real Academia Española) ร่วมกับบัณฑิตยสถานภาษาสเปนในชาติที่ใช้ภาษานี้เป็นหลักอีก 21 แห่ง (รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา) ใช้อำนาจที่มีในการสร้างมาตรฐานทางภาษาผ่านสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ทั้งพจนานุกรม ตำราไวยากรณ์ และหลักเกณฑ์การใช้ภาษา เนื่องจากอิทธิพลดังกล่าวประกอบกับเหตุผลทางสังคมวิทยาและประวัติศาสตร์ จึงทำให้ภาษาสเปนมาตรฐาน (Standard Spanish; Neutral Spanish) ได้รับการยอมรับอย่างเป็นวงกว้างทั้งในการผลิตงานวรรณกรรม บทความวิชาการ และสื่อหลายแขนง
เกร็ดความรู้
แก้- ในภาษาเขียนสเปน สระที่พบบ่อยที่สุดคือ e[172] ส่วนพยัญชนะที่พบบ่อยที่สุด คือ s[172]
- ตำราไวยากรณ์ภาษาปัจจุบันเล่มแรกของยุโรปคือตำราไวยากรณ์สเปน เขียนโดยเอเลียว อันโตเนียว เด เนบรีคา เมื่อปี ค.ศ. 1492
- คำที่ยาวที่สุดในภาษาสเปน ได้แก่ "esternocleidooccipitomastoideo" (ชื่อกล้ามเนื้อคอด้านหลัง), "anticonstitucionalmente" (อย่างไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ), "electroencefalografista" (ผู้เชี่ยวชาญการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง) และ "otorrinolaringológicamente (ในทางโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา)"
- คำในภาษาสเปนที่ปรากฏสระครบทุกตัวภายในคำ ได้แก่ "arquitecto" (สถาปนิก), "eucalipto" (ยูคาลิปตัส), "murciélago" (ค้างคาว), "abuelito" (คุณปู่/คุณตา), "orquídea" (กล้วยไม้) และ "alucinógeno" (สารก่อประสาทหลอน) รวมทั้งชื่อเฉพาะอีกสี่ชื่อ ได้แก่ "Aurelio" (เอาเรเลียว), "Aureliano" (เอาเรเลียโน), "Eustaquio" (เออุสตากีโอ) และ "Venustiano" (เบนุสเตียโน)
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Argentina.gov.ar. Acerca de la Argentina: Idioma. เก็บถาวร 2008-07-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ GovernmentOfBelize.gov.bz. Languages. เก็บถาวร 2009-02-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ TurismoBolivia.bo. Idiomas en Bolivia. เก็บถาวร 2008-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Servicio Nacional de Turismo. Población e idioma en Chile. เก็บถาวร 2008-07-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Artículo 10.º de la Constitución política de Colombia (1991) เก็บถาวร 2008-07-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: «El castellano es el idioma oficial de Colombia. Las lenguas y dialectos de los grupos étnicos son también oficiales en sus territorios. La enseñanza que se imparta en las comunidades con tradiciones lingüísticas propias será bilingüe».(สเปน)
- ↑ VisitCostaRica.com. Idioma oficial de Costa Rica. เก็บถาวร 2011-07-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Portal Cuba. Constitución de la República de Cuba, artículo 2.º: «El nombre del Estado cubano es República de Cuba, el idioma oficial es el español y su capital es la ciudad de La Habana». (สเปน)
- ↑ Espanol.Guinea-Equatorial.com. País y Clima. เก็บถาวร 2009-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Constitución de Guinea Ecuatorial (de 1995) เก็บถาวร 2010-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, artículo 4.º: «La lengua oficial de la República de Guinea Ecuatorial es el español. Se reconoce las lenguas aborígenes como integrantes de la cultura nacional». (สเปน)
- ↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 Ethnologue.com. Spanish. A language of Spain. เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ de 2006 เก็บถาวร 2009-08-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Statistique Canada. (ฝรั่งเศส)
- ↑ 2006 เก็บถาวร 2008-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน American Community Survey. (อังกฤษ)
- ↑ Instituto Cervantes. เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Spanish language total เก็บถาวร 2011-08-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Ethnologue. Retrieved 14 August 2009.
- ↑ Demografía de la lengua española เก็บถาวร 2010-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (p. 38).
- ↑ 16.0 16.1 Acta Internacional de la Lengua Española. IV Acta Internacional de la Lengua Española, Un idioma vivo para el mundo. เก็บถาวร 2008-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ krysstal.com / elpais.com / 5th International Congress on Spanish Language (la-moncloa.es เก็บถาวร 2010-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) / toplanguagecommunity.co.uk เก็บถาวร 2011-08-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน / uis.edu / Antonio Molina, director of the Instituto Cervantes in 2006 (terranoticias.es เก็บถาวร 2010-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, elmundo.es) / Luis María Anson of the Real Academia Española (elcultural.es) / International Congress about Spanish, 2008 เก็บถาวร 2010-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน / Mario Melgar of the México University (lllf.uam.es เก็บถาวร 2012-12-09 ที่ archive.today), / Enrique Díaz de Liaño Argüelles, director of Celer Solutions multilingual translation network (elintercultural.net เก็บถาวร 2011-07-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) / Feu Rosa - Spanish in Mercosur (congresosdelalengua.es เก็บถาวร 2011-07-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) / elpais.com / eumed.net / efeamerica.com เก็บถาวร 2010-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน / babel-linguistics.com เก็บถาวร 2009-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
- ↑ Protocol on amendments to the constitutive act of the African Union. (อังกฤษ)
- ↑ Las Naciones Unidas. Carta de las Naciones Unidas: Artículo 111 (สเปน)
- ↑ Ethnologue.com, 1999, Top 100 Languages by Population. (อังกฤษ)
- ↑ CIA - The World Factbook. Field Listing - Languages. เก็บถาวร 2018-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ) (ดูข้อมูลที่ World)
- ↑ EUR-Lex. Tratado de Lisboa, Artículo 7. (สเปน)
- ↑ Union Africaine. Protocole sur les Amendements a l´Acte Constitutif de l´Union Africaine, Article 11 Langues officielles. เก็บถาวร 2009-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (ฝรั่งเศส)
- ↑ Organization of American States. Carta de la Organización de los Estados Americanos: Capítulo XXI Ratificación y Vigencia, Artículo 139. (สเปน)
- ↑ Organización de Estados Iberoamericanos para la Educación, la Ciencia y la Cultura. Estatutos de la Organización de Estados Iberoamericanos para la Educación, la Ciencia y la Cultura: Capítulo I Naturaleza y Fines, Artículo 1. (สเปน)
- ↑ El Secretariado del Tratado de Libre Comercio de América del Norte. Capítulo XXII del TLCAN, Artículo 2206. เก็บถาวร 2009-03-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Ministério das Relações Exteriores. Tratado Constitutivo da União de Nações Sul-Americanas, Artigo Transitório. เก็บถาวร 2008-12-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (โปรตุเกส) (สเปน) (อังกฤษ) (ดัตช์)
- ↑ 28.0 28.1 El País. El español es el segundo idioma que más se estudia en el mundo, según el Instituto Cervantes. (สเปน)
- ↑ Terra. La presencia del español en la Comunidad Europea y la expansión en Asia, retos inmediatos del Instituto Cervantes. เก็บถาวร 2009-01-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Junta de Castilla y León. Plan del Español para Extranjeros 2005/2009. เก็บถาวร 2012-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Fundéu BBVA. Carmen Caffarel valora la influencia del español, que en el 2050 hablarán 600 millones. เก็บถาวร 2009-02-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ CincoDías.com. El español es un buen negocio. (สเปน)
- ↑ Universpain. ¿Por qué es importante aprender el español?. เก็บถาวร 2018-12-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Rafael Cano (coord.). Historia de la lengua española Barcelona: Ariel Lingüística, 2005.
- ↑ Penny, Ralph. A History of the Spanish Language. Cambridge: Cambridge University Press, 1991, p. 5 (อังกฤษ)
- ↑ 20 minutos - Descubren que las palabras más antiguas escritas en Español son del siglo IX
- ↑ 37.0 37.1 Fernández-Ordóñez, Inés. Los orígenes de la dialectología hispánica y Ramón Menéndez Pidal. (สเปน)
- ↑ Cano Aguilar, Rafael. El español a través de los tiempos. 4ª ed. Madrid: ARCO/LIBROS, S.L., 1999, p. 63. (สเปน)
- ↑ Obediente Sosa, Enrique. Biografía de una lengua. Nacimiento, desarrollo y expansión del español. Mérida, Venezuela: Universidad de Los Andes, 2007, pp. 244-248. ISBN 978-980-11-1026-2 (สเปน)
- ↑ "Spanish Language Facts". Encyclopedia.com. สืบค้นเมื่อ 2010-11-06.
- ↑ Crow, John A. (2005). Spain: the root and the flower. University of California Press. p. 151. ISBN 9780520244962.
- ↑ Klein-Andreu, Flora. Spanish through Time. An Introduction. Munich: LINCOM GmbH, 2010, p. 19. (อังกฤษ)
- ↑ 43.0 43.1 "Spanish Language History". Today Translations. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-04-17. สืบค้นเมื่อ 2007-10-01.
- ↑ "Internet World Users by Language". Miniwatts Marketing Group. 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-26. สืบค้นเมื่อ 2009-04-19. (อังกฤษ)
- ↑ "UN 2009 estimate" (PDF). สืบค้นเมื่อ 2010-04-21.
- ↑ จากหนังสือบริตานิกาแห่งปี พ.ศ. 2546-2552 es:Anexo:Hablantes de español como lengua materna en el 2003 (según el Britannica Book). แหล่งอ้างอิงถูกใช้โดยสารานุกรมบริตานิกา (Ethnologue -14th edition, Joshua Project 2000 —People’s List, U.S. Census Bureau.)
- ↑ eurobarometer (2006), es:Anexo:Hablantes de español en la U.E. según el Eurobarómetro (2006) สำหรับประเทศในทวีปยุโรป
- ↑ นักเรียนภาษาสเปนสำหรับประเทศนอกทวีปยุโรป ดู Instituto Cervantes 06-07 (ไม่มีแหล่งอ้างอิงที่ปรากฏชัดเจนเกี่ยวกับผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่สอง นอกเหนือจากประเทศยุโรปและลาตินอเมริกา)
- ↑ 49.0 49.1 49.2 49.3 49.4 Demografía de la lengua española เก็บถาวร 2010-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (หน้า 28) สำหรับประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาทางการ
- ↑ CONAPO เก็บถาวร 2011-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (2010).
- ↑ cia.gov เก็บถาวร 2018-01-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน: มีผู้ใช้ภาษาสเปนร้อยละ 92.7
- ↑ จำนวนประชากรปี ค.ศ. 2009 จาก U.S. Population in 1990, 2000, and 2009 เก็บถาวร 2020-02-12 ที่ archive.today, U.S. Census Bureau
- ↑ ผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกาอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป (US Census Bureau 2009 เก็บถาวร 2020-02-13 ที่ archive.today)
- ↑ Academia Norteamericana de la Lengua Española: elcastellano.org เก็บถาวร 2016-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, José Ma. Ansón: noticias elcastellano.org เก็บถาวร 2016-02-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Jorge Ramos Avalos: univision.com เก็บถาวร 2011-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Elbio Rodríguez Barilari: congresosdelalengua.es เก็บถาวร 2013-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , III Acta Internacional de la Lengua Española, nytimes.com
- ↑ มีประชากรผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกาทั้งหมด 50,477,594 คนจากประชากรอเมริกันทั้งหมดกว่า 308 ล้านคน (ข้อมูลจาก สำนักงานสำมะโนประชากร ค.ศ. 2010) ประชากรผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกาที่มีอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไปจำนวน 35,468,501 คนใช้ภาษาสเปนในครอบครัว ดังนั้นจึงน่าจะยังมีผู้พูดภาษาสเปนเป็นภาษาที่สองในระดับต่าง ๆ กันอีกประมาณ 15 ล้านคน นอกจากนี้ มีผู้เรียนภาษาสเปน 6 (cervantes.es) หรือ 7.8 (fundacionsiglo.com เก็บถาวร 2012-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน) ล้านคนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่วนมากไม่ใช่ผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกา และยังมีผู้สืบเชื้อสายจากชาวลาตินอเมริกาซึ่งอพยพเข้าสหรัฐอเมริกาโดยผิดกฎหมายอีก 9 ล้านคน บางส่วนตกสำรวจสำมะโนประชากร (impre.com เก็บถาวร 2012-01-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน).
- ↑ "INE Datos básicos ... acceso directo (1/1/2010)". Ine.es. 2001-05-28. สืบค้นเมื่อ 2011-02-05.
- ↑ ร้อยละ 89.0 พูดภาษาสเปนเป็นภาษาแรก (eurobarometer (2006))
- ↑ "DANE". DANE. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-14. สืบค้นเมื่อ 2010-09-01.
- ↑ มีประชากร 500,000 คนใช้ภาษาพื้นเมืองกลุ่มต่าง ๆ (Ethnologue)
- ↑ "SINTITUL-7" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2005-11-09. สืบค้นเมื่อ 2011-02-05.
- ↑ มีประชากรอีก 4,566,891 คนที่พูดภาษาอื่นเป็นภาษาแม่ (ภาษาหลัก ๆ ได้แก่ ภาษาอิตาลี 1,500,000 คน, ภาษาอาหรับ 1,000,000 คน, ภาษาเกชัว 855,000 คน, ภาษาเยอรมัน 400,000 คน, ภาษากวารานีปารากวัย 200,000 คน, ภาษายิดดิชตะวันออก 200,000 คน): Ethnologue.
- ↑ Diccionario panhispánico de dudas. ch. (สเปน)
- ↑ Diccionario panhispánico de dudas. ll. (สเปน)
- ↑ Explanation at http://www.spanishpronto.com/ (อังกฤษ) (สเปน)
- ↑ Exclusión de los dígrafos ch y ll del abecedario. เก็บถาวร 2012-12-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Real Academia Española y Asociación de Academias de la Lengua Española. Ortografía de la lengua española. Madrid: Espasa Libros, 2010, p. 63. (สเปน)
- ↑ Real Academia Española. Ortografía de la lengua española. 1999. (สเปน)
- ↑ Real Academia Española y Asociación de Academias de la Lengua Española. Ortografía de la lengua española. Madrid: Espasa Libros, 2010, p. 448. (สเปน)
- ↑ Gómez Torrego, Leonardo. Las normas académicas: últimos cambios. Madrid: Ediciones SM, 2011, pág 62. (สเปน)
- ↑ Martínez-Celdrán, Eugenio; Fernández-Planas, Ana Ma.; and Carrera-Sabaté, Josefina. "Castilian Spanish." Journal of the International Phonetic Association 33, 2 (2003): 257, doi: 10.1017/S0025100303001373 (อังกฤษ)
- ↑ 71.0 71.1 Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 298. (สเปน)
- ↑ Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 296. (สเปน)
- ↑ 73.0 73.1 Martínez-Celdrán, Eugenio; Fernández-Planas, Ana Ma.; and Carrera-Sabaté, Josefina. "Castilian Spanish." Journal of the International Phonetic Association 33, 2 (2003): 256, doi: 10.1017/S0025100303001373 (อังกฤษ)
- ↑ 74.0 74.1 Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 89. (สเปน)
- ↑ Fougeron, Cecile, and Smith, Caroline L. "French." Journal of the International Phonetic Association 23, 2 (1993): 73.
- ↑ Rogers, Derek, and d'Arcangeli, Luciana. "Italian." Journal of the International Phonetic Association 34, 1 (2004): 119, doi: 10.1017/S0025100304001628 (อังกฤษ)
- ↑ 77.0 77.1 Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 81.(สเปน)
- ↑ Hualde, José Ignacio; Olarrea, Antxon; y Escobar, Anna María. Introducción a la lingüística hispánica. Cambridge: Cambridge University Press, 2001, pág. 75.(สเปน)
- ↑ Martínez-Celdrán, Eugenio; Fernández-Planas, Ana Ma.; and Carrera-Sabaté, Josefina. "Castilian Spanish." Journal of the International Phonetic Association 33, 2 (2003): 255, doi: 10.1017/S0025100303001373 (อังกฤษ)
- ↑ Diccionario panhispánico de dudas. acento. (สเปน)
- ↑ 81.0 81.1 Kattán-Ibarra, Juan, and Pountain, Christopher J. Modern Spanish Grammar: A Practical Guide. 2nd ed. London: Routledge, 2003, p.7. (อังกฤษ)
- ↑ 82.0 82.1 Diccionario panhispánico de dudas. tilde 2. (สเปน)
- ↑ Kattán-Ibarra, Juan, and Pountain, Christopher J. Modern Spanish Grammar: A Practical Guide. 2nd ed. London: Routledge, 2003, p.8. (อังกฤษ)
- ↑ Colegio de México, 2006, Diccionario del español usual en México, ISBN 968-12-0704-1 (สเปน)
- ↑ Diccionario panhispánico de dudas. usted. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. aceite. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. aceituna. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. alcalde. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. alcohol. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. aldea. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. almohada. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. alquiler. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. asesino. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. azafrán. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. espinaca. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. hasta. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. jazmín. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. marfil. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. rehén. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. zanahoria. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. izquierdo. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. nava. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. conejo. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. brotar. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. ganar. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. ganso. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. ropa. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. yelmo. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. espía. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. guerra. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. batata. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. papa. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. yuca. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. cacique. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. huracán. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. cacao. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. pantalón. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. puré. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. tisú. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. menú. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. maniquí. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. restorán. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. buró. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. carné. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. gala. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. bricolaje. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. batuta. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. soprano. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. piano. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. pianoforte. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. marketing. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. quasar. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. Internet. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. software. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. rock. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. reggae. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. set. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. penalti. (สเปน)
- ↑ 139.0 139.1 Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. fútbol. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. windsurf. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. zum. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. correo. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. escáner. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. mercadotecnia. (สเปน)
- ↑ Academia Colombiana de la Lengua, por Cleóbulo Sabogal Cárdenas. Extranjerismos en el Diccionario de la Lengua Española. เก็บถาวร 2008-11-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Academia Dominicana de la Lengua. JUGAR - (HACER) SEGUIMIENTO - ROL. เก็บถาวร 2009-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ 147.0 147.1 Nibert, Holly et al. "Área 1: Fonología y fonética." เก็บถาวร 2013-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in Spanish Dialectology. (สเปน)
- ↑ 148.0 148.1 Nibert, Holly et al. "Área 5: Fonología y fonética." เก็บถาวร 2013-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in Spanish Dialectology. (สเปน)
- ↑ 149.0 149.1 149.2 Nibert, Holly et al. "Área 4: Fonología y fonética." เก็บถาวร 2013-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in Spanish Dialectology. (สเปน)
- ↑ Nibert, Holly et al. "Área 6: Fonología y fonética." เก็บถาวร 2013-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in Spanish Dialectology. (สเปน)
- ↑ Nibert, Holly et al. "Área 3: Fonología y fonética." เก็บถาวร 2013-07-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in Spanish Dialectology. (สเปน)
- ↑ Nibert, Holly et al. "Área 2: Fonología y fonética." เก็บถาวร 2012-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน in Spanish Dialectology. (สเปน)
- ↑ Lloret, Maria-Rosa (2007), "On the Nature of Vowel Harmony: Spreading with a Purpose", in Bisetto, Antonietta; Barbieri, Francesco, Proceedings of the XXXIII Incontro di Grammatica Generativa, pp. 24-25.
- ↑ Miranda, Stewart (1999). The Spanish Language Today. Routledge. p. 125. ISBN 041514258X. (อังกฤษ)
- ↑ Lipski, John M. (1994). Latin American Spanish. Essex, England: Longman Group Limited, 201-202. (อังกฤษ)
- ↑ 156.0 156.1 156.2 156.3 156.4 156.5 Diccionario panhispánico de dudas. voseo.
- ↑ WordReference.com. manteca. (อังกฤษ)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española del Real Academia Española. palta. (สเปน)
- ↑ WordReference.com. damasco. (อังกฤษ)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. coger. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. concha. (สเปน)
- ↑ WordReference.com. taco. (อังกฤษ)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. pinche. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. coche. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. carro. (สเปน)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. papaya. (สเปน)
- ↑ 3 Guys From Miami. Fruta Bomba เก็บถาวร 2009-08-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ↑ Urban Diccionary. carnal. (อังกฤษ)
- ↑ Diccionario de la Lengua Española de la Real Academia Española. cuate. (สเปน)
- ↑ Diccionario Tico, asi hablamos en Costa Rica. mae. เก็บถาวร 2009-01-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สเปน)
- ↑ Diccionario de Modismos Chilenos. huevón. (สเปน)
- ↑ 172.0 172.1 Fletcher Pratt, Secret and Urgent: the Story of Codes and Ciphers Blue Ribbon Books, 1939, pp. 254-255. (อังกฤษ)
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ข้อมูลภาษาสเปนจาก Ethnologue (อังกฤษ)
- พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานสเปน (สเปน)
- Spanish phrasebook ใน Wikivoyage (อังกฤษ)
- หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ภาษาสเปน เรื่อง A First Spanish Reader (สเปน)
- เว็บไซต์ทางการของ ¡Colorin Colorado! (อังกฤษ) (สเปน)
- Spanish – BBC Languages (อังกฤษ)
- ฝึกภาษาสเปน[ลิงก์เสีย] (อังกฤษ)
- เรียนภาษาสเปน เก็บถาวร 2009-08-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- ช่วยเหลือเกี่ยวกับภาษาสเปน เก็บถาวร 2010-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- เรียนไวยากรณ์สเปนออนไลน์ เก็บถาวร 2007-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)